ความกังวลต่อการริเริ่มแถบและเส้นทางของจีน

แผนพัฒนาใดๆ ของจีนสามารถตีความว่ากำลังบั่นทอนผลประโยชน์ของอีกฝ่าย แต่อาจเป็นแนวทางที่ดีกว่า เพิ่มโอกาสเพิ่มทางเลือก สำคัญว่าสุดท้ายประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้นหรือไม่
มีผู้วิพากษ์ว่าแนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road) หรือการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) เป็นยุทธศาสตร์ครองโลกของจีน รายงาน Harbored Ambitions: How China’s Port Investments Are Strategically Reshaping the Indo-Pacific มุ่งประเด็น เส้นทางสายไหมทางทะเล” (Maritime Silk Road) หรือส่วน One Belt ที่เชื่อมต่อจากมหาสมุทรแปซิฟิกจรดแอตแลนติก เชื่อมทวีปเอเชีย ยุโรปและแอฟริกา
            รายงานนำเสนอว่าจีนพร่ำเอ่ยว่าเป็นนโยบายที่ต่างได้ประโยชน์ (win-win) แต่ในอีกมุมอิทธิพลของจีนขยายตัวในกลุ่มประเทศที่เส้นทางสายไหมผ่าน ท่าเรือประเทศต่างๆ ที่จีนช่วยสร้างช่วยพัฒนานำมาซึ่งกองทัพเรือจีนด้วย เกิดคำถามว่าอะไรที่จีนต้องการจริงๆ
            นักวิชาการบางคนเห็นว่าเป้าหมายคือต่อต้านอิทธิพลสหรัฐคล้าย Marshall Plan หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐใช้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจยุโรปเพื่อดึงเป็นพันธมิตรต่อต้านอิทธิพลโซเวียต ปิดล้อมฝ่ายสังคมนิยม ห้ามยุโรปตะวันตกติดต่อค้าขายกับฝ่ายสังคมนิยม ทั้งหมดนี้ภายใต้คำขวัญว่า “อเมริกาช่วยยุโรปบูรณะประเทศ” ที่ลึกกว่านั้นคือถ่ายถอดวัฒนธรรม ค่านิยม วิถีชีวิตแบบอเมริกัน หวังว่าชาวยุโรป จะรับเอาวิถีอเมริกันซึ่งสหรัฐเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อตนเอง

Robert R. Bianchi จาก University of Chicago คิดว่า “เส้นทางสายไหมใหม่เป็นหัวหอกนโยบายสร้างความเป็นมหาอำนาจของจีน” ยุทธศาสตร์นี้เอื้อให้จีนเจาะเข้าประเทศต่างๆ อย่างอิหร่าน ตุรกี อินโดนีเซียและอีกประเทศ รวมเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงติดต่อ อีกปัญหาที่จะตามคือสร้างความไม่เทียมกัน เพราะบางคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้ประโยชน์
            จีนจะเข้าไปมีอิทธิพลต่อสังคมวัฒนธรรมของประเทศเหล่านี้  ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การบงการของชนชั้นปกครองจีน ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลทรัมป์โจมตีจีนพยายามเป็นเจ้าในเอเชีย
ด้าน Hua Chunying รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศโต้ว่า “จีนยืนยันมานานแล้วไม่คิดเป็นเจ้า (hegemony) หรือขยายอำนาจ (expansion) ผมไม่แน่ใจว่าสหรัฐเป็นเช่นนี้ด้วย”

วิพากษ์ Harbored Ambitions :
            ประเด็นแรก มองว่าทุกอย่างที่เป็นจีนคือของรัฐบาลจีน
            รายงานนำเสนอราวกับว่าทุกอย่างที่เป็นจีนคือของรัฐบาลจีน ไม่ว่าท่าเรือนั้นตั้งอยู่ ณ ประเทศใด รัฐบาลของประเทศนั้นๆ ร่วมทุนหรือไม่ บริษัทเอกชนหลายพันหลายหมื่นแห่งประกอบกิจการด้วย รวมทั้งบริษัทของอเมริกา ยุโรป ฯลฯ
            ตามแผนการริเริ่มแถบและเส้นทางจะสัมพันธ์กับ 68 ประเทศ ประชากร 4,400 ล้านคน ในเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลางและยุโรป มีคำถามว่าประเทศเหล่านี้ บริษัทเอกชนของนานาประเทศ คืออาณานิคมของจีน ตกอยู่ใต้การบงการของจีนหรือ

