ในข้อตกลงชั่วคราว
ฝ่ายอิหร่านยอมประนีประนอมหลายเรื่อง ที่สำคัญคือละทิ้งการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมความเข้มข้นร้อยละ
20 ที่ใช้ในทางการแพทย์ (เช่น การฉายรังสีรักษาโรคมะเร็ง) ถ้าใช้ทำอาวุธต้องเป็นยูเรเนียมความเข้มข้นมากกว่าร้อยละ
90 ขึ้นไป ด้านฝ่ายตรงข้ามชี้ว่าจากความเข้มข้นที่ร้อยละ 20
สามารถทำให้บริสุทธิ์ถึงขั้นทำเป็นอาวุธได้ง่าย
จึงเรียกร้องไม่ให้อิหร่านครอบครองความเข้มข้นที่ระดับร้อยละ 20
ท่าทีดังกล่าวเป็นการแสดงความปรารถนาดีของอิหร่าน
ในอีกมุมหนึ่งชี้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการหลุดพ้นจากมาตรการคว่ำบาตร แสดงให้เห็นภาวะเศรษฐกิจอันย่ำแย่
จำต้องรีบแก้ไขเร่งด่วน
ต้นเหตุแห่งปัญหา :
จากข้อมูลที่ปรากฏ
เหตุที่ทำให้การเจรจายังไม่ได้ข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ ต้องยืดขยายออกไปอีกรอบมาจาก 2
เรื่องหลัก เรื่องแรกคือ จำนวนเครื่องเสริมสมรรถนะ (centrifuge) ที่อิหร่านเคยประกาศว่าต้องการถึง 190,000 เครื่อง (ปัจจุบันมี
20,000 เครื่อง) ฝ่ายสหรัฐต้องการให้เหลือ 2,000 –
4,000 เครื่อง
อีกเรื่องคือ
สหรัฐต้องการให้ปิดโรงงานที่ฟอร์โดว์ (Fordow) หรือไม่ก็เปลี่ยนไปใช้วัตถุประสงค์อื่น
เนื่องจากกังวลว่าเป็นโรงงานที่สร้างอยู่ชั้นใต้หิน มีระบบป้องกันการถูกโจมตีอย่างดี
ฝ่ายอิหร่านยืนยันต้องการให้มีเครื่องเสริมสมรรถนะในโรงงานดังกล่าว
หากวิเคราะห์ให้ไกลกว่านั้น
คำถามอยู่ที่สหรัฐกับพวกเชื่ออยู่เสมอว่ารัฐบาลอิหร่านต้องการมีอาวุธนิวเคลียร์
ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำคือเพื่อกลบเกลื่อนการพัฒนา อาวุธนิวเคลียร์และความเข้มแข็งของอิหร่านเป็นภัยคุกคามต่อประเทศเพื่อนบ้าน
การนับถือนิกายศาสนาแตกต่างกันทำให้ความขัดแย้งบาดลึก
ในช่วงการเจรจา วุฒิสมาชิก Ed Royce พรรครีพับลิกัน
ประธาน House Foreign Affairs Committee ยังแสดงความเห็นว่าข้อตกลงชั่วคราวเป็นเพียงแผนซื้อเวลา
เอื้อให้อิหร่านเดินหน้าพัฒนาโครงการต่อไป
หากอิหร่านยินยอมต่อข้อเรียกร้องไม่เหลือโครงการนิวเคลียร์ใดๆ เท่ากับยอมจำนนต่อ “อำนาจนอกรัฐ” ผู้นำจิตวิญญาณ อยาตุลเลาะห์ อาลี โฮไซนี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Hosseini Khamenei) จึงประกาศว่าอิหร่านจะไม่ยอมจำนนต่อแรงกดดันของชาติมหาอำนาจ เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่ “สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านได้เผชิญแรงกดดันมากมายหลายด้าน ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง การทหาร การคว่ำบาตร ด้วยความมานะพยายามชาติอิหร่านไม่เพียงแต่ทำให้แรงกดดันไม่เป็นผล ยังสร้างให้เราแข็งแกร่งยิ่งขึ้นด้วย” และกล่าวถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของประเทศอิหร่านว่า “เป็นความจริงที่มีช่องว่าง [ความก้าวหน้า] ทางวิทยาศาสตร์กับโลก และยังห่างจากพวกคู่แข่งในภูมิภาค จึงยังจำต้องเร่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เป็น 2 เท่าจนกว่าจะถึงจุดเทียบเท่ากับเกียรติภูมิและฐานะของชาติอิหร่าน”
