ยุทธศาสตร์เร่งปิดล้อมเกาหลีเหนือเพื่อเร่งโดดเดี่ยวจีน

ยุทธศาสตร์ปิดล้อมหรือหลักนิยมปิดล้อม (doctrine of containment) เป็นที่รู้จักมานานแล้ว ชาติตะวันตกอธิบายว่าใช้เพื่อต้านการแพร่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ หลังสิ้นสงครามเย็นนักยุทธศาสตร์สหรัฐ รู้สึกกังวล มองความเจริญก้าวหน้าของจีนเป็นภัยคุกคามร้ายแรง ต้องหาทางตัดไฟแต่ต้นลม มิฉะนั้นสหรัฐจะไม่มีความสงบสุข
แม้รัฐบาลสหรัฐไม่ค่อยเอ่ยถึงการปิดล้อมโดดเดี่ยว นักวิชาการบางคนเห็นว่ายุทธศาสตร์ปรับสมดุลเอเชียแปซิฟิกหรือปักหมุดเอเชีย (Pivot to Asia) ทำหน้าที่ 2 อย่างพร้อมๆ กัน ข้อแรกคือนำสหรัฐเข้าพัวพันมากขึ้น (engagement strategy) กับเพิ่มกำลังปิดล้อมจีน ทำนองเดียวกับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ถูกตีความว่าคือการปิดล้อมทางเศรษฐกิจ
            บทความนี้ชี้ว่ารัฐบาลทรัมป์กำลังดำเนินนโยบายเร่งปิดล้อมโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือควบคู่กับจีน โดยพยายามยืมมือจีนกดดันเกาหลีเหนือ ผลลัพธ์สุดท้ายคือการโดดเดี่ยวจีนไปในตัว
นโยบายทรัมป์ต่อเกาหลีเหนือ :
ประการแรก ยกระดับภัยคุกคาม ถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์
กันยายน 2016 พลเรือเอก Mike Mullen (co-chair of a new CFR-sponsored Independent Task Force report) ชี้ว่าประธานาธิบดีคนต่อไปอาจต้องเผชิญอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือที่สามารถยิงถึงสหรัฐ ต้นเมษายน 2017 KT McFarland ผู้ช่วยที่ปรึกษาความมั่นคงทำเนียบขาวกล่าวทำนองเดียวกันว่า “เป็นไปได้ว่าเกาหลีเหนือจะมีขีดความสามารถโจมสหรัฐด้วยขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ในรัฐบาลทรัมป์สมัยแรก”
ในอดีตเคยชี้ว่าจะเกิดในสมัยรัฐบาลโอบามา บัดนี้ถูกกำหนดใหม่ว่าจะอยู่ในช่วงรัฐบาลทรัมป์

            ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวเมื่อปลายเดือนเมษายนว่า “ไม่มีใครปลอดภัย มีใครปลอดภัยหรือ นายคนนั้นมีอาวุธนิวเคลียร์” (หมายถึงผู้นำเกาหลีเหนือ) จึงไม่แปลกที่รัฐบาลทรัมป์ประกาศว่าเกาหลีเหนือ “เป็นภัยคุกคามความมั่นแห่งชาติเร่งด่วนและเป็นนโยบายต่างประเทศที่สำคัญสูงสุด”

ประการที่ 2 สหรัฐจะไม่เจรจากับเกาหลีเหนือโดยตรง
            กลางเดือนเมษายน 2017 กระทรวงการต่างประเทศเผยว่ารัฐบาลจะไม่เจรจากับเกาหลีเหนือจนกว่าเกาหลีเหนือจะส่งสัญญาณปรับเปลี่ยนนโยบายนิวเคลียร์กับโครงการขีปนาวุธก่อน หาไม่แล้ว นานาชาติจะร่วมกันกดดันเกาหลีเหนือ
            ในอดีตรัฐบาลสหรัฐพยายามเจรจากับเกาหลีเหนือทั้งแบบทวิภาคีกับผ่านการเจรจา 6 ฝ่าย แต่ในระยะหลังไม่ยอมเจรจาด้วยตนเอง ในขณะที่เกาหลีเหนือยังพยายามร้องขอเจรจาเพื่อลดความตึงเครียด
            อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าเป็นเกียรติหากได้พบปะผู้นำเกาหลีเหนือภายใต้บางบริบทซึ่งไม่ชัดเจนว่าคืออะไร

