70 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จีนยืนเคียงคู่รัสเซีย (1)

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เดินทางไปมอสโกเพื่อร่วมเฉลิมฉลองงานครบรอบ 70 ปีฉลองชัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อรำลึกประวัติศาสตร์ การเสียสละของทหารหาญ ความต้องการสันติภาพ ปรารถนาอนาคตที่สดใส
            สำหรับประธานาธิบดีปูตินวันที่ 9 พฤษภาคมเป็นวันสำคัญที่ยิ่ง แม้จะผ่านมาแล้ว 7 ทศวรรษชาวรัสเซียยังคงจดจำชัยชนะในคราวนั้น ต้องการแสดงความเคารพต่อคนสมัยนั้นที่สามารถเอาชนะนาซี ด้วยชีวิตของชาวรัสเซียราว 27 ล้านชีวิต
มองประวัติศาสตร์รอบด้าน :
ตำราตะวันตกจะระบุว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มเมื่อเยอรมนียกกองทัพบุกโจมตีโปแลนด์อย่างสายฟ้าแลบเมื่อวันที่ 1 กันยายน 1939 สงครามกินเวลา 6 ปี (1939-1945) มีประเทศเกี่ยวข้องโดยตรงกว่า 60 ประเทศ ผู้คนราว 2,000 ล้านคน หรือร้อยละ 80 ของจำนวนประชากรในสมัยนั้น ผลของสงครามคร่าชีวิตผู้คน 60 ล้านคน ในจำนวนนี้ 2 ใน 3 เป็นพลเรือน
            มองฝั่งรัสเซีย
            เรื่องน่าสนใจที่ควรเอ่ยถึงคือในสมัยนั้นสหภาพโซเวียตนำโดยโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ยังวุ่นอยู่กับการปฏิรูปประเทศ ต่อต้านนายทุน ต่อมาเห็นว่านาซีเป็นภัยคุกคามต่อสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ จึงเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ไปจับมือค่ายทุนนิยมประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านนาซีกับพวกฟาสซิสต์ ในช่วงนั้นพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ ชูนโยบายร่วมมือกับ “พวกประชาธิปไตยที่รักสันติ” (peace-loving democratic forces) เพื่อต้านศัตรูร่วม
            ด้านฝ่ายอังกฤษ ฝรั่งเศส รวมทั้งสหรัฐต่างเห็นดีเห็นงามด้วย
            (คอมมิวนิสต์รัสเซียจึงสามารถร่วมมือกับทุนนิยมตะวันตกในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ประวัติศาสตร์เรื่องนี้ซ้ำรอยอีกครั้งเมื่อคอมมิวนิสต์จีนจับมือทุนนิยมตะวันตกต้านคอมมิวนิสต์รัสเซียในช่วงสงครามเย็น)
            ในช่วงแรกเยอรมนีมุ่งรบทางฝั่งตะวันตก หลังจากบุกยึดโปแลนด์และอีกหลายประเทศ เยอรมนีบุกโจมตีสหภาพโซเวียตในวันที่ 22 มิถุนายน 1941 สงครามสิ้นสุดด้วยนาซีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ สหภาพโซเวียตเป็นฝ่ายชนะแต่เสียหายหนัก กลายเป็นความกลัวอย่างหนึ่งของรัสเซียมีผลต่อการดำเนินนโยบายในเวลาต่อมา

