ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) 2015 ฝันที่ยังไม่เป็นจริง (ตอนจบ)

ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาไทยหลายแห่งให้ความสำคัญกับการมาของประชาคมอาเซียนในสิ้นปี 2015 แต่ความไม่พร้อมของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) เป็นปัจจัยสำคัญต่อการประกาศจัดตั้งประชาคมอาเซียนตามกำหนดเวลาเดิม ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2014 แถลงการณ์อาเซียนยอมรับว่า ในหมู่ชาติสมาชิก 10 ประเทศ มีทั้งประเทศที่มีความพร้อมมากกับประเทศที่มีความพร้อมน้อยกว่า พร้อมกับชี้ว่าอาเซียนกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนหลังปี 2015 (ASEAN Community’s Post 2015) เป็นวิสัยทัศน์ฉบับใหม่ที่ครอบคลุมทุกด้าน ส่วนในระหว่างนี้จะเดินหน้าปฏิบัติตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community Blueprints) ที่มีอยู่เดิม
            เทคนิคการนำเสนอข้างต้น คือ การมุ่งให้มองไปในอนาคต มองความสำคัญของวันข้างหน้า ด้วยการประกาศวิสัยทัศน์ที่มองไกลกว่าปี 2015 ซึ่งจะใกล้เคียงของเดิมหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป แต่การไม่ประกาศ AEC ตามแผนเดิมย่อมส่งผลกระทบต่อแผนงานของภาครัฐ ภาคธุรกิจ ผู้เกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย
ผลกระทบทางลบ :
            ประเด็นที่ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนต้องทบทวนเร่งด่วน คือ การปรับเปลี่ยนแผน หากเลื่อนประกาศจัดตั้งประชาคมอาเซียน หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามแผนเดิมที่ประกาศไว้ อย่างน้อย 2 ประการที่ควรตระหนัก ดังนี้
            ประการแรก แผนรูปธรรมบางอย่างจะไม่เกิดขึ้น
            ยกตัวอย่างเช่น การเป็นตลาดและฐานผลิตเดียว (single market and production base)
            ที่ผ่านมาเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area หรือ AFTA) ช่วยลดภาษีศุลกากรระหว่างกันจำนวนมาก แต่ภาษีศุลกากรในสินค้าบางรายการยังมีอยู่ AEC จึงตั้งเป้าให้สินค้านำเข้าทุกตัวปลอดภาษีศุลกากรตามกำหนดเวลา ยกเว้น รายการสินค้าที่จัดอยู่ในบัญชีอ่อนไหวกับอ่อนไหวสูง (High Sensitive List) ของสมาชิกเดิม 6 ประเทศกับสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ มีกำหนดเวลาแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับที่ประเทศสมาชิกต้องไม่ใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีด้วย (Non-Tariff Barriers) การเลื่อน AEC จะส่งผลต่อผู้ส่งออกและนำเข้า
            การเคลื่อนย้ายเสรีของแรงงานวิชาชีพ 8 กลุ่มเป็นอีกตัวอย่างที่อาจจะไม่เกิดขึ้น แรงงานวิชาชีพ 8 กลุ่มได้แก่ วิชาชีพที่เกี่ยวกับการรักษาหรือการแพทย์ (medical services) วิชาชีพที่เกี่ยวกับทันตกรรม (dental services) วิชาชีพพยาบาล (nursing services) วิชาชีพด้านวิศวกรรม (engineering services) วิชาชีพด้านสถาปัตยกรรม (architectural services) วิชาชีพเกี่ยวกับการสำรวจ หรือนักสำรวจ (surveying qualification) วิชาชีพบัญชี (accountancy services) และวิชาชีพด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว (hotel services and tourism)
            แรงงานวิชาชีพที่วางแผนว่าสิ้นปี 2015 จะไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านจะต้องชะลอออกไปก่อน ทำนองเดียวกับธุรกิจที่หวังประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีดังกล่าว
            เรื่องการเป็นตลาดเดียว การเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพเสรีที่หยิบยกขึ้นมา เป็นเพียงตัวอย่างเพื่อชี้ให้เห็นว่า ทุกฝ่ายจำต้องปรับความเข้าใจและปรับแผน เมื่อ AEC ไม่ได้เกิดตามกำหนดเวลาเดิม หรือไม่ได้เป็นตามแผนเดิมที่ประกาศไว้

            ประการที่สอง ผลทางจิตวิทยาและอื่นๆ
            ผลกระทบที่รุนแรงมากที่สุด น่าจะเป็นผลกระทบทางจิตวิทยาในช่วงสั้น โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ หากไม่เตรียมตัวเตรียมใจเสียแต่เนิ่นๆ
            ในด้านการเมืองระหว่างประเทศ บางคนอาจตีความว่าเป็นความล้มเหลวของอาเซียน ที่ไม่อาจรวมตัวอย่างแนบแน่น ชาติสมาชิกมีระบบเศรษฐกิจ การเมืองแตกต่าง ไม่อาจเดินตามทันกระแสโลกาภิวัตน์ ส่งผลกระทบต่ออิทธิพลของอาเซียนและชาติสมาชิกโดยตรง
            ในภาพที่กว้างขึ้น การเลื่อนประกาศ AEC จะเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างต่อกรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีอื่นๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา และมีชาติสมาชิกอาเซียนร่วมอยู่ด้วย เช่น ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement หรือ TPP) กับความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) เป็นอีกปัจจัยหนึ่งต่อคำถามที่ว่า ข้อตกลงเหล่านั้น จะประสบผลได้ตามแผนหรือไม่

ผลกระทบทางบวก :
            การวิพากษ์ความล้มเหลวของการจัดตั้ง AEC ให้ภาพมุมมองด้านลบ ในขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมมองผลในด้านบวกเช่นกัน ดังนี้
            ประการแรก ทุกวันนี้อาเซียนมีความร่วมมือเดิมอยู่แล้ว
            ภายใต้มุมมองจากประเทศไทย ทุกวันนี้อาเซียนมีการค้าขายระหว่างกันมากขึ้นตามลำดับ หลังการประกาศเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) การค้าของไทยกับอาเซียนได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ประเทศไทยกับชาติสมาชิกอื่นๆ ล้วนได้ประโยชน์จากการลดภาษีสินค้า
            นอกจากนี้ การมองประโยชน์จากอาเซียน ต้องมองในกรอบกว้างกว่าเรื่องเศรษฐกิจ ตระหนักอยู่เสมอว่าการก่อตั้งอาเซียนช่วยให้ไทยและประเทศในภูมิภาคได้ประโยชน์ด้านความมั่นคง การเมืองระหว่างประเทศ ช่วยให้ไทยรอดพ้นจากภัยคุกคามอันเนื่องจากสงครามเย็น อาเซียนกลายเป็นเวที เป็นศูนย์รวมของชาติสมาชิก 10 ประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่คนละฝ่าย
            มาถึงยุคปัจจุบัน อาเซียนกำลังเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ที่อาจทวีความหนักหน่วงไม่แพ้สงครามเย็น ความสำคัญของอาเซียนจึงไม่ลดน้อยลง และน่าจะเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะด้วยมุมมองในมิติใดๆ

            ประการที่สอง อาเซียนตอบสนองความต้องการที่จำเป็นของชาติสมาชิก
            ไม่อาจพูดว่าอาเซียนตอบสนองทุกความต้องการได้อย่างเต็มที่ แต่ต้องตระหนักว่า อาเซียนได้พัฒนาและปรับปรุงกลไกต่างๆ มากมาย ตอบสนองความต้องการที่ “จำเป็น”
            ปัญหาของอาเซียนต่อการจัดการประเด็นๆ สำคัญ เช่น ปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ เป็นตัวอย่างที่อาเซียนต้องมีเอกภาพ ดังที่นาย เค ชานมูกาม (K Shanmugam) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ กล่าวอย่างชัดเจนว่า “เป็นเรื่องสำคัญที่อาเซียนจะต้องมีการแสดงออกที่ชัดเจนผ่าน แถลงการณ์ร่วม (joint communiqué) ในความกังวลของเราต่อทะเลจีนใต้” และจะกลายเป็นการ “ทำลายพวกเรา ถ้าพวกเราไม่พูดอะไรสักอย่าง ถ้าอาเซียนไม่เป็นเอกภาพ การเจรจาของเรากับจีนจะมีอุปสรรคมากขึ้นและไม่ยั่งยืน”
            ถ้าวกกลับมาพิจารณาเรื่องเศรษฐกิจ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไม่ต่างจากประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ที่ต้องการความเป็นเอกภาพ ต้องการผลประโยชน์ส่วนรวมที่ได้สมดุลกับผลประโยชน์ของแต่ละชาติสมาชิก

            ประการที่สาม แผนงานที่ทำได้จริง ดีกว่าแผนที่ไม่ทำงาน
            การเลื่อนหรือการลดหย่อนความเข้มข้นของการรวมตัวทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องของการเสียหน้า แต่ยอมรับความจริง ตระหนักว่าชาติสมาชิกยังต้องการเวลาเพิ่มเติม
            การยอมรับความจริงย่อมดีกว่าการซ่อนความจริงที่ไม่อาจปิดบัง และกลายเป็นประชาคมที่ไม่สามารถทำตามแผนต่างๆ มากมายที่อยู่แต่บนแผ่นกระดาษ ซึ่งจะเป็นผลเสียมากกว่า เพราะทุกครั้งที่ประเมินผลงานอาเซียน ผลลัพธ์ที่ได้คืออาเซียนไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้หลายข้อ
          ในแถลงการณ์ระบุ อาเซียนกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนหลังปี 2015 ให้ความสำคัญกับเรื่องที่สามารถบรรลุผล มีกำหนดแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม แนวทางดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน น่าชื่นชมอย่างยิ่ง

วิเคราะห์องค์รวม :
            เหลืออีกไม่ถึงปีครึ่งก็ถึงกำหนดสิ้นปี 2015 แล้ว คาดว่าการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนพฤศจิกายนนี้ หรือในเดือนเมษายนปีหน้า จะมีการประกาศว่าจะไม่เกิดประชาคมอาเซียนตามแผนเดิม หรืออาจเกิดประชาคมอาเซียนในลักษณะที่ไม่ตรงกับแผนเดิมที่วางไว้ พร้อมกับประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ทดแทนของเดิม เป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อว่าหลังสิ้นปี 2015 ประชาคมอาเซียนจะกลายเป็นอย่างไร และแผนพัฒนาประชาคมอาเซียนหลังปี 2015 ที่กำลังวางแผนกันอยู่นั้นเป็นเช่นไร
            ส่วนหนึ่งแผนใหม่น่าจะเป็นการนำเอาจุดอ่อนของแผนเดิมมาปรับแก้ เช่น ลดความเข้มข้นของการรวมตัว วางระบบเงื่อนไขที่ยอมให้ชาติสมาชิกบางประเทศสามารถรักษาสินค้าอ่อนไหวของตนไว้ ในบางเรื่องบ้างด้าน อาจแบ่งอาเซียนเป็น 2 กลุ่ม จัดทำแผนให้สอดคล้องกับความพร้อม ความต้องการของแต่ละกลุ่ม

            ที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะมีประชาคมอาเซียนหรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหลังสิ้นปี 2015 หรือไม่ อาเซียนก็ยังเป็นอาเซียน เป็นกลุ่มความร่วมมือที่มีพัฒนาการยาวนานหลายทศวรรษ เป็นกระบวนการที่ดูความพร้อมความต้องการของชาติสมาชิก และไปอย่างก้าวกระโดดในบางครั้งตามจังหวะที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ชาติสมาชิกอาเซียนไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรตระหนักว่าระเบียบโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ มีความท้าทายรออยู่ข้างหน้าเสมอ
            ในอีกมุมหนึ่ง ยังมีโอกาสมีผลประโยชน์อีกมากมายที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เปรียบเสมือนแหล่งขุมทรัพย์ที่รอคนไปขุดขึ้นมาใช้ ต้องชื่นชมบรรดาผู้นำในอดีตและปัจจุบันที่มีวิสัยทัศน์ การลงมือผลักดันของทุกฝ่ายจนเห็นความก้าวหน้าอย่างที่เป็นอยู่
27 กรกฎาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6473 วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2557)
-----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยให้ความสำคัญกับการมาถึงของประชาคมอาเซียนในปี 2015 หลายภาคส่วนทั้งเอกชน ราชการต่างเร่งเตรียมตัว เพื่อรองรับการมาถึงของประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน บทความนี้ (แบ่งออกเป็น 2 ตอน) จะนำเสนอว่าเมื่อถึงสิ้นปี 2015 อาจไม่เกิดประชาคมอาเซียน หรือเกิดประชาคมอาเซียนแต่จะไม่เป็นไปตามแผนเดิมที่ประกาศไว้
2.ข้าใจอาเซียน ตอนลักษณะวิถีอาเซียน
บทความนี้อธิบายจำแนกลักษณะวิถีอาเซียน อธิบายแต่ละลักษณะโดยสังเขป

บรรณานุกรม:
1. ถาม-ตอบ รอบรู้ AEC 360°. (2555, พฤษภาคม). กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ. Retrieved from http://www.education.dusit.ac.th/ASIAN/books/asian/007.pdf
2. CHAIRMAN’S STATEMENT OF THE 22nd ASEAN SUMMIT. (2013, April 24-25). Association of Southeast Asian Nations. Retrieved from http://www.asean.org/news/asean-statement-communiques/item/chairmans-statement-of-the-22nd-asean-summit-our-people-our-future-together
3. Chairman's Statement of the 24th ASEAN Summit: "Moving forward in Unity to a Peaceful and Prosperous Community". (2014, May 11). Association of Southeast Asian Nations. Retrieved from http://www.asean.org/images/documents/24thASEANSummit/24th%20ASEAN%20Summit%20Chairman's%20Statement.pdf
4. Key ASEAN strategy announcement expected in Nay Pyi Taw. (2014, May 9). The Myanmar Times. Retrieved from http://www.mmtimes.com/index.php/national-news/10279-key-asean-strategy-announcement-expected-in-nay-pyi-taw.html
5. Thayer, Carlyle A. (2012, November). Deference/Defiance: Southeast Asia, China and the South China Sea. Retrieved from www.viet-studies.info/kinhte/Deference_Defiance_Thayer.pdf
------------------------