ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลปูตินกับรัฐบาลอัสซาด
: ก่อนหน้าจะกลายเป็น IS/ISIL/ISIS รากฐานของกลุ่มเคยเป็นส่วนหนึ่งของอัลกออิดะห์มาก่อน จึงมีภาพลักษณ์ในทางลบตั้งแต่ต้น
ถูกตีตราว่าเป็นผู้ก่อการร้าย
เมื่อความขัดแย้งในซีเรียบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมือง
รัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) เอ่ยถึงการปรากฏตัวของกองกำลังต่างชาติสารพัดกลุ่ม
ISIL/ISIS คือหนึ่งในชื่อที่ถูกเอ่ยถึงอยู่เสมอ
เพราะความมีประสิทธิภาพของกลุ่มเหนือกลุ่มอื่นๆ สามารถยึดพื้นที่หลายส่วนอย่างรวดเร็ว
มีข่าวว่ากลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มกองกำลังติดอาวุธต่างชาติหลายกลุ่มได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐบาลต่างชาติ
ในยามสถานการณ์คับขัน
ความมั่นคงของชาติวิกฤต รัฐบาลรัสเซียเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สนับสนุนระบอบของประธานาธิบดีอัสซาด
ในระยะแรกช่วยเหลือด้วยการแสดงท่าทีต่อต้านการแทรกแซงซีเรียด้วยกำลังทหารเนื่องจากบางประเทศกำลังคิดทำเช่นนั้น
เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergei Lavrov) รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกล่าวว่ารัสเซียไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบ
“ไม่สนับสนุนกิจกรรมเหล่านั้นแต่สนับสนุนให้พูดคุยกันต่อไประหว่างรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้าน”
การขัดขวางการแทรกแซงครั้งสำคัญครั้งหนึ่งคือการแก้ข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลซีเรียใช้อาวุธเคมีกับพลเรือนบริเวณชานเมืองของกรุงดามัสกัสเมื่อวันที่
21 สิงหาคม 2013 มีผู้ป่วยรับพิษแก๊สซาริน 3,600 คน เสียชีวิตกว่าพันคน
จำนวนมากเป็นเด็กและสตรี
ในช่วงนั้นรัฐบาลชาติตะวันตกกับรัฐอาหรับพากันกล่าวหาว่ารัฐบาลอัสซาดคือผู้ลงมือ
วิลเลียม เฮก (William Hague) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอังกฤษกล่าวว่า
“จากข้อมูลทางเทคนิค ขนาดการโจมตี ผลการตรวจสอบจากตัวอย่างจากห้องทดลองต่างๆ
รายงานพยานผู้รู้เห็น ข้อมูลจรวดนำส่งและวิถีการยิงจากรายงาน (ของสหประชาชาติ)
แสดงชัดเจนอย่างที่สุดแล้ว่ารัฐบาลซีเรียเป็นฝ่ายเดียวที่ต้องรับผิดชอบ”
โลรองต์ ฟาเบียส (Laurent Fabius) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศสกล่าวว่า
“เมื่อคุณดูจำนวนแก๊สซารินที่ใช้ ทิศทางและเทคนิคเบื้องหลังการโจมตี
และข้อมูลอื่นๆ ไม่น่ามีข้อสงสัยว่ารัฐบาล (อัสซาด) เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง”
อันที่จริงก่อนหน้านั้นมีกระแสข่าวการใช้อาวุธเคมีหลายครั้ง
แต่ไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าใครเป็นผู้ลงมือ อีกทั้งสร้างความสูญเสียเพียงเล็กน้อย
แต่เหตุการณ์ 21 สิงหาคมเป็นข่าวใหญ่ เพราะมีผู้เสียชีวิตกว่าพันคนในคราวเดียว
จำนวนมากเป็นพลเรือน ที่สำคัญคือรัฐบาลชาติตะวันตกกับรัฐอาหรับบางประเทศหวังใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเครื่องมือทำสงครามกับรัฐบาลอัสซาด
จากเหตุการณ์ดังกล่าว