            ประการที่ 2 มองข้ามผลประโยชน์ที่นานาชาติได้รับ
            ท่าเรือ เส้นทางเดินเรือ สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นหลายประเทศใช้ประโยชน์ บริษัทเอกชนนับพันนับหมื่นได้ประโยชน์ ส่วนใหญ่คือบริษัทเอกชนนานาชาติ
            มีการยกเหตุผลว่าการพัฒนาตามแนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจะเป็นเหตุให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความจริง แต่ละเลยว่าเป็นไปตามความต้องการของรัฐบาลประเทศเหล่านั้น กู้เงินต่างชาติเพื่อลงทุน หากจะพูดให้ครบควรเอ่ยว่าแต่เดิมประเทศเหล่านี้เป็นหนี้ชาติตะวันตก ญี่ปุ่น ไอเอ็มเอฟ ฯลฯ จำนวนมหาศาลอยู่แล้ว ถ้าจะกังวลเรื่องหนี้สาธารณะควรเริ่มต้นด้วยการลดหนี้เดิมด้วย
            นักวิชาการบางคนชี้ว่าแนวคิดหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางมีเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติจีนเป็นหลัก สวนทางกับที่พยายามพูดว่าเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน (win-win) ควรเข้าใจว่าทุกประเทศเป็นเช่นนี้ บางคนมองเรื่องความเท่าเทียม การพิจารณาว่าฝ่ายใดหาประโยชน์เกินเลยเป็นประเด็นที่ต้องถกต่อไป ที่สำคัญคือต่างฝ่ายต่างยินยอม คนที่ลงทุนมากกว่าควรได้รับผลประโยชน์เท่ากับคนที่ลงทุนน้อยหรือไม่

            ถ้าจะวิพากษ์ หลักอเมริกาเท่านั้นต้องมาก่อน (be only America first) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ทุกการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นการค้าขาย ภาษีสินค้านำเข้า การรับผู้อพยพลี้ภัย นโยบายต่างประเทศจะต้องตั้งอยู่บนบนประโยชน์ของคนอเมริกัน รัฐบาลทรัมป์จึงฉีกข้อตกลงนาฟตา (NAFTA) ออกจากข้อตกลงแก้ไขภาวะโลกร้อน และอีกหลายข้อตกลงโดยใช้คำว่า “ขอปรับแก้ใหม่” เพื่อให้เป็นธรรม
            จะดีกว่าหรือไม่ หากได้จีนเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แทนอยู่ภายใต้กรอบทางเลือกเดิมๆ

            ภายใต้แนวคิดข้างต้น ถ้าการลงทุนจากจีนและต่างชาติเป็นภัย ควรจะตำหนิรัฐบาลตัวเองและประชาชนก่อนดีไหม เพราะไม่สามารถพัฒนาประเทศให้ร่ำรวยเจริญก้าวหน้า ต้องอาศัยเงินทุนต่างชาติ ปล่อยให้ต่างชาติ บริษัทต่างชาติเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ (การนำเสนอเช่นนี้กำลังปฏิเสธเรื่องเสรีนิยม การค้าเสรี)

          ประการที่ 3 มุ่งโจมตีการก้าวขึ้นมาของจีน
การริเริ่มแถบและเส้นทางมุ่งส่งเสริมการค้าการลงทุน เอื้อให้คนมีงานทำ อยู่ดีกินดี ไม่แตกต่างจากการสร้างท่าเรือ ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศทั่วไป แต่รายงาน Harbored Ambitions พยายามเสนอให้เข้าใจว่าเป็นภัยต่อนานาชาติ คุกคามประเทศที่รับการลงทุน
            การก้าวขึ้นมาของจีนในเวทีโลกเพิ่มขยายอิทธิพลแน่นอน แต่เป็นประเด็นถกเถียงว่าแบบใดดีกว่าระหว่างให้ประเทศเดิมๆ คงอิทธิพลต่อไป หรือควรเพิ่มจีนเพื่อช่วยถ่วงดุล
ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ รายงานฉบับนี้เผยแพร่ในช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐบาลสหรัฐยืนยันคงบทบาทในเอเชียแปซิฟิกต่อไป พูดถึงคุณความดีของตนที่แสดงบทบาทในภูมิภาคนี้ สอดคล้องกับเนื้อหาของ Harbored Ambitions ที่พยายามสรุปว่าบทบาทอิทธิพลของสหรัฐคือความดีงาม เป็นประโยชน์ต่อทุกประเทศในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้าการลงทุน การเมือง การทหาร

