ข้อคิดจากขี้โรคแห่งเอเชีย

ครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 จีนซึ่งเป็นชาติอารยธรรมเก่าแก่กลายเป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนของคนต่างชาติ เกิดคำว่า “ขี้โรคแห่งเอเชีย” จวบจนปัจจุบันคนจีนจำนวนมากยังไม่ลืมประวัติศาสตร์ในยุคนั้น มีการสั่งสอนถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อให้คนจีนรุ่นใหม่ไม่ลืมช่วงแห่งเวลาความขมขื่น และที่สำคัญกว่านั้นคือเป็นบทเรียนที่ชาวจีนและคนทั่วโลกควรได้ตระหนักระลึกอยู่เสมอ
            บทความนี้จะนำเสนอเสี้ยวหนึ่งของเรื่องราวเหล่านั้น เพื่อเป็นบทเรียนและข้อคิด ดังนี้
สาเหตุที่จีนพ่ายแพ้:
            จีนเป็นอาณาจักรเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายพันปี มีทั้งช่วงแห่งความรุ่งโรจน์และเสื่อมถอย ราชวงศ์ชิงเป็นอีกราชวงศ์ที่ไม่พ้นวงล้อประวัติศาสตร์เช่นราชวงศ์หรืออาณาจักรอื่นๆ
            ประการแรก คิดว่าประเทศตนยิ่งใหญ่ ไม่ปฏิรูปอย่างจริงจัง
            อาณาจักรจีนมีการปฏิรูปหลายครั้ง สังคมมีการเปลี่ยนแปลงความคิดอ่านตามยุคสมัย แต่ในปลายราชวงศ์ชิงด้วยความคิดที่ว่าตนได้พัฒนามาไกลเมื่อเทียบกับชนชาติอื่นๆ จึงสำคัญผิดคิดว่าตนดีเลิศอยู่เสมอ กอปรกับชนชั้นปกครองพยายามรักษาอำนาจของตน เมื่อถึงคราวต้องการปฏิรูปจึงขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังและสายเกินแก้
            เช่นในปี 1902 มีการปฏิรูประบบบริหารที่เรียกว่า นโยบายใหม่” (xinzheng) อันเป็นการรื้อฟื้นข้อเสนอปฏิรูปของเมื่อปี 1898 สำนักงานต่างประเทศกลายเป็นกระทรวงการต่างประเทศตามรูปแบบของตะวันตก มีการมอบหมายให้ศึกษาแนวทางการปฏิรูปทั้งของญี่ปุ่น ยุโรปและสหรัฐ จัดตั้งรัฐบาลโดยให้จักรพรรดิอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ จัดการเลือกตั้งทั่วไปทั้งในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ อย่างไรก็ตามปรากฏว่าอำนาจที่แท้ยังอยู่ในมือของชนชั้นปกครองระดับสูง
            นอกจากนี้อำนาจราชวงศ์ในตอนนั้นเหลือเพียงน้อยนิด ประชาชนส่วนใหญ่เลือกทางที่ตัวเองจะอยู่รอด อำนาจทางทหารกระจายตัวอยู่ในมือของแม่ทัพนายกองประจำเมือง เกิดคนรุ่นใหม่ ชนชั้นกลางที่ต่อต้านระบอบกษัตริย์ อำนาจเศรษฐกิจอยู่ในมือของนักธุรกิจรายใหญ่ หอการค้าประจำจังหวัด
            อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวมีความสำเร็จในบางด้าน เช่น ปฏิรูประบบสอบเข้าราชการเมื่อปี 1905

