ทรัมป์ “ผู้คาดเดาไม่ได้” หรือ “ผู้พูดเท็จเป็นนิจ”

ในช่วง 100 วันของตำแหน่งประธานาธิบดี ความเป็น โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เปิดออกสู่สายตาชาวอเมริกันและทั่วโลก หลายคนชอบ หลายคนไม่ชอบ ถ้าดูจากโพลความนิยมของประธานาธิบดีทรัมป์ที่น้อยอยู่แล้วตั้งแต่ต้น มีแนวโน้มลดลงอีก ต้นเหตุหนึ่งที่บั่นทอนคะแนนนิยมและมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือนโยบายต่างประเทศที่เปลี่ยนกลับไปกลับมา (flip-flop) ไม่ตรงกับที่หาเสียง
กลยุทธ์ “คาดเดาไม่ได้” นโยบายที่กลับไปกลับมา :
ในช่วงหาเสียงทรัมป์พูดเสมอว่าตนศึกษาเรื่องนี้เรื่องนั้นมากกว่าใคร รู้ดีกว่าหลายคน ขอให้เชื่อเขาว่าเขาสามารถทำได้ อเมริกาจะยิ่งใหญ่อีกครั้ง ปัญหาหลายอย่างแก้ได้ด้วยการเจรจา เมื่อถูกสอบถามรายละเอียดว่าจะทำอย่างไร ทรัมป์ให้คำตอบว่าเป็นความลับ ไม่อาจเปิดเผย เกรงว่าฝ่ายตรงข้ามจะรู้ตั
ในเวลาไม่ถึง 100 วัน รัฐบาลทรัมป์ปรับเปลี่ยนนโยบายสำคัญหลายเรื่อง เช่น
ประกาศว่าจะทบทวนความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เพราะ 2 ประเทศนี้เอาเปรียบสหรัฐ ไม่แบ่งเบาภาระงบประมาณเท่าที่ควร จะถอนทหารอเมริกันที่ประจำการใน 2 ประเทศนี้ ให้ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้มีอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง
            2 สัปดาห์หลังเป็นรัฐบาล รัฐบาลทรัมป์ประกาศยึดมั่นสัญญาการเป็นพันธมิตร จิม แมททิส (Jim Mattis) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมพูดกับรักษาการนายกฯ เกาหลีใต้กับนายกฯ อาเบะด้วยคำเดียวกันว่า “ยืนยัน (ความเป็นพันธมิตร) ร้อยเปอร์เซ็นต์” พร้อมกับที่รัฐบาลญี่ปุ่นเห็นว่าภาระที่รับอยู่เหมาะสมแล้ว

            เดิมทรัมป์ยอมรับการคงอยู่ของรัฐบาลอัสซาด เห็นว่าควรมุ่งจัดการผู้ก่อการร้าย IS จะดีกว่า เปรียบเปรยว่าถ้าซัดดัมอยู่ผู้ก่อการร้ายในอิรักจะถูกกำจัดทันที แต่หลังเกิดเหตุใช้อาวุธเคมีเมื่อต้นเมษายน ทรัมป์สั่งโจมตีซีเรียด้วยขีปนาวุธ อ้างว่ารัฐบาลซีเรียใช้อาวุธเคมี ทำให้เด็กผู้บริสุทธิ์ราว 30 คนต้องจบชีวิตอย่างทุกข์ทรมาน โดยไม่คิดว่าการที่รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนฝ่ายต่อต้านเป็นเหตุให้สงครามกลางเมืองยืดเยื้อ มีผู้เสียชีวิตกว่า 2 แสนคนแล้ว ในจำนวนนี้เป็นเด็กกว่าหมื่นคน

            ทรัมป์เห็นว่าองค์การนาโตเป็นของล้าสมัย สิ้นเปลืองงบประมาณ ที่ผ่านมาชาติสมาชิกแบกรับภาระน้อยเกินไป ไม่ยุติธรรมต่อสหรัฐ ดังนั้นหากชาติสมาชิกนาโตไม่ช่วยแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม จะขอพิจารณาถอนตัวออกจากนาโต
            ไม่ถึง 2 เดือนหลังรับตำแหน่ง ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศสนับสนุนนาโตเต็มที่ ยืนยันสถานภาพความเป็นพันธมิตรกับประเทศต่างๆ ในยุโรป จะไม่ถือว่านาโตเป็นของล้าสมัยอีกต่อไป เป็นอีกนโยบายที่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ให้เหตุผลว่าชาติสมาชิกได้ปรับปรุงตัวเองแล้ว เรื่องงบประมาณกลายเป็นประเด็นที่ต้องเจรจาต่อไป แต่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนอีกแล้ว

