มองนโยบายความมั่นคงญี่ปุ่นด้วยแนวคิดสัจนิยม

เป็นประจำทุกปีในเดือนกรกฎาคมกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นจะออกสมุดปกขาวว่าด้วยนโยบายความมั่นคงของประเทศ ฉบับล่าสุดใช้ชื่อว่า ‘Defense of Japan 2013’ และเมื่อพูดถึงประเด็นความมั่นคงทางทหาร ผู้วางนโยบายมักจะอิงทฤษฎีหรือแนวคิดของสำนักสัจนิยม (Realism) เช่นเดียวกับนโยบายความมั่นคงญี่ปุ่นที่มองว่าทุกประเทศจะต้องป้องกันตนเอง มองการเคลื่อนไหวของประเทศอื่นเป็นภัยคุกคาม แต่หากพิจารณาให้ดีจะพบว่าเหตุผลประกอบนโยบายบางอย่างมีความสับสน และอาจเป็นเหตุให้เกิดความไม่มั่นคงมากขึ้น
เกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามจริงหรือ
            สมุดปกขาวฯ ชี้ว่ารอบปีที่ผ่านมานายคิม จ็อง-อึนผู้นำเกาหลีเหนือตรวจเยี่ยมหน่วยทหารอย่างต่อเนื่องแสดงถึงการให้ความสำคัญแก่กองทัพ หวังใช้กองทัพเป็นเครื่องมือดำเนินนโยบาย ในปีที่ผ่านมาแสดงพฤติกรรมยั่วยุหลายครั้ง คาบสมุทรเกาหลีตึงเครียด กระทบความมั่นคงของญี่ปุ่นโดยตรง เช่น การปล่อยขีปนาวุธพิสัยไกลโดยอ้างว่าใช้ส่งดาวเทียมขึ้นอวกาศ แต่วัตถุที่ส่งขึ้นไปนั้นไม่ได้ทำหน้าที่ของดาวเทียมแต่ประการใด ญี่ปุ่นเชื่อว่าเทคโนโลยีด้านขีปนาวุธของเกาหลีเหนือได้ก้าวหน้าขึ้นอีกขั้นแล้ว นอกจากนี้เกาหลีเหนือได้ทดลองระเบิดนิวเคลียร์อีก เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเป็นภัยคุกคามต่อประชาคมโลก
            อย่างไรก็ตาม เนื้อหาอีกส่วนหนึ่งในสมุดปกขาวฯ ยอมรับว่าพฤติกรรมเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการเมืองภายในเกาหลีเหนือ เพื่อเชิดชูความเป็นผู้นำของนายคิม จ็อง-อึนที่เพิ่งก้าวขึ้นมารับตำแหน่งต่อจากบิดา เกี่ยวกับการสับเปลี่ยนโยกย้ายผู้นำกองทัพและสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ
            หากพิจารณาในรายละเอียด การประเมินศักยภาพของฝ่ายตรงข้ามแบบสูงสุดนั้นมีปัญหา เช่นระบุว่าขีปนาวุธแตโปดอง-2 (Taepodong-2) มีพิสัยยิงไกล 6,000-10,000 กิโลเมตร ขีปนาวุธมูซูดาน (Musudan) มีพิสัย 2,500-4,000 กิโลเมตร ขีปนาวุธทั้งสองอาจมีพิสัยดังกล่าว แต่เนื่องจากทั้งสองชนิดยังไม่เคยทำการทดสอบอย่างจริงจัง จึงไม่ทราบขีดความสามารถที่แท้จริง และไม่แน่ใจว่าใช้การได้จริงหรือไม่ ญี่ปุ่นทราบข้อโต้แย้งเหล่านี้แต่ยังยึดมั่นว่าขีปนาวุธทั้งสองเป็นภัยคุกคาม

