จากการทดลองจุดระเบิดไฮโดเจนเมื่อต้นปีตามการกล่าวอ้างของเกาหลีเหนือรอบนี้
รัฐบาลเกาหลีใต้แสดงตัววิ่งเต้นแก้ปัญหา พยายามจัดประชุม 6 หาข้อมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเพิ่มเติม
แต่ติดปัญหาต้องผ่านการพิจารณาจากจีนก่อน การเจรจา 6 ฝ่ายกับข้อมติกลายเป็นประเด็นหารือกันไปเรื่อยๆ
ยังไม่มีข้อสรุป จีนเห็นว่ามาตรการรุนแรงเกินไป อาจกระทบต่อเสถียรภาพของคาบสมุทรเกาหลี
เป็นอีกครั้งที่เกาหลีใต้ดูจริงจัง
ให้ความสำคัญต่อสถานการณ์
ความกังวลและนโยบายของเกาหลีใต้ :
ไม่ว่าจะโดยภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์
การเมืองระหว่างประเทศ ประวัติศาสตร์
ความเป็นไปของเกาหลีเหนือกระทบต่อเกาหลีใต้ในทุกมิติ
นโยบายพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
ขีปนาวุธของเกาหลีเหนือเกี่ยวข้องกับการประกาศว่าเกาหลีเหนือเป็นหนึ่งใน
“axis of evil” ร่วมกับอิรัก อิหร่าน เมื่อมกราคม 2002 โดยรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ
ดับเบิ้ลยู. บุช (George W. Bush) พร้อมกับหลักนิยม “ชิงลงมือก่อน” (preemption) กำจัดภัยคุกคามก่อนภัยนั้นถึงตัว
ไม่อาจปล่อยให้เกิดเหตุก่อการร้าย 11 กันยา 2001 ซ้ำอีก
ด้วยนโยบายอันแข็งกร้าวที่ประธานาธิบดีบุชประกาศต่อสาธารณะ สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีตึงเครียดขึ้นทันที
เกิดความกังวลว่าสหรัฐจะส่งกองทัพโค่นล้มระบอบเกาหลีเหนือดังที่ทำกับอัฟกานิสถานและอิรัก
ประธานาธิบดีคิม แด-จุง (Kim Dae-jung) แห่งเกาหลีใต้รีบเดินทางไปหารือกับสหรัฐในปี
2001 เพื่อให้รัฐบาลบุชเปลี่ยนท่าทีแต่ไม่เป็นผล
นโยบายของเกาหลีใต้คือเกาหลีเหนือยกเลิกโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์กับขีปนาวุธพิสัยไกล
ยุทธศาสตร์หลักที่สหรัฐกับเกาหลีใต้ใช้คือโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือ
การประชุมระหว่างประธานาธิบดีโอบามากับประธานาธิบดีปาร์ค
กึน-เฮ (Park Geun-hye) เมื่อเมษายน 2014 ได้ข้อสรุปว่าทั้ง
2 ฝ่ายเห็นร่วมที่จะต้องลดระดับความตึงเครียด ส่งเสริมสันติภาพ สนับสนุนยุทธศาสตร์ปรับสมดุลภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของประธานาธิบดีโอบามา
เพราะเห็นว่าจะช่วยเสริมสร้างสันติภาพและความร่วมมือ
และเห็นว่าประธานาธิบดีโอบามาต้องการให้เป็นเช่นนั้นจริง
จะเห็นว่าถ้าพูดถึงยุทธศาสตร์ปรับสมดุล
รัฐบาลปาร์คจะพูดว่าสนับสนุนภายใต้แนวทางที่ว่า “ต้องลดระดับความตึงเครียด
ส่งเสริมสันติภาพ” ตรงข้ามกับการยั่วยุ การเผชิญหน้า สร้างความยิ่งใหญ่เกรียงไกร
เกาหลีใต้ต้องการรวมชาติจริงหรือ :
การทำความเข้าใจจุดมุ่งหมายรัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มได้จากการพิจารณานโยบายรวมประเทศอันเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลทุกชุด
พบว่ารัฐบาลและประชาชนเกาหลีใต้จำนวนมากต่างเห็นว่าไม่จำต้องรีบร้อน
ควรดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป เหตุเนื่องจากนับวัน 2 ประเทศจะยิ่งแตกต่างกันมาก
เศรษฐกิจสังคมเกาหลีใต้นับว่าจะทันสมัย การรวมประเทศอย่างปัจจุบันทันด่วนไม่ส่งผลดีต่อทั้ง
2 เกาหลี เช่น ฉุดรั้งเศรษฐกิจ ชาวเกาหลีเหนือปรับตัวไม่ทัน
ถ้าพิจารณาปัจจัยทางสังคม
สงครามเกาหลีผ่านมาแล้ว 6 ทศวรรษ
ความสัมพันธ์ทางญาติมิตรระหว่างผู้ที่อยู่ทางเหนือกับทางใต้นับวันจะยิ่งเหินห่าง
คนรุ่นใหม่ไม่ผูกพันญาติของตนที่อยู่อีกฝ่าย คนหนุ่มสาวเกาหลีใต้สนใจ K-pop
มากกว่า ประเด็นการรวมชาตินับวันจะยิ่งไม่เป็นที่สนใจ
