ครบรอบหนึ่งปีญี่ปุ่นซื้อหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยู ความตึงเครียดที่ก่อตัวอยู่ภายใน

วันที่ 11 กันยายนเมื่อปีก่อนเป็นวันที่ทางการญี่ปุ่นซื้อเกาะ 3 เกาะของหมู่เกาะเซนกากุ (Senkaku) หรือที่จีนเรียกว่าหมู่เกาะเตียวหยู (Diaoyu Islands) จากชาวญี่ปุ่นรายหนึ่งที่อ้างสิทธิเป็นเจ้าของ หมู่เกาะที่ทั้งญี่ปุ่นกับจีนต่างอ้างสิทธิความเป็นเจ้าของและเป็นประเด็นพิพาทระหว่างสองประเทศมานานหลายทศวรรษแล้ว
            รัฐบาลญี่ปุ่นอ้างว่าเหตุที่ต้องเข้าซื้อหมู่เกาะดังกล่าวเพื่อป้องกันไม่ให้ตกอยู่ในมือของพวกชาตินิยมญี่ปุ่นที่เคยพูดว่าจะพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการยั่วยุต่อจีนอย่างรุนแรง ในมุมมองของรัฐบาลญี่ปุ่นเห็นว่าหมู่เกาะดังกล่าวเป็นของตน รัฐเข้าซื้อเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง เพราะทางการจีนย่อมไม่อยู่นิ่งเฉยหากชาวญี่ปุ่นพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว
            ผลจากการเข้าซื้อหมู่เกาะทำให้รัฐบาลจีนประท้วงอย่างรุนแรง และเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในหมู่ประชาชนจีน หลายคนไม่ซื้อสินค้าญี่ปุ่น เรือกับเครื่องบินลาดตระเวนสองประเทศเกิดการเผชิญหน้าหลายครั้ง ตลอดปีที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยรวมเสื่อมโทรมลง ชาวจีนจำนวนมากอยู่ในอาการโกรธแค้นไม่ต่างจากพวกชาตินิยมญี่ปุ่น
            ความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องธรรมดาเพราะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองกับอันดับสามของโลก และยังพัวพันกับชาติมหาอำนาจอื่นๆ จนถึงประเทศทั้งหลายในย่านภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ผ่านมาหนึ่งปีความขัดแย้งยังคุกรุ่น:
            ตลอดปีที่ผ่านมาทางการจีนรายงานว่าได้ส่งเรือและเครื่องบินลาดตระเวนแล่นรอบหรือบินผ่านหมู่เกาะหลายครั้งเพื่อแสดงการมีอธิปไตยเหนือหมู่เกาะ ทั้งยังพยายามขับไล่เรือสัญชาติญี่ปุ่นที่แล่นเข้ามาใกล้ฝั่ง ส่วนทางการญี่ปุ่นรายงานว่าเรือลาดตระเวนญี่ปุ่นได้เผชิญหน้ากับเรือลาดตระเวนจีนหลายครั้ง บางครั้งเรือญี่ปุ่นแล่นเข้าใกล้เรือจีนมากเพื่อกีดกันให้เรือจีนออกจากน่านน้ำดังกล่าว
            ในโอกาสครบรอบหนึ่งปีของการซื้อหมู่เกาะ นายโยชิฮิเดะ ซูกะ (Yoshihide Suga) หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวว่าหมู่เกาะดังกล่าว “เป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตญี่ปุ่น” ญี่ปุ่นยังประสงค์มีความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ดีกับจีนแม้มีประเด็นขัดแย้ง พร้อมจะเจรจากับจีนเสมอ
            ด้านนายหง เหล่ย (Hong Lei) โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนแถลงข่าวตอบโต้ว่าจีนจะไม่ทนอยู่นิ่งเฉยถ้าอธิปไตยดินแดนถูกละเมิด “ญี่ปุ่นจะต้องรับผลการกระทำของตนหากทำการยั่วยุโดยไม่ยับยั้งชั่งใจ” อย่างไรก็ตามจีนยังปรารถนามีสัมพันธ์ที่ดีกับญี่ปุ่น นอกจากนี้ นักวิเคราะห์จีนเห็นว่าการที่ทางการญี่ปุ่นเรียกร้องให้มีการเจรจาระดับสูงเป็นเรื่องไม่จริงใจ เนื่องจากยังยึดมั่นว่าหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยูเป็นของญี่ปุ่น พยายามแสดงความเป็นเจ้าของ
