มุมมองที่ไกลกว่าวิกฤติกำแพงของทรัมป์

ทรัมป์ชี้ว่าประเทศกำลังเผชิญวิกฤติอันเนื่องจากคนต่างชาติเข้าเมืองผิดกฎหมาย การไม่สามารถตัดสินนโยบายด้วยเหตุผลตามหลักวิชาการ ความไม่เชื่อถือต่อกันทางการเมืองเป็นวิกฤติเช่นกัน

            สัปดาห์ก่อนคริสต์มาสช่วงวันหยุดยาวเริ่มเกิดกระแสข่าวประธานาธิบดีทรัมป์จะปิดหน่วยงานรัฐบางส่วน (หรือเปิดบริการเพียงบางส่วน) ขึ้นกับเดโมแครทจะยอมผ่านงบประมาณสร้างกำแพงกั้นเม็กซิโกจำนวน 5,700 ล้านดอลลาร์หรือไม่ ปรากฏว่าการเจรจาไม่สำเร็จ หน่วยงานรัฐเริ่มปิดตัว มีผู้ให้ความเห็นทันทีว่าอาจยาวไปถึงหลังปีใหม่
            ทรัมป์เอ่ยเรื่องสร้างกำแพงกั้นพรมแดนสหรัฐกับเม็กซิโกตั้งแต่ช่วงหาเสียงและผลักดันเรื่อยมา แต่พรรคเดโมแครทซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามไม่เห็นด้วยเรื่อยมาเช่นกัน
ผลโพลระบุว่าคนอเมริกันร้อยละ 55 โทษทรัมป์กับพรรครีพับลิกันที่ปล่อยให้หน่วยงานรัฐปิดตัว ร้อยละ 35 โทษพรรคเดโมแครท อย่างไรก็ตามร้อยละ 80 ของคนที่เลือกทรัมป์เป็นประธานาธิบดีเห็นว่าทำถูกต้องแล้ว
            การปิดหน่วยงานรัฐสร้างปัญหาแก่ชาวอเมริกัน 800,000 คน แต่มีวิกฤติอีกหลายอย่างที่เกิดขึ้น
แผนของทรัมป์ สร้างความหวาดกลัวและวิกฤติ :
รัฐบาลทรัมป์ยืนยันต้องสร้างกำแพงให้จงได้ ไม่ว่าจะต้องปิดหน่วยงานรัฐอีกนานเพียงไร ชี้ว่าพวกเดโมแครทเป็นเหตุให้เกิดอาชญากรรมจากคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ชาวอเมริกากันต้องเลือกระหว่างความถูกต้องกับความไม่ถูกต้อง สังคมแห่งความยุติธรรมกับอยุติธรรม
ฝ่ายเดโมแครทชี้ว่าพร้อมให้งบประมาณเพิ่มเติมเพื่อความมั่นคงตามแนวพรมแดนแต่ไม่ใช่ด้วยการสร้างกำแพง ปล่อยให้คนอเมริกันต้องจ่ายภาษีหลายพันล้านดอลลาร์สร้างกำแพงที่ไม่น่าจะช่วยกันคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีพูดว่าเม็กซิโกต้องเป็นคนจ่าย
เมื่อเดโมแครทไม่ยอมผ่านร่างงบประมาณ ทรัมป์จึงหาทางเพิ่มคิดประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ (national emergency) ใช้อำนาจนี้สั่งสร้างกำแพง
แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) โฆษกสภาผู้แทนฯ จากเดโมแครทชี้ว่าประธานาธิบดีพยายามปั่นหัวให้คนกลัว สร้างวิกฤติ อ้างความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อให้ได้งบประมาณที่ต้องการ ทั้งๆ ที่ไม่มีวิกฤติตามที่กล่าวอ้างเลย
            มุมมองนี้อธิบายได้ว่าประธานาธิบดีมีเจตนาอยากได้งบประมาณสร้างกำแพง เริ่มด้วยการอ้างเหตุผลความจำเป็น แต่ทรัมป์รู้ว่าพรรคเดโมแครทจะค้าน จึงหวังอาศัยพลังประชาชนผลักดันให้ผ่านงบประมาณ ด้วยการชี้แจงเหตุผลนานัปการ เหตุผลบางข้อถูก แต่หากพิจารณารายละเอียดหลายข้อร้ายแรงเกินจริง บางข้อพูดจริงเพียงครึ่งเดียว บรรยายภาพให้คนอเมริกันกลัวคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทำให้คิดว่าคนเหล่านี้คืออาชญากรร้ายแรง ขายยาเสพติดและทำให้คนอเมริกันเสียชีวิตเพราะยาเสพติด ฯลฯ รวมความแล้วคนเข้าเมืองผิดกฎหมายบั่นทอนความมั่นคงประเทศอย่างร้ายแรง
