โรฮีนจาในมืออองซาน ซูจี

นางอองซาน ซูจีอาจไม่เห็นด้วยและไม่ได้ลงมือกดขี่ข่มเหงโรฮีนจา แต่เมื่อเป็นรัฐบาลย่อมไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบ โดยเฉพาะในเวทีระหว่างประเทศที่ตีตราแล้วว่าโรฮีนจาถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

            ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา องค์กรวิชาการ International Crisis Group (ICG) นำเสนอรายงานสถานการณ์โรฮีนจาล่าสุด มีสาระสำคัญพร้อมการวิเคราะห์ว่านับตั้งแต่สิงหาคม 2017 ชาวโรฮีนจาอีก 700,000 คนหนีออกนอกประเทศซึ่งบัดนี้มีหลักฐานค่อนข้างชัดแล้วว่าเป็นฝีมือทหารเมียนมา โรฮีนจาเหล่านี้อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยหรือพื้นที่แถบชายแดนติดกับบังคลาเทศ จนบัดนี้ยังไม่อาจกลับคืนประเทศแม้ผ่านการเจรจารอบแล้วรอบเล่า
            การพาผู้อพยพคืนถิ่นยังไม่ประสบผลมาจากหลายสาเหตุ บางครั้งเป็นเพียงเอกสารที่บังคลาเทศกับเมียนมาใช้ไม่ตรงกัน ฝ่ายเมียนมาปฏิเสธการรับคนคืนหากเอกสารไม่ถูกต้องอย่างที่ต้องการ ความล้มเหลวนำผู้ลี้ภัยกลับประเทศ ข้อมูลที่ชี้ว่าฝ่ายเมียนมาไม่ค่อยตระเตรียมอะไรเพื่อรองรับการกลับคืนของโรฮีนจา เป็นที่มาของคำถามว่ารัฐบาลเมียนมาจริงจังกับเรื่องนี้แค่ไหน ตามมาด้วยคำถามว่าหากกลับไปแล้วจะได้อยู่อย่างสงบสุขหรือเปล่า
            ปัญหาซับซ้อนยิ่งขึ้นเมื่อผู้อพยพจำนวนหนึ่งที่มีสิทธิ์กลับประเทศ แต่ปฏิเสธสิทธิ์ยินดีเป็นผู้อพยพลี้ภัยต่อไป (คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งนับถือศาสนาฮินดู) ข้อมูลจาก IGC สรุปว่าโรฮีนจาส่วนใหญ่ไม่ต้องการไปอยู่ประเทศที่ 3 ต้องการกลับประเทศโดยมีข้อแม้ว่าต้องได้อยู่อย่างปลอดภัย ถ้าข้อสรุปนี้เป็นจริงน่าเชื่อว่าโรฮีนจาส่วนใหญ่จะอยู่ในบังคลาเทศอีกนาน สอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายคนคิดว่าคงต้องอยู่ยาว รัฐบาลหลายประเทศก็คิดเช่นนั้น แต่น้อยประเทศที่คิดวางแผนช่วยเหลือระยะยาวอย่างเป็นระบบ

