ศึกเลือกตั้งกลางเทอม 2018 : ประชาธิปไตยวิกฤตในยุคของทรัมป์

โอบามากับฮิลลารีโจมตีทรัมป์ว่าเป็นอำนาจนิยม บ่อนทำลายประชาธิปไตย ชาวอเมริกันจำนวนมากเดือดร้อน ต้องเลือกพรรคเดโมแครทเพื่อถ่วงดุลรัฐบาล คำถามคือจริงหรือที่เลือกเดโมแครทเป็นคำตอบ

            ในระยะนี้ที่สหรัฐกำลังหาเสียงเลือกตั้งกลางเทอม บรรดาแกนนำคนสำคัญๆ ออกมาปราศรัยหาเสียง เช่น ประธานาธิบดีทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา และฮิลลารี คลินตัน เป็นอีกครั้งที่เวทีปราศรัยเป็นโอกาสแก่บุคคลเหล่านี้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ หนึ่งในนั้นคือสภาพประชาธิปไตยของประเทศ
ฮิลลารี คลินตัน : ประชาธิปไตยอเมริกาเข้าขั้นวิกฤต
            กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ฮิลลารี คลินตัน สุภาพสตรีหมายเลข 1 ของอดีตประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน อดีตวุฒิสมาชิก รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสมัยรัฐบาลโอบามา และตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งที่ผ่านมา กล่าวว่าประธานาธิบดีทรัมป์ทำหลายอย่างผิดพลาด ไม่ฟังเสียงประชาชน รวมความแล้ว “ณ ขณะนี้ประชาธิปไตยของเราอยู่ในภาวะวิกฤต” สถาบันประชาธิปไตย ธรรมเนียมประชาธิปไตยไม่อยู่ในมือของประชาชนอีกแล้ว คนทั้งประเทศจำต้องลุกขึ้นสู้และแพ้ไม่ได้
            ฮิลลารีให้เหตุผล 5 ประการที่ควรต่อต้านทรัมป์ สาระโดยสังเขป ข้อแรก ทรัมป์ละเมิดหลักนิติธรรม ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย ผู้นำที่อยู่เหนือกฎหมายคือทรราช (a tyrant) ประธานาธิบดีทรัมป์ดูเหมือนจะเป็นเช่นว่า เจมส์ คอมีย์ (James Comey) อดีตผู้อำนวยการ FBI กล่าวว่าทรัมป์ต้องการให้เขาจงรักภักดีต่อตัวเขามากกว่ารัฐธรรมนูญ
            ข้อ 2 ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งก่อนมีปัญหา เพราะรัสเซียแทรกแซงและทรัมป์ใช้อำนาจกีดกันการตรวจสอบ ปล่อยให้รัสเซียแทรกแซงต่อไป
            ข้อ 3 ประธานาธิบดีต่อต้านความจริงและเหตุผล เฉพาะเดือนที่แล้ว (สิงหาคม) The Washington Post ชี้ว่าทรัมป์พูดเท็จหรือทำให้เข้าใจผิดถึง 125 ครั้ง และพูดเท็จถึง 5,000 ครั้งถ้านับตั้งแต่เป็นประธานาธิบดี
            การเป็นผู้นำประเทศย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ สามารถชี้แจงด้วยเหตุผล ไม่ใช่ใช้อำนาจเล่นงานสื่อ ทำลายเสรีภาพสื่อเพียงเพราะต้องการอยู่ในอำนาจต่อไป
            ข้อ 4 คอร์รัปชันดาษดื่น ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีคนแรกในรอบ 40 ปีที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลการคืนภาษี หลายเหตุการณ์น่าสงสัยว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างธุรกิจส่วนตัวของเขากับบริษัทเอกชน รัฐบาลต่างชาติและองค์กรของพรรครีพับลิกัน โรงแรม สนามกอล์ฟของทรัมป์กลายเป็นแหล่งทำเงินมหาศาลแก่ตำแหน่งประธานาธิบดี
            ข้อ 5 ทรัมป์บ่อนทำลายเอกภาพของชาติ ระบอบประชาธิปไตยให้อภิปรายอย่างเสรี ไม่จำต้องคิดเห็นตรงกัน แม้คิดเห็นต่างคนทั้งประเทศยังผูกพันมั่นคงเป็นชาติเดียวกัน แต่ทรัมป์ไม่สมกับเป็นผู้นำของคนทั้งประเทศ ใช้ถ้อยคำดูหมิ่นดูแคลนคนอเมริกันเชื้อชาติอื่น เกลียดชังคนบางกลุ่ม ทำให้คนในชาติแตกแยกรุนแรง
            ทางออกคือต้องระดมให้คนออกมาเลือกตั้งกลางเทอมให้มากที่สุด จากนั้นปรับแก้ไขกฎหมาย เช่น ทรัมป์จะต้องแสดงการคืนภาษีเงินได้ สกัดการหาประโยชน์จากผลประโยชน์ทับซ้อนต่างๆ มีระบบตรวจสอบบริษัทเอกชนที่เข้มแข็งกว่านี้
บารัก โอบามา : ทรัมป์บั่นทอนประชาธิปไตย
            ก่อนคำปราศรัยของฮิลาลารี ราวช่วงต้นเดือนกันยายนอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา (Barack Obama) แสดงสุนทรพจน์บรรยายว่าการเมืองอยู่ในความมืดมิด ทรัมป์คือต้นเหตุให้คนทั้งประเทศตื่นตัว โดยเฉพาะพวกชนกลุ่มน้อย คนหนุ่มสาว คนผิวขาวที่มีการศึกษาและผู้หญิง คนเหล่านี้ถูกปลุกเร้าให้ตื่นเพราะทรัมป์บั่นทอนประชาธิปไตย วิถีชีวิตของพวกคนอเมริกัน ถูกปลุกเร้าด้วยการเหยียดเชื้อชาติ ทุจริตคอร์รัปชัน อำนาจนิยมที่ทำลายสถาบันประชาธิปไตย
            ถ้าไม่ออกไปใช้สิทธิเท่ากับปล่อยให้การตัดสินใจอยู่ในมือของคนอื่นที่อาจคิดเห็นต่างจากตัวเอง เศรษฐีพันล้านมีอิทธิพลครอบงำการเมือง ขาดการตรวจสอบการใช้อำนาจ ผู้ถืออำนาจใช้อำนาจมิชอบ เป็นชาตินิยมสุดโต่งดังที่ปรากฏ
            เอ่ยถึงนโยบายหลายข้อมุ่งโจมตีรัฐบาลทรัมป์ เช่น การลดภาษีซ้ำเติมการขาดดุล ลดงบประมาณสวัสดิการสังคม ไม่สนใจภาวะโลกร้อน