            ในช่วงหาเสียง จีนตกเป็นเป้าการโจมตีเมื่อเอ่ยถึงการค้าระหว่างประเทศ ปัญหาขาดดุล ทรัมป์เห็นว่าจีนเป็น “จอมหัวขโมยรายใหญ่ที่สุดของโลก” บิดเบือนค่าเงินหยวนเพื่อช่วยการส่งออก กระทบต่ออุตสาหกรรม การจ้างงานในสหรัฐ หากสามารถแก้ปัญหาจากจีน อาจเพิ่มการจ้างงานในประเทศนับล้านตำแหน่ง
             และเช่นเดียวกัน ไม่ถึง 2 เดือนหลังรับตำแหน่ง ประธานาธิบดีทรัมป์ยอมรับว่าจีนไม่ได้บิดเบือนค่าเงินหยวน พร้อมกับรายงานของกระทรวงการคลังระบุว่าจีนไม่ได้บิดเบือนค่าเงินหยวน ไม่ว่าจะเป็นรายงานเพื่อสนับสนุนทรัมป์ หรือทรัมป์ยอมรับข้อสรุปของรายงาน บัดนี้รัฐบาลสหรัฐมีข้อสรุปชัดแล้วว่าจีนไม่ได้บิดเบือนค่าเงิน ค่าเงินหยวนไม่เป็นต้นเหตุขาดดุลการค้าอย่างที่ทรัมป์กล่าวหา

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็น รวมทั้งเรื่องที่ยังไม่ประกาศ เช่น นโยบายลดภาษี การกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกือบร้อยวันแล้วยังขาดความชัดเจน นโยบายเศรษฐกิจอาจเป็นอีกเรื่องที่ทรัมป์ไม่ได้ทำตามที่หาเสียง ในเวลาไม่ถึง 100 วันจึงถูกวิพากษ์หนาหูว่าหลายนโยบายเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่รู้แน่ว่าอะไรจริง อะไรเท็จ ทรัมป์กำลังหมายถึงอะไรกันแน่
ทรัมป์บอกตั้งแต่ต้นว่าจะใช้วิธีคาดเดาไม่ได้ (unpredictable) เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่ง แต่ควรใช้อย่างมีขอบเขต รู้ว่าเรื่องใดควรใช้ เรื่องใดไม่ควรใช้ ตระหนักว่ามีผลเสียจากการใช้ เช่น ประเด็นทบทวนพันธมิตรนาโต ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ บั่นทอนความสัมพันธ์กับมิตรประเทศ ไม่น่าเชื่อถือ การคาดเดาไม่ได้ส่งผลให้พลเมืองอเมริกันคาดเดาไม่ได้เช่นกัน วางตัวไม่ถูกว่าแต่ละนโยบายเป็นอย่างไร บางคนอาจตีความว่าคือเทคนิคง่ายๆ เพื่อหลอกหาเสียง
การสร้างกำแพงกั้นพรมแดนเม็กซิโกทำได้จริงหรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่ สกัดกั้นแรงงานนอกระบบได้แค่ไหน ถ้ารู้แต่แรกแล้วว่าทำไม่ได้ ทำไมจึงยังเสนอนโยบายเช่นนี้
ทรัมป์กำลังใช้เทคนิค “ผู้คาดเดาไม่ได้” หรือทำให้ “ตนเองสามารถพูดเท็จ” ต่อสาธารณะ