ถ้าคิดว่าหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นแผนร้ายก็ควรจะตีความว่าจีนเลียนแบบประเทศอื่นๆ ที่ทำมาแล้วนับร้อยนับพันปี
            เพื่อให้มองรอบด้าน อาจเริ่มต้นด้วยการทบทวนประวัติศาสตร์ว่านับจากศตวรรษที่ 16 จนถึงทศวรรษ 1930 ชาติยุโรปได้ขยายอาณานิคมอย่างกว้างไกลจนครอบคลุมทั่วโลก อาณานิคมเหล่านี้เป็นแหล่งทรัพยากร แรงงานราคาถูก เป็นตลาดสินค้า ทำให้ยุโรปพัฒนาและเติบโตตามลำดับ หากปราศจากยุคจักรวรรดินิยม ยุโรปไม่เจริญเท่าทุกวันนี้
            เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 และเข้าสู่สงครามเย็น สหรัฐดำเนินนโยบายช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับความสูญเสียอันเนื่องจากสงครามตาม Marshall Plan ที่นำเสนอข้างต้น
            ส่วนในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา นอกจากประเด็นภัยคอมมิวนิสต์แล้ว สหรัฐให้ความช่วยเหลือด้วยหวังว่าจะนำทิศเศรษฐกิจของพวกเขา ซึ่งรวมถึงการเมือง การศึกษา วัฒนธรรมด้วย ประเทศเหล่านี้จึงดำเนินนโยบาย “พัฒนาแบบตะวันตก”

ถ้ามองในแง่ร้าย จีนเพิ่งจะเริ่มต้นส่วนมหาอำนาจอื่นทำมานานแล้ว หรืออาจกล่าวว่าจีนกำลังฟื้นฟูความยิ่งใหญ่อีกครั้ง การที่จีนเสริมสร้างกำลังรบทางทะเลเพื่อป้องกันเส้นทางเดินเรือ ไม่ต่างจากสหรัฐที่ย้ำว่าต้องรักษาเส้นทางเดินเรือเสรี ต่างกันที่กำลังรบอเมริกาเหนือกว่าจีนมาก แต่รัฐบาลสหรัฐมักชอบตีโพยตีพาย สร้างศัตรูให้น่ากลัวเกินจริง

          ประการที่ 4 อุปสรรคของจีนหรือเพียงแค่แก้ปัญหาภายใน
            ไม่ว่าจีนหวังจะเป็นมหาอำนาจหรือไม่ เมื่อชาติใดมั่งคั่งมั่นคงมากๆ ย่อมมีสิทธิถูกมองว่าคุกคามอีกประเทศหนึ่ง บั่นทอนผลประโยชน์ของเขา
            อย่างไรก็ตาม มีความเห็นแตกต่างกันทั้งกลุ่มที่เห็นว่าจีนจะก้าวขึ้นมาเทียบเคียงสหรัฐไม่ช้าก็เร็ว กับอีกพวกที่เห็นว่าจีนยากจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ
            กลุ่มที่เห็นว่าจีนยากจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจจะสรุปว่าอุปสรรคมาจากปัญหาภายในของจีนเอง โดยเฉพาะปัญหาคนสูงวัยที่จะเพิ่มขึ้นมาก ปัญหาสิ่งแวดล้อม ความเข้าใจผิดคิดว่าเศรษฐกิจจีนแข็งแกร่ง และอุดมการณ์การเมืองเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสู่จุดสูงสุด
เป็นข้อสรุปว่าจีนไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งภายในมากพอ จนกลายเป็นพลังให้เป็นมหาอำนาจโลก