ล่าสุด หลังขยายข้อตกลงชั่วคราวออกไปอีกเป็น
1 กรกฎาคม 2015 อยาตุลเลาะห์คาเมเนอี กล่าวว่า
“ในประเด็นนิวเคลียร์ สหรัฐอเมริกากับประเทศเจ้าอาณานิคมยุโรปร่วมมือกันใช้ความพยายามทั้งหมดเพื่อให้อิหร่านยอมคุกเข่า
แต่พวกเขาไม่สำเร็จและจะไม่มีวันสำเร็จ”
คว่ำบาตรยังดำเนินต่อไป :
คว่ำบาตรยังดำเนินต่อไป :
การที่อิหร่านถูกคว่ำบาตรในขณะนี้
รัฐบาลสหรัฐอ้างว่าเป็นผลมาจากข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ทั้งๆ
ที่ทำเกินข้อมติ ที่สำคัญกว่านั้นคือแม้ปราศจากข้อมติก็ใช่ว่าในอนาคตอิหร่านจะไม่ถูกคว่ำบาตร
เหตุเนื่องจากแต่ไหนแต่ไรสหรัฐมักกระทำโดยไม่อิงข้อมติใดๆ กระทั่งสวนทางท่าทีของประเทศอื่นๆ
ตัวอย่างล่าสุดคือนโยบายต่ออาหรับสปริงที่สหรัฐแทรกแซงกิจการของหลายประเทศโดยปราศจากข้อมติสหประชาชาติ
ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธคือ
คณะมนตรีความมั่นคงในยุคนี้ยากจะมีข้อสรุปที่ชาติมหาอำนาจเห็นชอบร่วมกัน
แต่การไม่มีข้อสรุปร่วมกลายเป็นว่าชาติมหาอำนาจกระทำตามอำเภอใจโดยที่ยากจะมีใครขัดขวาง
จึงมีความเป็นไปได้ที่อิหร่านจะถูกสหรัฐคว่ำบาตรไปเรื่อยๆ โดยหยิบยกข้ออ้างต่างๆ
นานาเหมือนที่กระทำในกรณีอื่นๆ และที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้ การคิดว่าจะรอดพ้นจากการคว่ำบาตรจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
รัฐบาลอิหร่านอาจตระหนักในเรื่องนี้
แต่ยังคงเรียกร้องยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด เชื่อว่าสิ่งที่อิหร่านต้องการมากที่สุดคือการประกาศว่าโครงการนิวเคลียร์ทำอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของ
IAEA ถ้าประเทศใดจะคว่ำบาตรในอนาคตก็เป็นการกระทำฝ่ายเดียวของประเทศนั้น
เปรียบเทียบท่าที 2 พรรค ยุทธศาสตร์ปิดล้อมอิหร่าน:
สถานการณ์ในขณะนี้คือ
รัฐบาลอิหร่านลดขนาดโครงการ และส่วนใหญ่อยู่ในสภาพแช่แข็ง โครงการอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่
IAEA รัฐบาลอิหร่านคงไม่แอบดำเนินโครงการอย่างลับๆ ในระยะนี้
การอ้างว่าอิหร่านกำลังจะมีอาวุธนิวเคลียร์ในอีก 1-2 ปีข้างหน้าจึงไม่สมเหตุผล
วิวาทะยั่วยุน่าจะลดน้อยลง
แต่ข้อเท็จจริงสถานการณ์กลับตรงกันข้าม
สมาชิกพรรครีพับลิกันหลายคนเรียกร้องเพิ่มมาตรการคว่ำบาตร
อ้างว่าเพื่อกดดันให้อิหร่านยอมรับเงื่อนไข วุฒิสมาชิก Bob Corker จากพรรครีพับลิกัน “อยากให้รัฐบาลเจรจาต่อไปมากกว่าจะได้ข้อตกลงที่แย่”
ซึ่งน่าจะหมายถึงข้อตกลงที่ฝ่ายสหรัฐไม่สามารถควบคุมโครงการนิวเคลียร์อิหร่านได้อย่างเต็มที่
และชี้ว่าต้องเตรียมแผน 2 เช่น “คว่ำบาตรหนักกว่าเดิม” หากการเจรจาล้มเหลว คำพูดของวุฒิสมาชิก
