3 ภัยคุกคามหลักของอิหร่านในสมัยทรัมป์

แม้โครงการนิวเคลียร์อิหร่านจะใช้เพื่อสันติเท่านั้น แต่รัฐบาลทรัมป์กลับไม่ลดระดับภัยคุกคาม ซ้ำยังยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์เพื่อคงการคว่ำบาตร แท้จริงแล้วการพูดถึงภัยคุกคามเป็นข้ออ้างมากกว่า

กลางเดือนตุลาคม รัฐบาลทรัมป์ประกาศยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ต่ออิหร่าน ชี้ว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามร้ายแรง จำต้องตอบโต้ด้วยนโยบายแข็งกร้าว
            ยุทธศาสตร์ฉบับใหม่เอ่ยถึงภัยหลายอย่าง โดยหลักแล้วมี 3 ประการ ดังนี้

            ประการแรก โครงการนิวเคลียร์
ยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ระบุว่ารัฐบาลอิหร่านพยายามลดทอนความร่วมมือ (severely undercut) ตามข้อตกลง Joint Comprehensive Plan of Action (JCPOA) ไม่ได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ไม่ยอมให้เข้าตรวจเขตพื้นที่ทหาร เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้
            อันที่จริงแล้วแนวคิดล้มข้อตกลงไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลทรัมป์ พรรครีพับลิกันคิดทำมานานแล้ว ประเด็นน่าคิดคือทำไมประธานาธิบดีทรัมป์เพิ่งตัดสินใจล้มข้อตกลง ในขณะที่บริบทไม่เปลี่ยนแปลง แสดงว่ามีการเจรจาต่อรองอยู่นาน กว่าที่ฝ่ายต้องการให้ล้มสามารถจูงใจให้ทรัมป์ลงมือ
            กลายเป็นว่ารัฐบาลสหรัฐคือประเทศเดียวที่สรุปว่าอิหร่านละเมิดข้อตกลง ในขณะที่ประเทศคู่สัญญาอื่นๆ ทั้งหมดยอมรับว่าอิหร่านปฏิบัติตาม JCPOA เกิดคำถามว่า รัฐบาลสหรัฐผิด หรือรัฐบาลคู่สัญญาอื่นๆ เป็นฝ่ายผิด รวมทั้ง IAEA ก็ผิดด้วย
            ถ้าสหรัฐเป็นฝ่ายผิด เท่ากับว่ารัฐบาลทรัมป์พูดโกหกคำโตต่อโลกและต่อชาวอเมริกันใช่หรือไม่

            ประการที่ 2 การพัฒนาขีปนาวุธ
            รัฐบาลทรัมป์ออกมาตรการคว่ำบาตรต่อโครงการขีปนาวุธอิหร่าน เป็นมาตรการฝ่ายเดียว เห็นว่าขีปนาวุธดังกล่าวบั่นทอนเสถียรภาพภูมิภาค หุ้นส่วนของสหรัฐ
ด้านกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน โต้ว่า ขีปนาวุธไม่ขัดข้อมติ 2231 ของคณะมนตรีความมั่นคง เพราะไม่ได้ออกแบบเพื่อติดหัวรบนิวเคลียร์
ขีปนาวุธอิหร่านเป็นอีกกรณีที่รัฐบาลสหรัฐคว่ำบาตรฝ่ายเดียว ไม่ผ่านข้อมติคณะมนตรีความมั่นคง เนื่องจากอิหร่านไม่ได้ละเมิดข้อตกลงใดๆ ส่วนที่รัฐบาลทรัมป์บอกว่าละเมิดนั้นเป็นเพียงข้อสรุปของสหรัฐเท่านั้น ทำนองเดียวกับเรื่องโครงการนิวเคลียร์