            มองฝั่งจีน
            ด้านจีนนั้น ตำราจีนจะอ้างว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 ของตนเริ่มตั้งแต่กองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่นเปิดสงครามรุกรานจีนเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 1937 สงครามขยายตัวเรื่อยจนญี่ปุ่นต้องส่งทหารกว่า 1 ล้านคน (หรือราว 2 ใน 3 ของทหารทั้งหมด) ทำสงครามกับจีน ข้อมูลจีนระบุว่าเมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้มีทหารญี่ปุ่นราว 1,280,000 คนอยู่ในสมรภูมิจีน
            การถือว่าจีนเริ่มสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อใดจึงยังไม่มีข้อสรุปที่ยอมรับทั่วไป ความจริงอีกด้านคือญี่ปุ่นรุกรานจีนมานานแล้ว ไม่ใช่เริ่มต้นเมื่อ 1937 ในปี 1931 ญี่ปุ่นรุกรานแมนจูเรียของจีน ในสมัยนั้นมีสันนิบาตชาติ (League of Nations, 1920-46) ที่ตั้งเป้าดูแลประเด็นความมั่นคงโลก แต่เมื่อญี่ปุ่นยึดครองแมนจูเรีย ชาติมหาอำนาจยุโรปไม่เห็นความสำคัญ ไม่คิดว่าเป็นผลประโยชน์ของตนที่จะต่อต้านญี่ปุ่น สันนิบาตชาติได้แต่เรียกร้องให้ญี่ปุ่นถอนตัวแต่ไม่ทำอะไรมากกว่านั้น ญี่ปุ่นโต้กลับด้วยการถอนตัวออกจากสันนิบาตชาติ
            ถ้าจะพูดให้กว้างกว่านี้ ญี่ปุ่นรุกรานจีนด้วยกระแสลัทธิล่าอาณานิคม จักรวรรดินิยมในยุคนั้น ถ้ายึดกรอบนี้ ญี่ปุ่นเริ่มรุกรานจีนเพื่อขยายดินแดนครั้งแรกในสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 (First Sino- Japanese War) ในช่วงปี 1894-95 ญี่ปุ่นต้องการครอบครองแหล่งแร่เหล็กกับถ่านหินของเกาหลี ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญยิ่งต่อพลังความมั่นคงของชาติ
            รัฐบาลเกาหลีขอความช่วยเหลือจากจีนซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าประเทศราช กองทัพจีนแม้มีจำนวนมากกว่าไม่อาจต้านกองทัพญี่ปุ่นที่ทันสมัยกว่า ญี่ปุ่นสามารถยึดครองเกาหลีเป็นอาณานิคม แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของกองทัพจีน
            ความพ่ายแพ้ต่อญี่ปุ่น ทำให้ชาวจีนรู้สึกอับอายอย่างยิ่ง เนื่องจากแต่ไหนแต่ไรคนจีนมักถือว่าตนเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่กว่าญี่ปุ่นเสมอมา
            10 ปีต่อมา กองทัพญี่ปุ่นปะทะกองทัพโซเวียตเพื่อแย่งชิงปกครองพื้นที่แมนจูเรียกับเกาหลี เกิดสงคราม “Russo-Japanese War 1904-05” ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายชนะสามารถยึดครองพื้นที่เกาหลีและแมนจูเรียบางส่วน ชัยชนะครั้งนี้ สร้างขวัญกำลังใจแก่คนญี่ปุ่น กลายเป็นชาติมหาอำนาจของเอเชียในต้นศตวรรษที่ 20
            ความสำเร็จเหล่านี้สร้างความฮึกเหิมอย่างมากแก่ญี่ปุ่น นักวิชาการบางคนเชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่กองทัพญี่ปุ่นสะสมกำลังเพื่อเตรียมรุกรานภาคกลางของจีนในปี 1937 และเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ในที่สุด
            และถ้าจะพูดเรื่องกระแสลัทธิล่าอาณานิคมในยุคนั้นให้กว้างที่สุด ญี่ปุ่นไม่ใช่ชาติเดียวที่รุกรานกดขี่ข่มเหงชาวจีน แต่เป็นชาติเอเชียเพียงชาติเดียวที่ทำเช่นนี้ ที่เหลือเป็นพวกตะวันตกทั้งหมด รวมทั้งโซเวียตรัสเซีย