            แผนขั้นต่อมาคือสร้างวิกฤติต่อประชาชนด้วยการประกาศว่าจะไม่ยอมลงนามร่างงบประมาณหากไม่ได้งบสร้างกำแพง เมื่อร่างงบฯ ไม่ผ่าน เงินเดือนไม่ออก พนักงานลูกจ้างรัฐ 800,000 คนไม่ได้รับเงินเดือน มีการเจรจาระหว่างทรัมป์ (พรรครีพับลิกัน) กับฝ่ายค้านหลายรอบแต่ไม่สำเร็จ ทรัมป์ยืนยันว่าจะต้องได้เงินสร้างกำแพง มิเช่นนั้นจะปิดหน่วยงานรัฐต่อไปนานเท่านาน ในอีกความหมายคือ 800,000 คน (ถ้านับพ่อแม่ลูกเมียที่ต้องเลี้ยงดูจะมากกว่านี้) ไม่ได้รับเงินเดือน หลายครอบครัวกำลังประสบวิกฤติการเงิน
            ทรัมป์ชี้ว่าเหตุที่หน่วยงานรัฐบางส่วนต้องปิดต่อไปนั่นเพราะพรรคฝ่ายค้านไม่ยอมให้สร้างกำแพง คำถามคือเป็นการถูกต้องหรือไม่ที่รัฐบาลใช้วิธีนี้ เป็นการจับคนอเมริกันมาเป็นตัวประกันข่มขู่ฝ่ายค้าน

วิกฤติความคิดความเข้าใจ อะไรจริงอะไรเท็จ :
            ทรัมป์กล่าวว่า “ปราศจากกำแพงจะไร้ความมั่นคงตามแนวพรมแดน” วิธีการอื่นๆ ไม่ได้ผล
Craig Fugate อดีตผอ.สำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง (Federal Emergency Management Agency: FEMA) ให้ความเห็นว่ากำแพงไม่สามารถกั้นการเข้าเมืองผิดกฎมาย มีอีกหลายวิธีที่จะช่วยบรรเทาปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติดได้ดีกว่าและประหยัดกว่าการสร้างกำแพง
            ทรัมป์พยายามทำให้เข้าใจว่าถ้ามีกำแพงแล้วคนเข้าเมืองผิดกฎหมายจะหมดไป ความจริงคือการเข้าเมืองผิดกฎหมายทำได้หลายทาง ไม่จำต้องเป็นทางบกเท่านั้น และแม้มีกำแพงใช่ว่าจะปีนผ่านหรือหลบเลี่ยงไม่ได้ ผลคือจะต้องมีเจ้าหน้าที่ มีระบบเฝ้าระวังตลอดแนวพรมแดนซึ่งปัจจุบันมีอยู่แล้ว
            เทคนิคหนึ่งที่ทรัมป์ใช้เสมอคือพูดให้คนคิดง่ายๆ ตื้นๆ ไม่ต้องลงรายละเอียด ตอกย้ำไปเรื่อยๆ และให้เชื่อตามนั้น สวนทางกับโลกแห่งความจริงว่าหลายเรื่องมีรายละเอียดที่ต้องเอ่ยถึง หลายเรื่องที่ต้องคิดไตร่ตรองรอบคอบ แต่ผู้นำอย่างทรัมป์จะพูดแบบรวบรัด สร้างอารมณ์ให้คล้อยตาม และพูดสรุปว่าทำเช่นนี้แล้วอเมริกาจะยิ่งใหญ่อีกครั้ง
อีกประเด็นคือประธานาธิบดีทรัมป์ชี้ว่าเป็นความมั่นคงแห่งชาติ มี “วิกฤติที่พรมแดน” (crisis at the border) ถ้ายึดหลักความถูกต้องสมเหตุสมผล เกิดคำถามว่าฝ่ายใดถูกต้อง จำเป็นต้องสร้างใช่ไหม เป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่
            คำถามย่อยคือเรื่องความคุ้มค่า เช่น ควรใช้งบประมาณสร้างกำแพงหรือบริหารจัดการคนเข้าเมืองผิดกฎหมายด้วยวิธีอื่นๆ หรือนำงบฯ ไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ
            ทรัมป์ประกาศนโยบายสร้างกำแพงกั้นตั้งแต่ช่วงหาเสียง มีผู้ให้ความเห็นมากมาย บ้างเห็นด้วย บ้างไม่เห็นด้วย กลายเป็นคำถามว่าแล้วอย่างไรถูกต้อง เรากำลังพูดถึงประเทศที่มีความรู้ ข้อมูลมหาศาล มีนักวิชาการระดับโลกทุกแขนง แต่เหตุผลความรู้ที่น่าจะเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศกลับไม่ถูกใช้ในการตัดสินนโยบายสำคัญของชาติ
หรือว่าเป็นเรื่องที่ต้องปล่อยให้ฝ่ายการเมืองตัดสินใจโดยไม่ต้องยึดเหตุผลความถูกต้อง
            นี่คือสภาพวิกฤติความจริงความเท็จ
ผู้นำประเทศที่พูดได้เรื่อยๆ :
