America First, America Lonely

โดนัลด์ ทรัมป์ชูแนวคิด America First พร้อมทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ประเทศ แต่หลายนโยบายที่ยึดแนวทางนี้ส่งผลให้สหรัฐโดดเดี่ยวตัวเอง โลกกำลังก้าวสู่ความเป็นพหุภาคีมากขึ้น

หลักนโยบายแม่บทของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) หรือ หลักนิยมทรัมป์” (Trump’s Doctrine) ตั้งอยู่บนแนวคิด “America First” (อเมริกาต้องมาก่อน) หมายถึงการบริหารประเทศที่ถือผลประโยชน์ของชาติกับพลเมืองเป็นที่ตั้ง แม้จะขัดแย้งประเทศอื่นๆ ละเมิดศีลธรรมคุณธรรม ตั้งอยู่บนหลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบสัจนิยม (Realism) แบบสุดขั้ว ระบบโลกเหมือนป่าดงดิบที่สัตว์ป่าทั้งหลายต่างดิ้นรนหาทางอยู่รอดโดยไม่คำนึงกฎใดๆ ยึดอธิปไตยชาติเป็นสำคัญ รัฐบาลทุกประเทศมีสิทธิ์และมีความรับผิดชอบต่อพลเมืองของตน เป็นลัทธิอเมริกานิยม (Americanism) ไม่ใช่โลกนิยม (globalism)
            บทความนี้เขียนขึ้นหลังประธานาธิบดีทรัมป์บริหารประเทศกว่าปีครึ่งแล้ว ความเป็น “อเมริกาต้องมาก่อน” ปรากฏชัดเจนมากขึ้น ในที่นี้จะนำเสนอบางตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจหลักการดังกล่าวและปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น
ไม่สนกติกาองค์การค้าโลกอีกต่อไป :
ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวโจมตีองค์การค้าโลกเมื่อมีนาคม 2018 ว่า WTO สร้างหายนะแก่ประเทศนี้” เป็นคำพูดก่อนกระแสขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากต่างชาติ ละเมิดกติกาองค์การค้าโลก
            สิ่งที่รัฐบาลทรัมป์ทำกับองค์การค้าโลกในขณะนี้เหมือนกับการขอเจรจา NAFTA ใหม่ คือละทิ้งหรือยกเลิกข้อตกลงเดิมที่เห็นว่าเสียเปรียบแล้วเจรจาใหม่เพื่อให้กลับมาได้เปรียบอีกครั้ง
            เหมือนที่ทำกับหลายประเทศในขณะนี้
            ทั้งหมดนี้คือแผนแก้ปัญหาตามแนวทาง “อเมริกาต้องมาก่อน” ที่ทรัมป์พูดตั้งแต่ช่วงหาเสียง

อย่างไรเรียกว่าพันธมิตร :
            องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation) หรือนาโตเป็นกรณีที่ควรเอ่ยถึง เป็นพันธมิตรด้านการทหาร การป้องกันประเทศ สัมพันธ์กับสงครามเย็นโดยตรง ในขณะเดียวกันวัตถุประสงค์อีกข้อคือเรื่องการเมือง ต่อต้านสังคมนิยม ส่งเสริมให้ยึดมั่นประชาธิปไตย การค้าเสรี เป็นเสาหลักของฝ่ายโลกเสรีที่มีสหรัฐเป็นแกนนำ เชิดชูฐานะความเป็นผู้นำโลกของสหรัฐในยุคนั้น
            ปัจจุบันความเป็นพันธมิตรนาโตยังคงอยู่ แต่ความขัดแย้งระหว่างสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาประธานาธิบดีทรัมป์วิพากษ์รัฐบาลแมร์เคิล “ต้องการความคุ้มครอง” จากรัสเซีย จึงซื้อน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียหลายพันล้านดอลลาร์ ทรัมป์พูดเรื่องนี้หลายครั้งชี้ว่าเยอรมันซึ่งเป็นสมาชิกนาโต ได้รับการปกป้องจากนาโตอยู่แล้วแต่ยังทรยศนาโตไปขอการปกป้องจาก รัสเซียที่เป็นศัตรูนาโตอีก
            แต่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันทรัมป์กล่าวถึง รัสเซียว่าไม่ใช่ศัตรู เป็นเพียงคู่แข่ง การกล่าวถึงรัสเซีย 2 แบบในช่วงสั้นๆ ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง
ประเด็นสำคัญคือ รัฐบาลทรัมป์พยายามทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ตนเอง เมื่อพันธมิตรอย่างเยอรมันจะทำเพื่อผลประโยชน์ตนเองบ้าง กลับโดนต่อต้านอย่างรุนแรง นี่คืออีกตัวอย่างของ America First