ประการที่ 3 ขอความช่วยเหลือจากจีน กดดันจีน
การขอความช่วยเหลือจากจีนไม่ใช่เรื่องใหม่ ในระยะหลังรัฐบาลสหรัฐให้ความสำคัญกับจีนเพิ่มขึ้นมาก เห็นว่าการที่โครงการนิวเคลียร์กับขีปนาวุธก้าวหน้าเพราะจีนไม่คว่ำบาตรเกาหลีเหนือมากพอ การสนับสนุนจากจีนเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากร้อยละ 90 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศคือทำกับประเทศจีน จีนซื้อถ่านหินเกาหลีเหนือปีละ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลำพังจีนเพียงประเทศเดียวก็เพียงพอที่จะกดดันเกาหลีเหนือ ถึงกับระบุว่านโยบายของจีนต่อเกาหลีเหนือจะเป็นตัวบ่งบอกความเป็นไปของภูมิภาคในอนาคต
เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่าจีนไม่เห็นด้วยและต่อต้านการพัฒนาอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (weapons of mass destruction: WMDs) ของเกาหลีเหนือมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม โครงการนิวเคลียร์ ขีปนาวุธยังคงเดินหน้าอย่างช้าๆ
ไม่ว่าเป็นภัยคุกคามจริงแท้เพียงใด ฝ่ายสหรัฐยืนกรานเรื่อยมาว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรง และจะร้ายแรงมากขึ้นถึงสามารถยิงถึงแผ่นดินสหรัฐ
ตั้งแต่ช่วงหาเสียงทรัมป์เตือนว่าสหรัฐจะจัดการภัยคุกคามนิวเคลียร์เกาหลีเหนือแบบดำเนินการฝ่ายเดียว (unilateral action) หากรัฐบาลจีนไม่เพิ่มแรงกดดันต่อเกาหลีเหนือ ตรรกะของรัฐบาลสหรัฐคือ ถ้า WMDs มีความคืบหน้า จะไม่เล่นงานเกาหลีเหนือเท่านั้น จะถือเป็นความผิดของจีนโดยตรง จีนต้องรับผิดชอบ จะเห็นว่ายุทธศาสตร์สหรัฐคือการผูกเกาหลีเหนือเข้ากับจีน เท่ากับว่าจะถ้าจะจัดการเกาหลีเหนือต้องจัดการจีนก่อน หรือจัดการทั้ง 2 ประเทศพร้อมๆ กัน
รัฐบาลทรัมป์เริ่มใช้ประเด็นเกาหลีเหนือเป็นเครื่องเจรจาต่อรองกับจีน กลางเดือนมีนาคม ประธานาธิบดีทรัมป์ถึงกับพูดว่าจะนำประเด็นเกาหลีเหนือเพื่อต่อรองปัญหาการค้ากับจีน หากจีนสามารถกดดันเกาหลีเหนือ สหรัฐจะผ่อนคลายกีดกันการค้า

การที่รัฐบาลทรัมป์ในช่วงนี้เน้นกดดันจีนเพื่อกดดันเกาหลีเหนืออีกทอด ก่อให้เกิดคำถามว่ารัฐบาลสหรัฐทำอะไรไม่ได้ด้วยตัวเอง ต้องพึ่งจีน กลายเป็นความว่าความมั่นคงของสหรัฐขึ้นกับจีน
ข้อสรุปเช่นนี้ไม่น่าจะถูกต้อง ดังที่เสนอแล้วว่าตรรกะของสหรัฐในขณะนี้คือต้องโทษจีนที่ไม่จัดการเกาหลีเหนือ
เป็นไปได้หรือไม่ว่าในอนาคตรัฐบาลสหรัฐอาจลงโทษจีน เช่น คว่ำบาตรสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมดหรือบางตัว บางบริษัท หรือลงโทษต่อด้านอื่นมิติอื่น โทษฐานที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธ อาวุธนิวเคลียร์ ให้เหตุผลว่าเนื่องจากจีนไม่คว่ำบาตรเกาหลีเหนือมากพอ

