American exceptionalism กับนโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (2)

ข้อวิพากษ์การบิดเบือน American exceptionalism : ดังที่กล่าวแล้วว่าไม่มีนิยาม American exceptionalism อันเป็นที่ยอมรับทั่วไป มีแต่นิยามที่เกิดจากการตีความและนำมาใช้ตามความต้องการมากกว่า ดังนั้น เมื่อมีผู้ใดกล่าวอ้างหลักการดังกล่าว จึงมีมักเสียงสะท้อนว่าเป็นการบิดเบือนความหมายหรือตีความผิดเพี้ยน ลักษณะของการบิดเบือนที่สำคัญคือ

            1. บิดเบือนว่าเป็นพันธกิจของศาสนา
            การบิดเบือนโดยนำเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องถูกผูกโยงเข้ากับเหตุการณ์ตั้งแต่อดีต ในยุคล่าอาณานิคมนักการเมืองบางคนเห็นด้วยกับลัทธิจักรวรรดินิยม ดังเช่น สุนทรพจน์ที่กล่าวเมื่อปีค.ศ. 1846 ของวุฒิสมาชิกโธมัส เบนตันที่กล่าวว่าพวกชนผิวขาวเท่านั้นที่ได้รับบัญชาจากสวรรค์ให้ครอบครองแผ่นดินโลกนี้ทั้งสิ้น เพราะเป็นชนชาติเดียวเท่านั้นที่เชื่อฟังบัญชาพระเจ้า เป็นการอ้างว่าสหรัฐฯ สามารถเป็นเจ้าอาณานิคมเป็นจักรวรรดินิยมโดยถูกต้องตามหลักศาสนา
            ในช่วงที่สหรัฐฯ กำลังได้เปรียบในสงครามเวียดนาม สงครามถูกตีความเปรียบเทียบว่าเป็นพันธกิจของอเมริกาจะต้องทำสงครามครูเสด (Crusade) ไปให้ความสว่างแก่ชาวเวียดนาม (คำว่า ความสว่าง เป็นคำที่นำมาจากหลักศาสนา) ชาวอเมริกันไม่คิดว่าพวกเขากำลังเข้ายึดครองเวียดนามแต่กำลังช่วยชาวเวียดนามสร้างชาติให้เป็นแบบอเมริกัน
            ในช่วงที่บรรยากาศทำสงครามต่อต้านลัทธิก่อการร้ายกำลังดำเนินอย่างเข้มข้นในสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช ครั้งหนึ่งประธานาธิบดีถึงกับกล่าวในที่ประชุมสื่อว่าการทำสงครามต่อต้านก่อการร้ายเหมือนกับการทำสงครามครูเสด โยงกับเรื่องที่ผู้ก่อการร้ายที่ก่อเหตุวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ที่เป็นมุสลิม

ผู้ศรัทธาบางคนวิพากษ์ว่าหากคำว่า exceptionalism มีจุดเริ่มต้นจากคำของนายวินธรอปที่กล่าวถึง “เมืองที่ตั้งอยู่บนเขา เท่ากับว่าเป็นการดึงคำที่อยู่คัมภีร์ไบเบิลมาตีความใหม่ ด้วยวัตถุประสงค์ใหม่ เพราะคริสเตียนใช้ประโยค “เมืองที่ตั้งอยู่บนเขา เป็นวิสัยทัศน์ตามความเชื่อ เป็นการสร้างสังคมตามหลักศาสนา ไม่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพหรือประชาธิปไตยอันเป็นแนวทางของฝ่ายโลก นอกจากนี้ทุกหนทุกแห่งในโลกสามารถเป็น “เมืองที่ตั้งอยู่บนเขา” ไม่จำกัดว่าต้องเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา
แต่ในระยะหลังคำดังกล่าวถูกนำมาดัดแปลงเป็นลัทธิเป็นแนวคิดแพร่ขยายการปกครองแบบประชาธิปไตยตามแนวทางของอเมริกา นำมาสร้างความชอบธรรมในการทำสงคราม เหล่านี้เป็นการบิดเบือนการตีความเนื้อหาในคัมภีร์ไบเบิล ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด
            อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีผู้ยึดถือลัทธิโดยยึดโยงกับศาสนาเช่นเดิม กลายเป็นประเด็นถกเถียงว่าเป็นการบิดเบือนทางศาสนาจริงหรือไม่

