‘อิสลามหัวรุนแรง’ ของทรัมป์: “It's not personal, ...”

โดนัลด์ ทรัมป์ไม่ได้ “เหมารวม” ว่ามุสลิมทุกคนคือผู้ก่อการร้าย ศาสนาอิสลามสนับสนุนการก่อการร้าย แต่ ท่าทีและนโยบายของทรัมป์ “ส่อเหมารวมว่ามุสลิมทุกคนคือผู้ต้องสงสัย” เช่น เสนอนโยบายตรวจสอบติดตามมุสลิมทุกคน ตรวจตรามัสยิดทุกแห่ง ทั้งๆ ที่มุสลิมมัสยิดส่วนใหญ่ต่อต้านผู้ก่อการร้าย IS/ISIL/ISIS ผู้ที่สนับสนุน IS เป็นคนส่วนน้อยเท่านั้น
          ถ้าทรัมป์เข้าใจและยอมรับความแตกต่างระหว่างผู้ก่อการร้าย IS กับมุสลิมทั่วไป ทรัมป์จะไม่เสนอนโยบายตรวจตรามัสยิดทุกแห่ง จุดอ่อนสำคัญที่สุดคือใครก็เป็นผู้ก่อการร้ายได้ไม่จำต้องเป็นมุสลิมเท่านั้น
ความขัดแย้งระหว่างอิสลามกับคริสต์ :
            ไม่ว่าประวัติศาสตร์ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ปัจจุบันมุสลิมกับผู้นับถือคริสต์จำนวนไม่น้อยเชื่อว่ามีความขัดแย้งระหว่าง 2 ศาสนามานานหลายร้อยปีแล้ว
          เรื่องที่หลายคนจะหยิบยกขึ้นมาพูดคือสงครามครูเสดที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 900 ปีก่อน เรื่องดังกล่าวยังถูกนำมาเอ่ยถึงอยู่เสมอราวกับว่าสงครามยังคงดำเนินต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพียงแต่เปลี่ยนรูปเปลี่ยนวิธี ไม่ว่าความคิดเช่นนี้จะสวนทางกับข้อเท็จจริงมากน้อยเพียงใด เช่น คนมุสลิมกับผู้นับถือคริสต์ทั่วโลกส่วนใหญ่อยู่ร่วมกันโดยสันติ ผู้นำศาสนา องค์กรศาสนา ผู้นำประเทศหลายประเทศเน้นย้ำให้อยู่อย่างสันติ ระบอบประชาธิปไตยให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา
          ข้อเท็จจริงคือมุสลิมทั่วโลกจำนวนไม่น้อยต่อต้านตะวันตก ส่วนหนึ่งเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยสงครามครูเสด ส่วนหนึ่งเป็นความขมขื่นในสมัยล่าอาณานิคม เมื่อพวกอาหรับ เปอร์เซีย เติร์กและชนหลายกลุ่มที่นับถืออิสลามถูกชาติตะวันตกยึดครอง ขูดรีดผลประโยชน์ การก่อตั้งประเทศอิสราเอล ฯลฯ
            รวมความแล้ว มุสลิมจำนวนมากรู้สึกขมขื่นต่อประวัติศาสตร์เมื่อนักล่าอาณานิคมตะวันตก รัฐบาลตะวันตกกดขี่ขูดรีดตนหลายยุคหลายสมัย

            ไม่เพียงแต่ประวัติศาสตร์หลายร้อยปีที่ชักนำให้มุสลิมต่อต้านตะวันตก ความเป็นไปของโลกในยุคปัจจุบันมีส่วนสำคัญทำให้มุสลิมบางคนต่อต้านตะวันตกเช่นกัน ความวุ่นวายในหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง การรุกคืบของวัฒนธรรมตะวันตก ล้วนถูกอธิบายว่าคือการรุกราน การทำลายล้างจากรัฐบาลตะวันตก
            ข้อมูล ความรู้เช่นนี้มีอยู่ทั่วไป มุสลิมจำนวนมากศึกษาเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่เด็ก เป็นไปได้ว่าบางคนบางกลุ่มเกิดความคิด “ตอบโต้ด้วยความรุนแรง” แม้คำสอนของอิสลามกระแสหลักจะไม่เห็นด้วยก็ตาม
            ข้อเท็จจริงที่ทรัมป์ละเลยคือมุสลิมส่วนใหญ่รักสันติ ตัวอย่างใกล้ตัวมากที่สุดคือมุสลิม 3 ล้านคนในอเมริกานั่นเองที่เกือบทั้งหมดไม่เพียงอยู่อย่างสันติมานานนับร้อยปี ทั้งยังเป็นฝ่ายถูกคุกคามด้วยซ้ำ