            ไม่เพียงเท่านั้นทรัมป์กล่าวอีกประเด็นว่าเยอรมันประเทศใหญ่ที่สุดของอียู ให้งบสนับสนุนนาโตเพียงร้อยละ 1 ของจีดีพีเท่านั้น สหรัฐจึงกำลังปกป้องเยอรมันมากกว่าที่เยอรมันปกป้องสหรัฐ และไม่รู้ว่าเยอรมันจะปกป้องสหรัฐได้สักเท่าไร สหรัฐเป็นผู้จ่ายเงินปกป้องกันสมาชิกนาโตทั้งมวล
            ตรรกะของทรัมป์กำลังชี้ว่าสมาชิกนาโตทุกประเทศจะต้องใช้งบกลาโหมเท่ากัน หรืออย่างน้อยตามข้อตกลงที่วางไว้ สมาชิกจะต้องตั้งงบกลาโหมให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 2 ของจีดีพี เป็นประเด็นเก่าหลายทศวรรษที่รัฐบาลสหรัฐเรียกร้องมาตลอด
            เป็นความจริงที่สมาชิกฝั่งยุโรปเอาเปรียบสหรัฐ หวังพึ่งความมั่นคงจากอเมริกา แต่ในอีกแง่หนึ่งเป็นไปได้ว่าฝั่งยุโรปรู้ดีว่าอย่างไรเสียสหรัฐต้องคงความเป็นมหาอำนาจด้านการทหาร ต่างจากฝั่งยุโรปที่ไม่มีเป้าหมายเช่นนั้น เมื่อผนวกกับการที่ฝั่งยุโรปรักสันติมากกว่า เห็นว่าการใช้งบประมาณเพื่อพัฒนาประเทศสำคัญกว่าจึงพยายามปรับลดงบกลาโหม
            ประเด็นงบกลาโหมของสมาชิกนาโตเป็นเรื่องซับซ้อน ข้อสรุปเบื้องต้นคือฝั่งยุโรปเห็นว่างบกลาโหมที่ร้อยละ 2 ของจีดีพีนั้นเกินจำเป็น
            ทั้งเรื่องวิพากษ์เยอรมันซื้อน้ำมันจากรัสเซียและงบประมาณกลาโหมล้วนบ่งชี้ความเป็นพันธมิตรอันเปราะบาง

            ญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐ เป็นพันธมิตรทางทหารที่สำคัญที่สุดในย่านเอเชียแปซิฟิก ทั้ง 2 ประเทศพยายามจัดการเกาหลีเหนือ ปิดล้อมจีน มีอิทธิพลในแถบเอเชียแปซิฟิก ภาพความร่วมมือเป็นที่ประจักษ์ชัด
            ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐ-ญี่ปุ่นเมื่อปีก่อน ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า สหรัฐ "ยึดมั่นความมั่นคงของญี่ปุ่นและอาณาบริเวณทั้งหมดที่อยู่ใต้การบริหารควบคุม" ความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐ-ญี่ปุ่น "เป็นเสาหลักสันติภาพและความมั่นคง" ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
            แถลงการณ์ร่วมหลังประชุมยังระบุว่าญี่ปุ่นจะเพิ่มบทบาทความมั่นคง ต่อต้านสิ่งปลูกสร้างทางทหารในทะเลจีนใต้ กดดันให้เกาหลีเหนือเลิกล้มโครงการนิวเคลียร์ ขีปนาวุธพิสัยไกล จะหารือเพื่อวางกฎการค้าการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกบนฐานการค้าเสรีและเป็นธรรม
            แต่ถ้ามองอีกมุม นักวิชาการญี่ปุ่นบางคนเห็นว่าลึกๆ แล้วรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้วางใจรัฐบาลสหรัฐ แต่ด้วยบริบทขณะนี้จำต้องอิงสหรัฐไปก่อน อาศัยเหตุความตึงเครียดในย่านนี้เพื่อพัฒนากองทัพ เป้าหมายสุดท้ายคือการอยู่ได้ด้วยตัวเองไม่ต้องพึ่งพาประเทศใดอีกต่อไป
            เป็นคำถามที่น่าคิด อย่างไรเรียกว่าพันธมิตร