            ฝ่ายกองกำลังติดอาวุธ ARSA (Arakan Rohingya Salvation Army) อาศัยจังหวะนี้ขยายเครือข่ายและอิทธิพลของตนในหมู่ผู้ลี้ภัย ชี้ว่าโรฮีนจากับ ARSA มีศัตรูร่วมคือกองทัพเมียนมา มีข่าวเสมอว่ามุสลิมหลายกลุ่มหลายประเทศให้การสนับสนุน ทั้งด้านการเมืองระหว่างประเทศ การเงิน ฯลฯ
ARSA ประกาศว่าเป็นกลุ่มต่อสู้เพื่อศาสนาหรือ Harakah al-Yaqin (Faith Movement) เป็นผู้โจมตีจุดตรวจฐานที่มั่นของเจ้าหน้าที่เมื่อตุลาคม 2016 กับสิงหาคม 2017 เป็นชนวนให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐตอบโต้อย่างรุนแรง โรฮีนจานับแสนอพยพออกนอกพื้นที่ หลายร้อยเสียชีวิต
            ส่วนโรฮีนจาที่ยังอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ (Rakhine State) ราว 100,000-150,000 คนยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เจ้าหน้าที่รัฐควบคุมพื้นที่อย่างเข้มงวด มีเคอร์ฟิว การตรวจเช็ค ห้ามออกนอกพื้นที่โดยไม่จำเป็น แม้ได้อยู่ต่อแต่เหมือนคนไร้อนาคตไม่ต่างจากผู้อพยพลี้ภัยเท่าไหร่
มุมมองของรัฐบาลเมียนมา :
มิ้น อ่องไหล่ (Min Aung Hlaing) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนปัจจุบันกล่าวว่า “รูปร่างลักษณะของพวกเขาและวัฒนธรรมไม่เหมือนชาติพันธุ์เมียนมา”
1992 รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ U Ohn Gyaw กล่าวถึงโรฮีนจาว่าเป็นคน “เบงกาลี” (Bengali) ภายใต้กฎหมาย 1982 Citizenship Act พลเมืองเท่านั้นที่ได้สิทธิถือครองที่ดิน สิทธิทางธุรกิจ และกล่าวว่า “ผู้อยู่ในศูนย์อพยพในบังคลาเทศน่าจะเป็นพวกที่มาจากคนธากา (Dhaka) ไม่มีคนจากประเทศพม่าสักคนที่ออกจากประเทศ”
คำพูดของผบ.สส. มิ้น อ่องไหล่ เป็นจุดยืนเดิมของทางการเมียนมาที่ชี้ว่าพวกโรฮีนจาเป็น “คนต่างชาติ” จะปฏิบัติต่อโรฮีนจาในฐานะพลเมืองเฉพาะผู้ที่สามารถพิสูจน์ว่ามีสัญชาติพม่าเท่านั้น
โรฮีนจามีผลต่อการปฏิรูปประเทศ :
International Crisis Group เห็นว่าความเป็นไปของโรฮีนจามีผลต่อการปฏิรูปเมียนมา ความเห็นของ ICG มีน้ำหนักหากข้อสรุปสุดท้ายบ่งชี้ว่ามีผู้บงการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” จริง
บางคนวิเคราะห์ไกลถึงการช่วงชิงแข่งขันของประเทศต่างๆ เช่น จีนมีแผนสร้างท่าเรือน้ำลึกในรัฐยะไข่ สร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อจากยูนาน เปิดทางสู่มหาสมุทรอินเดีย ความพยายามของรัฐอิสลามหลายประเทศที่กำลังเคลื่อนไหวผ่านประเด็นนี้
            ล่าสุด รายงานสหประชาชาติชี้ว่าผู้บัญชาการทหารสูงสุดกับนายทหารระดับสูงจำนวนหนึ่งมีส่วนสังหารหมู่โรฮีนจา ควรถูกไต่สวนด้วยข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ข่มขืนสตรี เผาหมู่บ้าน รายงานฉบับนี้ยังกล่าวโทษรัฐบาลอองซานที่เพิกเฉย ไม่ทำหน้าที่เท่าที่ควร
หลังรายงานเผยแพร่ รัฐบาลสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส คูเวต เนเธอร์แลนด์ สวีเดนและอีกหลายประเทศร่วมกล่าวโทษรัฐบาลเมียนมาตามข้อหาจากรายงาน เห็นว่าควรนำเรื่องสู่ศาลโลก