รัฐมนตรีฟาเบียสเตือนว่าฝรั่งเศสอาจตอบโต้ “ด้วยกำลัง” หากได้รับการยืนยันว่ารัฐบาลซีเรียใช้อาวุธเคมีจริง
ด้าน Prince Saud Al-Faisal ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศซาอุดิอาระเบียเรียกร้องให้นานาชาติจัดการรัฐบาลอัสซาดอย่าง
“เฉียบขาด จริงจัง” เนื่องจากการใช้อาวุธเคมีต่อพลเรือน
ในเวลาต่อมารัฐบาลโอบามาประกาศข้อสรุปว่ารัฐบาลอัสซาดคือผู้ใช้อาวุธเคมี
เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 1429 คน ทหารซีเรียที่ใช้อาวุธเคมีอยู่ในพื้นที่เป็นเวลา
3 วันก่อนการโจมตี
หลักฐานจากดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าจรวดปล่อยจากพื้นที่ฝั่งของรัฐบาลเป็นเวลา 90
นาทีก่อนเริ่มมีรายงานการโจมตีด้วยอาวุธเคมี ภาพจากวีดีโอ 100
รายการแสดงให้เห็นว่าผู้เคราะห์ร้ายได้รับอาวุธเคมีชนิดส่งผลต่อระบบประสาท สหรัฐสามารถดักฟังการสนทนาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงซีเรีย
“ยืนยันว่าได้ปล่อยอาวุธเคมีแล้ว”
ท่ามกลางความโศกสลด
มีกระแสข่าวว่าประธานาธิบดีโอบามากำลังพิจารณาโจมตีซีเรียแบบจำกัดขอบเขต ลงโทษที่รัฐบาลซีเรียใช้อาวุธเคมี
การโจมตีอาจกินเวลาไม่เกิน 2 วัน
โดยใช้จรวดร่อนทั้งจากเรือรบและจากเครื่องบินทิ้งระเบิด
โจมตีที่ตั้งทางทหารที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับคลังเก็บอาวุธเคมี
ในยามที่รัฐบาลอัสซาดถูกปิดล้อมทางการทูตจากหลายประเทศ
ถูกคุกคามอย่างร้ายแรง รัสเซียเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่กล้าส่งเสียงตอบโต้ เป็นเสียงที่พูดตรงข้ามกับรัฐบาลพวกนั้น
รัฐมนตรีลาฟรอฟเห็นว่าเหตุการณ์เมื่อวันที่ 21
สิงหาคมตามข้อกล่าวอ้างมีเป้าหมายเพื่อสกัดการประชุมสันติภาพเจนีวา
ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไม่อยากให้เกิดการเจรจา การโจมตี “เป็นไปตามคำขอ”
จากฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ยืนกรานว่า
“ต้องนำรายงานเรื่องการใช้อาวุธเคมีทุกชิ้นมาพิสูจน์ค้นหาความจริง”
และอ้างถึงเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ “Carla del Ponte ที่เคยพูดว่าฝ่ายต่อต้านเป็นผู้ใช้อาวุธเคมี”
ประธานาธิบดีปูตินกล่าวอย่างชัดเจนว่าชาติตะวันตกไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้ใช้ ท้าทายว่า “ถ้ามีหลักฐานก็ควรแสดงออกมา
ถ้าไม่แสดงเท่ากับว่าไม่มีหลักฐานจริง”
ในที่สุด
ประธานาธิบดีโอบามาโยนการตัดสินใจโจมตีซีเรียให้รัฐสภาตัดสินใจ ทั้งๆ ที่มีอำนาจตามกฎหมายสามารถสั่งการโจมตีโดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา
ประธานาธิบดีโอบามาพูดแก้เกี้ยวว่าเนื่องจากตระหนักว่าเป็นประธานาธิบดีของประเทศที่มีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
จึงเห็นควรทำเป็นแบบอย่างด้วยการ
“ขออนุญาตใช้กำลังจากตัวแทนของชาวอเมริกันในรัฐสภา”
ฝ่ายรัฐสภารับเรื่องไปพิจารณาและเรื่องก็เงียบหายไปในที่สุด
จากบัดนั้นจนบัดนี้
สหประชาชาติยังไม่มีข้อสรุปว่าใครเป็นผู้ลงมือใช้อาวุธเคมีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม
2013
เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ครั้งต้นๆ