สืบเนื่องจากยุทธศาสตร์หาเสียง :
            การจะทำความเข้าใจว่าทรัมป์เป็นผู้คาดเดาไม่ได้หรือผู้พูดเท็จเป็นนิจ ต้องย้อนหลังตั้งแต่ช่วงหาเสียง ดังที่ได้นำเสนอในบทความก่อนว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์หาเสียงที่ทรัมป์ใช้คือ ”พูดตรงใจคนฟัง” พูดในสิ่งที่ประชาชนอยากฟัง เมื่อบวกกับบุคลิกภาพส่วนตัว จึงปรากฏเป็นภาพที่ทุกคนเห็น เช่น พูดจาขวานผ่าซาก ใช้คำพูดง่ายๆ ไม่ใช้ศัพท์สวยหรูของนักการเมือง ตอกย้ำว่าทรัมป์แตกต่างจากผู้สมัครคนอื่นๆ ไม่ใช่นักการเมืองน้ำเน่า อีกด้านหนึ่งคือกำลังเสนอแนวคิดแนวทางบางอย่างที่ประชาชน “เห็นด้วยอยู่แล้ว”
เมื่อเป็นแนวคิดแนวทางที่ประชาชน “เห็นด้วยอยู่แล้ว” หลายคนจึงมีข้อสรุปในใจอย่างรวดเร็ว เห็นว่าทรัมป์คือตัวเลือกที่ตรงใจเขามากที่สุด เป็นเหตุให้คะแนนนิยมของทรัมป์พุ่งสูงขึ้นๆ เรื่อยๆ แซงหน้าคู่แข่งในพรรคเดียวกันทั้งหมด ได้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันและชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี
            การ “พูดตรงใจคนฟัง” มีข้อดีที่ได้ใจคนฟัง แต่มีจุดอ่อนหลายข้อ เช่น เป็นการคิดในกรอบแคบๆ ขาดการมองภาพรวม เกิดคำถามที่ว่าเป็นแนวนโยบายที่ปฏิบัติได้จริงหรือไม่ หรือเพียงแค่พูดเพื่อได้ใจคนเท่านั้น

วิเคราะห์องค์รวม :
            ประการแรก โทษทรัมป์หรือโทษใคร
            มีความเป็นไปได้ว่าการพูดกลับไปกลับมาคือกลยุทธ์การเจรจาของทรัมป์ ตั้งใจที่จะทำเช่นนี้จริง
ถ้ามองจากมุมพูดเท็จ ทรัมป์คงไม่ตั้งใจพูดเท็จทุกครั้ง หลายครั้งอาจเป็นเพราะไม่ใช่นักการเมือง ไม่ได้ศึกษาประเด็นอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะเรื่องระหว่างประเทศ จึงเข้าใจผิด เสนอนโยบายผิดๆ แล้วต้องแก้ทีหลัง
            ถ้ามองจากมุมเลือกตั้ง เห็นชัดว่าในหลายประเด็น ทรัมป์พูดเพื่อให้ได้ใจคนอเมริกันเท่านั้น โดยไม่สนใจว่านโยบายที่เสนอนั้นทำได้จริงหรือไม่ มีผลดีผลเสียอย่างไร แต่ในช่วงหาเสียงทรัมป์ไม่สนใจเรื่องเหล่านี้ มุ่งชนะเลือกตั้งอย่างเดียว

            ในภาพกว้าง แม้ทรัมป์ไม่ได้ชนะเลือกตั้งเพราะมีคุณสมบัติเป็นผู้นำประเทศ เหตุที่ชนะมาจากหลายปัจจัย ทั้งตัวนโยบาย สำนวนโวหาร ทีมงาน เป็นตัวแทนพรรค ชาวอเมริกันหลายคนไม่ต้องการให้ ฮิลลารี คลินตัน เป็นฝ่ายชนะ ดังนั้น จะโทษทรัมป์อย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะชาวอเมริกันไม่มีตัวเลือกที่ดี เพราะระบบการเมืองคัดกรองที่มีอยู่ได้ตัวแทนแบบทรัมป์กับฮิลลารี ชาวอเมริกันหลายคนรู้ปัญหาแต่แม้ผ่านไปหลายทศวรรษ ปัญหาเดิมๆ ยังคงอยู่

