รัฐบาลมุสลิม 34 ประเทศประกาศร่วมจัดตั้ง “กองกำลังร่วมอิสลาม” (Islamic
military coalition) เพื่อต้านก่อการร้าย ตั้งศูนย์บัญชาการในกรุงริยาด
เน้นปฏิบัติการในประเทศมุสลิม สมาชิก 34 ประเทศได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย จอร์แดน
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปากีสถาน บาห์เรน บังคลาเทศ เบนิน ตุรกี ชาด โตโก ตูนิเซีย
จิบูตี เซเนกัล ซูดาน เซียร์ราลีโอน โซมาเลีย กาบอง กินี ปาเลสไตน์ คอโมโรส กาตาร์
โกตดิวัวร์ คูเวต เลบานอน ลิเบีย มัลดีฟส์ มาลี มาเลเซีย อียิปต์ โมร็อกโก
มอริเตเนีย ไนเจอร์ ไนจีเรีย เยเมน
ส่วนประเทศมุสลิมอีก 10 ประเทศแม้ไม่ได้เข้าร่วมแต่แสดงท่าทีพร้อมให้ความร่วมมือ
เช่น อินโดนีเซีย
หลักการของกองกำลังร่วมอิสลามสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ
Organization of Islamic Cooperation (OIC) ตามกรอบสหประชาชาติกับ
OIC เป้าหมายไม่เฉพาะ IS เท่านั้นแต่รวมก่อการร้ายทุกกลุ่ม
ปฏิเสธข้ออ้างใดๆ เพื่อก่อการร้าย
เจ้าชาย Mohammed
bin Salman รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุฯ
ตรัสว่ารัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือ “แก่โลกอิสลามทั้งหมด” เพื่อต่อต้านก่อการร้าย
ที่ผ่านมาแต่ละประเทศสู้ด้วยตนเอง บัดนี้จะสู้ร่วมกัน
การจัดตั้งกองกำลังร่วมเป็นแนวคิดที่มีนานแล้ว
แรกเริ่มสุดคือต้านอิหร่านหลังการปฏิวัติอิหร่าน 1979 เหตุผลเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
ตามบริบท ล่าสุดคือต้าน IS การรบในเยเมน
เช่น
เมื่อมีนาคมที่ผ่านมา Nabil Elaraby
เลขาธิการสันนิบาตอาหรับเรียกร้องให้ชาติอาหรับผนึกกำลังก่อตั้งกองกำลังร่วมอาหรับเพื่อต้านกองกำลังสุดโต่ง
“มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสร้างกองกำลังร่วมทหารอาหรับเพื่อหลายภารกิจ ...
สามารถเข้าต่อสู้การก่อการร้ายและปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้ายอย่างรวดเร็ว”
การประกาศครั้งล่าสุดนี้ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้น
จุดอ่อนของ “กองกำลังร่วมอิสลาม” :
ถ้ามองเชิงยุทธการในกรอบระยะสั้น
การประกาศจัดตั้งกองกำลังร่วมไม่ส่งผลต่อการรบในสมรภูมิซีเรียกับอิรัก เพราะสมาชิกส่วนใหญ่คือประเทศเล็กๆ
ประเทศที่พอมีศักยภาพอยู่บ้างคือประเทศเดิมๆ ที่ประกาศทำสงครามกับผู้ก่อการร้าย IS
มาตั้งแต่ต้นโดยร่วมมือกับสหรัฐ พร้อมกับคำถามว่าชาติตะวันตกมีความจริงจังมากเพียงใด
ต้องใช้เวลาอีกกี่ปี
ส่วนในระยะยาว
ต้องติดตามว่ากองกำลังร่วมนี้จะร่วมมือจริงจังเพียงใด จะประสานการรบอย่างไร
ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มีรายละเอียดมากมาย ตั้งแต่การสื่อสาร การซ้อมรบ แนวทางปฏิบัติต่างๆ
หากหวังจะเป็นกองกำลังที่มีประสิทธิภาพจริงต้องกินเวลาอีกหลายปี ใช้งบประมาณมหาศาล
ด้วยประวัติศาสตร์
เหตุผลมุมมองเชิงยุทธการ ถ้ารัฐบาลซาอุฯ กับพวกหวังผลการรบจริงๆ คงต้องตอบว่าการต่อต้านก่อการร้ายภายใต้กรอบความร่วมมือนี้จะได้ผลน้อย
การต่อต้าน IS หรือกลุ่มก่อการร้ายใดๆ ยังต้องอาศัยรัฐบาลชาติตะวันตกเป็นหลักอยู่ดี
ที่ลึกกว่านั้น มีคำถามว่ารัฐบาลซาอุฯ กับพวกหวังผลเชิงยุทธการมากเพียงใด
หรือมีเป้าหมายแอบแฝง เป้าหมายที่ซ่อนไว้
เป้าหมายแอบแฝง :
ประการแรก
สร้างภาพผู้นำต่อต้านก่อการร้ายในโลกมุสลิม
ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร
ปฏิเสธไม่ว่าได้รัฐบาลซาอุฯ
กับพันธมิตรมุสลิมหลายประเทศถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย
นับจากทศวรรษ
1960 รัฐบาลหลายประเทศในตะวันออกกลางสนับสนุนลัทธิก่อการร้าย เป้าหมายส่วนใหญ่คือต่อต้านอิสราเอล
ประเทศเหล่านี้ได้แก่ อียิปต์ อิหร่าน อิรัก ลิเบีย ซีเรีย
โดยที่ซาอุดิอาระเบียกับคูเวตได้ชื่อว่าเป็นผู้สนับสนุนหลักทางการเงิน
James Petras ระบุว่าราชวงศ์ซาอุฯ
ใช้ชีวิตอย่างหรูหราด้วยผลประโยชน์จากน้ำมันของประเทศ
จัดการทุกคนทุกกลุ่มที่เป็นภัยคุกคามต่อตน ใช้เงินหลายแสนล้านดอลลาร์เก็งกำไรตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก
ซื้ออาวุธสงครามจากชาติตะวันตกและซื้อความคุ้มครองจากประเทศเหล่านี้
โดยเฉพาะจากสหรัฐ ทุ่มเงินมหาศาลสนับสนุนมุสลิมสายวะห์ฮะบี (Wahhabi) และเครือข่ายก่อการร้ายมุสลิม รวมทั้งเครือข่ายอัลกออิดะห์
ให้เงินกลุ่มมุสลิมสุดโต่งเพื่อต้านมุสลิมสายกลาง
สนับสนุนพวกสุดโต่งทำสงครามล้มรัฐบาลอัสซาดแห่งซีเรีย
ท่ามกลางข้อกล่าวหาที่มาเป็นระยะๆ รัฐบาลซาอุฯ ปฏิเสธเรื่อยมา ทั้งยังมีนโยบายต่อต้านก่อการร้ายทั้งในและต่างประเทศ
ผลงานล่าสุดคือร่วมกับสหรัฐและอีกหลายประเทศทำสงครามต่อต้าน IS
การจัดตั้งกองกำลังร่วมอิสลามจึงเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลชูภาพต่อต้านก่อการร้าย
ต้านกระแสสนับสนุนก่อการร้าย
ที่สุดแล้วเมื่อพูดถึงผู้ก่อการร้าย
มีคนสัญชาติซาอุฯ เกี่ยวข้อง แต่เป็นเรื่องส่วนบุคคล เป็นเรื่องของเอกชนเฉพาะราย
ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล
ในทำนองเดียวกัน
รัฐบาลมุสลิมอีกหลายประเทศที่ถูกกล่าวหาสนับสนุนก่อการร้ายได้อานิสงส์จากการนี้ ตัวอย่างที่เด่นชัดในขณะนี้คือ
รัฐบาลแอร์โดกานที่ทางการรัสเซียกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุให้ผู้ก่อการร้ายสารพัดกลุ่มสามารถเดินทางเข้าไปในซีเรีย
ลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนกับผู้ก่อการร้าย IS
ประการที่
2 ซาอุฯ แสดงภาวะผู้นำโลกมุสลิมอีกครั้ง
ถ้ามองภาพในเชิงลึก ความร่วมมือครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่รัฐบาซาอุฯ
แสดงภาวะผู้นำโลกมุสลิมอีกครั้ง เป็นยุทธศาสตร์หลัก ยุทธศาสตร์ดั้งเดิมที่ไม่เคยเปลี่ยน
เป็นการกระตุ้นเตือน คอยชี้นำว่าซาอุฯ เป็นผู้นำมุสลิมโลก ส่วนชีอะห์เป็นพวกนอกรีต
ประการที่ 3 สามารถกีดกันประเทศปรปักษ์ออกจากกลุ่ม
ที่ผ่านมารัฐบาลอาหรับหลายประเทศกล่าวหาว่าอิหร่านสนับสนุนผู้ก่อการร้ายในเลบานอน
แทรกแซงกิจการในหลายประเทศเช่นซีเรีย อิรักและเยเมน
เป็นเหตุผลที่รัฐบาลอาหรับรับไม่ได้
เรื่องที่รัฐบาลอิหร่านกับซีเรียสนับสนุนผู้ก่อการร้ายก็ไม่ใช่เรื่องใหม่
ถูกกล่าวหาแล้วหลายสิบปี
รัฐบาลอิหร่าน
ซีเรีย อิรักจะสนับสนุนก่อการร้ายหรือไม่นั่นเป็นประเด็นหนึ่ง
ที่เกิดขึ้นแล้วและเกิดขึ้นจริงคือสามารถกีดกัน 3 ประเทศนี้ออกจากโลกมุสลิมในระดับหนึ่ง
นี่คือความสำเร็จครั้งใหญ่อีกครั้งของรัฐบาลซาอุฯ
กับพวก
รัฐบาลซาอุฯ กับพวกสามารถฉวยประเด็นก่อการร้ายเป็นเครื่องมือกีดกัน
3 ประเทศปรปักษ์นี้ออกไป พร้อมกับข้อกล่าวหาว่า 3 ประเทศสนับสนุนก่อการร้าย ประชาคมโลกโปรดรับรู้และเข้าใจว่านี่คือจุดยืนของรัฐบาลมุสลิม 34 ประเทศ
ข้อนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย
ยังเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างขั้วซุนนีกับชีอะห์
ประการที่ 4
รัฐบาลซาอุฯ กับพวกกำลังจะคว่ำบาตรน้ำมันอิหร่านหรือไม่
มีอีกประเด็นที่น่าคิดและน่าสนใจมากคือ
รัฐบาลซาอุฯ กับพวกกำลังหาเหตุคว่ำบาตรอิหร่านต่อไปหรือไม่
เมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา อิหร่านกับ 6 ชาติคู่เจรจาบรรลุร่างข้อตกลงโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน
ข้อตกลงจะมีผลอย่างสมบูรณ์ถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่าอิหร่านปฏิบัติตามเงื่อนไขทุกข้อ
โดยให้เวลาอิหร่านถึงวันที่ 15 ธันวาคม
แลกกับการที่อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันได้ตามปกติ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินและได้คืนเงิน
150,000 ล้านดอลลาร์ที่ถูกอายัด
บัดนี้ค่อนข้างจัดเจนแล้วว่า
อิหร่านสามารถแสดงความโปร่งใสของโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมดตามข้อตกลง ซึ่งหมายความว่าอิหร่านจะส่งออกน้ำมันสู่ตลาดโลกอย่างเต็มที่อีกครั้ง
รัฐบาลอิหร่านเคยประกาศว่าจะผลิตน้ำมันดิบ 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปี 2018
สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกที่ตกต่ำขณะนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากอุปทานล้นตลาด
หากปล่อยให้อิหร่านกลับมาส่งออกตามปกติ
และเพิ่มกำลังผลิตมากกว่าเดิมจะส่งกระทบต่อราคาน้ำมัน ซึ่งหมายถึงรายได้ของรัฐบาลซาอุฯ
กับพวก
ในช่วงการเจรจาต่อรองโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน
รัฐบาลซาอุฯ กับพวกแสดงท่าทีกังวลเรื่อยมา
อ้างสารพัดเหตุผลที่จะคว่ำบาตรอิหร่านต่อไป
รัฐบาลโอบามาชี้แจงว่าหากสหรัฐไม่คว่ำบาตรอิหร่านด้วยเหตุโครงการนิวเคลียร์
ก็ยังมีประเด็นอื่นๆ อีกมากที่เห็นว่าอิหร่านทำผิด หนึ่งในนั้นคือสนับสนุนผู้ก่อการร้าย
รัฐบาลโอบามามีข้อมูลอยู่ในมือ
เป็นไปได้หรือไม่ว่า
รัฐบาลซาอุฯ กับพวกกำลังหาทางคว่ำบาตรอิหร่านต่อไป ครั้งนี้จะมุ่งประเด็นสนับสนุนผู้ก่อการร้าย
การประกาศจัดตั้ง “กองกำลังร่วมมุสลิม” หากดูผิวเผินคือต่อต้านก่อการร้าย
แต่ถ้ามองให้ลึกคือการต่อต้านรัฐบาลอิหร่านกับพันธมิตร (ซีเรีย อิรัก)
นี่คือเป้าหมายที่คาดหวังให้บรรลุผลจริง
ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาลสหรัฐ รวมทั้งชาติตะวันตกเดิมๆ
เป็นประเด็นที่ควรติดตามต่อไป
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
ผู้ก่อการร้าย
กลุ่มก่อการร้ายบางคนบางกลุ่มเป็นพวกที่รัฐบาลอุปถัมภ์ ที่ผ่านมาหลายประเทศหลายรัฐบาลเจอข้อกล่าวหานี้
ในยุคสงครามเย็นฝ่ายโลกเสรีโจมตีสหภาพโซเวียตว่าสนับสนุนผู้ก่อการร้ายอย่างเปิดเผย
เป็นศูนย์รวมของการก่อการร้าย
เป็นสงครามตัวแทนหรืออีกแนวรบหนึ่งระหว่างโลกเสรีกับสังคมนิยม เช่นเดียวกับรัฐบาลสหรัฐที่ถูกกล่าวหาเช่นกัน
ในอีกด้านหนึ่ง
บ่อยครั้งที่ประเทศหนึ่งกล่าวโทษต่ออีกประเทศว่าให้การอุปถัมภ์ผู้ก่อการร้าย
และใช้เหตุนี้เพื่อโจมตี คว่ำบาตรรัฐผู้อุปถัมภ์ผู้ก่อการร้าย
กรณีนี้คือกล่าวโทษต่อรัฐบาลอิหร่าน ซีเรีย และอิรัก มีเรื่องของผลประโยชน์ระยะสั้นกับระยะยาวเข้ามาเกี่ยวข้อง
เป็นการรุกคืบของรัฐบาลซาอุฯ กับพวก
ส่วนจะประสบผลมากน้อยเพียงใดต้องดูการตอบสนองของรัฐบาลชาติตะวันตกเดิมๆ เหล่านั้น
20 ธันวาคม 20105
