ประธานาธิบดีอัสซาดชนะการเลือกตั้ง สงครามกลางเมืองซีเรียดำเนินต่อไป

ท่ามกลางสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2011 หรือกว่า 3 ปี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 150,000 ราย ประชาชนหลายล้านคนกลายเป็นผู้อพยพลี้ภัย โดยที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะยุติ รัฐบาลซีเรีย นำโดยประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี และเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ได้รับคะแนน 10.3 ล้านเสียง หรือเท่ากับร้อยละ 88.7 ของผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งสิ้นราว 11.6 ล้านเสียง จากประชาชนผู้มีสิทธิ์ทั้งสิ้น 15.8 ล้านคน ผู้สมัครที่ได้คะแนนอันดับ 2 กับ 3 ได้เพียง 5 แสนกับ 3.7 แสนคะแนนเท่านั้น
            ทางการซีเรียประกาศว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ย้ำเน้นความชอบธรรมของประธานาธิบดีอัสซาด ตรงข้ามกับรัฐบาลชาติตะวันตกที่สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายเพื่อโค่นล้มรัฐบาล เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ประชาชนของตนเอง และเห็นว่าการก่อการร้ายในซีเรียจะยุติทันทีหากซาอุดิอาระเบีย ประเทศในภูมิภาคอ่าว สหรัฐ และฝรั่งเศสยุติให้การสนับสนุน
ภาพสะท้อนจากผลการเลือกตั้ง :
            ผลการเลือกตั้งส่งผลดีต่อประธานาธิบดีอัสซาด หลายประการ ดังนี้
            ประการแรก ประธานาธิบดีอัสซาดมีความชอบธรรมในฐานะผู้ปกครอง
            ทันทีที่ประกาศผลการเลือกตั้ง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของ 6 ชาติสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นการแสดงละครมากกว่า บั่นทอนโลกอาหรับและความพยายามแก้ไขปัญหาของนานาชาติ
            ความจริงเรื่องหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ การเลือกตั้งไม่ได้จัดในทุกพื้นที่ ชาวซีเรียจำนวน 3 ล้านคนที่อพยพลี้ภัยออกจากประเทศไม่ได้เลือกตั้ง พูดได้ว่าการเลือกตั้งไม่สะท้อนความต้องการของชาวซีเรียทั้งหมด ชาวซีเรียในขณะนี้แบ่งออกได้เป็นหลายกลุ่ม ประกอบด้วย พวกที่ยังอยู่กับรัฐบาลอัสซาด พวกที่สังกัดฝ่ายต่อต้านที่พื้นเพเป็นคนซีเรีย พวกที่อยู่ในเขตอิทธิพลของกองกำลังติดอาวุธต่างชาติ สำหรับผู้อพยพลี้ภัยยังสามารถแบ่งออกเป็น พวกที่สังกัดฝ่ายต่อต้าน กับประชาชนที่หนีภัยสงคราม
              ข้อโต้แย้งคือ รัฐบาลย่อมไม่สามารถจัดเลือกตั้งในเขตพื้นที่สู้รบ นอกเขตอธิปไตย ผลการเลือกตั้งจึงชี้ว่าอย่างน้อยยังมีประชาชนซีเรียผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 10 ล้านคนที่สนับสนุนประธานาธิบดีอัสซาด

            ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเป็นการจัดฉากหรือไม่ จะได้รับการยอมรับจากต่างชาติหรือไม่ สำหรับประเทศซีเรียแล้ว ผลการเลือกตั้งชี้ว่าประธานาธิบดีอัสซาดมีความชอบธรรมในฐานะผู้นำประเทศต่อไป สวนทางกับจุดยืนของชาติตะวันตกและโลกอาหรับหลายประเทศที่เห็นว่าประธานาธิบดีอัสซาดคือตัวปัญหา ต้องการให้ก้าวลงจากอำนาจ ที่ผ่านมารัฐบาลอัสซาดปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวมาโดยตลอด ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดให้ความชอบธรรมแก่การคงอยู่ในอำนาจของประธานาธิบดีอัสซาด
            รัฐบาลหลายประเทศอาจวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเลือกตั้งเป็นเพียงการแสดงละคร ขาดความชอบธรรม แต่ควรระมัดระวังว่าคำวิจารณ์เหล่านี้จะส่งผลอย่างไรต่อชาวซีเรียผู้สนับสนุนประธานาธิบดีอัสซาดด้วยความสมัครใจ และเป็นการตอกย้ำว่าจุดยืนของประชาชนกลุ่มนี้ว่า ทางเลือกนี้ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเลิศตามอุดมคติ แต่อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเท่าที่จะเลือกได้ในขณะนี้

