ข้อพึงระวังตีความเหตุการณ์ ‘ชาร์ลีเอบโด’

เหตุผู้ก่อการร้ายจำนวนหนึ่งเข้าโจมตีสำนักพิมพ์นิตยสารชาร์ลีเอบโด (Charlie Hebdo) ที่เขียนลบหลู่อิสลามเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมากลายเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก ในกระแสวิพากษ์วิจารณ์มีการพูดกันหลายแง่หลายมุม บ้างโจมตีมุสลิม บ้างโจมตีชาติตะวันตก อิสราเอล ส่อเค้าเพิ่มความบาดหมางระหว่างกลุ่มคนที่เห็นต่าง
ในการวิพากษ์วิจารณ์มีเรื่องที่ควรระวัง ดังนี้
ประเด็นแรก เป็นการโจมตีประเทศฝรั่งเศส ระบบประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องศาสนา
            เรื่องที่ต้องระวังยิ่งยวดคือกลายเป็นสงครามระหว่างมุสลิมกับคนที่ไม่ใช่มุสลิม
Nasser bin Ali al-Ansi ผู้นำอัลกออิดะห์ในเยเมนที่ชื่อ Organization of al-Qaeda al-Jihad in the Arabian Peninsula (AQAP) ประกาศว่าเหตุก่อการร้าย “ชาร์ลีเอบโด” เป็นคำสั่งโดยตรงจากผู้นำอัลกออิดะห์คนปัจจุบัน หรือ Ayman al-Zawahiri เพื่อแก้แค้นทางศาสนา
ถ้าเชื่อคำอ้างของผู้นำอัลกออิดะห์ การโจมตีครั้งนี้ไม่ได้มุ่ง “ชาร์ลีเอบโด” เท่านั้น พยายามชี้ว่าเป็นเรื่องของศาสนา ตามอุดมการณ์ของพวกอัลกออิดะห์
แต่ความจริงแล้ว ถ้าอ้างว่าเป็นอัลกออิดะห์ น่าจะเป็นเรื่องความขัดแย้งเก่า การต่อสู้ที่ยังดำเนินไปเรื่อยๆ ระหว่างกลุ่มก่อการร้ายกับชาติตะวันตก ไม่เกี่ยวข้องกับมุสลิมหรือศาสนาแต่อย่างไร การหยิบยกประเด็น “ชาร์ลีเอบโด” เป็นเพียงข้ออ้างหรือตัวจุดประเด็นเท่านั้น ไม่ว่า “ชาร์ลีเอบโด” จะลบหลู่อิสลามหรือไม่ อัลกออิดะห์ก็มุ่งทำลายชาติตะวันตกอยู่ดี
ถ้ายึดถือข้อมูลข้างต้น คู่กรณีหลักจึงเป็นอัลกออิดะห์กับรัฐบาลชาติตะวันตก เป็นความขัดแย้งเก่าที่ดำเนินเรื่อยมา

ผลจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มุสลิมในฝรั่งเศสหลายคนถูกคุกคาม ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย ต้องตระหนักว่าพวกสุดโต่งเหล่านี้แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่มุสลิม แม้พวกเขาจะแต่งตัวเหมือนมุสลิม ละหมาดเหมือนมุสลิมก็ตาม
Imade Annouri ผู้นำศาสนาคนหนึ่งกล่าวว่า “มุสลิมทุกคนรู้สึกไม่สบายใจ เหมือนกับถูกคุกคาม กลัวที่จะถูกใส่ร้ายป้ายสี [ว่าเป็นผู้ก่อการร้าย] และอาจถูกทำร้าย”
นายโลรองต์ ฟาบิอุส (Laurent Fabius) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส เตือนว่าอย่ามองว่ามุสลิมฝรั่งเศสเป็นพวกผู้ก่อการร้าย “ศาสนาของผู้ก่อการร้ายไม่ใช่อิสลามที่พวกเขาทรยศ” คำกล่าวของรัฐมนตรีฟาบิอุสตอกย้ำการแยกมุสลิมออกจากผู้ก่อการร้าย
            Patrick Mennucci นักการเมืองสายสังคมนิยมกล่าวว่า มีมุสลิมในฝรั่งเศสราว 5-6 ล้านคน แต่มีผู้ก่อการร้ายเพียง 1,000 คนเท่านั้น “เราต้องระวังไม่ใส่ร้ายป้ายสีทุกคน” ว่าเป็นผู้ก่อการร้าย

