เกาะติดประเด็นร้อน “จับตาประชุมสุดยอดเซียน 2013” (3)

สรุปสถานการณ์: (อัพเดท 25 เม.ษ. 16.50 น.) การประขุมสุดยอดผู้นำ 10 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน ระหว่างวันที่ 24-25 เมษายน สื่อหลายสำนักเสนอข่าวว่าหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะพูดคุยหารือคือข้อพิพาททะเลจีนใต้ (หรือทะเลฟิลิปปินส์) โดยอาเซียนจะมุ่งเจรจาจัดทำร่าง “แนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้” (code of conduct for the South China Sea หรือ CoC)
            อาเซียนพยายามจัดทำ CoC มานานกว่า 10 ปีแล้ว และข้อพิพาททะเลจีนใต้กลายเป็นเหตุขัดแย้งภายในอาเซียนเอง และกลายเป็นข่าวเมื่อประเทศกัมพูชาเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อปีที่แล้ว (2012) แสดงอาการขัดขวาง ไม่ยอมบรรจุข้อความพูดถึงกรณีความขัดแย้งระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ที่กำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนั้น
            ด้านประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เบนิกโน อากีโนที่ 3 ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมแสดงความเห็นในทางบวกว่าประเด็นดังกล่าวจะเป็นวาระสำคัญของการประชุมปีนี้
คืบหน้าล่าสุด: (อัพเดท 25 เม.ษ. 16.50 น.)
            ผู้นำประเทศบรูไน สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ ในฐานะประธานอาเซียนประจำปีนี้ กล่าวภายหลังการประชุมว่าที่ประชุมต้องการให้เร่งเจรจาเพื่อจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้กับจีนเพื่อลดความตึงเครียด ตลอดการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมพูดถึงประเด็นดังกล่าวมากที่สุด เห็นว่าจีนอ้างสิทธิครอบครองรุนแรงกว่าที่ผ่านมา ทั้งด้วยวิถีทางการทูตและทางทหาร
(Southeast Asian leaders urge China to discuss rows, AFP)
            ฝ่ายไทยเรียกร้องให้รัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกทั้งหมดหาจุดยืนร่วมกันในกรณีพิพาทก่อนเจรจากับจีนในเดือนสิงหาคมนี้
(ASEAN to reach out to China on maritime disputes, Reuters)
            อีกเรื่องที่สำคัญคือที่ประชุมต้องการเร่งผลักดันแผนสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้เสร็จตามกำหนดในปี 2015 ซึ่งนักการทูตหลายคนให้ความเห็นว่าน่าจะเสร็จทันกำหนดเวลา
(Asean makes progress on trade, not on sea disputes, Sun Star/AP)

วิเคราะห์: (อัพเดท 25 เม.ษ. 16.50 น.)
            ข้อสรุปจากผลการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนต่อกรณีพิพาททะเลจีนใต้ (ฟิลิปปินส์) คือ เร่งให้เจรจากับจีนเพื่อจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (CoC) โดยที่ประชุมไม่มีข้อสรุปร่างของอาเซียน
            ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าผลการประชุมไม่น่าจะมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเห็นว่าความขัดแย้งระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนยังคงอยู่ ผลการประชุมสอดคล้องกับการวิเคราะห์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
            ข้อมูลที่ยังขาดไปคือ การประชุมที่มุ่งถกแต่ประเด็นดังกล่าวเป็นบรรยากาศแห่งความขัดแย้งหรือเป็นการประชุมแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย
            การที่ฝ่ายไทยเรียกร้องให้รัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกทั้งหมดหาจุดยืนร่วมกันในกรณีพิพาทก่อนเจรจากับจีนในเดือนสิงหาคมนี้ เป็นแนวทางที่ต้องการได้ข้อสรุปก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหรือบรรยากาศที่ไม่ดีขณะประชุมร่วมกับจีน
            หากยังไม่มีข้อสรุปก่อนการประชุม ฝ่ายไทยอาจต้องเลียนแบบผู้นำประเทศบรูไน สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ ที่ได้เสด็จไปหารือกับผู้นำฟิลิปปินส์เรื่องวาระการประชุมล่วงหน้า
            จากข้อมูลที่สื่อนำเสนอทันทีที่เสร็จการประชุม ราวกับว่าที่ประชุมหารือเพียง 2 เรื่องคือ เรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้กับการผลักดันสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้เสร็จภายในปี 2015 น่าติดตามว่ายังมีประเด็นอื่นๆ อีกที่ยังไม่เป็นข่าวหรือไม่
25 เมษายน 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
----------------------
บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง:
---------------------------