Corker ไม่เพียงเอ่ยเรื่องการคว่ำบาตรให้หนักกว่าเดิม
ยังแฝงท่าทีต้องการคงการคว่ำบาตรต่อไป
แนวทางของวุฒิสมาชิก Corker เป็นแนวทางของสมาชิกรัฐสภาฝ่ายที่ต้องการให้อิหร่านละทิ้งโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด
แม้จะใช้เพื่อสันติก็ตาม โดยใช้การคว่ำบาตรอย่างรุนแรงเพื่อกดดันให้รัฐบาลอิหร่านยอมรับเงื่อนไข
แต่ที่ผ่านมารัฐบาลโอบามาเห็นว่าไม่จำต้องทำถึงขนาดนั้น ชี้ว่าหลายประเทศคงไม่ยินดีร่วมมือหากจะทำเช่นนั้น
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อเรียกร้องดังกล่าวขัดกับสิทธิของอิหร่านที่สามารถมีโครงการนิวเคลียร์เพื่อสันติดังเช่นนานาประเทศทั่วโลก
เป็นเหตุผลที่ฝ่ายอิหร่านหยิบยกขึ้นมาต่อสู้ว่าประเทศตนมีสิทธิ
มีความชอบธรรมที่จะวิจัย มีโครงการเพื่อใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้า ใช้ในทางการแพทย์
จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะถูกบังคับให้ยกเลิกโครงการ
เมื่อหันมาพิจารณาฝ่ายรัฐบาลสหรัฐ
บางในบางมุมอาจตีความว่ารัฐบาลโอบามาเคารพสิทธิของชาวอิหร่านที่จะใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ
เพียงแต่ขอให้รัฐบาลอิหร่านรับผิดชอบต่อสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear
Non-Proliferation Treaty) กับข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง ที่สำคัญคือพฤติกรรมของอิหร่านต้องสอดคล้องกับคำพูดที่ว่าไม่ต้องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
และเห็นว่าจำต้องให้เวลาแก่รัฐบาลอิหร่านเพิ่มเติม จะไม่เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรระหว่างการเจรจา
ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้คือหลายประเทศผ่อนคลายการคว่ำบาตร แต่รัฐบาลโอบามายังคงมาตรการคว่ำบาตรดังเดิม
เป็นการคว่ำบาตรที่สร้างปัญหาแก่อิหร่านจนถึงทุกวันนี้ อัตราเงินเฟ้อยังสูงถึงเกือบร้อยละ
30 ต่อปี
โดยสรุปแล้ว
ดูเหมือนว่ารัฐบาลโอบามามีปัญหาเรื่องคว่ำบาตรอิหร่านน้อยเกินไป
ซึ่งน่าจะเป็นจริงถ้าเทียบกับวาทะของพรรครีพับลิกัน แต่เมื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริง
มาตรการที่รัฐบาลโอบามาใช้ทำให้เศรษฐกิจอิหร่านเกิดปัญหาอย่างหนักแล้วในขณะนี้ เพียงแต่วิธีการนำเสนอดูเหมือน
“นุ่มนวลกว่า” “สุภาพกว่า”
ถ้าวิเคราะห์สถานการณ์โดยมองข้ามเรื่องความแตกต่างระหว่างพรรครีพับลิกันกับเดโมแครต
การทำความเข้าใจนโยบายของสหรัฐต่อโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน
จำต้องเอ่ยถึงยุทธศาสตร์หลัก จากการวิเคราะห์นโยบาย เหตุการณ์ทั้งหมด
พอจะประเมินยุทธศาสตร์ของสหรัฐต่ออิหร่านคือการปิดล้อมอิหร่าน ด้วยการใช้ประเด็นโครงการนิวเคลียร์เป็นเครื่องมือคว่ำบาตรอิหร่านอย่างต่อเนื่อง
ขัดขวางไม่ให้เศรษฐกิจฟื้นตัว เศรษฐกิจสังคมอ่อนแอเรื้อรัง บ่อนทำลายให้อ่อนแอจนถึงที่สุด
นักวิชาการบางคนเห็นว่าสังคมอิหร่านนับวันยิ่งตึงเครียด
