เจนีวา 2 จะเป็นทางออกของสงครามกลางเมืองซีเรียหรือ

ใกล้ครบ 3 ปีแล้วที่ “ซีเรียสปริง” กลายเป็นสงครามกลางเมืองที่ยังไร้จุดยุติ ผู้ที่ติดตามเรื่องราวซีเรียจะพูดทำนองเดียวกันว่าเป็นความขัดแย้งที่ซับซ้อน ทุกฝ่ายยอมรับว่าที่สุดแล้วต้องนำเรื่องมาสู่โต๊ะเจรจา แม้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาจะมีการเจรจาหลายรอบทั้งแบบลับและเปิดเผย ผลลัพธ์ที่ออกมาคือความขัดแย้งดำเนินต่อไป การประชุมเจนีวา 2 (Geneva II) ที่กำลังดำเนินในขณะนี้เป็นความพยายามล่าสุด หลังจากเลื่อนการประชุมดังกล่าวมาแล้วหลายรอบ
            บทความนี้จะนำเสนอประเด็นสำคัญๆ บางประเด็นเพื่อช่วยในการทำความเข้าใจ วิเคราะห์ทิศทางอนาคต
จุดยืน จุดต่างของแต่ละฝ่าย :
            นายวาลิด อัลเมาเล็ม (Walid al-Moualem) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซีเรีย กล่าวก่อนเข้าเจรจาว่า รัฐบาลซีเรียมาประชุมเพื่อร่วมหาทางออก ต่อต้านการก่อการร้าย ไม่ได้มาเพื่อส่งมอบอำนาจแก่ฝ่ายต่อต้าน จุดยืนของรัฐบาลซีเรียคือแก้ปัญหาด้วยวิถีทางการเมือง พร้อมจะให้ปรับแก้รัฐธรรมนูญ สรรหาผู้นำประเทศคนใหม่ แต่ทั้งหมดต้องใช้วิธีการลงประชามติ ผ่านการเลือกตั้ง และรัฐบาลอัสซาดจะต้องเป็นรัฐบาลรักษาการและมีโอกาสบริหารประเทศต่อไปถ้าชนะการเลือกตั้ง
            ด้านนายจอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวในที่ประชุมว่าจุดยืนของสหรัฐ “คือเจรจาตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล (Transitional Governing Body หรือTGB)” โดยที่ประธานาธิบดีอัสซาดจะไม่มีส่วนในรัฐบาลเฉพาะกาลนี้ คำกล่าวของรัฐมนตรีแคร์รี่สะท้อนจุดยืนของ 11 ประเทศที่เรียกตัวว่า Friends of Syria อันประกอบด้วยประเทศอังกฤษ อียิปต์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี จอร์แดน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี สหรัฐอาหรับเรมิเรตส์ และสหรัฐอเมริกา ประเทศเหล่านี้ให้การสนับสนุนแนวร่วมต่อต้านรัฐบาลซีเรีย มีจุดยืนว่าประธานาธิบดีอัสซาดกับบริวารจะต้องไม่มีส่วนใน TGB

            ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย เป็นกลุ่มสำคัญอีกส่วนที่เข้าร่วมประชุม โดยเฉพาะแนวร่วมฝ่ายต่อต้านที่เรียกว่า Syrian National Coalition (SNC) มีจุดยืนต้องการโค่นล้มระบอบอัสซาด แต่นักวิเคราะห์บางคนเช่นนาย Joshua Landis ชี้ว่า SNC “เป็นหุ่นเชิดของอเมริกาและมีไว้เพื่อคุยกับอัสซาดเท่านั้น กลายเป็นคำถามว่าจะได้อะไรจากการประชุมเจนีวา 2”
            ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลอัสซาดยึดมั่นว่ารัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องอธิปไตย รักษาความสงบเรียบร้อย ปราบปรามผู้ก่อการร้าย ส่วนฝ่ายต่อต้านเห็นว่าต้องโค่นล้มระบอบทรราช เมื่อบวกกับการสนับสนุนจากต่างชาติ การที่ไม่มีฝ่ายใดสามารถมีชัยในการรบอย่างเด็ดขาด ความขัดแย้งซีเรียกลายเป็นภาวะชะงักงัน เป็นการสู้รบไปเรื่อยๆ อย่างไม่จบสิ้น และหากต่างฝ่ายยึดมั่นจุดยืนตามที่ประกาศไว้จริง เพียงเท่านี้ก็ทำนายผลการเจรจาได้ว่าไม่สามารถยุติความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าการที่ทุกฝ่ายยอมเข้าร่วมประชุมก็ด้วยมีเหตุสำคัญบางประการ มีความจำเป็นมากพอที่จะต้องเปิดการเจรจาใช้เวทีระดับนานาชาติ คำถามที่ตามมาคือใครจะเป็นผู้ได้ประโยชน์ พลเรือนซีเรียจะได้ประโยชน์หรือไม่

