โอบามาส่งสัญญาณแก้ปัญหา ISIL/ISIS ในอิรัก ด้วยการเสียสละของอัลมาลิกี

มีกระแสข่าวว่า รัฐบาลโอบามาส่งสัญญาณให้อิรักจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยปราศจากนายกรัฐมนตรี นูรี อัลมาลิกี (Nouri Al-Maliki) เนื่องจากเห็นว่านายกฯ อัลมาลิกีไม่สามารถสร้างความปรองดองให้กับคนในชาติ รัฐบาลใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นจะให้ความสำคัญกับความต้องการของพวกซุนนีกับชาวเคิร์ด การที่เป็นเช่นนี้สาเหตุหนึ่งมาจากนักการเมืองสหรัฐหลายคนร่วมกับรัฐบาลซาอุฯ กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กดดันให้รัฐบาลโอบามายุติสนับสนุนนายกฯ อัลมาลิกี วุฒิสมาชิก Dianne Feinstein จากพรรคเดโมแครตกล่าวว่า “รัฐบาลอัลมาลิกีต้องสมัครใจออกไป ถ้าต้องการสมานฉันท์”
            สื่อ The Wall Street Journal อ้างแหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่สหรัฐกับอาหรับ ชี้ว่าตลอดห้าปีที่ผ่านมา รัฐบาลโอบามาได้เตือนรัฐบาลอัลมาลิกีให้กระจายอำนาจแก่พวกซุนนี และไม่พยายามจับพวกซุนนีมาลงโทษ เพราะจะยิ่งสร้างความแตกแยก แต่นายกฯ อัลมาลิกีไม่สนใจคำแนะนำเหล่านั้น ยังคงพยายามรวบอำนาจไว้กับตนเอง
วิเคราะห์ท่าทีของประธานาธิบดีโอบามา :
            จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า มูลเหตุท่าทีของประธานาธิบดีโอบามาครั้งนี้ มาจากการก่อการของกองกำลังติดอาวุธ Islamic State of Iraq and the Levant (ISIL) หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ Islamic State in Iraq and Syria (ISIS) ที่สามารถยึดเมืองต่างๆ หลายเมืองในหลายจังหวัดได้อย่างรวดเร็ว โดยแทบจะปราศจากการต่อต้านใดๆ
            ถ้ามองในกรอบแคบ น่าจะสรุปได้ว่า การก่อการของกลุ่มผู้ก่อการร้าย ISIL จำนวนไม่ถึงหมื่นนาย มีพลังอำนาจมาก จนสามารถผลักดันให้ประธานาธิบดีโอบามาตัดสินใจกดดันนายกฯ อิรักให้พ้นทาง และถ้าอธิบายตามเหตุผลของรัฐบาลโอบามา จะได้ว่ารัฐบาลสหรัฐเห็นว่าปฏิบัติการควบคุมพื้นที่หลายจังหวัดของ ISIL เป็นเหตุให้ต้องตัดสินใจว่า ไม่ว่าอย่างไรจะต้องผลักดันให้ฝ่ายชีอะห์ของนายกฯ อัลมาลิกีถอยห่างจากอำนาจบริหารประเทศ

            ถ้ามองในกรอบที่กว้างขึ้น เป็นที่ค่อนข้างแน่ชัดว่าผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่นสายซุนนีจำนวนมากให้การสนับสนุนการก่อการของ ISIL เป็นเหตุผลว่าทำไมการควบคุมเมืองต่างๆ จึงกระทำได้โดยง่าย ผู้นำท้องถิ่นซุนนีส่วนใหญ่ไม่ต่อต้าน เป็นเหตุให้ประธานาธิบดีโอบามาต้องประกาศจุดยืนแต่ต้นว่า ปัญหาอิรักไม่อาจแก้ด้วยกำลังทหารเท่านั้น ที่ผ่านมาผู้นำอิรักไม่สามารถแก้ปัญหาความไม่ไว้วางใจและความแตกแยกทางศาสนาที่ระอุมาอย่างยาวนาน ปัญหาจึงต้องแก้ที่รัฐบาลอิรักด้วย พร้อมกับกล่าวว่า ที่สุดแล้วขึ้นกับชาวอิรักที่ต้องแก้ปัญหาของตนเอง ในฐานะชาติอธิปไตย

