ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซียในวิกฤตยูเครนเป็นสงครามเย็นหรือไม่ (ตอนที่ 2)

ผู้ที่เคยอยู่ในช่วงสงครามเย็นหรือได้ศึกษาเรื่องราวโดยละเอียด จะรับรู้เหมือนกันว่าสงครามเย็นเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน เป็นช่วงเวลาแห่งความหวาดกลัวภัยสงคราม ถ้าเป็นประเทศในกลุ่มประชาธิปไตยจะรับรู้ถึงภัยคุกคามจากลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญหากพูดว่าสงครามเย็นกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้ง
            เมื่อพิจารณา ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซียต่อสถานการณ์ในยูเครน มีลักษณะหลายอย่างคล้ายสงครามเย็น เช่น เป็นการเผชิญหน้าระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจโดยตรง ทั้งคู่ต้องการแผ่ขยายอิทธิพลทั้งต่อประเทศยูเครนในทุกด้าน ทั้ง 2 ประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในมือ แต่ระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากสถานการณ์บานปลาย โดยเฉพาะการปะทะด้วยกำลังทหาร
            ภายใต้ลักษณะที่เหมือนหรือคล้ายกันหลายประการ ยังมีลักษณะที่แตกต่าง ไม่เหมือนสงครามเย็น บทความตอนนี้จะนำเสนอลักษณะแตกต่างเหล่านี้
ลักษณะที่แตกต่างจากสงครามเย็นในอดีต :
            จากการศึกษาพบว่าวิกฤตยูเครน การแยกตัวออกของไครเมีย มีลักษณะที่แตกต่างจากสงครามเย็นในอดีต ดังนี้
            ประการแรก ไม่ใช่ความขัดแย้งอันเนื่องจากอุดมการณ์ทางการเมือง
            เมื่อเริ่มต้นสงครามเย็นนั้น รัฐบาลโซเวียตประกาศอย่างชัดเจนว่าจะเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ สร้างระบบสังคมนิยมโลก แต่การแผ่ขยายเกิดขึ้นในช่วงแรกของสงครามเย็นเท่านั้น และเมื่อเข้าสู่ปลายทศวรรษ 1980 ระบอบคอมมิวนิสต์เริ่มล่มสลายในยุโรปตะวันออก จนในที่สุดสหภาพโซเวียตก็ล่มสลายด้วย
            เหตุการณ์สำคัญที่สร้างความวิตกกังวลแก่รัฐบาลสหรัฐฯ คือการที่รัฐบาลโซเวียตใช้อำนาจทหาร อำนาจการเมืองผนวกหลายประเทศในยุโรปตะวันออกเข้าเป็นพวกเดียวกันตน ในเรื่องนี้นักวิชาการในระยะหลังหลายคนอธิบายว่าเหตุผลสำคัญที่รัฐบาลโซเวียตกระทำการดังกล่าว ไม่ใช่เพื่อการเผยแผ่ลัทธิการเมือง แต่ต้องการสร้างรัฐกันชน (buffer state) เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่โซเวียต เมืองสำคัญๆ หลายเมืองทุกทำลายราบ มีผู้เสียชีวิตกว่า 30 ล้าน เมื่อสิ้นสงครามรัฐบาลโซเวียตจึงให้ความสำคัญกับการสร้างรัฐกันชน เป็นยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ เพื่อลดความสูญเสียหากเกิดสงครามในอนาคต
            แต่ประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman) ตีความว่านี่คือการขยายลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ดำเนินหลักนิยมทรูแมน (Truman Doctrine) ปิดล้อมการแผ่ขยายของคอมมิวนิสต์
            ถ้าจะวิเคราะห์กันอย่างจริงๆ จังๆ การอธิบายว่าสงครามเย็นเป็นความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์การเมืองจึงเป็นเรื่องซับซ้อน

            หากมองจากมุมมองของผู้นำโซเวียตตั้งแต่ผู้นำสตาลินจนถึงผู้นำมิคาอิล กอร์บาชอฟ  (Mikhail Gorbachev) โซเวียตต้องการและมีเป้าหมายให้โลกเป็นสังคมนิยม ด้วยการสนับสนุนด้านความคิด การเมือง ไม่ใช่ด้วยการทำสงครามระหว่างประเทศ และเห็นว่าแม้มีระบอบเศรษฐกิจการเมืองแตกต่างกัน ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และอื่นๆ บนผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งยังเชื่อว่าสภาพที่โลกอยู่ด้วยกันโดยสงบสุข สังคมนิยมกับทุนนิยมมีความสัมพันธ์ต่อกันจะเอื้ออำนวยให้ประเทศทุนนิยมเปลี่ยนมาเป็นสังคมนิยมได้ง่ายกว่า
