โครงการนิวเคลียร์อิหร่านที่กำลังเจรจาเพื่อหาข้อตกลงฉบับถาวร กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีอิสราเอลกล่าวสุนทรพจน์พาดพิงรัฐบาลโอบามา เกิดวิวาทะระหว่างนายกฯ เนทันยาฮู รัฐบาลโอบามาและคนของพรรครีพับลิกัน
วิเคราะห์วิวาทะ :
ประการที่ 2 ทั้งพรรคเดโมแครต รีพับลิกัน รัฐบาลอิสราเอลถือว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคาม
บทความที่เกี่ยวข้อง :
วาทะเนทันยาฮู สมาชิกพรรครีพับลิกัน :
นายกฯ เนทันยาฮูได้รับเชิญจากพรรครีพับลิกันให้มาเยือนอเมริกา
แสดงสุนทรพจน์ใจความว่าข้อตกลงที่รัฐบาลโอบามากำลังจะทำกับอิหร่าน “เป็นข้อตกลงที่แย่
แย่มาก ไม่มีข้อตกลงยังดีเสียกว่า” เพราะ “ไม่ป้องกันอิหร่านที่จะสร้างระเบิด”
เห็นว่าสหรัฐควรเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรจนกว่าอิหร่านจะยอมละทิ้งโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมด
ตลอดช่วงเวลาที่นายกฯ
เนทันยาฮูเยือนสหรัฐ คนของพรรครีพับลิกันออกมากล่าวสนับสนุน วุฒิสมาชิกรีพับลิกัน
47 คนออกจดหมายเปิดผนึกถึงผู้นำประเทศอิหร่านเมื่อวันที่ 9 มีนาคม
ประกาศว่าประธานาธิบดีคนต่อไป (ชี้ว่าหมายถึงคนจากพรรครีพับลิกัน) อาจแก้ไขข้อตกลงใดๆ
ที่ไม่ผ่านรัฐสภา และรัฐสภาในอนาคตอาจปรับแก้ข้อตกลงใดๆ ที่เกิดขึ้น
นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่าคือการปฏิเสธข้อตกลงนิวเคลียร์
ไม่ไว้หน้าประธานาธิบดีโอบามา สะเทือนถึงภาพลักษณ์การเมืองประเทศ
โมฮัมหมัด จาวัด
ซารีฟ (Mohammad Javad Zarif) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน
โต้กลับชี้ให้เห็นความก้าวร้าวของรีพับลิกันว่า “วุฒิสมาชิกเหล่านี้ต้องรู้ว่าสหรัฐไม่ใช่โลกทั้งใบ
และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตั้งอยู่บนหลักกฎหมายระหว่างประเทศและข้อตกลงของรัฐบาลต่างๆ
ไม่ใช่กฎหมายภายในของสหรัฐอเมริกา”
การตอบโต้ของรัฐบาลโอบามา :
ซูซาน ไรซ์ (Susan Rice) ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีโอบามา
ทบทวนประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิสราเอลว่า 2
ประเทศมีความสัมพันธ์ยาวนานเกือบ 70 ปีแล้ว ประธานาธิบดีทรูแมนจากพรรคเดโมแครตเป็นคนแรกที่ประกาศยอมรับอิสราเอลในฐานะประเทศอธิปไตย
ประธานาธิบดีนิกสันจากพรรครีพับลิกันเป็นคนที่ยืนเคียงข้างอิสราเอลในสงคราม Yom
Kippur ประธานาธิบดีคาร์เตอร์เป็นคนที่ช่วยสร้างสันติภาพระหว่างอียิปต์กับอิสราเอลที่ยังยั่งยืนจนถึงทุกวันนี้
ประธานาธิบดีคลินตันกับจอร์จ ดังเบิ้ลยู. บุชสนับสนุนอิสราเอลที่ต้องต่อสู้กับฮิซบอลเลาะห์กับฮามาส
ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของผู้นำประเทศ
หรือพรรคการเมือง แต่คือการเป็นพันธมิตรของ 2 ประเทศ
“ความมั่นคงของอิสราเอล
คือความมั่นคงร่วมของเรา เป็นวัตถุประสงค์ด้านการต่างประเทศเรื่องหนึ่งที่สำคัญที่สุดของประธานาธิบดีโอบามา
ให้มั่นใจว่าอิหร่านจะไม่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์
