หลักคิดของรัฐบาลเนทันยาฮูต่อนิวเคลียร์อิหร่าน

โครงการนิวเคลียร์อิหร่านเป็นหนึ่งในประเด็นความมั่นคงที่สำคัญในตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลอิหร่านยืนยันว่าโครงการมีเพื่อใช้ในทางสันติเท่านั้น แต่ชาติมหาอำนาจไม่มั่นใจ ดำเนินนโยบายคว่ำบาตร พร้อมกับเรียกร้องการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สัปดาห์ที่แล้วรัฐบาลอิหร่านกับกลุ่ม P5+1 ประสบผลสำเร็จในการเจรจาที่กรุงเจนีวา ข้อตกลงโดยสังเขปคือ อิหร่านยอมที่จะยุติการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมที่มีความเข้มข้นเกินกว่าร้อยละ 5 จะไม่ติดตั้งเครื่องหมุนเหวี่ยง (centrifuges) ที่ใช้ในการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมเพิ่มเติม เว้นแต่การซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด หยุดการเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ที่เมืองอารัค (Arak) ส่วนกลุ่ม P5+1 จะไม่ออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มอีก จะคลายการคว่ำบาตรบางส่วน และคืนเงิน 4.2 พันล้านดอลลาร์แก่อิหร่านซึ่งเดิมถูกอายัดไว้
            ข้อตกลงดังกล่าวมีอายุ 6 เดือนเพื่อปูทางสู่ข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ในอนาคต ในระยะนี้อิหร่านสามารถส่งออกทองคำกับน้ำมันได้อีกครั้ง นายฮัสซัน โรฮานี ประธานาธิบดีอิหร่านพอใจต่อข้อตกลงเป็นอย่างยิ่ง ไม่ต่างจากชาติมหาอำนาจกลุ่ม P5+1 อันประกอบด้วยสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีนและเยอรมนียอมรับข้อตกลงดังกล่าวเช่นกัน ท่ามกลางบรรยากาศที่น่ายินดีนี้ นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลกลับแสดงอาการไม่พอใจ ไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับข้อตกลง เชื่อว่าอิหร่านยังสามารถผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้อย่างรวดเร็วและจะใช้โจมตีอิสราเอล
            ท่าทีของอิสราเอลจึงสวนทางกับชาติมหาอำนาจอื่นๆ เมื่อประมวลข้อมูลต่างๆ สามารถอธิบายหลักคิด นโยบาย การดำเนินนโยบายของรัฐบาลเนทันยาฮูได้ดังนี้

เป้าหมายหลักความมั่นคง ยุทธศาสตร์:
            ความมั่นคงทางทหารคือผลประโยชน์สำคัญยิ่ง (vital interest) ของอิสราเอลที่ไม่อาจต่อรอ นับตั้งแต่ก่อตั้งรัฐสมัยใหม่หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ประเทศทำสงครามกับชาติอาหรับหลายครั้ง ทุกวันนี้แม้สถานการณ์จะดีกว่าในอดีตมาก แต่ความตึงเครียดยังคงอยู่ อิสราเอลยังยึดมั่นเสมอว่าชาติอาหรับหลายประเทศ รวมทั้งอิหร่านยังเป็นภัยคุกคามต่อตน
            นายกฯ เนทันยาฮู กล่าวอย่างชัดเจนว่าภัยคุกคามเริ่มต้นขึ้นในปี 1979 เมื่ออิหร่านเกิดปฏิวัติอิสลามพร้อมกับนโยบายหลักที่เห็นว่ายิวเป็นภัยคุกคามต่ออิหร่าน ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านอิหร่านมีประธานาธิบดีหลายท่าน บางคนดำเนินนโยบายแข็งกร้าว บางคนไม่ถึงขั้นนั้นแต่ทุกคนมีเป้าหมายหลักตรงกัน เนื่องจากประธานาธิบดีทุกคนบริหารประเทศภายใต้แนวทางของผู้นำสูงสุดคืออยาตุลเลาะห์ โคไมนี (Ayatollah Khomeini) และคนปัจจุบันคืออยาตุลเลาะห์ คาเมเนอี (Ayatollah Khamenei) ที่เห็นว่า “การลบอิสราเอลออกจากเป็นแผนที่ในภูมิภาคเป็นพันธกิจของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน (Islamic Republic of Iran)” ต้องกำจัดอิสราเอลให้สิ้นซาก