            ประการที่ 3 สนับสนุนก่อการร้าย
รายงานต่อต้านก่อการร้ายฉบับล่าสุดเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมาของกระทรวงการต่างประเทศ “Country Reports on Terrorism 2016ตีตราว่าอิหร่านเป็นรัฐอุปถัมภ์ก่อการร้าย (State Sponsors of Terrorism) ระบุว่าอิหร่านสนับสนุนก่อการร้ายตั้งแต่ปี 1984 สนับสนุนฮิซบอลเลาะห์ (Hizballah) กลุ่มในฉนวนกาซา ซีเรีย อิรักและอีกหลายประเทศในตะวันออกกลาง คอยบั่นทอนสันติภาพย่านนี้ กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guards Corps) คอยให้ความช่วยเหลือ
อิหร่านช่วยฮิซบอลเลาะห์ผลิตจรวด ขีปนาวุธนับพันลูก ให้เงินอุดหนุน และนำกองกำลังนับพันไปฝึกในอิหร่าน ฮิซบอลเลาะห์มีบทบาทมากในสมรภูมิซีเรียเพื่อช่วยรัฐบาลอัสซาด กองกำลังชีอะห์จากอัฟกานิสถานกับปากีสถาน ที่เข้ารบสนับสนุนระบอบอัสซาด กลุ่มเหล่านี้ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อพลเรือนซุนนี กองกำลังอิหร่านมอบยุทโธปกรณ์แก่กลุ่มเหล่านี้
            ฝึกกองกำลังชีอะห์ในบาร์เรน และอีกหลายประเทศที่อิหร่านเป็นผู้จัดหาอาวุธ ให้เงิน    นอกจากนี้ นับจากปี 2009 เป็นต้นมา อิหร่านมีสัมพันธ์กับอัลกออิดะห์ อำนวยความสะดวกการส่งผ่านเงินสนับสนุน และการเดินทางของสมาชิกสู่ต่างประเทศฃ

            ประเด็นผู้ก่อการร้ายมีข้อสงสัยและข้อวิพากษ์หลายจุด ...
Country Reports on Terrorism 2016 ระบุว่าในโลกนี้มี 3 ประเทศที่เป็นรัฐอุปถัมภ์ก่อการร้าย คือ อิหร่าน ซูดานและซีเรีย เกิดคำถามว่าในโลกนี้มีรัฐอุปถัมภ์ก่อการร้ายเพียง 3 ประเทศเท่านั้นหรือ

รัฐบาลสหรัฐชี้ว่ากองกำลังชีอะห์จากอัฟกานิสถานกับปากีสถานที่เข้าไปต่อสู้ในสมรภูมิซีเรียเป็นผู้ก่อการร้าย ข้อเท็จจริงคือในสมรภูมิซีเรียมีกองกำลังติดอาวุธต่างชาติกว่า 100 ประเทศ เป็นกลุ่มใหญ่น้อยหลายสิบกลุ่ม ทั้งที่สัมพันธ์กับ IS/ISIL/ISIS และไม่เกี่ยวข้องด้วย ถามว่ากลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับ IS เป็นกลุ่มก่อการร้ายหรือไม่ กลุ่มเหล่านี้ไม่มีรัฐอุปถัมภ์หรือ

James Mattis รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐกล่าวว่า อิหร่านเป็น “รัฐสนับสนุนก่อการร้ายรายใหญ่สุด” ของโลก เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ไม่อาจละเลย แต่ประเทศนี้ไม่ได้สนับสนุน IS การพูดถึงอิหร่านคือการพูดถึงกองกำลังชีอะห์ในแถบตะวันออกกลาง
ในทางวิชาการเอ่ยถึงประเทศที่สนับสนุน IS/ISIL/ISIS สามารถระดมกองกำลังนับหมื่นจากทั่วทุกทวีป มีอาวุธเครื่องมือทันสมัย เป็นอาวุธที่ไม่สามารถหาซื้อทั่วไป แต่รัฐบาลสหรัฐกลับไม่ทราบว่าประเทศใดสนับสนุน IS
เป็นการดีที่จะตั้งคำถามว่าอะไรคือวาระแอบแฝง (hidden agenda) ของรายงานฉบับนี้

            นักวิชาการตะวันตกมักเอ่ยถึงความน่ากลัวหากอิหร่านมีระเบิดนิวเคลียร์ ไม่เพียงเพราะรัฐบาลอิหร่านอาจใช้เอง แต่เกรงว่าจะตกอยู่ในมือของกลุ่มก่อการร้ายหรือพวกหัวรุนแรง
            การเชื่อมโยงเช่นนี้ทำให้ผู้ก่อการร้ายเป็นภัยคุกคามร้ายแรง ในสายตาของตะวันตกจะคิดว่าจะต้องป้องกันไม่ให้ประเทศที่เป็นปรปักษ์อย่างอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์โดยเด็ดขาด เป็นเหตุผลข้ออ้างว่าจะต้องปิดล้อม คว่ำบาตร สหรัฐ อิสราเอล มีความชอบธรรมที่จะชิงโจมตีก่อน

            อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลทรัมป์จะถือว่าอิหร่านเป็นรัฐอุปถัมภ์ก่อการร้ายที่สำคัญที่สุด แต่เมื่อพิจารณาเนื้อในกลับไม่เป็นภัยนัก เพราะไม่ได้ชี้ว่าคุกคามสหรัฐโดยตรง ยังไม่เชื่อมโยงผู้ก่อการร้ายที่อิหร่านสนับสนุนจะโจมตีสหรัฐ
            ต่างจากสมัยซัดดัม ฮุสเซน ที่รัฐบาลบุชสมัยนั้นใช้หลักฐานเท็จ ทั้งเรื่องอิรักมีอาวุธนิวเคลียร์กับสนับสนุนผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะห์ ผู้ก่อการร้ายชื่อดังในยุคนั้น แล้วสร้างเรื่องเชื่อมโยงว่ารัฐบาลซัดดัมอาจมอบระเบิดนิวเคลียร์แก่อัลกอออิดะห์เพื่อก่อเหตุร้ายในแผ่นดินแม่อเมริกา สมัยนั้นชาวอเมริกันตื่นตระหนกกับเรื่องนี้มาก ด้วยความคิดว่าอัลกออิดะห์คือผู้ก่อเหตุ 9/11 จึงเกรงว่าประเทศจะหายนะหากอัลกออิดะห์โจมตีอเมริกาด้วยนิวเคลียร์ เรื่องราวทั้งหมดพิสูจน์แล้วว่าเป็นเท็จทั้งสิ้น แต่ช่วยให้รัฐบาลบุชสมัยนั้นมีข้ออ้างส่งทหารรุกรานอิรัก โค่นล้มระบอบซัดดัม
            ในอีกมุมหนึ่ง แม้รัฐบาลทรัมป์ยังไม่ได้เชื่อมโยง แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมโยงในอนาคต อาจเป็นผู้ก่อการร้ายชีอะห์หวังโจมตีแผ่นดินสหรัฐด้วยนิวเคลียร์

วิเคราะห์องค์รวม :
            ประการแรก ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
            ภัยคุกคามที่รัฐบาลทรัมป์เอ่ยถึงล้วนเป็นเรื่องเดิมที่พูดกันหลายสิบปีแล้ว ที่น่าสนใจคือทรัมป์ไม่ปรับ “ลดระดับ” ภัยคุกคามตามความเป็นจริง ดังกรณีโครงการนิวเคลียร์ที่ปัจจุบันโครงการลดขนาดลงมาก เหลือเพียงส่วนที่ใช้เพื่อสันติเหมือนนานาประเทศ ท่าทีเช่นนี้อาจตีความว่า รัฐบาลทรัมป์ไม่ยึดข้อเท็จจริง เพราะต้องการระบุว่าอิหร่านคือปรปักษ์ที่อันตรายที่สุด ยึดแนวทางสมัยรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) ที่ประกาศว่าภัยคุกคามสำคัญประกอบด้วยอิรัก อิหร่านและเกาหลีเหนือ หรือที่เรียกรวมๆ ว่าเป็น “axis of evil” ประเทศเหล่านี้เป็นพันธมิตรกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย แสวงหาอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (weapons of mass destruction)
            ถ้ายึดตามบุช บัดนี้ก็เหลือเพียงเกาหลีเหนือกับอิหร่าน

            ประการที่ 2 หวังบั่นทอนระบอบอิหร่าน
            สหรัฐคว่ำบาตรอิหร่านตั้งแต่ปี 1979 จนบัดนี้เกือบ 4 ทศวรรษแล้ว คว่ำบาตรด้วยหลายเหตุผล หนึ่งในนั้นคือหวังว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน ในสมัยของรัฐบาลอาห์มาดิเนจาดได้พิสูจน์แล้วว่าหากนานาชาติพร้อมใจคว่ำบาตรจะกระทบอิหร่านรุนแรง
นักวิชาการบางคนเห็นว่าแม้ฝ่ายศาสนามีอำนาจ ในขณะเดียวกันมีแรงต่อต้านด้วย และแรงขึ้นในสมัยประธานาธิบดีอาห์มาดิเนจาด ด้วยเหตุผลหลายข้อ ทั้งความไม่พอใจต่อระบอบ ต้องการเสรีภาพมากขึ้น เห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่แย่ลง การคอร์รัปชันดาษดื่น อาห์มาดิเนจาดไม่ใช่ตัวเลือกที่ประชาชนบางคนเห็นชอบ ชาวอิหร่านรู้ดีว่าทุกสิ่งมาจากการตัดสินใจของผู้นำจิตวิญญาณ
            สำหรับชีอะห์อิหร่าน พวกเขายังศรัทธาในชีอะห์ แต่ต้องการเห็นการปรับปรุงระบอบ ประสิทธิภาพของรัฐบาลมีผลต่อความศรัทธาต่อระบอบ
            ประเด็นโต้แย้งคือ ณ ขณะนี้ กลุ่มอียู รัสเซีย จีน ฟื้นความสัมพันธ์กับอิหร่าน ขยายการค้าการลงทุน การคว่ำบาตรฝ่ายเดียวจากสหรัฐจะได้ผลเพียงใด จะสูญเสียโอกาสทางธุรกิจหรือไม่ จนบัดนี้ฝ่ายสนับสนุนคว่ำบาตรยังมีอิทธิพลสูง รัฐบาลสหรัฐไม่ว่าจะมาจากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครทต่างคงการคว่ำบาตร ต่างกันเพียงมากหรือน้อยเท่านั้น

