แผนความร่วมมือป้องกันประเทศสหรัฐ-ญี่ปุ่น

ปลายเดือนเมษายน 2015 สหรัฐกับญี่ปุ่นบรรลุข้อตกลงแผนความร่วมมือด้านความมั่นคงฉบับใหม่ชื่อว่า “แผนความร่วมมือป้องกันประเทศสหรัฐ-ญี่ปุ่นด้านความมั่นคง” (Guidelines for U.S.-Japan Defense Cooperation)
            จอห์น แคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศกล่าวว่า “แผนดังกล่าวทำให้ญี่ปุ่นมั่นคงกว่าเดิม สกัดกั้นภัยคุกคาม สนับสนุนสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคได้ดีกว่าเดิม” “สหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นยืนเคียงคู่เรียกร้องให้ภูมิภาคแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธี” แผนใหม่จะมีผลต่อการรักษาเสรีภาพในการเดินเรือ การบิน ต่อต้านการใช้ทะเลและย่านฟ้าอากาศอย่างผิดกฎหมาย กองกำลังญี่ปุ่นกับสหรัฐจะร่วมมือในขอบเขตทั้งโลก รวมทั้งด้านอวกาศและไซเบอร์
แผนดังกล่าวเป็นแผนของญี่ปุ่นโดยเฉพาะ มีสาระสำคัญดังนี้
            วัตถุประสงค์ : เพื่อความมั่นคงและสันติภาพของญี่ปุ่น ส่งเสริมความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและภูมิภาคอื่นๆ ด้วยการเป็นพันธมิตรในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลในทุกระดับชั้น เป็นความร่วมมือทวิภาคีระหว่างญี่ปุ่น-สหรัฐ รวมถึงการร่วมมือกับประเทศอื่นๆ องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ
            นอกจากแผนดังกล่าวญี่ปุ่นจะป้องกันประเทศตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Strategy) และแผนปฏิบัติป้องกันประเทศ (National Defense Program Guidelines) สหรัฐจะป้องกันญี่ปุ่นสุดความสามารถ รวมถึงการใช้อาวุธนิวเคลียร์ กองกำลังเคลื่อนที่เร็ว
            หลักการ : ตั้งอยู่บนสนธิสัญญาความมั่นคงสหรัฐ-ญี่ปุ่น “Treaty of Mutual Cooperation and Security between the United States of America and Japan” กับข้อตกลงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกฎบัตรสหประชาชาติ เช่น แก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี ทุกรัฐเท่าเทียมกัน สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นๆ รวมทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ของทั้งสหรัฐกับญี่ปุ่น โดยที่แต่ละประเทศยังคงสิทธิ์การตัดสินใจ บริหารจัดการด้วยตนเอง
การปฏิบัติตามแผนจำต้องอาศัยความร่วมมือ การสื่อสารในทุกระดับ จึงตั้งกลไกความร่วมมือที่ชื่อ “Alliance Coordination Mechanism” เพื่อการดังกล่าวทั้งในยามสงบและยามศึก