เพื่อผลประโยชน์ของคนซีเรีย หรือของใคร:
            ความขัดแย้งซีเรียที่เริ่มจากความขัดแย้งภายในประเทศ ปัจจุบันกลายเป็นความขัดแย้งที่หลายประเทศมีส่วนเกี่ยวข้อง ทุกประเทศอ้างว่าทำเพื่อประโยชน์ของคนซีเรีย แต่รายงานประจำปีขององค์กรสิทธิมนุษยชน (Human Rights Watch หรือ HRW) ที่ออกเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา วิพากษ์ว่ารัฐบาลสหรัฐจะต้องพยายามมากกว่านี้เพื่อกดดันรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนรัฐบาลอัสซาดที่สำคัญที่สุด ที่ผ่านมารัสเซียขายอาวุธแก่รัฐบาลซีเรียอย่างต่อเนื่อง ขัดขวางข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเพื่อใช้กำลังจัดการกองทัพอัสซาด
            วิพากษ์ว่ารัฐบาลสหรัฐไม่สนับสนุนการนำเรื่องเข้าสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) ด้วยเกรงว่าจะกระทบต่อรัฐบาลอิสราเอล ที่ขณะนี้ยังคงขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ เพื่อตั้งถิ่นฐานใหม่ๆ ในพื้นที่ Golan Heights ที่อิสราเอลยึดจากซีเรีย
            รัฐบาลในหมู่ชาติอาหรับหลายประเทศประณามพฤติกรรมของรัฐบาลซีเรีย แต่ในอีกด้านหนึ่งยังคงทำธุรกรรมการเงินกับซีเรีย ไม่ยอมคว่ำบาตรด้วยวิธีการดังกล่าวทั้งๆ ที่พิสูจน์แล้วทั่วโลกว่าเป็นวิธีคว่ำบาตรที่ได้ผล ประเทศเลบานอน อิรักและอียิปต์ยังคงขายน้ำมันแก่ซีเรีย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำหรับอาวุธสงครามที่ใช้เข่นฆ่าประชาชน

            นอกจากนี้ องค์กรสิทธิมนุษยชนยังชี้ว่ามีรายงานว่าประเทศซาอุดิอาระเบียกับกาตาร์สนับสนุนกลุ่มพวกสุดโต่ง ให้ทั้งเงินกับอาวุธเพื่อโค่นล้มรัฐบาลอัสซาด ซึ่งเป็นการเติมเชื้อไฟให้สถานการณ์ทวีความรุนแรง เป็นอีกเหตุหนึ่งให้การฆ่าฟันดำเนินต่อไป
            ข้อมูลที่บางประเทศสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน สอดคล้องกับประธานาธิบดีอัสซาดที่ชี้ว่า “ถ้ายุติการสนับสนุนด้านการเงินกับอาวุธแก่พวกกบฏแล้ว การแก้วิกฤตก็จะกระทำได้โดยง่าย” พร้อมกับกล่าวโทษประเทศกาตาร์ว่าเป็นประเทศแรกที่ให้อาวุธและเงินแก่ฝ่ายต่อต้าน ตุรกีอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง ส่วนซาอุดิอาระเบียให้ความช่วยเหลือตามมา จอร์แดนตอนแรกไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ต่อมาก็มีส่วนหลังความขัดแย้งเกิดขึ้นราว 1 ปี และกล่าวโทษซาอุฯ “ดำเนินนโยบายของสหรัฐอย่างสัตย์ซื่อ” และ “ซาอุฯ ให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในซีเรียอย่างเปิดเผย ทั้งด้วยการให้เงิน อาวุธ การสนับสนุนทางการเมืองและสื่อ”
            เมื่อเดือนกันยายนปีก่อน ทีมงานด้านมนุษยชนสหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกประเทศหยุดส่งอาวุธแก่รัฐบาลกับฝ่ายต่อต้าน เพราะคนส่วนใหญ่เสียชีวิตด้วยอาวุธจำพวกปืนกับปืนครก ดังนั้น วิธีการที่จะช่วยยับยั้งไม่ให้ผู้เสียชีวิตเพิ่มมากกว่านี้คือต้องตัดการสนับสนุนด้านอาวุธ เพราะอาวุธเหล่านี้ถูกนำไปใช้สังหารพลเรือน ถือว่ากระทำผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหรือกฎหมายอาชญากรสงคราม แต่ไม่มีประเทศใดให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องดังกล่าว
            พฤติกรรมของหลายประเทศที่กล่าวถึง ก่อให้เกิดคำถามว่าคำว่านโยบายของประเทศเหล่านี้มีเพื่อประโยชน์ของใคร

