ความกลัว ความเชื่อของสหรัฐต่อนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ และความจริง

ชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐหวั่นวิตกต่อการถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ส่วนหนึ่งเป็นประสบการณ์เก่าๆ ตั้งแต่สมัยสงครามเย็นที่คิดว่าหากสงครามนิวเคลียร์อุบัติ ความตายจะมาเยือน ประเทศจะพังพินาศ อารยธรรมล่มสลาย ไม่มีใครอยากทำสงครามนิวเคลียร์ พูดให้ชัดกว่านี้คือไม่อยากถูกโจมตีด้วยนิวเคลียร์
            ด้วยความกลัวที่ฝังแน่น ภัยนิวเคลียร์จึงเป็นเรื่องใหญ่ ผู้นำประเทศต้องตอบสนองว่าเป็นเรื่องใหญ่ด้วยเช่นกัน ให้สมกับเป็นผู้นำกองทัพ ผู้ปกป้องชาวอเมริกันทั้งมวล ทุกครั้งเมื่อมีเรื่องเกี่ยวกับนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ รัฐบาลสหรัฐจึงต้องตอบโต้ทันที
จริงหรือที่เกาหลีเหนือมีระเบิดนิวเคลียร์ :
            ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า “ไม่มีใครปลอดภัย มีใครปลอดภัยหรือ นายคนนั้นมีอาวุธนิวเคลียร์” (หมายถึงผู้นำเกาหลีเหนือ)
            รัฐบาลเกาหลีเหนือประกาศมาหลายปีแล้วว่ามีระเบิดนิวเคลียร์ พร้อมทำสงครามนิวเคลียร์ รัฐบาลสหรัฐตั้งแต่สมัยโอบามากับนักวิชาการบางคนยอมรับว่าเกาหลีเหนือมีระเบิดนิวเคลียร์จริงแต่ยังไม่สามารถบรรจุเป็นหัวรบขีปนาวุธ
            แต่ถ้าศึกษาในรายละเอียดรอบด้าน พบว่ามีความสับสนหลายอย่างที่หลายคนอาจไม่ทราบ

            ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีรายงานกับงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่าเกาหลีเหนือ “น่าจะ” มีอาวุธนิวเคลียร์แล้ว บางรายงานนำเสนอว่ามีหลายลูก นับสิบลูก
รายงาน North Korea’s Nuclear Futures: Technology and Strategy เมื่อปี 2015 ระบุว่าเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด 10-16 ลูก อย่างไรก็ตามรายงานไม่ยืนยันข้อมูลนี้ ทั้งยังตั้งคำถามถึงการทำงานของเตาปฏิกรณ์ว่ายังเป็นปกติหรือไม่ เครื่องเสริมสมรรถนะยังทำงานเป็นปกติเพียงใด ชี้ว่าประเด็นสำคัญอยู่ที่ขาดข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน
            รวมความแล้ว รัฐบาลเกาหลีเหนือกับสหรัฐประกาศว่าเกาหลีเหนือมีระเบิดนิวเคลียร์แล้ว แต่รายงานจากบางองค์กรไม่ยืนยันข้อสรุปนี้

            ข้อโต้เถียงคือเกาหลีเหนือได้ทดสอบจุดระเบิดนิวเคลียร์ให้ห้องทดลองเพียง 5 ครั้ง แต่ละครั้งมีขนาดความแรงของระเบิดแตกต่างกัน ครั้งต้นๆ มีแรงระเบิดเพียงเล็กน้อย ลักษณะเช่นนี้น่าจะบ่งชี้ว่าอยู่ในขั้นการทดลอง ระบบยังไม่เสถียร ทั้งยังไม่เคยทดสอบความแม่นยำ ถ้าเป็นนิวเคลียร์ที่ถือเป็นอาวุธใช้การได้จริงจะต้องผ่านทดสอบมากกว่านี้อีกมาก จนกระทั่งเป็นระบบอาวุธที่มีเสถียรภาพ ยิงออกไปแล้วถึงเป้าหมายและระเบิด ดังนั้นกรณีของเกาหลีเหนือไม่สมควรถือว่าเป็น ”อาวุธ” ที่ใช้การได้