ที่รัฐบาลชาติตะวันตกเกือบเข้าร่วมสมรภูมิสงครามกลางเมืองซีเรียโดยตรง
แต่ถูกยับยั้งเนื่องจากรัฐบาลปูตินออกโรงเตือนอย่างแข็งกร้าว หลักฐานที่นำเสนอขาดน้ำหนัก
มีแต่ข้อกล่าวหาเลื่อนลอย
มูลเหตุจูงใจของรัสเซีย :
เหตุผลหลักที่รัฐบาลปูตินสนับสนุนรัฐบาลอัสซาด มีดังนี้
ประการแรก
ป้องกันไม่ให้ผู้ก่อการร้ายขยายตัวในประเทศ
เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่ากองกำลังของ
IS/ISIL/ISIS ตั้งแต่เริ่มเปิดปฏิบัติการในซีเรียประกอบด้วยคนต่างชาติหลายหมื่นคนจาก
120 ประเทศ ข้อมูลบางชิ้นระบุว่าเฉพาะคนสัญชาติยุโรปมีกว่า 5,000 คน
(อาจสูงถึงหมื่นคน) ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งมาจากรัสเซียกับประเทศที่อดีตเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต
ประธานาธิบดีปูตินเอ่ยถึงการโจมตี
IS ในซีเรียว่าคือการใช้หลักชิงลงมือก่อน (pre-emption) “หนทางที่ดีในการต่อสู้ก่อการร้ายนานาชาติคือใช้วิธีชิงลงมือก่อน
ด้วยการสู้และทำลายกองกำลังติดอาวุธในดินแดนที่พวกเขาครอบครอง
แทนที่จะรอให้พวกเขามาบ้านของเรา” “พวกเขาได้เงิน อาวุธและเข้มแข็งขึ้น
ถ้าพวกเขาแข็งแกร่งขึ้น รบชนะในซีเรีย พวกเขาย่อมกลับประเทศและกลับไปฆ่าคนที่นั่น”
เหตุผลของประธานาธิบดีปูตินเป็นจริงตามนั้น
แต่ข้อนี้น่าจะเป็นเหตุผลรองมากกว่า
ประการที่
2 นโยบายสนับสนุนมิตรประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา
รัฐบาลปูตินสนับสนุนรัฐบาลอัสซาดตั้งแต่ต้น
ครั้งหนึ่งรัฐบาลรัสเซียคัดค้านเรื่องฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจะขอเป็นตัวแทนประเทศซีเรียในสหประชาชาติแทนรัฐบาลอัสซาด
หลังจากที่ฝ่ายต่อต้านได้เป็นตัวแทนประเทศซีเรียในสันนิบาตอาหรับ รัสเซียเห็นว่ากลุ่มต่อต้านรัฐบาลไม่ว่าจากประเทศใดๆ
ไม่มีสิทธิ์ทำเช่นนั้น ตัวแทนประเทศต้องเป็นตัวแทนประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ไม่ใช่พวกกบฏแบ่งแยกดินแดนกลายเป็นตัวแทนรัฐบาล
ต่อมาเมื่อสันนิบาตอาหรับขอให้คณะมนตรีสหประชาชาติมีมติคว่ำบาตรซีเรีย
รัสเซียกับจีนไม่เห็นด้วย ต้านความต้องการของกลุ่มรัฐอาหรับอีกครั้ง
นักวิชาการบางคนตีความว่าสงครามกลางเมืองซีเรียเป็นสงครามตัวแทน
(proxy war) ระหว่างนิกายศาสนา กษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่สอง (King
Abdullah II) แห่งจอร์แดนตรัสในปี 2004 ว่าพวกซุนนีกำลังเผชิญหน้ากับจันทร์เสี้ยวชีอะห์
(Shiite Crescent) ความขัดแย้งระหว่างนิกายถูกเอ่ยถึงเป็นระยะๆ
และมีความจริงอยู่บ้างไม่มากก็น้อย
ถ้าพิจารณาจากข้อมูลสถิติ
Central Intelligence Agency ของสหรัฐระบุข้อมูลกรกฎาคม 2014
ประเทศซีเรียมีประชากรทั้งสิ้น 17.06 ล้านคน เป็นคนเชื้อสายอาหรับราวร้อยละ 90
ที่เหลือเป็นชนชาวเคิร์ด อาร์เมเนียนและอื่นๆ ในด้านศาสนาประชากรร้อยละ 87
นับถือศาสนาอิสลาม (ในจำนวนนี้ร้อยละ 74 เป็นซุนนี ที่เหลือร้อยละ 13 เป็นอาละวี (Alawite) Ismaili และชีอะห์อื่นๆ) ร้อยละ 10
นับถือคริสต์นิกายต่างๆ อีกร้อยละ 3 เป็นพวกดรูซ (Druzez)
การที่ซุนนีที่มีสัดส่วนราว
3 ใน 4 ของประชากร แม้กว่า 4 ล้านคนจะอพยพออกจากประเทศ พวกที่เหลืออยู่กับฝ่ายรัฐบาลอัสซาดยังประกอบด้วยซุนนีจำนวนมาก
