ข้อเรียกร้องของรัฐบาลเปียงยาง เหมือนดั่งอยู่คนละโลก

ราวเดือนเศษที่สถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีตึงเครียดเป็นลำดับ รัฐบาลเปียงยางกล่าวหาสหรัฐสมคบคิดกับเกาหลีใต้เตรียมรุกรานเกาหลีเหนือ ผู้นำคิม จ็อง-อึนตรวจเยี่ยมหน่วยทหารต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลเปียงยางประกาศว่าประเทศอยู่ในภาวะสงคราม เตรียมชิงลงมือโจมตีสหรัฐด้วยอาวุธนิวเคลียร์ก่อน มาบัดนี้ทางการเกาหลีเหนือประกาศพร้อมเจรจาถ้าหาก เกาหลีใต้กับสหรัฐยุติพฤติกรรมอันเป็นปฏิปักษ์ คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร ยุติการซ้อมรบร่วมระหว่างสหรัฐกับเกาหลีใต้ สหรัฐถอนอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดออกจากคาบสมุทร
            ในมุมมองของรัฐบาลเกาหลีเหนือเห็นว่าสหรัฐกับพันธมิตรเป็นฝ่ายรุกรานตนด้วยวิธีการต่างๆ นานา ข้อเรียกร้องเพื่อนำสู่การเจรจาสะท้อนลักษณะดังกล่าวแต่มีข้อโต้แย้งเรียงตามลำดับ ดังนี้
            ประการแรก เกาหลีเหนือเห็นว่าสหรัฐกับเกาหลีใต้ดำเนินนโยบายเป็นปฏิปักษ์ต่อตน
            ข้อนี้เป็นหลักคิดพื้นฐานของรัฐบาลเปียงยาง เห็นว่าสหรัฐแสดงอาการเป็นปฏิปักษ์และเป็นผู้ก่อความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี เริ่มจากการที่สหรัฐกล่าวหาการปล่อยดาวเทียมของเกาหลีเหนือเพื่อใช้ในทางสันติเมื่อปลายปีที่แล้วว่าเป็นการ “ปล่อยขีปนาวุธข้ามทวีป” และเมื่อเกาหลีเหนือทดสอบนิวเคลียร์เพื่อใช้ป้องกันตนเองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สหรัฐอาศัยคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติออก “ข้อมติคว่ำบาตร” เกาหลีเหนือ
            เหตุผลข้ออ้างของเกาหลีเหนือมีทั้งส่วนที่สมเหตุผลกับส่วนที่ไม่สมเหตุผล จรวดพิสัยไกลมีคุณลักษณะใช้ประโยชน์ได้สองทาง (dual-use) คือสามารถใช้ขนส่งดาวเทียมเพื่อใช้ในทางสันติกับสามารถปรับเปลี่ยนเป็นอาวุธใช้ในยามสงคราม การกล่าวอ้างว่าพัฒนาเพื่อใช้ในทางสันติจึงใช้ได้เสมอ ในทางกลับกันย่อมเป็นเหตุให้ประเทศอื่นคิดว่าจรวดดังกล่าวสามารถกลายเป็นขีปนาวุธข้ามทวีปได้เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลเปียงยางประกาศชัดว่าต้องการมีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องกันประเทศ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่เกาหลีเหนือจะพัฒนาขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ เป็นแนวทางทั่วไปของประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์
            ตามข้อเท็จจริงแล้วเกาหลีเหนือเป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐ เกาหลีใต้มาโดยตลอด ตั้งแต่สงครามเกาหลีในทศวรรษ 1950 และแม้สิ้นสุดสงครามเย็นมาจนถึงยุคปัจจุบันความเป็นปฏิปักษ์ยังคงอยู่โดยไม่ต้องอ้างเรื่องการพัฒนาขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์แต่อย่างไร ส่วนสถานการณ์ตึงเครียดล่าสุดเป็นผลพวงจากการที่เกาหลีเหนือปล่อยจรวดขนส่งดาวเทียมกับการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งล่าสุด และการตอบโต้จากสหรัฐกับพันธมิตร ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจึงมีส่วนทำให้สถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีตึงเครียดด้วยกันทั้งคู่
