ตั้งแต่การก่อการของ Islamic
State of Iraq and the Levant (ISIL) หรือ
Islamic State in Iraq and Syria (ISIS) และชื่อล่าสุดคือรัฐอิสลาม (IS) บุกควบคุมพื้นที่หลายจังหวัดหลายเมืองทางภาคตะวันตกและภาคเหนือของอิรัก
รัฐบาลโอบามาประกาศว่าจะต้องปราบปรามกองกำลัง IS สนับสนุนรัฐบาลมาลิกี
แต่ที่ผ่านมาทำน้อยกว่าที่พูดมาก ในช่วงที่กองกำลัง IS รุกคืบอย่างรวดเร็ว ประธานาธิบดีโอบามาตั้งเงื่อนไขการช่วยเหลือรัฐบาลแบกแดดว่า
สหรัฐจะให้การสนับสนุนด้วยกำลังอากาศ ก็ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่สหรัฐในอิรักถูกคุกคามโดยตรง
หรือรัฐบาลมาลิกีจะปรับเปลี่ยนนโยบายตอบสนองความต้องการของชาวอิรักทุกฝ่าย
ไม่กุมอำนาจไว้กับพวกตนเท่านั้น อันเป็นผลทำให้ประเทศแตกแยก
และยืนยันว่าจะไม่ส่งทหารเข้ารบในสมรภูมิพื้นราบโดยเด็ดขาด และกล่าวว่า
“ข้อสอบของพวกเขาคือเรื่องการเอาชนะความไม่ไว้วางใจ การแบ่งแยกทางศาสนาอย่างรุนแรง
บางส่วนก็เป็นเพียงเรื่องการฉกฉวยโอกาสทางการเมือง” สหรัฐจะทำสิ่งที่ถูกต้องแก่ประชาชนอิรัก
เงื่อนไขของประธานาธิบดีโอบามาเข้าใจง่าย นั่นคือต้องการกดดันนายกฯ มาลิกี
ซึ่งในขณะนั้นอยู่ระหว่างการเจรจาให้ท่านไม่เสนอชื่อตัวเองเป็นนายกฯ อีกสมัย แม้ว่าขั้วของท่านมีที่นั่งในสภามากที่สุด
อย่างไรก็ตาม นายกฯ มาลิกียืนยันความต้องการของตน
ท่ามกลางสถานการณ์ที่กองกำลัง IS กับกองกำลังกลุ่มอื่นๆ
เข้าควบคุมพื้นที่จำนวนมาก การเมืองอิรักอยู่ในภาวะชะงักงัน
2 เดือนหลังการเปิดฉากก่อการ
อิรักกลายเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อกองกำลัง IS รุกรานชนกลุ่มน้อยยาซิดี (Yazidis) ในเขตพื้นที่ชาวเคิร์ด ชาวยาซิดีราว
20,000-30,000 คนที่หลบซ่อนตัวอยู่ในแถบภูเขาซินจาร์ (Sinjar) กำลังตกอยู่ในอันตราย ประธานาธิบดีโอบามาเลิกลังเลใจ
เห็นว่าต้องช่วยเหลือชนกลุ่มน้อย สั่งเปิดยุทธการทางอากาศโจมตีกองกำลัง IS ทันที
ข้อแรก ชนกลุ่มน้อยดังกล่าวทำไมมีความสำคัญ
มีคุณค่ามากจนประธานาธิบดีโอบามาตัดสินใจใช้กำลัง ถ้าสหรัฐหวังช่วยชาวอิรักจากการก่อการของ
IS อย่างจริงจัง
ควรใช้กำลังกับพวก IS
มานานหลายเดือนแล้ว ไม่ควรปล่อยให้สถานการณ์อิรักบานปลาย
จนมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากการรุกรานของ IS นับพันคน ผู้อพยพอีกเกือบล้าน (สหประชาชาติรายงานตัวเลขล่าสุดว่า 700,000
คนอยู่ในเขตชาวเคิร์ด อีก 220,000 คนอยู่ในซีเรีย)
ข้อสอง การใช้กำลังทหารอากาศมีประโยชน์มากน้อยเพียงไร
ประธานาธิบดีโอบามาแสดงจุดยืนตั้งแต่ต้นว่าจะไม่ส่งทหารเข้าร่วมรบภาคพื้นดิน
แต่อาจสนับสนุนด้วยกำลังรบทางอากาศ นโยบายนี้แม้ตอบสนองเรื่องการไม่ส่งทหารเข้าไปเสี่ยงชีวิตในการรบภาคพื้นดิน
แต่เป็นจุดอ่อนหรือข้อจำกัดว่าสหรัฐไม่อาจจัดการกองกำลัง IS ได้อย่างเต็มที่ เกิดเสียงวิพากษ์ว่าหากสหรัฐเลือกที่จะช่วยอิรักด้วยการสนับสนุนทางอากาศเท่านั้น