ความร่วมมือในยามสงบ : ในด้านการข่าว ทั้ง 2 ประเทศจะทำงานด้านการข่าวร่วม แบ่งปันข่าวกรอง การเฝ้าระวังในทุกโมงยาม เฝ้าระวังป้องกันภัยขีปนาวุธพิสัยไกล การรุกล้ำของเครื่องบินต่างชาติ รวมทั้งการตอบสนองเหตุยั่วยุจากภัยดังกล่าว
2 ประเทศจะร่วมกันรักษาระเบียบทางทะเลตามกฎหมายระหว่างประเทศ เช่น เสรีภาพในการเดินเรือ จัดให้มีการซ้อมรบอย่างต่อเนื่อง ช่วยเหลือด้านการส่งกำลังบำรุง ทั้งด้านการส่งเสบียง การดูแลรักษา การขนส่ง การพยาบาล ร่วมกันปกป้องทรัพย์สินของอีกฝ่าย
            ในกรณีญี่ปุ่นโดนโจมตี : ในกรณีที่คาดว่าญี่ปุ่นกำลังจะโดนโจมตี ไม่จำกัดว่าจะมาจากที่ใดที่หนึ่ง ทั้ง 2 ประเทศเริ่มเคลื่อนกำลังพล จัดเตรียมกำลังบำรุง
ในกรณีที่โดนโจมตี ทั้ง 2 ประเทศจะร่วมกันโต้กลับทันที ดำเนินการป้องปรามเพื่อยุติการโดนโจมตีซ้ำ การปกป้องพลเรือนและดินแดนญี่ปุ่นอยู่ในความรับผิดชอบของญี่ปุ่นเป็นหลัก กองกำลังสหรัฐจะทำหน้าที่สนับสนุนกองกำลังญี่ปุ่น ใช้หน่วยเคลื่อนที่เร็วและกองกำลังที่ประจำการอยู่ในฐานทัพในประเทศญี่ปุ่นตามความจำเป็น
การป้องกันภัยทางอากาศ ขีปนาวุธพิสัยไกล จะเป็นปฏิบัติร่วมของทั้ง 2 ประเทศ โดยจะป้องกันทั้งน่านฟ้าภายในขอบเขตญี่ปุ่นและบริเวณโดยรอบ ปกป้องภัยจากเครื่องบิน ขีปนาวุธต่างๆ สหรัฐจะเป็นฝ่ายสนับสนุน
การป้องกันทางทะเล จะป้องกันน่านน้ำโดยรอบญี่ปุ่น รวมทั้งเส้นทางคมนาคมทางทะเล
กรณีตอบโต้การโจมตีจากภาคพื้นดิน นาวิกโยธินต่างชาติ ญี่ปุ่นเป็นผู้รับผิดชอบหลักต่อการปกป้องหมู่เกาะต่างๆ ของญี่ปุ่น รวมถึงการยึดคืน
            ในกรณีโดนโจมตีด้วยอาวุธเคมี ชีวภาพ สารกัมมันตรังสี อาวุธนิวเคลียร์ ญี่ปุ่นสามารถร้องขอให้สหรัฐช่วยญี่ปุ่นเพื่อไม่ให้โดนโจมตี และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องญี่ปุ่น
            ในกรณีประเทศที่ 3 โดนโจมตี : ในกรณีที่สหรัฐกับญี่ปุ่นต่างตัดสินใจเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารในประเทศที่ 3 ทั้ง 2 ประเทศกับประเทศที่ 3 จะร่วมมือกันเพื่อใช้กำลังในกรณีที่ประเทศดังกล่าวมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับญี่ปุ่น สถานการณ์มีผลต่อการอยู่รอดหรือเป็นภัยคุกคามญี่ปุ่น ในการนี้รวมถึงการรักษาเส้นทางคมนาคมทางทะเล ให้ความคุ้มครองเรือต่างๆ (รวมถึงเรือของประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง)
            กองทัพสหรัฐกับญี่ปุ่นจะร่วมกันสกัดขีปนาวุธพิสัยไกล ช่วยเหลือด้านกำลังบำรุง

ความร่วมมือเพื่อสันติภาพและความมั่นคงในระดับภูมิภาคและโลก : แนวทางหลักคือสหรัฐกับญี่ปุ่นจะแสดงบทบาทนำในการร่วมมือกับประเทศอื่นๆ เพื่อส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความมั่งคั่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและภูมิภาคอื่นๆ ทั้งนี้ขึ้นกับการตัดสินใจของแต่ละประเทศ ยกตัวอย่าง หากทั้ง 2 ประเทศร่วมเป็นกองกำลังรักษาสันติภาพสหประชาชาติ ก็จะร่วมมือประสานงานอย่างใกล้ชิด
ภายใต้เป้าหมายดังกล่าวทั้ง 2 รัฐบาลจะพยายามแสวงหาความร่วมมือจากประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ ทั้ง 2 ประเทศจะร่วมมือให้อวกาศปลอดภัยและใช้ในทางสันติ สหรัฐจะช่วยเหลือญี่ปุ่นด้านไซเบอร์ จะร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยี การฝึกอบรม และทบทวนแผนอย่างสม่ำเสมอ