วิเคราะห์องค์รวม :
            ถ้ามองมากกว่างานฉลองชัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีประเด็นควรเอ่ยถึงดังนี้
            ประการแรก ขั้ว
ผู้นำประเทศที่เข้าร่วมงานคือการแสดงตัวว่าเป็นพันธมิตร มิตรประเทศใกล้ชิดรัสเซีย ทางการรัสเซียรายงานว่าจะมีผู้นำประเทศเข้าร่วมประมาณ 20 ชาติ ส่วนผู้นำตะวันตกไม่ร่วมงานหลายปีแล้ว อย่างมากส่งตัวแทนระดับรัฐมนตรีหรือทูตไปร่วมงาน
            1.1 ขั้ว “รัสเซีย-จีน”
            ประธานาธิบดีสีกล่าวว่าการร่วมเฉลิมฉลองเป็นการรำลึกอดีต  “มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ สงครามที่เริ่มต้นจากลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism) และลัทธิทหารสร้างหายนะและโศกนาฏกรรมต่อประเทศเอเชียและยุโรปอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน” จีนกับรัสเซียและอีกหลายประเทศเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเหล่านั้น จีนกับรัสเซียได้ร่วมกันยืนหยัดต่อสู้ลัทธิฟาสซิสต์และลัทธิทหาร
 “หลายทศวรรษแล้ว ที่ชาติจีนกับรัสเซียได้ร่วมทุกข์ร่วมสุข” “วันนี้ ประชาชน 2 ชาติจะร่วมก้าวไปข้างหน้า รักษาสันติภาพ ส่งเสริมการพัฒนา และสนับสนุนสันติภาพโลกอย่างต่อเนื่องและความก้าวหน้าของมนุษยชาติ”
            ประธานาธิบดีปูตินกล่าวต่อประธานาธิบดีสีในทำนองเดียวกันว่า “ตอนนี้ เราทั้งสองยืนเคียงคู่ต่อต้านความพยายามที่จะรื้อฟื้นลัทธินาซีและลัทธิทหาร และความพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์”
            ถ้าอธิบายอีกมุม มองว่าเป็นเรื่องปัจจุบันและอนาคต อาจตีความว่าคือการแสดงออกว่ารัฐบาลจีนยืนเคียงข้างรัสเซียเพื่อเผชิญภัยคุกคามต่างๆ ที่รัสเซีย จีน หรือทั้ง 2 ประเทศกำลังร่วมเผชิญอยู่ แสดงถึงการเป็นพันธมิตรใกล้ชิด หรืออาจเรียกว่าเป็นขั้ว “รัสเซีย-จีน” ก็ได้ ไม่ว่าจะประกาศชัดต่อสาธารณะหรือไม่ พฤติกรรมที่แสดงออกตีความได้เช่นนั้น

            1.2 อเมริกาผู้นิยมแบ่งขั้ว-เลือกข้าง
            ตรงข้ามกับรัฐบาลอเมริกันที่นิยมประกาศการเป็น “ขั้ว” ไม่ว่าจะใช้คำนี้หรือไม่
            ในยุคสงครามเย็น (Cold War) ฝ่ายที่เรียกตนเองว่าโลกเสรีประชาธิปไตย เรียกร้องให้บรรดาประเทศทั้งหลายอยู่ข้างตนต่อต้านลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งประเทศเล็กๆ ทั้งหลายต้องประชุมหารือ ประกาศเจตนารมณ์ขอให้ชาติต่างๆ อยู่ร่วมกันด้วยสันติ ปลดแอกจากความเป็นเจ้าของชาติมหาอำนาจ ไม่ฝักฝ่ายมหาอำนาจขั้วใดขั้วหนึ่ง เรียกร้องการอยู่ร่วมอย่างพี่น้อง เกิด “กลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” (Non-Aligned Movement: NAM)
            แนวคิดของ NAM น่าสนใจมาก เป็นการตั้งคำถามว่าในฐานะรัฐอธิปไตยจำต้องเลือกข้างระหว่างชาติมหาอำนาจหรือไม่ จะขออยู่เป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้หรือ

