ถอดรหัสสัมพันธ์แนบแน่นรัฐบาลสหรัฐกับซาอุฯ (2)

ในที่ประชุม “Arab Islamic American Summit” ประธานาธิบดีทรัมป์เอ่ยชื่อ IS/ISIL/ISIS อัลกออิดะห์ (Al Qaeda) ฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ฮามาส (Hamas) และกลุ่มอื่นๆ ว่าเป็นผู้ก่อการร้าย
สหประชาชาติมีการสรุปว่าใครหรือกลุ่มใดเป็นผู้ก่อการร้าย มีหลายกลุ่มที่เห็นต่างกัน บางประเทศบอกว่าเป็นผู้ก่อการ้ายแต่สหประชาชาติกับประเทศอื่นๆ เห็นว่าไม่เป็น ในระยะหลังหลายประเทศลดความสำคัญของสหประชาชาติ ตีตราด้วยตนเองว่าใครเป็นผู้ก่อการร้าย และปฏิบัติต่อกลุ่มเหล่านี้ตามที่ตนเห็นชอบ
เรื่องนี้สะท้อนความจริงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถึงความจำกัดของสหประชาชาติ การคงอยู่ของทฤษฎีสัจนิยม (Realism) โลกอยู่ภายใต้กฎแห่งป่า (law of the jingle) แต่ละรัฐจะต้องปกป้องผลประโยชน์สำคัญยิ่ง (vital interest) ด้วยตัวเอง เช่น ปกป้องอิสรภาพทางการเมืองและอธิปไตยแห่งดินแดนด้วยทุกวิธีที่จำเป็น ไม่มีองค์การระหว่างประเทศใดที่ควบคุมรัฐทั้งหลายอย่างมีประสิทธิภาพ
เชื่อมโยงอิหร่านกับก่อการร้าย :
กษัตริย์ Salman Bin Abdul Aziz ตรัสว่า “การประชุมแสดงให้เห็นชัดว่าชาติอาหรับกับอิสลามผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอด 55 ประเทศ อันประกอบด้วยประชากรกว่า 1,500 ล้าคน ร่วมเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการต่อสู้พลังลัทธิสุดโต่ง (extremism) กับลัทธิก่อการร้าย (terrorism) เพื่อสันติภาพ ความมั่นคงและเสถียรภาพโลก” การประชุมช่วยกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐ
บางช่วงตรัสผูกโยงกับศาสนาว่า “ด้วยความรับผิดชอบต่ออัลเลาะห์ (Allah) ต่อประชาชนของเราและต่อโลก เราจะยืนเคียงข้างต่อสู้พลังความชั่ว (forces of evil) กับลัทธิสุดโต่ง”
“ทุกวันนี้เราเห็นบางคนที่คิดว่าตัวเขาเป็นมุสลิมพยายามบิดเบือนภาพลักษณ์ศาสนา พยายามเชื่อมโยงศาสนาอันยิ่งใหญ่นี้เข้ากับความรุนแรง” ซึ่งขัดแย้งกับหลักศาสนา