            ประธานาธิบดีทรัมป์อ้างว่าอดีตผู้นำหลายคนสนับสนุนตนเรื่องสร้างกำแพง ปรากฏว่าอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) ออกมาพูดว่าตนไม่เคยคุยเรื่องนี้กับทรัมป์และไม่สนับสนุนการสร้างกำแพง โฆษกประจำตัวของอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน (Bill Clinton) จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช (George W. Bush) กล่าวว่าไม่เคยพูดคุยเรื่องนี้กับทรัมป์ ส่วนทีมงานของบารัก โอบามา (Barack Obama) อ้างถ้อยแถลงเดิมว่าสหรัฐเป็นประเทศเปิด
            การสร้างกำแพงเป็นเพียงประเด็นเดียวที่กำลังหยิบยกขึ้นมาพูด ในภาพรวมผู้นำสหรัฐยุคนี้เป็นผู้ที่พูดอะไรก็ได้ พูดไปได้เรื่อยๆ สื่อมวลชน นักวิชาการ นักวิเคราะห์ทั่วโลกต้องคอยตรวจทานทุกคำพูดของท่านว่าอะไรถูกอะไรผิด (Fact Check)
            ในช่วงหาเสียงทรัมป์โดนโจมตีเรื่องพฤติกรรมชู้สาว ล่วงละเมิดทางเพศ ผู้หญิงหลายคนออกมาเปิดเผยต่อหน้าสาธารณะแต่ทรัมป์ปฏิเสธ เมื่อธันวาคมที่ผ่านมาไมเคิล โคเอน (Michael Cohen) อดีตทนายความของทรัมป์ถูกศาลพิพากษาจำคุกเนื่องจากจ่ายเงินแก่สตรี 2 คนเพื่อปิดปากว่าเคยมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับทรัมป์ (ผิดกฎหมายเรื่องเงินที่ใช้กับการเลือกตั้ง)
            โคเอนพูดต่อหน้าศาลว่าตนมีหน้าที่ต้องจัดการเรื่องทำนองนี้ ด้านทรัมป์ชี้แจงว่าไม่เคยบอกให้โคเอนใช้วิธีผิดกฎหมาย ตนไม่ได้ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งใดๆ
            ในขณะที่การเมืองอเมริกากำลังขับเคี่ยวอย่างเข้มข้น ไม่ว่าสังคมอเมริกันจะคิดเห็นอย่างไร ผู้คนทั่วโลกจำนวนมากไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อถือรัฐบาลอเมริกา นี่คือความถดถอยของประเทศนี้
            สภาพขณะนี้คือฝ่ายการเมืองไม่สามารถตัดสินใจด้วยเหตุผล ฝ่ายที่เห็นว่าจำต้องสร้างยืนยันต้องสร้างให้จงได้ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็คัดค้านหัวชนฝา พรรคเดโมแครทพยายามเสนอทางออกอื่นแต่พรรครีพับลิกันไม่ตอบรับ ผลโพลสรุปว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับสร้างกำแพง แต่บางคนชี้ว่าผลโพลเชื่อถือไม่ได้ ล่าสุดรอดูว่าประธานาธิบดีจะใช้อำนาจสร้างกำแพงด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติหรือไม่
            นี่คือภาวะวิกฤติประชาธิปไตยอเมริกาและจะร้ายแรงกว่านี้ถ้าทรัมป์ประกาศภาวะฉุกเฉิน
13 มกราคม 2019
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 8099 วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ.2562)
-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
โอบามากับฮิลลารีโจมตีทรัมป์ว่าเป็นอำนาจนิยม บ่อนทำลายประชาธิปไตย ชาวอเมริกันจำนวนมากเดือดร้อน ต้องเลือกพรรคเดโมแครทเพื่อถ่วงดุลรัฐบาล คำถามคือจริงหรือที่เลือกเดโมแครทเป็นคำตอบ
โดนัลด์ ทรัมป์ชูแนวคิด America First พร้อมทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ประเทศ แต่หลายนโยบายที่ยึดแนวทางนี้ส่งผลให้สหรัฐโดดเดี่ยวตัวเอง โลกกำลังก้าวสู่ความเป็นพหุภาคีมากขึ้นฃ

บรรณานุกรม :
1. AP FACT CHECK: Do ex-presidents back Trump wall? They say no. (2019, January 8). AP. Retrieved from https://www.apnews.com/0b368a320d744c94819206c45ae9f2b6