            จะเห็นได้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นใช้วิธีการรุกรับการทางเมืองพร้อมกัน คือไม่ยกเลิกแนวคิดที่จะส่งเจ้าหน้าที่พลเรือนไปประจำหมู่เกาะ แต่ก็ไม่แสดงท่าทีว่าจะดำเนินการดังกล่าวเพื่อแสดงสิทธิความเป็นเจ้าของ เช่นเดียวกับจีนที่ยืนยันตลอดเวลาว่าหมู่เกาะดังกล่าวเป็นของจีน ส่งเรือกับเครื่องบินทำการลาดตระเวนแสดงความเป็นเจ้าของอย่างต่อเนื่อง ย้ำเตือนให้ญี่ปุ่นไม่ทำการยั่วยุที่จีนไม่อาจทนได้ แต่ยังปรารถนาที่จะมีสัมพันธ์ที่ดีกับญี่ปุ่นอยู่เสมอ
            ประเด็นสำคัญคือ ณ ปัจจุบัน ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการให้เกิดการปะทะหรือเกิดสงครามระหว่างกัน ต่างรู้ว่าอะไรสามารถทำได้ อะไรคือการล้ำเส้นต้องห้าม

ความตึงเครียดที่ก่อตัวอยู่ภายใน:
            หนึ่งปีที่ผ่านมาถ้าไม่นับช่วงที่กำลังเผชิญหน้าอย่างตึงเครียด สองประเทศพยายามรักษาระดับความสัมพันธ์ไม่ให้เลวร้ายลงไปอีก โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แม้มีผลกระทบบ้างแต่เกิดจากปัจเจกบุคคลมากกว่า แต่ภายใต้ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีความตึงเครียดที่ซ่อนอยู่ภายใน หากพิจารณาในแง่การป้องกันประเทศ ทั้งสองประเทศต่างกำลังเสริมสร้างกำลังรบอย่างเข้มข้น
            ในกรณีของญี่ปุ่น การเร่งเสริมสร้างกำลังรบส่วนหนึ่งเกิดจากนายชินโซ อาเบะนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นพวกสายเหยี่ยว มีนโยบายด้านความมั่นคงที่เข้มข้น เริ่มจากการกระชับความสัมพันธ์กับอเมริกา ย้ำเตือนสนธิสัญญาความมั่นคงญี่ปุ่น-สหรัฐฯ ที่อเมริกาพร้อมจะปกป้องญี่ปุ่น เห็นว่าการมีสหรัฐฯ ปรากฏในเอเชีย “สำคัญอย่างยิ่ง” ต่อการป้องปรามจีน เดินสายกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ที่กังวลอิทธิพลจากจีน
            รัฐบาลอาเบะได้เพิ่มงบประมาณกลาโหมซึ่งเป็นการเพิ่มครั้งในแรกในรอบ 11 ปี ส่วนหนึ่งใช้จัดซื้อยุทโธปกรณ์ รวมทั้งอากาศยานเตือนภัยล่วงหน้าและควบคุม แบบ E-767 และมีแนวคิดขยายบทบาทของกองทัพ นายกรัฐมนตรีอาเบะเอ่ยปากว่าญี่ปุ่นควรมีนาวิกโยธินเพื่อใช้ในกรณีที่ข้าศึกยึดครองหมู่เกาะต่างๆ
            เหตุผลของการดำเนินนโยบายดังกล่าวข้างต้น สมุดปกขาวว่าด้วยนโยบายความมั่นคงของประเทศ ฉบับปีล่าสุด 2013 อธิบายอย่างตรงไปตรงมาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจีนว่ากองทัพจีนเพิ่มปฏิบัติการทางทหารมากขึ้น และครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างกว่าเดิม ล่วงล้ำทั้งน่านน้ำ น่านฟ้าอากาศญี่ปุ่น ปัญหาการอ้างสิทธิหมู่เกาะเซนกากุ อาจกลายเป็นเหตุลุกลามบานปลาย เป็นภารกิจเร่งด่วนที่กองทัพญี่ปุ่นจะต้องปรับปรุงให้พร้อมรับมือ