            แต่รัฐบาลโลกเสรีนิยมในยุคสงครามเย็น มักชี้ว่าโซเวียตต้องการแผ่ขยายลัทธิคอมมิวนิสต์ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตย
            ในเรื่องนี้พอจะอธิบายได้ว่า ผู้นำโซเวียตในยุคสงครามเย็นไม่หวังที่จะเปลี่ยนโลกให้เป็นสังคมนิยมด้วยการใช้กำลังความรุนแรง อาจเป็นเพราะเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ หรือพวกตนยังไม่พร้อม สหภาพโซเวียตกับพันธมิตรยังอยู่ในภาวะต้องการฟื้นฟูจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศหรือรัฐบริวารที่เข้าระบบสังคมนิยมยังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงขั้นต้นเท่านั้น ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ มุ่งมองว่าสหภาพโซเวียตเป็นภัยคุกคามสำคัญเร่งด่วน จำต้องต่อต้านให้ถึงที่สุด
            ความที่รัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายปิดล้อม ต้องการต่อต้านค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์จนถึงที่สุด ทำให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นคือการเผชิญหน้าที่ยาวนานกว่า 4 ทศวรรษของค่ายเสรีนิยมกับสังคมนิยมในช่วงปี 1945-1991 ต่างฝ่ายต่างไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน มองอีกฝ่ายเป็นศัตรูอยู่ตลอดเวลา เห็นว่าฝ่ายหนึ่งต้องการโค่นล้มอีกฝ่ายหนึ่ง ความหวาดระแวงต่อกันเป็นอุปสรรคต่อการปรับความสัมพันธ์ และก่อให้เกิดการเผชิญหน้าในหลายมิติ หลายเหตุการณ์
            เมื่อพิจารณาสถานการณ์ความขัดแย้งกรณียูเครน มีข้อสรุปชัดเจนว่า รัสเซียในปัจจุบันไม่ใช่สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ จึงไม่ใช่ความขัดแย้งอันเนื่องจากอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างแน่นอน การที่รัสเซียส่งกองกำลังควบคุมไครเมีย และผนวกไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียก็ด้วยเหตุผลทางด้านความมั่นคงเป็นสำคัญ

            ประการที่สอง รัสเซียในปัจจุบันไม่ยิ่งใหญ่ดังเช่นอดีต
            ดังที่ได้กล่าวในตอนแรกแล้วว่า การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อต้นทศวรรษ 1990 ส่งผลลดทอนอำนาจอิทธิพลอย่างมาก สหภาพโซเวียตแตกออกเป็นหลายประเทศ ชื่อเสียงในฐานะอภิมหาอำนาจสูญสิ้น เมื่อรัสเซียเริ่มต้นเป็นประเทศประชาธิปไตย ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีบอริส เยลซิน (Boris Yeltsin) เศรษฐกิจประเทศอยู่ในภาวะย่ำแย่มาก ฐานะการคลังอยู่ในสภาพเกือบล้มละลาย แต่รัสเซียยังได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจ หลายอย่างเป็นผลพวงจากอดีต เช่น การเป็นสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ มีอาวุธนิวเคลียร์ ยังเป็นประเทศที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ได้ลดระดับจากอภิมหาอำนาจมาเป็นชาติมหาอำนาจลำดับรอง ที่ยังแสดงบทบาทในสถานการณ์โลกอย่างสม่ำเสมอ
             เมื่อเปรียบเทียบพลังอำนาจด้านต่างๆ กับสหรัฐฯ รัสเซียในปัจจุบันอยู่ในฐานะเป็นรอง ไม่ว่าเรื่องอำนาจเศรษฐกิจ อำนาจทางทหารและการเมืองระหว่างประเทศ รัสเซียในปัจจุบันยังอยู่ในภาวะฟื้นฟู พัฒนาประเทศในทุกด้านให้กลับมายิ่งใหญ่เช่นเดิม และกำลังก้าวขึ้นมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะตั้งแต่นายวลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ได้เป็นผู้นำบริหารประเทศอย่างยาวนานหลายสมัยตั้งแต่เมื่อสิ้นปี 1999 เป็นต้นมา

