ฝิ่น ปัจจัยกำหนดอนาคตของอัฟกานิสถาน

อัฟกานิสถาน ประเทศผู้ปลูกฝิ่นมากที่สุดในโลก ข้อมูลล่าสุดชี้ว่าร้อยละ 90 ของฝิ่นและผลิตภัณฑ์อันเนื่องจากฝิ่น เช่น มอร์ฟีน เฮโรอีน ที่เสพติดกันทั่วโลกมีต้นกำเนิดจากประเทศนี้ เมื่อสืบค้นข้อมูลย้อนหลังพบว่า อัฟกานิสถานปลูกฝิ่นมานานแล้ว ในช่วงปี 1935-1945 ฝิ่นเป็นสินค้าออกสำคัญอย่างหนึ่ง จัดอยู่ในหมวดสินค้าเกษตร คนทั่วไปสามารถซื้อหาฝิ่นในตลาดของอัฟกานิสถานทั่วไป ไม่มีการห้ามปลูกหรือต้องแอบซื้อขายแต่อย่างไร
เหตุผลการปลูกฝิ่นเพิ่มมากขึ้นในยุคการ์ไซ :
            การปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2001 ภายหลังกองทัพสหรัฐกับพันธมิตรโค่นล้มรัฐบาลตอลีบัน และแม้รัฐบาลของประธานาธิบดี ฮามิด การ์ไซ ประกาศให้การปลูกการค้าฝิ่นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่อัฟกานิสถานเป็นสวรรค์ของนักค้ายาเสพติด ด้วยเหตุผลสำคัญ ดังนี้

            ประแรก ประเทศไร้เสถียรภาพ รัฐบาลอ่อนแอ
            ภายหลังจากที่กองทัพสหรัฐร่วมกับพันธมิตรโค่นล้มรัฐบาลตอลีบัน จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวที่นำโดยนายฮามิด การ์ไซ แต่รัฐบาลกลางไม่อาจควบคุมประเทศได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะทางภาคใต้กับภาคตะวันตกอันเป็นเขตปลูกฝิ่นที่สำคัญที่สุด ในปี 2013 ร้อยละ 89 ของพื้นที่การปลูกฝิ่นทั้งประเทศอยู่ในบริเวณดังกล่าว
            ต่อมามีการเลือกตั้งทั่วประเทศ นายการ์ไซได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่อำนาจที่แท้จริงในชนบทยังตกอยู่กับเหล่าผู้นำหมู่บ้าน หัวหน้าเผ่าและกองกำลังติดอาวุธท้องถิ่น ผู้นำเหล่านี้กับชาวบ้านมีความผูกพัน มีความใกล้ชิด ทั้งเชิงสายเลือด เชิงอำนาจทางสังคม มีผลประโยชน์ต่อกันและกันมากกว่ารัฐบาลกลางมากนัก โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจ ถิ่นทุรกันดารที่ใครก็ยากจะเข้าถึง ผู้นำเหล่านี้หลายคนมีกองกำลังติดอาวุธของตนเอง ประธานาธิบดีการ์ไซต้องพึ่งพาคนเหล่านี้อย่างมากในการร่วมดูแลประเทศ ทั้งๆ ที่กองทัพสหรัฐกับพันธมิตรมีกำลังรบนับแสนนายอยู่ในประเทศ