จากนั้นพูดโยงอิหร่านกับกลุ่มก่อการร้ายว่า “ระบอบอิหร่านกับกลุ่มและองค์กรใกล้ชิดอย่างฮิซบอลเลาะห์ ฮามาส รวมทั้ง ISIS (Daesh) อัลกออิดะห์ และอีกหลายกลุ่มเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน” พวกนี้ “พยายามหาประโยชน์จากอิสลาม (exploit Islam) เพื่อปิดบังเป้าหมายทางการเมืองที่สร้างความเกลียดชัง ความสุดโต่ง การก่อการร้าย ความขัดแย้งทางศาสนาและนิกาย”
“ตั้งแต่ปฏิวัติโคไมนีจนถึงทุกวันนี้ ระบอบอิหร่านคือหัวหอกก่อการร้ายโลก” ย้อนหลัง 300 ปี ประเทศนี้ไม่เคยก่อการร้ายหรือแสดงความสุดโต่งจนกระทั่งการปฏิวัติโคไมนีเมื่อปี 1979 อิหร่านปฏิเสธความหวังดีของเพื่อนบ้าน เป็นพวกมักใหญ่ใฝ่สูงชอบขยายอำนาจ (expansionist ambitions) พวกก่ออาชญากรรม แทรกแซงกิจการภายในของประเทศต่างๆ ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ละเมิดหลักการอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้าน การเคารพซึ่งกันและกัน
อีกตอนหนึ่งกษัตริย์ Salman ตรัสว่า “ความรับผิดชอบของเราต่อพระเจ้า ประชาชนและโลกทั้งมวลคือ การยืนเคียงข้างต่อสู้พลังความชั่วและความสุดโต่งในทุกแห่งที่พวกเขาปรากฏ ... ระบอบอิหร่านคือหัวหอกของก่อการร้ายโลก”
ด้านประธานาธิบดีทรัมป์เรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมกันโดดเดี่ยวอิหร่าน ชี้ว่าเป็นผู้สร้างความแตกแยกทางศาสนาและโหมไฟก่อการร้าย “ทุกประเทศต้องร่วมกันโดดเดี่ยว จนกว่าระบอบอิหร่านตั้งใจจะเป็นส่วนหนึ่งของสันติภาพ” “อิหร่านต้องรับผิดชอบต่อความไร้เสถียรภาพของภูมิภาค ให้อาวุธ ฝึกกองกำลังที่สร้างความวุ่นวายและทำลายล้าง” รัฐบาลอิหร่านทำร้ายพลเมืองตนเองเพราะรัฐบาลสร้างความขัดแย้งและกระทำการทารุณ

ยุทธศาสตร์สร้างศัตรูพร้อมข้ออ้าง :
20 กันยายน 2001 เพียง 9 วันหลังเกิดเหตุ 9/11 ประธานาธิบดีบุชแถลงต่อรัฐสภาว่าอัลกออิดะห์คือผู้ลงมือ 7 ตุลาคม 2001 สหรัฐกับอังกฤษร่วมโจมตีทิ้งระเบิดอัฟกานิสถาน เดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันก็สามารถยึดครองกรุงคาบูล แต่สงครามเพิ่งจะเริ่มต้น
เมื่อเข้าปี 2002 รัฐบาลบุชให้ความสนใจต่ออิรัก หน่วยข่าวกรองรายงานว่าอิรักยังคงพัฒนาและผลิตอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (weapons of mass destruction: WMD) ติดต่อกับอัลกออิดะห์
ทุกวันนี้พิสูจน์แล้วว่าข้อสรุปเหล่านี้ผิดพลาด Paul Wolfowitz รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้นยอมรับในเวลาต่อมาว่าจำต้องอ้างเรื่อง WMD เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนยอมรับได้ ส่วน Colin Powell ยอมรับว่าสหรัฐไม่มีหลักฐานใดๆ พิสูจน์ว่ารัฐบาลซัดดัมมีความเชื่อมโยงกับพวกอัลกออิดะห์ ที่ผ่านมาเป็นเพียงข้อสงสัยเท่านั้น
            ทุกความสูญเสียที่เกิดขึ้น ไม่ว่าที่อิรัก สหรัฐหรือประเทศใดๆ มีต้นเหตุจาก “ข้อสงสัย” เท่านั้น แต่นี่คือยุทธศาสตร์สร้างศัตรูพร้อมข้ออ้างของสหรัฐที่ใช้กับอิรัก