ความก้าวหน้าของระบบนำส่ง ความสับสนของสหรัฐ:
            ความเข้าใจสำคัญข้อคือ ถ้ามีหัวรบนิวเคลียร์แต่ขาดระบบนำส่ง เช่น เครื่องบิน ขีปนาวุธ เพื่อไปทิ้งยังเป้าหมาย หัวรบนิวเคลียร์เท่ากับอยู่กับที่ (อยู่ที่เกาหลีเหนือ) ทุกประเทศจึงต้องพัฒนาระบบนำส่ง
            เนื่องจากเกาหลีเหนือเพิ่งพัฒนาและใช้เทคโนโลยีเก่า ตัวระเบิดจึงมีขนาดใหญ่ เกิดคำถามว่าสามารถบรรจุในหัวรบขีปนาวุธได้หรือไม่ บางคนบางชี้ว่า “อาจ” สามารถบรรจุหัวรบนิวเคลียร์ในขีปนาวุธ 1-2 ลูก รวมถึงขีปนาวุธพิสัยกลาง Nodong (Rodong) แต่บางคนไม่เห็นด้วย
เรื่องขีปนาวุธเป็นประเด็นสำคัญและก่อความสับสนมาก ปัญหาหนึ่งมาจากการประเมินของรัฐบาลสหรัฐที่ผิดพลาดอยู่เรื่อย

            ยกตัวอย่าง U.S. National Intelligence เดิมยืนยันมาตลอดว่าเกาหลีเหนือจะสามารถผลิตขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ได้ภายในปี 2015 แต่งานวิจัยของ RAND ในปี 2012 กลับชี้ว่าขีปนาวุธ Unha-3 แม้สามารถปล่อยดาวเทียมขนาด 100 กิโลกรัม แต่จรวดรุ่นนี้ไม่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ที่มีพิสัยข้ามทวีป “ถ้าต้องการขีปนาวุธข้ามทวีป จะต้องพัฒนาจรวดนำส่งแบบใหม่ ใช้เทคโนโลยีใหม่ (ไม่ใช่พัฒนาจากเดิม) ต้องทำงานอีกมาก ใช้เวลาและงบประมาณมหาศาล” ก่อนหน้านี้ International Institute for Strategic Studies สรุปเมื่อปี 2011 ว่าหากเกาหลีเหนือต้องการมีขีปนาวุธข้ามทวีปจริง “ต้องยิงทดสอบอีกมาก อาจต้องยิงทดสอบอย่างน้อย 12 ครั้งหรือไม่ก็ 24 ครั้ง ในเวลา 3-5 ปี” นอกจากนั้น ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเกาหลีเหนือกำลังทดสอบติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์กับขีปนาวุธเหล่านี้
            ข้อเท็จจริงคือเกาหลีเหนือเพิ่งทดสอบยิง/ใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลเพียงไม่กี่ครั้ง หลายครั้งล้มเหลว

            มีนาคม 2013 ตรงข้ามกับความเห็นของ RAND นักวิเคราะห์สหรัฐบางคนยังเสนอความเห็นว่าเกาหลีเหนืออาจสามารถผลิตขีปนาวุธข้ามทวีปได้ภายก่อนสิ้นสุดสมัยที่สองของประธานาธิบดีโอบามา (หรือปี 2016) ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าผิดพลาด เช่นเดียวกับความผิดพลาดของ U.S. National Intelligence ที่ยืนยันมาตลอดว่าเกาหลีเหนือจะสามารถผลิตขีปนาวุธข้ามทวีปได้ภายในปี 2013 เป็นอีกกรณีตัวอย่างว่าหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่สหรัฐประเมินผิดพลาด
            ไม่ว่าจะประเมินผิดพลาดด้วยเหตุผลใด ข้อคิดที่ได้คือการประเมินขาดความน่าเชื่อถือ

            อีกตัวอย่างหนึ่ง ต้นเดือนเมษายน 2015  พลเรือเอก William Gortney ผู้บังคับบัญชา NORAD และ US Northern Command กล่าวว่า “เราประเมินว่าพวกเขามีความสามารถบรรจุหัวรบนิวเคลียร์ในขีปนาวุธ KN-08” และยิงถึงแผ่นดินสหรัฐ เกาหลีเหนือมีระบบดังกล่าวแล้ว
            ที่ผ่านมารัฐบาลเกาหลีเหนืออ้างว่าขีปนาวุธ KN-08 (Hwasong-13) ติดหัวรบนิวเคลียร์ เคยนำมาแสดงต่อสาธารณะหลายครั้ง ข้อเท็จจริงคือขีปนาวุธรุ่นนี้ยังไม่เคยทดลองยิงจริงสักครั้งเดียว ถึงกระนั้นก็ตามพลเรือเอก Gortney ยึดตามคำพูดเกาหลีเหนือว่ามีขีปนาวุธ KN-08 ยิงถึงสหรัฐแล้ว น่าแปลกแต่จริงที่ทางการสหรัฐคล้อยตามคำพูดเกาหลีเหนือที่พูดผิดๆ ถูกๆ เรื่อยมา
            ที่น่าแปลกกว่านั้น คือ ฝ่ายสหรัฐมีทั้งคนที่ประกาศว่าเกาหลีเหนือมีขีปนาวุธที่ยิงถึงสหรัฐแล้วกับผู้ที่เห็นว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น (ประธานาธิบดีทรัมป์อยู่ฝ่ายหลัง)