            เช่นเดียวกับการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าเกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการทดสอบจุดระเบิดนิวเคลียร์มาแล้ว 3 ครั้ง คือเมื่อปี 2006, 2009 และล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2013 แต่ทั้งหมดอยู่ในขั้นทดลองในห้องทดลอง นักวิเคราะห์สหรัฐยังไม่พบหลักฐานว่าได้พัฒนาถึงระดับสามารถผลิตเป็นอาวุธนิวเคลียร์ที่ใช้การได้จริง อีกทั้งในระยะยาวเกาหลีเหนือจะมีขีดความสามารถถึงขั้นผลิตเป็นอาวุธได้หรือไม่ยังเป็นประเด็นถกเถียง เพราะต้องพัฒนาอีกมาก อีกทั้งจีนให้ความร่วมมือกับคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติต่อต้านโครงการนิวเคลียร์ดังกล่าว
            ภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือต่อญี่ปุ่นจึงเป็นภัยคุกคามที่มุ่งมองไปในอนาคต มองว่าฝ่ายตรงข้ามมีอำนาจการรบขั้นสูงและมีเป้าหมายใช้โจมตีตนเอง แน่นอนว่าประเทศควรตระเตรียมการป้องกันไว้ก่อน แต่การตระเตรียมป้องกันที่มากเกินพอก่อให้อีกฝ่ายต้องหวาดระแวงหรือไม่

เผชิญหน้ามหาอำนาจจีน
            สมุดปกขาว ‘Defense of Japan 2013’ บรรยายว่าจีนในฐานะชาติมหาอำนาจย่อมแสดงบทบาททั้งระดับภูมิภาคกับระดับโลก เชื่อว่าจีนจะใช้กำลังทหารเสริมบทบาทของตน ที่ผ่านมาได้ปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยอย่างรวดเร็ว เพิ่มกิจกรรมทางทหารทั้งน่านน้ำ น่านฟ้าอากาศ จีนไม่เปิดเผยข้อมูลว่าประเทศตนสะสมอาวุธชนิดใด จำนวนเท่าไหร่ เพิ่มงบประมาณกลาโหมอย่างต่อเนื่องรวดเร็ว ทำให้ญี่ปุ่นรู้สึกกังวล

            มีหลักฐานชัดเจนว่าจีนกำลังพัฒนาศักยภาพทางทหารในทุกด้าน แต่ประเด็นนี้ถกเถียงได้ไม่จบสิ้น เพราะจีนอ้างว่าปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัยตามเทคโนโลยี ไม่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่ปรับปรุงกองทัพของตนด้วยกันทั้งสิ้น และหากเทียบกับชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐหรือรัสเซียแล้ว จีนยังต้องพัฒนาอีกมาก
            นอกจากนี้ การที่ญี่ปุ่นมุ่งมองประเทศอื่นเป็นภัยคุกคาม หากมองในมุมกลับกัน กำลังรบของญี่ปุ่นที่เพิ่มมากขึ้นย่อมถูกประเทศอื่นมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อตนเองได้เช่นกัน ถ้าใช้ตัวเลขงบประมาณที่ใช้จ่ายด้านการทหารเป็นตัวตั้ง ในมุมของจีนอาจกำลังเผชิญภัยคุกคามจากญี่ปุ่นกับสหรัฐอย่างหนัก ข้อมูลสมุดปกขาวฯ ชี้ว่าในปีงบประมาณ 2011 รัฐบาลจีนใช้จ่ายด้านกลาโหมราว 1.4 แสนล้านดอลลาร์ ญี่ปุ่นใช้ 0.43 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนสหรัฐใช้ถึง 6.78 แสนล้านดอลลาร์เป็นประเทศที่มีงบประมาณกลาโหมสูงที่สุดในโลก จึงไม่แปลกใจว่าอเมริกาคือประเทศที่มีแสนยานุภาพทางทหารสูงสุดในโลก กำลังรบของจีนไม่อาจสู้หรือเทียบเท่าอเมริกาได้เลย
            แม้ข้อมูลสมุดปกขาวฯ จะชี้ว่างบประมาณกลาโหมจีนเพิ่มขึ้น 3.51 เท่าเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว ในขณะที่สหรัฐเพิ่มเพียง 1.68 เท่า ตีความได้ว่าจีนกำลังเร่งปรับปรุงกองทัพของตนเอง แต่ในอีกมุมหนึ่งเป็นการยืนยันว่ากองทัพจีนไม่อาจเปรียบกับกองทัพสหรัฐและต้องใช้เวลาอีกนานหลายปีกว่าที่กองทัพจีนจะมีขีดความสามารถทัดเทียมกับอเมริกา
            ดังนั้น เมื่อรวมญี่ปุ่นกับสหรัฐเข้าด้วยกัน ยิ่งเป็นภัยคุกคามต่อจีนมากขึ้น เกิดคำถามว่าจีนเป็นภัยคุกคามต่อญี่ปุ่น หรือญี่ปุ่นเป็นภัยคุกคามต่อจีน