การช่วยเหลือดังกล่าวจะไม่ได้ผล (เว้นแต่จะมีกำลังรบภาคพื้นดินจากที่อื่นมาเสริม
เช่น มีการพูดถึงกองทัพอิหร่าน แต่รัฐบาลอิหร่านไม่รับข้อเสนอ) เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ตลอด
2 เดือนที่ผ่านสหรัฐลังเลใจที่จะใช้กำลังทางอากาศ
สถานการณ์ล่าสุด การใช้กำลังทางอากาศมีผลเพียงช่วยสกัดการรุกคืบของกองกำลัง
IS ที่กำลังไล่ล่าชนกลุ่มน้อย และทำลายยานพาหนะจำนวนหนึ่ง
ผลลัพธ์ที่ได้มีประโยชน์เพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับ IS ที่กำลังควบคุมหลายเมืองหลายจังหวัด
ครอบคลุมประชากรหลายล้านคน กลับไปสู่ข้อวิพากษ์เดิมว่า
ลำพังการใช้กำลังทางอากาศเพียงอย่างเดียวไม่อาจปราบปรามผู้ก่อการร้ายเหล่านี้
ทางการสหรัฐก็ยอมรับในเรื่องนี้ นายพล
William Mayville ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของคณะเสนาธิการ
(director of operations for the Joint Staff) กล่าวว่าการโจมตีตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผลเพียงช่วยถ่วงการรุกคืบของผู้ก่อการร้าย
“ไม่มีผลต่อขีดความสามารถโดยรวมของ ISIL หรือปฏิบัติการของพวกเขาทั้งในอิรักกับซีเรีย”
สอดคล้องกับคำพูดของประธานาธิบดีโอบามาว่า เป้าหมายคือเพื่อป้องกันพลเมืองอเมริกันและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชนกลุ่มน้อยที่ติดอยู่ในภูเขา
ปราศจากน้ำและอาหาร คนเหล่านี้กำลังอดตาย ไม่มีความตั้งใจที่จะปราบปราม IS อย่างจริงจัง
การปกป้องพลเมืองอเมริกันหลายร้อยคนที่ทำงานในเมือง
Arbil/ Irbil เมืองหลวงของเคิร์ด ที่ห่างออกไปราว 50
กิโลเมตรเป็นเพียงเรื่องเดียวที่ฟังดูสมเหตุสมผล แต่ข้อสงสัยที่ตามมาคือ
ที่ผ่านมากองกำลัง IS ไม่ได้มุ่งยึดพื้นที่ของพวกเคิร์ดแต่อย่างไร
เป้าหมายของพวกเขาคือกรุงแบกแดด นอกจากนี้ IS สามารถเลือกโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐในที่ต่างๆ
อีกหลายประเทศถ้าต้องการทำเช่นนั้น การเลือกโจมตีเมือง Arbil/ Irbil
ไม่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี
คำถามข้างต้นมุ่งประเด็นสงสัยว่า ทำไมรัฐบาลโอบามาจึงใช้กำลังทางอากาศ เพื่อช่วยชนกลุ่มน้อย
ซึ่งมีผลต่อคนกลุ่มเล็กๆ เพียงกลุ่มหนึ่ง เมื่อเทียบกับชาวอิรักหลายล้านคนที่กำลังอยู่ใต้การควบคุมของ
IS ทุกฝ่ายรู้ดีว่าลำพังการใช้กำลังทางอากาศเพียงอย่างเดียว
ไม่อาจช่วยปลดปล่อยอิรักจากผู้ก่อการร้าย ส่วนข้อสันนิษฐานที่ว่า IS ต้องการโจมตีคนอเมริกันในเมืองหลวงของเคิร์ดนั้นเป็นทางเลือกที่สุ่มเสี่ยงเกินไป
หากมองข้ามสถานการณ์ของพวกยาซิดีมาสู่การเมืองอิรัก
มีข้อสังเกตว่าในช่วงที่สหรัฐใช้กำลังทางอากาศ
เป็นช่วงเวลาเดียวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญของอิรัก เมื่อนายฟูอัด มัสซูม