ดังที่ประธานาธิบดีโอบามากล่าวซ้ำหลายครั้งว่าพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์”
นอกจากโครงการนิวเคลียร์ที่เป็นปัญหา
อิหร่านยังเป็นภัยคุกคามจากอีกหลายประเด็น เช่น สนับสนุนก่อการร้าย
ละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรง พยายามบั่นทอนเสถียรภาพของประเทศเพื่อนบ้าน
สนับสนุนอัสซาด ฮามาสและฮิซบอลเลาะห์ คุกคามอิสราเอลอย่างหนัก รัฐบาลสหรัฐจะยังคงคว่ำบาตรอิหร่านในประเด็นเหล่านี้
จะยังคงต้านภัยคุกคามเหล่านี้
ประธานาธิบดีโอบามายืนยันว่านโยบายของตนคือ
ใช้มาตรการคว่ำบาตรเพื่อกดดันอิหร่านให้เจรจา ทศวรรษที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าอิหร่านจะยังคงพัฒนานิวเคลียร์ต่อไปแม้ถูกคว่ำบาตร
(โดยเฉพาะสมัยมาห์มุด อาห์มาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad) ประธานาธิบดีคนก่อน)
หากจะให้อิหร่านระงับโครงการจำต้องให้เกิดความรู้สึกว่าการคว่ำบาตรถูกยกเลิก
หากบรรลุข้อตกลง
ไม่เพียงแต่จะตัดช่องทางที่อิหร่านจะสามารถมีอาวุธนิวเคลียร์ ยังจะมีกลไกคอยตรวจสอบติดตามว่าอิหร่านแอบดำเนินการในทางลับหรือไม่
วิเคราะห์วิวาทะ :
หากฟังข่าวเผินๆ
จะรู้สึกว่ามีความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาลโอบามา พรรครีพับลิกันและนายกฯ
เนทันยาฮู แต่เมื่อพิจารณาข้อมูล วิเคราะห์อย่างถ่องแท้ พบว่า
ประการแรก ทั้งรัฐบาลโอบามา พรรครีพับลิกัน รัฐบาลอิสราเอลมีเป้าหมายเดียวกัน
ข้อเท็จจริงคือ
ทั้ง 3 ฝ่ายต่างมีจุดยืนร่วมกันคือ “ห้ามอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์” ต่างกันเล็กน้อยตรงที่นายกฯ
อิสราเอลมีจุดยืนว่าห้ามอิหร่านมี “ขีดความสามารถ” ที่จะสร้างอาวุธ
แต่ผลสุดท้ายจะตรงกันหมด
ไม่ว่ารัฐบาลโอบามา
(พรรคเดโมแครต) จะขัดแย้งกับพรรครีพับลิกันอย่างไร 2 ฝ่ายมีท่าทีร่วมกันว่า
“ห้ามอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์”
ไม่ว่ารัฐบาลโอบามาจะมีวิวาทะกับนายกฯ
เนทันยาฮูอย่างไร ทั้ง 2 รัฐบาลมีเป้าหมายร่วมคือ “ห้ามอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์”
ดังนั้น
ไม่ว่าสิ่งที่เห็น สิ่งที่ปรากฏจะเป็นอย่างไร ข้อสรุปสุดท้ายคือ
“ห้ามอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์” แม้นายกฯ เนทันยาฮูไม่มาสหรัฐ ไม่แสดงสุนทรพจน์ราวกับต้องการตะโกนคำว่าเป็น
“ข้อตกลงแย่” แม้วุฒิสมาชิกพรรครีพันลิกัน
47 คน จะไม่ออกหนังสือเปิดผนึก หรือแม้กระทั่งรัฐบาลโอบามาไม่ตอบโต้ข้อกล่าวหาต่างๆ
ที่แตกต่างคือแต่ละฝ่ายจะมี
”ลีลา” อย่างไร เช่น แสดงท่าทางรักชาติยิ่งชีพ เข้มแข็งดุดันสมกับความเป็นมหาอำนาจ
หรืออ่อนสุภาพลุ่มลึก
ประการที่ 2 ทั้งพรรคเดโมแครต รีพับลิกัน รัฐบาลอิสราเอลถือว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคาม
ในกรอบที่กว้างกว่าอาวุธนิวเคลียร์
ประธานาธิบดีโอบามาย้ำว่าประเด็นที่เห็นร่วมกันคือ ทั้งคู่เห็นว่า
“อิหร่านเป็นระบอบอันตราย ยังคงพัวพันเรื่องที่ขัดแย้งต่อผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา
อิสราเอลและภูมิภาค” “อิหร่านยังคงคุกคามอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง
ออกแถลงการณ์ต่อต้านพวกยิว”
เรื่องที่จำต้องตระหนักคือ
หากประเด็นนิวเคลียร์ได้ข้อยุติ ใช่ว่าสถานการณ์จะคืนสู่ความสงบ ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไป
ขึ้นอยู่กับรัฐบาลสหรัฐจะหยิบยกให้เป็นประเด็นหรือไม่
ประการที่
3 ประเด็นที่พูดคือเรื่องเก่าเล่าใหม่
การเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้คือการเจรจาต่อเนื่องจากการเจรจาก่อนหน้านี้
ผลการเจรจาครั้งก่อนได้ข้อตกลงชั่วคราวที่เรียกกว่า Joint Plan of Action อิหร่านยอมลดหรือระงับโครงการบางส่วน แลกกับที่หลายประเทศคลายมาตรการคว่ำบาตร
ตั้งแต่เริ่มมีข้อตกลงฉบับชั่วคราว
รัฐบาลอิสราเอลก็แสดงท่าทีไม่ยอมรับข้อตกลงดังกล่าว
นายกฯ ทันยาฮูประกาศว่า
“อิสราเอลไม่ยอมรับข้อตกลงดังกล่าวและข้าพเจ้าขอประกาศชัดว่าจะไม่ยอมให้อิหร่านมีขีดความสามารถด้านอาวุธนิวเคลียร์”
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลเนทันยาฮูพยายามชี้ชวนให้รัฐบาลโอบามากดดันอิหร่าน
เช่น ให้ปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบปฏิกรณ์น้ำมวลหนัก (heavy-water reactor) ที่เมือง Arak หรือยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมดโดยสิ้นเชิง
พร้อมกับยื่นเงื่อนไขว่าหากอิหร่านไม่ยอมปฏิบัติตามสหรัฐจะต้องเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรให้รุนแรงกว่าที่เป็นอยู่
ส่วนจุดยืนของรัฐบาลโอบามาคงเดิมเรื่อยมา คือเคารพสิทธิของอิหร่านที่จะใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ เพียงแต่จะต้องเปิดเผยโปร่งใส ได้รับการตรวจสอบติดตาม
ด้านพรรครีพับลิกันเห็นว่ายอมให้มากเกินไป สมาชิกพรรคบางคนแสดงท่าทีสอดคล้องกับนายกฯ
เนทันยาฮู เช่น ต้องการให้อิหร่านละทิ้งโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด
แม้ว่าจะใช้เพื่อสันติก็ตาม
โดยอาศัยมาตรการคว่ำบาตรอย่างรุนแรงเพื่อกดดันให้รัฐบาลอิหร่านยอมรับเงื่อนไข
เมื่อดูข้อมูลย้อนหลังจะพบว่าท่าทีจุดยืนของรัฐบาลโอบามา
พรรครีพับลิกัน และนายกฯ เนทันยาฮูเป็นเช่นนี้มาตลอด
ในเหตุวิวาทะล่าสุด ประธานาธิบดีโอบามายังกล่าวด้วยตนเองว่าท่าทีของนายกฯ
เนทันยาฮูไม่มีอะไรใหม่ ประเด็นหลักที่แตกต่างคือทำอย่างไรจึงจะป้องกันไม่ให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์
จะเห็นได้ว่าทุกฝ่ายพูดเหมือนเดิม
ตอบเหมือนเดิม
จึงเกิดคำถามว่าทำไมต้องพูดซ้ำอีกรอบ
บางคนอาจตอบว่าเนื่องจากอยู่ในช่วงเวลาสำคัญที่กำลังทำข้อตกลงฉบับถาวร
เป็นการย้ำเตือนจุดยืน การอธิบายเช่นนี้มีส่วนถูกแต่ไม่ครอบคลุม อาจถูกโต้กลับว่าทุกฝ่ายพูดซ้ำหลายรอบแล้วและยังคงรักษาจุดยืนเดิม
ต่างฝ่ายต่างรู้ว่าอีกฝ่ายจะพูดอะไร จะตอบอย่างไรอยู่แล้ว
วาทะเพื่อการเมืองภายใน :
มีความเป็นไปได้ว่า
นายกฯ เนทันยาฮูใช้เวทีที่สหรัฐหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในวันอังคารที่ 17
มีนาคมนี้ ชี้ว่านโยบายของตนนั้นถูกต้องเหมาะสม (ขนาดพรรครีพับลิกันที่น่าจะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปยังสนับสนุน)