            เมื่อสิ้นสงครามเย็น หลายคนคิดว่าโลกน่าจะเข้าสู่ภาวะสงบสุข ไม่ต้องหวั่นเกรงสงครามนิวเคลียร์ล้างโลกอีก แต่จู่ๆ ก็เกิดเหตุการณ์ 9/11 ผลลัพธ์ที่ได้สหรัฐยังคงอยู่ดีต่อไป ที่สำคัญคือ เหตุการณ์ครั้งนั้น ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช ประกาศให้ “เลือกข้าง” ประเทศที่ไม่ร่วมมือกับสหรัฐฯ ต่อต้านผู้ก่อการร้าย ถือว่าประเทศนั้นเป็นศัตรู
            ในแง่มุมหนึ่งเท่ากับเป็นการตัดทอนสกัดกั้นอิทธิพลของรัสเซียกับจีนที่กำลังก้าวขึ้นมา

ล่าสุดเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา สหรัฐกับญี่ปุ่นเพิ่งลงนามข้อตกลงแผนความร่วมมือด้านความมั่นคงฉบับใหม่ชื่อว่า “แผนความร่วมมือป้องกันประเทศสหรัฐ-ญี่ปุ่นด้านความมั่นคง” (Guidelines for U.S.-Japan Defense Cooperation) เป็นอีกสิ่งที่ตอกย้ำการแบ่งขั้ว-เลือกข้างในระดับภูมิภาคและระดับโลก
โลกกำลังเข้าสู่การแบ่งขั้ว-เลือกข้างอย่างรุนแรงหรือไม่

            ประการที่ 2 จีน-รัสเซียไม่ได้ญาติดีเสมอไป
            ในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีเช่นนี้ ฝ่ายชนะสงครามย่อมเอ่ยถึงแต่เรื่องดีๆ ไม่ใช่วาระที่จะเอ่ยเรื่องที่อาจดูไม่สร้างสรรค์ แต่ถ้าไม่มองอย่างรอบด้านก็เท่ากับเป็นการบิดเบือนหรือเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ ด้วยการ “ไม่เอ่ยถึง” ทำให้ผู้คนรับรู้แต่เรื่องดีๆ หรือรับรู้เพียงบางด้าน ทุกปีที่เฉลิมฉลองก็พูดแต่เรื่องดีๆ จนในที่สุดไม่มีใครเอ่ยถึงเรื่องที่ตรงข้าม
            ดังที่ประธานาธิบดีสีกล่าวอย่างน่าคิดว่า “ถ้าเราลืมอดีตของเรา จิตและวิญญาณของเราจะหลงทางในความมืด” จีน “ต่อต้านความพยายามหรือการกระทำใดๆ ที่ปฏิเสธ บิดเบือนหรือแอบแก้ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2

            มีประวัติศาสตร์บางตอนที่ควรเอ่ยถึง คือเมื่อแรกจีนเริ่มปฏิวัติสังคมนิยมนั้น สหภาพโซเวียตให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง แต่หลังเกิดเหตุตึงเครียดระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐในหลายเรื่อง รวมทั้ง “วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา” (Cuban Missle Crisis) เมื่อเดือนตุลาคม 1962 จนเกือบเกิดสงครามนิวเคลียร์ ประธานาธิบดีนิกิต้า ครุสชอฟ (Nikita Khrushchev) เริ่มนโยบายปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐแต่กลายเป็นข้ออ้างให้ประธานเหมา เจ๋อตงปฏิเสธความเป็นผู้นำคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต ในขณะที่สหภาพโซเวียตมองตนเป็นผู้นำการปฏิวัติอยู่เสมอ เกิดการโต้แย้งแนวทางปฏิวัติอย่างรุนแรง ความสัมพันธ์ทวิภาคีเสื่อมลงอย่างต่อเนื่อง โซเวียตเริ่มถอนความช่วยเหลือ ประธานเหมาตอบโต้ด้วยการประกาศพึ่งพาตนเอง คอมมิวนิสต์แตกออกเป็น 2 ค่าย
จากนั้นรัฐบาลสหรัฐเข้ามาจับมือจีนต้านสหภาพโซเวียต ถ้าจีนยึดมั่นว่าตนเป็นคอมมิวนิสต์แท้ เท่ากับว่าคอมมิวนิสต์แท้จับมือทุนนิยมแท้ต้านคอมมิวนิสต์ปลอม
วันนี้รัสเซียไม่ใช่สังคมนิยมคอมมิวนิสต์อีกแล้ว กลับมาจับมือจีนอีกรอบ โดยไม่ต้องถกเถียงเรื่องคอมมิวนิสต์แท้-เทียมอีกต่อไป

