เกาะติดประเด็นร้อน "การตอบโต้ระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ และพันธมิตร” (9)

สรุปสถานการณ์: (อัพเดท 8 พ.ค. 9.40 น.) เมื่อปลายเดือนเมษายนทั้งเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ และพันธมิตรแสดงท่าทีเข้าสู่กระบวนการเจรจา ฝ่ายเกาหลีหนือประกาศว่ายืนยันว่าถ้าจะนั่งลงเจรจากับสหรัฐฯ จะหมายถึงการพูดคุยระหว่างสองประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ และจะไม่มีการบังคับให้อีกฝ่ายต้องละทิ้งอาวุธนิวเคลียร์
            ข้อเรียกร้องของเกาหลีเหนือชัดเจนคือ สหรัฐฯ ต้องยอมรับว่าเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ และไม่ต้องละทิ้งอาวุธเหล่านี้ ส่วนจุดยืนของสหรัฐฯ คือเกาหลีเหนือต้องยกเลิกโครงการพัฒนาวุธนิวเคลียร์
            ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงยังไม่มีการเจรจาที่ปรากฎต่อสาธารณะ
คืบหน้าล่าสุด: (อัพเดท 8 พ.ค. 9.40 น.)
            ผลการพบปะระหว่างประธานาธิบดีบารัก โอบามากับประธานาธิบดีเกาหลีใต้ปาร์ค กึน-ฮเย ทั้งสองประเทศประกาศจุดยืนไม่ยอมอ่อนข้อแก่เกาหลีเหนือ ปธน.โอบามากล่าวว่า “ประธานาธิบดีปาร์คกับข้าพเจ้าเห็นร่วมกันว่าเราจะดำเนินการป้องปรามอย่างเข้มข้นต่อไป ไม่ให้รางวัลแก่พฤติกรรมยั่วยุ แต่ยังพร้อมเปิดการเจรจาพูดคุยเพื่อสันติภาพกับเกาหลีเหนือ”
(North Korea has gained nothing from recent threats, Obamasays, Reuters)
            ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ปาร์ค กึน-ฮเย กล่าวเตือนว่าถ้าเกาหลีเหนือ “ยั่วยุทางทหารและทำอันตรายต่อชีวิต ความปลอดภัยของประชาชน ในฐานะประธานาธิบดี...จะไม่ยอมปล่อยให้เรื่องผ่านไปเฉยๆ” หากกองทัพเห็นควรโต้ตอบเธอพร้อมจะสนับสนุนทันที
((3rd LD) Park says S. Korea, U.S. won't tolerate N. Koreanprovocations, Yonhap)
            เมื่อไม่กี่วันก่อนทางการเกาหลีเหนือยังแสดงจุดยืนเดิมว่า หากต้องการให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐฯ ต้องกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ของตนทั้งหมดด้วย และชี้ว่าเป้าหมายที่สหรัฐฯ ต้องการให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์ก็เพื่อจะมีความได้เปรียบบุกโจมตีเกาหลีเหนือได้โดยง่าย
(Denuclearization of U.S. and World Is Prerequisite to Thatof Korean Peninsula: Newspaper, KCNA)

วิเคราะห์: (อัพเดท 8 พ.ค. 9.40 น.)
            สองสัปดาห์หลังจากที่ทุกฝ่ายเริ่มต้นเห็นร่วมว่าควรเจรจา ประเด็นเจรจาที่สำคัญคือสหรัฐฯ กับจีนเรียกร้องให้เกาหลีเหนือยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ ในขณะที่รัฐบาลเปียงยางอ้างว่าตนเองมีอาวุธนิวเคลียร์พร้อมใช้แล้ว (แต่รัฐบาลโอบามาไม่ยอมรับ) และยืนยันว่าจะต้องคงอาวุธเหล่านี้ไว้
            การที่รัฐบาลเกาหลีเหนือยืนกรานให้รัฐบาลอเมริกายอมรับว่าประเทศตนมีอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครอง และจะไม่ปลดอาวุธหรือเลิกล้มโครงการนิวเคลียร์กลายเป็นการวางอุปสรรคในส่วนสำคัญที่สุดของการเจรจา ณ บัดนี้ รัฐบาลโอบามาแสดงท่าทีชัดแล้วว่า จะไม่ยอมอ่อนข้อ ยืนกรานจุดยืนเดิม พร้อมดำเนินนโยบายป้องปรามอย่างเข้มข้น ยอมให้สถานการณ์ยืดเยื้อต่อไป
            เมื่อสหรัฐฯ ให้คำตอบเช่นนี้ ต้องติดตามต่อว่าทางเกาหลีเหนือจะตอบโต้อย่างไร จะแสดงพฤติกรรมยั่วยุอีกรอบหรือไม่ เช่น ยิงขีปนาวุธ หรือโจมตีเกาหลีใต้แบบจำกัดขอบเขต เรื่องเหล่านี้มีความเป็นไปได้เพราะรัฐบาลเปียงยางเคยทำเช่นนี้มาแล้ว และจากคำพูดของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่ประกาศพร้อมจะตอบโต้ทางทหาร คำพูดลักษณะนี้เป็นการกล่าวซ้ำหลายรอบแล้ว จึงดูเหมือนว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ได้คิดถึงโอกาสที่จะเป็นไปได้ในเรื่องนี้เหมือนกัน
            การเจรจาจะเกิดขึ้นโดยเร็วหรือไม่เป็นเรื่องหนึ่ง แต่เชื่อว่าคงกินเวลาอีกนานหลายเดือนกว่าจะมีข้อสรุปจากการเจรจา
            ในช่วงระหว่างการเตรียมเจรจา การเจรจาที่ยาวนานหลายเดือนหรือเป็นปี น่าจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสงบสุขของคาบสมุทรเกาหลี เว้นแต่จะเกิดพฤติกรรมยั่วยุอีกรอบ
8 พฤษภาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
-------------------
บทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง:
1. ข้อเรียกร้องของรัฐบาลเปียงยางเหมือนดั่งอยู่คนละโลก
รัฐบาลเกาหลีเหนือยื่นเงื่อนไขหลายข้อสำหรับการเจรจายุติความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี เป็นเงื่อนไขที่สร้างบิดเบือนความจริง สร้างความสับสน ยากจะปฏิบัติตาม ความสงบสุขอาจจะคืนสู่คาบสมุทรในไม่ช้า แต่ความตึงเครียดพร้อมจะปะทุใหม่อีกรอบ
(อัพเดท 23 เม.ษ. 12.50 น.) สถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีเข้าสู่สถานะเจรจาแล้ว เกาหลีเหนือตั้งเงื่อนไขเจรจาว่าประเทศตนไม่ต้องยกเลิกโครงการนิวเคลียร์
-------------