            ประการที่สอง รัฐบาลอัสซาดควบคุมพื้นที่ได้ดีและเป็นฝ่ายได้เปรียบ
            ในช่วงเลือกตั้งมีเหตุปะทะประปราย แต่โดยภาพรวมแล้ว การเลือกตั้งดำเนินไปด้วยดี สะท้อนว่าในพื้นที่ๆ อยู่ภายใต้การดูแลของระบอบอัสซาดนั้น รัฐบาลสามารถดูแลให้ความปลอดภัยได้ดีพอควร
            การตัดสินใจจัดการเลือกตั้ง ยังสะท้อนอีกว่าประธานาธิบดีอัสซาดเชื่อมั่นแต่แรกว่ารัฐบาลควบคุมสถานการณ์ได้ ในมุมกลับกันคือสะท้อนความอ่อนแอของฝ่ายต่อต้าน จากเดิมที่เคยผลักกันรุกผลัดกันรับ แต่ตั้งแต่ต้นปี 2014 เป็นต้นมา กองทัพอัสซาดค่อยๆ รุกคืบทำลายฐานที่มั่น เขตอิทธิพลของฝ่ายต่อต้านได้ทีละจุดสองจุด ทั้งๆ ที่ชาติตะวันตกกับกลุ่มประเทศอาหรับหลายประเทศยังให้การสนับสนุนฝ่ายต่อต้านอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน อาวุธ การข่าวต่างๆ
            นับจากวันที่เริ่มเกิดความรุนแรงและขยายตัวบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมือง ไล่มาจนถึงปัจจุบัน สงครามกลางเมืองยังดำเนินต่อไป แต่ ณ ปัจจุบัน ค่อนข้างชัดเจนว่าระบอบอัสซาดเข้มแข็ง แม้ฝ่ายต่อต้านจะได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ มีกองกำลังติดอาวุธที่ใกล้ชิดกับอัลกออิดะห์จากหลายประเทศเข้าร่วมรบ แต่ระบอบอัสซาดยังอยู่รอดจนถึงปัจจุบัน ต่างจากอาหรับสปริงในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่ ตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบีย ที่ผู้ปกครองเดิมล้วนถูกโค่นอำนาจอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ในกระแสอาหรับสปริง ฝ่ายรัฐบาลหรือผู้ปกครองเดิมไม่จำต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เสมอไป
            ในขณะที่ความเพลี่ยงพล้ำของฝ่ายต่อต้านสายกลาง กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลต่างชาติ

