2018 อียูกับระเบียบโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง

ระเบียบโลกเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา ประเด็นอยู่ที่ทำอย่างไรจะเรียนรู้เท่าทันและได้ประโยชน์ อียูกำลังใช้โอกาสช่วงนี้ถอยห่างจากรัฐบาลสหรัฐ กำหนดวาระของตนเอง เป็นตัวแปรสำคัญของโลกอนาคต

            เมื่อพูดถึงระเบียบโลก (world order) มักชวนให้นึกถึงบทบาทชาติมหาอำนาจ เป็นความจริงที่ประเทศดังกล่าวมีบทบาทต่อการจัดระเบียบโลกมาก และเป็นความจริงที่ว่าทั้งประเทศเล็กกับใหญ่ต่างพยายามส่งผ่านอิทธิพล มีส่วนกำหนดระเบียบโลกที่ประสงค์ การจัดระเบียบโลกเกิดขึ้นในทุกมิติ ทั้งด้านการเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี เป็นปฏิสัมพันธ์ที่ดำเนินตลอดเวลา บางเรื่องเห็นชัด บางเรื่องปิดบังอำพราง บางครั้งคือความร่วมมือ และบางกรณีคือสงคราม บั่นทอนบ่อนทำลายศัตรู
            นับตั้งแต่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี สัมพันธภาพระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับอียูนับวันจะเสื่อมถอย เห็นความบาดหมางชัดเจน บ่งบอกว่าอียูไม่อาจทนอยู่นิ่งเฉยต่อไป เยอรมันที่ถือว่าเป็นแกนนำสำคัญมีการหารือถกเถียงว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่อียูต้องเป็นตัวของตัวเองมากกว่านี้ ด้วยเหตุผลว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงได้เวลาคิดใหม่ทำใหม่แล้ว

