เส้นต้องห้าม (red line) ต่อเกาหลีเหนือ

ช่วงกรกฎาคมถึงก่อนกลางสิงหาคม 2017 เป็นเวลาแห่งความตึงเครียดระหว่างฝ่ายสหรัฐกับเกาหลีเหนืออีกรอบ เริ่มจากเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป “ฮวาซอง-14” (Hwasong-14) ถึง 2 ลูกใน 1 เดือน คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติออกข้อมติ 2371 คว่ำบาตรเกาหลีเหนือ ตามมาด้วยเกาหลีเหนือประกาศเตรียมแผนยิงขีปนาวุธ “ฮวาซอง-12” (Hwasong-12) จำนวน 4 ลูกให้ตกรอบเกาะกวม อ้างว่าเป็นการจำลองยับยั้งกองทัพศัตรูจากฐานทัพเกาะกวม ปฏิบัติการจำลองนี้ตัวขีปนาวุธจะบินข้ามน่านฟ้าญี่ปุ่น ข้ามผ่านพื้นที่ Shimane, Hiroshima และ Koichi
            ด้านประธานาธิบดีทรัมป์เตือนเกาหลีเหนือว่าอาจถูกตอบโต้รุนแรงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เหตุการณ์ตึงเครียดรอบนี้สะท้อนเส้นต้องห้าม (red line) ของประเทศต่างๆ ดังนี้
เส้นต้องห้ามของจีน :
            ท่ามกลางความตึงเครียด ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยับยั้งชั่งใจ พยายามแก้ปัญหาด้วยการหารือเจรจาต่อไป ย้ำว่า “จีนกับสหรัฐต่างมีผลประโยชน์ร่วมจากคาบสมุทรเกาหลีที่ปลอดนิวเคลียร์ สงบสุขและมั่นคง”
ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จีนประกาศวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่หากสหรัฐหรือเกาหลีใต้พยายามโค่นระบอบเกาหลีเหนือ จีนจะไม่ปล่อยให้เกิดขึ้น จะไม่นิ่งเฉย
            ท่าทีจีนชัดเจนคือ ฝ่ายสหรัฐจะทำอะไรก็ได้ ขอเพียงไม่โค่นล้มระบอบเกาหลีเหนือ เป็นการวางเส้นต้องห้ามต่อสหรัฐ และเตือนเกาหลีเหนือว่าจีนจะไม่ยุ่งหากสหรัฐโจมตีเกาหลีเหนือเฉพาะจุด เช่น ทำลายขีปนาวุธ คลังอาวุธ ศูนย์นิวเคลียร์
เป็นหลักฐานสำคัญอีกชิ้นว่า เป้าหมายสูงสุดของจีนคือให้คาบสมุทรเกาหลีอยู่ในความสงบเรียบร้อย

ความสับสนของสหรัฐ :
8 สิงหาคม The Washington Post นำเสนอรายงานลับของหน่วยข่าวกรองกระทรวงกลาโหมสหรัฐ (Defense Intelligence Agency) ฉบับปลายเดือนกรกฎาคมระบุว่าเกาหลีเหนือมีหัวรบนิวเคลียร์ถึง 60 ลูก สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์เข้ากับขีปนาวุธข้ามทวีปที่ยิงไกลถึงแผ่นดินแม่สหรัฐ
            ก่อนหน้านี้เกาหลีเหนือประกาศว่าประสบความสำเร็จในการทดสอบจุดติดระเบิดนิวเคลียร์มาแล้วหลายครั้ง เมื่อรวมกับการทดสอบขีปนาวุธ “ฮวาซอง-14” ทำให้วาทะแผ่นดินแม่สหรัฐไม่ปลอดภัยฟังดูจริงจังขึ้นมาก รายงานลับของหน่วยข่าวกรองกระทรวงกลาโหมเป็นข้อสรุปที่ชัดเจน