            ทางด้านจีนนั้นหลายปีที่ผ่านมาได้ปรับปรุงทุกเหล่าทัพให้ทันสมัยอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการต่อต้านภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เพิ่มขยายกิจกรรมทางทหารทั้งน่านน้ำ น่านฟ้าอากาศ รัฐบาลจีนเพิ่มงบประมาณกลาโหมอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามกำลังเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

            ในขณะที่ญี่ปุ่นกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ จีนกับรัสเซียก็แสดงตัวว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียเป็นไปด้วยดี สองรัฐบาลเน้นความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศทั้งด้านอาวุธและความร่วมมือทางการเมืองระหว่างประเทศ เห็นว่าความร่วมมือดังกล่าวมีผลทั้งต่อระดับทวิภาคีและระดับโลก
            ขีดความสามารถด้านการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียเข้ากันได้ดีกับอำนาจเศรษฐกิจจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดการสนับสนุนซึ่งกันและกัน ใกล้เคียงกับที่ญี่ปุ่นเพิ่มงบประมาณกลาโหม พยายามขยายบทบาททางทหารของตนในยามที่สหรัฐฯ มีปัญหาต้องลดงบประมาณกลาโหม ต้องการให้พันธมิตรมีส่วนในการรักษาความมั่นคงมากขึ้น

            การวิเคราะห์ภาพรวมชี้ว่าโอกาสที่ความขัดแย้งเรื่องการอ้างสิทธิหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยูจะกลายเป็นเหตุปะทะรุนแรงนั้นมีความเป็นไปได้ต่ำ เนื่องจากสองรัฐบาลคำนึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นตามมา ดังจะสังเกตได้อย่างชัดเจนว่าแม้ในทางการเมืองระหว่างประเทศจะมีความขัดแย้ง มีการเผชิญหน้าในอาณาบริเวณหมู่เกาะ ทั้งสองประเทศพยายามไม่ให้กระทบด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน
            ในอีกมุมหนึ่งความขัดแย้งเรื่องการอ้างสิทธิดังกล่าวจะดำเนินต่อเนื่องไปอีกนาน ตราบเท่าที่สองฝ่ายยังคงรักษาจุดยืนของตน
            ครบรอบหนึ่งปีญี่ปุ่นซื้อหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยู สองประเทศมีความสัมพันธ์อันซับซ้อนทั้งด้านบวกด้านลบ มีความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน มีความขัดแย้งเรื่องสิทธิครอบครอง และมีความตึงเครียดที่กำลังก่อตัวอยู่ภายใน ทั้งหมดนี้ไม่เพียงส่งผลในระดับทวิภาคีแต่กระเทือนทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เกี่ยวข้องพัวพันกับชาติมหาอำนาจหลายประเทศ เป็นประเด็นที่ควรติดตามใกล้ชิด
พฤศจิกายน 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน นิตยสารหนังสือข่าวทหารอากาศ. ปีที่ 73 ฉบับที่ 11 เดือนพฤศจิกายน 2556)
-----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ทางการญี่ปุ่นเปิดตัวเรือรบอิซูโม (Izumo) เรือรบรุ่นใหม่ที่ใหญ่ที่สุดที่ญี่ปุ่นต่อเองนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา กองทัพญี่ปุ่นจัดให้เรือดังกล่าวอยู่ในชั้นเรือพิฆาต แต่สามารถบรรทุกเฮลิคอปเตอร์จำนวน 9-14 ลำ และอาจบรรทุกเครื่องบินรบรุ่นใหม่ล่าสุด F-35 จึงมีข้อวิพากษ์ว่าญี่ปุ่นกำลังเสริมกำลังรบขนาดใหญ่หรือไม่ จะกระทบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างไร 