อียูต้องคิดใหม่ทำใหม่ :
            สหรัฐไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อการตัดสินใจ แต่หลายเรื่องมีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญ ชักนำให้อียูไม่คิดว่าสหรัฐเป็นพันธมิตรที่พึ่งพาได้อีก เช่น
            กรณียูเครน
            การขับเคี่ยวทางการเมืองของยูเครนเกี่ยวข้องกับการแบ่งขั้วระหว่างฝ่ายที่อิงชาติตะวันตกกับฝ่ายที่อิงรัสเซีย ลงเอยด้วยความวุ่นวายภายใน เกิดสงครามกลางเมือง รัสเซียส่งทหารเข้าคุมพื้นที่บางส่วน ตามด้วยสหรัฐคว่ำบาตรรัสเซียและชักนำให้อียูต้องร่วมคว่ำบาตรด้วย ผลเสียตกแก่อียูมากที่สุด ทั้งๆ ที่อียูไม่ต้องการ
            ความไร้เสถียรภาพในตะวันออกกลาง
            รัฐบาลสหรัฐเข้าพัวพันอาหรับสปริงทั้งแบบเปิดเผยกับซ่อนเร้น ผลความวุ่นวาย ต่างชาติเข้าแทรกทำให้เกิดผู้อพยพหลายล้านคนจากแอฟริกาเหนือกับตะวันออกกลางเข้าอียู กลายเป็นปัญหาใหญ่แก่อียูจนบัดนี้ ในขณะที่รัฐบาลทรัมป์ออกหลายนโยบายเพื่อต้านการรับผู้ลี้ภัย สำหรับอียูแล้วทางออกที่ดีที่สุดคือประเทศเหล่านี้ต้องมีเสถียรภาพ ไม่เกิดสงครามกลางเมือง ส่งผู้อพยพกลับคืน แต่ยากจะเป็นไปได้หากรัฐบาลสหรัฐยังคงต้องการมีอิทธิพลเหนือประเทศเหล่านี้ และส่งทหารเข้าพื้นที่ก่อให้เกิดการปะทะด้วยอาวุธอย่างไม่จบสิ้น
            ทรัมป์ฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์ คว่ำบาตรอิหร่าน
            ในสมัยรัฐบาลโอบามา สหรัฐร่วมกับคู่เจรจาอียู รัสเซีย จีน อิหร่าน ได้ข้อตกลงแก้ปัญหานิวเคลียร์อิหร่าน (JCPOA) ให้อิหร่านใช้นิวเคลียร์เพื่อสันติดังประเทศทั่วไป อยู่ภายใต้การตรวจสอบติดตามจากหน่วยงานสหประชาชาติ อิหร่านทำตามข้อตกลงด้วยดี แต่ทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงเพียงลำพังและคว่ำบาตรอิหร่าน ทั้งยังขู่คว่ำบาตรบริษัทเอกชนทุกประเทศหากทำธุรกิจกับอิหร่าน สร้างความเสียหายแก่บริษัทเอกชนอียูที่เข้าไปลงทุนในอิหร่านมหาศาล
            นโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของทรัมป์
            ประธานาธิบดีทรัมป์พร่ำบอกว่าจำต้องตอบโต้ทุกประกาศที่เกินดุลสหรัฐ ทำการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐ ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าดังที่ทราบกันทั่วไป อียูตกเป็นเป้าด้วย แต่ทรัมป์ไม่เคยเอ่ยถึงอีกหลายสิบประเทศที่เสียดุลการค้าแก่สหรัฐ ไม่เคยเอ่ยว่าจะให้ความยุติธรรมแก่ประเทศที่ขาดดุลสหรัฐอย่างไร
            ปิดล้อมคว่ำบาตรรัสเซียกับจีน
            ในมุมมองของอียูต้องการเป็นมิตรกับรัสเซีย ค้าขายกับจีน ลดการเผชิญหน้าทางทหาร ไม่ต้องการอยู่ในภาวะสงครามเย็นกับ 2 ประเทศนี้อีก เพื่อทุ่มเททรัพยากรดูแลพัฒนาประเทศตัวเอง แต่นโยบายแม่บทของสหรัฐนั้นคือการปิดล้อมจีนกับรัสเซียและน่าจะเข้มข้นมากขึ้น จึงเป็นแนวทางที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
            กรณีตัวอย่างทั้ง 5 เป็นส่วนหนึ่งชี้ให้เห็นว่านโยบายสหรัฐหลายเรื่องสร้างผลเสียหายร้ายแรงแก่อียู ขัดขวางโอกาสพัฒนา การอยู่ดีกินดีของประชาชน การเป็นพันธมิตรกับสหรัฐในระยะหลังเกิดผลเสียมากมาย อียูยังต้องการเป็นมิตรกับสหรัฐต่อไปไม่ว่าจะรัฐบาลทรัมป์หรือรัฐบาลชุดหน้า แต่จำต้องถอยห่างจากเดิมไม่เดินตามก้นเสียทุกเรื่อง
            หากประธานาธิบดีสหรัฐบอกว่าต้องรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ พิทักษ์รักษาอธิปไตย ทำไมอียูจะพูดและทำเช่นนี้บ้างไม่ได้
            ทำไมต้องทนรับผลเสียที่เกิดขึ้นเพียงเพื่อให้รัฐบาลสหรัฐได้ทำในสิ่งที่ต้องการ

ระเบียบโลกเปลี่ยน ยุโรปควรวางตัวอย่างไร :
            ประเทศเยอรมันและยุโรปหลายประเทศเคยชินกับแนวคิดว่าชาติประชาธิปไตยจะต้องเป็นมิตรกัน ตำราตะวันตกมักพร่ำสอนเช่นนี้ ส่วนระบอบอื่นนั้นเป็นภัยหรือไม่อาจเป็นมิตรได้สนิทใจ
            แนวคิดนี้แม้เป็นจริงและมีข้อดีอยู่บ้างแต่หากพูดให้ลึกแล้วหลายกรณีเป็นวาทกรรม ยกตัวอย่าง ถ้าบอกว่าจีนเป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ รัฐบาลสหรัฐผู้อ้างตัวเป็นผู้นำโลกเสรีทำการค้ากับประเทศนี้มากกว่าประเทศอื่นใดในโลก ช่วยให้จีนพัฒนาเติบใหญ่จนสหรัฐหวั่นไหว รัฐบาลสหรัฐทุกสมัยเป็นมิตรหรือสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมหลายประเทศ สนับสนุนอิสราเอลขับไล่ที่ปาเลสไตน์ซึ่งผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ฯลฯ