ประเด็นสำคัญคือต้องแยกระหว่างความจริงกับความคิดเห็น ไม่ว่าเกาหลีเหนือมีขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์จริงหรือไม่ ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยคิดว่ามี สร้างความหวาดผวาแก่สังคม ที่สำคัญคือส่งผลต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลทรัมป์
ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐใช้เรื่องประเทศปรปักษ์มีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อช่วยกำหนดนโยบายกลาโหมกับต่างประเทศ คราวนี้เกิดคำถามว่ารัฐบาลสามารถปกป้องพลเมืองจากระเบิดนิวเคลียร์ได้มากแค่ไหน คะแนนประธานาธิบดีทรัมป์ที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์กำลังถูกฉุดให้ต่ำลงไปอีก

สัปดาห์ต่อมา (13 ส.ค.) Mike Pompeo ผู้อำนวยการ CIA ชี้แจงว่าบางคนพูดว่าเกาหลีเหนือมีขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์แล้ว ความจริงคือจนบัดนี้ยังไม่มีหน่วยข่าวกรองใดระบุเช่นนั้น ดังนั้น เกาหลีเหนือยังไม่ใช่ภัยคุกคามจวนตัว (imminent) ที่รัฐบาลเป็นห่วงคือเกาหลีเหนือค่อยๆ พัฒนาและใกล้จะสำเร็จ
ในเวลาใกล้เคียง รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศทิลเลอร์สันพยายามคลายท่าทีของประธานาธิบดี เห็นว่าท่านแค่ต้องการย้ำว่าสหรัฐจะปกป้องตัวเองและพันธมิตรของตน ขอให้ชาวอเมริกันนอนหลับฝันดีเหมือนปกติ 
            ดูเหมือนผู้อำนวยการ Pompeo ต้องการลดกระแสกังวล แต่ทิ้งคำถามว่า The Washington Post นำเสนอข่าวเท็จ หรือว่าฝ่ายข่าวกรองกระทรวงกลาโหมสร้างรายงานเท็จ

            ย้อนหลังไม่ถึง 4 เดือน ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า “ไม่มีใครปลอดภัย มีใครปลอดภัยหรือ นายคนนั้นมีอาวุธนิวเคลียร์” (หมายถึงผู้นำเกาหลีเหนือ)

            ในความเข้าใจของสังคมอเมริกัน เกาหลีเหนือสามารถโจมตีสหรัฐด้วยขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์หรือไม่ เป็นประเด็นที่แม้กระทั่งรัฐบาลยังสับสนตัวเอง ถ้าจะอธิบายอีกแบบคือ รัฐบาลพูดกลับไปกลับมาตามใจชอบ สร้างรายงานและลบรายงานตามใจชอบ รัฐบาลสหรัฐกำลังหลอกลวงพลเมืองตนเองหรือไม่ หลายคนต้องหวาดผวา นอนไม่หลับฝันไม่ดี

17 สิงหาคม ประธานาธิบดี มุน แจ-อิน (Moon Jae-in) กล่าวอย่างชัดเจนว่าเส้นต้องห้ามคือ เกาหลีเหนือมีขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์ คำพูดนี้ย่อมตีความว่าเกาหลีเหนือยังไม่มีอาวุธดังกล่าว
            ควรเชื่อใครมากกว่า ระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับเกาหลีใต้

            เส้นต้องห้าม (red line) ที่เกิดขึ้นและมีอยู่จริง :
            การคิดโจมตีเกาะกวม หรือพูดให้ถูกคือยิงให้ตกรอบเกาะกวมกลายเป็นเส้นต้องห้าม (red line) ที่เกิดขึ้นจริง ถ้ามองในเชิงหลักการคือโจมตีดินแดนอเมริกา โดยรัฐธรรมนูญแล้วเป็นหน้าที่สำคัญของรัฐบาลที่จะต้องปกป้อง การโจมตีเท่ากับประกาศสงคราม (แม้ว่าขีปนาวุธจะไม่ตกใส่ตัวเกาะก็ตาม) การที่ประธานาธิบดีเตือนด้วยถ้อยคำรุนแรงว่าเกาหลีเหนืออาจต้องเผชิญการตอบโต้รุนแรงอย่างที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน นับว่าสมเหตุสมผล
อีกคำที่ทรัมป์พูดท้ายๆ คือ มาตรการทางทหารพร้อมแล้ว อาวุธล็อคเป้าและพร้อมยิง หวังว่าเกาหลีเหนือจะทำอะไรฉลาดๆ