            รัฐบาลโอบามาอาจประเมินแล้วว่า หากสหรัฐเข้าพัวพัน หรือมุ่งสนับสนุนใช้กำลังทหาร จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งบานปลาย ต้องไม่ลืมว่าทุกวันนี้ความขัดแย้งภายในอิรักส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเดือนละหลายพันคนอยู่แล้ว หากรัฐบาลต่างชาติต่างพากันสนับสนุนด้วยอาวุธสงคราม เงินทุนมหาศาล สถานการณ์ในอิรักอาจพัฒนากลายเป็นสงครามกลางเมืองแบบที่กำลังเกิดขึ้นในซีเรีย ที่ดำเนินยืดเยื้อมาแล้วกว่า 3 ปี มีผู้เสียชีวิตกว่า 150,000 ราย
            ที่ผ่านมารัฐบาลโอบามาพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพาตัวเองเข้าพัวพันในซีเรียอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะไม่อยากให้ปรากฏทางสื่อ ซึ่งเสี่ยงต่อชื่อเสียงของตนเอง อีกทั้งผลสำรวจจากหลายสำนักต่างชี้ว่าตรงกันว่าชาวอเมริกันไม่ต้องการให้ประเทศของตนเข้าไปยุ่งเกี่ยว ในแง่หนึ่งต้องชื่นชมประธานาธิบดีโอบามาว่าเป็นตัวอย่างของผู้นำประเทศที่ฟังเสียงพลเมืองเจ้าของประเทศ
            ในการสรรหาผู้ที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกฯ อิรักคนต่อไป มีกระแสข่าวว่าขณะนี้กำลังพิจารณาหลายตัวเลือก เป็นผู้นำสายชีอะห์ที่พวกซุนนีกับพวกเคิร์ดยอมรับ เป็นการแก้ไขตามข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลอัลมาลิกีรวบอำนาจ กำจัดศัตรูทางการเมือง และควบคุมผลประโยชน์เศรษฐกิจไว้กับพวกตนเอง ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างความพอใจแก่ฝ่ายต่อต้าน โดยเฉพาะพวกซุนนีที่ไม่อยากเห็นนายอัลมาลิกีในฐานะนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป

รัฐบาลอเมริกาผู้ยกชูและกำลังจะโค่นล้มนายอัลมาลิกี :
            รัฐบาลสหรัฐให้การสนับสนุนนายอัลมาลิกีตั้งแต่เป็นนายกฯ สมัยแรก และเมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งในปี 2007 ก็เริ่มต้นรวบอำนาจต่างๆ ไว้ในมือ ทั้งอำนาจทหาร ตำรวจ ด้วยการแต่งตั้งคนที่ตนไว้ใจ โดยไม่ฟังเสียงนักการเมืองสายอื่นๆ คุณ Phebe Marr ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอิรัก บรรยายว่ารัฐบาลสหรัฐในสมัยนั้นเข้าใจเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดี และต้องการให้กองกำลัง Sahwa (กองกำลังซุนนีที่สหรัฐให้การสนับสนุน) เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังป้องกันประเทศ แต่นายกฯ อัลมาลิกีเกรงว่ากองกำลังเหล่านี้จะเป็นการศัตรูของตนเองในอนาคต จึงไม่ให้พวก Sahwa เข้ารับราชการ ทั้งยังทำการจับกุมผู้นำซุนนีหลายคน กล่าวโทษว่าเป็นผู้สนับสนุนเหตุความไม่สงบภายในประเทศ พวกซุนนีบางคนกล่าวว่านายกฯ อัลมาลิกีใช้วิธีการก่อการร้ายเพื่อขจัดศัตรูทางการเมือง
            ด้วยพฤติกรรมดังกล่าว ทำให้พวกซุนนีเห็นว่านายกฯ อัลมาลิกีกำลังแบ่งแยกทางศาสนา ทำลายความเป็นเอกภาพ เรียกร้องให้นายกฯ อัลมาลิกีลาออกจากตำแหน่ง รัฐสภาอภิปรายไม่ไว้วางใจเขาถึง 2 ครั้งในปี 2007 แต่ไม่อาจโค่นล้มนายกฯ อัลมาลิกี นับจากนั้นเป็นต้นมา การเมืองอิรักตกอยู่ในสภาพเป็นอัมพาต แม้มีผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่ผู้ขึ้นมาเป็นผู้นำฝ่ายบริหารทำการรวบอำนาจ ไม่ฟังเสียงฝ่ายค้าน