ผนวกกับการดำเนินชีวิตของคนเกาหลีใต้อยู่ในภาวะแข่งขันสูง
จึงต้องคิดหนักหากการรวมชาติเป็นเหตุกระทบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
ปัญหาของเกาหลีเหนือเป็นเรื่องของคนเกาหลีเหนือมากกว่าเกาหลีใต้
ดังนั้น
นโยบายรวมเกาหลีด้วยเหตุผลประวัติศาสตร์ ความผูกพันฉันญาตินับวันจะหดหายไป
การรวมเกาหลีในอนาคตน่าจะเกิดจากเหตุผลอื่นๆ ซึ่งหมายความว่าการรวมชาติจะเกิดขึ้นหรือไม่ต้องพิจารณาผลดีหรือเสียในแง่ทุกมิติ
นอกจากนี้ ถ้าต้องการรวมชาติจริงๆ
ต้องมองภาพในระดับกว้าง ต้องพิจารณาว่าจีนกับสหรัฐจะคิดเห็นอย่างไร เกาหลีใต้คงไม่ประสงค์ให้การรวมชาติเป็นเหตุเผชิญหน้ารุนแรงระหว่างจีนกับสหรัฐ
ที่สุดแล้วรัฐบาลเกาหลีใต้จะต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบ เห็นว่ามีผลดีจริงๆ
ไม่สุ่มเสี่ยงเกิดปัญหาความมั่นคง ดังยุทธศาสตร์ของวิสัยทัศน์การรวมชาติที่ระบุว่า
‘ตระหนักว่าเป็นเกาหลีใหม่ที่สร้างความสุขแก่ทุกคน’
รัฐบาลเกาหลีใต้มีนโยบายรวมชาติ
มี “กระทรวงรวมชาติ” ทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง แต่ไมว่าจะมองเชิงหลักการหรือความต้องการของคนเกาหลีใต้
โอกาสรวมชาติอย่างสันตินับวันจะเลือนรางมากขึ้น
ไม่ว่าในอดีตจะทำข้อตกลงร่วมกี่ฉบับก็ตาม
สิ่งที่เกาหลีใต้ต้องการจริงๆ :
เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่เกาหลีใต้ยึดมั่นว่า “ต้องลดระดับความตึงเครียด
ส่งเสริมสันติภาพ” เพราะจีนเป็นคู่ค้ารายสำคัญที่สุดของเกาหลีใต้
ในปี
2012 เกาหลีใต้ส่งออกสินค้า 547,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประเทศส่งออกรายสำคัญที่สุดคือจีน (ไม่รวมฮ่องกง) สูงถึงร้อยละ 24.5
รองมาคือสหรัฐร้อยละ 10.7 สหภาพยุโรป 9.1 ญี่ปุ่น 6.0 ฮ่องกง 6.0
ในด้านการนำเข้าเกาหลีใต้นำเข้าสินค้าทั้งหมด 519,000 ล้านดอลลาร์ โดยนำเข้าจากจีนมากที่สุดเช่นกัน
คือร้อยละ 15.5 รองลงมาคือญี่ปุ่น 12.4 สหภาพยุโรป 9.7 สหรัฐ 8.4
และซาอุดิอาระเบีย 7.6
จีนจึงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ทั้งด้านการส่งออกและนำเข้า ดังนั้นหากพูดถึงความสัมพันธ์ทางการค้า เกาหลีใต้มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนมากกว่าสหรัฐและญี่ปุ่นอย่างชัดเจน เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลเกาหลีใต้จะต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างระมัดระวัง ไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจการค้าของตน
จีนจึงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ทั้งด้านการส่งออกและนำเข้า ดังนั้นหากพูดถึงความสัมพันธ์ทางการค้า เกาหลีใต้มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนมากกว่าสหรัฐและญี่ปุ่นอย่างชัดเจน เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลเกาหลีใต้จะต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างระมัดระวัง ไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจการค้าของตน
ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือระบบเศรษฐกิจเกาหลีใต้เป็นเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก
จึงจำต้องรักษาความสัมพันธ์การค้ากับจีนที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่
ในภาพที่กว้างขึ้นต้องรักษาบรรยากาศภูมิภาคให้สงบเรียบร้อย เหมาะแก่การค้าการลงทุน
ผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นรวดเร็ว พุ่งตรงต่อรัฐบาลและประเทศมากกว่าโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือมาก
ยุทธศาสตร์เหยียบเรือ
2 แคม :
นับจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่
2 ประเทศตกอยู่ในอิทธิพลของสหรัฐอย่างยาวนาน การพัฒนาเศรษฐกิจ
การสิ้นสุดสงครามเย็น และการได้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ส่งผลให้เกาหลีใต้ในยุคปัจจุบันเป็นอิสระมากขึ้น
ในด้านนโยบายความมั่นคงทางทหารแม้ยังต้องพึ่งพาสหรัฐเป็นหลัก
แต่ในด้านการทูตสามารถวางตำแหน่งอยู่ระหว่างจีนกับฝ่ายสหรัฐ
การที่รัฐบาลสหรัฐมีนโยบายปกป้องเกาหลีใต้
ช่วยให้เกาหลีใต้รู้สึกปลอดภัย แต่ความปลอดภัยนี้ต้องไม่เป็นเหตุเพิ่มภัยคุกคามจากจีน
ญี่ปุ่น จึงต้องวางยุทธศาสตร์เป็นมิตรกับจีนและฝ่ายสหรัฐพร้อมๆ กัน
ทุกวันนี้ภัยคุกคามหลักด้านความมั่นคงทางทหารจึงเหลือแต่เกาหลีเหนือเท่านั้น
ซึ่งจำต้องขอความร่วมมือจากจีนเป็นสำคัญ และรัฐบาลจีนถือไพ่ใบนี้อยู่ในมือ ที่ผ่านมาประธานาธิบดีปาร์คถึงกับต้องร้องขอให้ประธานาธิบดีสี
จิ้นผิงกดดันเกาหลีเหนือให้ระงับการทดลองนิวเคลียร์ด้วยการอ้างเหตุผลสารพัด
ทั้งเรื่องการกระชับความสัมพันธ์ด้านการทหารกับญี่ปุ่น เอ่ยถึงเรื่องการติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธ
Terminal High Altitude Area Defense (THAAD) ที่รัฐบาลจีนเห็นว่าเป็นประเด็นอ่อนไหวมาก และเรื่องเกาหลีใต้คิดสร้างอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง
ในขณะเดียวกันรัฐบาลจีนไม่อยากเห็นความวุ่นวายในเกาหลีเหนือเช่นกัน
ดังนั้น จีนกับเกาหลีใต้จึงมีเป้าหมายหลักร่วมกันคือให้คาบสมุทรเกาหลีสงบเรียบร้อย
ไม่ต้องการให้เกิดความวุ่นวายไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
เมื่อสหรัฐทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรก
ในขณะนั้นทุกฝ่ายรู้ดีว่าญี่ปุ่นจะต้องประกาศยอมแพ้ อันหมายถึงต้องส่งมอบเกาหลีแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรด้วย
ประเด็นคือชาติมหาอำนาจไม่คิดคืนแก่ชาวเกาหลีโดยตรง แต่ต้องการให้อยู่ในอาณัติของชาติมหาอำนาจต่อไป
รัฐบาลสหรัฐใจสินใจแบ่งเกาหลีออกเป็น
2 ส่วนโดยใช้เส้นขนานที่ 38 ทางเหนือมอบให้โซเวียต
ส่วนทางใต้อยู่ในการดูแลของสหรัฐ ฝ่ายโซเวียตเห็นชอบกับข้อตกลงลับนี้
เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้
ประเทศเกาหลีใต้จึงแยกเป็น 2 ส่วน เกิดเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ รัฐบาลสหรัฐหวังญี่ปุ่นช่วยดูแลเกาหลีใต้
(เพราะเป็นเจ้าอาณานิคมเดิม) ตรงข้ามกับโซเวียตที่ติดต่อกลุ่มเกาหลีที่ต่อต้านญี่ปุ่นเพื่อขอความร่วมมือปกครองเกาหลีเหนือ
จะเห็นได้ว่าเกาหลีที่เป็นอาณานิคมญี่ปุ่นไม่ได้เป็นไท เพียงแต่เปลี่ยนเจ้าอาณานิคมเนื่องจากเจ้าอาณานิคมเดิมแพ้สงคราม
มาถึงตอนนี้
เส้นทางอนาคตของเกาหลีเหนือ-ใต้มุ่งสู่ทิศแตกต่างชัดเจน ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน
ผ่านไปหลายสิบปี
สังคมเกาหลีใต้ที่เดิมอยู่ใกล้แนวหน้าของสงครามเย็น ระบอบอำนาจนิยมในร่างประชาธิปไตยได้พัฒนาเป็นเกาหลีใต้ในปัจจุบันที่มีอธิปไตยแท้
เศรษฐกิจเติบโต สังคมมั่นคง
ทางแห่งวันข้างหน้าคือ
จะต้องไม่หวนกลับไปเป็นอาณานิคมของใครอีก ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น หรือสหรัฐ
ไม่ถูกชักนำให้เข้าสมรภูมิที่ชาวเกาหลีต้องเสียชีวิตนับแสนนับล้านดังเช่นสงครามเกาหลีในทศวรรษ
1950 (มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 3 ล้านคน)
ในการนี้จะต้องให้เกาหลีเหนืออยู่ในความสงบ
การทดสอบนิวเคลียร์ ขีปนาวุธพิสัยไกลของเกาหลีเหนือล้วนเป็นเหตุบั่นทอน