            ประการที่ 2 การผสมโรงของสื่อ
            ตั้งแต่เริ่มหาเสียง ทรัมป์เป็นปฏิปักษ์กับสื่อกระแสหลัก และแม้บริหารประเทศแล้ว ความสัมพันธ์กับสื่อที่ปรากฏให้เห็นยังแย่ต่อไป และหนักกว่าเดิมในบางช่วงที่เกิดการพิพาทกับสื่อ
            ประเด็นน่าคิดคือ แม้สื่อกระแสหลักมักนำเสนอข่าวด้านลบของทรัมป์ แต่ชาวอเมริกันชื่นชอบที่จะบริโภคข่าวทำนองนี้ การแสดงออกของทรัมป์ในทาง "ลบ" ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ดูเหมือนเป็นที่นิยมของชาวอเมริกันหลายคน
            ในทางวิชาการมีข้อสรุปชัดเจนว่า ชาวอเมริกันไม่ไว้ใจสื่อมานานแล้ว แต่นับจากเกิดปรากฏการณ์ทรัมป์ สื่อนำเสนอข่าวลบต่อเนื่อง ราวกับว่าเป็นข่าวที่ขายดี เป็นอาหารจานอร่อยที่ต้องเสิร์ฟทุกวัน

            ทรัมป์โจมตีสื่อเรื่อยมา และพยายามใช้สื่อของตัวเอง ทวิชข้อความแทบทุกวัน อ้างว่าต้องทำเช่นนี้ต่อไปตราบเท่าที่สื่อไม่เป็นกลาง ไม่ว่าสื่อจะเป็นกลางหรือไม่ ปรากฏการณ์ทรัมป์ช่วยเพิ่มความสำคัญของสื่อกระแสหลัก เพราะผู้บริโภคที่สนใจข่าวสารจะคอยติดตามข้อความทวิชจากทรัมป์และสื่อที่ตอบโต้กันไปมา

            ที่สำคัญคือ ข้อความที่ทรัมป์ทวิช ข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาล สื่อกระแสหลักสามารถครอบครองข้อมูลที่สาธารณชนรับรู้ ถ้ามองในแง่ดี เป็นอีกครั้งที่สื่อกระแสหลักกับรัฐบาลสามารถส่งผ่านข้อมูลแก่ประชาชนอย่างเต็มที่

            ถ้ามองในแง่ลบ เกิดคำถามว่าทั้งที่สื่อกับรัฐบาลนำเสนอ คือข้อเท็จจริงหรือไม่ กรณีโทษรัฐบาลอัสซาดใช้อาวุธเคมีเป็นตัวอย่างที่ดี สื่อกระแสหลักแม้จะวิพากษ์รัฐบาลต่างๆ นานา แต่บรรทัดสุดท้ายคือบอกว่ารัฐบาลอัสซาดใช้อาวุธเคมี (บนสมมติฐานว่ารัฐบาลอัสซาดไม่ได้ใช้อาวุธเคมีตามข้อกล่าวหา)
            ภาพที่เห็นคือดูเหมือนสื่อกับรัฐบาลทะเลาะกัน แต่ที่สุดแล้วให้ข้อสรุปตรงกัน
            ชาวอเมริกันหลายคนอาจชอบและถกกันตามประเด็นที่สื่อไม่เห็นตรงกับรัฐบาล แต่สุดท้ายจะมีข้อสรุปในใจว่ารัฐบาลอัสซาดใช้อาวุธเคมี ไม่ว่าสื่อกระแสหลักเหล่านี้จะตั้งใจหรือไม่ มีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ สิ่งที่นำเสนอคือช่วยรัฐบาลประชาสัมพันธ์