ความถดถอยและความร่วมมือใหม่ :
            เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่ประเทศอเมริกาผู้เคยพยายามประกาศว่าตนคือผู้นำโลกเสรีประชาธิปไตย ส่งเสริมการค้าเสรี ผู้ผลักดันจัดตั้งองค์การค้าโลก บัดนี้ถอยห่างจากแนวทางดังกล่าว ตรงกันข้ามประเทศอำนาจนิยมอย่างจีนกับรัสเซียกลับพยายามปกป้องการค้าเสรี รักษากติกาขององค์การค้าโลก ส่งเสริมให้โลกอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
            ไม่ว่าจะเป็นจริงเพียงไร ภาพที่ปรากฏบ่งบอกเช่นนั้น
            หันกลับมาพูดถึงสหรัฐ หลัก America First กำลังพาประเทศสู่อำนาจนิยม ระบบเศรษฐกิจที่รัฐควบคุมแทรกแซงมากขึ้น โดยใช้ข้ออ้างกีดกันการค้าเสรี แม้จะอ้างว่าเพื่อความมั่นคงแห่งชาติก็ตาม
            ทั้งหมดนี้บ่งชี้ความถดถอยของสหรัฐในยุคทรัมป์ ด้านความมั่นคงคือความเป็นเอกภาพของนาโต ชาติสมาชิกฝั่งยุโรปแสดงความไม่เป็นมิตรอย่างชัดเจน (ต่างจากอดีตที่อาจปิดเงียบ พูดคุยเฉพาะในที่ลับ)  ส่งผลต่อบทบาทผู้นำโลกของสหรัฐ มีเสียงก่นด่าจากทั่วทุกสารทิศ

            ด้านการค้าเป็นเรื่องที่เห็นชัดเจนกว่าเพราะแสดงเป็นตัวเลข เป็นสถิติ ปัญหาขาดดุลการค้าสัมพันธ์กับปัญหาหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นและเพิ่มในอัตราสูงกว่าเดิม หากไม่จัดการสักวันเป็นปัญหาใหญ่แน่นอน รัฐบาลทรัมป์ถึงกับยอมทำแทบทุกอย่างแม้กระทั่งต้องบาดหมางกับประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นพันธมิตรเก่าแก่ ความร่วมมือที่สหรัฐเคยได้ประโยชน์มหาศาล
โรเบร์โต อเซเวโด (Roberto Azevedo) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การค้าโลกกังวลว่าระบบการค้าโลกกำลังเปลี่ยนแปลง กรณีร้ายแรงคือระดับภาษีจะกลับไปสู่ระดับก่อนมีองค์การค้าโลก ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกถดถอย
            หากสงครามการค้ารุนแรง สหรัฐอาจต้องขัดแย้งกับหลายประเทศ แต่ไม่ใช่เรื่องที่ทุกประเทศจะกีดกันกันเองทั้งหมด ประเทศต่างๆ บริษัทเอกชนทั้งหลายคงต้องหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดอเมริกา
            กลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกมีความร่วมมือกับจีนมาช้านานแล้วและกำลังเพิ่มขึ้น ที่ปรากฏส่วนใหญ่คือด้านเศรษฐกิจ ด้านนโยบายต่างประเทศหลายเรื่อง แนวทางของอียูใกล้เคียงกับจีน รัสเซีย เช่น นโยบายต่ออิหร่าน สนับสนุนการค้าพหุภาคีที่ยึดกติกา
          ความร่วมมือทางการค้าการลงทุนที่เพิ่มขึ้นย่อมส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ
            คงไม่กล่าวเกินไปถ้าจะสรุปว่าขณะที่สหรัฐกำลังโดดเดี่ยวตัวเอง ประเทศอื่นๆ ร่วมมือกันมากขึ้นในทุกด้าน นี่คืออีกดัชนีชี้วัดความถดถอยของสหรัฐอเมริกา