           ดังที่เคยเสนอในบทความก่อนว่า ในช่วงหาเสียงเมื่อพูดเรื่องขาดดุลการค้ากับ ทรัมป์จะมุ่งโจมตีจีน จีนเป็น “จอมหัวขโมยรายใหญ่ที่สุดของโลก” บิดเบือนค่าเงินหยวนเพื่อช่วยการส่งออก กระทบต่ออุตสาหกรรม การจ้างงานในสหรัฐ หากสามารถแก้ปัญหานี้อาจเพิ่มการจ้างงานในประเทศนับล้านตำแหน่ง แต่ไม่ถึง 2 เดือนหลังรับตำแหน่ง ประธานาธิบดีทรัมป์ยอมรับว่าจีนไม่ได้บิดเบือนค่าเงินหยวน พร้อมกับรายงานของกระทรวงการคลังระบุว่าจีนไม่ได้บิดเบือนค่าเงินหยวน บัดนี้รัฐบาลสหรัฐมีข้อสรุปชัดแล้วว่าจีนไม่ได้บิดเบือนค่าเงิน ค่าเงินหยวนไม่เป็นต้นเหตุขาดดุลการค้าอย่างที่ทรัมป์กล่าวหา
ด้วยตรรกะผูกความมั่นคงกับเรื่องอื่นๆ อนาคตรัฐบาลทรัมป์อาจเล่นงานการค้าจีน และเรื่องอื่นๆ ด้วยเหตุ WMDs ของเกาหลีเหนือ นั่นหมายความว่านับจากนี้สหรัฐจะจัดการจีนเรื่องใดๆ ก็ได้ โดยยกเหตุเรื่องเกาหลีเหนือเพียงเรื่องเดียว
แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าต้องเปิดฉากทำสงครามกับจีน การปิดล้อมการโดดเดี่ยวเป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องดำเนินต่อเนื่องอย่างยาวนาน

ประการที่ 4 สหรัฐอาจชิงโจมตีก่อน
รัฐบาลสหรัฐพูดเสมอว่าพร้อมจะดำเนินการด้วยตนเอง อาจชิงโจมตีฝ่ายเดียว ใช้หน่วยปฏิบัติการพิเศษ ฯลฯ ควรตระหนักว่าหากเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามใกล้ตัวจริง สหรัฐไม่รีรอที่จะจัดการแน่นอน คำถามอยู่ที่เกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงจวนตัวจริงหรือไม่ และการเอ่ยเรื่องนี้ย่อมเป็นการกดดันจีนอีกทางหนึ่งด้วย

            ประการที่ 5 ยุทธศาสตร์เร่งปิดล้อมเกาหลีเหนือเพื่อเร่งโดดเดี่ยวจีน
ถ้ามองในเชิงการทูต การผูกเกาหลีเหนือกับจีนเข้าด้วยกันคือการกดดันจีนให้กดดันเกาหลีเหนือมากขึ้น ซึ่งถ้าจีนยอมปฏิบัติตามเท่ากับว่าเกาหลีเหนือถูกโดดเดี่ยวมากกว่าเดิม ผลลัพธ์อีกข้อคือเกาหลีเหนือจะถอยห่างจากจีน เท่ากับว่าจีนโดดเดี่ยวตัวเอง
สภาพการณ์เช่นนี้ปรากฏให้เห็นแล้ว สำนักข่าว Korean Central News Agency ของเกาหลีเหนือชี้ว่าหากจีนยังเข้าข้างสหรัฐกดดันเกาหลีเหนือ ย่อมกระทบความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างเกาหลีเหนือกับจีน ความอดทนมีจำกัด ยืนยันว่าจะต้องมีอาวุธนิวเคลียร์ จะไม่ยอมทิ้งอาวุธนิวเคลียร์ ไม่ว่าจะต้องจ่ายราคาด้วยมิตรภาพมากเพียงไร

ถ้ามองในเชิงบรรลุเป้าหมาย ต้องชื่นชมยุทธศาสตร์สหรัฐอีกครั้ง ที่สามารถคิดหาวิธีโดดเดี่ยวทั้งเกาหลีเหนือกับจีนพร้อมๆ กัน หากประสบความสำเร็จ อนาคตสหรัฐอาจใช้แนวทางนี้กับประเทศอื่นๆ เพื่อโดดเดี่ยวปรปักษ์ของสหรัฐ
สถานการณ์เช่นนี้ คล้ายกับที่รัสเซียช่วยเหลือซีเรียในขณะนี้