เส้นต้องห้ามของเกาหลีใต้ :
ประธานาธิบดี มุน แจ-อิน (Moon Jae-in) กล่าวว่ารัฐบาลสหรัฐตกลงกับเกาหลีใต้แล้ว่าหากจะโจมตีเกาหลีเหนือต้องได้รับความเห็นชอบจากเกาหลีใต้ก่อน ไม่ว่ารัฐบาลสหรัฐจะใช้วิธีการใด ต้องหารือกับเกาหลีใต้และได้รับความเห็นชอบก่อนลงมือ และทิ้งท้ายว่า “ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะไม่มีสงคราม” จะแก้ปัญหานิวเคลียร์ด้วยการคว่ำบาตร กดดันและเจรจาหารือ

            ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้มากคือ หากความขัดแย้งบานปลายกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ เกาหลีใต้จะกลายเป็นสมรภูมิทันที และจะเป็นประเทศที่สูญเสียมาก (อาจเป็นรองแค่เกาหลีเหนือ) เกิดคำถามว่าสงครามที่เกิดขึ้นมีเพื่อผลประโยชน์ของใคร ทำไมเกาหลีใต้ต้องสูญเสียมากมาย
            สงครามย่อยมีผู้บาดเจ็บล้มตาย คนเกาหลีเข่นฆ่ากันเอง หลายคนไม่เห็นด้วยกับเรื่องแบบนี้

            งานสำรวจของ Pew Research Center เมื่อต้นสิงหาคมที่ผ่านมา ให้ข้อสรุปว่าคนเกาหลีใต้เห็นว่าจีนกับสหรัฐเป็นภัยคุกคามพอๆ กัน ด้วยคะแนน 83 ต่อ 70 ตัวเลขร้อยละ 70 ที่เห็นว่าสหรัฐเป็นภัยคุกคามร้ายแรงนั้น ย่อมต้องสรุปว่าคนส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาลสหรัฐเป็นภัยคุกคามร้ายแรง สะท้อนความคิดความรู้สึกของคนเกาหลีใต้ต่อรัฐบาลสหรัฐได้เป็นอย่างดี

            ความจริงคือ ทุกวันนี้คนเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการเรื่องปากท้องมาก หลายคนต้องปากกัดตีนถีบ สงครามไม่ว่าเล็กหรือใหญ่กระทบเศรษฐกิจ ตัวเขาอาจไม่ตายแต่ต้องตกงาน ครอบคัวอยู่อย่างยากไร้ นี่คือโลกเกาหลีใต้ในวันนี้
ด้วยเหตุนี้ประธานาธิบดีมุนจึงย้ำว่ารัฐบาลไม่ต้องการสงคราม และจะทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้เกิดสงคราม อธิบายว่าเหตุที่ประธานาธิบดีทรัมป์ใช้ถ้อยคำรุนแรงก้าวร้าวเพราะหวังกดดันเกาหลีเหนือ รัฐบาลเห็นชอบด้วย ขอเพียงแต่ต้องไม่บานปลายเป็นสงคราม และเกาหลีเหนือต้องไม่มีขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์