สื่อหลักของสหรัฐกับอิสราเอลต่างประโคมข่าวของท่าน (โดยไม่ต้องลงทุนซื้อโฆษณา) ยิ่งมีความขัดแย้งกับรัฐบาลโอบามา
เกิดวิวาทะระหว่างกัน ทำให้สื่อนำเสนอข่าวต่อเนื่องหลายวัน
คงต้องขอบคุณทั้งพรรครีพับลิกันกับรัฐบาลโอบามาที่ต่างได้แสดง
“บทบาท” ของตน
พรรคร่วมรัฐบาลอิสราเอลหลายคนออกมาชื่นชนสุนทรพจน์ของนายกฯ
เนทันยาฮู แต่ในมุมของ Isaac Herzog แกนนำฝ่ายค้านเห็นว่าสุนทรพจน์ดังกล่าวไม่ช่วยยับยั้งอิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์
ทั้งยังชี้ว่านโยบายของเนทันยาฮูมีแต่ทำให้อิสราเอลถูกโดดเดี่ยว
“รังแต่ทำให้ความสัมพันธ์กับมหามิตรและพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ร้าวหนักกว่าเดิม”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนมีนาคมดูเหมือนว่าผู้มีบทบาทต่อโครงการนิวเคลียร์อิหร่านมากที่สุดคือรัฐบาลอเมริกันกับอิสราเอล
ข้อเท็จจริงคือ ข้อตกลงต้องผ่านความเห็นชอบ การลงนามของคู่เจรจาทั้งหมด ได้แก่
อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐ รัสเซีย จีนและเยอรมนี หรือที่เรียกว่า P5+1 ในการนี้ไม่ต้องการชื่อของอิสราเอล ทั้งยังมีคำถามว่ารัฐบาลเนทันยาฮูมีอิทธิพลชักจูงประเทศคู่เจรจาได้กี่ประเทศ
15 มีนาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6703 วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2558)
-----------------------
สมาชิกรัฐสภาฝ่ายที่ต้องการให้อิหร่านละทิ้งโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด
ใช้การคว่ำบาตรอย่างรุนแรงเพื่อกดดันให้รัฐบาลอิหร่านยอมรับเงื่อนไข
การเจรจาในช่วงนี้เป็นจุดสำคัญ เพราะหากเลยเส้นตาย 1 กรกฎาคม 2015
สหรัฐจะเข้าสู่ช่วงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
โครงการนิวเคลียร์อิหร่านจะกลายเป็นหนึ่งในประเด็นหาเสียงอย่างสมบูรณ์
สถานการณ์จะซับซ้อนยิ่งกว่าที่เป็นอยู่
ในมุมมองของอิสราเอล
การขจัดภัยคุกคามนิวเคลียร์อิหร่านจะต้องควบคุมโครงการอิหร่านอย่างสมบูรณ์ ไม่ปล่อยให้มีโอกาสผลิตอาวุธได้แม้แต่น้อย
เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวรัฐบาลอิสราเอลพร้อมที่จะละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
ละเมิดสิทธิอันพึงมีของอิหร่าน อาศัยแรงกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศ
อิทธิพลของสหรัฐ กดดันให้อิหร่านยอมกระทำตามความต้องการของตน
3. นิวเคลียร์อิหร่าน ภาพหลอนเนทันยาฮู
รัฐบาลอิสราเอลพูดอยู่เสมอว่าอิหร่านใกล้จะประสบความสำเร็จในการสร้างอาวุธนิวเคลียร์
เป้าหมายคือทำลายล้างอิสราเอล แม้อิหร่านกับชาติมหาอำนาจ 6 ประเทศที่เรียกว่ากลุ่ม
P-5+1 ได้ข้อตกลงฉบับชั่วคราวและเมื่อต้นเดือนเมษาที่ผ่านมาได้ร่างข้อตกลงฉบับสมบูรณ์
นายกฯ เนทันยาฮูยังเชื่อเช่นเดิม สวนทางความจริงที่ว่า ทุกวันนี้โครงการฯ
ของอิหร่านหดตัว อยู่ภายใต้การตรวจตราของ IAEA
ซึ่งได้พิสูจน์ชัดแล้วว่าโครงการฯ ในขณะนี้มีเพื่อใช้ในทางสันติเท่านั้น
ความเข้าใจของนายกฯ เนทันยาฮูจึงกลายเป็นภาพหลอนที่คอยหลอกลอนให้หลายคนเชื่อเช่นนั้น