            ประการที่สอง ฝิ่นให้ความมั่นคงทางรายได้
            อัฟกานิสถานไม่มีอาณาเขตติดต่อทางทะเล สภาพอากาศแห้งแล้งเกือบตลอดปี และหนาวเย็นในฤดูหนาว มีทรัพยากรน้อย เป็นเหตุผลสำคัญทำให้ประชากร 31 ล้านส่วนใหญ่อยู่ในความยากจน
            รายงานสหประชาชาติฉบับปี 2014 ระบุว่า เกษตรกรร้อยละ 72 ชี้ว่าปัจจัยด้านราคาคือเหตุผลหลักที่เกษตรกรปลูกฝิ่น เนื่องจากมีพื้นที่เพาะปลูกเพียงเล็กน้อย เป็นแรงกดดันให้ปลูกพืชที่ทำเงินมากที่สุด ฝิ่นคือคำตอบเพราะมีผู้รับซื้อทั้งหมด และให้ราคาสูงว่าพืชผลชนิดอื่นๆ
            ไม่ใช่ชาวบ้านทุกคนอยากปลูกฝิ่น แต่ผลจากสงคราม ความแห้งแล้ง ระบบสาธารณูปโภคที่ทรุดโทรม การจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรมกับภาคบริการจึงมีน้อย ประชากรเกือบร้อยละ 80 มีอาชีพเกษตร ทั้งๆ ที่มีพื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกเพียงร้อยละ 12 ของพื้นที่ทั้งประเทศ  ทำให้ชาวบ้านยากจะหันไปหาอาชีพอื่น จึงยึดการปลูกฝิ่นที่รองรับแรงงานทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือสตรี ฝิ่นจึงเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญ เพราะเป็นพืชที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก (มากกว่าการปลูกพืชจำพวกข้าวสาลีราว 10 เท่า)

            สำหรับคนยากจนแล้ว ฝิ่นเป็นพืชที่น่าปลูก บางครั้งไม่ใช่เพราะได้กำไรสูงสุด ความจริงแล้วฝิ่นมีราคาผันผวน บางปีราคาตก แต่ฝิ่นเป็นพืชทนแล้ง ปลูกได้ในพื้นที่แห้งแล้ง เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของประเทศ ฝิ่นเก็บรักษาไว้ได้ยาวนาน (ไม่เหมือนพืชผักอื่นๆ) เกษตรกรมักจะไม่ขายฝิ่นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวที่ราคาตกตามกลไกตลาด แต่จะเก็บฝิ่นและปล่อยขายในช่วงที่ราคาดี เพราะมีผู้รับซื้อตลอดเวลา ในบางพื้นที่ราคามีความแน่นอนกว่า บางครั้งพ่อค้าเสนอราคาให้ล่วงหน้า หรือชำระราคาสินค้าล่วงหน้า การปลูกฝิ่นจึงเป็นอาชีพที่ให้รายได้มั่นคง
            ความเป็นพืชปลูกง่าย มีความแน่นอนในผลผลิตมากกว่า และพ่อค้าชำระเงินล่วงหน้า ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกษตรกรรู้สึกมั่นใจว่าครอบครัวของตนจะไม่ขาดแคลน นอกจากนี้หากมีความจำเป็นต้องการเงินกู้ เช่น เกิดมีคนเจ็บป่วยกระทันหัน ครัวเรือนที่ปลูกฝิ่นจะได้รับเครดิตจากแหล่งเงินกู้นอกระบบมากกว่าครอบครัวที่ไม่ปลูกฝิ่น 2-3 เท่า เพราะเจ้าหนี้จะถือว่าเขามีความสามารถในการจ่ายคืนหนี้มากกว่า
            ดังนั้น คนที่ปลูกฝิ่นจึงเหมือนกับได้รับการดูแลจากระบบสังคมของพวกเขา ทั้งด้านอาหาร การดูแลรักษาสุขภาพ มีหลักประกันหากครอบครัวประสบความยากลำบาก
            จากประสบการณ์ของรัฐบาลการ์ไซ พบว่า หากสามารถช่วยให้ประชาชนรู้สึกมั่นคง สามารถเลี้ยงดูครอบครัวให้เป็นสุข เช่น จัดหาที่ทำกินให้ มีระบบเครดิต ประชาชนจะเลิกปลูกฝิ่นเอง แต่หากความช่วยเหลือลดลงหรือยุติชาวบ้านอาจกลับไปปลูกฝิ่นอีก มาตรการควบคุมการปลูกฝิ่นที่ได้ผลถาวรจึงขึ้นกับว่ารัฐสามารถทำให้ประชาชนเลี้ยงดูตนเองได้หรือไม่ ความช่วยเหลือชั่วคราวจากภาครัฐจะได้ผลชั่วคราวเช่นเดียวกัน