            2. บิดเบือนว่าลัทธิเสรีนิยมประชาธิปไตยเหมาะสมกับทุกคนทุกสังคมทั่วโลก
            ประเด็นนี้เป็นข้อถกเถียงอย่างมากเช่นกัน ในยุคสงครามเย็นที่เป็นการแข่งขันระหว่างขั้วประชาธิปไตยกับขั้วสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ต่างนำเสนอจุดดีของตนและอ้างว่าอีกฝ่ายบกพร่อง ทุกวันนี้รัฐบาลอเมริกันยังพูดอยู่เสมอว่าประชาธิปไตยคือการปกครองที่เหมาะสมกับทุกประเทศทั่วโลก กลายเป็นต้นเหตุสำคัญของความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
            นายเบรนท์ สโกว์ครอฟท์  (Brent Scowcroft) เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนต้องการชีวิตที่ดีขึ้น แต่ผู้ที่ใช้ American exceptionalism มักบิดเบือนว่าคนทั่วโลกต้องการมีวิถีชีวิตแบบอเมริกันโดยไม่พิจารณาว่าพวกเขาต้องการอย่างนั้นจริงหรือไม่

ผลเสียการใช้ American exceptionalism
            หากกล่าวว่า American exceptionalism สร้างคุณประโยชน์ต่ออเมริกามหาศาล ในอีกแง่มุมหนึ่งเป็นต้นเหตุที่มาของความขัดแย้งมหาศาลเช่นกัน ดังนี้
            1. ขัดแย้งกับค่านิยมอื่นๆ ทั่วโลก ได้รับการต่อต้านจากสังคมอื่นๆ
            นายซบิกนิว เบรซินสกี (Zbigniew Brzezinski) เชื่อว่าแท้จริงแล้วมนุษย์ต้องการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี (dignity) สามารถเลือกเส้นทางชีวิตของตน อยู่อย่างมีความหมายตามแบบของตน เสรีภาพอาจเป็นส่วนหนึ่งของศักดิ์ศรีของใครบางคน แต่ศักดิ์ศรีของมนุษย์มีมากกว่าเสรีภาพ และขึ้นอยู่กับนิยามของแต่ละคนแต่ละสังคมและศาสนา นอกจากนี้คนทั่วโลกต่างต้องการให้ผู้อื่นเคารพในศักดิ์ศรี ในนิยามศักดิ์ศรีของตน
            American exceptionalism เป็นการประกาศว่าความเชื่อว่าค่านิยม แนวทางเศรษฐกิจการเมืองแบบอเมริกันดีที่สุด ทุกประเทศต้องเจริญรอยตามโดยไม่คำนึงพื้นฐานการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคมและเรื่องใดๆ ผลที่ตามมาคืออเมริกามักขัดแย้งกับประเทศที่มีระบบการเมืองเศรษฐกิจ ค่านิยม วิถีชีวิต นิยามศักดิ์ศรีที่แตกต่างออกไป บางครั้งกลายเป็นศัตรู คู่แข่งขัน ผู้คนจำนวนมากทั่วโลกไม่พอใจเมื่อผู้นำอเมริกาบอกว่าค่านิยมแบบอเมริกาดีที่สุด
            ประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจน แม้การรุกคืบของ American exceptionalism ในปัจจุบันไม่ได้เกิดขึ้นด้วยแรงจูงใจทางศาสนาเป็นสำคัญ แต่ผลการรุกคืบคือการนำค่านิยมตะวันตกเข้าไปแทนที่ ก่อให้แก่ความขัดแย้งตั้งแต่ระดับรากหญ้าคือเรื่องความเชื่อส่วนบุคคลของมุสลิมกับแนวคิดตะวันตก
            มีหลักฐานมากมายว่าประชาชนประเทศอื่นๆ ต่อต้าน American exceptionalism แม้กระทั่งประเทศในยุโรปตะวันตกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คนเหล่านี้ต่อต้านลัทธิดังกล่าว ต่อต้านระบอบการเมือง เศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรมตามแบบฉบับอเมริกันที่รัฐบาลสหรัฐฯ หยิบยื่นมาให้พร้อมกับความช่วยเหลือ