ยิ่งกว่าเพียงแค่มีทางออก :
            หากดูเผินๆ การเจรจาน่าจะเป็นเรื่องดี หลายประเทศพูดว่าเป็นการเจรจาเพื่อแสวงหาสันติภาพ แต่หากวิเคราะห์รายละเอียด จะเกิดคำถามว่าสันติภาพหรือการยุติความขัดแย้งหมายถึงอะไรกันแน่ ถ้ามองในมุมรัฐบาลสหรัฐกับพวกจะหมายถึงไม่มีระบอบอัสซาดอีกต่อไป เท่ากับว่าการประชุมเจนีวา 2 การจัดตั้ง TGB คือเครื่องมือโค่นล้มรัฐบาลอัสซาด โดยอ้างว่ารัฐบาลอัสซาดสังหารประชาชนจำนวนมาก ไม่มีความชอบธรรมอีกต่อไป
            เรื่องที่กองทัพรัฐบาลอัสซาดสังหารประชาชนมีมูลความจริง แต่ในอีกด้านหนึ่งฝ่ายต่อต้านที่ Friends of Syria สนับสนุนก็สังหารประชาชนจำนวนมากเช่นกัน เกิดคำถามว่าหากระบอบอัสซาดขาดความชอบธรรมที่จะปกครองประเทศเพราะสังหารประชาชนจำนวนมาก ฝ่ายต่อต้านจะมีความชอบธรรมได้อย่างไร ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกันได้ แต่จำต้องมีข้อสรุปในที่สุด
            การที่บางประเทศพยายามผลักดัน TGB พร้อมกับชี้ว่าประธานาธิบดีอัสซาดต้องลาออกจากตำแหน่ง เป็นการช่วงชิงกรอบการเจรจาไปสู่ทิศทางดังกล่าว เกิดคำถามว่าแนวทางดังกล่าวคือความต้องการของคนซีเรียส่วนใหญ่จริงหรือไม่ กลุ่มประเทศที่ผลักดันมีสิทธิ์อะไรในการกำหนดอนาคตของประเทศอื่น ทั้งยังเกิดคำถามว่า ทำไมไม่สนับสนุนให้พลเมืองซีเรียแท้ๆ ตัดสินอนาคตของตนเอง

            สงครามกลางเมืองซีเรียที่ยืดเยื้อรุนแรงเกือบ 3 ปีจะต้องมีวันยุติแน่นอนไม่วันใดก็วันหนึ่ง การประชุมเจนีวา 2 อาจเป็นก้าวแรกของทางออก แต่คำถามที่สำคัญกว่าคือปลายทางของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ประเทศยังจะมีบูรณภาพแห่งดินแดนหรือไม่ หรือแยกเป็น 3 ส่วน 4 ส่วน เป็นประเทศเล็กๆ ที่อ่อนแอ อยู่ใต้อิทธิพลต่างชาติ หรือเป็นเพียงการหยุดยิงชั่วคราวที่พร้อมจะปะทะกันอีก

            ในด้านรูปแบบการปกครองในอนาคต การที่รัฐบาลโอบามากับชาติตะวันตกหลายประเทศเรียกร้องให้ซีเรียเป็นประชาธิปไตย คำถามคือเมื่อเปลี่ยนแปลงแล้ว ใครจะรับประกันหรือให้สัญญาได้ว่าชีวิตความเป็นอยู่ของชาวซีเรียโดยรวมจะดีขึ้น ปัจจุบันมีตัวอย่างหลายประเทศในภูมิภาค ที่การแทรกแซงจากต่างชาติ การเปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตยไม่ช่วยให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม บางประเทศกลับวุ่นวายอย่างหนัก กลายเป็นรัฐล้มเหลว เช่น อิรัก ลิเบีย
            มีความเป็นไปได้ว่าหากประธานาธิบดีอัสซาดก้าวลงจากอำนาจ มีโอกาสที่ซีเรียจะเหมือนอิรัก คือ สงครามกลางเมืองดำเนินต่อไป กองกำลังสุดโต่งบางกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสถาปนารัฐอิสลามตามแนวทางของตน พวกเคิร์ดทางตอนเหนือของประเทศแบ่งแยกดินแดน

            แนวทางหนึ่งที่น่าจะเป็นทางออกคือ เริ่มจากให้ทุกฝ่ายหยุดยิง กองกำลังรัฐบาลกลับเข้าที่ตั้ง และให้กองกำลังสหประชาชาติเข้าควบคุมแลความสงบเรียบร้อย ส่วนกองกำลังต่างชาติ ชาวต่างชาติที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายต้องออกจากประเทศทันที
            เมื่อสถานการณ์โดยรวมสงบ ไม่มีการปะทะด้วยอาวุธ จะเป็นการปูทางสู่การหาทางออกด้วยวิถีทางการเมือง ให้การตัดสินใจเป็นของพลเมืองซีเรีย เป็นโอกาสที่ระบอบอัสซาดจะต้องยอมถอยหนึ่งก้าว ไม่ยึดอำนาจไว้กับพวกตนฝ่ายเดียวอีกต่อไป เปิดทางให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในอำนาจการเมือง ตัดสินใจทิศทางการเมืองการปกครองในอนาคต โดยคำนึงถึงความเจริญที่ยั่งยืนเป็นที่ตั้ง
            นอกจากนี้ ให้กำหนดภารกิจหลักของรัฐบาลใหม่คือการสร้างความสมานฉันท์ บูรณะประเทศซึ่งคาดว่าต้องกินเวลาหลายปี นำประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติในที่สุด

            ที่สุดแล้ว พลเมืองซีเรียเท่านั้นคือผู้มีสิทธิ์ตัดสินอนาคตของตนเองและอนาคตของประเทศ ไม่ใช่เพียงเพื่อยุติความขัดแย้งอย่างฉาบฉวย แต่เพื่อการอยู่ร่วมของคนในชาติอย่างสมานฉันท์ อย่างอารยประเทศ และหากสงครามกลางเมืองซีเรียยุติลงด้วยดีจะเป็นการวางแบบอย่างที่ดีแก่ความขัดแย้งในที่อื่นๆ ทั่วโลก
26 มกราคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6291 วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ.2557) 
----------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
จากที่ลังเลใจมาตลอดหนึ่งปี พยายามเลื่อนการตัดสินใจว่าใครเป็นผู้ใช้อาวุธเคมีในซีเรีย เหตุการณ์การใช้อาวุธเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม กลายเป็นข้ออ้าง เป็นจุดเปลี่ยนนโยบายของโอบามาต่อซีเรีย สหรัฐคิดโจมตีกองทัพรัฐบาลอัสซาดด้วยตนเอง ด้วยไม่ฟังคำทัดทานจากหลายประเทศ เหตุผลหลักประการหนึ่งคือต้องการช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านรัฐบาล
สมาชิกสหภาพยุโรปมีทั้งประเทศที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกับการเสริมเขี้ยวเล็บแก่ฝ่ายต่อต้าน และมติยกเลิกคว่ำบาตรขายอาวุธแก่ฝ่ายต่อต้านไม่น่าจะมีผลใดๆ ทั้งด้านการรบกับการเมืองของซีเรีย เพราะมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องและอาจไม่ตรงความต้องการของฝ่ายต่อต้าน

บรรณานุกรม:
1.  Assad, Bashar al-. (2014, January 21). Bashar al-Assad Interview: The Fight against Terrorists in Syria. Retrieved from http://www.globalresearch.ca/bashar-al-assad-interview-the-fight-against-terrorists-in-syria/5365613
2. Most Syrians killed in unlawful conventional attacks, UN human rights panel says. (2013, September 16). UN News Centre. Retrieved from http://www.un.org/apps/news/story.asp?NewsID=45858&Cr=syria&Cr1=#.UjefPdJQGzk
3. Roth, Kenneth. (2014). Rights Struggles of 2013. Retrieved from http://www.hrw.org/world-report/2014/essays/rights-struggles-of-2013
4. Syria accuses the west of pouring arms into the hands of terrorists. (2014, January 22). The Guardian. Retrieved from http://www.theguardian.com/world/2014/jan/22/syria-west-terror-montreux-talks
5. Syria FM says Assad's status "red line". (2014, January 22). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/world/2014-01/22/c_133063483.htm
6. Syria opposition under pressure to join peace talks. (2013, October 21).  AFP. http://uk.news.yahoo.com/friends-syria-meet-rebels-push-peace-efforts-074044647.html#GrTzsHL
7. Syria talks unlikely to bear fruit: Iranian president. (2014, January 22). Tehran Times. Retrieved from http://tehrantimes.com/politics/113608-syria-talks-unlikely-to-bear-fruit-iranian-president-
8. Syria's Assad says Geneva II conference has no success factors. (2013, October 22). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/world/2013-10/22/c_125574707.htm
--------------------------