ผลเจรจาเจนีวา 2 สันติภาพอันเลือนรางของซีเรีย

หลังการประชุมนาน 1 สัปดาห์ ผู้เข้าร่วมกว่า 40 ประเทศ การเจรจาเจนีวา 2 (Geneva II) ได้ข้อสรุปว่า 2 ฝ่ายบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในบางพื้นที่ เพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะส่งถึง 2-3 พันครอบครัวที่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้น นายลักคาร์ บราฮิมี (Lakhdar Brahimi) ตัวแทนสหประชาชาติและสันนิบาตอาหรับเพื่อแก้ปัญหาซีเรียกล่าวว่าการเจรจา “คืบหน้าช้ามาก” แต่ท่าทีของทั้ง 2 ฝ่ายถือว่าใช้ได้ นี่เป็นเพียงการเริ่มต้น เราได้สร้างจุดเริ่มต้นแล้ว ยอมรับ 2 ฝ่ายเห็นต่างกันมาก
            ถ้าจะเอ่ยถึงความสำเร็จของการเจรจา คำกล่าวของนายบราฮิมีคือข้อสรุปที่ดีที่สุด เพราะก่อนการเจรจานักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ทำนองเดียวกันว่าความขัดแย้งหลักยังคงดำเนินต่อไป ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad) ไม่ก้าวลงจากอำนาจ รัฐบาลเฉพาะกาล (Transitional Governing Body หรือ TGB) ที่ฝ่ายต่อต้านต้องการไม่เกิดขึ้น แต่นับว่าการเจรจาประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะอย่างน้อยแสดงให้เห็นว่าฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านสามารถพูดคุยและตกลงกันได้ ประเทศที่เกี่ยวข้องสนับสนุนข้อตกลงเหล่านี้ เป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างความปรารถนาดีต่อกัน ปูทางสู่การเจรจายุติความขัดแย้งในอนาคต
            แต่ถ้าจะสรุปตามมุมมองของนายบราฮิมี จะได้มุมมองของผู้ที่ทำหน้าที่เป็นคนกลาง ผู้ที่หวังความสำเร็จของการเจรจา ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ละเลยประเด็นสำคัญๆ ที่แฝงอยู่
วิพากษ์กรณีเมืองฮอมส์ :
            ในระหว่างการเจรจา ประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจคือการเจรจาช่วยเหลือเมืองฮอมส์ (Homs) พื้นที่เมืองบางส่วนเป็นที่ตั้งของฝ่ายต่อต้านที่กองทัพอัสซาดปิดล้อมมานานแล้ว ต่างฝ่ายต่างกล่าวหาซึ่งกันและกันว่าเป็นตัวขัดขวางทำให้ความช่วยเหลือไม่ถึงมือประชาชน เดิมเมืองนี้มีพลเมืองราว 1 ล้านคน ปัจจุบันคงเหลือพลเรือนเพียงเล็กน้อย ชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพออกจากพื้นที่นานแล้ว
            ในตอนแรก นาย Louay Safi โฆษกฝ่ายต่อต้านเรียกร้องให้ส่งความช่วยเหลือแก่เมืองฮอมส์ กล่าวว่า “ประชาชนจะอดตายถ้ารัฐบาลไม่เปิดช่องให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรมเข้าไปถึง เป็นเครื่องชี้ว่ารัฐบาลต้องการแก้ปัญหาด้วยทหาร ไม่ใช่ด้วยการเมือง” รัฐบาลใช้การปิดล้อมให้คนอดตายเป็นอาวุธ ด้านรัฐบาลอัสซาดรับปากว่ายินดีเปิดทางแก่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