 ทางออกคือเลือกเดโมแครท? :
            ทั้งโอบามากับฮิลลารีเสนอทางออกเหมือนกันคือ ขอให้ออกไปเลือกตัวแทนพรรคเดโมแครทเพื่อถ่วงดุลอำนาจประธานาธิบดี ถ้าเดโมแครทเป็นเสียงข้างมาก รัฐบาลทรัมป์จะไม่กล้าหรือทำอะไรแปลกๆ น้อยลง
            ความตอนหนึ่งโอบามาอธิบายว่าสถานการณ์ขณะนี้คือพวกรีพับลิกันครองทั้งรัฐสภากับทำเนียบขาว เมื่อไม่มีการถ่วงดุล รัฐบาลจึงลดภาษีคนรวยซึ่งไม่มีความจำเป็นและยิ่งทำให้ประเทศขาดดุลหนักกว่าเดิม ออกนโยบายอุดหนุนโรงงานที่สร้างมลภาวะด้วยภาษีของประชาชน เป็นประเทศเดียวในโลกที่ถอนตัวจากข้อตกลงแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน พยายามกีดกันการสอบสวนเรื่องที่รัสเซียแทรกแซงเลือกตั้ง
            ถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป จะมีเรื่องแย่ๆ เกิดขึ้นอีกแน่นอน ระบอบประชาธิปไตยต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล แต่ ณ ขณะนี้ไม่มี
            ผู้ที่มีสิทธิตรวจสอบคือพลเมืองอเมริกัน ด้วยการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การเลือกตั้งไม่ตอบโจทย์ทุกอย่างแต่เป็นจุดเริ่มต้นปรับปรุงแก้ไขประชาธิปไตย

            ข้อสังเกตคือโอบามาไม่แตกต่างจากฮิลลารี (รวมทั้งทรัมป์ดังบทความก่อน) คือ พยายามอ้างเหตุผลบางแง่มุมเพื่อผลักดันให้คนออกไปเลือกตั้ง เช่น ด้วยการโจมตีฝ่ายตรงข้าม ชี้ว่าถ้าเลือกเดโมแครทจะช่วยให้การบริหารประเทศเป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยละเลยคุณสมบัติของผู้สมัคร ไม่เอ่ยว่าทำไมที่ผ่านมาคนจำนวนมากจึงไม่สนใจไปใช้สิทธิ โดยเฉพาะเลือกตั้งกลางเทอม
            การผลักดันหรือชักชวนให้คนออกไปใช้สิทธิเป็นเรื่องสมควรทำ แต่จำต้องมองการเมืองรอบด้าน ไม่ใช่แค่ออกไปใช้สิทธิเลือกใครสักคนเท่านั้น ในกรณีของอเมริกาเห็นชัดว่าอยู่ในภาวะวิกฤติที่ประชาชนขาดศรัทธาต่อนักการเมือง พรรคการเมือง ระบบการเลือกตั้ง ประเด็นเหล่านี้ต่างหากที่ต้องแก้ไข