            ไม่เพียงแต่แตกแยกกับพวกซุนนี พวกชีอะห์ยังแตกคอกันเองด้วย ในปี 2007 ปีเดียวกันนี้ รัฐมนตรีสาย Sadrist (เป็นชีอะห์สายหนึ่ง) ลาออกจากการร่วมรัฐบาล และตามมาด้วยการลาออกจากกลุ่มการเมืองอื่นๆ อีกหลายกลุ่ม เป็นเหตุให้รัฐบาลสหรัฐต้องออกโรงช่วยประสานรอยร้าว นำแกนนำพรรคการเมืองสำคัญๆ 5 พรรค ให้เข้ามามีบทบทต่อการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ของรัฐบาล ช่วยให้รัฐบาลอัลมาลิกีสามารถทำงานต่อไป รัฐบาลบุชในสมัยนั้นตีความว่า นายกฯ อัลมาลิกีไม่ใช่พวกยึดติดเรื่องนิกายศาสนา (ตามข้อกล่าวหาจากพวกซุนนี) และตีความว่าเหตุที่คณะรัฐบาลมีปัญหาเพราะพรรคร่วมหัวแข็ง ไม่ยอมประนีประนอม และหากกดดันให้นายกฯ อัลมาลิกีลาออก อาจทำให้การเมืองอิรักปั่นป่วนอีกครั้ง
            จากท่าทีสนับสนุนของรัฐบาลบุช ทำให้นายกฯ อัลมาลิกียิ่งรวบอำนาจไว้กับตนเองเข้มข้นกว่าเดิม

            3 ปีต่อมา (2010) อิรักจัดการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง ผลการเลือกตั้งออกมาว่า พรรคของนายอัลมาลิกีได้คะแนนเป็นที่ 2 คือได้ 89 ที่นั่ง พรรคที่ได้ที่นั่งในรัฐสภามากที่สุดคือพรรค Iraqiyya ของนาย Ayad Allawi ซึ่งเป็นชีอะห์อีกสายหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากพวกซุนนีบางกลุ่ม พรรคนี้ได้ 91 ที่นั่ง แต่ปรากฏว่านาย Allawi ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาล ผู้ที่ได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลคือพรรคของนายอัลมาลิกี จนนายอัลมาลิกีได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยที่ 2 สืบเนื่องจากจนถึงปัจจุบัน
            การที่นายอัลมาลิกีสามารถจัดตั้งรัฐบาลอีกสมัย เนื่องจากสามารถรวบรวมพรรคอื่นๆ ที่ตอนแรกไม่ยอมเข้าร่วมให้กลับมาร่วมมือกับนายอัลมาลิกีอีกครั้ง เช่น สายของ Sadrists และพวกเคิร์ด เหตุผลเบื้องหลังคือรัฐบาลโอบามาให้การสนับสนุน โดยให้เหตุผลว่าเป็นผู้นำสายชีอะห์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด (รวมทั้งแรงกดดันบางส่วนจากอิหร่านที่ให้พวก Sadrists หันมากลับมาสนับสนุนนายกฯ อัลมาลิกี)
            ดังนั้น การกำเนิดและการคงอยู่ของนายกฯ อัลมาลิกี จึงเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนของรัฐบาลอเมริกาโดยตรง ตั้งแต่รัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช จนถึงมาประธานาธิบดีโอบามา การที่นายอัลมาลิกีสามารถดำรงตำแหน่งอิรักในสมัยที่ 2 จนถึงปัจจุบันก็ด้วยรัฐบาลโอบามาโดยแท้
            และในยามนี้ รัฐบาลสหรัฐจะทำหน้าที่อีกครั้ง ด้วยการกดดันให้นายอัลมาลิกีพ้นทาง ทำการสรรหาคนใหม่เข้ามาแทนที่