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
          ประการแรก คำถามหลักประชาธิปไตย
มีข้อมูลว่าชาวพม่า คนเมียนมาที่นับถือศาสนาพุทธจำนวนมากไม่อยากให้โรฮีนจากลับประเทศ การปรากฏตัวของนักรบศาสนา ARSA ข่าวเรื่องมุสลิมแบ่งแยกดินแดน การสนับสนุนจากรัฐบาลอิสลามหลายประเทศ เหล่านี้ยิ่งกระตุ้นให้ต่อต้านโรฮีนจา
          เกิดคำถามว่าในฐานะรัฐประชาธิปไตย ควรฟังเสียงประชาชนส่วนใหญ่ หรือว่าควรทำตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล หรือควรทำอย่างไรดี เช่น ยึดหลักความมั่นคง
            จุดยืนจากฝ่ายกองทัพหรือผู้กุมอำนาจประเทศคือพวกเขาไม่ใช่คนเมียนมา คำตอบนี้ดูจะสอดคล้องกับความเห็นของคนเมียนมาส่วนใหญ่
            ไม่ว่าประชาธิปไตยเมียนมาขณะนี้จะเติบใหญ่มากหรือน้อย คำตอบออกมาในทิศทางสนับสนุนไม่ยอมรับโรฮีนจา ถ้ายึดความต้องการของประชาชน ผู้นำกองทัพไม่ได้ทำผิดอะไร แต่ไม่ถูกต้องในสายตานานาชาติ อาจนำสู่การถูกคว่ำบาตร ฯลฯ
            เป็นกรณีคำถามที่ดีสำหรับการยึดหลักประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ

          ประการที่ 2 แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย
            โรฮีนจาในค่ายลี้ภัยจำนวนมากคิดว่าการกลับคืนเมียนมาเป็นเรื่องอีกยาวไกล เป็นความฝันลมๆ แล้งๆ โอกาสที่ดีกว่าคือไปหางานทำต่างแดน แม้ต้องทำงานที่มนุษย์คนอื่นมักไม่ทำ ถูกกดขี่สารพัด แม้กระทั่งเสี่ยงเสียชีวิต แต่คือ “โอกาส” เพื่ออนาคตที่ดีกว่าทั้งของตัวเองและครอบครัว
            ปัญหาแรงงานโรฮีนจาเข้าเมืองผิดกฎหมายจึงดำเนินต่อไป คนหลายกลุ่มหลายประเทศได้ประโยชน์จากการนี้ ดังนั้นแม้อยู่ถึงบังคลาเทศก็ยังสามารถเดินทางมาที่มาเลเซีย ข้ามหลายประเทศหลายพันกิโลเมตร
            ข่าวโรฮีนจาบางคนที่สามารถตั้งหลักปักฐานในต่างแดน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่ากระตุ้นให้โรฮีนจาอีกหลายคนดิ้นรนออกจากค่ายผู้ลี้ภัย เป็นประเด็นที่ต้องร่วมหารือกับหลายองค์กรไม่ให้ปัญหาบานปลาย

          ประการที่ 3 อองซาน ซีจูต้องมีส่วนรับ “ผิดและชอบ”
            แม้ฝ่ายอองซาน ซูจีชนะเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาล นางอองซานเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ เป็นที่พูดกันหนาหูว่ากลุ่มของนางได้รับอำนาจเพียงบางส่วน ตัวนางอองซานเป็นคนออกหน้าออกตาในเวทีระหว่างประเทศ แต่อำนาจแท้จริงยังอยู่กับผู้กุมอำนาจกลุ่มเดิม
            เป็นไปได้ว่าฝ่ายอองซานกับฝ่ายกุมอำนาจเดิมได้ตกลงกันแล้วว่าจะแบ่งการบริหารประเทศอย่างไร ถ้ามองในแง่บวก การเปิดทางให้นางอองซานคือการเปิดทางแก่เสรีประชาธิปไตย บนพื้นฐานที่ยอมรับว่ายังต้องอาศัยเวลาอีกนานปีกว่าจะเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง เปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเพราะประเทศจำต้องพัฒนา ประชาชนมีงานทำ
            ถ้ามองในแง่ลบ คงไม่เกินไปถ้าจะกล่าวว่านางอองซานเป็นเพียงหุ่นเชิด ผู้กุมอำนาจเดิมอยู่หลังม่านอย่างสุขสบาย คอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง รู้ดีว่าแม้จะผ่านอีกหลายปีอำนาจหลักยังอยู่กับพวกเขา
            แต่ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไร ในเวทีระหว่างประเทศรัฐบาลอองซานต้องมีส่วนรับ “ผิดและชอบ”