บางคนเอ่ยถึงรากฐานความเชื่อของประธานาธิบดีอัสซาดที่เป็นอาละวี
(Alawite) มีความเกี่ยวข้องกับชีอะห์ (อาละวีเป็นสาขาหนึ่งที่แตกแขนงออกจากมุสลิมชีอะห์
จัดอยู่ในกลุ่มสำนักคิดส่วนน้อยและเป็นสำนักคิดที่เบี่ยงออกไปจากแนวทางของอิสลามที่ถูกต้อง)
แต่การที่ครอบครัวอัสซาดเป็นอาละวีไม่ได้หมายความว่าพวกเขามีเป้าหมายปฏิวัติอิสลาม
ให้กลายเป็นรัฐชีอะห์หรืออาละวีแต่อย่างไร
ถ้าจะพูดเรื่องอุดมการณ์
รากฐานของตระกูลอัสซาดคือแนวทางของพรรคบาธ มีเป้าหมายรวมประเทศอาหรับให้เป็นหนึ่งเดียวและเป็นผู้นำการรวมอาหรับ
ถือว่าศาสนาอิสลามเป็นรากแห่งวัฒนธรรมของอาหรับที่ควรนับถือ
แต่ต้องการสร้างโลกอาหรับตามแนวทางฝ่ายโลก
รวมทุกคนที่พูดภาษาอาหรับโดยไม่จำกัดศาสนา
การที่ทุกวันนี้พลเมือง
3 ใน 4 เป็นซุนนีเป็นหลักฐานในตัวเองว่าระบอบอัสซาดต้องการปฏิวัติศาสนาหรือไม่
ดังนั้น
ถ้าบอกว่าวิกฤตซีเรียเป็น ความขัดแย้งระหว่างนิกายที่รัฐบาลสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
เช่นนี้น่าจะมีน้ำหนักมากกว่า รากความขัดแย้งจึงอยู่ที่ “รัฐบาล” มากกว่า
“ความแตกต่างทางนิกาย”
การที่รัฐบาลรัสเซียช่วยซีเรียในขณะนี้ไม่ใช่ด้วยเหตุผลความแตกต่างหรือความร่วมมือทางศาสนาแน่นอน
(เช่นเดียวกับที่รัฐบาลชาติตะวันตกร่วมมือกับรัฐอาหรับ)
คำตอบที่ดีกว่าคือเป็นความร่วมมือระหว่างผู้ถืออำนาจฝ่ายโลก
การมีศัตรูร่วม พูดให้ชัดขึ้นคือเพื่อความอยู่รอดร่วมกัน
28 กุมภาพันธ์ 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7052 วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559)
-----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ข่าวการใช้อาวุธเคมีซารินในซีเรียกลายเป็นเรื่องจริง
แต่ยังสับสนว่าฝ่ายใดเป็นผู้ใช้ ที่ผ่านมาซารินทำให้ผู้คนเสียชีวิตบาดเจ็บไม่มาก
แต่กลับมีผลทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างมากทั้งต่อซีเรียและชาติมหาอำนาจอย่างอเมริกา
รัฐบาลโอบามาใช้หลักฐานการโจมตีด้วยอาวุธเคมีเพียงครั้งเดียวกับอ้างหลักการว่าทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อโจมตีซีเรีย
โดยละทิ้งกระบวนการของสหประชาชาติ กฎเกณฑ์ ระบบความมั่นคงของโลก
3.ด้วยรักจากปูตินถึงโอบามาการปิดล้อมและการโต้กลับ (Ookbee)
บรรณานุกรม:3.ด้วยรักจากปูตินถึงโอบามาการปิดล้อมและการโต้กลับ (Ookbee)
ความตึงเครียดจากสถานการณ์ยูเครนที่เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2013
จนนำสู่การเผชิญหน้าระหว่างชาติมหาอำนาจรัสเซียกับฝ่ายสหรัฐฯ อย่างชัดเจน สหรัฐฯ
กับพันธมิตรโดยเฉพาะอียูร่วมออกมาตรคว่ำบาตรรัสเซียหลายรอบ
ข้อเขียนชิ้นนี้อธิบายนโยบายของสหรัฐฯ
ต่อรัสเซียเพื่ออธิบายเหตุผลที่มาที่ไปของนโยบายปิดล้อมรัสเซีย
การตอบโต้จากรัฐบาลปูติน นำสู่การวิเคราะห์องค์รวม
ชี้ให้เห็นยุทธศาสตร์เชิงลึกของสหรัฐฯ ความพยายามจัดระเบียบโลกผ่านวิธีการต่างๆ
จุดอ่อนของยุทธศาสตร์ปิดล้อม พลังอำนาจที่ถดถอยของสหรัฐฯ พร้อมกับคาดการณ์อนาคต
(สนใจอีบุ๊ค คลิกตรงนี้) |
1. อรุณ เด่นยิ่งโยชน์. (2559). ภูมิศาสตร์การเมืองโลกมุสลิมกับการตื่นตัวของอิสลาม.