            บ่อยครั้งความขัดแย้งเกิดจากเรื่องพื้นฐานอย่างเสรีภาพการพูดการแสดงออก ชาวอเมริกันบางคนใช้เสรีภาพดังกล่าวในการวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาอื่น จนกลายเป็นเหตุประท้วงทั่วโลกเพราะผู้อื่นเห็นว่าเป็นการลบหลู่ศาสนาอันเป็นพฤติกรรมที่รับไม่ได้หรือจำต้องประท้วงต่อต้านเนื่องจากเป็นข้อบังคับทางศาสนา
การที่อเมริกายึดมั่นว่าตนมีพันธกิจมีหน้าที่ต้องส่งเสริมเสรีภาพ ซึ่งปัจจุบันมาในรูปของการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นการคุกคามประเทศอื่นๆ ที่ปกครองด้วยระบอบอื่น เกิดการต่อต้านการไม่เห็นด้วยจากรัฐบาลอื่นๆ โดยเฉพาะรัฐบาลที่เข้ากันไม่ได้กับระบอบประชาธิปไตย ยิ่งสหรัฐฯ ยึดมั่นมากเพียงใดก็ยิ่งได้รับการต่อต้านมากเพียงนั้น

            2. ได้รับการต่อต้านจากภายในประเทศอเมริกา
            หากศึกษาประวัติศาสตร์ตั้งแต่ประกาศเอกราชเมื่อปี ค.ศ.1776 จนถึงยุคปัจจุบัน เหตุที่อเมริกาทำสงครามเกิดจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ American exceptionalism เป็นปัจจัยสำคัญภายในประเทศประการหนึ่งอันเป็นต้นเหตุให้รัฐบาลประกาศทำสงคราม การทำสงครามด้วยลัทธิดังกล่าวกลายเป็นสิ่งที่ทำได้และชอบธรรม แม้ทำให้ผู้คนทุกฝ่ายบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก หลายคนตกอยู่ในภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด
            ในแง่มุมภายในประเทศอเมริกา ผลจากสงครามแต่ละครั้งได้สร้างความทรงจำแก่การเมืองภายในประเทศอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะสงครามอเมริกากับสเปน (Spanish-American War) สงครามโลกครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 สงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม บางสงครามให้ความรู้สึกดี อเมริกามีชัยชนะ ขณะที่ประชาชนต่อต้านบางสงครามโดยเฉพาะสงครามเวียดนาม
            สงครามโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนในปี 2003 เป็นอีกตัวอย่างที่ส่งผลต่อการเมืองภายในประเทศ ชาวอเมริกันราวสองในสามไม่เห็นด้วยกับการโจมตี ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลข้ออ้างของรัฐบาล ไม่เชื่อว่าประเทศได้ประโยชน์จากการทำสงครามนี้ ทุกวันนี้พิสูจน์แล้วว่าเหตุผลที่รัฐบาลบุชอ้างเพื่อบุกอิรักนั้นเป็นเหตุผลเท็จ การที่นายบารัก โอบามาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วยการชูนโยบายถอนทหารอเมริกันออกจากอิรักและอัฟกานิสถานแสดงให้เห็นถึงกระแสการต่อต้านอย่างรุนแรง

            เมื่อนายโอบามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมีเหตุที่ถูกการต่อต้านเช่นกัน เมื่อรัฐบาลตั้งใจจะโจมตีกองทัพรัฐบาลซีเรียด้วยการแสดงหลักฐานที่สหรัฐฯ เป็นผู้เก็บและสรุปเองว่ากองทัพอัสซาดคือผู้ใช้อาวุธเคมีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2013 เห็นว่าการอยู่นิ่งเฉยจะเป็นเหตุให้มีผู้ใช้อาวุธเคมีอีกในอนาคต อาวุธดังกล่าวอาจตกอยู่ในมือของผู้ก่อการร้ายและนำมาโจมตีอเมริกาในที่สุด แต่ผลสำรวจของ CNN/ORC ชี้ว่าชาวอเมริกันกว่าร้อยละ 70 ไม่ต้องการให้สหรัฐฯ โจมตีซีเรียเนื่องจากเห็นว่าการโจมตีไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ สหรัฐฯ ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองซีเรีย ผลสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับอีกหลายสำนักวิจัยที่ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าประชาชนกว่าครึ่งไม่ต้องการให้ประเทศโจมตีซีเรีย
            นายฮาโรลด์ โค (Harold Koh) นักกฎหมายและนักวิชาการอเมริกันชี้ว่าชาวอเมริกันควรกดดันรัฐบาลของตนเองให้หลีกเลี่ยงผลเสียจากการใช้ American exceptionalism เพราะหลักการดังกล่าวกลายเป็นที่มาของการปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน ปฏิบัติต่อตนเองอย่างหนึ่งในขณะที่ปฏิบัติต่อที่เหลือทั้งโลกอีกอย่างหนึ่ง