จึงต้องพยายามให้เกาหลีเหนือนิ่งมากที่สุด ถ้า “แช่แข็ง” เกาหลีเหนือได้จะเป็นการดีที่สุด
เป็นผลดีต่อเกาหลีใต้ จีน การคงอยู่ของระบอบเกาหลีเหนือ คงแต่คนเกาหลีเหนือที่ยังต้องอยู่ในสภาพทุกข์ยากต่อไป
7 กุมภาพันธ์ 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7031 วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559)
-------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
จีนเป็นคู่ค้ารายสำคัญเพียงรายเดียวของเกาหลีเหนือ
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
ความช่วยเหลือจากจีนเป็นเหมือนเลือดหล่อเลี้ยงระบอบเกาหลีเหนือ เป็นตัวบ่งชี้ความสำคัญของจีน
หลายฝ่ายวิพากษ์ว่าจีนเป็นต้นเหตุให้เกาหลีเหนือเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
เหตุผลข้อนี้มีส่วนถูกอยู่บ้าง
แต่ความจริงที่ลึกกว่าคือประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐ
ต่างหวังให้เกาหลีเหนืออยู่ในสภาพปัจจุบัน ด้วยเหตุผลแรงจูงใจที่ต่างกัน
สถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีจึงดำเนินไปด้วยผลจากทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง
ไม่เฉพาะจีนเท่านั้น
บรรณานุกรม:
1. (4th LD) S Korea, China split over level of sanctions on
N. Korea. (2016, January 15). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/national/2016/01/15/61/0301000000AEN20160115009751315F.html
2. Beal, Tim. (2005). North Korea: The Struggle Against
American Power. London: Pluto Press.
3. Dickler, Paul. (2014, June). The Korean Peninsula:
Yesterday and Today.
Foreign Policy Research Institute. Retrieved from
http://www.fpri.org/articles/2014/06/korean-peninsula-yesterday-and-today
4. Ismael, Tareq
Y., & Haddad, William W. (2004). Iraq: The Human Cost of History.USA:
Pluto Press.
5. Kaufmann, Andreas., & Balsiger, Mattia. (2015, March
20). The Future of the Two Koreas. International Relations and Security
Network (ISN). Retrieved from http://isnblog.ethz.ch/security/the-two-koreas
6. Korea, Republic of. (2014, March). World Trade Organization.
Retrieved from http://stat.wto.org/CountryProfile/WSDBCountryPFView.aspx?Country=KR&Language=F
7. Manyin, Mark E., Nikitin, Mary Beth D., Chanlett-Avery,
Emma., Cooper, William H., & Rinehart, Ian E. (2014, June 24). U.S.-South
Korea Relations. Congressional Research Service. Retrieved from
https://www.fas.org/sgp/crs/row/R41481.pdf
8. Ministry of Unification, Korea. (2016). Vision
Statement. Retrieved from http://eng.unikorea.go.kr/content.do?cmsid=1773
9. N.K. erecting last stage of rocket. (2012, December 5). The
Korea Herald. Retrieved from http://nwww.koreaherald.com/view.php?ud=20121204001037
10. Park asks Xi to prevent N.K. nuclear test. (2014, April
23). The Korea Herald. Retrieved from http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20140423001295
11. The White House. (2014, April 25). Press Conference with
President Obama and President Park of the Republic of Korea. Retrieved from
http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/04/25/press-conference-president-obama-and-president-park-republic-korea
-----------------------------