(Fuad Masum) ประธานาธิบดีอิรักเสนอชื่อนายกฯ
คนใหม่ที่ไม่ใช่นายมาลิกี
ตรงนี้มีความเข้าใจที่สำคัญคือ
อิรักในปัจจุบันสามารถแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ พวกชีอะห์ พวกซุนนี และชาวเคิร์ด
อำนาจการเมืองการปกครองกระจายตัวอยู่ใน 3 กลุ่ม มีการแบ่งสรรอำนาจต่อตำแหน่งสำคัญ
3 ตำแหน่ง คือ ตำแหน่งประธานาธิบดี โฆษกรัฐสภาและนายกรัฐมนตรี
เมื่อเดือนที่แล้ว นายมัสซูมได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี
เป็นตัวแทนจากชาวเคิร์ด ส่วนนาย Salim al-Jabouri ได้รับตำแหน่งโฆษกรัฐสภา เป็นตัวแทนของพวกซุนนี
ดังนั้น ตำแหน่งนายกฯ จะต้องเป็นพวกชีอะห์ นอกจากนี้
ศาลอิรักพิพากษาว่าขั้วของนายมาลิกีเป็นขั้วใหญ่ที่สุดของรัฐสภา
ยืนยันสิทธิ์ในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
จุดสำคัญคือ ในการเสนอชื่อว่าที่นายกฯ
คนใหม่ ประธานาธิบดีมัสซูมกลับเสนอชื่อนายไฮเดอร์ อัล-อาบาดี (Haider al-Abadi) นายอาบาดีมีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วน
คือเป็นสายชีอะห์ สังกัดพรรค Shi'ite Islamic Dawa พูดง่ายๆ คือเป็นสมาชิกพรรคคนหนึ่งของนายกฯ มาลิกีนั่นเอง
เป็นการประจวบเหมาะที่ กองกำลังอากาศสหรัฐปรากฏตัวในพื้นที่ของชาวเคิร์ด
เพื่อช่วยต่อต้านกองกำลัง IS ซึ่งน่าจะมีนัยทางการเมืองที่สำคัญแฝงอยู่
สอดคล้องกับข้อมูลจากสื่อหลายสำนักที่รายงานข่าวว่า นายกฯ
มาลิกีระดมทหารตำรวจจำนวนมากเข้ามาอยู่ในเขตพื้นที่ปลอดภัยชั้นใน (Green
Zone)
อันเป็นเขตที่ตั้งของสถานที่ราชการสำคัญๆ ในกรุงแบกแดด
จะเกินไปหรือไม่ ถ้าจะวิเคราะห์ว่า การปรากฏตัวของกำลังอากาศสหรัฐ
ไม่ใช่เพื่อการปราบปรามกองกำลัง IS
แต่ใช้เหตุช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยเพื่อเป็นข้ออ้างให้กองกำลังอากาศสหรัฐเข้าควบคุมน่านฟ้าอิรักทั้งหมด
แสดงถึงพลังอำนาจ “การมีอยู่” ของสหรัฐ
ในช่วงจังหวะที่อิรักกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ ที่นายกฯ
มาลิกีเปรียบเปรยว่าคือ “รัฐประหาร”
ก่อนจะยอมเปิดทางให้กับนายอาบาดี
สำหรับรัฐบาลโอบามา
ถ้าเปรียบเทียบระหว่างการปราบปรามกองกำลัง IS กับการเปลี่ยนตัวนายกฯ อิรัก รัฐบาลโอบามาประกาศชัดตั้งแต่ต้นว่า
สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคือการเปลี่ยนตัวนายกฯ และหวังว่านายกฯ อิรักคนใหม่จะสามารถสร้างความสมานฉันท์ปรองดองในอิรัก
อันเป็นวิถีทางที่ดีที่สุดที่จะนำความสงบสุขกลับคืนสู่อิรัก
และรัฐบาลสหรัฐก็เป็นฝ่ายได้ชัยอีกครั้ง
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป
:
หากมองภาพสถานการณ์อิรักอย่างครอบคลุม IS ไม่ได้ก่อการเพียงลำพัง ยังมีกองกำลังท้องถิ่นซุนนีบางเผ่า
และอดีตสมาชิกพรรคบาธ (Baath Party)
ของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน รวมอยู่ด้วย ข้อมูลบางชิ้นชี้ว่า IS เป็นกองกำลังส่วนน้อย มีสัดส่วนเพียงร้อยละ