          ขณะที่ทรัมป์มุ่งพูดถึงภัยที่จะมาจากมุสลิม ฮิลลารี คลินตันพูดถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐกับชุมชนมุสลิมในประเทศว่านับจากโศกนาฏกรรม 9/11 เป็นต้นมาได้ทำงานร่วมกันมาโดยตลอด พลเมืองที่เป็นมุสลิมผู้รักสันติหลายล้านคนกำลังดำเนินชีวิต ทำงาน ดูแลครอบครัวตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พวกเขากำลังพยายามจัดการพวกหัวรุนแรงเช่นกัน สิ่งที่รัฐควรทำคือสนับสนุนพวกเขา ไม่ใช่ให้เป็นแพะรับบาปหรือโดดเดี่ยวพวกเขา

การสร้างความแปลกแยกระหว่างมุสลิมกับสังคมอเมริกา :
เรื่องที่ทุกคนรู้ (รวมทั้งทรัมป์) ความแปลกแยกกลายเป็นประเด็นสำคัญตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 สังคมอเมริกันถูกตอกย้ำภัยจาก “อิสลามหัวรุนแรง” ผ่านผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะห์และอื่นๆ สารพัดกลุ่ม สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่ง IS/ISIL/ISIS กลายเป็นที่เป็นผู้ก่อการร้ายกลุ่มสำคัญในขณะนี้ พร้อมกับเหตุการณ์ก่อการร้ายเป็นระยะๆ ในหลายประเทศ และล่าสุดคือการสังหารหมู่ที่ออร์แลนโด้ (Orlando Shooting)
ความแปลกแยกในที่นี้หมายถึง การรู้สึกแตกต่าง ถูกปฏิบัติอย่างแตกต่างโดยไม่สมเหตุผล ถูกกีดกันให้ห่างออกไป เกิดความรู้สึกไม่อยากอยู่ร่วมกัน ทั้งๆ ที่เป็นพลเมืองอเมริกันเหมือนกัน วิธีที่พบเห็นบ่อยคือชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่พยายาม “อยู่ห่าง” จากคนที่มีหน้าตาคล้ายคนตะวันออกกลาง ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานบ่งบอกว่าเขาคนนั้นเป็นผู้ก่อการร้าย ซ้ำร้ายอาจนับถือศาสนาความเชื่ออื่นๆ เพียงแต่มีหน้าตาคล้ายคนตะวันออกกลาง
            อันตรายร้ายแรงจากแนวนโยบายของทรัมป์คือตอกย้ำความ “แปลกแยก” ระหว่างมุสลิมกับสังคมอเมริกา เกิดคำถามว่าคือทรัมป์กำลังสร้างภาพ “ลบ” ต่อศาสนาอิสลามหรือไม่ กำลังละเมิดรัฐธรรมนูญ บั่นทอนเสรีภาพการนับถือศาสนาทางอ้อมหรือไม่

พฤติกรรมของทรัมป์ตรงข้ามกับรัฐบาลโอบามาที่ในเวลาเดียวกันพยายามเอ่ยเรื่องเสรีภาพการนับถือศาสนา ประธานาธิบดีโอบาแถลงหลังเกิดเหตุว่า “ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติใด ศาสนา ความเชื่อหรือเพศใด เราทั้งหมดเป็นคนอเมริกัน เราจำต้องดูแลซึ่งกันและกัน ปกป้องกันและกันในทุกเวลาเมื่อเผชิญหน้าพฤติกรรมอันโหดร้ายนี้”
            เป็นภาพที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงระหว่างทรัมป์กับรัฐบาลโอบามา

ทรัมป์มีความคิดแอบแฝงหรือไม่ :
            ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าคนที่ชื่อโดนัลด์ ทรัมป์จะไม่สามารถแยกแยะระหว่างผู้ก่อการร้าย IS กับมุสลิมทั่วไปที่รักสันติ เพราะเรื่องราวในโลกมีมากมายไม่มีใครสามารถเข้าใจรู้ดีไปหมดทุกเรื่อง แต่ในฐานะ “ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี” จะต้องมีทีมงาน ทีมนโยบาย ทีมที่ปรึกษามากพอจนสามารถแยกแยะว่าอะไรคืออะไร
            ทรัมป์ไม่ได้หาเสียงคนเดียว เป็นเหมือนผู้สมัครคนอื่นๆ ที่มีทีมงาน มีผู้ให้คำแนะนำ และผู้พยายามมาให้คำแนะนำ จึงต้องสรุปว่านโยบายที่ใช้หาเสียงผ่านการกลั่นกรองมาดีแล้ว (และน่าจะเป็นเช่นนั้นถ้าหวังชนะการเลือกตั้ง) อีกทั้งทรัมป์พูดเรื่องมุสลิมหลายรอบในต่างกรรมต่างวาระ ผ่านการตอบโต้หลายครั้ง จึงไม่อาจปฏิเสธว่านโยบายต่อมุสลิมนั้นเกิดจากความไม่เข้าใจ ไม่ตั้งใจ
            ด้วยสมมุติฐานข้างต้น จึงเกิดคำถามสำคัญว่านโยบายแง่ลบต่อมุสลิมทั้งหลายทั้งปวงนั้น ทรัมป์มีความคิดแอบแฝงใดหรือไม่