            ประการที่ 3 วิพากษ์มหาอำนาจ
            มีประเด็นน่าคิดว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นสงครามอีกชนิดหนึ่งหรือไม่ แม้ยังไม่เป็น “สงครามร้อน” ระดับโลก
            อย่างไรก็ตาม การจะบอกว่าปัจจุบันมีสงครามระหว่างรัสเซีย-จีนกับฝ่ายตรงข้ามก็ดูจะเป็นการตีความในมุมมองที่แคบเกินไป เพราะในความขัดแย้งมีความร่วมมือ ในพื้นที่ที่เกิดการปะทะด้วยอาวุธก็เกิดในพื้นที่นอกประเทศของตน
            แต่ประเทศนั้นๆ เสียหายหนัก ในเวลาไม่กี่ปีคนตายเป็นแสน บางแห่งกลายเป็นรัฐล้มเหลวหรือเกือบล้มเหลว สงครามกลางเมืองในบางประเทศมีกองกำลังติดอาวุธต่างชาติเข้าแทรกจนไม่รู้ว่าจะต้องรบไปอีกนานเพียงไร ต้องสูญเสียอีกเท่าไหร่ ระหว่างนี้พลเรือนหลายล้านคนต้องอพยพจากบ้านเรือนไปค่ายผู้ลี้ภัย โดยไม่รู้ว่าจะได้กลับบ้านเมื่อไหร่ อนาคตของตนและลูกหลานจะเป็นอย่างไร จะกลายเป็นคนไร้รัฐหรือไม่
            นี่เป็นเหตุการณ์จริงที่กำลังเกิดขึ้น ณ วันนี้ เป็นความขัดแย้งที่บรรดาชาติมหาอำนาจเข้าไปพัวพันด้วย
            เมื่อเป็นเช่นนี้ บรรดาประเทศเล็กๆ ทั้งหลายควรตระหนัก ไม่ปล่อยให้ประเทศตัวเองเกิดความวุ่นวาย เปิดโอกาสให้ชาติมหาอำนาจเข้าแทรก คอยส่งอาวุธ กระสุนให้รบ จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง ชาวบ้านคนธรรมดามีอาวุธสงครามประจำบ้านกันแทบทุกครัวเรือน

            การร่วมงานเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ของประธานาธิบดีสี บ่งบอกความหมายเชิงสัญลักษณ์แสดงถึงความใกล้ชิด ผู้นำประเทศที่มีหัวอกเดียวกัน
ในระดับประชาชน ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 มีแง่มุมให้พูดมากมาย หากมองเทียบกับปัจจุบันยิ่งมีประเด็นวิพากษ์ ให้ข้อคิด มีทั้งเรื่องดีเรื่องร้าย แต่ทั้งหมดควรเป็นบทเรียนเพื่อสร้างสรรค์ ดังเช่น 2 ผู้นำประกาศรำลึกประวัติศาสตร์เพื่อสันติภาพ การก้าวไปร่วมกัน พัฒนาไปด้วยกัน
            ตอนหน้าจะนำเสนอความร่วมมือระหว่างรัฐบาลปูตินกับรัฐบาลสี โดยเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรม มีผลไม่เฉพาะ 2 ประเทศแต่มีผลทั่วโลก
10 พฤษภาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6759 วันอาทิตย์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2558)
------------------ 
บทความที่เกี่ยวข้อง 
หลังการหารือระหว่างรัฐบาลโอบามากับอาเบะอยู่นานนับปี ในที่สุดความสัมพันธ์ความมั่นคงทางทหารก็ปรากฎหลักฐานชัดเจนอีกครั้งด้วยแผนความร่วมมือด้านความมั่นคงฉบับใหม่ชื่อว่า “แผนความร่วมมือป้องกันประเทศสหรัฐ-ญี่ปุ่นด้านความมั่นคง” บัดนี้ “กองกำลังป้องกันตนเอง” ญี่ปุ่นมีเป้าหมายออกไปปฏิบัติการทั่วโลกร่วมกับกองทัพอเมริกัน บางคนอาจตั้งคำถามว่าพื้นที่หรือสมรภูมิใดจะเป็นแห่งแรกที่กองทัพญี่ปุ่นจะออกไป “ป้องกันตนเองร่วม”
หลักนิยม “ชิงลงมือก่อน” ที่ประกาศในสมัยประธานาธิบดีบุชนิยามว่าเป็นส่งกองทัพเข้ารุกรานอย่างเปิดเผย เป็นนิยามที่ไม่ครอบคลุม บิดเบือน จึงต้องกำหนดนิยามใหม่ อีกประเด็นที่ไม่ควรละเลยคือความเชื่อมโยงกับการส่งเสริมประชาธิปไตย การค้าเสรี คำถามที่สำคัญคือ รัฐบาลโอบามาได้ละทิ้งหลักนิยม “ชิงลงมือก่อน” หรือไม่ หรือเป็นเพียงปรับตัวให้เข้ากับบริบท