            แต่ผลสุดท้ายการเจรจาช่วยเหลือเมืองฮอมส์ล้มเหลว เนื่องจากไม่สามารถตกลงเรื่องกระบวนการส่งมอบความช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่กองคาราวานของสหประชาชาติมารออยู่ปากทางหลายวันแล้ว

            อีกประเด็นคือการปล่อยให้พลเรือนออกจากเมือง
            ในการประชุม 2 วันแรก มีข้อตกลงให้เด็กกับสตรีสามารถออกจากเมืองฮอมส์ ผู้ชายได้รับอนุญาตให้ออกจากเมืองเช่นกัน แต่ต้องผ่านการตรวจสอบรายชื่อว่าไม่ใช่สมาชิกกองกำลังติดอาวุธ แต่ต่อมานาย Louay al-Safi เปลี่ยนท่าทีกล่าวว่าฝ่ายต่อต้านปฏิเสธการส่งตัวผู้หญิงและเด็กออกจากเมือง เนื่องจากพวกผู้ชายไม่คิดว่ารัฐบาลจะสามารถให้ความคุ้มครองแก่ครอบครัวของพวกเขา แม้ว่ารัฐบาลจะยืนยันเรื่องความปลอดภัย
            เดิมฝ่ายต่อต้านเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้พลเรือนในเมืองฮอมส์สามารถออกจากพื้นที่ เพราะการปิดล้อมทำให้พลเรือนอดอยาก เสี่ยงที่จะบาดเจ็บเสียชีวิตเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ปะทะ ฝ่ายรัฐบาลตั้งข้อสังเกตว่าทำไมฝ่ายต่อต้านให้ความสำคัญกับเมืองฮอมส์ และเมื่อข้อตกลงคือรัฐบาลอัสซาดยอมให้ผู้หญิงกับเด็กสามารถออกได้โดยเสรี ส่วนผู้ชายต้องผ่านการพิสูจน์ว่าไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายเสียก่อน ฝ่ายต่อต้านกลับเปลี่ยนท่าทีอ้างว่าผู้หญิงและเด็กที่ออกไปจะไม่ได้รับความปลอดภัย จึงเกิดคำถามว่าทำไมฝ่ายต่อต้านจึงยกเรื่องนี้ขึ้นมาเจรจาแต่แรก การอยู่ในเมืองต่อไปเสี่ยงต่อการถูกโจมตีเป็นอันตรายเช่นกันไม่ใช่หรือ ชวนให้สงสัยว่าอะไรเป็นเหตุผลเบื้องหลังของข้อเรียกร้องให้พลเรือนสามารถออกจากเมือง
            นักวิเคราะห์หลายคนหวังว่าการเจรจาน่าจะบรรลุผลเรื่องด้านมนุษยธรรม แต่ผลลัพธ์ที่ได้น่าผิดหวัง ความช่วยเหลือทำได้ในกรอบเล็กๆ คนเพียงไม่กี่พันคนได้รับประโยชน์ ได้แต่บอกว่าจะเจรจากันต่อไป หลังจาก 2 ฝ่ายต่างโจมตีอีกฝ่ายว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ปล่อยให้พลเรือนอดตาย

ข้อเสนอ แยกพลเรือนออกจากผู้ก่อการร้าย กองกำลังต่างชาติ :
            ผลการเจรจาชี้ว่าความขัดแย้งคงต้องดำเนินต่อไปอีกนาน การปะทะจึงยังคงอยู่ แต่ในพื้นที่การปะทะทั้งหมดสามารถแบ่งแยกได้ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ของกองกำลังกลุ่มใด ฝ่ายใด ข้อเสนอคือต้องแยกพลเรือนออกจากกองกำลังต่างชาติ รัฐบาลอัสซาดควรพยายามเจรจาหยุดยิงกับฝ่ายต่อต้านที่เป็นคนซีเรียแท้ๆ พยายามลดการปะทะกับกลุ่มดังกล่าว ในขณะที่ควรทำการปราบปรามกองกำลังต่างชาติอย่างเต็มที่ เป็นหน้าที่และความชอบธรรมของรัฐบาลที่จะต้องทำการปราบปรามปกป้องอธิปไตยของชาติ