วิเคราะห์ :
            จาก “แผนความร่วมมือป้องกันประเทศสหรัฐ-ญี่ปุ่นด้านความมั่นคง” ฉบับปี 2015 มีประเด็นสำคัญดังนี้
          ประการแรก จีนยังเป็นเป้าหมายหลัก
            แม้เนื้อหาจะระบุว่าครอบคลุมปฏิบัติการทั่วโลก แต่ยังคงเอ่ยถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นหลัก การให้ความสำคัญเรื่องภัยคุกคามจากขีปนาวุธพิสัยไกล เสรีภาพในการเดินเรือ เดินอากาศ ทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่าหมายถึงจีนเป็นหลัก
            ในช่วงเวลาเดียวกับการประกาศใช้แผนดังกล่าว ประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่า “อย่างที่ข้าพเจ้าเคยพูด เราต้อนรับจีนที่ก้าวขึ้นมาอย่างสันติ” แต่จีน “แสดงพลังของตน แทนที่จะแสวงหาทางออกเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ดินแดนในเอเชียตะวันออกกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามแนวทางทั่วไป” พร้อมกับยอมรับว่าในระยะนี้ความตึงเครียดทางทะเลเพิ่มขึ้น

            ประการที่ 2 ผูกความมั่นคงร่วมกับสหรัฐ
            นับจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ความมั่นของญี่ปุ่นถูกผูกไว้กับกองทัพอเมริกัน เพื่อจำกัดกองทัพญี่ปุ่นไม่ให้รุกรานประเทศอื่นอีก รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นจึงถูกบัญญัติว่ากองทัพจะต้องรบเพื่อป้องกันตนเองเท่านั้น ไม่สามารถรุกรานต่างประเทศและไม่สามารถป้องกันกองกำลังต่างชาติแม้จะเป็นพันธมิตร แต่รัฐบาลอาเบะได้ตีความรัฐธรรมนูญใหม่ลบข้อจำกัดดังกล่าว สามารถเข้าร่วมรบเพื่อป้องกันกองกำลังพันธมิตร
            แผนใหม่ทำให้กองทัพญี่ปุ่นสามารถปฏิบัติการได้ไม่จำกัดขอบเขตพื้นที่ ตราบใดที่ติดตามกองทัพอเมริกันไปทำการรบในทุกหนทุกแห่ง ด้วยเหตุผลว่าเป็น “การป้องกันตนเองร่วม” (collective self-defense) เป้าหมายหลักคือจีนกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

            ประการที่ 3 ผสาน 2 กองทัพภายใต้ 2 ศูนย์บัญชาการ
ภายใต้แผนฯ เป็นการผสาน 2 กองทัพเข้าด้วยกัน สนับสนุนซึ่งกันและกัน ใช้ข้อมูล ยุทธศาสตร์การรบเดียวกัน เป็นการผสาน 2 กองทัพ ภายใต้ 2 ศูนย์บัญชาการใหญ่
ถ้าพิจารณาโดยยึดที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ศูนย์ญี่ปุ่นคือกองทัพหน้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออก แต่ภายใต้เทคโนโลยีการสื่อสารอันทันสมัย อาวุธสมัยใหม่ ญี่ปุ่นที่ตั้งใกล้ประเทศคู่ขัดแย้งอาจไม่จำต้องเป็นด่านหน้าเสมอไป การจัดวางกำลังพลน่าจะมีผลต่อการเป็นกองหน้ากองหลังมากกว่า สมมติว่าจีนในทะเลจีนใต้คือเป้าหมาย กองเรือรบกับกองกำลังทางอากาศสหรัฐที่เผชิญหน้าจีนอาจเป็นกองหน้า โดยญี่ปุ่นเป็นกำลังสนับสนุน
ในทางกลับกัน หากกองกำลังญี่ปุ่นเผชิญหน้าจีนในหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยู ในกรณีนี้ญี่ปุ่นย่อมเป็นกองหน้า

            ประการที่ 4 ความสำคัญของการสร้างพันธมิตร
            การสร้างพันธมิตรเป็นเรื่องปกติของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในกรณีนี้จำนวนพันธมิตรมีความสำคัญต่อการขยายแนวป้องกัน ดังที่แผนฯ ระบุกรณีประเทศที่ 3 โดนโจมตี ทั้งสหรัฐกับญี่ปุ่นสามารถตัดสินใจเข้าร่วมรบเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ 3
            สมมติว่าฟิลิปปินส์เข้าร่วมเป็นพันธมิตร และจีนคุกคามฟิลิปปินส์ ในกรณีนี้ทั้งสหรัฐกับญี่ปุ่นสามารถตัดสินใจเข้าร่วมรบเพื่อป้องกันฟิลิปปินส์ ดังนั้น หากญี่ปุ่นมีพันธมิตรด้านความมั่นคงเพิ่มมากขึ้น โอกาสที่ญี่ปุ่น (กับสหรัฐ) จะขยายแนวป้องกันของตนเองก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น
            ไม่แปลกใจที่รัฐบาลอาเบะพยายามส่งเสริม กระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทหารกับประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