กรุงเทพ: ศูนย์สารสนเทศอิสลาม
มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาอิสลามและการพัฒนา.
2. After Syria chemical allegations,
Obama considering limited military strike. (2013, August 27). The Washington
Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/world/national-security/kerry-obama-determined-to-hold-syria-accountable-for-using-chemical-weapons/2013/08/26/599450c2-0e70-11e3-8cdd-bcdc09410972_story.html
3. ‘Allah took their sanity’: Putin accuses Turkish
leadership of ‘aiding terror’. (2015, December 3). RT. Retrieved from
https://www.rt.com/news/324537-putin-annual-address-terrorism/
4. Central Intelligence Agency. (2015). Syria. In The
World Factbook. Retrieved from
https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/sy.html
5. Doctors Without Borders/Médecins Sans Frontières. (2013,
August 25). Syria: Thousands Suffering Neurotoxic Symptoms Treated in Hospitals
Supported by MSF. Retrieved from www.doctorswithoutborders.org/press/release.cfm?id=7029&cat=press-release#sthash.suqS76du.dpuf
6. Dunne, Charles W. (2011). Iraq: Policies, Politics, and
the Art of the Possible. In Akbarzadeh, Shahram (editor). America's Challenges
in the Greater Middle East: The Obama Administration's Policies (pp.11-30).
New York: Palgrave Macmillan.
7. “France, Russia acknowledge ‘differences’ over Syria”.
(2013, September 17). France 24. Retrieved from http://www.france24.com/en/20130917-russia-france-fabius-lavrov-differences-syria
8. Hinnebusch, Raymond. (2001). Syria: Revolution From
Above. New York: Routledge.
9. KSA, Arab League seek decisive world stand on Syria.
(2013, August 28). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/news/462760
10. Masters, Jonathan. (2013, Septmeber 11). Syria's Crisis
and the Global Response. Council on Foreign Relations. Retrieved
from http://www.cfr.org/syria/syrias-crisis-global-response/p28402
11. Obama to ask Congress to approve strike on Syria. (31
August 2013). Market Watch. Retrieved from Retrieved from http://www.marketwatch.com/story/obama-to-ask-congress-to-approve-strike-on-syria-2013-08-31
12. Putin Says Russian Engagement in Syria 'Temporary'.
(2015, September 30). Sputnik News. Retrieved from
http://sputniknews.com/middleeast/20150930/1027782653/putin-syria-operation.html
13. Putin to Cameron: No evidence Syria chemical weapons
attack occurred. (2013, August 27). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/world/110333-putin-to-cameron-no-evidence-syria-chemical-weapons-attack-occurred
14. Russia opposes Syrian opposition seat at UN. (2013,
March 29). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/world/2013-03/29/c_124517072.htm
15. Russia rejects military intervention in Syria. (2013,
April 17). Xinhua. Retireved from http://news.xinhuanet.com/english/world/2013-04/17/c_132317358.htm
16. UNHCR. (2015, December 18). UNHCR Mid-Year Trends 2015.
Retrieved from http://unhcr.org/myt15/#_ga=1.246311687.2048125505.1450532957
17. US and UK insist UN chemicals report 'blames Syria'.
(2013, September 17). BBC. Retrieved from http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-24120749
18. US says ISIL foreign fighter ranks drop to
25,000. (2016, February 24). Today’s Zaman. Retrieved from
http://www.todayszaman.com/latest-news_us-says-isil-foreign-fighter-ranks-drop-to-25000_413136.html
19. “U.S. strike on Syria risks emboldening terrorists:
Russian, Syrian FMs”. (2013, September 9). Xinhua. Retireved from http://news.xinhuanet.com/english/world/2013-09/09/c_132705487.htm
20. The White House. (2013, August 30). Government
Assessment of the Syrian Government’s Use of Chemical Weapons on August 21,
2013”. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/08/30/government-assessment-syrian-government-s-use-chemical-weapons-august-21)
21. The White House. (2013, August 31). Statement by the
President on Syria. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/08/31/statement-president-syria
-----------------------------