          ประการสอง กองทัพอ่อนแอ เพราะขาดงบประมาณ การคอร์รัปชัน ความแตกแยกในผู้นำหมู่กองทัพ
            ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาระยะหลังพบว่า ในช่วงศตวรรษที่ 18 แม้จีนมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล แต่ระบบราชการมีขนาดเล็ก การเก็บภาษีเข้าคลังกระทำได้อย่างจำกัด ทำให้งบกลาโหมพลอยมีอย่างจำกัดด้วย และกลายเป็นจุดอ่อนสำคัญเมื่อต้องเผชิญหน้ากองทัพของผู้รุกรานที่มาพร้อมกับอาวุธสมัยใหม่
            ความอ่อนแอของราชวงศ์ส่งผลต่อกองทัพเช่นกัน หลังจากปราบกบฏไท่ผิง (Taiping) ในปี 1864 เกิดปรากฎการณ์แม่ทัพตามหัวเมืองต่างๆ ไม่อยู่ใต้อำนาจจักรพรรดิอย่างเต็มที่อีกต่อไป หลายคนเลือกที่จะกระทำตามรัฐบาลกลางตราบเท่าที่ตนเห็นด้วยเท่านั้น
            ความอ่อนแอของกองทัพจีนเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นเห็นว่าหากโจมตีจีนจะมีโอกาสชนะสูง ความพ่ายแพ้ของกองทัพเรือจีนในสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 เมื่อช่วงปี 1894-95 (First Sino- Japanese War) พิสูจน์ว่าข้อสมมติฐานของญี่ปุ่นถูกต้อง กองเรือรบหน่วยอื่นๆ ไม่ยอมเข้าช่วยเหลือกองเรือรบจีนที่กำลังจะปะทะกับกองเรือรบญี่ปุ่น ในเวลาต่อมาพบว่าอีกเหตุผลที่แพ้เป็นเพราะการคอร์รัปชันในหมู่ข้าราชการ งบประมาณกองทัพถูกข้าราชการโกงกิน ในซองบรรจุกระสุนแทนที่จะมีกระสุนปืนกลับมีแต่ทราย ทหารขาดการฝึกซ้อมและขาดขวัญกำลังใจ กองทัพไม่อยู่ในสภาพพร้อมรบ
            ความอ่อนแอของกองทัพคือผลสะท้อนรูปธรรมจากความอ่อนแอของประเทศ เปิดช่องให้ต่างชาติรุกราน

          ประการที่สาม สังคมแตกแยก
            เมื่อต่างชาติขยายการรุกราน การเมืองภายในอ่อนแอ สังคมเสื่อมโทรม ข้าราชการขุนนางระดับสูงแก่งแย่งอำนาจแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัว ต่างชาติพยายามขูดรีดหาประโยชน์จากความอ่อนแอของจีน นำสู่การลุกฮือของประชาชนผ่านขบวนการต่างๆ เช่น กลุ่มไท่ผิง การประท้วงจากกลุ่มนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ที่ยึดถือลัทธิชาตินิยม รวมทั้งกลุ่มของซุนยัดเซนและกลุ่มลัทธิคอมมิวนิสต์ สภาพความวุ่นวายทั้งหมดทำให้สังคมปั่นป่วนมากขึ้น คนในสังคมแตกแยกทางความคิดเป็นฝักเป็นฝ่ายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เห็นได้ชัดว่าระบอบราชวงศ์ชิงจะต้องล่มสลายในที่สุด

ข้อคิดบางประการ:
            ประการแรก ไม่อาจโทษต่างชาติเพียงฝ่ายเดียว
            ตำราประวัติศาสตร์หลายเล่มบรรยายยุคขี้โรคแห่งเอเชียในภาพชนชาติจีนที่เคยสูงส่งยิ่งใหญ่ถูกต่างชาติรุมกดขี่ขูดรีด คนจีนทั้งประเทศถูกกดขี่ข่มเหง ต้องสังเวยเสียชีวิตนับแสนนับล้านคนจากพฤติกรรมเลวร้ายดังกล่าว บางแนวคิดเห็นว่าการรุกรานนั้นไม่เหมาะสม แต่บางแนวคิดเห็นว่าการรุกรานเป็นเรื่องปกติของโลก ต่างฉกฉวยผลประโยชน์จากอีกฝ่ายเสมอ การรุกรานจากญี่ปุ่นกับชาติตะวันตกในสมัยนั้นเป็นเรื่องปกติ เพราะชาติมหาอำนาจในยุคนั้นต่างรุกรานชนชาติอื่นที่อ่อนแอกว่า ยึดเป็นอาณานิคม จับคนเป็นทาส ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ เพื่อเป็นตลาดระบายสินค้า เป็นแหล่งวัตถุดิบราคาถูก ส่งเสริมเกียรติภูมิของชาติ
            สิ่งที่ญี่ปุ่นแตกต่างจากจีนคือ ญี่ปุ่นอยู่ในฐานะประเทศอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เจริญรุ่งเรืองทางวัตถุตามแบบโลกตะวันตกในยุคนั้น พัฒนาขีดความสามารถของกองทัพตามแบบแผนการรบอันทันสมัย ไม่ใช่การรบแบบยุคใช้มีดดาบอีกต่อไป และต้องการอาณานิคมด้วยเหตุผลเดียวกับมหาอำนาจอื่นๆ
            ประวัติศาสตร์โลกหลายพันปีพิสูจน์ว่าสังคมหรืออาณาจักรใดที่อ่อนแอ ย่อมง่ายต่อการถูกชนเผ่าหรืออาณาจักรอื่นรุกรานครอบครอง เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกหนทุกแห่งทั่วโลกและซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงไม่อาจโยนความผิดหรือโทษต่างชาติเพียงฝ่ายเดียวหากไม่รู้จักปกป้องตนเอง ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เป็นพวกอ่อนต่อโลก หรือคิดเพียงแต่ว่าปกป้องครอบครัววงศ์ตระกูลของตนก็เป็นพอ

            ประการที่สอง ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง
            การที่บุคคลหรือสังคมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ดี ต้องเริ่มจากการยอมรับว่ายังมีความรู้อีกมากที่ตนไม่รู้ ทำตัวเป็นดั่งฟองน้ำแห้งๆ ที่พยายามดูดซับน้ำมากที่สุด ต้องสำรวจเพื่อรู้ปัญหา รู้จุดอ่อนของตนเอง เพื่อจะหาทางแก้ถูกจุด บางคนเสียดายอารยธรรมจีนที่สั่งสมความรุ่งเรืองมานับร้อยนับพันปี ต้องมาพังทลายในช่วงเวลาไม่ถึงร้อยปี แต่ในอีกมุมหนึ่งอาจมองว่าคือนั่นคือความเก่าแก่คร่ำครึที่ไม่ยอมปรับปรุงตัวเอง และลงเอยด้วยการล่มสลายไม่ต่างจากอารยธรรมเก่าแก่อื่นๆ ทั่วโลก คงไว้แต่บทเรียนให้ชนรุ่นหลังตระหนักไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
            ในช่วงยุคสมัยแห่งการปฏิรูปจีนขนานใหญ่ คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามต่อความรู้ที่ถ่ายทอดกันมานับพันปีว่ามีความถูกต้องเพียงใด หลายคนเห็นว่าล้าสมัยไม่ทันกับยุคสมัย ทำให้จีนอ่อนแอและล้าหลังในบางด้าน นักศึกษาชาวจีนจำนวนมากเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศด้วยเห็นว่าความรู้ภายในประเทศไม่ใช่คำตอบของทุกเรื่องอีกต่อไป มีข้อมูลกว่าในปี 1937 กว่า 30,000 คนเดินทางไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นชาติที่ชาวจีนเกลียดชังและตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมาจีนเห็นว่าตนยิ่งใหญ่กว่า มีอารยธรรมสูงส่งกว่า ญี่ปุ่นต่างหากต้องรับวัฒนธรรมความรู้ของจีน แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ชาวจีนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยเห็นด้วยกับการเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ด้วยความถ่อมใจ มองไกลกว่าการเป็นมิตรประเทศหรือไม่
            เจียงไคเช็ค เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้ศึกษาต่อด้านการทหารที่ญี่ปุ่น แม้ท่านจะไม่ใช่นักศึกษาตัวอย่าง แต่ 3 ปีที่อยู่ญี่ปุ่นได้ซึมซับเรื่องความมีระเบียบวินัย เกิดความตั้งใจที่จะพัฒนาประเทศสู่ความทันสมัย

            ประการที่สาม ความร่วมมือของผู้ปกครองกับประชาชน
            แทนที่จะมุ่งโทษผู้ปกครองว่าไม่ได้ทำหน้าที่ เหตุที่ต่างชาติรุกรานประเทศเพราะผู้ปกครองไม่เอาใจใส่บ้านเมือง ไม่สนใจสุขทุกข์ของประชาชนเท่าที่ควร ประชาชนต้องแสดงบทบาทของตนเองด้วย เมื่อฮ่องเต้ไม่กระทำตามอาณัติสวรรค์ให้ปกครองบ้านเมืองเพื่อประชาชน ประชาชนก็ต้องลุกขึ้นแก้ไขตามบัญชาสวรรค์เช่นกัน
            การฝากอนาคตให้กับผู้ปกครองพิสูจน์ว่าผู้นำที่ฉ้อฉลอ่อนแอเพียงไม่กี่คนก็ทำให้ชาติล่มสลาย ดังนั้น ประชาชนจำต้องเอาใจใส่สังคม เอาใจใส่ประเทศชาติ ต่อต้านการใช้อำนาจในทางมิชอบ สังคมจำต้องเรียนรู้ความเป็นไปของโลก พัฒนาประเทศชาติให้เข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา ไม่เป็นเหตุให้ต่างชาติเข้ารุกรานได้โดยง่าย บ้านเมืองที่อยู่เย็นเป็นสุขเกิดจากความร่วมมือระหว่างผู้ปกครองกับผู้ใต้การปกครอง ต่างฝ่ายกระทำตามบทบาทหน้าที่ของตนอย่างเหมาะสม

            ในโอกาสครบรอบวันเกิด 120 ปีของอดีตประธานเหมา เจ๋อตง เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สื่อ Global Times ของจีนได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของชาวจีน พบว่าคุณความดียิ่งใหญ่ของประธานเหมาคือช่วยให้จีนรอดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของต่างชาติ สามารถเลือกเส้นทางของตนเอง พ้นจากการเป็นขี้โรคแห่งเอเชีย นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 60 เห็นว่าเรื่องสำคัญที่ประธานเหมาวางรากฐานไว้คือการรับใช้ประชาชนและหลักความยุติธรรม (fairness) กว่าร้อยละ 55 ยกย่องท่านที่เชิดชูบทบาทของจีนในเวทีโลก ส่วนข้อบกพร่องที่กว่าร้อยละ 80 พูดถึงคือนโยบายปฏิวัติวัฒนธรรมเมื่อปี 1966-76
            นาย Xie Chuntao นักวิชาการจาก Party School of the Communist Party of China Central Committee ให้ความเห็นว่าผลสำรวจชี้ว่าชาวจีนในปัจจุบันมีความคิดต่อประธานเหมาอย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น (ไม่เชื่อแบบหลับหูหลับตาอีกต่อไป)

            การวิพากษ์วิจารณ์จากคนจีนปัจจุบันชี้ว่าสังคมเปิดกว้างเรื่องการวิพากษ์มากขึ้น ในอีกมุมหนึ่งคือรัฐไม่คิดจะควบคุมเข้มงวดอย่างที่ผ่านมา หรือไม่สามารถควบคุมดังเช่นอดีตอีกต่อไป เรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าการวิพากษ์คือการแสดงออกของสังคมที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า ผลสำรวจชี้ว่าคนรุ่นใหม่ นักศึกษาคือพวกที่วิพากษ์วิจารณ์ประธานเหมามากที่สุด แต่การปล่อยให้พวกนักคิดพวกหัวก้าวหน้าอย่างเดียวชี้นำสังคมนั้นไม่เพียงพอ ที่สุดแล้วประชาชนทุกคนที่ยังมีลมหายใจ ยังคิดได้ พูดได้ ควรมีส่วนร่วมตามบทบาทของตนเอง สังคมจึงต้องเป็นสังคมแห่งความคิดความเข้าใจ ก้าวไปข้าหน้าอย่างเป็นเอกภาพ
5 มกราคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6270 วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม พ.ศ.2557) 
------------------------
บรรณานุกรม:
1. Pong, David. (editor in chief). 2009. Encyclopedia of Modern China. 4 volume set. USA: Charles Scribner’s Sons.
2. Mitter, Rana. 2013. Forgotten Ally: China's World War II, 1937-1945. New York: Houghton Mifflin Harcourt.
3. Wright, David Curtis. 2011. The History of China. Second edition. USA: Greenwood.
4. 85% say Mao's merits outweigh his faults: poll. (2013, December 24). Global Times. Retrieved from http://www.globaltimes.cn/content/834000.shtml#.UrrWC9IW0Rk
5. Duiker, William J. 2009. Contemporary World History, (Fifth edition). USA: Wadsworth.
6. Noble, Thomas F. X., Strauss, Barry., Osheim, Duane J., Neuschel, Kristen B., Accampo, Elinor A. Roberts, David D. & Cohen, William B. 2011. Western Civilization: Beyond Boundaries, (6th Edition). USA: Wadsworth.
-------------------------