สรุป :
แผนความร่วมมือทวิภาคีด้านความมั่นคงฉบับใหม่นี้ ยังคงยึดหลักเข้าพัวพันทุกที่ที่ผลประโยชน์แห่งชาติไปถึง เพียงแต่เน้นบทบาทของญี่ปุ่น และความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ นับจากนี้เป็นต้นไปหากกองทัพอเมริกันบุกไปถึงที่ใด มีความเป็นไปได้สูงว่าจะปรากฏกองกำลังป้องกันตนของญี่ปุ่นด้วย
            แผนฯ ดังกล่าวไม่มีอะไรเกินคาด เพราะรัฐบาลอาเบะกับโอบามาได้ดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ปรากฏเป็นข่าวเรื่อยมา บัดนี้กองทัพญี่ปุ่นที่เรียกว่า “กองกำลังป้องกันตนเอง” มีเป้าหมายออกไปปฏิบัติการทั่วโลกร่วมกับกองทัพอเมริกัน บางคนอาจตั้งคำถามว่าพื้นที่หรือสมรภูมิใดจะเป็นแห่งแรกที่กองทัพญี่ปุ่นจะออกไป “ป้องกันตนเองร่วม” อีกคำถามคือประเทศใดจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรเพิ่มเติม ประเทศนั้นคือหนึ่งในสมาชิกอาเซียนหรือไม่
พฤษภาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6752 วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2558)
----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
            การวิพากษ์ Pivot to Asia หรือยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียสามารถทำได้หลายรูปแบบ มองในหลายแง่มุม งานเขียนชิ้นนี้ชี้จุดอ่อนของยุทธศาสตร์ผ่านประเด็นความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ เป็นความขัดแย้งจากผลพวงของประวัติศาสตร์ กลายเป็นรอยร้าวที่ยากจะแก้ไขภายใต้บริบทปัจจุบัน เนื่องจากเป็นเรื่องที่ยอมให้กันไม่ได้ ต้องตอบสนองความคาดหวังจากการเมืองภายในของแต่ละประเทศ เกิดการแก้เกมแบบชิงไหวชิงพริบ นำสู่คำตอบว่าทำไมยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียจึงอ่อนกำลัง ไม่ได้ผลตามเป้าหมาย ในอนาคตจะต้องปรับแก้ยุทธศาสตร์หากรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการหวังผลอย่างจริงจัง ประเด็นสำคัญอยู่ที่จะต้องหาพันธมิตรเพิ่ม หรือทำให้ประเทศเหล่านั้นถอยห่างจากจีนมากขึ้น ซึ่งในกรอบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็มีเพียงไม่กี่ประเทศดังปรากฏบนแผนที่
การที่รัฐบาลอาเบะยุบสภา แสวงหาความชอบธรรมทางการเมืองอีกครั้ง ก็เพราะคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่าพรรคร่วมของตนจะได้มาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศต่อไป และคราวนี้จะกลับมาด้วยความชอบธรรมกว่าเดิม เป็นวิธีใช้ประโยชน์จากการใช้สิทธิ์ 1 คน 1 เสียงของระบอบประชาธิปไตยตะวันตก ที่ประชาชนต้องเลือกตั้งแบบ “เหมารวม”
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป
บรรณานุกรม:
1. Garamone, Jim. (2015, April 27). Carter: U.S, Japan Defense Guidelines ‘Break New Ground’. DoD News. Retrieved from http://www.defense.gov/news/newsarticle.aspx?id=128678
2. Guidelines for U.S.-Japan Defense Cooperation. (2015, April 27). Retrieved from http://www.defense.gov/pubs/20150427_--_GUIDELINES_FOR_US-JAPAN_DEFENSE_COOPERATION_FINAL&CLEAN.pdf
3. Hirs, Julie., & Davis, Chfeld. (2015, April 28). No Deal, but Progress on Trans-Pacific Trade, Obama and Shinzo Abe Say After Meeting. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2015/04/29/world/no-deal-but-progress-on-trans-pacific-trade-obama-and-shinzo-abe-say-after-meeting.html?_r=0
---------------------------------