            นายกฯ เนทันยาฮูเชื่อมโยงภัยคุกคามจากอิหร่านเข้ากับประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (Holocaust) ในยุคที่ชาวยิวหลายล้านคนถูกพวกนาซีสังหารอย่างเหี้ยมโหด หากอิหร่านโจมตีอิสราเอลด้วยอาวุธนิวเคลียร์ก็จะกลายเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ในฐานะที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีจึงต้องป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย ท่านต้องการ “เป็นใครบางคนที่ทำทุกอย่างเพื่อดูแลปกป้องชาวยิว รัฐยิว เพื่อไม่ให้ความโหดร้ายในอดีตเกิดซ้ำอีกครั้ง”
            หนึ่งในแนวทางป้องกันประเทศนอกจากจะต้องห้ามไม่ให้ศัตรูไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ ยังจะต้องทำให้ศัตรูอ่อนแอ  หมดสภาพภัยคุกคาม โดยเฉพาะประเทศที่มีทรัพยากร มีโอกาสเติบโต มีผู้นำเข้มแข็ง แน่นอนว่าอิสราเอลไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทั้งหมดได้ด้วยตนเอง หนึ่งในวิธีการที่อิสราเอลใช้คือการดึงมือประเทศอื่นเข้ามาช่วยเหลือ เช่น ดึงรัฐบาลจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุชโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน อิสราเอลหวังว่ารัฐบาลโอบามาจะจัดการกับอิหร่านเหมือนดังที่จัดการกับอิรัก หรืออย่างน้อยต้องคว่ำบาตรอิหร่านให้ประเทศตกอยู่ในสภาพง่อยเปลี้ยเสียขา

ตั้งธงว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคาม ต้องการมีอาวุธนิวเคลียร์:
          เพื่อบรรลุเป้าหมายหลักด้านความมั่นคง จำต้องอ้างเหตุผลบางเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการตั้งธงว่าโครงการนิวเคลียร์อิหร่านมีเพื่อประโยชน์ทางการทหาร ต้องการผลิตอาวุธนิวเคลียร์เพื่อโจมตีอิสราเอล
            ประเด็นวัตถุประสงค์โครงการนิวเคลียร์อิหร่านเป็นเรื่องที่ถกเถียงได้ไม่จบไม่สิ้น แม้รัฐบาลหลายชุดประกาศซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าดำเนินโครงการเพื่อใช้ในทางสันติเท่านั้น แต่ก็มีหลักฐานที่น่าสงสัยจนทำให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติประกาศคว่ำบาตร อันเป็นที่มาของการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ทางการเมืองระหว่างประเทศอีกหลายระลอกจากสหรัฐและพันธมิตร จนรัฐบาลโรฮานีต้องเรียกร้องขอเจรจาเพื่อยุติการคว่ำบาตร
            ในขณะที่กลุ่ม P5+1 เชื่อว่าการบรรลุข้อตกลงเมื่อสัปดาห์ก่อนจะช่วยให้โลกมีความสงบสุขมากขึ้น แต่นายกฯ เนทันยาฮูกลับเห็นว่าข้อตกลงที่เจนีวาไม่ใช่ข้อตกลงประวัติศาสตร์ แต่เป็นความผิดพลาดร้ายแรง เนื่องจากข้อตกลงคือการลดแรงกดดันต่ออิหร่านโดยไม่ได้รับอะไรกลับมาอย่างเป็นรูปธรรม อิหร่านสามารถวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ต่อไป หากวันใดรัฐบาลเปลี่ยนนโยบายก็จะสามารถสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้อย่างรวดเร็ว รัฐบาลเนทันยาฮูอ้างว่าอิหร่านสามารถผลิตระเบิดนิวเคลียร์โดยใช้วัสดุฟิชไซล์ (fissile material) ที่มีอยู่ภายใน 26 วัน
            ในมุมมองของอิสราเอล การขจัดภัยคุกคามนิวเคลียร์อิหร่านจะต้องควบคุมโครงการอิหร่านอย่างสมบูรณ์ หรือจะต้องทำลายโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมดโดยสิ้นเชิง ไม่ปล่อยให้มีโอกาสผลิตอาวุธได้แม้แต่น้อย
            หากกลุ่ม P5+1 ยินยอมให้อิหร่านใช้นิวเคลียร์ในทางสันติก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าอิหร่านจะต้องไม่มีเครื่องเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม ไม่สามารถผลิตพลูโตเนียม พร้อมกับยกตัวอย่างบางประเทศที่กระทำในลักษณะดังกล่าว เช่น แคนาดา อินโดนีเซีย
            หลักคิดของอิสราเอลคือหากอิหร่านมีเครื่องเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมก็จะสามารถเสริมสมรรถนะในระดับความเข้มข้นร้อยละ 90 ซึ่งเป็นระดับที่ใช้ผลิตอาวุธ และตราบใดที่เครื่องปฏิกรณ์ที่เมืองอารัค (Arak) ยังเดินเครื่องอยู่ เท่ากับว่าอิหร่านมีขีดความสามารถสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ทางออกที่ดีที่สุดคืออิหร่านต้องทำลายเครื่องปฏิกรณ์ดังกล่าว