7-10 เท่านั้น การก่อการของทั้ง 3 กลุ่มมีเป้าหมายร่วมคือการโค่นล้มรัฐบาลมาลิกี เหล่าผู้ก่อการเกือบทั้งหมดจึงเป็นชาวอิรักที่อยู่ภายใต้
“ชื่อกลุ่ม” ต่างๆ
เหตุการณ์ในอิรักชวนให้นึกถึงการโค่นล้มรัฐบาลอียิปต์ของประธานาธิบดีฮอสนี่
มูบารัค การโค่นล้มรัฐบาลของลิเบียของพ.อ.มูอัมมาร์ กัดดาฟี
และที่กำลังเกิดกับรัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด ทั้ง 4
กรณีรัฐบาลโอบามาไม่ถือว่ากองกำลังท้องถิ่นที่ลุกฮือกำลังก่อกบฏ แถมยังช่วยเหลือฝ่ายก่อการด้วยวิธีการต่างๆ
นานาตามบริบทของแต่ละกรณี รวมความแล้ว รัฐบาลโอบามาเข้าแทรกแซงกิจการภายในของทั้ง
4 ประเทศ โดยให้เหตุผลว่าผู้นำประเทศเหล่านี้กดขี่ข่มเหงประชาชนของตน
สำหรับกรณีอิรักมีลักษณะพิเศษตรงที่ นายกรัฐมนตรีนูรี
อัลมาลิกี คือผู้ที่รัฐบาลสหรัฐยกชูด้วยตนเอง และตลอด 8-9 ปีที่ผ่านมาให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
ความแตกต่างของสถานการณ์เมื่อ 8-9 ปีก่อนกับปัจจุบันคือ
ตอนนี้รัฐบาลอเมริกาไม่สนับสนุนนายกฯ มาลิกีอีกแล้ว
ถ้ามองสงครามกลางเมืองของอิรักย้อนหลังตั้งแต่
10 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ยังคงมีลักษณะไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก
อีกทั้งประธานาธิบดีโอบามาก็ยังใช้นโยบายใกล้เคียงกับประธานาธิบดี จอร์จ
ดับเบิ้ลยู. บุช นั่นคือ ทำอย่างไรจึงจะให้กองทัพอเมริกันถอนตัวหรือถอยห่างออกจากสมรภูมิ
โดยโยนภาระให้กับรัฐบาลอิรัก (หลังจากโค่นล้มรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซนแล้ว)
เพราะรัฐบาลอเมริกันไม่อาจแบกรับภาระงบประมาณมหาศาลที่ต้องบำรุงเลี้ยงทหารอเมริกันนับแสนในอิรัก
ข่าวการบาดเจ็บล้มตายของทหารที่เพิ่มขึ้นแทบทุกวัน และปัญหาสงครามกลางเมืองที่ไม่มีทีท่าว่าจะยุติ
แต่ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเอ่ยถึง และเลี่ยงที่จะใช้คำ
“สงครามกลางเมือง” เนื่องจากจะเกิดคำถามว่าทหารอเมริกันนับแสนนายที่อยู่ในอิรัก
(ในสมัยรุกรานอิรัก) กำลังทำอะไรกันอยู่
ในอีกมุมหนึ่ง ต้องชื่นชมประธานาธิบดีโอบามาที่ยึดมั่นปฏิบัติตามนโยบายไม่ส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดินตามที่ได้หาเสียงไว้
และเป็นความต้องการของคนอเมริกันส่วนใหญ่ อดทนต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าอ่อนแอ
ส่วนการก่อการของกองกำลังรัฐอิสลาม
(IS/ISIL/ISIS) อาจเป็นเพียงตัวประกอบที่ช่วยเติมเต็มเนื้อเรื่อง
มีปริศนาที่น่าวิเคราะห์ในโอกาสต่อไป
17 กันยายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6494 วันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2557)
------------------------