ซิกมา กาเบรียล (Sigmar Gabriel) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเยอรมันกล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 1945 (หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2) เป็นต้นมา รัฐบาลสหรัฐพร่ำบอกให้สร้าง “ระเบียบเสรีนิยม” (liberal order) เพื่อใช้หลักนี้แทนกฎแห่งป่า (law of the jungle - ใครดีใครอยู่) ได้ระเบียบโลกใหม่ที่มีสหรัฐเป็นแกนนำ ในการนี้สหรัฐช่วยฟื้นฟูยุโรปที่เสียหายหนักจากสงคราม แต่ทั้งนี้เพราะสหรัฐเห็นว่าความมั่นคงของยุโรปเป็นผลประโยชน์แก่ตน
บัดนี้สหรัฐถอนตัวจาก ระเบียบเสรีนิยมที่สร้างขึ้นมาเองกับมือ และกำลังใช้กฎแห่งป่าอีกครั้ง คำถามต่อยุโรปคือควรวางตัวอย่างไร
            สถานการณ์ปัจจุบันที่ 2 ฝั่งแอตแลนติกคิดเห็นต่างกันหลายเรื่องคือโอกาสที่อียูจะเป็นตัวของตัวเอง เดิมอียูไม่คิดถอยห่างจากสหรัฐแต่รัฐบาลทรัมป์โดดเดี่ยวตัวเอง ต้องขอบคุณทรัมป์ที่เปิดโอกาสให้อียูเป็นอิสระกว่าเดิม

            จีนเสนอแนวทางที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ แต่รัฐบาลทรัมป์มุ่งเอาประโยชน์ตนเป็นหลัก
            รัฐบาลจีนเน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ แม้ถูกวิพากษ์ว่าความร่วมมือบางโครงการไม่ก่อประโยชน์ เป็นผลเสียมากกว่า จีนพยายามตักตวงผลประโยชน์เหมือนกัน แต่โดยรวมแล้วการร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจย่อมดีกว่าที่โลกจะตกอยู่ในความหวาดกลัว ภัยสงคราม การข่มขู่ด้วยกำลังทหาร อิทธิพลการเมืองจากประเทศที่ใหญ่กว่า
            คำพูดของประธานาธิบดีทรัมป์กลับไปกลับมา ถูกๆ ผิดๆ ละทิ้งสนธิสัญญาข้อตกลงง่ายๆ เปลี่ยนแปลงไปมาจนยากจะจับทาง รัฐบาลสหรัฐยุคนี้เชื่อถือไม่ได้ยิ่งกว่าอดีต ที่ตกลงกันแล้ววันนี้ พรุ่งนี้อาจเป็นอื่น เช่นนี้คงร่วมมือกันยาก ด้วยเหตุผลเหล่านี้จีนน่าจะเป็นหุ้นส่วนที่ดีกว่า ส่วนความสัมพันธ์กับสหรัฐกลายเป็นความเปราะบางไม่แน่นอน
            ที่สำคัญที่สุดคือ การที่อียูจะเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เพราะทรัมป์ แต่เพราะอียูต้องการเปลี่ยนแปลง

กำหนดวาระของตนเอง :
            การจะเป็นอิสระได้จริงต้องตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะต้องเป็นผู้กำหนดวาระของตัวเองด้วยตัวเอง แท้จริงแล้วรัฐบาลสหรัฐเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ไม่แปลกใจที่สหรัฐสามารถกอบโกยผลประโยชน์จากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้มากมาย
            การจะเป็นอิสระต้องใช้ความกล้าหาญ แม้มีความเสี่ยงแต่เป็นความเสี่ยงที่ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบ เปิดกว้างให้สาธารณชนได้อภิปราย พูดในเรื่องที่ไม่ค่อยจะพูด