            ประการหนึ่งที่เห็นชัดคือ ทรัมป์หาเสียงด้วยวิธีการสร้างความแปลกแยก ให้คนอเมริกันหวาดผวาเรื่องผู้ก่อการร้ายอย่างรุนแรง เพื่อให้ได้คะแนนเสียง โดยยอมทิ้งพลเมืองเชื้อสายอาหรับ คนที่นับถืออิสลามเพราะเห็นว่าเป็นคนส่วนน้อย
            แก่นของระบอบประชาธิปไตยข้อหนึ่งคือ ใช้หลักเสียงข้างมาก (Majority Rule) ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่การปกครองโดยเสียงข้างมาก เป็นการปกครองโดยประชาชนทั้งหมดร่วมกัน โดยยอมรับความจริงว่าคนย่อมไม่คิดเห็นตรงกันทั้งหมด เพื่อให้ได้หาข้อยุติจึงใช้เสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ไม่ละเมิดสิทธิและพยายามรักษาผลประโยชน์ของเสียงข้างน้อย
          กลยุทธ์การหาเสียงของทรัมป์นอกจากละเมิดสิทธิของเสียงข้างน้อยแล้วยังใช้ประโยชน์ด้วยการสร้างความแปลกแยก

It's not personal, it's business.:
            นับจากโศกนาฏกรรม 9/11 รัฐบาลบุชออกนโยบายหลายอย่างเพื่อต่อต้านก่อการร้าย ไม่ว่าจะอิงข้อมูลที่เป็นทางการหรือจากนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนล้วนบ่งบอกว่า ทุกวันนี้รัฐบาลตรวจสอบติดตามคนอเมริกันผู้ต้องสงสัยทุกคน การดักฟังโทรศัพท์ แอบเปิดอ่านอีเมล์เป็นภารกิจที่ทำเป็นปกติ
            และนโยบายดังกล่าวยังคงอยู่จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน
ดังนั้น ผู้ที่เข้าใจมาตรการป้องกันผู้ก่อการร้ายจะสรุปว่าข้อเสนอของทรัมป์ไม่มีประโยชน์แม้แต่น้อย อีกทั้งจะเป็นโทษมากกว่า จึงเกิดคำถามว่าแล้วทำไมทรัมป์จึงพยายามเสนอนโยบายตรวจสอบติดตามมุสลิมทุกคน ชูประเด็น “อิสลามหัวรุนแรง” กำลังหาเสียงโดยโหนกระแสโรคหวาดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ที่มีอยู่ในสังคมอเมริกา (และอีกหลายประเทศในยุโรป) หรือไม่