ข้ออ้างกับเหตุผลซ้ำเดิม :
            บางคนแย้งว่าภายใต้ระบอบเผด็จการอัสซาด ผู้ออกไปใช้สิทธิ์อยู่ในความหวาดกลัว ผลการเลือกตั้งจึงไม่แสดงเจตจำนงที่แท้จริง การเลือกตั้งเป็นเหมือนกับการแสดงละครอย่างหนึ่งเท่านั้น นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ บอกว่าการเลือกตั้งเป็น “ฉากการเมืองที่น่าเยาะเย้ย”
            รัฐบาลของประเทศที่ออกโรงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งส่วนใหญ่วนเวียนอยู่ในกลุ่ม 11 ประเทศที่เรียกตัวว่า Friends of Syria อันได้แก่ อังกฤษ อียิปต์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี จอร์แดน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐอเมริกา แต่การปฏิเสธการเลือกตั้งไม่น่าแปลกใจ เพราะรัฐบาลเหล่านี้เป็นผู้ให้การสนับสนุนแนวร่วมต่อต้านรัฐบาลซีเรีย แสดงจุดยืนว่าประธานาธิบดีอัสซาดกับบริวารจะต้องไม่มีส่วนในรัฐบาลเฉพาะกาล (Transitional Governing Body หรือTGB) เพื่อยุติความขัดแย้ง
            การที่รัฐบาลบางประเทศพยายามผลักดัน TGB พร้อมกับชี้ว่าประธานาธิบดีอัสซาดต้องลาออกจากตำแหน่ง เกิดคำถามว่าเป็นความต้องการของคนซีเรียส่วนใหญ่หรือไม่ กลุ่มประเทศที่ผลักดันมีสิทธิ์อะไรในการกำหนดอนาคตของประเทศอื่น จริงหรือที่ทิศทางดังกล่าวก่อประโยชน์ต่อชาวซีเรีย ทำไมจึงไม่ให้พลเมืองซีเรียแท้ๆ ตัดสินอนาคตของตนเองโดยปราศจากการแทรกแซงจากต่างชาติ
            ผลการเลือกตั้งได้ให้คำตอบเรื่องนี้แล้ว

            ในมุมของผู้ที่โจมตีการเลือกตั้ง และต้องการให้ประธานาธิบดีอัสซาดลงจากอำนาจ ยังใช้ข้ออ้างเดิมๆ นั่นคือ ชี้ว่าระบอบอัสซาดเป็นเผด็จการ ปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรง เป็นผลให้ประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก
            เมื่อเป็นข้ออ้างเดิม เหตุผลตอบโต้จึงเหมือนเดิม เป็นความจริงที่ฝ่ายรัฐบาลโจมตีฝ่ายต่อต้านอย่างรุนแรง ใช้สารพัดอาวุธ ทั้งปืนใหญ่ รถถัง เครื่องบิน เป็นสงครามกลางเมืองที่ทำลายล้าง แต่ต้องพูดถึงฝ่ายต่อต้านด้วย ที่ใช้อาวุธสงครามเช่นกัน เป็นสาเหตุทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก จนทีมงานด้านมนุษยชนสหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกประเทศหยุดส่งอาวุธแก่รัฐบาลกับฝ่ายต่อต้าน เพราะคนส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยอาวุธจำพวกปืนกับปืนครก ดังนั้น วิธีการที่จะหยุดไม่ให้ผู้เสียชีวิตเพิ่มมากกว่านี้คือต้องตัดการสนับสนุนด้านอาวุธ เพราะอาวุธเหล่านี้ถูกนำไปใช้สังหารพลเรือน ถือว่ากระทำผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหรือกฎหมายอาชญากรสงคราม ทั้งสองฝ่ายต่างโจมตีสถานพยาบาล เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข เนื่องจากเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของอาวุธที่ใช้ทำสงคราม
            ถ้าจะพูดถึงความผิดจากการเข่นฆ่าประชาชน ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายต่อต้าน รัฐบาลหลายประเทศที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาล กับฝ่ายที่สนับสนุนฝ่ายต่อต้าน ล้วนมีความผิดติดตัวด้วยกันทั้งสิ้น ผลลัพธ์เป็นอย่างที่เห็น คือ ผู้เสียชีวิตกว่า 150,000 ราย ผู้อพยพลี้ภัยนับล้านคน และสภาพเมืองที่กลายเป็นซากปรักหักพัง หากไม่มีการสนับสนุนจากต่างชาติ ความขัดแย้งจะไม่เป็นเหตุสร้างความสูญเสียมากเท่านี้ และอาจยุติแล้วด้วยซ้ำ

            ถ้าฝ่ายต่อต้านและบรรดาผู้สนับสนุนฝ่ายต่อต้านเห็นว่าการสู้รบครั้งนี้มีคุณค่ามากพอที่จะสูญเสียต่อไป ก็ควรก้มหน้ายอมรับสภาพ ยอมที่จะพลีชีพตนเอง ไม่ควรโทษระบอบอัสซาดที่ไม่ยอมก้าวลงจากอำนาจ อีกทั้งฝ่ายต่อต้านที่เป็นชาวซีเรียแท้ๆ ควรไตร่ตรองว่าพวกตนไม่อยู่ภายใต้การบงการของรัฐบาลต่างชาติ หรือเป็นเหตุให้อนาคตซีเรียอยู่ภายใต้อิทธิพลต่างชาติจนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง

            ส่วนระบอบอัสซาด แม้มีแนวโน้มว่าจะสามารถรักษาอำนาจไว้ได้ แต่ประเทศจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ความสูญเสียของประชาชนฝ่ายต่อต้านไม่อาจเยียวยาโดยเร็ว แทบทุกบ้านต่างมีบาดแผลจากสงคราม ประเทศจะต้องอยู่ท่ามกลางสายตาของรัฐบาลที่ไม่เป็นมิตรที่รายล้อม รวมทั้งชาติตะวันตกหลายประเทศ

            เรื่องราวของซีเรีย เป็นอีกบทเรียนแก่ประเทศอื่นๆ ว่าความขัดแย้งภายในประเทศที่ไม่อาจแก้ไขด้วยสันติวิธี สุดท้ายกลายเป็นอย่างไร การที่ต่างชาติเข้าแทรกแซงได้ขยายความรุนแรงจนบ้านเมืองกลายเป็นซากปรักหักพัง และยากจะจบลงได้อย่างรวดเร็ว ถ้ามองประเทศซีเรียเป็นหน่วยเดียว ประเทศนี้ได้บอบช้ำเสียหายอย่างหนัก ไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกกี่สิบปีจึงจะฟื้นคืนสภาพเดิม ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ดีมีสุขได้ก้าวล้ำไปข้างหน้ามากเพียงใดแล้ว

            สำหรับคนซีเรียแล้ว ความขัดแย้งครั้งนี้ไม่มีฝ่ายใดชนะ แต่รัฐบาลต่างชาติบางประเทศที่สนับสนุนอาจมองว่านี่เป็นชัยชนะอย่างหนึ่ง เป็นอีกปรากฏการณ์ของอาหรับสปริง ลองนึกถึงกรณีอียิปต์กับลิเบีย ที่เดิมรัฐบาลของประเทศเหล่านี้มีอิทธิพล มีบทบาทไม่น้อย แต่ ณ วันนี้ไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว

            การเลือกตั้งเป็นประเด็นที่พูดหนาหูมาสองสามปีแล้ว โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดความขัดแย้ง ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าประธานาธิบดีอัสซาดรอดูสถานการณ์ ว่าเหมาะสมที่จะจัดเลือกตั้งหรือไม่ การเลือกตั้งครั้งนี้ และผลการเลือกตั้งที่ออกมาไม่มีอะไรแปลกประหลาดเหนือความคาดหมาย ท่าทีการตอบสนองของกลุ่ม Friends of Syria และประเทศผู้สนับสนุนระบอบอัสซาดไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิม สงครามกลางเมืองซีเรียดำเนินต่อไป
            เมื่อมองความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเทียบกับกรณีอิสราเอล ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับประเทศอาหรับมีความรุนแรง บาดลึกยิ่งกว่ากรณีประเทศอาหรับกับซีเรียหลายเท่า แต่ที่สุดแล้ว แม้ชาติอาหรับหลายประเทศยังไม่ยอมเป็นมิตรกับอิสราเอล แต่ใช่ว่าจะต้องทำสงครามต่อสู้กันเรื่อยไป ปัจจุบันจึงไม่เห็นการต่อสู้ด้วยอาวุธ (อย่างน้อยยุติชั่วคราว)
            กรณีซีเรียก็อาจเป็นเหมือนกรณีอิสราเอล ที่สุดท้ายการสู้รบจะค่อยๆ ลดลงและยุติไปเอง เนื่องจากฝ่ายต่อต้านสายกลางอ่อนแรง ไม่เห็นวี่แววที่จะชนะ กองทัพอัสซาดยึดครองพื้นที่กลับคืนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ความสงบแท้น่าจะมาจากการริเริ่มของกลุ่มประเทศอาหรับ ที่ส่งสัญญาณว่าต้องการยุติความขัดแย้ง การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปลายปี 2016 อาจเป็นจุดเวลาที่เหมาะสมก็เป็นได้ เพื่อไม่ให้ทุกฝ่ายต้องเสียหน้ามากนัก
8 มิถุนายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6424 วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2557)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ถ้ามองในแง่บวกการเจรจาเจนีวา 2 คือจุดเริ่มต้นของการยุติความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ถ้ามองในแง่ลบคือยังมองไม่เห็นทางออก เมื่อการเจรจายังไม่สามารถยุติความขัดแย้ง ประเด็นจึงกลับมาอยู่ที่จะแก้ปัญหาด้วยพลังอำนาจทางทหารอย่างไร ชาติอาหรับจะเป็นฝ่ายลงมือเองหรือไม่
ความรุนแรงในซีเรียเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความขัดแย้งทางการเมืองที่ขยายตัวกลายเป็นสงครามกลางเมือง กลายเป็นสมรภูมิที่มีกองกำลังนอกประเทศเข้ามาร่วมรบ เป็นอุทาหรณ์ว่าการป้องกันปัญหาง่ายกว่าและดีกว่าการแก้ปัญหา คนในชาติต้องไม่คิดว่าไม่ใช่เรื่องของตัว หรือคิดแต่เพียงปกป้องครอบครัวคนใกล้ชิดเท่านั้น 
หลังสงครามกลางเมืองเกือบครบ 3 ปี การประชุมเจนีวา 2 กลายเป็นการประชุมระดับนานาชาติครั้งสำคัญยิ่ง การประชุมไม่น่าจะสามารถยุติข้อขัดแย้งตราบใดที่รัฐบาลอัสซาดไม่ก้าวลงจากอำนาจ และสหรัฐกับชาติพันธมิตรยังหนุนหลังฝ่ายต่อต้านที่มุ่งโค่นล้มรัฐบาล คำถามที่สำคัญกว่าการมีข้อตกลงคือ ข้อตกลงนั้นจะนำสู่ประเทศซีเรียที่มีบูรณภาพแห่งดินแดนหรือไม่ เป็นการยุติความขัดแย้งอย่างถาวรหรือไม่ ทั้งหลายทั้งสิ้นนี้พลเมืองซีเรียน่าจะเป็นผู้ตัดสินอนาคตของตนเอง 

บรรณานุกรม:
1. Ahmad al-Jarba. (2014, June 3). Bashar al-Assad’s ‘blood election’. The Washington Post. Retrieved from http://www.washingtonpost.com/opinions/ahmad-al-jarba-bashar-al-assads-blood-election/2014/06/02/4ad6b4e4-ea6b-11e3-93d2-edd4be1f5d9e_story.html
2. Deputy FM: Presidential elections in Syria harsh blow to foreign-backed terrorism. (2014, June 4). SANA. Retrieved from http://www.sana.sy/eng/393/2014/06/04/548620.htm
3. Dr. Bashar Hafez al-Assad wins post of President of Syria with sweeping majority of votes at 88.7%. (2014, June 4). SANA. Retrieved from http://www.sana.sy/eng/393/2014/06/04/548613.htm
4. Feltman, Jeffrey D. (2011, November 9). U.S Policy on Syria. U.S. Department of State. Retrieved from http://www.state.gov/p/nea/rls/rm/176948.htm
5. Hadid, Diaa., & Aji,  Albert. (2014, June 3). Syrians vote during civil war in election derided as a sham. The Globe ana Mail/AP. Retrieved from http://www.theglobeandmail.com/news/world/assad-supporters-flock-to-polls-in-syria-election-seen-by-opposition-as-a-sham/article18959677/
6. Most Syrians killed in unlawful conventional attacks, UN human rights panel says. (2013, September 16). UN News Centre. Retrieved from http://www.un.org/apps/news/story.asp?NewsID=45858&Cr=syria&Cr1=#.UjefPdJQGzk
7. RIYADH: GHAZANFAR ALI KHAN. (2014, June 4). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/news/581661
------------------------