            ประการที่สอง เรื่องข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ
            เกาหลีเหนืออ้างว่ารัฐบาลสหรัฐชี้นำคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติออกข้อมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ การอ้างเช่นนี้เท่ากับอ้างว่าจีนกับรัสเซียอยู่ภายใต้การชี้นำของสหรัฐด้วย เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าทั้งสองประเทศคิดเห็นตรงกับอเมริกาบางเรื่องและคิดเห็นแตกต่างหลายเรื่อง จีนกับสหรัฐเป็นสองมหาอำนาจที่ขัดแย้งกันในหลายเรื่องโดยเฉพาะประเด็นด้านความมั่นคง จีนไม่อยู่ภายใต้การชี้นำของสหรัฐ แต่ได้ร่วมปรึกษาอย่างใกล้ชิดเพื่อออกข้อมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือภายใต้การเห็นชอบร่วมกัน น่าจะกล่าวได้ว่าข้อมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือล่าสุด (ข้อมติ 2094) คือข้อมติที่จีนต้องการเตือนเกาหลีเหนือโดยตรงเพราะหากจีนไม่เห็นด้วยข้อมติดังกล่าวย่อมไม่อาจเกิดขึ้น
            ความตั้งใจของรัฐบาลเปียงยางคือพยายามกล่าวโทษสหรัฐเพียงฝ่ายเดียวว่าเป็นต้นเหตุของข้อมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือแต่ที่จริงแล้วมิได้เป็นเช่นนั้น
            ประการที่สาม เรียกร้องให้สหรัฐกับเกาหลีใต้ยุติการซ้อมรบ
            ข้อเรียกร้องขอให้ยุติการซ้อมรบเป็นเรื่องแปลก เพราะเป็นที่เข้าใจว่าสหรัฐกับเกาหลีใต้มีการซ้อมรบร่วมเสมอ และความจริงสหรัฐไม่เพียงซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้เท่านั้น กองทัพสหรัฐซ้อมรบร่วมกับมิตรประเทศทั้งหลายอยู่เสมอ
            ประเด็นอยู่ที่รัฐบาลเปียงยางอ้างว่าการซ้อมรบร่วมระหว่างสหรัฐกับเกาหลีใต้ภายใต้ชื่อ Foal Eagle แท้ที่จริงไม่ใช่เป็นการซ้อมรบ แต่เป็นแผนอันแยบยลของสหรัฐที่จะใช้เหตุดังกล่าวระดมกำลังทหารเตรียมรุกรานประเทศเกาหลีเหนือ โดยทำให้นานาชาติเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเพียงการซ้อมรบประจำปี
            ประเด็นโต้แย้งของเรื่องนี้คือหากประธานาธิบดีบารัก โอบามาดึงดันที่จะทำสงครามโดยไม่ขอความเห็นชอบจากรัฐสภา จะเกิดประเด็นตามมาว่าชาวอเมริกันจะเห็นด้วยหรือไม่ ที่ผ่านมายังไม่มีรัฐบาลชุดใดประกาศนโยบายทำสงครามรุกรานเกาหลีเหนือแต่อย่างไร นโยบายของรัฐบาลโอบามาคือพยายามจูงใจให้รัฐบาลเปียงยางเลิกล้มโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อแลกกับความช่วยเหลือ แต่หากรัฐบาลเปียงยางดื้อดึงสหรัฐจะดำเนินนโยบายโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือ เสริมระบบป้องขีปนาวุธ และทำให้มั่นใจว่าพันธมิตรสหรัฐจะสามารถรับมือเกาหลีเหนือได้
            ประการที่สี่ กองทัพสหรัฐประจำการอาวุธนิวเคลียร์ตลอดเวลา
