ข้อดี-ข้อเสียของประชานิยม (Populism)

การรณรงค์ประชานิยมแต่ละครั้งมีข้อดี-ข้อเสียขึ้นกับแง่มุมมอง บางครั้งมีข้อดีหลายข้อ บางครั้งมีข้อเสียมากกว่า ทั้งนี้ขึ้นกับการรณรงค์แต่ละครั้ง อย่างไรก็ตาม สามารถประมวลให้เห็นข้อดี-ข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นดังนี้
ข้อดีของประชานิยม :
            ประการแรก ช่องทางของประชาชน
            เมื่อคนๆ หนึ่งเกิดมาจะพบว่าตนอยู่ภายใต้ระบอบอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นพลเมืองของประเทศ ระบอบมีอิทธิพลต่อชีวิต เมื่อถึงวัยมีส่วนร่วมทางการเมืองจะอยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนด การจะรวมตัวรณรงค์ประชานิยมไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยๆ       
            การลุกฮือรณรงค์ประชานิยมมาจากภาวะที่ประชาชนเหล่านั้นเห็นว่าระบอบที่มีอยู่ไม่ทำหน้าที่หรือล้มเหลวต่อบทบาทหน้าที่ ไม่อาจพึ่งพากลไกที่มีอยู่ บ่งชี้ว่าระบอบการเมืองเศรษฐกิจสังคมนั้นๆ สร้างปัญหาทุกข์ยากต่อประชาชน (บางส่วน) อย่างรุนแรง ขัดแย้งต่ออุดมการณ์
            การที่ประชาชนลุกฮือไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด และไม่ประกันว่าจะได้ผลลัพธ์สุดท้ายตามต้องการ แต่เป็นวิธีที่บางคนบางกลุ่มเลือกใช้ในยามสภาวะบีบบังคับ
            ประการที่ 2 ข้อเรียกร้องได้รับการแก้ไขบรรเทา
            การเคลื่อนไหวแต่ละครั้งมีเหตุผลแตกต่าง บางครั้งไม่ใช่เพื่อล้มล้างระบอบอำนาจเก่า เพียงเรียกร้องบางอย่าง เช่น ผลผลิตสินค้าเกษตรตกต่ำในสหรัฐเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นเหตุการเคลื่อนไหว แม้สุดท้ายผู้นำการเคลื่อนไหวไม่ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ประเด็นสินค้าเกษตรตกต่ำ ถูกเอารัดเอาเปรียบได้รับการบรรเทา
ประเด็นเคลื่อนไหวปัจจุบัน เช่น ต่อต้านคนต่างด้าวที่อพยพย้ายถิ่น ต่อต้านมุสลิม ต่อต้านชนเชื้อสายอื่นๆ ชนกลุ่มน้อย เพราะเชื่อว่าเป็นต้นเหตุปัญหาสังคม คนว่างงาน อาชญากรรม
            ขบวนการประชาชนนิยมเช่นนี้เกิดขึ้นเพื่อให้เสียงของพวกเขาได้รับการตอบสนองจากระบอบ หรือเพราะระบอบที่เป็นอยู่ปฏิเสธนโยบายของกลุ่ม
            ประการที่ 3 พรรคการเมืองตอบสนองความต้องการมากขึ้น
            ที่สุดแล้ว ไม่ว่าพวกประชานิยมจะชนะหรือไม่ (ส่วนใหญ่ไม่ชนะ ถ้ายึดเป้าหมายที่ต้องการ) รัฐบาลกับพรรคการเมืองมักจะแสดงตัวตอบสนองข้อเรียกร้อง ในกรณีที่ไม่สามารถตอบสนองทั้งหมดก็จะให้ความช่วยเหลืออย่างใดอย่างหนึ่ง ปัจจุบันนโยบายของพรรคการเมืองใหญ่กับรัฐบาลจะมีส่วนผสมของนโยบายที่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของพวกประชานิยม
            ส่วนพรรคที่ยึดแนวทางประชานิยมหรือมีส่วนผสมของประชานิยมเข้มข้นมักเป็นพรรคเล็ก เป็นพรรคทางเลือก เช่น Norwegian Progress Party, the Danish People’s Party, the Belgian Vlaams Belang และพบบ่อยในอเมริกาใต้ ที่โดดเด่นมากเช่นผู้นำ Hugo Chávez ของเวเนซูเอลา พรรค Front National ในฝรั่งเศส
            ถ้ามองเป็นข้อดี การปรากฏตัวของขบวนการประชานิยมช่วยสร้างสรรค์ประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น กลุ่มใดที่ออกมาเรียกร้อง กลุ่มใดที่แสดงพลัง มักจะได้รับการดูแลมากกว่าพวกที่เงียบเฉย

ข้อเสียของประชานิยม :
ประการแรก ก่อความแตกแยกรุนแรงในหมู่ประชาชน
นักประชานิยมอ้างว่าพวกเขาทำตามมติของประชาชน ต่อต้านผลประโยชน์อันคับแคบของชนชั้นปกครอง แต่การเคลื่อนไหวแต่ละครั้งมักเน้นคนบางกลุ่ม เช่น เกษตรกรชนบท แรงงานในเมือง หรือชนชั้นกลางระดับล่าง ไม่ใช่ประชาชนทั้งหมด เป็นเพียงบางกลุ่มที่ถูกปลุกระดมขึ้นมาเท่านั้น แต่ผู้นำเคลื่อนไหวจะอ้างว่าพวกเขากำลังทำเพื่อ “ประชาชน” ราวกับว่าหมายถึงประชาชนทั้งประเทศ
และแม้เป็นเสียงข้างมากก็ไม่ใช่ประชาชนทั้งหมด เพราะสังคมประกอบด้วยคนหลายกลุ่มหลายชนชั้น มีทั้งเกษตรกรชนบท แรงงานมีฝีมือ แรงงานด้อยฝีมือ คนชนบทกับคนเมือง ชนกลุ่มน้อย ฯลฯ คนเหล่านี้ต่างมีผลประโยชน์ที่หลายเรื่องไม่ตรงกัน มีความต้องการเฉพาะ เป็นจุดอ่อนสำคัญของประชานิยมที่มองประชาชนเหมือนๆ กันทั้งหมดและพยายามทำให้เหมือนกัน
การพยายามย้ำเน้นว่าทำเพื่อประชาชน ก่อให้เกิดการแบ่งแยกรุนแรงว่าเป็นประชาชนของใคร เกิดความเป็น “พวกเรา” กับ “พวกเขา”
การเคลื่อนไหวเช่นนี้เท่ากับทำการปฏิวัติสังคม ชี้ว่าคนประเภทใดสามารถเป็นพลเมือง ประเภทใดเป็นไม่ได้ เช่น ต้องเป็นคนยุโรปผิวขาว ห้ามคนเชื้อสายอื่น ห้ามเป็นมุสลิม น่าจะแปลกใจว่าพวกประชานิยมอ้างว่าระบอบเก่าไม่เป็นประชาธิปไตย ตนเป็นพวกประชาธิปไตยแท้ แต่การปฏิเสธพหุสังคมสวนทางหลักประชาธิปไตย ควรตั้งคำถามว่าประชาธิปไตยของพวกประชานิยมแท้จริงแล้วคือประชาธิปไตยแบบใด
แนวทางของประชานิยมที่พยายามแบ่งแยกชัดเจนว่ามี 2 พวก 2 ฝ่าย (พวกตนกับพวกศัตรู) จึงขัดแย้งหลักพหุสังคม และไม่สอดคล้องความจริงที่คนในสังคมแตกต่างหลากหลาย สร้างความแตกแยกระหว่างหมู่ประชาชนด้วยกันเอง
            ตั้งแต่จุดเริ่มต้นแรกสุดของการปลุกระดมคือการ “จับ” กับ “สร้าง” กระแสความเกลียดชัง ให้จงเกลียดจงชังต่อระบอบอำนาจเดิม และเพิ่มพูนรักษาความเกลียดชังนี้
            ขบวนการที่เติบโตขึ้นจึงหมายถึงความเกลียดชังที่ขยายตัว ความสมานฉันท์ยากจะเป็นจริง

            ประการที่ 2 ใช้ความรุนแรง การผสมโรงของพวกสุดโต่ง
การเคลื่อนไหวบางครั้งมีความรุนแรงผสมอยู่ด้วย มีการข่มขู่ทำร้ายร่างกาย แม้คนส่วนใหญ่ที่ร่วมขบวนการจะไม่เห็นด้วย การเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวนาในรัสเซียเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ใช้ความรุนแรงถึงขั้นลอบสังหารฝ่ายตรงข้าม