            แม้ผู้ก่อเหตุมีพื้นฐานเป็นมุสลิม แต่พฤติกรรมส่อว่าไม่ใช่มุสลิม เป็นการนำศาสนามาบังหน้าเท่านั้น ดังนั้น ไม่ควรถือว่าศาสนาเป็นต้นเหตุ ที่สุดแล้วเป็นเรื่องของพวกสุดโต่งด้วยกัน คือมุสลิมสุดโต่งกับเสรีนิยมสุดโต่ง คนเหล่านี้เป็นคนจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับคนทั้งหมด แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อมุสลิมจำนวนมาก ทั้งๆ พวกเขาไม่เห็นด้วยกับผู้ก่อการร้าย ไม่เห็นด้วยกับพวกสุดโต่ง
อย่าให้ “ชาร์ลีเอบโด” สร้างความแตกแยกไม่ว่าจะเป็นสังคมภายในประเทศ หรือสังคมโลก
            ภัยคุกคามที่กำลังต่อสู้กับฝรั่งเศสคือพวกผู้ก่อการร้ายสุดโต่งที่อ้างศาสนา รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนอยู่แล้ว

ประเด็นที่ 2 คนฝรั่งเศสกังวลอิสลามานุวัตร (Islamization)
            ในอีกมุมหนึ่ง บางคนตีความว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ชาวฝรั่งเศสกลัวมุสลิม ที่หนักกว่านี้คือ กังวลต่อสถานการณ์อิสลามในประเทศ ทำให้อัตลักษณ์ประเทศเปลี่ยนไป
เรื่องนี้ปัญหาเรื้อรังและเป็นประเด็นถกเถียงระดับชาติ เมื่อเดือนตุลาคม 2009 Nicolas Sarkozy ประธานาธิบดีในสมัยนั้นตั้งหัวข้ออภิปราย “อัตลักษณ์แห่งชาติ” มีการอภิปรายแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ชี้ว่าสังคมกังวลเรื่องการเข้ามาของต่างชาติ หรือพูดให้ตรงคืออิสลามานุวัตร (Islamization)

เป็นความจริงที่มุสลิมอพยพย้ายถิ่นเข้าประเทศ นำศาสนา วัฒนธรรม วิถีการดำเนินชีวิต อาหารการกินของตนที่แตกต่างจากชาวยุโรป ทำให้อัตลักษณ์เปลี่ยนแปลงในบางพื้นที่
ถ้าพิจารณาเรื่องนี้โดยยึดความจริงมากกว่าความรู้สึก ความจริงคือมีมุสลิมในประเทศเพียง 5-6 ล้านคน จากประชากรทั้งสิ้น 66.2 ล้านคน หรือเท่ากับร้อยละ 7.5-9.0 เป็นชนกลุ่มน้อยของสังคม (ชาวฝรั่งเศสกว่าร้อยละ 80 แจ้งว่านับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก รองมาคือมุสลิม)
อัตลักษณ์บ้านเมืองเปลี่ยนไปบ้างจากเหตุมีมุสลิมมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นฝรั่งเศสเช่นเดิม  อีกทั้งสภาพบ้านเมืองทางกายภาพเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นพร้อมกับการพัฒนาประเทศ เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก ยกเว้นประเทศด้อยพัฒนา