            นักวิชาการบางคนเห็นว่า รัสเซียมีแนวโน้มเป็นชาติอำนาจนิยมและจักรวรรดินิยม เนื่องจากประวัติศาสตร์รัสเซียเคยเป็นประเทศที่มีอาณาเขตมากที่สุดในโลก เคยควบรวมอาณาจักรข้างเคียงมารวมเป็นประเทศเดียวกับตน ดังนั้น ในความคิดของรัสเซียยังต้องการแสดงความมีอำนาจและการแผ่ขยายอำนาจอยู่เสมอ แต่บางคนเห็นตรงข้าม เช่น นาย Efstathios T. Fakiolas ชี้ว่า รัสเซียในปัจจุบันไม่ได้เป็นอภิมหาอำนาจอีกแล้ว อำนาจรัสเซียในปัจจุบันไม่สามารถครอบงำโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ไม่สามารถสร้างค่ายหรือขั้วเพื่อต่อต้านสหรัฐฯ ดังสมัยสงครามเย็น หรือต่อต้านโลกาภิวัตน์
            รัฐบาลปูตินอาจมีเป้าหมายต้องการให้รัสเซียกลับมาอยู่ในสถานะที่เท่าเทียมกับมหาอำนาจอื่นๆ ด้วยการพัฒนาประเทศในทุกด้าน ปฏิรูปในส่วนที่ยังอ่อนแอไม่สมบูรณ์ และมีบทบาทในเวทีโลก แต่ ณ วันนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น ยังคงต้องติดตามต่อไปว่ารัสเซียจะสามารถพัฒนาประเทศ ระบอบการเมืองการปกครองให้เป็นชาติมหาอำนาจที่เจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนได้หรือไม่
            รัสเซียในปัจจุบันจึงไม่ยิ่งใหญ่ ไม่มีศักยภาพเป็นภัยคุกคามร้ายแรงดังเช่นสมัยสงครามเย็นอีกแล้ว แต่เป็นอีกประเทศหนึ่งที่อยู่ภายใต้บริบทโลกาภิวัตน์ไม่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ

            ประการที่สาม รัสเซียในปัจจุบันมีเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับตลาดโลก
            รัสเซียมีข้อได้เปรียบตรงที่ประเทศมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล ปัจจุบันยังเป็นประเทศที่มีอาณาเขตใหญ่ที่สุดในโลก อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีก๊าซธรรมชาติสำรองมากเป็นลำดับที่ 1 และมีถ่านหินมากเป็นลำดับที่ 2 ของโลก มีน้ำมันสำรองร้อยละ 18 ของน้ำมันทั้งโลก คาดว่าจะเป็นผู้ส่งออกพลังงานรายสำคัญของโลกได้อีกหลายทศวรรษ
            ความที่เป็นผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่ของโลก รัฐบาลปูตินจึงใช้การส่งออกพลังงานเพื่อสร้างรายได้แก่ประเทศ เป็นเครื่องมือดำเนินนโยบายต่างประเทศ การเติบโตทางเศรษฐกิจในขณะนี้จึงขึ้นอยู่กับการส่งออกพลังงาน แร่ธาตุ (ราว 2 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด) และมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ กล่าวได้ว่าเศรษฐกิจฟื้นฟูก็ด้วยการส่งออกพลังงาน แร่ธาตุ
            ในปีที่ผ่านมา รัสเซียสามารถผลิตและส่งออกน้ำมันมากที่สุดในโลก และจากสถานการณ์ที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงโดยเฉลี่ย 113 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล รัสเซียจึงมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันมากถึง 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อรวมการส่งออกก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรัสเซียก็เป็นผู้ผลิตและส่งออกรายสำคัญที่สุดของโลก ทำให้การค้าระหว่างประเทศมีภาวะเกินดุลอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีเงินสำรองระหว่างประเทศมากเป็นอันดับที่สามของโลกรองจากจีนและญี่ปุ่น

            ตั้งแต่แรกเกิดวิกฤตยูเครน แม้ว่ารัสเซียจะแสดงอาการก้าวร้าวและทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนสุดท้ายผนวกเขตปกครองไครเมียซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย ตลอดช่วงของพัฒนาการเหตุการณ์ดังกล่าว ชาติตะวันตกได้แต่กล่าวว่าจะใช้นโยบายโดดเดี่ยวรัสเซีย คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และได้ประกาศมาตรการบางอย่างที่มีผลน้อยมาก