เส้นต้องห้ามของเกาหลีเหนือ :
ความขัดแย้งรอบนี้ลงเอยแบบง่ายๆ ผู้นำคิม จ็อง-อึน (Kim Jong-un) เลื่อนการตัดสินใจยิงขีปนาวุธ พูดทิ้งท้ายเพียงว่าอาจนำเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาอีก หากสหรัฐยังคงยั่วยุ
ถ้อยคำของผู้นำเกาหลีเหนือไม่สมเหตุสมผล ที่ผ่านมาให้เหตุผลว่าที่ต้องตอบโต้เพราะฝ่ายสหรัฐยั่วยุก่อน การยั่วยุรอบนี้รุนแรงถึงขีดสุดเมื่อมีข้อมติคว่ำบาตรจากสหประชาชาติ เตรียมโจมตีตอบโต้เกาหลีเหนือหากยิงเกาะกวม ณ จุดที่ฝ่ายสหรัฐยั่วยุรุนแรงอย่างที่สุด รัฐบาลเกาหลีเหนือกลับระงับการตอบโต้เอาดื้อๆ
เป็นกรณีตัวอย่างว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือพร้อมทำทุกอย่าง แม้ขัดแย้งเหตุผลข้อเท็จจริงแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ตรงข้ามกับที่ประกาศเรื่อยมาว่าพร้อมทำสงครามนิวเคลียร์กับสหรัฐ
ตอกย้ำข้อสรุปว่าความอยู่รอดของระบอบคือเป้าหมายสูงสุด หรือพูดอีกอย่างคือทำได้ทุกอย่างเพื่อผู้ปกครองจะอยู่รอดต่อไป

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            จากวันที่ผู้นำคิมประกาศเลื่อนตัดสินใจยิงขีปนาวุธจนถึงวันนี้ สถานการณ์คลี่คลายอย่างชัดเจน ไม่มีการยั่วยุจากเกาหลีเหนือ น่าจะสรุปได้แล้วว่าความตึงเครียดรอบนี้ยุติเพียงเท่านี้ เป็นการตีกรอบไปในตัวว่าเมื่อความขัดแย้ง การยั่วยุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะหยุดที่จุดใด (หากเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธใส่เกาะกวมเรื่องคงไปอีกยาว ความขัดแย้งบาดลึกลงอีกมาก)
            จากนี้ไปคือติดตามการทดสอบขีปนาวุธกับทดลองจุดระเบิดนิวเคลียร์ โดยเฉพาะขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์ นี่คือเส้นต้องห้ามที่เกาหลีเหนือขยับเข้าไปใกล้ขึ้นทุกที คำถามชวนคิดคือ ถ้าการมีขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์คือเส้นต้องห้าม และหมายถึงการอยู่รอดของระบอบ เช่นนั้นแล้วจะมีวันที่เกาหลีเหนือจะมีอาวุธดังกล่าวหรือไม่
20 สิงหาคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7590 วันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2560)
----------------------
บทความที่กี่ยวข้อง : 
บทความนี้วิเคราะห์โดยสร้างฉากทัศน์ (scenario) วิเคราะห์เหตุการณ์จำลองหลากหลายแบบ ว่าหากเกาหลีเหนือยังคงเดินหน้าและยิงขีปนาวุธใส่เกาะกวม จะเกิดสถานการณ์ใดบ้าง เป็นผลดีผลเสียอย่างไร 
ไม่ว่าเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์จริงหรือไม่ ยิงถึงแผ่นดินอเมริกาหรือเปล่า รัฐบาลสหรัฐชุดแล้วชุดเล่าพยายามย้ำแล้วย้ำอีกให้พลเมืองอเมริกันเห็นว่าภัยคุกคามด้วยนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือเป็นเรื่องจริง จึงต้องพยายามทุกอย่างเพื่อสกัดกั้น ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้วผู้นำเกาหลีเหนือกับบริวารไม่ต้องการสงคราม ที่ต้องการจริงๆ คือความอยู่รอดของพวกเขา แต่ที่รัฐบาลสหรัฐต้องโหมภัยเกาหลีเหนือเพราะมีผลประโยชน์อื่นๆ ที่สำคัญกว่ามาก