            การวิพากษ์วิจารณ์ว่านโยบายของรัฐบาลทรัมป์เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาหนาหูขึ้นทุกวัน ถูกมองว่าเป็นผลเสียมากกว่าผลดี แต่ทรัมป์ยังใช้ต่อไป เป็นเทคนิค “ผู้คาดเดาไม่ได้” ในอีกมุมคือทำให้ “ตนเองสามารถพูดเท็จ” ต่อสาธารณะ ไม่มีใครคาดเดาได้ว่ากำลังพูดความจริงหรือโกหก เป็นลักษณะเด่นข้อหนึ่งของรัฐบาลประชาธิปไตยอเมริกายุคนี้
23 เมษายน 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7471 วันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน พ.ศ.2560)
--------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
ในช่วงหาเสียงทรัมป์อ้างเหตุผลสารพัดเพื่อชี้ว่าสหรัฐไม่ควรประจำการทหารในเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นต่อไป พร้อมให้ 2 ประเทศนี้มีอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง ไม่ถึงเดือนหลังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ท่าทีเปลี่ยนเป็นตรงข้าม กลับมาให้ความสำคัญกับการเป็นพันธมิตรดังเดิม ตามหลักนโยบายที่ไม่ต่างจากประธานาธิบดีคนอื่นๆ ไม่ว่าจะมาจากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครท
การรณรงค์ประชานิยมแต่ละครั้งมีข้อดี-ข้อเสียขึ้นกับแง่มุมมอง บางครั้งมีข้อดีหลายข้อ บางครั้งมีข้อเสียมากกว่า ทั้งนี้ขึ้นกับการรณรงค์แต่ละครั้ง โดยรวมแล้วข้อดีคือเป็นอีกช่องทางของประชาชน ช่วยให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ส่วนข้อเสียคือเป็นการทำลายประชาธิปไตย ไม่ต่างจากระบอบเดิมที่ไม่ได้ทำเพื่อประชาชนจริงๆ

บรรณานุกรม:
1. Buncombe, Andrew. (2016, May 2) Donald Trump accuses China of 'raping' the US with its trade policy. The Independent. Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-elections/donald-trump-accuses-china-of-raping-the-us-with-its-trade-policy-a7009946.html
2. Denyerm, Simon. (2017, January 25). Trade trumps national security in Trump’s worldview. That’s really bad news for China. The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/world/national-security/president-trump-is-planning-to-sign-executive-orders-on-immigration-this-week/2017/01/24/aba22b7a-e287-11e6-a453-19ec4b3d09ba_story.html
3. Diamond, Jeremy. (2015, October 25). Trump: World would be '100%' better with Hussein, Gadhafi in power. CNN. Retrieved from http://edition.cnn.com/2015/10/25/politics/donald-trump-moammar-gadhafi-saddam-hussein/
4. Ginsberg, Benjamin., Lowi, Theodore J., Weir, Margaret., Tolbert, Caroline J., & Spitzer, Robert J. (2015). We the People: An Introduction To American Politics. (Tenth Essentials Edition). NY.: W. W. Norton & Company.
5. In reversal, Trump says would work with NATO to defeat ISIL. (2016, August 17). The Japan News/Reuters. Retrieved from http://the-japan-news.com/news/article/0003152964
6. Janjevic, Darko. (2017, April 12). Trump says NATO is 'no longer obsolete'. Deutsche Welle. Retrieved from http://www.dw.com/en/trump-says-nato-is-no-longer-obsolete/a-38407650
7. Mattis assures policy continuity on N. Korea, full defense commitment to S. Korea. (2017, February 3). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/northkorea/2016/09/23/0401000000AEN20160923005300315.html
8. Ramzy, Austine. (2016, March 28). Comments by Donald Trump Draw Fears of an Arms Race in Asia. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2016/03/29/world/asia/donald-trump-arms-race.html?_r=0
9. Transcript: Donald Trump Expounds on His Foreign Policy Views. (2016, April 26). The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2016/03/27/us/politics/donald-trump-transcript.html
10. Trump details ‘America first’ foreign policy views, threatening to withdraw troops from Japan, South Korea. (2016, March 27). The Japan Times. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2016/03/27/world/politics-diplomacy-world/trump-details-america-first-foreign-policy-views-threatening-withdraw-troops-japan-south-korea/#.Vvh-wtJ97IV
11. Trump predicts "very massive recession" in U.S. (2016, April 3). CNBC/Reuters. Retrieved from http://www.cnbc.com/2016/04/03/trump-predicts-very-massive-recession-in-us.html
12. U.S. Treasury says China does not manipulate its currency. (2017, April 14). Trump is being schooled by international events and sly adversaries. Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2017-04/15/c_136210032.htm
13. Yoshida, Reija. (2017, February 3). Abe, Mattis reaffirm ties on defense. The Japan Times. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2017/02/03/national/politics-diplomacy/shinzo-abe-james-mattis-u-s-japan-bilateral-ties-defense/#.WJXrStJ97IU
-----------------------------