ถ้ามองข้ามการเมืองระหว่างประเทศ ข้อมูลจาก The World Factbook ระบุว่าปัจจุบัน (กรกฎาคม 2017) จีนมีประชากรเกือบ 1,380 ล้านคน ความท้าทายของรัฐบาลจีนคือทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ซึ่งหมายถึงต้องมีการงานที่ดี การหางานในจีนนับวันจะยิ่งเป็นปัญหา เด็กจบใหม่มีความรู้การศึกษามากขึ้นต้องการงานที่เหมาะกับตน น่าคิดว่าการออกไปทำงานต่างประเทศ แม้กระทั่งไปตั้งรกรากต่างประเทศ เป็นทางออกหนึ่ง
            แน่นอนว่าจีนที่เศรษฐกิจเติบใหญ่ การเมืองภายในมั่งคง แม้กระทั่งความขยันขันแข็ง มีหัวการค้า ล้วนเอื้อให้จีนยิ่งใหญ่ ชนชั้นปกครองประเทศอื่นๆ กังวลใจที่อำนาจตนกำลังถูกบั่นทอนและสั่นคลอน
            นี่เป็นความจริง อีกหนึ่งความเป็นไปของสถานการณ์โลกปัจจุบัน
          ท้ายที่สุด คำถามที่น่าคิดคือระหว่างมี “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” กับไม่มีสิ่งนี้ในโลก อย่างใดเป็นประโยชน์ต่อสามัญชนคนธรรมมากกว่ากัน
17 มิถุนายน 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7890 วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2561)
-----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
จิบูตี ฐานทัพต่างแดนแห่งแรกของจีนกับยุทธศาสตร์OBOR
ประเทศจิบูตีกลายเป็นที่ตั้งฐานทัพต่างแดนแห่งแรกของจีน แสดงให้เห็นว่าจีนตั้งเป้าที่จะส่งกองเรือรบมาไกลถึงแอฟริกา ดูแลเส้นทางเดินเรือและพลเมืองของตนในแถบนี้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม (OBOR) ที่จีนจะร่วมมือกับเอเชีย แอฟริกาและยุโรป ในอนาคตจะเห็นทหารจีนปรากฏตัวตลอดเส้นทางสายไหม บทบาททางทหารของจีนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข้อคิดจากขี้โรคแห่งเอเชีย
ชาวจีนปัจจุบันยังคงเรียนประวัติศาสตร์ในสมัยที่ถูกต่างชาติยึดเป็นอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคม เกิดคำว่าขี้โรคแห่งเอเชีย ชาวจีนถูกกดขี่ข่มเหง เสียชีวิตนับแสนนับล้าน ประวัติศาสตร์ไม่อาจแก้ไขแต่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ หากผู้ปกครองกับผู้ใต้การปกครองต่างบทบาทหน้าที่อย่างถูกต้อง พัฒนาปรับปรุงสังคมให้เข้มแข็งอยู่เสมอ ก้าวไปข้างหน้าอย่างเป็นเอกภาพ

บรรณานุกรม :
1. ‘Belt and Road’ spreading China’s power: academics. (2018, May 27). Taipei Times. Retrieved from http://www.taipeitimes.com/News/taiwan/archives/2018/05/27/2003693809
2. Central Intelligence Agency. (2018). China. In The World Factbook. Retrieved from https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/ch.html
3. FULL TEXT: President Donald Trump's Inauguration Speech. (2017, January 20). ABC News. Retrieved from http://abcnews.go.com/Politics/full-text-president-donald-trumps-inauguration-speech/story?id=44915821
4. Guns and Butter: How China's Military Buildup Relates to Trade War With US. (2018, June 2). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/analysis/201806021065032275-trade-dispute-impact-on-beijing-military-buildup/
5. Jacques, Martin. (2009). When China Rules the World: The End of the Western World and the Birth of a New Global Order. USA: Penguin Press.
6. New Silk Road spearhead of China’s campaign to become great power on world stage: Bianchi. (2018, June 12). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/news/424363/New-Silk-Road-spearhead-of-China-s-campaign-to-become-great-power
7. Nolan, Mary. (2012). The Transatlantic Century: Europe and America, 1890-2010. UK: Cambridge University Press.
8. Pomfret, John. (2009). China Is Not Poised to Become the Next Superpower. In China (Introducing Issues With Opposing Viewpoints) (pp.89-95). USA: Greenhaven Press.
9. Ports in a storm ‘stealthily’ expand China’s naval presence. (2018, June 2). Asia Times. Retrieved from http://www.atimes.com/article/ports-in-a-storm-stealthily-expand-chinas-naval-presence/
10. Ritzer, George. (2010). Globalization: A Basic. UK: John Wiley & Sons Ltd.
11. Thorne, Devin., Spevack, Ben. (2018, June 2). Harbored Ambitions: How China’s Port Investments Are Strategically Reshaping the Indo-Pacific. Center for Advanced Defense Studies (C4ADS). Retrieved from https://static1.squarespace.com/static/566ef8b4d8af107232d5358a/t/5ad5e20ef950b777a94b55c3/1523966489456/Harbored+Ambitions.pdf
-----------------------------