บรรณานุกรม:
1. (3rd LD) Moon: U.S. won't take military option against N. Korea without Seoul's consent. (2017, August 17). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/northkorea/2017/08/17/0401000000AEN20170817006153315.html
2. (3rd LD) Trump says he would be 'honored' to meet with N. Korean leader under right circumstances. (2017, May 1). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/northkorea/2017/05/02/0401000000AEN20170502000353315.html
3. (4th LD) N. Korea threatens missile strike near Guam, warns of all-out war. (2017, August 9). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/northkorea/2017/08/09/0401000000AEN20170809001054315.html
4. Glaser, Bonnie., Snyder, Scott., Park, John S.. (2008, Jan). Keeping an Eye on an Unruly Neighbor: Chinese Views of Economic Reform and Stability in North Korea. United States Institute of Peace. Retrieved from http://www.usip.org/files/resources/Jan2008.pdf
5. North Korea now making missile-ready nuclear weapons, U.S. analysts say. (2017, August 8). The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/world/national-security/north-korea-now-making-missile-ready-nuclear-weapons-us-analysts-say/2017/08/08/e14b882a-7b6b-11e7-9d08-b79f191668ed_story.html
6. North Korea says it will hold off on firing missiles toward Guam. (2017, August 15). The Guam Daily Post/Reuters. Retrieved from https://www.postguam.com/news/local/north-korea-says-it-will-hold-off-on-firing-missiles/article_64b0950c-817a-11e7-b22f-f35907c9f310.html
7. North Korea threatens missile strike on Guam; Trump vows 'fire and fury'. (2017, August 8). USA Today. Retrieved from https://www.usatoday.com/story/news/world/2017/08/08/report-north-korea-has-nuke-fits-inside-missile/549188001/
8. North Korea's leader holds fire on Guam missile launch. (2017, August 15). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/2017/08/north-korea-leader-briefed-guam-missile-test-plans-170814234449710.html
9. Nuclear war with N. Korea not ‘imminent’ – CIA chief. (2017, August 14). RT Retrieved from https://www.rt.com/news/399505-pompeo-zakharova-north-korea/
10. Poushter, Jacob., Manevich, Dorothy. (2017, August 1). Globally, People Point to ISIS and Climate Change as Leading Security Threats. Pew Research Center. Retrieved from http://www.pewglobal.org/2017/08/01/globally-people-point-to-isis-and-climate-change-as-leading-security-threats/?utm_source=AdaptiveMailer&utm_medium=email&utm_campaign=8-1-17%20Global%20Threats&org=982&lvl=100&ite=1568&lea=323345&ctr=0&par=1&trk=
11. Reckless game over the Korean Peninsula runs risk of real war. (2017, August 10). Global Times. Retrieved from http://www.globaltimes.cn/content/1060791.shtml
12. South Korea Says Trump Will Seek Its Consent for Any Strike on North. (2017, August 16). The New York Times. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/opinion-trump-playing-with-fire-in-north-korea-crisis-a-1162505.html
13. Statement of DPRK Government. (2017, August 8). The Rodong Sinmun. Retrieved from http://www.rodong.rep.kp/en/index.php?strPageID=SF01_02_01&newsID=2017-08-08-0001
14. The White House. (2017, August 11). Remarks by President Trump Before Workforce/Apprenticeship Discussion. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2017/08/11/remarks-president-trump-workforceapprenticeship-discussion
15. Trump threatens ‘fire and fury’ in response to North Korean threats. (2017, August 8). The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/politics/trump-tweets-news-report-citing-anonymous-sources-on-n-korea-movements/2017/08/08/47a9b9c0-7c48-11e7-83c7-5bd5460f0d7e_story.html
16. Trump’s threat to North Korea contrasts with calm reassurances of other administration officials. (2017, August 9). The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/politics/trumps-threat-to-north-korea-contrasts-with-calm-reassurances-of-other-administration-officials/2017/08/09/e38427ec-7d18-11e7-83c7-5bd5460f0d7e_story.html?utm_term=.85e3a52a8219
17. Trump: Military solutions fully in place against N. Korea. (2017, August 11). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/northkorea/2017/08/11/0401000000AEN20170811009200315.html
18. Xi urges restraint from Trump in phone call on N. Korea crisis. (2017, August 12). The Korea Times. Retrieved from http://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2017/08/103_234630.html
-----------------------------