            ปัจจุบันพบว่าในขบวนการใหญ่จะมีพวกแนวคิดรุนแรง เช่น ขวาสุดโต่ง (extreme right-wing populism) ผสมปนอยู่ นักวิชาการบางคนชี้ว่าพวกสุดโต่งบางกลุ่มพยายามระบุว่าตนเป็นพวกประชานิยม เพื่อหลบเลี่ยงถูกตีตราว่าเป็นพวกสุดโต่ง เป็นการผสมโรงเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มเหล่านี้
            บางครั้งผู้ก่อความรุนแรงอาจไม่ใช่พวกมีอุดมการณ์สุดโต่ง เป็นเพียงนักเลงหัวไม้หรือชาวบ้านที่ถูกจ้างวานเพื่อก่อความรุนแรง แน่นอนว่าแกนนำจะไม่ยอมรับว่าตนเป็นผู้สั่งการ แต่ไม่อาจปฏิเสธว่าด้วยแนวทางจงเกลียดจงชังของประชานิยมเป็นต้นเหตุของความรุนแรงทั้งแบบตั้งใจกับไม่ตั้งใจ

            ประการที่ 3 ให้ความสำคัญกับอธิปไตยปวงชนจนละเลยหลักการอื่นๆ
            นักประชานิยมจะให้ความสำคัญกับอธิปไตยปวงชนจนละเลยหลักการอื่นๆ ตามระบอบประชาธิปไตย อ้างความต้องการของประชาชนซึ่งหมายถึงกลุ่มของตนเท่านั้น และอ้างเป็นความชอบธรรมที่จะเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจการเมืองสังคม หรือประเด็นใดๆ ให้เป็นไปตามความต้องการของกลุ่ม ละเลยความเห็นความต้องการของประชาชนกลุ่มอื่นๆ แม้กระทั่งหลักการอื่นๆ ของประชาธิปไตย เช่น หลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน ไม่สนใจเสียงข้างน้อย (ชนกลุ่มน้อย) ต่อต้านพหุสังคม
            การอ้างความชอบธรรมมวลชนเช่นนี้จึงเท่ากับละเมิดประชาธิปไตย แต่เคลื่อนไปตามฝูงชน” (Mob-rule) หรือ “มวลชนเป็นใหญ่” (rule of the masses) ดังที่อริสโตเติลกล่าวไว้
            ประการที่ 4 กลุ่มอำนาจใหม่หรือเก่า ที่มาในคราบเพื่อประชาชน
            ในบางกรณี พวกประชาชนนิยมคือกลุ่มอำนาจเก่าที่มาในคราบเพื่อประชาชน เป็นสมาชิกระบอบเดิมที่ใช้แนวทางประชานิยมเพื่อดึงประชาชนเป็นแนวร่วม ได้คะแนนเสียงจากประชาชน ได้ถืออำนาจปกครองประเทศต่อไป ลักษณะเช่นนี้ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอำนาจใหม่หรือเก่าต่างไม่ได้ทำเพื่อประชาชนจริงๆ สิ่งที่เรียกว่ามติมหาชนนั้นแท้จริงมาจากการชักนำของผู้นำบารมี
            ประการที่ 5 ขาดการมององค์รวม
            การเคลื่อนไหวของกลุ่มประชานิยมมักเรียกร้องบางเรื่องและต่อต้านบางประเด็น บางคนอาจต่อต้านการปฏิบัติอุตสาหกรรม การค้าเสรี โลกาภิวัตน์เพราะทำให้เขาตกงาน  คนเหล่านี้หยิบผลเสียบางข้อบางส่วนเพื่อลบล้างทำลายทั้งระบบ ทั้งๆ ที่สังคมโดยรวมได้รับประโยชน์
            ปัญหาใหญ่กว่านั้นคือ ขบวนการประชานิยมเคลื่อนไหวเรียกร้องบางเรื่องที่อยู่ในความสนใจ แต่ไม่ได้เอ่ยถึงนโยบายด้านอื่นๆ ที่มีอยู่มากมาย ดังนั้น จึงไม่อาจคาดเดาว่าหากผู้นำรณรงค์ประชาชนนิยมได้อำนาจบริหารประเทศ นโยบายมากมายหลายเรื่องที่ไม่ได้เอ่ยถึง ไม่ได้ลงรายละเอียดจะเป็นอย่างไร สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่เคลื่อนไหวสนับสนุนหรือไม่