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 6983 วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2558)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ซาอุดิอาระเบียปฏิเสธเก้าอี้สมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ
เมื่อศึกษาโดยละเอียดพบว่าทางการซาอุฯ
ไม่พอใจการดำเนินนโยบายของรัฐบาลโอบามาต่อตะวันออกลาง ในยามที่ซาอุฯ
กับมิตรประเทศอาหรับกำลังอยู่ระหว่างการจัดระเบียบตะวันออกกลาง
หากยึดว่าความสำเร็จจากการเจรจาโครงการนิวเคลียร์ไม่ลดความหวาดระแวง
ความไม่เป็นมิตรต่อกัน รัฐบาลสหรัฐยังคงคว่ำบาตรอิหร่านด้วยเหตุผลอื่นๆ อิสราเอลยังเชื่อว่าอิหร่านจะผลิตและสามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์ในอนาคต ผลประโยชน์ของการเจรจาโครงการนิวเคลียร์จึงไม่ใช่เรื่องนิวเคลียร์อิหร่าน
แต่น่าจะเป็นประโยชน์จากการที่บริษัทต่างชาติเข้าไปมีส่วนโครงการฟื้นฟูอิหร่าน
การขายอาวุธให้กับประเทศต่างๆ
1. 34-nation Islamic alliance formed to fight terrorism.
(2015, December 15). Arab News. Retrieved from
http://www.arabnews.com/featured/news/850596
2. Boucek, Christopher., & Sadjadpour, Karim. (2011, September 20).
Rivals - Iran vs. Saudi Arabia. Carnegie Endowment. Retrieved from. http://carnegieendowment.org/2011/09/20/rivals-iran-vs.-saudi-arabia/68jg
3. Charbonneau, Louis., & Irish, John. (2015, July
4). Despite progress in Iran nuclear talks, dispute over U.N. sanctions
persists. Reuters. Retrieved from
http://www.reuters.com/article/2015/07/04/us-iran-nuclear-idUSKCN0PD1DP20150704
4. Iran projected to maintain oil output at 2.8 mbpd in
Dec.: EIA. (2014, December 21). Tehran Times. Retrieved from
http://www.tehrantimes.com/economy-and-business/120391-iran-projected-to-maintain-oil-output-at-28-mbpd-in-dec-eia
5. Led by Kingdom, 34-nation alliance to wipe out terror.
(2015, December 15). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/featured/news/850596
6. Petras, James. (2014, January 11). Global Terrorism and
Saudi Arabia: Bandar’s Terror Network. Global Research. Retrieved from
http://www.globalresearch.ca/global-terrorism-and-saudi-arabia-a-retrograde-rentier-dictatorship/5364556
7. Ray, James Lee., & Kaarbo, Juliet. (2008). Global
Politics (9th Ed.). USA: Houghton Miffl in Company.
8. Riegler, Thomas. (2013). Quid pro quo: State sponsorship
of terrorism in the Cold War. In An International History of Terrorism.
(pp.115-132). Oxon: Routledge.
9. Rubin, Barry., & Rubin, Judith Colp.(2008). Chronologies
of Modern Terrorism. New York: M.E. Sharpe, Inc.
10. ‘Urgent need’ for unified Arab force to counter
radicals. (2015, March 10). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/news/716291
11. Walker, Tony. (2015, December 18). Saudi Arabia
takes an unexpected lead in the Middle East. Financial Review. Retrieved
from http://www.afr.com/news/world/middle-east/saudi-arabia-takes-an-unexpected-lead-in-the-middle-east-20151217-glqa2v
-------------------------------