American exceptionalism ไม่มีผลต่ออเมริกาเสมอไป
            เมื่อประเมินภาพรวมแล้วพบว่า American exceptionalism มีผลต่อการตัดสินใจทางประวัติศาสตร์หลายครั้ง บางครั้งมีผลต่อความเป็นไปทั้งของอเมริกาและของโลก อย่างไรก็ตามแนวคิดดังกล่าวไม่ได้มีอิทธิพลเสมอไป เนื่องจากไม่ใช่ทุกรัฐบาลที่สนับสนุนหรือยึดถือแนวทางดังกล่าว อีกทั้งยังขึ้นกับบริบทความเข้มแข็งของประเทศ การสนับสนุนจากประชาชน
            เมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์อเมริกาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ ไม่ใช่ทุกรัฐบาลที่สนับสนุนหรือยึดถือแนวทาง American exceptionalism หากแนวคิดดังกล่าวสัมพันธ์กับการล่าอาณานิคม ข้อมูลทางวิชาการหลายชิ้นสรุปว่าชาวอเมริกันตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 1880 ต่อต้านลัทธิอาณานิคมอย่างมาก อันเป็นเหตุให้อเมริกาประกาศเป็นเอกราชในเวลาต่อมา

            ในแง่การขยายอาณาเขต อเมริกามีทั้งช่วงที่ขยายอาณาเขตกับช่วงแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งใดๆ ในโลก (Isolationism) เช่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 รัฐบาลอเมริกันหันกลับไปยึดถือหลัก Isolationism พยายามไม่ข้องแวะกับความขัดแย้งในยุโรปหรือที่อื่นใดทั่วโลก
            ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) ผู้ดำรงตำแหน่งในช่วง 1977–1981 เป็นอีกตัวอย่างผู้นำประเทศที่ไม่นิยมความรุนแรง ตั้งใจอยู่ร่วมกับฝ่ายตรงข้ามในยุคนั้นด้วยสันติ ไม่ว่าจะเป็นสหภาพโซเวียต ชาติอาหรับที่เป็นศัตรูกับอิสราเอล
โดยสรุปแล้ว เมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์ตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ พบว่าผู้นำประเทศบางคน นักการเมืองบางยุคสมัยไม่ยึดมั่น American exceptionalism

ในอีกด้านหนึ่งนายแดเนียล เบลล์ (Daniel Bell) เห็นว่าความเข้มแข็งของประเทศมีผลต่อการยึดถือ American exceptionalism โดยสังเกตว่าในทศวรรษ 1970 เป็นช่วงที่ไม่มีกระแสดังกล่าวเนื่องจากประเทศอยู่ในภาวะอ่อนแอ สังคมอเมริกันกำลังแตกแยกทางความคิด วัฒนธรรมอย่างรุนแรง เศรษฐกิจมีปัญหา ในช่วงเวลานั้นชาวอเมริกันส่วนใหญ่จึงไม่มีเชื่อเรื่อง American exceptionalism และหันไปยึดถือค่านิยมอื่นๆ แทน
การต่อต้านสงครามเวียดนามในอดีต การต่อต้านการโจมตีซีเรียเมื่อไม่นานนี้เป็นกรณีที่ประชาชนไม่เห็นด้วย การที่ผู้นำประเทศจะอ้าง American exceptionalism จึงใช้ไม่ได้ผลเสมอไป ขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่าง
มกราคม 2014
ชาญชัย คุ้มปัญญา
----------------------
อ่านต่อ:
American exceptionalism กับนโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (3)
อ่านย้อนหลัง: