จิบูตี ฐานทัพต่างแดนแห่งแรกของจีนกับยุทธศาสตร์ OBOR

รู้จักจุดยุทธศาสตร์จิบูตี :สาธารณรัฐจิบูตี (The Republic of Djibouti) ตั้งอยู่ในแอฟริกาตะวันออก ติดอ่าวเอเดน (Gulf of Aden) เป็นประเทศเล็กมีพื้นที่ 23,200 ตร.กม. (ประเทศไทยใหญ่กว่าถึง 22 เท่า) เพิ่งได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อปี 1977 ปัจจุบัน (2016) มีประชากรราว 850,000 คน เกือบทั้งหมดเป็นมุสลิม เป็นรัฐอิสลาม เข้าร่วมกลุ่มสันนิบาตอาหรับ (Arab League) องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) สภาพการเมืองมั่นคงแต่เศรษฐกิจอ่อนแอ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายหรือกึ่งทะเลทราย อัตราว่างงานสูงถึงร้อยละ 60 (2014) ประชากรครึ่งหนึ่งมีอายุไม่ถึง 25 ปี อาหารร้อยละ 80 ต้องนำเข้า ยังต้องพัฒนาอีกมาก รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมมากขึ้น
จิบูตีกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์เมื่อคลองสุเอซ (Suez Canal) เริ่มเปิดใช้งานเมื่อปี 1869 เชื่อมระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง เป็นเส้นทางเดินเรือเชื่อมยุโรปกับเอเชีย จิบูตีตั้งอยู่ตรงปากทางทะเลแดง ในอดีตเจ้าอาณานิคมทั้งฝรั่งเศส อังกฤษ ต่างพึ่งเส้นทางเดินเรือนี้เพื่อส่งกองเรือยึดอาณานิคมเอเชียและเพื่อการค้า พื้นที่แถบนี้จึงถูกยึดเป็นอาณานิคมเพื่อสร้างเป็นจุดพักเรือ เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสถึงกับลงทุนสร้างทางรถไฟยาว 300 กิโลเมตรเชื่อมต่อกับลึกเข้าไปในทวีป เป็นเส้นทางขนส่งสินค้ามาที่ท่าเรือ
            พลเอก Thomas Waldhauser ผู้บัญชาทหารสหรัฐในแอฟริกาอธิบายว่าตำแหน่งของจิบูตีเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมาก เป็นเส้นทางผ่านของเรืออีกเส้นที่สำคัญที่สุดในโลก
จิบูตีเหมือนสิงคโปร์ที่เรือส่วนใหญ่ในย่านจะแล่นผ่าน ช่องแคบที่ผ่านจิบูตีมีความกว้างเพียง 18 ไมล์เท่านั้น หากควบคุมได้เท่ากับควบคุมการผ่านของเรือทั้งหมด ในยามปกติคือป้องกันโจรสลัดแต่หากเกิดสงครามระหว่างประเทศจะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ทันที

เป้าหมายของจีน :
เมื่อ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา จิบูตีกลายเป็นที่ตั้งฐานทัพต่างแดนแห่งแรกของจีน ภายใต้ข้อตกลงทวิภาคี ทางการจีนประกาศชัดว่าฐานทัพเรือดังกล่าวจะสนับสนุนความร่วมมือทางทหาร การซ้อมรบร่วม การอพยพและปกป้องชาวจีนในต่างแดน ช่วยเหลือเหตุภัยพิบัติต่างๆ และช่วยคุ้มกันเส้นทางเดินเรือร่วมกับนานาชาติ
สื่อ Global Times ของจีนรายงานว่าเพื่อเป็นจุดแวะพักของทหารภายใต้ฐานทัพของจีน เป็นจุดเติมเสบียง ซึ่งจำเป็นต่อปฏิบัติการที่อยู่ไกลแผ่นดินแม่ แตกต่างจากฐานทัพสหรัฐที่มักมีทหารประจำการจำนวนมาก เช่น ฐานทัพสหรัฐที่จิบูตีมีทหารประจำการถึง 4,000 นาย พร้อมเครื่องบินรบหลายชนิด เช่น P-3C กับ F-16 ทั้งยังเป็นฐานปล่อยเครื่องบินไร้พลขับ (drone) หน่วยปฏิบัติการพิเศษหลายหน่วยประจำการที่นี่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ซีไอเอ ปัจจุบันสหรัฐใช้ฐานดังกล่าวเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลข่าวกรอง เพื่อสนับสนุนซาอุฯ ที่กำลังทำสงครามกับกองกำลังฮูตี (Houthi) ในเยเมน เห็นชัดว่ามีเพื่อการแผ่ขยายอำนาจ
ฐานทัพของจีนจะช่วยเติมกำลังบำรุงกองเรือที่ทำหน้าที่คุ้มกันหมู่เรือสินค้า ป้องกันโจรสลัดในย่านนี้ รวมถึงการอพยพเคลื่อนย้ายประชาชน ยืนยันว่าไม่ได้มีเพื่อแทรกแซงกิจภายในของประเทศแถบนี้ ไม่คิดแข่งขันกับมหาอำนาจอื่น จีนยังมุ่งให้ความสำคัญกับพื้นที่อธิปไตยของตน เช่น ไต้หวันกับทะเลจีนใต้เป็นหลัก
รวมความแล้ว ทางการจีนประกาศว่าเป้าหมายคือเพื่อป้องกันผลประโยชน์ของประเทศ มิได้ต้องการเป็นผู้นำโลก

ทำไมต้องมีฐานทัพต่างแดน :
            เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่าการเดินเรือในย่านนี้เป็นอีกพื้นที่ๆ อันตรายมากที่สุด โจรสลัดโซมาเลียยึดเรือสินค้าและเรียกค่าไถ่จนกลายเป็นปัญหานานาชาติ หลายประเทศร่วมกันส่งเรือรบเข้ามาคุ้มครองเส้นทางเดินเรือ (ไทยส่งเรือเข้าร่วมเช่นกัน)
จีนลงทุนกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งขยายท่าเรือ พร้อมกับการค้าระหว่างกันที่สูงถึง 1,100 ล้านดอลลาร์ในปี 2014 เห็นถึงการสร้างสัมพันธ์ระยะยาว คนจีนกับชาวจิบูตีกำลังสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น
            ในอีกด้านหนึ่ง ปัจจุบันจีนมีทหารรักษาสันติภาพในประเทศซูดานใต้ (South Sudan) กับมาลี (Mali) หลายปีที่ผ่านมาจีนลงทุนในแอฟริกามหาศาล ชาวจีนจำนวนไม่น้อยเดินทางมาแอฟริกาเพื่อหน้าที่การงาน ฐานทัพจิบูตีจึงเป็นประโยชน์เป็นจุดพักของทหารที่มาปฏิบัติการในแถบนี้ เช่นเดียวกับพลเรือนจะได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว มีข้อมูลว่ารัฐบาลจีนต้องอพยพแรงงานจีน 35,680 คนออกจากลิเบียเมื่อเกิดอาหรับสปริง และอีกหลายร้อยละคนเมื่อกองทัพซาอุฯ บุกเข้าเยเมน
            เป็นไปได้ว่าในอนาคตจีนจะเพิ่มบทบาทการรักษาสันติภาพในแอฟริกามากขึ้น พร้อมกับคนจีนจะเดินทางมาทำงานที่นี่มากขึ้นด้วย
ฝ่ายสหรัฐมองว่าก้าวย่างของจีนครั้งนี้คือการแผ่พลังอำนาจอ่อน (soft power) ส่วนทางการจีนพยายามชี้แจงว่าไม่หวังการแผ่อิทธิพล พร้อมกับเปรียบเทียบว่าแตกต่างจากสหรัฐมาก ฐานทัพต่างแดนของจีนมีเพื่อปฏิบัติการ “เชิงรับ” ไม่ใช่ “เชิงรุก” เมื่อวิเคราะห์พบว่าการจะเป็นแบบใดย่อมปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นกับบริบท ในช่วงนี้ความเข้มแข็งของกองทัพจีนยังห่างชั้นจากสหรัฐ ยิ่งเป็นปฏิบัติในพื้นที่ห่างไกลแผ่นดินแม่ สิ่งที่จีนควรทำและทำได้คือเพื่อเป้าหมาย “เชิงรับ” แต่ในอนาคตเมื่อแข็งแกร่งขึ้นย่อมสามารถเปลี่ยนเป็น “เชิงรุก” ได้โดยปริยาย

ประเด็นที่น่าสนใจคือรัฐบาลจีนเอ่ยถึงการปกป้องชาวจีนในต่างแดน แนวทางนี้เหมือนรัฐบาลสหรัฐที่มีนโยบายปกป้องพลเมืองและผลประโยชน์ของตนในต่างแดน ซึ่งหมายความว่าจีนจะเข้าพัวพัน (engage) ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกอย่างใกล้ชิด ส่วนจะเหมือนสหรัฐมากน้อยเพียงใดคงจะได้เห็นในอนาคต

ความสัมพันธ์กับยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม :
ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม (Silk Road Strategy) หรือ “One Belt, One Road” (OBOR – ภาษาจีนอ่านว่า อี้ต้าย อี้ลู่ บางครั้งใช้คำว่า Belt and Road) ประกอบด้วย แนวเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” (Silk Road Economic Belt) กับ เส้นทางสายไหมทางทะเล” (Maritime Silk Road) ที่เชื่อมต่อจากมหาสมุทรแปซิฟิกจนถึงมหาสมุทรแอตแลนติก เชื่อมทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา รัฐบาลจีนเห็นว่า ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมคือการนำสันติภาพและการพัฒนาสู่ชาวโลก เป็นการประสานประโยชน์ร่วมกับบรรดาประเทศและประชาชาติตลอดแนวเส้นทาง

ถ้าวิเคราะห์โดยยึดยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม (OBOR) เป็นแกน ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม คือ “ทางแก้” การปิดล้อมจีนอย่างหนึ่ง ในขณะที่ฝ่ายสหรัฐพยายามปิดล้อม จีนดำเนินนโยบายเปิดกว้าง ติดต่อเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ อย่างลึกซึ้ง เป็นรูปธรรม ยุทธศาสตร์ OBOR เชื่อมต่อจีนกับประเทศต่างๆ กว่าครึ่งค่อนโลก ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์นี้จะเป็นเครื่องบ่งชี้อีกตัวว่านโยบายปิดล้อมของสหรัฐได้ผลหรือไม่ มากน้อยเพียงไร

            หลายคนใช้ชีวิตอย่างปกติสุข เช้าไปทำงาน เย็นกลับบ้านอยู่กับครอบครัว วิถีชีวิตประจำวันราบรื่น พื้นที่ขัดแย้งที่ปรากฏในข่าวอยู่อีกซีกหนึ่งของโลกที่ห่างไกล ความจริงแล้วทั่วทั้งโลกมีความตึงเครียด มีการแก่งแย่งแข่งขันอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ประชาชนของประเทศนั้นๆ ไม่รู้รับความจริงเหล่านั้น บางประเทศรัฐบาลให้รับรู้มาก บางประเทศให้รับรู้เพียงเล็กน้อย

            การค้าระหว่างประเทศไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจเท่านั้น ยังสัมพันธ์กับมิติการเมืองระหว่างประเทศ  ความมั่นคงทางทหาร ประเทศมหาอำนาจอย่างจีนไม่สามารถหลีกเลี่ยงความจริงเหล่านี้ ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจการค้าการลงทุนเท่านั้น ในอีกมุมหนึ่งคือการแผ่ขยายอิทธิพลในทุกมิติ การปะทะกับอำนาจต่างชาติ ต้องมีกองทัพคอยสนับสนุนทั้งเชิงรุกเชิงรับ
            จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเห็นกองทัพจีนใหญ่ขึ้นมีศักยภาพมากขึ้น จะเห็นทหารจีนปรากฏในประเทศต่างๆ มากขึ้น ร่วมกับการขยายตัวตามยุทธศาสตร์

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
นับจากมีคลองสุเอซเป็นต้นมา จิบูตีกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์เส้นทางเดินเรือที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เชื่อมเอเชียกับยุโรป ชาติมหาอำนาจแต่ละยุคสมัยต่างพยายามมีฐานทัพในพื้นที่นี้ จีนคือประเทศน้องใหม่ล่าสุด เพราะนอกจากจีนแล้วยังมีฐานทัพของสหรัฐ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ฐานทัพจีนตั้งใกล้ฐานทัพ Lemonnier ของสหรัฐ ห่างกันเพียง 4 ไมล์ เหมือนเพื่อนบ้านในหมู่บ้านเดียวกัน
            นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียกำลังสร้างฐานทัพของตนในจิบูตีเช่นกัน กรณีซาอุฯ เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะแม้อยู่คนละทวีปแต่โดยระยะทางแล้วซาอุฯ อยู่ไม่ไกลจากจิบูตี ปัจจัยเรื่องระยะทางจึงไม่ใช่เหตุผลแม้แต่น้อย มีผู้ให้อธิบายว่าเพื่อต่อต้านการแผ่อิทธิพลของอิหร่านในประเทศนี้
การที่จีนสามารถตั้งฐานทัพยังต่างแดนห่างไกล นอกจากแสดงถึงเป้าหมายแล้วยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกองเรือจีนที่ไม่ใช่กองเรือยามฝั่งอีกต่อไป เป็นตามยุทธศาสตร์ขยายขีดความสามารถของกองทัพจีน ให้สามารถปฏิบัติการในพื้นที่ห่างไกล ไม่เฉพาะเพื่อป้องกันภายในบริเวณอาณาเขตจีนเท่านั้น
            ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าคงได้เห็นกองเรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิงหรือเรือบรรทุกเครื่องบินน้องใหม่ที่กำลังต่ออีกลำแล่นมาเทียบท่าจิบูตี สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นควบคู่กับการพัฒนาตามยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม
16 กรกฎาคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7555 วันอาทิตย์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2560)
-----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
สถานการณ์ตึงเครียดในทะเลจีนใต้จำต้องมองกรอบที่กว้างกว่าอาเซียน เกี่ยวข้องกับท่าทีของสหรัฐกับญี่ปุ่น ที่รัฐบาลอาเบะเพิ่งประกาศต้องการแสดงภาวะผู้นำเหนือภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จีนคงต้องการเตือนอาเซียนว่าอาเซียนควรร่วมมือกับจีน อยู่ร่วมกับจีนอย่างฉันท์มิตรมากกว่าที่จะเข้าพวกกับสหรัฐ ญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในแนวทางต่อต้านยุทธศาสตร์ Pivot to Asia
บรรณานุกรม:
1. สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน. (2558, พฤศจิกายน 27). เอกสารประกอบสัมมนา เส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 ข้อเสนอแนะแห่งสันติภาพและการพัฒนา. กรุงเทพฯ
2. Braude, Joseph., Jiang, Tyler. (2017, July 12). Why China and Saudi Arabia Are Building Bases in Djibouti. The Huffington Post. Retrieved from http://www.huffingtonpost.com/joseph-braude/why-china-and-saudi-arabi_b_12194702.html
3. Central Intelligence Agency. (2016). Djibouti. In The World Factbook. Retrieved from https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/dj.html
4. China sets up base in Djibouti. (2017, July 11). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2017-07/11/c_136435716.htm
5. Dubois, Colette. (2005). Djibouti: Nineteenth Century to the Present: Survey. In Encyclopedia of African History (pp. 359-362). New York: Fitzroy Dearborn.
6. Gao, Charlotte. (2017, July 12). China Officially Sets Up Its First Overseas Base in Djibouti. The Diplomat. Retrieved from http://thediplomat.com/2017/07/china-officially-sets-up-its-first-overseas-base-in-djibouti/
7. Lendon, Brad., George, Steve. (2017, July 12). China sends troops to Djibouti, establishes first overseas military base. CNN. Retrieved from http://edition.cnn.com/2017/07/12/asia/china-djibouti-military-base/index.html
8. Page, Willie F. (Editor). (2005). Djibouti. In Encyclopedia Of African History And Culture (5 Vol. Set). New York: Facts On File.
9. PLA Djibouti base must be viewed objectively. (2017, July 13). Global Times. Retrieved from http://www.globaltimes.cn/content/1056127.shtml
10. Sisk, Richard. (2017, July 12). China Opens First Overseas Military Base -- Next Door to US Camp. Military.com. Retrieved from http://www.military.com/daily-news/2017/07/12/china-opens-first-overseas-military-base-next-door-to-us-camp.html
-----------------------------