            ประการที่ 6 นโยบายระดับประเทศเป็นเรื่องซับซ้อนกว่าที่ชาวบ้านจะเข้าใจ
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับประชานิยมชี้ว่าระบอบประชาธิปไตยการบริหารบ้านเมืองเป็นเรื่องซับซ้อน ไม่สามารถใช้ประชามติตัดสินทุกเรื่อง และแท้จริงแล้วไม่ควรให้สามัญชนตัดสินหลายเรื่อง เพราะประเด็นซับซ้อนกว่าที่ชาวบ้านเข้าใจ นโยบายบางเรื่องเป็นความลับ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือนโยบายต่างประเทศ ประเด็นความมั่นคง นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ ไม่ควรตัดสินโดยสามัญสำนึก
บางคนเห็นว่าประชานิยมเป็นโทษต่อประชาธิปไตย เพราะเป็นเผด็จการโดยผู้มีบารมี (charismatic dictatorship) และอาจกลายเป็นทรราชย์ (tyranny) ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

แม้นักวิชาการบางหลายคนจะแสดงข้อเสียมากมายของประชานิยม การก่อเกิดของขบวนการแต่ละครั้งกลับบ่งบอกว่าประชาชนอย่างน้อยบางกลุ่มบางส่วนเห็นด้วยกับแนวทางนี้ และกำลังเพิ่มมากขึ้นในศตวรรษที่ 21 นี้
5 มีนาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7422 วันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2560)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
พอจะสรุปได้ว่า “ประชานิยม” คือ การเคลื่อนไหวทางการเมือง พยายามดึงประชาชนเข้ามาเป็นแนวร่วม เพื่อต่อต้านระบอบเก่า อาจเป็นระบอบการเมือง สังคม เศรษฐกิจ บางเรื่องบางที่เป็นสาเหตุทำให้ประชาชนบางกลุ่มไม่พอใจอย่างยิ่ง แนวทางนี้กำลังท้าทายระบอบการเมืองเศรษฐกิจสังคมปัจจุบัน และจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในศตวรรษที่ 21 นี้
บรรณานุกรม:
1. Aalberg, Toril., Esser, Frank., Reinemann, Carsten., Stromback, Jesper., & Vreese, Claes De. (Editors). (2017). Populist Political Communication in Europe. New York: Routledge.
2. Akkerman, Tjitske. (2012). Populism. In Encyclopedia of Global Studies. (Vol. 3., pp.1357-1359). USA: SAGE Publications.
3. Albertazzi, Daniele., McDonnell, Duncan. (Editors). (2008). Twenty-First Century Populism: The Spectre of Western European Democracy. New York: PALGRAVE MACMILLAN.
4. Hainsworth, Paul. (2008). The Extreme Right in Europe. Oxon: Routledge.
5. Canovan, Margaret. (2001). Populism. In Encyclopedia of democratic thought. (pp. 674-679). London: Routledge.
6. Miroff, Bruce., Seidelman, Raymond., Swanstrom, Todd., Luca, Tom De. (2010). The Democratic Debate: American Politics in an Age of Change (5th Ed.). USA: Wadsworth, Cengage Learning.
-----------------------------