ผลกระทบจากฝิ่น :
            ผลกระทบจากฝิ่นมีหลายด้าน มองได้หลายแง่มุม แต่หากมองว่าเป็นผลเสีย มีผลต่อประเทศ ดังนี้
            ประการแรก คอร์รัปชันเกิดขึ้นอย่างดาษดื่น
            ควบคู่กับดอกฝิ่นที่เบ่งบานคือการคอร์รัปชั่นอย่างดาษดื่น เนื่องจากกระบวนการปลูกฝิ่น การผลิตเป็นเฮโรอีนและการลักลอบส่งออกเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ทุกระดับ มีข้อมูลชี้ว่าการปลูกฝิ่นที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการที่ทหารตำรวจอัฟกันได้ตกลงกับกองกำลังติดอาวุธท้องถิ่น การคอร์รัปชันแทรกตัวเข้าไปอยู่ในเจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้น ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นจนถึงนักการเมืองในรัฐสภา มีข้อมูลว่าสมาชิกรัฐสภากว่าร้อยละ 25 เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด เกษตรกรติดสินบนตำรวจ เจ้าหน้าที่ปราบฝิ่น พ่อค้าฝิ่นจ่ายเงินเพื่อหนีความผิด นายซาอิด อิครามุดดิน รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานกล่าวว่า “นอกจากตัวท่านกับรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยแล้ว เจ้าหน้าที่กระทรวงคนอื่นๆ ตั้งแต่อธิบดีกรมลงไปล้วนเกี่ยวข้องกับกับการลักลอบค้ายาเสพติด”
            เจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากจึงได้ประโยชน์จากธุรกิจฝิ่นไม่ต่างจากกองกำลังติดอาวุธ กลุ่มก่อการร้ายอย่างตอลีบัน

            ในแง่หนึ่งธุรกิจฝิ่นส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ส่วนในมุมมองของชาวบ้าน ฝิ่นช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ครอบครัว แต่กระตุ้นการทำผิดกฎหมายทั้งระบบ ประเทศมีคอร์รัปชันทั่วไป

            ประการที่สอง อำนาจท้องถิ่นขยายตัว
            ในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลจากเมืองหลวง วิถีชีวิตชาวบ้านยังเป็นระบบชนเผ่า และเนื่องจากตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศอยู่ในภาวะสงครามมาโดยตลอด ทุกพื้นที่จึงมีกองกำลังติดอาวุธของตนเอง ความทุรกันดาร รัฐบาลกลางที่อ่อนแอ ทำให้อำนาจการปกครองจากรัฐบาลกลางแผ่มาถึงน้อย หลายพื้นที่ปกครองตนเองมากกว่า ผู้มีบารมีท้องถิ่นเป็นผู้จัดสรร ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้น ชาวบ้านจึงไม่เห็นความจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาล คนเหล่านี้มักจะไม่ยอมเสียภาษี ไม่เข้ารับการเกณฑ์ทหาร
            ความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีบารมี กลุ่มติดอาวุธ พ่อค้ายาเสพติด และเกษตรกรที่ปลูกฝิ่นจะมีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ เกื้อกูลให้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน นานวันเข้ากลายเป็นว่าทุกฝ่ายพึ่งพาซึ่งกันแบบขาดจากกันไม่ได้ พวกกองกำลังติดอาวุธท้องถิ่นไม่อาจละทิ้งเงินค่าคุ้มครองที่ได้จากผู้ปลูกฝิ่นเพื่อจุนเจือกลุ่มของตน การลักลอบนำฝิ่นออกนอกประเทศเป็นธุรกิจที่ได้กำไรงาม ฝิ่นที่สามารถนำออกนอกประเทศจะมีมูลค่าเพิ่มหลายเท่าตัว กองกำลังติดอาวุธรองรับบทบาทหน้าที่คุ้มกันได้เป็นอย่างดี
            ในขณะที่ชาวบ้านมองฝิ่นว่าเป็นหม้อข้าวของคนทั้งครอบครัว สายสัมพันธ์ของกลุ่มเหล่านี้จึงมีความผูกพัน มีผลประโยชน์ร่วมกันมากกว่าที่มีต่อรัฐบาล