            อียูเป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาค เป็นกลุ่มประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงกว่าที่อื่นๆ มีความเข้มแข็งทางเทคโนโลยี พลังเศรษฐกิจพอสมควร หากอียูแสดงตัวเป็นอีกขั้วที่ไม่เกาะอเมริกา เมื่อนั้นดุลอำนาจโลกจะเปลี่ยน เกิดผลลัพธ์ตามมาอย่างน้อย 2 ข้อ ข้อแรกคือสหรัฐสูญเสียพันธมิตรแอตแลนติกที่สำคัญ อีกข้อคือประเทศเล็กๆ หลายประเทศจะกล้าถอยห่างจากสหรัฐมากกว่าเดิมโดยยึดอียูเป็นแบบอย่าง ประเทศเล็กๆ เหล่านี้จะหันไปสัมพันธ์ใกล้ชิดอียูมากขึ้น กลายเป็นโอกาสสำคัญที่อียูจะแสดงภาวะผู้นำโลกเสรีประชาธิปไตยเทียบเคียงสหรัฐ และในหลายเรื่องที่สหรัฐสูญเสียความเป็นผู้นำ เช่น การแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน การยึดกติกาองค์การค้าโลก
            เกิดวัฏจักรที่สหรัฐสูญเสียมิตรหรือพันธมิตร เป็นวัฏจักรโดดเดี่ยวตัวเอง (หรือถูกโดดเดี่ยว)
            ถ้าวิเคราะห์ตามแนวคิดนี้ อิทธิพลสหรัฐลดน้อยถอยลง
            บริบทโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จำต้องติดตามให้รู้เท่าทัน ปรับตัวให้ได้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลง การอยู่นิ่งเฉยไม่ใช่ทางออกเพราะผู้อื่นกระทำต่อเราตลอดเวลา บริบทมีผลต่อเรา การอยู่นิ่งเฉยเท่ากับตั้งรับอย่างเดียว เป็นผลเสียมากกว่าและอาจเสียหายมากที่สุด จึงต้องกำหนดวาระของตนและผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์
30 กันยายน 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7995 วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ.2561)
-----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
อีก 10 ปีข้างหน้าโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกว่าเดิม ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจการเมืองโลก จนถึงวิถีชีวิตทุกคน แต่ไม่ใช่ทุกประเทศหรือทุกคนจะได้ประโยชน์เท่ากันแม้จะพยายามก็ตาม 
หากเยอรมันหรืออียูตั้งใจอยู่ร่วมกับประเทศอื่นๆ อย่างสงบ แก้ปัญหาด้วยสันติวิธีจริงๆ มุ่งการค้าพหุภาคีตามกติกา ให้โลกเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน เช่นนี้สมควรเป็นประเทศหรือกลุ่มภาคีที่น่าสนับสนุน

บรรณานุกรม :
1. EU and Iran agree on new payment system to skirt U.S. sanction. (2018, September 25). Tehran Times. Retrieved from https://www.tehrantimes.com/news/427843/EU-and-Iran-agree-on-new-payment-system-to-skirt-U-S-sanctions
2. EU announces mechanism to ease trade with Iran despite sanctions. (2018, September 25). FRANCE24. Retrieved from https://www.france24.com/en/20180925-iran-european-union-payment-system-mechanism-ease-trade-despite-usa-sanctions?ref=tw_i
3. EU must grasp world role as U.S. retreats, Juncker says. (2018, September 25). Deutsche Welle. Retrieved from https://www.dw.com/en/eu-and-iran-create-special-vehicle-to-trade-despite-us-sanctions/a-45623867
4. How Europe Can Survive the Trump Era. (2018, July 20). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/how-europe-can-survive-the-donald-trump-era-a-1219447.html
5. 'The World Is Changing Dramatically'. (2018, September 24). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/germany/interview-with-former-german-foreign-minister-sigmar-gabriel-a-1229393.html
6. What Trump Means for Germany's Future. (2018, April 18). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/trump-and-the-future-of-the-trans-atlantic-relationship-a-1203549.html
-----------------------------