จะเป็นชัยชนะของฝ่ายซาอุฯ หรือเป็นชัยชนะของฝ่ายอิหร่าน :
            หากเชื่อในสมมติฐานว่า รัฐบาลซาอุฯ กับพันธมิตรอาหรับคือผู้อยู่เบื้องหลัง ผู้ให้การสนับสนุนขบวนการ ISIL จนสามารถโค่นล้มอำนาจของนายกฯ อัลมาลิกี ย่อมถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของซาอุฯ กับพวก
            แต่ประเด็นอิรักในขณะนี้เกี่ยวข้องกับอิหร่านด้วย เพราะรัฐบาลอิหร่านมีความสัมพันธ์ยาวนานลึกซึ้งกับพวกชีอะห์อิรัก ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า รัฐบาลอิหร่านมีส่วนกดดันพวก Sadrists ให้หันมากลับมาสนับสนุนนายอัลมาลิกี จนได้เป็นนายกฯ สมัยที่ 2
            ดังนั้น ทั้งรัฐบาลสหรัฐกับอิหร่านจึงมีอิทธิพลต่อพวกชีอะห์ในอิรัก ณ ขณะนี้ รัฐบาลโอบามาจึงหวังพึ่งพาอิหร่านเพื่อช่วยแก้ไขสถานการณ์ พยายามขอร่วมมือกับรัฐบาลอิหร่าน เริ่มจากมีข่าวว่า สหรัฐจะร่วมปฏิบัติการทางทหารกับอิหร่านเพื่อปราบกองกำลัง ISIL ซึ่งทางการอิหร่านออกมาปฏิเสธครั้งแล้วครั้งเล่า

            ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลโอบามาต้องเจรจากับฝ่ายซาอุฯ เช่นกัน การที่รัฐบาลโอบามายังไม่ลงมือใช้ปฏิบัติการทางทหาร และดูเหมือนว่าพยายามถ่วงเวลา น่าจะเป็นเพราะอยู่ระหว่างเจรจา เพราะคงไม่เหมาะที่จะเจรจากับพวกซุนนีท่ามกลางการโจมตีจากสหรัฐ
            ถ้าว่าที่นายกฯ คนใหม่เป็นสายชีอะห์ ที่ไม่ใช่นายอัลมาลิกีอีก จะเป็นชัยชนะของฝ่ายซาอุฯ หรือฝ่ายอิหร่านเป็นเรื่องที่ถกกันได้ เพราะยังต้องดูผลลัพธ์ที่จะตามมาดังเช่นเมื่อสมัยนายอัลมาลิกีขึ้นเป็นนายกฯ แล้วทำการรวบอำนาจ ไม่ฟังเสียงใดๆ แต่ที่แน่นอนคือเป็นชัยชนะของฝ่ายสหรัฐอีกครั้ง

คำถาม สถานะของ ISIL/ISIS ในอนาคต :
            อีกหนึ่งประเด็นที่จะต้องถกกันคือ หากเรื่องจบลงด้วยดี ได้ว่าที่นายกฯ คนใหม่ที่ทุกฝ่ายพอใจ กองกำลังติดอาวุธ ISIL ถอนตัวจากพื้นที่ยึดครอง สถานะของฐานที่มั่นและกองกำลังของ ISIL ในอิรักจะเป็นอย่างไร
            ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโอบามาเคยกล่าวว่า จะไม่ยอมให้พวกญิฮาดเหล่านี้สามารถตั้งมั่นอย่างถาวรในอิรักหรือซีเรีย และกำลังพิจารณาทุกทางเลือกที่สามารถทำได้ และยังเคยกล่าวอีกว่า ISIL เป็น “องค์กรผู้ก่อการร้าย” ที่ปฏิบัติการในอิรักกับซีเรีย เป็นภัยคุกคามต่อประเทศอิรักและชาวอิรัก และที่สุดแล้วเป็นภัยต่อผลประโยชน์สหรัฐ
            เป็นอีกเรื่องที่จะต้องคลี่คลาย และต้องระวังคำวิพากษ์วิจารณ์ที่กำลังจะตามมา