            การผลักดันให้คนออกไปเลือกตั้งและเลือกพรรคเดโมแครทเพื่อถ่วงดุลอาจมีประโยชน์บ้างถ้าเกิดการถ่วงดุลจริง แต่ยังอยู่บนหลักการเลือกคนที่แย่น้อยกว่า (the lesser of the two evils) เหมือนเมื่อเกือบ 2 ปีก่อนที่หลายคนเลือกทรัมป์เพราะไม่อยากได้ฮิลลารี
            ถ้าคิดไปไกลๆ หากเลือกตั้งกลางเทอมในพฤศจิกายนนี้พรรคเดโมแครทชนะ กลับมาครองเสียงมากในรัฐสภา การเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบหน้าก็ควรเลือกผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล ซึ่งน่าจะเป็นโดนัลด์ ทรัมป์ (ให้อยู่ต่ออีกสมัย) หรือเลือกบุตรเขยบุตรสาวทรัมป์ก็เป็นได้

จริงหรือที่เลือกเดโมแครทคือคำตอบ :
            ทั้งโอบามากับฮิลลารีต่างมุ่งเล่นงานทรัมป์ ราวกับว่าความผิดทั้งหมดอยู่ที่คนๆ เดียว คำถามคือประธานาธิบดีทรัมป์คิดและทำเรื่อง “ร้ายๆ” เพียงลำพังหรือ สมาชิกพรรครีพับลิกันสนับสนุนทรัมป์ใช่หรือไม่ (แน่นอนว่าบางคนไม่สนับสนุน) ถ้าพรรครีพับลิกันไม่สนับสนุนและพรรคเดโมแครทไม่สนับสนุนทำไมทรัมป์ยังบริหารประเทศและออกนโยบายแย่ๆ หลายอย่าง ทำให้คนอเมริกันทุกข์ยาก สังคมแตกแยกรุนแรง และทำลายประชาธิปไตยดังที่ถูกกล่าวหา
หลายคนเห็นด้วยกับอดีตประธานาธิบดีโอบามาเรื่องนายทุนกับนักล็อบบี้ (lobbyist - ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานให้นายทุน) คือผู้กำหนดวาระ นโยบายของประเทศ แต่ไม่ได้เอ่ยว่าถ้าผู้สมัครทั้ง 2 พรรคใหญ่ต่างอยู่ใต้อิทธิพลเดียวกันนี้ การเลือกตัวแทนพรรคใดพรรคหนึ่งจะแตกต่างกันแค่ไหน
            สาเหตุสำคัญข้อหนึ่งที่คนไม่เลือกฮิลลารีก็เพราะถูกกล่าวหาว่ามุ่งทำงานรับใช้นายทุนไม่ใช่หรือ โอบามาขณะเป็นประธานาธิบดีก็ยอมรับเรื่องทำนองนี้ และพูดซ้ำในการปราศรัยรอบนี้ว่าอำนาจเงินมีอิทธิพลครอบงำการเมือง

            รวมความแล้ว แนวคิดขอเป็นเสียงข้างมากในสภาเพื่อถ่วงดุล แม้ฟังดูดีถูกต้องตามทฤษฎีแต่อาจตีความได้ว่าพรรคเดโมแครทไร้น้ำยา สมาชิกสภาของพรรคนี้ (ในขณะเป็นเสียงข้างน้อย) ไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเอง ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถปกป้องผลประโยชน์คนอเมริกันเพียงเพราะได้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี
            เช่นนี้แหละที่สมควรพูดว่า “ประชาธิปไตยอเมริกาวิกฤตในยุคของทรัมป์จริงๆ”
23 กันยายน 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7988 วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ.2561)
-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
การเลือกตั้งกลางเทอมที่คนไม่ค่อยสนใจเป็นโอกาสที่จะชนะอีกฝ่ายง่ายๆ หากสามารถผลักดันให้ผู้มีสิทธิออกมาเลือกพรรครีพับลิกันแล้วประกาศว่านี่คือเสียงสวรรค์ให้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีต่อไป

บรรณานุกรม :
1. American Democracy Is in Crisis. (2018, September 16). The Atlantic. Retrieved from https://www.theatlantic.com/ideas/archive/2018/09/american-democracy-is-in-crisis/570394/
2. Obama just delivered his answer to Trump’s authoritarianism. (2018, September 7). The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/blogs/plum-line/wp/2018/09/07/obama-just-delivered-his-answer-to-trumps-authoritarianism/?utm_term=.250b35803f39
3. Read the full transcript of Obama’s fiery anti-Trump speech. (2018, September 7). Vox.com. Retrieved from https://www.vox.com/policy-and-politics/2018/9/7/17832024/obama-speech-trump-illinois-transcript
-----------------------------