            ผู้มีบารมีท้องถิ่น กองกำลังติดอาวุธที่เกี่ยวข้องกับการค้าฝิ่น ได้กำไรจากการค้าฝิ่นและมีอำนาจเพิ่มมากขึ้น ว่าไปแล้วคนเหล่านี้มีบทบาทหลายด้าน ทั้งในฐานะเป็นผู้นำท้องถิ่น เป็นหัวหน้าพ่อค้ายาเสพติด บางคนร่วมมือกับทางการสหรัฐเพื่อต่อต้านพวกตอลีบัน ทั้งยังมีความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐ ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้เจ้าหน้าที่เป็นอีกแรงที่คอยปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกและการลับลอบขนส่งยาเสพติด

            ประการที่สาม การคงอยู่ของตอลีบัน
            ในปี 2001 ตอลีบันประกาศห้ามปลูกฝิ่น ทำให้ปริมาณฝิ่นลดลงมาก แต่ก่อนหน้านั้นตอลีบันไม่ได้ประกาศห้าม โดยรวมแล้วการปลูกฝิ่นในยุคตอลีบันเพิ่มขึ้นจากอดีต มีข้อมูลว่าพวกตอลีบันเกี่ยวข้องกับธุรกิจฝิ่นในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศ เพราะพวกเขาต้องการเงินจากการค้าฝิ่นเพื่อเป็นทุนสนับสนุนการต่อต้านสหรัฐ และหวังอาศัยการปลูกฝิ่นเพื่อดึงชาวบ้านมาอยู่ฝ่ายตน โดยพวกตอลีบันจะสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกฝิ่น ให้ความคุ้มครองหากเจ้าหน้ารัฐจะมาทำลายพื้นที่เพาะปลูก
            นอกจากนี้ พวกตอลีบันผูกมิตรกับพ่อค้ายาเสพติด ให้ความคุ้มครองการลำเลียงยาเสพติด และคอยโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐบาลไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยว ข้อมูลจากทางการสหรัฐประเมินว่ารายได้ 1 ใน 3 ของตอลีบันมาจากธุรกิจผิดกฎหมายนี้
            หลายครั้งเมื่อชาวบ้านไม่พอใจนโยบายหรือการดำเนินงานของรัฐบาลก็อาจเปลี่ยนฝ่ายเรียกตัวเองว่าเป็นพวกตอลีบัน แต่อิทธิพลระหว่างรัฐกับตอลีบันต่อชาวบ้านนั้นไม่คงที่ มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