            ประการที่ 3 ความกังวลของอิสราเอลและพวกซาอุฯ
            จากข้อมูลทั้งหมด ค่อนข้างน่าเชื่อว่าอิหร่านจะไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป แลกกับการที่นานาชาติเข้ามาติดต่อค้าขายด้วย (ยกเว้นบางประเทศ) ความมั่นคงที่ผูกกับรัสเซียทำให้อิหร่านพลอยมั่นคง หากสามารถใช้โอกาสนี้ฟื้นฟูพัฒนาประเทศ อิหร่านที่มีโอกาสและศักยภาพจะสามารถยกระดับตัวเองเป็นประเทศที่เจริญและมั่งคั่ง
            ความวิตกกังวลแท้ของอิสราเอลกับพวกซาอุฯ ไม่อยู่ที่นิวเคลียร์อิหร่าน แต่เป็นอิหร่านที่รุ่งเรืองและมั่งคั่ง เวลาที่ทอดยาวออกไปเป็นประโยชน์ต่ออิหร่าน
            ส่วนภัยคุกคามต่างๆ ที่อ้างถึงนั้น (นิวเคลียร์ ขีปนาวุธ ก่อการร้าย ฯลฯ) เป็นเพียงข้ออ้างมากกว่า
            แน่นอนว่าปรปักษ์อิหร่านจะไม่ปล่อยไว้ ต้องสร้างสถานการณ์ใหม่ ตัวละครใหม่ เพื่อเล่นงานอิหร่าน
23 ตุลาคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7653 วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2560)
-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
“หลักนิยมทรัมป์” (Trump’s Doctrine) คือการยึดถือผลประโยชน์ของชาติกับอธิปไตยเป็นที่ตั้ง แม้ขัดแย้งประเทศอื่นหรือศีลธรรมคุณธรรม ตามหลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบสัจนิยม (Realism) 
นโยบายสหรัฐฯ ต่ออิหร่านอาจจะเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง มีกระแสข่าวว่าทรัมป์จะยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์ ซึ่งหมายความว่าจะ “หาเรื่อง” อิหร่านต่อไป สัปดาห์หน้าคงจะมีคำตอบชัดขึ้น ควรติดตามใกล้ชิด

บรรณานุกรม:
1. Iran is biggest state sponsor of terrorism – Pentagon chief Mattis. (2017, February 4). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/376288-iran-sponsor-terrorism-mattis/#.WJXbNOOsa6o.facebook
2. Roshandel, Jalil., Lean, Nathan Chapman. (2011). Iran, Israel, and the United States: Regime Security vs. Political Legitimacy. Califronia: ABC-CLIO, LLC.
3. Samuels, Richard J. (Ed.). (2006). Axis of Evil. In Encyclopedia Of United States National Security. (p.57). California: Sage Publications.
4. The White House. (2017, October 13). President Donald J. Trump's New Strategy on Iran. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2017/10/13/president-donald-j-trumps-new-strategy-iran
5. U.S. says Iran complying with nuclear deal, yet vows inter-agency review. (2017, April 19). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/news/412746/U-S-says-Iran-complying-with-nuclear-deal-yet-vows-inter-agency
6. U.S. State Department. (2017, July 19). State Department Releases Country Reports on Terrorism 2016. Retrieved from https://www.state.gov/j/ct/rls/crt/2016/272235.htm
7. US imposes sanctions on Iranian entities, individuals after missile test. (2017, February 4). Global Times. Retrieved from http://www.globaltimes.cn/content/1031346.shtml
8. Zarif says Russia can use Iran’s bases ‘on case by case basis’. (2017, March 28). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/news/412202/Zarif-says-Russia-can-use-Iran-s-bases-on-case-by-case-basis
-----------------------------