2. Former FEMA boss says border situation is not an emergency. (2019, January 11). AP. Retrieved from https://www.apnews.com/e852d08a0bcf4268a1d18d8968fbbf13
3. Government set to shut down for the third time in a year as Congress adjourns for the night. (2018, December 21). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2018/12/21/politics/cornyn-no-vote-government-shutdown/index.html
4. House Democrats vote to reopen government and deny Trump wall money, defying veto threat. (2019, January 3). The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/business/economy/house-democrats-prepare-vote-to-reopen-government-as-cracks-appear-in-gop-opposition/2019/01/03/24151490-0f96-11e9-8938-5898adc28fa2_story.html?utm_term=.383af5e85303
5. If Trump can achieve North Korea peace, he would be Nobel-worthy: Carter. (2018, May 23). The Japan Times. Retrieved from https://www.japantimes.co.jp/news/2018/05/23/asia-pacific/politics-diplomacy-asia-pacific/trump-can-achieve-north-korea-peace-nobel-worthy-carter/#.WwTbGO6FPZ4
6. Mitt Romney: The president shapes the public character of the nation. Trump’s character falls short. (2019, January 1). The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/opinions/mitt-romney-the-president-shapes-the-public-character-of-the-nation-trumps-character-falls-short/2019/01/01/37a3c8c2-0d1a-11e9-8938-5898adc28fa2_story.html?noredirect=on&utm_term=.25e44c582cf7
7. Spotlight: Trump's former lawyer gets 3-year prison time, president denies giving direction. (2018, December 14). Xinhua. Retrieved from http://www.xinhuanet.com/english/2018-12/14/c_137672435.htm)
8. The majority of Americans are against Trump on the wall and the shutdown. (2019, January 8). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2019/01/08/politics/polls-trump-shutdown-wall/index.html
9. Top Trump aide says shutdown may go into new year. (2018, December 23). The National. Retrieved from https://www.thenational.ae/world/the-americas/top-trump-aide-says-shutdown-may-go-into-new-year-1.805819)
10. Trump Escalates Border Wall Fight in National Address. (2019, January 9). The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2019/01/08/us/politics/donald-trump-speech.html
11. Trump inclined to declare national emergency if talks continue to stall. (2019, January 5). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2019/01/05/politics/trump-national-emergency-border-wall-shutdown/index.html
12. Trump's former fixer Michael Cohen sentenced to three years in prison. (2018, December 12). The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/us-news/2018/dec/12/michael-cohen-sentence-latest-news-trump-hush-money-payments-lying-charges)
-----------------------------

unsplash-logoNamroud Gorguis