การรุกรานอิรักโค่นลัมซัดดัมทำให้อิหร่านวิตกกังวล เพราะบัดนี้กองทัพอเมริกันนับแสนอยู่ติดพรมแดน ประธานาธิบดีมาห์มุด อาห์มาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad) ในขณะนั้นจึงเร่งพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ ตั้งใจแสดงให้เห็นว่าอิหร่านแกร่งพอที่เผชิญหน้าโดยตรงกับสหรัฐ ไม่หวั่นเกรงความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐแต่อย่างไร
ต่อมาระดับภัยคุกคามลดลงเมื่อสหรัฐได้ประธานาธิบดีโอบามา สั่งถอนทหารออกจากอิรักกับอัฟกานิสถาน พร้อมกับการก้าวขึ้นมาของประธานาธิบดี ฮัสซัน โรฮานี (Hassan Rohani) ผู้นำอิหร่านคนใหม่ (และคนปัจจุบัน) จึงเปิดเจรจาแก้ปัญหาโครงการนิวเคลียร์จนได้ข้อยุติในปลายสมัยรัฐบาลโอบามา ปัจจุบันโครงการอยู่ภายใต้การตรวจสอบดูแลจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) ม่มีเครื่องบ่งชี้ว่าอิหร่านกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ รัฐบาลสหรัฐกับซาอุฯ จึงไม่อาจหาเรื่องอิหร่านจากประเด็นนี้อีก

ชูประเด็นก่อการร้าย :
อย่างไรก็ตาม แม้ไม่สามารถเล่นงานอิหร่านด้วยประเด็นโครงการพัฒนานิวเคลียร์ รัฐบาลสหรัฐในสมัยโอบามาแจงว่ามีประเด็นอื่นๆ ที่สามารถคว่ำบาตรอิหร่านต่อไป
ยกตัวอย่าง มีนาคม 2015 Susan E. Rice ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีโอบามา กล่าวอย่างชัดเจนว่านอกจากโครงการนิวเคลียร์ที่เป็นปัญหาแล้ว อิหร่านยังเป็นภัยคุกคามจากอีกหลายประเด็น เช่น สนับสนุนก่อการร้าย ละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรง พยายามบั่นทอนเสถียรภาพของประเทศเพื่อนบ้าน สนับสนุนอัสซาด ฮามาสและฮิซบอลเลาะห์ คุกคามอิสราเอลอย่างหนัก รัฐบาลสหรัฐจะยังคงคว่ำบาตรอิหร่านในประเด็นเหล่านี้ จะยังคงต้านภัยคุกคามเหล่านี้
            แถลงการณ์ของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ในวาระบรรลุร่างข้อตกลงถาวรโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ความตอนหนึ่งว่าการผ่อนคลายมาตรการทำเฉพาะกับส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการนิวเคลียร์เท่านั้น สหรัฐยังคงการคว่ำบาตรอิหร่านต่อไปจากเหตุผลอื่นๆ เช่น การสนับสนุนผู้ก่อการร้ายการละเมิดสิทธิมนุษยชน การพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีป
จะเห็นว่ารัฐบาลโอบามาพูดอย่างชัดเจนว่าแม้ไม่คว่ำบาตรอิหร่านด้วยประเด็นนิวเคลียร์ แต่ยังคงคว่ำบาตรด้วยเหตุอื่นๆ อีกมาก หนึ่งในนั้นคือก่อการร้าย
ปลายสมัยโอบามามีการทบทวนนโยบายต่อต้านก่อการร้าย ยืนยันอิหร่านเป็นหนึ่งในประเทศผู้สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย เป็นไปได้ว่าฝ่ายยุทธศาสตร์ประเมินแล้วว่าในอนาคตจะเล่นงานอิหร่านด้วยประเด็นก่อการร้าย และเป็นเช่นนั้นจริงเมื่อเข้าสมัยทรัมป์

ถ้าไม่วิเคราะห์เชิงลึก ไม่มีอะไรใหม่ :
            ถ้าไม่พูดถึงการวิเคราะห์เชิงลึก การประชุมสุดยอด Arab Islamic American Summit ไม่มีอะไรใหม่ เพราะรัฐบาลสหรัฐกับฝ่ายซาอุฯ ประกาศต่อต้านอิหร่านตั้งแต่ปฏิวัติอิหร่านเมื่อ 1979 แล้ว
            มกราคม 2002 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช ประกาศว่าอิรัก อิหร่านและเกาหลีเหนือเป็น “axis of evil” บัดนี้เหลือเพียงอิหร่านกับเกาหลีเหนือ ผลการประชุมล่าสุดคือการตอกย้ำนโยบายต่อต้านอิหร่าน
ด้านประธานาธิบดีโรฮานีพูดเป็นนัยเตือนสหรัฐหากคิดทำสงคราม “พวกอเมริกันไม่รู้จักภูมิภาคของเรา ... พวกเขาทำพลาดเมื่อโจมตีอัฟกานิสถาน อิรัก คว่ำบาตรอิหร่าน และพวกเขาทำผิดพลาดอีกในซีเรีย รวมทั้งที่เยเมน”
เรื่องราวอิหร่านยังคงวนเวียนอยู่แถวนี้