            บัดนี้สหประชาชาติสามารถรวบรวมหลักฐานได้หนาแน่น นำสู่ข้อสรุปที่ชัดเจนมากขึ้นทุกที เรื่องโรฮีนจากำลังเข้มข้นขึ้น
การตั้งชื่อบทความ “โรฮีนจาในมืออองซาน ซูจี” อาจไม่ถูกต้องเท่าไหร่แต่เป็นเช่นนั้น
2 กันยายน 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
            (ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7967 วันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน พ.ศ.2561)

-----------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
เรื่องโรฮีนจาเริ่มเข้าเขตอันตรา
“การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” เป็นคำที่กดดันรัฐบาลเมียนมามากขึ้นทุกที หลายประเทศแสดงท่าทีให้รับคืนผู้อพยพทั้งหมด การกดดันรุนแรงมากขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
เนื่องจากไม่อาจมองว่าผู้อพยพโรฮีนจาเป็นปัญหาของเมียนมาเท่านั้น ถ้าพูดให้ครอบคลุมกว่านี้ ในโลกนี้มีอีกนับร้อยล้านคนที่รอความช่วยเหลือ จึงต้องเริ่มต้นด้วยการตอบว่าเป็นปัญหาของใคร

บรรณานุกรม :
1. Aung San Suu Kyi is blasted over Rohingya 'genocide': UN report calls for war crimes charges for Myanmar's military chiefs and blames Nobel Prize winner for failing to stop them. (2018, August 27). Daily Mail. Retrieved from http://www.dailymail.co.uk/news/article-6102387/Aung-San-Suu-Kyi-blasted-failing-stop-genocide-against-Rohingya-Myanmar.html
2. Aung San Suu Kyi 'should have resigned' over Rohingya Muslim genocide, says UN human rights chief. (2018, August 30). The Independent. Retrieved from https://www.independent.co.uk/news/world/asia/aung-san-suu-kyi-rohingya-muslim-genocide-un-human-rights-chief-zeid-raad-al-hussein-a8513946.html
3. Bahar, Abid. (2012). Racism To Rohingya In Burma. Retrieved from http://ssashah.webs.com/racism-to-Rohingya-in-Burma-by-Dr-Abid-Bahar-in-response-to-Aye-Chans-Enclave-With-Influx-Viruses.PDF
4. Commission on Human Rights. (1993). Report on the situation of human rights in Myanmar, prepared by Mr. Yozo Yokota, Special Rapporteur of the Commission on Human Rights, in accordance with Commission resolution 1992/58. United Nations. Retrieved from http://www.altsean.org/Docs/Envoys%20Reports/Yokota%20CHR%20February%201993.pdf
5. Myanmar’s Stalled Transition. (2018, August 28). International Crisis Group. Retrieved from https://www.crisisgroup.org/asia/south-east-asia/myanmar/296-long-haul-ahead-myanmars-rohingya-refugee-crisis
6. Myanmar: where ‘genocide’ doesn’t really matter. (2018, August 30). Asia Times. Retrieved from http://www.atimes.com/article/myanmar-where-genocide-doesnt-really-matter/
7. US leads calls for Myanmar military to be held to account for Rohingya crackdown. (2018, August 29). AFP. Retrieved from https://www.afp.com/en/news/205/us-leads-calls-myanmar-military-be-held-account-rohingya-crackdown-doc-18o1ua6
-----------------------------
unsplash-logodilara harmanci