รัฐบาลโอบามาตั้งเงื่อนไขจะสนับสนุนรัฐบาลอิรักอย่างเต็มกำลังในการปราบปรามกลุ่มผู้ก่อการร้าย
ISIL/ISIS ก็ต่อเมื่ออิรักได้รัฐบาลใหม่ ซึ่งหมายถึงนายกฯ
อัลมาลิกีต้องพ้นจากอำนาจ นายกฯ อัลมาลิกีปฏิเสธข้อเรียกร้องและเห็นว่าเท่ากับเป็นการรัฐประหารรัฐธรรมนูญ
การตัดสินใจดังกล่าวส่งผลต่อตัวแสดงสำคัญๆ เช่น การคงอยู่ของ ISIL ความสัมพันธ์ระหว่าง ISIL กับพวกซุนนีกลุ่มต่างๆ
แม้ว่าประธานาธิบดีโอบามาจะประกาศว่าอนาคตของอิรัก
ชาวอิรักต้องตัดสินใจเองในฐานะรัฐอธิปไตย
งานศึกษาบางชิ้นให้ข้อสรุปว่ารัฐบาลสหรัฐคือผู้อยู่เบื้องหลังให้นายอัลมาลิกีก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
และทั้งๆ ที่รู้ซึ้งพฤติกรรมของนายกฯ อัลมาลิกี รัฐบาลโอบามายังสนับสนุนให้เขาดำรงตำแหน่งนายกฯ
สมัยที่ 2 และขณะนี้มีข่าวว่ากำลังกดดันให้นายกฯ อัลมาลิกีลาออก
เพื่อความปรองดองสมานฉันท์ แก้ปัญหาการก่อการของ ISIL/ISIS ในขณะนี้
นับจากการก่อตั้ง ISIL เป้าหมายและการแสดงออกของกลุ่มนั้นชัดเจนและสอดคล้องกัน
คือสถาปนารัฐอิสลามในอิรักกับซีเรีย การยึดพื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกซุนนีดูเป็นเรื่องง่าย
แต่หาก ISIL ต้องการยึดอิรักทั้งประเทศ
จะต้องยึดพื้นที่เขตปกครองของพวกเคิร์ดและชีอะห์ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ภายใต้ศักยภาพของกองกำลัง
ISIL ในปัจจุบัน
เป้าหมายเฉพาะหน้าที่ดูสมเหตุสมผลกว่าคือการควบคุมพื้นที่ถิ่นอาศัยของพวกซุนนี
หรือไม่ก็ให้สงครามกลางเมืองอิรักเป็นศึกยืดเยื้อ
1. Allawi,
Ali A. (2007). The Occupation of Iraq: Winning the War, Losing the Peace.
USA: Yale University Press.
2. Deyong Karen., & Gearan, Anne. (2014, June 19). Obama
sending up to 300 soldiers to Iraq as advisers, says move is limited. The
Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/world/national-security/obama-announces-he-is-sending-up-to-300-troops-back-to-iraq-as-advisers/2014/06/19/a15f9628-f7c2-11e3-8aa9-dad2ec039789_story.html
3. Iraq names new PM, meeting resistance from Maliki. (2014,
August 12). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/world/2014-08/12/c_133550628.htm
4. Iraqi federal court rules Maliki's bloc largest in
parliament. (2014, August 11). Xinhua. Retrieved from
http://news.xinhuanet.com/english/world/2014-08/11/c_133548150.htm
5. Maliki Steps Down, Supports New Prime Minister. (2014,
August 15). RUDAW. Retrieved from
http://rudaw.net/english/middleeast/iraq/14082014
6. Statement by the President. (2014, August 7). The
White House. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/08/07/statement-president
-------------------------------