ข้อวิพากษ์อีกข้อคือ ฝ่ายสหรัฐพูดมุมเดียวว่าต้องกดดันเกาหลีเหนือมากขึ้นด้วยเห็นว่าภัยคุกคามจากนิวเคลียร์เกาหลีเหนือรุนแรงมากขึ้น ไม่อาจปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไป
ประเด็นที่รัฐบาลสหรัฐไม่เอ่ยถึงคือ การกดดันเกาหลีเหนือมากขึ้นคือเพิ่มความทุกข์ยากแก่ชาวเกาหลี 25 ล้านคนที่ถูกกระทำอย่างรุนแรงต่อเนื่องมาหลายทศวรรษแล้ว ความแร้นแค้นทางเศรษฐกิจมากกว่านี้อาจถึงขีดที่ประชาชนรับไม่ได้ ถึงขั้นก่อความวุ่นวาย ร่วมมือกับนายทหารบางคนที่คิดต่อต้านรัฐบาลล้มล้างระบอบ
แน่นอนว่าหากเกิดการชุมนุม รัฐบาลไม่ปล่อยไว้แน่ คงจะปราบปรามอย่างรุนแรง ถ้าหากสถานการณ์จบลงรวดเร็วก็จะอาจจบเพียงเท่านั้น แต่ถ้ายืดเยื้ออาจกลายเป็น “เกาหลีเหนือสปริง” เปิดทางให้ฝ่ายสหรัฐเข้าแทรกแซง ทำนองเดียวกับอาหรับสปริงที่เกิดขึ้นในหลายประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ
            เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ซ่อนอยู่ของยุทธศาสตร์เร่งปิดล้อมเกาหลีเหนือเพื่อเร่งโดดเดี่ยวจีน

            นักวิชาการบางคนพูดถึงการปิดล้อมคู่ (dual containment) หมายถึงการปิดล้อมจีนกับรัสเซียบทความนี้พูดถึงการปิดล้อมจีนกับเกาหลีเหนือในแง่รัฐบาลสหรัฐดำเนินยุทธศาสตร์เพิ่มแรงกดดันปิดล้อมเกาหลีเหนือโดยยืมมือจีน และเท่ากับเป็นการเร่งโดดเดี่ยวจีนไปในตัว
ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่าตนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ชมว่าท่านเป็นคนดี จึงต้องพูดคุยกับประธานาธิบดีสีก่อน (เปิดโอกาสให้จีนจัดการเกาหลีเหนือ) แต่หากเห็นด้วยกับยุทธศาสตร์เร่งปิดล้อมเกาหลีเหนือเพื่อเร่งโดดเดี่ยวจีน คงต้องคิดบทบทวนอีกรอบว่าประธานาธิบดีทรัมป์หมายถึงเช่นนั้นจริงหรือไม่
14 พฤษภาคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7492 วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2560)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
สถานการณ์ตึงเครียดในทะเลจีนใต้จำต้องมองกรอบที่กว้างกว่าอาเซียน เกี่ยวข้องกับท่าทีของสหรัฐกับญี่ปุ่น ที่รัฐบาลอาเบะเพิ่งประกาศต้องการแสดงภาวะผู้นำเหนือภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จีนคงต้องการเตือนอาเซียนว่าอาเซียนควรร่วมมือกับจีน อยู่ร่วมกับจีนอย่างฉันท์มิตรมากกว่าที่จะเข้าพวกกับสหรัฐ ญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในแนวทางต่อต้านยุทธศาสตร์ Pivot to Asia
2.เกาหลีเหนือยั่วยุญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ประท้วง แต่จีนเสียประโยชน์
จากข้อมูลที่ปรากฏต่อสาธารณะไม่อาจสรุปได้ว่าอะไรคือเหตุผลเบื้องหลังที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธครั้งล่าสุด สิ่งที่เห็นคือรัฐบาลเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นประท้วงอย่างรุนแรง ชี้ว่าเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงจวนตัว เป็นข้ออ้างสำหรับเกาหลีใต้ที่กำลังติดตั้งระบบ THAAD ขั้วสหรัฐฯ ได้รุกคืบหน้าอีกขั้น เห็นได้ชัดว่าจีนเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ ประเทศที่เกี่ยวข้องกับคาบสมุทรเกาหลีจะพัฒนาและสะสมอาวุธมากขึ้น