            ความจริงอีกด้านคืออัตลักษณ์ฝรั่งเศสเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา นับจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวยุโรปส่วนใหญ่แม้ถือว่าตนนับถือศาสนาคริสต์ แต่ผู้เข้าโบสถ์ลดน้อยลงอย่างน่าตกใจ เนื่องจากรัฐบาลพยายามแยกระหว่างรัฐกับศาสนา เด็กรุ่นใหม่ไม่คุ้นเคยกับศาสนา กลายเป็นความแปลกแยก การสอนพระคัมภีร์ในโบสถ์นับว่าจะลดความเข้มข้น หลักคำสอนให้ความสำคัญกับปัญหาสังคมมากกว่าเรื่องเกินธรรมชาติ
            มีสถิติที่น่าสนใจ คือ ในช่วงทศวรรษ 1980-90 ผู้ใหญ่ยุโรปกว่าร้อยละ 40 ยังตอบว่าศาสนาเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต แต่เมื่อถามว่าสำคัญหรือไม่ที่จะถ่ายทอดความเชื่อแก่ลูกหลาน ร้อยละ 17 เท่านั้นที่ตอบว่าสำคัญ นับวันอิทธิพลของศาสนาคริสต์จึงลดน้อยในทุกมิติ

            บางคนอาจมองการเปลี่ยนแปลงของอัตลักษณ์จากวัตถุสิ่งของภายนอก ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน หากนำภาพถ่ายในอดีตมาเปรียบเทียบกับภาพถ่ายปัจจุบันจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ตั้งแต่วิทยุ นาฬิกา รถยนต์ จนถึงตึกรามบ้านช่อง
            แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญกว่าคือการเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจคน แม้ในระบบทะเบียนจะแจ้งว่าชาวฝรั่งเศสกว่าร้อยละ 80 นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก แต่จะเหลือกี่คนที่ศรัทธาจริงจัง พฤติกรรม ค่านิยมของสังคมจึงเปลี่ยนแปลงจากเดิม
            ถ้าพูดถึงอัตลักษณ์ต้องกลับมาที่นิยาม ว่าอัตลักษณ์ของฝรั่งเศสคืออะไรกันแน่ นิยามที่ระบุไว้เป็นตัวอักษรสอดคล้องกับความจริงหรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องหรือไม่
            ในอีกด้านหนึ่ง ถ้ายึดมั่นว่าฝรั่งเศสส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ก็ไม่ควรมีใครต่อต้านหากคนฝรั่งเศสหันไปนับถืออิสลามมากขึ้น เพราะทั้งหมดนี้มาจากเจตจำนงของประชาชนโดยเสรีมิใช่หรือ ความพยายามที่จะรักษาสภาพเดิมๆ ก็ไม่ต่างจากการกลับไปสู่ยุโรปสมัยกลางตอนปลายที่พวกเสรีนิยมต่อต้านศาสนาจักร

            สถานการณ์ในขณะนี้คือ คนกลุ่มหนึ่งปกป้อง “ชาร์ลีเอบโด” เรียกร้องเสรีภาพสื่อ แต่กังวลอิสลามขยายตัว (กังวลคนใช้เสรีภาพไปนับถืออิสลาม) จึงเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันเอง
            ทั้งๆ ที่รากฐานของเสรีนิยมคือการยึดมั่นว่าแต่ดั้งเดิมมนุษย์มีสิทธิ์ตามธรรมชาติเต็มร้อย การยึดมั่นเสรีนิยมในปัจจุบันคือการรักษา “ภาวะมีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์” (a State of perfect Freedom) ไม่ว่าจะเป็นด้านการกระทำ การคิด โดยไม่ต้องสนใจเจตจำนงของผู้อื่น เชื่อว่าประชาชนเป็นผู้มีเหตุผล มีความสามารถที่จะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อตน ดังนั้น รัฐจึงควรมีบทบาทน้อยที่สุด มีบทบาทเท่าที่จำเป็น เช่น ทำหน้าที่ควบคุมป้องกันไม่ให้บุคคลหนึ่งไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของอีกบุคคลหนึ่ง

ส่งเสริมประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง ปกป้องทุกศาสนา:
เสรีประชาธิปไตยส่งเสริมให้คนมีเสรีภาพในการยึดถือศาสนาความเชื่อต่างๆ ยอมรับความหลากหลายของชาติพันธุ์ แต่เรื่องที่กำลังเกิดขึ้นในฝรั่งเศสคือ นำประเด็นการก่อการร้ายของพวกสุดโต่งซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของสังคม มาเป็นเหตุจำกัดเสรีภาพ สร้างภาพความน่าหวาดกลัวของอิสลามอย่างผิดๆ
ถ้าไตร่ตรองให้รอบคอบจะเข้าใจว่าเสรีประชาธิปไตยของฝรั่งเศสกำลังถูกบั่นทอน ไม่ใช่เพราะพวกเสรีนิยมสุดโต่ง “ชาร์ลีเอบโด” หรือผู้ก่อเหตุร้ายซึ่งเป็นคนจำนวนน้อยนิด แต่มาจากการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การที่คนจำนวนไม่น้อยรังเกียจมุสลิมซึ่งขัดแย้งกับหลักประชาธิปไตย

ความชิงชังระหว่างผู้คนในสังคมจะเป็นเหตุให้อารยธรรมเสื่อม ต่อให้ประเทศมีความก้าวหน้าทางวิทยาการมากเพียงไร มีศิลปะที่วิจิตรตระการ มีภาษาที่ขึ้นชื่อว่าไพเราะที่สุด มีตึกรามบ้านช่องทันสมัยใหญ่โต มีประวัติศาสตร์ว่าเป็นต้นแบบการปฏิวัติประชาชน (ปฏิวัติฝรั่งเศส) นำระบอบเสรีประชาธิปไตยมาใช้ในโลกสมัยใหม่
หากความขัดแย้งระหว่างคนในชาติเป็นเรื่องจริง เท่ากับชี้ว่าสังคมฝรั่งเศสกำลังถดถอยจากเสรีนิยมประชาธิปไตย อารยธรรมกำลังเสื่อมโทรม โดยเฉพาะจิตใจของคนสังคม
            สังคมต้องหันกลับมามองว่าพลเมืองทุกคนคือส่วนหนึ่งของสังคม จะต้องก้าวไปด้วยกันแม้หน้าตา สีผิว ค่านิยมบางอย่างจะแตกต่างกัน