            ณ วันนี้ ฝิ่น กลายเป็นเครื่องผูกพันผู้มีบารมีท้องถิ่น กำลังติดอาวุธ ผู้ก่อการร้ายอย่างตอลีบัน เจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับที่คอร์รัปชันและชาวบ้านหลายล้านคนที่เกี่ยวข้องกับฝิ่น นานาชาติอาจประณามว่าฝิ่นเป็นยาเสพติด ทำลายสังคม แต่สำหรับชาวอัฟกันจำนวนมากยอมรับการมีอยู่ของฝิ่น เป็นเครื่องค้ำจุนครอบครัว ชุมชน หรือเพื่ออุดมการณ์เป้าหมายที่เห็นว่ายิ่งใหญ่กว่า
            ประธานาธิบดีฮามิด การ์ไซ เคยกล่าวว่า “ยาเสพติดในอัฟกานิสถานกำลังคุกคามการดำรงอยู่ของรัฐ” แต่กับสังคมที่อิงอยู่กับฝิ่นกลับมองว่า ฝิ่นคือปัจจัยค้ำจุนวิถีชีวิตของพวกเขา นี่เป็นความขัดแย้งที่ไม่อาจแก้ไขได้โดยง่าย เป็นปัจจัยกำหนดทิศทางอนาคตของประเทศ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างอัฟกานิสถานกับนานาชาติ เป็นประเด็นที่น่าจับตาโดยเฉพาะหลังปี 2014 เมื่อกองทัพสหรัฐกับพันธมิตรถอนตัว ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจอัฟกันดูแลประเทศเต็มตัว
20 เมษายน 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6375 วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2557)
----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง: 
1. ปัญหาการปลูกฝิ่นและความท้าทายของรัฐบาลอัฟกานิสถาน
ประเทศอัฟกานิสถานคือประเทศผู้ปลูกฝิ่นรายใหญ่ที่สุดของโลก การแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะพัวพันกับเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การทหาร และการปลูกฝิ่นมีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล
ประธานาธิบดีการ์ไซไม่ลงนามร่างสนธิสัญญาความมั่นคงเนื่องจากเห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่ช่วยนำสันติภาพสู่ประเทศอย่างแท้จริง เพราะประเทศได้ผ่านหลังจากการทำสงครามอย่างยาวนานกว่า 10 ปี นับจากเหตุ 9/11 เมื่อปี 2001 ท่านพร้อมที่จะลงนามในร่างสนธิสัญญา ถ้าข้อตกลงดังกล่าวมุ่งสร้างสันติภาพแก่ประเทศ เจรจากับพวกสุดโต่งทุกกลุ่ม เพื่อจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ยุติการทำสงครามที่ไม่มีวันจบสิ้น

บรรณานุกรม:
1. Barfield, Thomas. (2010). Afghanistan: A Cultural and Political History. New Jersey: Princeton University Press.
2. Central Intelligence Agency. (2014, April). The World Factbook. Retrieved from https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/ja.html
3. Mansfield, David., & Pain, Adam. (2007, November). Evidence from the Field: Understanding Changing Levels of Opium Poppy Cultivation in Afghanistan. Retrieved from http://dspace.cigilibrary.org/jspui/bitstream/123456789/15508/1/Evidence%20from%20the%20Field%20Understanding%20Changing%20Levels%20of%20Opium%20Poppy%20Cultivation%20in%20Afghanistan%202007.pdf?1
4. Statement of John F. Sopko. (2014, January 15). Future U.S. Counternarcotics Efforts in Afghanistan. Retrieved from file:///C:/Users/Administrator/Downloads/SIGAR-14-21-TY.pdf
5. United Nations Office on Drugs and Crime. (2003). The Opium Economy in Afghanistan: An International Problem. Retrieved from http://reliefweb.int/sites/reliefweb.int/files/resources/214E1694BBF78591C1256CC60049F953-unodc-afg-31jan.pdf
6. United Nations Office on Drugs and Crime. (2012). Afghanistan Opium Survey 2012: Opium Risk Assessment for all Regions (Phase 1&2). Retrieved from http://www.unodc.org/documents/crop-monitoring/Afghanistan/ORAS_report_2012.pdf
7. United Nations Office on Drugs and Crime. (2012, June). The World Drug Day Commemoration in Afghanistan. Retrieved from https://www.unodc.org/afghanistan/en/frontpage/2012/the-world-drug-day-commemoration-in-afghanistan.html
8. United Nations Office on Drugs and Crime. (2013, December 23).  Afghanistan Opium Survey 2013. Retrieved from https://www.unodc.org/documents/crop-monitoring/Afghanistan/Afghan_report_Summary_Findings_2013.pdf
-------------------------