            ข้อพิพาทหมู่เกาะเซนกากุ (หรือที่จีนเรียกว่าเตียวหยู) คือประเด็นเผชิญหน้าระหว่างสองประเทศในรอบปีที่ผ่านมา เนื่องจากต่างฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะกับน่านน้ำใกล้เคียง รัฐบาลโอบามายืนยันว่าญี่ปุ่นเป็นเจ้าของและพร้อมจะป้องกันญี่ปุ่นตามสนธิสัญญาความมั่นคงญี่ปุ่น-สหรัฐ
            สมุดปกขาวฯ รายงานว่าตั้งแต่เดือนกันยายน 2012 เป็นต้นมา เรือรบจีนล่วงล้ำน่านน้ำญี่ปุ่นบริเวณดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน มีการล่วงล้ำทุกเดือน หากพิจารณาเพียงตัวเลขการล่วงล้ำของเรือรบจีนย่อมตีความได้ว่าจีนทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากยิ่งขึ้น แต่หากพิจารณาบริบทรอบด้าน เช่น จุดเริ่มต้นของความตึงเครียดครั้งนี้เกิดจากการอ้างสิทธิของญี่ปุ่นที่เรียกร้องสิทธิอย่างชัดเจนและถี่ขึ้น หากญี่ปุ่นไม่แสดงพฤติกรรมอ้างสิทธิ เรือรบจีนก็จะไม่เข้าน่านน้ำหมู่เกาะเซนกากุเพื่อแสดงการอ้างสิทธิเช่นกัน
            จนบัดนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าประเทศใดเป็นเจ้าของหมู่เกาะดังกล่าว ในระหว่างนี้ข้อพิพาทหมู่เกาะเซนกากุจะเป็นประเด็นถกเถียงต่อไปว่าใครล่วงล้ำอธิปไตยของฝ่ายใดกันแน่

บทบาทที่กว้างกว่าอาณาเขตประเทศ
            สมุดปกขาวฯ ย้ำความสำคัญของสนธิสัญญาความมั่นคงญี่ปุ่น-สหรัฐ (Japan-U.S. Security Treaty) ว่าไม่เพียงเป็นหนึ่งในเสาหลักความมั่นคงแห่งชาติญี่ปุ่น ยังมีผลเป็นเครื่องค้ำจุนความมั่นคงของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กองกำลังสหรัฐที่ประจำการในย่านนี้ (รวมทั้งที่ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น) ไม่เพียงทำหน้าที่ป้องกันญี่ปุ่นเท่านั้น ยังมีเพื่อป้องปราม ตอบสนองความมั่นคงในภูมิภาค
            แม้ไม่พูดชัดเจนว่ากองทัพญี่ปุ่นมีบทบาทต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยตรง แต่ชี้เป็นนัยว่าด้วยสนธิสัญญาดังกล่าวญี่ปุ่นถูกนำเข้าไปพัวพันกับความมั่นคงของภูมิภาค เท่ากับว่าความมั่นคงของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเกี่ยวข้องโดยตรงกับความมั่นคงของญี่ปุ่น
            ภายใต้กรอบแนวคิดดังกล่าว สามารถวิเคราะห์ได้หลายแนวทาง
            ประการแรก ญี่ปุ่นสามารถขยายกำลังรบได้อีกมาก
            เนื่องจากต้องรับมือกับภัยคุกคามระดับภูมิภาค ไม่เพียงเฉพาะความมั่นคงในขอบเขตอธิปไตยของประเทศ ในวันข้างหน้าญี่ปุ่นอาจเพิ่มกำลังรบ เพิ่มความรับผิดชอบที่กินอาณาบริเวณกว้างกว่าขอบเขตประเทศญี่ปุ่น สมุดปกขาวฉบับปีล่าสุดสะท้อนความมุ่งหมายดังกล่าว
            ประการที่สอง เผชิญหน้าศัตรูของสหรัฐ
            เนื้อหาสมุดปกขาวฯ ตอนหนึ่งบรรยายฉากทัศน์ว่าศัตรูไม่ได้เตรียมต่อสู้กับกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังเตรียมต่อสู้กับกองกำลังทั้งหมดของสหรัฐ ภายใต้ฉากทัศน์ดังกล่าวกองทัพญี่ปุ่นคือด่านแรกที่จะเข้ารับมือกองทัพข้าศึก ตามมาด้วยกำลังเสริมจากกองกำลังอเมริกันที่ตั้งอยู่ในญี่ปุ่น และสุดท้ายคือกำลังเสริมจากสหรัฐที่มาจากทั่วทุกทิศทาง การมีสนธิสัญญากับอเมริกา การที่กองกำลังอเมริกันจำนวนมากตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ในด้านหนึ่งอาจมองว่าสหรัฐค้ำประกันความมั่นคงของตน ในอีกมุมหนึ่งเท่ากับว่าญี่ปุ่นถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับขอบเขตความมั่นคงที่กว้างขึ้น ต้องเผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้ามของสหรัฐ หรือเท่ากับญี่ปุ่นถูกดึงไปอยู่ระหว่างการต่อสู้ของสองมหาอำนาจ
            การที่ญี่ปุ่นสร้างฉากทัศน์ดังกล่าวยังชี้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี ความมั่นคงของญี่ปุ่นจึงตั้งอยู่บนภาวะแห่งความสุ่มเสี่ยง บทบาทที่ขยายขอบเขตออกไปเพื่อความมั่นคงคือที่มาของการเผชิญหน้าที่เพิ่มมากขึ้น

            เป็นธรรมดาประเทศต่างๆ อ้างการ ป้องกันตนเอง เพื่อขยายอำนาจทางทหาร แต่การขยายอำนาจทางทหารของประเทศใดๆ อาจเป็นเหตุให้ประเทศอื่นๆ ใช้เป็นข้ออ้างเพื่อขยายอำนาจทางทหารของตนเช่นกัน และด้วยเหตุผลเดียวกันคือเพื่อ ป้องกันตนเอง กลายเป็นว่าด้วยเหตุผล ป้องกันตนเอง ของแต่ละประเทศทำให้อีกประเทศหนึ่งต้องหวาดระแวงและเร่งขยายอำนาจทางทหารตอบสนองการ ป้องกันตนเอง (เพิ่มอำนาจการรบ) ของอีกประเทศหนึ่ง นโยบายกลาโหมของญี่ปุ่นจึงทำให้ประเทศอื่นๆ อ้างความไม่ปลอดภัยของตนทำนองเดียวกับที่ญี่ปุ่นใช้อ้าง เช่น จีนอาจมองว่าสหรัฐกำลังร่วมมือกับญี่ปุ่นปิดล้อมจีน ด้านเกาหลีเหนือก็เช่นกันมองว่าญี่ปุ่นคือพวกเดียวกับสหรัฐที่แสดงท่าทีคุกคามตนเองตลอดเวลา