อันเนื่องจากความยากจน ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน แม้รัฐบาลจะอุดหนุนสินค้าอุปโภคบริโภคจนขาดดุลหนักก็ตาม
อย่างไรก็ตาม พึงระลึกว่าในความขัดแย้งมีความร่วมมือ
การปิดล้อมเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว บางช่วงเข้มข้น บางช่วงผ่อนคลาย
อีกทั้งดำเนินการผ่านหลายวิธี ไม่ได้อาศัยประเด็นโครงการนิวเคลียร์เพียงอย่างเดียว
มองจากฝ่ายที่ต้องการปิดล้อม การคว่ำบาตรยืดเยื้อคืออาวุธที่ได้ผลและดีที่สุดในตอนนี้
วิเคราะห์องค์รวม :
สุนทรพจน์ของประธานาธิบดีโรฮานีในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 69
ประจำปี 2014 กล่าวว่าการบรรลุข้อตกลงสุดท้าย “เป็นโอกาสแก่ประวัติศาสตร์ที่ชาติตะวันตกจะแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ต่อต้านการความก้าวหน้าและการพัฒนาของประเทศอื่นๆ
ไม่เลือกปฏิบัติเมื่อประเทศอื่นๆ ดำเนินตามกฎ กฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ”
เป็นสารแห่งสันติภาพและความมั่นคงของโลก ชี้ว่าการเจรจาและการเคารพต่อประเทศอื่นๆ
เป็นหนทางแก้ไขความขัดแย้ง ไม่ใช่ด้วยการสร้างความขัดแย้งและการคว่ำบาตร
แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ฝ่ายการเมืองสหรัฐอาจไม่คิดเช่นนั้นและอาจกำลังทำตรงข้าม
เช่น เรียกร้องเพิ่มมาตรการคว่ำบาตร คงการคว่ำบาตรอย่างไม่สิ้นสุด ที่สุดแล้วจะเป็นเช่นไร
อนาคตจะเป็นผู้ให้คำตอบ
ถ้าวิเคราะห์จากมุมอิหร่าน
ดังที่วิเคราะห์แล้วว่าสหรัฐอยู่ในฐานะได้เปรียบ การคว่ำบาตรได้ผล ท้ายที่สุดอิหร่านอาจเลือกยอมตามเงื่อนไขของฝ่ายตะวันตก
เหลือโครงการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมให้เพียงพอกับการใช้ผลิตไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เท่านั้น
เพียงแต่ต้องบรรลุเงื่อนไขที่อิหร่านต้องการ นั่นคือยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด การเจรจาในช่วงนี้เป็นจุดสำคัญ
เพราะหากเลยเส้นตาย 1 กรกฎาคม 2015 สหรัฐจะเข้าสู่ช่วงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
โครงการนิวเคลียร์อิหร่านจะกลายเป็นหนึ่งในประเด็นหาเสียงอย่างสมบูรณ์
สถานการณ์จะซับซ้อนยิ่งกว่าที่เป็นอยู่
โจทย์ที่ยากจะคาดเดาคือไม่รู้ว่าประธานาธิบดีโอบามาจะตัดสินใจอย่างไร
ระหว่าง ก) บรรลุข้อตกลงฉบับสมบูรณ์เพื่อเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ข) ขยายข้อตกลงชั่วคราวออกไปเรื่อยๆ
เป็นวิธีปฏิเสธตามแบบฉบับของท่าน ค)
ท่านอยู่ในภาวะถูกกดดันอย่างหนักจนไม่เป็นตัวของตัวเอง
7 ธันวาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6606 วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2557, http://www.ryt9.com/s/tpd/2045814)
----------------------
ข้อตกลง Joint Plan of Action มีผลชั่วคราว นั่นหมายความว่าอนาคตไม่แน่นอน