            ความตึงเครียดจากสถานการณ์ยูเครนที่เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2013 จนนำสู่การเผชิญหน้าระหว่างชาติมหาอำนาจรัสเซียกับฝ่ายสหรัฐฯ อย่างชัดเจน สหรัฐฯ กับพันธมิตรโดยเฉพาะอียูร่วมออกมาตรคว่ำบาตรรัสเซียหลายรอบ
            ข้อเขียนชิ้นนี้อธิบายนโยบายของสหรัฐฯ ต่อรัสเซียเพื่ออธิบายเหตุผลที่มาที่ไปของนโยบายปิดล้อมรัสเซีย การตอบโต้จากรัฐบาลปูติน นำสู่การวิเคราะห์องค์รวม ชี้ให้เห็นยุทธศาสตร์เชิงลึกของสหรัฐฯ ความพยายามจัดระเบียบโลกผ่านวิธีการต่างๆ จุดอ่อนของยุทธศาสตร์ปิดล้อม พลังอำนาจที่ถดถอยของสหรัฐฯ พร้อมกับคาดการณ์อนาคต
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป
บรรณนุกรม :
1. Backgrounder: Basic facts about European, Asian battlefields in WWII. (2015, May 5). China Daily/Xinhua. Retrieved from http://www.chinadaily.com.cn/world/2015xiattendwwii/2015-05/08/content_20657517.htm
2. China’s WWII contributions long underestimated: experts. (2015, May 7). People’s Daily Online. Retrieved from http://en.people.cn/n/2015/0507/c98649-8888855.html
3. Cotterell, Arthur. (2011). Asia: A Concise History. Singapore: Wiley & Sons (Asia).
4. DK. (2010, April 17). BANDUNG SPIRIT. Retrieved from http://www.bandungspirit.org/spip.php?article4
4. D'Anieri, Paul. (2012). International Politics: Power and Purpose in Global Affairs. USA: Wadsworth.
5. Mitter, Rana. (2013). Forgotten Ally: China's World War II, 1937-1945. New York: Houghton Mifflin Harcourt.
6. Putin: Russia & China worst affected by WW2, reject rehabilitation of Nazism & militarism. (2015, May 8). RT. Retrieved from http://rt.com/news/256901-russia-china-ww2-history/
7. Shirk, Susan L. (2007). China: Fragile Superpower: How China's Internal Politics Could Derail Its Peaceful Rise. New York: Oxford University Press.
8. Spotlight: Xi lauds contributions of China, Russia to WWII victory. (2015, May 7). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2015-05/07/c_134219372.htm
9. Soares, John A. (2000). Cuban Missiles Crisis. In Showalter, Dennis ., & DuQuenoy, Paul. (Eds.), History in Dispute (Vol. 6. The Cold War, Second Series, pp.70-76). USA: St. James Press.
10. William J. Duiker. (2009). Contemporary World History (5th ed.). USA: Wadsworth.
11. Wright, David Curtis. (2011). The History of China (2nd Ed.). USA: Greenwood.
---------------------------------