เรื่องที่ไม่ค่อยพูด รัฐบาลสหรัฐกับขั้วซาอุฯ สนับสนุนผู้ก่อการร้าย :
            ข้อมูลจากบางแหล่งชี้มานานแล้วว่าในขณะที่รัฐบาลสหรัฐกับขั้วซาอุฯ กล่าวหาอิหร่านสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย รัฐบาลสหรัฐกับขั้วซาอุฯ สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายเช่นกัน
            ยกตัวอย่าง Al-Nusra Front เป็นพวกซุนนีหัวรุนแรง จัดอยู่ในกลุ่มพวกอัลกออิดะห์ เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่ารัฐอาหรับบางประเทศให้การสนับสนุน Al-Nusra Front โค่นล้มระบอบอัสซาด เป็นไปได้ว่า Al-Nusra Front ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อโค่นล้มระบอบอัสซาดโดยเฉพาะ ทำให้ซีเรียปั่นป่วนวุ่นวาย
31 พฤษภาคม 2013 คณะมนตรีความมั่นคงมีมติคว่ำบาตร Al-Nusra Front ในฐานะเป็นผู้ก่อการร้าย ห้ามขายหรือสนับสนุนอาวุธแก่กลุ่มดังกล่าว พร้อมกับอายัดทรัพย์สินต่างๆ แต่ยังปรากฏข้อมูลและเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปอีกว่ารัฐอาหรับบางประเทศยังคงให้การสนับสนุน Al-Nusra Front โค่นล้มระบอบอัสซาดอยู่ดี ด้านขั้วซาอุฯ ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้

            ถ้ายึดตามแนวคิดว่าสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย เวลาที่รัฐบาลสหรัฐกับขั้วซาอุฯ ประกาศสงครามต่อต้านก่อการร้ายจึงหมายถึง "บางกลุ่ม" เท่านั้น อย่างน้อยไม่ใช่กลุ่มที่พวกเขาสนับสนุน
            เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความจริงที่ปรากฏในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศปัจจุบัน เกิดคำถามว่ารัฐบาลเสรีประชาธิปไตยอย่างสหรัฐคืออะไร อะไรคือความดีความชั่วที่พูดถึง
            ทุกคนควรตั้งคำถามและลองตอบคำถามนี้ด้วยตัวเอง
มิถุนายน 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7513 วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2560)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ในที่ประชุม “Arab Islamic American Summit” ประธานาธิบดีทรัมป์แสดงท่าทีเป็นมิตรกับรัฐบาลซาอุฯ ท่ามกลางผู้นำชาติอาหรับ ผู้นำมุสลิมประเทศอื่นๆ รวม 55 ประเทศ วัตถุประสงค์หลักคือร่วมต่อต้านก่อการร้ายซึ่งหมายถึงมุสลิมสุดโต่งกับอิหร่าน เป็นอีกครั้งที่ทรัมป์พูดถึงความดีความชั่ว ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือดำเนินนโยบาย ยอมรับว่าแนวทางศาสนาของซาอุฯ เข้าได้กับนโยบายของตน
2.‘อิสลามหัวรุนแรง’ของทรัมป์: “It's not personal, ...”
ผู้ที่เข้าใจมาตรการป้องกันก่อการร้ายของสหรัฐจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าข้อเรียกร้องของโดนัลด์ ทรัมป์ที่ให้ตรวจตราติดตามมุสลิมทุกคนเปล่าประโยชน์ เพราะตามกฎหมายแล้วใครก็ตามที่เข้าข่ายต้องสงสัยจะถูกตรวจสอบติดตามทันทีไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ ข้อเสนอของทรัมป์ช่วยให้เขาได้คะแนนนิยมทิ้งห่างผู้สมัครพรรคเดียวกัน ความจริงคือไม่ว่า “อิสลามหัวรุนแรง” เป็นภัยคุกคามจริงแท้เพียงไร ชาวอเมริกันที่ชื่นชอบพรรครีพับลิกันหลายคนเชื่อเช่นนั้น มุสลิมอเมริกัน 3 ล้านคนจึงกลายเป็นแพะรับบาปเพราะทรัมป์