            ประเด็นการกดดันให้นายอัลมาลิกีพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงประเด็นหนึ่งที่กำลังถกเถียงกันอยู่ สถานการณ์อิรักในขณะนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่กำลังถกเถียงกันอีกมาก มีการพูดถึงสงครามกลางเมือง สงครามศาสนา การแบ่งอิรักเป็นหลายเขตการปกครอง แต่ไม่ว่าจะเป็นประเด็นใดล้วนเป็นเรื่องซับซ้อน พัวพันหลายประเทศ หลายมิติ ไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ไขให้จบได้ง่ายๆ
            เช่นเดียวกับเรื่องที่นายกฯ อัลมาลิกีจะก้าวลงจากตำแหน่งหรือไม่เป็นเรื่องซับซ้อน พัวพันกับหลายรัฐบาลหลายประเทศ มีทั้งมิติอำนาจการเมืองระหว่างประเทศ อำนาจการเมืองท้องถิ่น เรื่องของเชื้อชาติ ศาสนาและกระทั่งตัวนายอัลมาลิกีเอง แถมยังมีกองกำลังติดอาวุธ ISIL/ISIS ที่ตั้งตนเป็นปรปักษ์ต่อพวกชีอะห์ อยากสถาปนารัฐอิสลามตามแนวทางของตนเอง
            ถ้ามองว่าประธานาธิบดีโอบามาปรารถนาดี อยากให้เรื่องลงเอยด้วยดี น่าจะเอาใจช่วยให้ท่านมีสติปัญญาแก้ไขปัญหาอันซับซ้อนเหล่านี้
22 มิถุนายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6438 วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2557)
-------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
นับจากการก่อตั้ง ISIL เป้าหมายและการแสดงออกของกลุ่มนั้นชัดเจนและสอดคล้องกัน คือสถาปนารัฐอิสลามในอิรักกับซีเรีย การยึดพื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกซุนนีดูเป็นเรื่องง่าย แต่หาก ISIL ต้องการยึดอิรักทั้งประเทศ จะต้องยึดพื้นที่เขตปกครองของพวกเคิร์ดและชีอะห์ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ภายใต้ศักยภาพของกองกำลัง ISIL ในปัจจุบัน เป้าหมายเฉพาะหน้าที่ดูสมเหตุสมผลกว่าคือการควบคุมพื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกซุนนี หรือไม่ก็ให้สงครามกลางเมืองอิรักเป็นศึกยืดเยื้อ
นับจากการก่อตั้ง ISIL เป้าหมายและการแสดงออกของกลุ่มนั้นชัดเจนและสอดคล้องกัน คือสถาปนารัฐอิสลามในอิรักกับซีเรีย การยึดพื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกซุนนีดูเป็นเรื่องง่าย แต่หาก ISIL ต้องการยึดอิรักทั้งประเทศ จะต้องยึดพื้นที่เขตปกครองของพวกเคิร์ดและชีอะห์ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ภายใต้ศักยภาพของกองกำลัง ISIL ในปัจจุบัน เป้าหมายเฉพาะหน้าที่ดูสมเหตุสมผลกว่าคือการควบคุมพื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกซุนนี หรือไม่ก็ให้สงครามกลางเมืองอิรักเป็นศึกยืดเยื้อ

บรรณานุกรม:
1. Arango, Tim., & Gordon, Michael R. (2014, April 30). Amid Iraq’s Unrest, Maliki Campaigns as Strongman. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2014/04/30/world/middleeast/unrest-in-iraq-narrows-odds-for-maliki-win.html?hpw&rref=world&_r=0
2. Chandrasekaran, Rajiv. (2013, March 16). Five myths about Iraq. The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/opinions/five-myths-about-iraq/2013/03/15/f7a62a40-8772-11e2-9d71-f0feafdd1394_story.html
3. Iran will mull over helping Iraq fight ISIL if official request made: SNSC chief. (2014, June 15). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/politics/116315-iran-will-mull-over-helping-iraq-fight-isil-if-official-request-made-snsc-chief
4. Maliki’s bloc leads in Iraq election. (2014, May 19). The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/world/middle_east/malikis-bloc-leads-in-iraq-election/2014/05/19/f7e695cb-414b-4a63-879e-bd13df8ad8d7_story.html
5. Marr, Phebe. (2012). The Modern History of Iraq. USA: Westview Press.
6. Rubin, Alissa J., & Nordland, Rod. (2014, June 19). With Nod From U.S., Iraqis Seek New Leader. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2014/06/20/world/middleeast/maliki-iraq.html?recp=4&mabReward=&_r=0)
7. Solomon, Jay., & Lee, Carol E. (2014, June 18). U.S. Signals Iraq's Maliki Should Go. The Wall Street Journal. Retrieved from http://online.wsj.com/articles/u-s-signals-1403137521
8. Statement by the President on Iraq. (2014, June 13). The White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/06/13/statement-president-iraq
9. Two more towns fall to armed fighters in Iraq. (2014, June 12). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2014/06/two-more-towns-fall-armed-fighters-iraq-201461365442813358.html
--------------------------