บรรณานุกรม:
1. Adler, Stephen J., Holland, Steve., Mason, Jeff. (2017, April 28). Exclusive: Trump says 'major, major' conflict with North Korea possible, but seeks diplomacy. Reuters. Retrieved from http://www.reuters.com/article/us-usa-trump-exclusive-idUSKBN17U04E?il=0
2. Barber, Lionel., Sevastopulo, Demetri., Tett, Gillian. (2017, April 2). Trump ready to tackle North Korea alone — FT exclusive. Financial Times. Retrieved from https://www.ft.com/content/4d9f65d6-17bd-11e7-9c35-0dd2cb31823a
3. Buncombe, Andrew. (2016, May 2) Donald Trump accuses China of 'raping' the US with its trade policy. The Independent. Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-elections/donald-trump-accuses-china-of-raping-the-us-with-its-trade-policy-a7009946.html
4. Chang, Jae-soon. (2017, May 1). (3rd LD) Trump says he would be 'honored' to meet with N. Korean leader under right circumstances. Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/northkorea/2017/05/02/0401000000AEN20170502000353315.html
5. Cole, Bernard D. (2016). China's Quest for Great Power: Ships, Oil, and Foreign Policy. USA: Naval Institute Press.
6. Council on Foreign Relations. (2016). A Sharper Choice on North Korea. Retrieved from http://www.cfr.org/north-korea/sharper-choice-north-korea/p38259
7. Gelb, Leslie H., Simes, Dimitri K. (2013, June 25). Beware Collusion of China, Russia. The National Interest. Retrieved from http://nationalinterest.org/article/beware-collusion-china-russia-8640
8. Landler, Mark. (2016, February 9). North Korea Nuclear Effort Seen as a Top Threat to the U.S. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2016/02/10/world/asia/north-korea-nuclear-effort-seen-as-a-top-threat-to-the-us.html?_r=0
9. Landler, Mark., Perlez, Jane. (2017, April 17). Pence Talks Tough on North Korea, but U.S. Stops Short of Drawing Red Line. The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2017/04/17/world/asia/trump-north-korea-nuclear-us-talks.html?_r=0
10. North Korea official media make rare strong criticism of key ally China. (2017, May 4). The Japan Times. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2017/05/04/asia-pacific/politics-diplomacy-asia-pacific/north-korea-official-media-make-rare-strong-criticism-key-ally-china/#.WQqyE9J97IU
11. Reis, Joao Arthur. (2014, January 24). China's dual response to the US 'pivot'. Asia Times. Retrieved from http://www.atimes.com/atimes/China/CHIN-01-240114.html
12. Ryan, Missy., Denyer, Simon., Rauhala, Emily . (2017, April 18). On North Korea, Trump administration talks tough but hopes to avoid war. The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/world/national-security/on-north-korea-trump-administration-talks-tough-but-hopes-to-avoid-war/2017/04/18/96d15536-244a-11e7-bb9d-8cd6118e1409_story.html
13. Sherfinski, David. (2017, March 11). US policy on Asia and the Korean Peninsula under President Trump. The Washington Times. Retrieved from http://www.washingtontimes.com/news/2017/apr/11/donald-trump-pressures-china-over-north-korea/
14. Transcript: Donald Trump Expounds on His Foreign Policy Views. (2016, April 26). The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2016/03/27/us/politics/donald-trump-transcript.html
15. Trump is willing to meet North Korea’s leader Kim. (2017, May 2). Gulf Times. Retrieved from http://www.gulf-times.com/story/546552/Trump-is-willing-to-meet-North-Korea-s-leader-Kim
16. U.S. Treasury says China does not manipulate its currency. (2017, April 14). Trump is being schooled by international events and sly adversaries. Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2017-04/15/c_136210032.htm
-----------------------------