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            ถ้าคิดให้ดี รัฐบาลทรัมป์ไม่ได้ทำอะไรแปลกใหม่ สิ่งที่ทำคือเขียนกติกาการค้าใหม่ที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเองมากที่สุด เหมือนที่เคยทำกับ NAFTA การตั้งองค์การค้าโลกและข้อตกลงทวิภาคีกับประเทศต่างๆ เหล่านี้คือสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐชุดก่อนๆ ไม่ว่าจะมาจากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครทล้วนกระทำตามแนวทางนี้ทั้งสิ้น จะต่างกันอยู่บ้างในแนวทางและระดับความเข้มข้น (degree) ของแต่ละรัฐบาล
            ประธานาธิบดีทรัมป์มุ่งทำให้เกิดการเจรจาต่อรองใหม่ แต่บริบทโลกปัจจุบันไม่เหมือนอดีต ไม่ใช่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือยุคสงครามเย็นอีกแล้ว ไม่ว่าจะระดับประเทศหรือประชาชน ข้อมูลข่าวสารส่งถึงกัน

บทความ America First, America Lonely ให้ข้อคิดอย่างหนึ่งว่าในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไม่มีประเทศใดได้ทุกอย่างที่ต้องการแม้จะเป็นอภิมหาอำนาจ อย่างไรก็ตาม สหรัฐยังเป็นประเทศที่ฉกฉวยผลประโยชน์จากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้มากมาย ต้องชื่นชมความสามารถของรัฐบาลทรัมป์ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ จากคนทั่วโลก แม้ทั่งจากคนยุโรปตะวันตก ความต้องการของรัฐบาลทรัมป์ในระยะนี้อาจเป็นเหตุให้สหรัฐต้องจ่ายราคาอีกมากในอนาคต
15 กรกฎาคม 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7918 วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2561)
-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
ไม่แปลกที่รัฐบาลทรัมป์ยึดหลักสัจนิยม แต่ต้องศึกษาลงในรายละเอียดว่าอะไรกันแน่ที่รัฐบาลต้องการ สันติสุขหรือความรุนแรง เป็นประโยชน์ต่อชาวอเมริกันหรือน่าจะมีทางเลือกที่ดีกว่า
“หลักนิยมทรัมป์” (Trump’s Doctrine) คือการยึดถือผลประโยชน์ของชาติกับอธิปไตยเป็นที่ตั้ง แม้ขัดแย้งประเทศอื่นหรือศีลธรรมคุณธรรม ตามหลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบสัจนิยม (Realism) 

บรรณานุกรม :
1. Folly, Martin H. (2008). North Atlantic Treaty Organization. In International Encyclopedia of the Social Sciences. (2nd Ed. (9 vol. set. pp. 544-546). USA: The Gale Group.
2. FULL TEXT: President Donald Trump's Inauguration Speech. (2017, January 20). ABC News. Retrieved from http://abcnews.go.com/Politics/full-text-president-donald-trumps-inauguration-speech/story?id=44915821
3. Trump Lambasts Germany Over Russian Oil Purchases, Low Defense Expenditures. (2018, July 5). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/us/201807061066091497-trump-russia-germany-military-spending/
4. Trump promises ‘safety’ to fearful Americans. (2016, July 22). Gulf News/AFP. Retrieved from http://gulfnews.com/news/americas/usa/trump-promises-safety-to-fearful-americans-1.1866703
5. UPDATE: Trump says U.S. committed to Japan security. (2017, February 11). The Asahi Shimbun/Reuters. Retrieved from http://www.asahi.com/ajw/articles/AJ201702110013.html
6. WTO Faces Existential Threat in Times of Trump. (2018, June 30). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/world-trade-organization-in-trouble-amid-trump-trade-war-a-1215802.html
7. Yuan, Jingdong. (2014). Nuclear Politics in Asia. In The Oxford Handbook of the International Relations of Asia. NY: Oxford University Press.
-----------------------------