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป |
บรรณานุกรม:
1. Baker, Peter. (2015, March 6). G.O.P. Senators Write
to Iran on Nuclear Pact. The New York Times. Retrieved from
http://www.nytimes.com/2015/03/10/world/asia/white-house-faults-gop-senators-letter-to-irans-leaders.html
2. Deal reached on Iranian nuclear program. (2013, November
23). Fox News/AP. Retrieved from http://www.foxnews.com/world/2013/11/23/deal-reached-on-iranian-nuclear-program/
3. Doyle McManus. (2015, March 3). Herzog: Netanyahu's
speech to Congress has politics written all over it. Los Angeles Times.
Retrieved from http://www.latimes.com/opinion/op-ed/la-oe-mcmanus-netanyahu-speech-iran-politics-20150304-column.html
4. Lis, Jonathan. (2015, March 4). Herzog: Even after
Netanyahu's speech, Israel is still isolated. Harretz. Retrieved from
http://www.haaretz.com/news/diplomacy-defense/.premium-1.645231
5. Morello,
Carol., & DeYoung,
Karen. (2014, November 24). Iran nuclear talks extended for 7 months
amid impasse ahead of deadline. The Washington Post. Retrieved from
http://www.washingtonpost.com/world/at-deadline-iran-nuclear-talks-shift-to-efforts-at-keeping-negotiations-alive/2014/11/24/96e05284-73d0-11e4-a5b2-e1217af6b33d_story.html
6. Netanyahu: Deal with Iran a ‘historic mistake,’ Israel
not bound by it. (2013, November 24). JTA. http://www.jta.org/2013/11/24/news-opinion/israel-middle-east/deal-with-iran-a-historic-mistake-netanyahu-says
7. The White House. (2013, September 24). Remarks by
President Obama in Address to the United Nations General Assembly. Retrieved
from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/09/24/remarks-president-obama-address-united-nations-general-assembly
24 September 2013
8. The White House. (2015, March 2). Remarks As Prepared for
Delivery at AIPAC Annual Meeting by National Security Advisor Susan E. Rice.
Retrieved from
http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2015/03/02/remarks-prepared-delivery-aipac-annual-meeting-national-security-advisor
9. The White House. (2015, March 3). Remarks by the
President Before Meeting with Secretary of Defense Carter. Retrieved from
http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2015/03/03/remarks-president-meeting-secretary-defense-carter
10. Zarif to U.S. senators: You are ignorant of
international law. (2015, March 9). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/component/content/article/94-headline/122464-zarif-to-us-senators-you-are-ignorant-of-international-law
---------------------------------