ถ้ามองในแง่ดีเป็นโอกาสที่ต่างฝ่ายต่างแสดงความปรารถนาดีต่อกัน
เป็นกระบวนการสร้างความไว้วางใจ และนำสู่การเจรจาขั้นสุดท้าย ถ้ามองในแง่ร้าย
การผ่อนคลายการคว่ำบาตรมีผลชั่วคราว รัฐบาลสหรัฐยังคว่ำบาตรต่อไป
ข้อตกลงชั่วคราวกลายเป็นเครื่องมือที่ประเทศคู่เจรจาใช้กดดันอิหร่าน
บรรณานุกรม :
1. AEOI Chief: Iran to Start Voluntary Suspension of
Enrichment in Fordo, Natanz Today. (2014, January 19). FNA. Retrieved
from http://english.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13921030000506
2. Agreement on issues, differences on details. (2014,
November 26). The Japan News/AP. Retrieved from http://the-japan-news.com/news/article/0001745015
3. Dargie, Richard. (2008). Iran.USA: Arcturus Publishing.
4. Khamenei says West will not defeat Iran. (2014, November
25). Al Arabiya News. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2014/11/25/Khamenei-says-West-will-not-defeat-Iran.html
5. Morello,
Carol., & DeYoung,
Karen. (2014, November 24). Iran nuclear talks extended for 7 months
amid impasse ahead of deadline. The Washington Post. Retrieved from
http://www.washingtonpost.com/world/at-deadline-iran-nuclear-talks-shift-to-efforts-at-keeping-negotiations-alive/2014/11/24/96e05284-73d0-11e4-a5b2-e1217af6b33d_story.html
6. Naji, Kasra. (2008). Ahmadinejad: The Secret History
of Iran's Radical Leader. CA: University of California Press.
7. Peaceful N-Decision Final. (2006, 28 August). Iran
Daily. http://www.iran-daily.com/1385/2647/html/)
8. President Addresses UN General Assembly on Terrorism,
Iran's N. Issue. (2014, September 25). FNA. Retrieved from
http://english.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13930703001044
9. The White House. (2013, September 24). Remarks by
President Obama in Address to the United Nations General Assembly. Retrieved
from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/09/24/remarks-president-obama-address-united-nations-general-assembly
10. The White House. (2014, November 24). Press Briefing by
Press Secretary Josh Earnest. Retrieved from
http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/11/24/press-briefing-press-secretary-josh-earnest
11. Wilner,
Michael. (2014, July 20). Israel resigned to four more months in global
diplomatic effort with Iran. The Jerusalem Post. Retrieved from http://www.jpost.com/Diplomacy-and-Politics/Israel-resigned-to-four-more-months-in-global-diplomatic-effort-with-Iran-363495
--------------------------------