จุดอ่อน:
            นโยบายและการดำเนินนโยบายของอิสราเอลข้างต้นมีจุดอ่อนสำคัญหลายประการ เริ่มจากการที่อิหร่านได้ลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์  (Non-Proliferation Treaty หรือ NPT) ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าวอิหร่านมีสิทธิ์ใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ มีสิทธิ์ในการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมเพื่อใช้ในทางสันติเฉกเช่นประเทศทั้งหลายในโลก เช่น เพื่อการผลิตไฟฟ้า เพื่อใช้ในทางการแพทย์
            ประธานาธิบดีโรฮานีเป็นอีกผู้หนึ่งที่ยืนยันสิทธิ์ในการใช้นิวเคลียร์เพื่อสันติ “ตามกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ และแนวทางของ NTP และไม่มีผู้ใดสามารถตัดสิทธิ์การใช้นิวเคลียร์ตามกฎหมาย”
            ตลอดสองสามเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลเนทันยาฮูพยายามชี้ชวนให้รัฐบาลโอบามาและประเทศอื่นๆ ใช้จังหวะช่วงนี้กดดันอิหร่านให้ยอมรับเงื่อนไขว่าอิหร่านจะต้องไม่เสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมด้วยตนเองอีกต่อไป ทำลายเครื่องหมุนเหวี่ยง (centrifuges) ทั้งหมด  ปิดเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เมืองอารัค หรือยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมดโดยสิ้นเชิง หากอิหร่านไม่ยอมปฏิบัติตาม สหรัฐกับนานาชาติจะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรให้รุนแรงกว่าที่เป็นอยู่
            ปัญหามีอยู่ว่าหากรัฐบาลโอบามาทำตามข้อเรียกร้องอิสราเอล กดดันอิหร่าน ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับอิหร่านจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ หลายประเทศจะพากันประณาม เพราะละเมิดสิทธิ์ในการใช้นิวเคลียร์ในทางสันติของอิหร่าน จะเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลโอบามาแสดงความก้าวร้าวให้โลกประจักษ์ รัสเซียกับจีนย่อมไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องลักษณะนี้เพราะเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ เป็นการคุกคามอิหร่านอย่างชัดเจน
            ถ้าจะวิเคราะห์ให้ลึกกว่านี้ หากรัฐบาลโอบามาทำตามข้อเรียกร้องของอิสราเอล ผลลัพธ์คือการเจรจาเจนีวารอบนี้จะล้มเหลว (หรือไม่เกิดการเจรจาตั้งแต่ต้น) อิหร่านจะถูกคว่ำบาตรต่อไปและอาจถูกคว่ำบาตรรุนแรงมากขึ้น เพราะสมาชิกรัฐสภาอเมริกันหลายคนจ้องจะเพิ่มมาตรการกดดัน คนเหล่านี้เห็นชอบกับแนวทางของอิสราเอล หากเป็นเช่นนั้นเท่ากับเศรษฐกิจอิหร่านจะอ่อนแอต่อเนื่องไม่มีโอกาสฟื้นตัว เกิดปัญหาเศรษฐกิจสังคมอย่างรุนแรง อิสราเอลอาจหวังในใจลึกๆ ให้ความอ่อนแอความวุ่นวายภายในประเทศอิหร่านเป็นชนวนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศ
            หรือถ้ารัฐบาลอิหร่านตัดสินใจเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างจริงจังก็จะเป็นเหตุให้อิสราเอลมีความชอบธรรมมากพอที่จะชิงโจมตีอิหร่าน รวมทั้งรัฐบาลโอบามาอาจต้องตัดสินใจกระทำเช่นนั้นด้วย
            โดยรวมแล้ว หลักคิดและแนวทางของรัฐบาลเนทันยาฮูคือ เพื่อความมั่นคงของประเทศ อิสราเอลพร้อมที่จะกระทำทุกอย่าง พร้อมที่จะละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ละเมิดสิทธิอันพึงมีของอิหร่าน อาศัยแรงกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศ อิทธิพลของสหรัฐ กดดันให้อิหร่านยอมกระทำตามความต้องการของตน รวมทั้งการชิงโจมตีอิหร่านถ้าจำเป็น

            ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่อิสราเอลดำเนินนโยบายแข็งกร้าวเช่นนี้จะโทษอิสราเอลฝ่ายเดียวก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะรัฐบาลอิหร่านที่ผ่านมาได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวข่มขู่คุกคามเช่นกัน สองฝ่ายเต็มด้วยความหวาดระแวง ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน หลักคิด การแสดงออกของรัฐบาลเนทันยาฮูต่อโครงการนิวเคลียร์อิหร่านคือภาพสะท้อนที่ชัดเจน
            การบรรลุข้อตกลงกับกลุ่ม P5+1 เมื่อสัปดาห์ที่แล้วจะกลายเป็นย่างก้าวแห่งประวัติศาสตร์ของอิหร่าน ที่จะอยู่ร่วมกับประชาคมโลกอย่างสร้างสรรค์ อยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านอย่างสงบสุข เวลา 6 เดือนนับจากนี้จะเป็นช่วงเวลาแห่งการพิสูจน์ความตั้งใจของอิหร่าน และอิสราเอลก็ควรใช้โอกาสนี้เพื่อพิสูจน์ความจริงใจว่าต้องการอยู่ร่วมกับอิหร่านโดยสันติเช่นกัน
1 ธันวาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6236 วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2556)
------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
การคว่ำบาตรจากสหรัฐกับพันธมิตรต่อโครงการนิวเคลียร์อิหร่านพิสูจน์แล้วว่าได้ผล เศรษฐกิจสังคมอิหร่านได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้ประธานาธิบดีโรฮานีชนะการเลือกตั้ง และมาพร้อมกับนโยบายสานสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ เร่งเจรจาแก้ปัญหาการคว่ำบาตร การเจรจาจึงเป็นเรื่องสำคัญ กำหนดอนาคตอิหร่านและภูมิภาคตะวันออกกลาง
บรรณานุกรม:
1. Netanyahu: Iran has enough low-grade uranium for 5 nuclear bombs. The Jerusalem Post. http://www.jpost.com/Iranian-Threat/News/Netanyahu-Iran-has-enough-low-grade-uranium-for-5-nuclear-bombs-332219. 19 November 2013.
2. Corsi, Jerome R. 2009. Why Israel Can't Wait: The Coming War Between Israel and Iran. New York: Threshold Editions.
3. Transcript of Netanyahu's UN General Assembly speech. Haaretz. http://www.haaretz.com/news/diplomacy-defense/1.550012 .1 October 2013.
4. Behind the Headlines: Geneva Agreement between the P5+1 and Iran. Israel Ministry of Foreign Affairs. 25 November 2013. http://mfa.gov.il/MFA/ForeignPolicy/Issues/Pages/Geneva-Agreement-between-P51-and-Iran-24-Nov-2013.aspx#. Accessed 28 November 2013.
5. Israeli statements on Geneva talks with Iran. Israel Ministry of Foreign Affairs. 25 November 2013. http://mfa.gov.il/MFA/ForeignPolicy/Iran/Pages/Israeli-statements-on-Geneva-talks-with-Iran.aspx. Accessed 28 November 2013.
6. Report: US mulls letting Iran keep uranium enrichment facilities in nuclear deal. The Jerusalem Post. http://www.jpost.com/Iranian-Threat/News/Report-US-mulls-letting-Iran-keep-uranium-enrichment-facilities-in-nuclear-deal-328745. 15 October 2013.
7. Netanyahu: Iran has enough low-grade uranium for 5 nuclear bombs. The Jerusalem Post. http://www.jpost.com/Iranian-Threat/News/Netanyahu-Iran-has-enough-low-grade-uranium-for-5-nuclear-bombs-332219. 19 November 2013.
8. Naji, Kasra. 2008.  Ahmadinejad: The Secret History of Iran's Radical Leader. CA: University of California Press.
9. Iran says time for solving nuclear issue not "unlimited". Xinhua. http://news.xinhuanet.com/english/world/2013-09/11/c_125363577.htm. 11 September 2013.
-------------------------