            ประเด็น “อิสลามหัวรุนแรง” สามารถวิเคราะห์ผ่านหลายมุมมอง บทวิเคราะห์นี้ยึดกรอบว่าโดยส่วนตัวแล้วโดนัลด์ ทรัมป์อาจไม่ได้จงเกลียดจงชังมุสลิม แต่ที่พยายามปลุกกระแส “อิสลามหัวรุนแรง” เชื่อมโยงกับการก่อการร้ายในประเทศก็เพียงเพราะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นอีกประเด็นที่ “ให้ความรู้สึกรุนแรง” มากเพียงพอที่จะผลักให้คนอเมริกันออกจากบ้านไปคูหาเลือกตั้งและกากบาท สอดคล้องสำนวนที่ว่า “It's not personal, it's business.
ตัวอย่างผลสำรวจเมื่อสิ้นเดือนมกราคม 2016 ของ Bloomberg News ทำร่วมกับ Des Moines Register บ่งชี้ว่าความนิยมของทรัมป์เพิ่มขึ้นเมื่อพูดเรื่อง “อิสลามหัวรุนแรง” ห้ามมุสลิมอพยพเข้าประเทศจนแซงนำเท็ด ครูซ (Ted Cruz) ผู้สมัครพรรคเดียวกันที่ได้คะแนนตามมาเป็นที่ 2 อย่างหลุดลุ่ย
            ยิ่งมาถึงวันนี้เห็นชัดว่าแม้ทรัมป์จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งจากในและต่างประเทศ คนของพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่ให้การ “สนับสนุน”
อีกประเด็นที่ควรพูดคือเรื่องไม่รับผู้อพยพมุสลิมเข้าประเทศ Stephen Yale-Loehr ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจาก Cornell ชี้ว่านโยบายห้ามผู้อพยพเข้าเมืองเพราะเหตุผลทางศาสนาไม่น่าจะทำได้ เพราะเท่ากับละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา 14
ที่สุดแล้ว หากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี ทรัมป์อาจยื่นเสนอนโยบายนี้แล้วก็ตกไป เพราะศาลศาลสูงสุด (Supreme Court) ไม่ให้ผ่าน เมื่อถึงตอนนั้นไม่มีใครโทษทรัมป์ได้เพราะได้ทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ และไม่มีผลอะไรต่อทรัมป์เพราะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
คงต้องขอพูดอีกครั้งว่า It's not personal, it's business.
          ผู้มีสติปัญญาในสังคมอเมริกันควรตั้งคำถามว่าการทำเช่นนี้ประเทศชาติจะได้หรือเสียประโยชน์มากกว่ากัน
26 มิถุนายน 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7171 วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2559)
---------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
โดนัลด์ ทรัมป์ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐไม่พลาดโอกาสนำเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ออร์แลนโด้มาสนับสนุนนโยบายกีดกันมุสลิมบางกลุ่มเข้าประเทศ เทคนิคการหาเสียงทรัมป์สรุปสั้นๆ ได้ว่า “เล่นกับความรู้สึก” ของคน โดยขยายความประเด็นนั้นๆ ให้รุนแรงที่สุด (สร้างความรู้สึกให้แรงสุด) โจมตีผู้สมัครคนอื่นว่าผิดหมด (ทำลายแนวทางเลือกอื่นๆ) พร้อมกับเสนอวิธีแก้ไขที่ไม่อาจสมเหตุผลแต่ตอบสนองความรู้สึกของผู้ที่มองแง่ลบต่อมุสลิมอยู่แล้ว
บรรณานุกรม:
1. Buncombe, Andrew. (2016, January 31). Donald Trump has clear lead over rivals in final poll before Iowa caucus. The Independent. Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-elections/donald-trump-has-clear-lead-over-rivals-in-final-poll-before-iowa-caucus-a6844496.html
2. CIA chief says ISIL 'formidable' despite setbacks. (2016, June 17). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/2016/06/cia-chief-isil-formidable-setbacks-160616160207789.html
3. Ginsberg, Benjamin., Lowi, Theodore J., Weir, Margaret., Tolbert, Caroline J., & Spitzer, Robert J. (2015). We the People: An Introduction To American Politics. (Tenth Essentials Edition). NY.: W. W. Norton & Company.
4. Healy, Patrick., Barbaro, Michael. (2015, December 7). Donald Trump Calls for Barring Muslims From Entering U.S. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/politics/first-draft/2015/12/07/donald-trump-calls-for-banning-muslims-from-entering-u-s/
5. Martin, Jonathan., Burns, Alexander. (2016, June 13). Blaming Muslims After Attack, Donald Trump Tosses Pluralism Aside. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2016/06/14/us/politics/donald-trump-hillary-clinton-speeches.html?_r=0
6. National Security Agency. (2013, October). The National Security Agency: Missions, Authorities, Oversight and Partnerships. Retrieved from http://www.NSA.gov/public_info/_files/speeches_testimonies/2013_08_09_the_NSA_story.pdf
7. Orlando shooting: Obama slams Trump's Muslim ban call. (2016, June 15). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/2016/06/obama-slams-trump-anti-muslim-rhetoric-160614164625273.html
8. Text of Hillary Clinton’s remarks on the Orlando shooting and terrorism. (2016, June 13). Market Watch. Retrieved from http://www.marketwatch.com/story/text-of-hillary-clintons-remarks-on-the-orlando-shooting-and-terrorism-2016-06-13
9. The White House. (2016, June 12). Remarks by the President After Briefing on the Attack in Orlando, Florida. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2016/06/13/remarks-president-after-briefing-attack-orlando-florida
10. Trump backs surveillance of mosques despite criticism of rhetoric. (2016, June 15). Arab News/Reuters. Retrieved from http://www.arabnews.com/node/940096/world
-----------------------------