            ด้วยมุมมองตามทฤษฎีสำนักสัจนิยมคาดว่าจีนจะปรับปรุงขยายอำนาจกำลังทหารมากขึ้นตามกำลังเศรษฐกิจที่เติบโต (ปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจจีนใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลกแซงหน้าญี่ปุ่นแล้ว) ดังนั้น หากญี่ปุ่นยึดทิศทางนโยบายความมั่นคงปัจจุบัน จำต้องเพิ่มกำลังทหาร ขีดความสามารถด้านการรบเพิ่มขึ้นตามจีน เป็นภาระแก่ญี่ปุ่นอย่างไม่จบสิ้น และความมั่นคงจะยิ่งกลายเป็นความไม่มั่นคง เพราะต่างฝ่ายต่างสะสมอาวุธเพิ่มมากขึ้นทุกที ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยอาจสร้างความเสียหายได้มหาศาล

            อย่างไรก็ตามทฤษฎีสัจนิยมพูดถึงการยับยั้งชั่งใจด้วยเช่นกัน หากเกิดสงครามใหญ่ย่อมสร้างความหายนะแก่สองประเทศหรือมากกว่านั้นซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย ดังเช่นกรณีสหรัฐกับอดีตสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น ต่างระวังที่จะไม่ก่อให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังมีมิติอื่นๆ นอกเหนือความมั่นคงด้านการทหาร เช่นด้านเศรษฐกิจที่เน้นการพึ่งพาระหว่างกัน ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศเพื่อนบ้านจึงอิงกับหลายทฤษฎีหลายแนวคิด เป็นลักษณะของความร่วมมือคู่กับความขัดแย้งอยู่เสมอ
14 กรกฎาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6096 วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2556 
และได้รับการเผยแพร่ผ่าน สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2013, http://www.thaizhong.org/index.php?option=com_content&view=article&id=3499:2013-07-15-04-33-18&catid=63:articlespecialorther-cat&Itemid=100)
-------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง:
อำนาจต่อรองของเปียงยางในยามนี้ร่อยหรอยลงทุกที และคงต้องเป็นเช่นนี้อีก 4 ปีกว่าที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามาจะหมดวาระ
2. ความร่วมมือสหรัฐกับจีนต้านภัยนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ
เวลากล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนด้านความมั่นคงมักจะเป็นความขัดแย้งเสียมากกว่าแต่กรณีเกาหลีเหนือเป็นข้อยกเว้น สองมหาอำนาจสามารถร่วมมือกันได้ ทั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลบารัก โอบามาเน้นแก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางทูตไม่หวังยกระดับความขัดแย้ง
3. รอยร้าวญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ รอยด่างPivot to Asia
            การวิพากษ์ Pivot to Asia หรือยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียสามารถทำได้หลายรูปแบบ มองในหลายแง่มุม งานเขียนชิ้นนี้ชี้จุดอ่อนของยุทธศาสตร์ผ่านประเด็นความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ เป็นความขัดแย้งจากผลพวงของประวัติศาสตร์ กลายเป็นรอยร้าวที่ยากจะแก้ไขภายใต้บริบทปัจจุบัน เนื่องจากเป็นเรื่องที่ยอมให้กันไม่ได้ ต้องตอบสนองความคาดหวังจากการเมืองภายในของแต่ละประเทศ เกิดการแก้เกมแบบชิงไหวชิงพริบ นำสู่คำตอบว่าทำไมยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียจึงอ่อนกำลัง ไม่ได้ผลตามเป้าหมาย ในอนาคตจะต้องปรับแก้ยุทธศาสตร์หากรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการหวังผลอย่างจริงจัง ประเด็นสำคัญอยู่ที่จะต้องหาพันธมิตรเพิ่ม หรือทำให้ประเทศเหล่านั้นถอยห่างจากจีนมากขึ้น ซึ่งในกรอบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็มีเพียงไม่กี่ประเทศดังปรากฏบนแผนที่
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป
บรรณานุกรม:
Defense of Japan 2013, Japan Ministry of Defense, http://www.mod.go.jp/e/publ/w_paper/2013.html, accessed 9 July 2013.
---------------------------