ทฤษฎีสัจนิยมให้ความสำคัญกับความมั่นคงแห่งชาติมากที่สุด รัฐต้องระแวดระวัง เตรียมการรับมือภัยคุกคามทุกชนิด พร้อมเผชิญหน้าฝ่ายตรงข้าม แต่ภายใต้แนวคิดนี้นโยบายความมั่นคงแห่งชาติเต็มด้วยความหวาดระแวง ความไม่เชื่อใจ กลายเป็นดาบสองคมให้ประเทศเพื่อนบ้านมองด้วยความหวาดระแวง มองอย่างเป็นภัยคุกคามเช่นกัน นโยบายความมั่นแห่งชาติญี่ปุ่นสะท้อนลักษณะดังกล่าวอย่างชัดเจน
            การวิพากษ์ Pivot to Asia หรือยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียสามารถทำได้หลายรูปแบบ มองในหลายแง่มุม งานเขียนชิ้นนี้ชี้จุดอ่อนของยุทธศาสตร์ผ่านประเด็นความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ เป็นความขัดแย้งจากผลพวงของประวัติศาสตร์ กลายเป็นรอยร้าวที่ยากจะแก้ไขภายใต้บริบทปัจจุบัน เนื่องจากเป็นเรื่องที่ยอมให้กันไม่ได้ ต้องตอบสนองความคาดหวังจากการเมืองภายในของแต่ละประเทศ เกิดการแก้เกมแบบชิงไหวชิงพริบ นำสู่คำตอบว่าทำไมยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียจึงอ่อนกำลัง ไม่ได้ผลตามเป้าหมาย ในอนาคตจะต้องปรับแก้ยุทธศาสตร์หากรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการหวังผลอย่างจริงจัง ประเด็นสำคัญอยู่ที่จะต้องหาพันธมิตรเพิ่ม หรือทำให้ประเทศเหล่านั้นถอยห่างจากจีนมากขึ้น ซึ่งในกรอบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็มีเพียงไม่กี่ประเทศดังปรากฏบนแผนที่
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป
บรรณานุกรม:
1. “One year on, China's Diaoyu Islands patrol mission continues”, People’s Daily, 10 September 2013, http://english.peopledaily.com.cn/90883/8395979.html
2. China slams Japanese official's remarks on Diaoyu Islands, People’s Daily, 11 September 2013, http://english.peopledaily.com.cn/90883/8395979.html
3. Japan on high alert for disputed islands anniversary, Japan Today/AFP, 11 September 2013, http://www.japantoday.com/category/national/view/japan-on-high-alert-for-disputed-islands-anniversary
4. China warns Japan against stationing workers on disputed isles, Japan Today/Reuters, 11 September 2013, http://www.japantoday.com/category/national/view/china-warns-japan-against-stationing-workers-on-disputed-isles
5. DEFENSE OF JAPAN 2013, Japan Ministry of Defense, http://www.mod.go.jp/e/publ/w_paper/2013.html, accessed 9 July 2013
6. Jon Day, News Analysis: Japan sends conflicting messages to China on anniversary of "nationalizing" disputed islands, Xinhua, 11 September 2013, http://news.xinhuanet.com/english/china/2013-09/11/c_125371557.htm
7. Leslie H. Gelb and Dimitri K. Simes, “Beware Collusion of China, Russia”, The National Interest, 25 June 2013, http://nationalinterest.org/article/beware-collusion-china-russia-8640, accessed 1 September 2013
------------------------