            Jabhat al-Nusra กับ Islamic State of Iraq and the Levant (ISIL) เป็น 2 กลุ่มตัวอย่างของกองกำลังต่างชาติที่รัฐบาลมีความชอบธรรมในการปราบปราม เป็นศูนย์รวมกองกำลังต่างชาติ เป็นองค์กรก่อการร้ายใกล้ชิดกับอัลกออิดะห์ที่หลายรัฐบาลทั่วโลกต่อต้านอยู่แล้ว ทั้งยังเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องการเจรจากับรัฐบาลอัสซาด มีเป้าหมายปฏิวัติล้างประเทศซีเรีย สถาปนารัฐขึ้นใหม่ตามแนวทางของตน
            ในกลุ่มฝ่ายต่อต้านที่เป็นคนซีเรียท้องถิ่น รัฐบาลควรเน้นเจรจาหยุดยิง หาทางออกด้วยสันติวิธี โดยไม่พึ่งหวังการเจรจาเจนีวารอบหน้า ที่ผ่านมารัฐบาลอัสซาดบรรลุผลการเจรจาหยุดยิงในบางพื้นที่ เช่น เมือง Moadamiyeh กับ Barzeh
            ส่วนกลุ่มต่อต้านท้องถิ่นที่ยังต้องการต่อสู้ด้วยอาวุธ รัฐบาลย่อมมีสิทธิ์ปราบปราม ดังที่กระทำอยู่แล้วในขณะนี้ และตลอดเวลาที่ทำการเจรจาหรือทำการปราบปราม รัฐบาลซีเรียควรเผยแพร่ข่าวสารอย่างเต็มที่ ผ่านทุกช่องทาง เพื่อให้สหประชาชาติ องค์กรระหว่างประเทศทั้งหลาย ประชาคมโลกรับรู้ว่ารัฐบาลพยายามเจรจาหยุดยิง กำลังต่อสู้กับกองกำลังต่างชาติ
            นอกจากนี้ ไม่ควรให้กองกำลังของอิหร่านกับกองกำลังฮิซบุลลอฮ์ (Hezbollah) อยู่ในดินแดนซีเรียอีกต่อไป รัฐบาลไม่ควรให้กองกำลังต่างชาติมาช่วยรบ เพื่อขจัดข้อครหาว่ารัฐบาลอัสซาดกล่าวโจมตีการแทรกแซงจากกองกำลังต่างชาติ กลุ่มผู้ก่อการร้ายที่บางประเทศหนุนหลัง แต่กลับปล่อยให้มีกองกำลังอิหร่านกับกลุ่มก่อการร้ายฮิซบุลลอฮ์ที่สนับสนุนตนอยู่ในประเทศ

ข้อเสนอ ชาติอาหรับจัดตั้งเขตห้ามบิน :
            ถ้าจะมองในมุมของฝ่ายต่อต้านที่ต้องการโค่นล้มระบอบอัสซาด สถานการณ์ขณะนี้กลับมาที่การล้มรัฐบาลโดยใช้กำลังทหารด้วยการแทรกแซงจากต่างชาติ ที่ผ่านมาฝ่ายต่อต้านและประเทศอาหรับเรียกร้องให้สหรัฐเข้าแทรกแซง และเกือบจะประสบความสำเร็จจากกรณีการใช้อาวุธเคมีซารินเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมปีก่อน แต่ด้วยแรงกดดันจากสมาชิกสหภาพยุโรป แรงกดดันภายในประเทศ ทำให้รัฐบาลสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศสไม่อาจใช้กำลังทหารโจมตีกองทัพอัสซาด
            มีข้อสังเกตว่า ชาติอาหรับปฏิเสธความชอบธรรมของรัฐบาลอัสซาด สันนิบาตอาหรับเรียกร้องอย่างเป็นทางการให้ประธานาธิบดีอัสซาดก้าวลงจากอำนาจตั้งแต่ 2 ปีก่อน แต่ที่ผ่านมาชาติอาหรับเน้นการแทรกแซงโดยการนำของชาติตะวันตก ทั้งๆ ที่ชาติอาหรับหลายประเทศมีพลังอำนาจการรบสูง มีเครื่องบินรบทันสมัยจำนวนมาก บางประเทศมีกองทัพอากาศที่เข้มแข็งกว่ากองทัพซีเรียด้วยซ้ำ สามารถสร้างเขตห้ามบิน (No-fly zone) ที่ฝ่ายต่อต้านร้องขอมาโดยตลอด

            แนวทางให้ชาติอาหรับร่วมกันสร้างเขตห้ามบิน สนับสนุนการโจมตีทางภาคพื้นดิน โดยมีชาติตะวันตกสนับสนุนด้านข้อมูลข่าวสาร น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำได้ แต่ที่ผ่านมาไม่มีการส่งเสริมแนวทางนี้อย่างชัดเจน บางคนอ้างว่าศักยภาพไม่เพียงพอ บางคนเกรงว่าอิหร่านจะเข้าแทรกแซงช่วยเหลือรัฐบาลซีเรีย
            นักวิเคราะห์บางคนโจมตีสหรัฐว่าเป็นอภิมหาอำนาจเสียเปล่า ทนนั่งนิ่งเฉย ปล่อยให้คนซีเรียเป็นแสนเสียชีวิต รัฐบาลอาหรับเรียกร้องขอการแทรกแซง (แนวคิดนี้นับว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ เพราะแต่เดิมรัฐบาลในภูมิภาคจะต่อต้านการแทรกแซงจากชาติตะวันตก บางกลุ่มอ้างเรื่องศาสนา แต่ใน 2-3 ปีที่ผ่านมาแนวคิดนี้มีการปรับเปลี่ยน ชาติอาหรับหลายประเทศเรียกร้องให้ตะวันตกเข้าแทรกแซงทางทหาร)
            การกล่าวโทษสหรัฐหรือชาติตะวันตกเพียงฝ่ายเดียวคงไม่ครบถ้วนนัก เพราะที่ผ่านมาชาติอาหรับด้วยกันเองมีความคิดแทรกแซงด้วยกำลังทหารเช่นกัน ประมุขการ์ตา เช็ค ฮามัด บิน คาลิฟา อัล-ตานี (Sheikh Hamad bin Khalifa Al-Thani) ตรัสในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติว่า ประเทศในภูมิภาคจะต้องจัดการปัญหาซีเรียด้วยตนเอง การปล่อยให้ประชาชนนับร้อยถูกสังหารในแต่ละวันเป็นเรื่องยอมรับไม่ได้ เมื่อนานาชาติรวมทั้งคณะมนตรีความมั่นคงไม่สามารถพาซีเรียออกจากความรุนแรง “ประเทศอาหรับด้วยกันเองจึงควรแทรกแซง เพื่อกระทำภารกิจของชาติ เพื่อมนุษยธรรม เพื่อหน้าที่ทางการเมืองและทางทหาร” ต่อภูมิภาค หยุดการหลั่งเลือดในซีเรีย และเคยตรัสว่า “ควรจัดตั้งเขตห้ามบิน” เพื่อให้เกิดพื้นที่ปลอดภัย

            การจัดตั้งเขตห้ามบินน่าจะเป็นแนวทางที่ง่ายและมีความเป็นไปได้มากที่สุด แต่จนบัดนี้ความคิดดังกล่าวยังเป็นเพียงความคิด ถ้ามองในมุมนี้ย่อมสามารถพูดได้ว่าชาติอาหรับ พี่น้องในภูมิภาคทนนิ่งเฉยเช่นกัน
            แนวคิดการโค่นล้มระบอบอัสซาดด้วยกำลังทหารจึงยังตีบตันต่อไป แต่น่าคิดว่าผลการเจรจาเจนีวา 2 จะปลุกแนวคิดชาติอาหรับจัดการปัญหาด้วยตนเองอีกครั้งหรือไม่

            ถ้ามองในแง่บวกการเจรจาเจนีวา 2 คือจุดเริ่มต้นของการยุติความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ถ้ามองในแง่ลบคือยังมองไม่เห็นทางออก ข้อเสนอให้รัฐบาลอัสซาดมุ่งปราบปรามกองกำลังต่างชาติมองในกรอบรัฐบาลทำหน้าที่ของตน ข้อเสนอให้ชาติอาหรับจัดตั้งเขตห้ามบินมองในกรอบการแก้ปัญหาโดยชาวอาหรับด้วยกันเอง ส่วนแนวทางใดจะถูกหรือผิดขึ้นกับหลักคิดที่ยึดถือ ที่แน่ๆ คือ ณ บัดนี้ไม่มีทางเลือกใดที่ดีเลิศ เพราะทางที่ดีเลิศคือการป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งบานปลาย สถานการณ์ในซีเรียได้เลยจุดนี้ไปนานแล้ว
2 กุมภาพันธ์ 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6298 วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557)
---------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง: 
หลังสงครามกลางเมืองเกือบครบ 3 ปี การประชุมเจนีวา 2 กลายเป็นการประชุมระดับนานาชาติครั้งสำคัญยิ่ง การประชุมไม่น่าจะสามารถยุติข้อขัดแย้งตราบใดที่รัฐบาลอัสซาดไม่ก้าวลงจากอำนาจ และสหรัฐกับชาติพันธมิตรยังหนุนหลังฝ่ายต่อต้านที่มุ่งโค่นล้มรัฐบาล คำถามที่สำคัญกว่าการมีข้อตกลงคือ ข้อตกลงนั้นจะนำสู่ประเทศซีเรียที่มีบูรณภาพแห่งดินแดนหรือไม่ เป็นการยุติความขัดแย้งอย่างถาวรหรือไม่ ทั้งหลายทั้งสิ้นนี้พลเมืองซีเรียน่าจะเป็นผู้ตัดสินอนาคตของตนเอง 
บรรณานุกรม:
1. Assad, Bashar al-. (2014, January 21). Bashar al-Assad Interview: The Fight against Terrorists in Syria. Retrieved from http://www.globalresearch.ca/bashar-al-assad-interview-the-fight-against-terrorists-in-syria/5365613
2. H.H. Sheikh Hamad bin Khalifa Al-Thani, Amir. (2012, September 25). General Assembly OF THE UNITED NATIONS. Retrieved from http://gadebate.un.org/67/qatar
3. Masters, Jonathan. (2013, Septmeber 11). Syria's Crisis and the Global Response. Retrieved from http://www.cfr.org/syria/syrias-crisis-global-response/p28402
4. Sayed, Khalid Al. (2013, September 19). Syria: Between Obama’s speech and Putin’s article. Retrieved from http://thepeninsulaqatar.com/views/editor-in-chief/253704/syria-between-obama%E2%80%99s-speech-and-putin%E2%80%99s-article
5. Syria crisis: Geneva peace talks end in recriminations. (2014, January 31). BBC. Retrieved from http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-25983181
6. Syria Geneva II talks: Breakthrough on easing siege of Homs, but peace agreement still remains far off. (2014, January 26). The Guardian. Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/world/europe/syria-geneva-ii-talks-breakthrough-on-easing-siege-of-homs-but-peace-agreement-remains-far-off-9086542.html
7. Syria talks see no breakthrough but will continue: Brahimi. (2014, January 29). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/world/2014-01/29/c_126076445.htm
8. Syrian negotiators focus on humanitarian aid for civilians. (2014, January 25). Los Angeles Times. Retrieved from http://www.latimes.com/world/la-fg-syria-peace-talks-20140126,0,6373046.story#axzz2rSpggelw)
-------------------------