บรรณานุกรม:
1. Arab-Islamic-American Summit fosters global peace, stability. (2017, May 22). Arab News. Retrieved from httphttp://www.arabnews.com/node/1103126/saudi-arabia
2. Cleveland, William L. & Bunton, Martin. (2013). A History of the Modern Middle East (Fifth Edition). USA: Westview Press.
3. Engdahl, William. (2004). A Century of War: Anglo-American Oil Politics and the New World Order, (Revised Ed.). London: Pluto Press.
4. FULL TEXT: President Donald Trump's Inauguration Speech. (2017, January 20). ABC News. Retrieved from http://abcnews.go.com/Politics/full-text-president-donald-trumps-inauguration-speech/story?id=44915821
5. ‘Iran at forefront of global terrorism,’ says King Salman. (2017, May 21). Al Arabiya. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/News/gulf/2017/05/21/-Iran-at-forefront-of-global-terrorism-says-King-Salman.html
6. Ismael, Tareq Y., & Haddad, William W. (2004). Iraq: The Human Cost of History.USA: Pluto Press.
7. Justin P. Coffey and Paul G. Pierpaoli Jr.. (2010). Bush, George Walker. In The Encyclopedia of Middle East Wars: The United States in the Persian Gulf, Afghanistan, and Iraq Conflicts. (pp.251-251). California : ABC-CLIO, LLC.
8. King Salman: Iran spearheading global terror. (2017, May 22). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/node/1103121/saudi-arabia
9. Naji, Kasra. (2008). Ahmadinejad: The Secret History of Iran's Radical Leader. CA: University of California Press.
10. Schreck, Adam. (2017, May 22). Iran’s president criticizes US after Trump’s sharp words. The Washington Post/AP. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/world/middle_east/iranian-president-calls-us-relations-a-curvy-road/2017/05/22/f64a6b66-3ef2-11e7-b29f-f40ffced2ddb_story.html?utm_term=.7e4949670a65
11. Syria Al Qaida group ‘wants to attack US’. (2014, January 30). Gulf News. Retrieved from http://gulfnews.com/news/region/syria/syria-al-qaida-group-wants-to-attack-us-1.1284269
12. The White House. (2015, March 2). Remarks As Prepared for Delivery at AIPAC Annual Meeting by National Security Advisor Susan E. Rice. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2015/03/02/remarks-prepared-delivery-aipac-annual-meeting-national-security-advisor
13. The White House. (2015, April 2). Statement by the President on the Framework to Prevent Iran from Obtaining a Nuclear Weapon. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2015/04/02/statement-president-framework-prevent-iran-obtaining-nuclear-weapon
14. The White House. (2017, May 21). President Trump’s Speech to the Arab Islamic American Summit. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2017/05/21/president-trumps-speech-arab-islamic-american-summit
15. UN Security Council Adds Jabhat al-Nusra to Sanctions Blacklist. (2013, May 31). SANA. Retrieved from http://sana.sy/eng/22/2013/05/31/485111.htm
16. Yetkin, Murat. (2014, October 7). Turkey, ISIL and the PKK: It’s complicated. Daily News. Retrieved from http://www.hurriyetdailynews.com/turkey-isil-and-the-pkk-its-complicated.aspx?pageID=449&nID=72628&NewsCatID=409
-----------------------------