ประธานาธิบดีฟร็องซัว ออล็องด์ กล่าวว่ามุสลิมในประเทศเป็นเหยื่อรายแรกของความสุดโต่ง “ประชาชนฝรั่งเศสที่เป็นมุสลิมมีสิทธิ์ บทบาทหน้าที่ดังเช่นพลเมืองทั้งหมด พวกเขาต้องได้รับการคุ้มครองปกป้อง” “พฤติกรรมต้านมุสลิม ต้านยิว จะต้องได้รับโทษอย่างรุนแรง” ฝรั่งเศสมีกฎหมาย ค่านิยมของตน และเรื่องสำคัญคือ “เสรีภาพ ประชาธิปไตย”
            เช่นเดียวกับที่เยอรมนีซึ่งมีการชุมนุมประท้วงต่อต้านมุสลิม ชนกลุ่มน้อย นายกฯ แมร์เคิลประกาศจะดูแลปกป้องชาวยิวและมุสลิมในประเทศจากอคติ ชี้ว่าประชาธิปไตยที่เข้มแข็งเป็นหนทางต่อต้านความสุดโต่งที่ดีที่สุด เป็นการย้ำเตือนคำกล่าวก่อนหน้านี้ที่พูดว่า “อิสลามเป็นของประเทศเยอรมนี” พร้อมกับกล่าวว่า “วิถีชีวิตแบบชาวยิวเป็นของพวกเรา” รับปากว่าจะดูแลความปลอดภัยของมัสยิดต่างๆ “เพราะเราจะไม่ยอมให้ผู้ที่อ้างการก่อการร้ายอิสลามมาแบ่งแยกพวกเรา และสร้างความหวาดระแวงต่อมุสลิมทั้งหมดในเยอรมนี”
            “ในฐานะนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้าจะปกป้องมุสลิมในประเทศของเรา พวกเราทุกคนในบ้านหลังนี้จะทำเช่นนี้”
            ที่สุดแล้ว ประธานาธิบดีออล็องด์ย้ำเน้นให้ประชาชนยึดมั่นใน “เสรีภาพ ประชาธิปไตย” นายกฯ แมร์เคิลย้ำว่าพลเมืองที่เป็นพวกยิวหรือมุสลิมต่างเป็นส่วนหนึ่งของ “บ้าน” หลังใหญ่ที่ชื่อว่าประเทศ บ้านที่อยู่ร่วมกันอย่างปรองดองเท่านั้นที่คนในบ้านจะอยู่เย็นเป็นสุข ไม่ใช่เพื่อบางคนบางกลุ่มแต่เพื่อทุกคนที่อาศัยในบ้านหลังเดียวกันนี้
26 มกราคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ได้รับการเผยแพร่ผ่าน ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558, http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1416)
------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
เมื่อพูดถึงการสกัดกั้นการแผ่ขยายของกลุ่มก่อการร้าย คำตอบคือ ต้องไม่ปล่อยให้ผู้ก่อการร้ายมีเงื่อนไขที่จะก่อเหตุ เราไม่อาจป้องกันเหตุก่อการร้ายทั้งหมด จึงต้องมุ่งลดความเสี่ยง จำกัดขอบเขตความสูญเสีย เสรีนิยมแบบตะวันตกมีข้อดีที่ให้เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่มีปัญหาเรื่องเสรีภาพที่ขัดแย้งกับความศรัทธาในศาสนา รัฐบาลที่ยึดมั่นในเสรีนิยมเช่นนี้จำต้องบริหารจัดการให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ไม่ใช่เอาน้ำมันราดกองไฟ เพราะจะก่อให้เกิดคำถามข้อสงสัยตามมาอีกหลายข้อ
กรณี “ชาร์ลีเอ็บโด” สังคมควรตั้งคำถามว่าผู้ก่อเหตุยิงสังหารกระทำตามหลักอิสลามหรือไม่ หรือว่าเป็นพวกบิดเบือนศาสนา เข้าใจหลักศาสนาผิดพลาด ในอีกด้านหนึ่ง การล้อเลียนโดยอ้างว่าเป็นเรื่องของการใช้เสรีภาพ ไม่ช่วยสร้างสรรค์สังคม เป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความแตกแยก ความเกลียดชัง เพราะเป็นที่รับรู้ทั่วไปอยู่แล้วว่าการลบหลู่อิสลามสร้างความแตกแยกในสังคม เป็นต้นเหตุความรุนแรง สังคมควรส่งเสริมพวกสุดโต่งเหล่านี้หรือไม่

บรรณานุกรม :
1. Al-Qaeda’s Zawahiri ‘ordered’ Paris attack. (2015, January 14). Al Arabiya News. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2015/01/14/Al-Qaeda-in-Yemen-claims-Charlie-Hebdo-attack.html
2. Birnbaum, Michael., & Deane, Daniela. (2015, January 15). Hollande vows to protect all religions in France, but warns open society untouchable. The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/world/hollande-vows-to-protect-all-religions-in-france-also-large-muslim-population/2015/01/15/921ec08e-9c3c-11e4-a7ee-526210d665b4_story.html
3. Brown, Stephen. (2015, January 15). Merkel vows to protect Germany's Jews and Muslims from extremism. Reuters. Retrieved from http://in.reuters.com/article/2015/01/15/germany-islam-idINL6N0UU2CY20150115
4. Central Intelligence Agency. (2014, July). France. In The World Factbook. Retrieved from https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/fr.html
5. Europe’s Muslims feel heat of backlash after Paris attacks. (2015, January 14). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/world/news/689331
6. Gaus, Gerald F. (1996). Liberalism. In Stanford Encyclopedia of Philosophy. Retrieved from http://plato.stanford.edu/entries/liberalism/ (1 of 13) [8/7/02 1:04:30 PM]
7. Gregory, Shaun. (2000). French Defence Policy Into the Twenty-First Century. Great Britain: ST. Martin’s Press.
8. Johnston, David C. (2007). Liberalism. In Encyclopedia of Governance. ( pp.524-528). USA: SAGE Publications.
9. Mandel, Maud S. (2014). Muslims and Jews in France: History of a Conflict. New Jersey: Princeton University Press.
10. Paxton, Robert O., & Hessler, Julie. (2012). Europe in the Twentieth Century (5th Ed.). USA: Wadsworth.
-------------------------------