ถ้ายึดถือรายงาน The Military Balance 2017 ของ International Institute for Strategic Studies (IISS) จะได้ข้อสรุปว่า ในอนาคตขีปนาวุธกับเครื่องบินทิ้งระเบิด H-5 (Il-28) ของเกาหลีเหนืออาจสามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์หรือปล่อยระเบิดนิวเคลียร์ แต่ ณ วันนี้ยังปราศจากหลักฐานชี้ชัดว่าเกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการผลิตหัวรบหรือระเบิดนิวเคลียร์พร้อมระบบนำส่ง
            ไม่ว่าจะเชื่อใคร ข้อสรุปเรื่องหัวรบนิวเคลียร์ ระบบนำส่งนั้นสับสน สุดท้ายกลายเป็นว่าขึ้นอยู่กับใครว่าจะสรุปอย่างไรก็ตอบสนองไปอย่างนั้น

ความเชื่ออย่างผิดๆ ของสหรัฐ :
            จากการศึกษาพบว่ารายงานวิเคราะห์ ความเห็นของเจ้าหน้าที่มักทำให้คิดว่ารุนแรง น่ากลัวอย่างยิ่ง คำถามคือเป็นการประเมินเกินจริงหรือไม่ ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าหลายครั้งผิดพลาดและเกินจริง สร้างความสับสนเพราะพูดไม่ตรงกัน กลับไปกลับมา
            ไม่ว่าเหตุผลของความสับสนคืออะไร ผลการวิเคราะห์ที่ผ่านมักก่อให้เกิดการเผชิญหน้ารุนแรง สนับสนุนนโยบายเสริมกำลังรบ บทบาทผู้นำประประเทศด้านความมั่นคง (ทั้งฝ่ายสหรัฐกับเกาหลีเหนือ)
            ฝ่ายสหรัฐแสดงความกังวลเรื่อยมาว่าหากวันหนึ่งเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ อาจถูกโจมตีด้วยนิวเคลียร์นั้น พร้อมกับพยายามแสดงเหตุผลทำนองว่าผู้นำประเทศเผด็จการเกาหลีเหนือพร้อมทำทุกอย่างแม้ใช้นิวเคลียร์ คิม จ็อง-อึน (Kim Jong-un) ผู้นำคนปัจจุบันอายุยังไม่เท่าไหร่ อาจคิดไม่รอบคอบใช้อาวุธนิวเคลียร์แบบสุ่มสี่สุ่มห้า ฯลฯ
            รวมความแล้ว ความเชื่ออย่างผิดๆ ของรัฐบาลสหรัฐพยายามบอกต่อสังคมอเมริกันต่อพลเมืองของตนว่าไม่ช้าก็เร็วประเทศจะถูกโจมตีด้วยนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ

            รัฐบาลเกาหลีเหนือยอมรับว่าไม่ว่าจะเทียบพลังอำนาจด้านใดก็ไม่อาจสู้สหรัฐได้เลย แต่เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐแสดงความเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเรื่อยมา จึงต้องแสวงหาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องปรามการรุกรานจากสหรัฐ
            ถ้าคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล สมมุติว่าเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์และยิงถึงสหรัฐ เกาหลีเหนือย่อมตระหนักว่าแม้มีอาวุธนิวเคลียร์ 10-20 ลูก ก็ไม่อาจชนะสงคราม (เทียบกับสหรัฐที่มีกว่า 6,000 ลูก ไม่นับอาวุธอื่นๆ) ระบอบจะล่มสลายและประเทศจะไม่เหลืออะไรหากทำสงครามนิวเคลียร์กับสหรัฐ ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลอันควรที่เกาหลีเหนือจะเปิดฉากโจมตีก่อน และถ้าเชื่อว่าเป้าหมายของผู้นำเกาหลีเหนือกับบริวารคือความอยู่รอดของระบอบ ยิ่งไม่มีเหตุผลที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์
            ถ้าเกาหลีเหนือไม่ทำสงครามกับสหรัฐ ฝ่ายสหรัฐจะมีเหตุผลอันใดที่จะทำสงครามนิวเคลียร์

            แต่ด้วยความเชื่อว่าเกาหลีเหนือจะใช้นิวเคลียร์ต่อตน จึงต้องสกัดกั้นไม่ให้เกาหลีเหนือมีนิวเคลียร์และขีปนาวุธที่สามารถยิงถึงสหรัฐ (ปัจจุบันประธานาธิบดีทรัมป์ยอมรับว่าเกาหลีเหนือมีหัวรบนิวเคลียร์ แต่ยังขาดขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ที่ยิงถึงสหรัฐ)