            เหตุผลสำคัญที่ชาติตะวันตกไม่กล้าคว่ำบาตรอย่างจริงจัง นั่นเป็นเพราะว่าการคว่ำบาตรจะทำให้เกิดการตอบโต้ไปมาด้วยการคว่ำบาตรจากอีกฝ่ายหนึ่ง ระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันโดยเฉพาะระหว่างรัสเซียกับสหภาพยุโรป (อียู) ที่ต่างเป็นผู้ส่งออกและนำเข้าสำคัญของอีกฝ่าย ย่อมเห็นภาพอย่างชัดเจนว่าจะเกิดผลร้ายมากเพียงใดหากต่างไม่ค้าขายกับอีกฝ่าย
            อีกทั้งต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจโดยรวมของอียูยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวเท่านั้น หลายประเทศเพิ่งผ่านวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อ 2-3 ปีก่อน การตอบโต้ทางเศรษฐกิจจึงมีโอกาสที่จะสร้างความเสียทางเศรษฐกิจแก่อียูอย่างมาก
            ในมุมกลับกัน หากการคว่ำบาตรทำให้คนงานอียูนับแสนต้องตกงาน รัสเซียอาจต้องเผชิญปัญหาไม่ต่างกันมากนัก และหากเศรษฐกิจอียูอ่อนแอย่อมจะกระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซียเช่นกัน

            การเจรจาระหว่างนายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กับนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเมื่อปลายเดือนมีนาคม เป็นการเจรจาอย่างเป็นทางการและจริงจังที่สุดนับจากเริ่มเกิดวิกฤติยูเครน สหรัฐฯ ยืนกรานว่ารัสเซียผนวกไครเมียนั้นผิดกฎหมายและไม่ชอบธรรม ด้านรัสเซียหวังจะให้ไครเมียจะกลับไปอยู่กับยูเครน ภายใต้รูปแบบสหพันธรัฐ (federal state) และยูเครนจะมีหลายเขตปกครองตนเอง ที่สามารถเลือกแนวทางเศรษฐกิจการเงิน สังคม ภาษา ศาสนาของตนเอง แต่สหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยกับการให้ยูเครนเป็นกลาง เห็นว่าอนาคตของยูเครนต้องให้ยูเครนตัดสินใจเอง
            แม้ไม่สามารถยุติมูลเหตุความขัดแย้ง แต่ได้ “แช่แข็ง” สถานการณ์ไม่ให้บานปลาย และที่สำคัญคือ นับจากนี้ทั้งชาติตะวันตกกับรัสเซียจะไม่ตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตรเศรษฐกิจให้รุนแรงกว่าที่เป็นอยู่อีกต่อไป เพราะต่างรู้ดีว่าเสียหายด้วยกันทั้งคู่ ยิ่งคว่ำบาตรยิ่งตอบโต้ ต่างฝ่ายต่างยิ่งเสียหาย
            นี่คือระบบโลกยุคโลกาภิวัตน์ ระบบเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกัน หากเศรษฐกิจประเทศหนึ่งเสียหายจะกระทบต่อเศรษฐกิจของอีกประเทศ ต่างจากระบบเศรษฐกิจในยุคสงครามเย็นที่แต่ละประเทศมักทำการค้าการลงทุนกับประเทศในขั้วเดียวกันเป็นหลัก ค่ายเสรีนิยมสามารถปิดล้อมทางเศรษฐกิจต่อค่ายคอมมิวนิสต์
            เมื่อพิจารณาคุณลักษณะที่แตกต่างจากสงครามเย็นในอดีต พบว่าความแตกต่างสำคัญที่เกิดขึ้น มาจากฝั่งของค่ายสังคมนิยมเป็นหลัก โดยเฉพาะผลจากการสิ้นสุดสหภาพโซเวียต อิทธิพลพลังอำนาจของรัสเซียในปัจจุบันอยู่ในช่วงฟื้นฟู ไม่ยิ่งใหญ่ดังเช่นอดีต ไม่ต้องการเผยแผ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ รัสเซียในปัจจุบันมีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออก เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก เป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ หากวิกฤตยูเครนกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปหรือเศรษฐกิจโลก เท่ากับว่ากำลังกระทบต่อเศรษฐกิจตนเองในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียง ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศ

            วิกฤตยูเครนจึงไม่ใช่ความขัดแย้งแบบสมัยสงครามเย็นในอดีตอย่างแน่นอน โอกาสที่จะเกิดผลกระทบทางการเมืองระหว่างประเทศในระดับโลกมีน้อยและไม่รุนแรง ส่วนโอกาสที่จะตอบโต้ทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงนั้นมีน้อยเช่นกัน (อาจเกิดขึ้นในระยะสั้นๆ) เพราะทุกรัฐบาลต่างต้องการให้ประเทศตนมีเศรษฐกิจที่ดี การดูแลภาวะเศรษฐกิจในยุคนี้จึงมีความสำคัญเทียบเท่ากับการระวังไม่ให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ เพราะวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลทำให้ผู้คนนับล้านประสบความทุกข์ยากแสนสาหัส แม้ไม่ตายฝ่ายร่างกายแต่ก็เหมือนกับผู้ที่ตายทั้งเป็น แม้บ้านเรือนสิ่งของไม่เสียหายแต่กลายเป็นคนไร้บ้านไร้สมบัติใดๆ
            ประเด็นสำคัญสุดท้ายที่ควรพิจารณาคือ เมื่อไม่เป็นสงครามเย็น แต่ทำไมผู้นำประเทศบางคน สื่อบางสำนัก จึงพูดพาดพิงถึงสงครามเย็น มีเหตุผลที่ลึกซึ้งหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะพิจารณาในตอนจบของเรื่องนี้
พฤษภาคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
          [บทความทั้งหมดมี 3 ตอน ตอนต่อไป คือตอนจบ]
----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับรัสเซียในวิกฤตยูเครนเป็นสงครามเย็นหรือไม่(ตอนแรก)
บทความที่เกี่ยวข้อง :
            ความตึงเครียดจากสถานการณ์ยูเครนที่เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2013 จนนำสู่การเผชิญหน้าระหว่างชาติมหาอำนาจรัสเซียกับฝ่ายสหรัฐฯ อย่างชัดเจน สหรัฐฯ กับพันธมิตรโดยเฉพาะอียูร่วมออกมาตรคว่ำบาตรรัสเซียหลายรอบ
            ข้อเขียนชิ้นนี้อธิบายนโยบายของสหรัฐฯ ต่อรัสเซียเพื่ออธิบายเหตุผลที่มาที่ไปของนโยบายปิดล้อมรัสเซีย การตอบโต้จากรัฐบาลปูติน นำสู่การวิเคราะห์องค์รวม ชี้ให้เห็นยุทธศาสตร์เชิงลึกของสหรัฐฯ ความพยายามจัดระเบียบโลกผ่านวิธีการต่างๆ จุดอ่อนของยุทธศาสตร์ปิดล้อม พลังอำนาจที่ถดถอยของสหรัฐฯ พร้อมกับคาดการณ์อนาคต
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป
บรรณานุกรม ตอนที่ 2:
1. Cohen, Stephen F. (2009). Soviet fates and lost alternatives : from Stalinism to the new Cold War. New York: Columbia University Press.
2. Fakiolas, Efstathios T. (2012). International Politics in Times of Change. Tzifakis, Nikolaos. (Ed.). Berlin: Springer-Verlag Berlin Heidelberg.
3. Putin warns West against sanctions, says Ukraine interim leader 'not legitimate. (2014, March 4). Fox News. Retrieved from http://www.foxnews.com/world/2014/03/04/putin-blames-unconstitutional-overthrow-yanukovych-for-crimea-crisis/
4. Roberts, Geoffrey. (1999). The Soviet Union in World Politics: Coexistence, Revolution and Cold War, 1945-1991. London: Routledge.
5. Samuels, Richard J. (Ed.). (2006). Cold War. In Encyclopedia Of United States National Security. (pp.135-138). California: Sage Publications, Inc.
6. US, Russia talks fail to end Ukraine deadlock. (2014, March 30). Businessweek/AP. Retrieved from http://www.businessweek.com/ap/2014-03-30/kerry-set-to-see-russian-fm-on-ukraine
7. Ukraine crisis: US-Russia deadlock despite 'frank' talks. (2014, March 30). BBC. Retrieved from http://www.bbc.com/news/world-europe-26814651
-------------------------