            ที่สำคัญกว่านั้นคือ เป็นอีกเหตุผลให้รัฐบาลสหรัฐในปัจจุบันคงอาวุธนิวเคลียร์หลายพันหัวรบ ทั้งๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่ามีมากเกินจำเป็น ต้องสูญเสียงบประมาณปีละหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อดูแลรักษาในยามที่ประเทศขาดดุลมากขึ้นทุกปี สามารถเสริมสร้างกำลังรบในคาบสมุทรเกาหลี คงฐานทัพทั้งในเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธเพิ่มเติม (ดังที่เป็นข่าวในช่วงนี้)
            ผลประโยชน์ที่รัฐบาลสหรัฐคาดหวังจึงไม่ใช่เรื่องต่อเกาหลีเหนือโดยตรงเท่านั้น

          เหล่านี้คือผลแห่งความกลัว ความเชื่ออย่างผิดๆ ของรัฐบาลสหรัฐที่ดำเนินต่อเนื่องมาไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครท รวมทั้งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) คนปัจจุบันด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะความกลัวกับความเชื่ออย่างผิดๆ ที่ฝังแน่นในสังคมมานาน ส่วนใครจะใช้ประโยชน์ความกลัวนี้อย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่อง
21 พฤษภาคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7499 วันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2560)
-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
นักวิชาการบางคนพูดถึงการปิดล้อมคู่ (dual containment) หมายถึงการปิดล้อมจีนกับรัสเซีย บทความนี้พูดถึงการปิดล้อมจีนกับเกาหลีเหนือในแง่ว่ารัฐบาลสหรัฐเพิ่มแรงกดดันปิดล้อมเกาหลีเหนือโดยยืมมือจีน และเท่ากับเป็นการเร่งโดดเดี่ยวจีนไปในตัว  ในทางปฏิบัติหมายความว่านับจากนี้รัฐบาลสหรัฐจะลงโทษจีนอย่างไรก็ได้ เช่น คว่ำบาตรสินค้า ขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ด้วยเหตุผลเดียวคือเกาหลีเหนือทดสอบนิวเคลียร์ ขีปนาวุธ
หลังผ่านประวัติศาสตร์อันขมขื่นของการเป็นอาณานิคมทั้งทางตรงทางอ้อมนับร้อยปี สิ่งที่เกาหลีใต้ต้องการมากที่สุดคือความเป็นอิสระและความสงบ ในการนี้จะต้องให้เกาหลีเหนืออยู่ในความสงบ การทดสอบนิวเคลียร์ ขีปนาวุธพิสัยไกลของเกาหลีเหนือล้วนเป็นเหตุบั่นทอน จึงต้องพยายามให้เกาหลีเหนือนิ่งมากที่สุด ถ้า “แช่แข็ง” เกาหลีเหนือได้จะเป็นการดีที่สุด เป็นผลดีต่อเกาหลีใต้ จีน การคงอยู่ของระบอบเกาหลีเหนือ คงแต่คนเกาหลีเหนือที่ยังต้องอยู่ในสภาพทุกข์ยากต่อไป

บรรณานุกรม:
1. Cha, Victor., & Kim, Ellen. (2013, March 7). UN Security Council Passes New Resolution 2094 on North Korea. Center for Strategic and International Studies. Retrieved from http://csis.org/publication/un-security-council-passes-new-resolution-2094-north-korea?
2. Chang Jae-soon. (2017, May 1). (3rd LD) Trump says he would be 'honored' to meet with N. Korean leader under right circumstances. Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/northkorea/2017/05/02/0401000000AEN20170502000353315.html
3. Cirincione, Joseph. (2013). Nuclear Nightmares: Securing the World Before It Is Too Late. USA: Columbia University Press.
4. Clapper, James. (2016, February 9). Worldwide Threat Assessment of the U.S. Intelligence Community. U.S. National Intelligence. Retrieved from http://www.intelligence.senate.gov/sites/default/files/wwt2016.pdf
5. International Institute for Strategic Studies (IISS). (2017). The Military Balance 2017. USA: Routledge.
6. N Korea capable of launching ‘mobile’ nuke missile into US – NORAD. (2015, April 8). RT. Retrieved from http://rt.com/news/247725-north-korea-ballistic-missiles/
7. North Korea: U.S. Relations, Nuclear Diplomacy, and Internal Situation. (2013, January 4). Congressional Research Service. Retrieved from http://www.fas.org/sgp/crs/nuke/R41259.pdf
8. Younger, Stephen M. (2008). The Bomb: A New History. USA: HarperCollins Publishers.
9. Wit, Joel S., & Sun, Young Ahn. (2015, April 8). North Korea’s Nuclear Futures: Technology and Strategy. US-Korea Institute at SAIS. Retrieved from http://38north.org/wp-content/uploads/2015/02/NKNF-NK-Nuclear-Futures-Wit-0215.pdf
-----------------------------