            ความเข้าใจเบื้องต้นคือกองทัพสหรัฐมีอาวุธนิวเคลียร์ประจำการอยู่ตลอดเวลา ทั้งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์กับยุทธวิธี สามารถโจมตีเกาหลีเหนือได้ตลอดเวลา (หากต้องการ) โดยไม่จำต้องอาศัยอาวุธที่อยู่ในคาบสมุทรเกาหลีหรือบริเวณใกล้เคียง เหตุการณ์ที่เครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 กับ B-2 ใช้เวลาบินเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็มาถึงคาบสมุทรเกาหลีเป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่นับขีปนาวุธรูปแบบอื่นๆ ของสหรัฐอีกจำนวนมากที่สามารถยิงจากจุดที่ห่างไกลออกไปหลายพันกิโลเมตร และเป็นไปไม่ได้ที่สหรัฐจะยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์เพราะเหตุเกาหลีเหนือเรียกร้อง เพราะอาวุธเหล่านี้มีเพื่อปกป้องผลประโยชน์อื่นๆ มากมายมหาศาล ดังนั้นข้อเรียกร้องให้สหรัฐถอนอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดออกจากคาบสมุทรจึงไม่เป็นเครื่องประกันว่าเกาหลีเหนือจะไม่ถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์แต่ประการใด
            จะเห็นว่าข้อเรียกร้องเพื่อนำสู่การเจรจาของเกาหลีเหนือเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่สมเหตุผล บิดเบือนความจริงและสหรัฐไม่อาจตอบสนองได้ ทำให้สถานการณ์แลดูสับสน ทั้งนี้เป็นผลจากพื้นฐานความคิดของรัฐบาลเปียงยางว่าประเทศตนกำลังจะถูกอเมริการุกราน  สิ่งที่รัฐบาลเปียงยางพยายามทำคือการป้องกันประเทศ แต่หากตัดความสับสนเหล่านี้ออกไปจะเหลือเพียงข้อสรุปอย่างง่ายๆ ว่า ณ บัดนี้รัฐบาลเปียงยางต้องการให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ขอให้นานาชาติเลิกคว่ำบาตรประเทศตน
            แม้เหลือข้อสรุปแบบง่ายๆ ดังกล่าว ยังมีคำถามว่าเกาหลีเหนือจะยอมละทิ้งโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อันเป็นจุดเริ่มต้นของความตึงเครียดได้หรือไม่ ผู้นำคิม จ็อง-อึนประกาศเมื่อไม่นานนี้ว่า “กองกำลังอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นเหมือนตัวแทนชีวิตของประเทศ ที่ไม่อาจละทิ้งตราบเท่าที่พวกจักรวรรดินิยมกับภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์ยังคงดำรงอยู่ในโลก” เมื่อผนวกนโยบายดังกล่าวกับความจริงที่ว่าสหรัฐจะคงอาวุธนิวเคลียร์ของตนต่อไป เท่ากับว่าเกาหลีเหนือไม่อาจละทิ้งการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน ต้นตอแห่งความขัดแย้งจะยังดำรงอยู่ต่อไป
            มีความเป็นไปได้ว่าคาบสมุทรเกาหลีจะคืนสู่ความสงบระยะหนึ่ง แต่เป็นความสงบที่พร้อมจะปะทุขึ้นมาใหม่ในอนาคต เพราะพื้นฐานความคิดที่รัฐบาลเกาหลีเหนือแสดงออกแตกต่างจากสหรัฐอย่างมากเหมือนดั่งอยู่คนละโลก ข้อเรียกร้องของรัฐบาลเปียงยางสะท้อนลักษณะดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
22 เมษายน 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6012 วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ.2556)

---------------
1. DPRK unveils twin goals of economic construction, nuclear capability, Xinhua, 31 March 2013, http://news.xinhuanet.com/english/world/2013-03/31/c_132274938.htm
2. (2nd LD) N. Korea says S. Korea, U.S. must stop provocations for talks, Yonhap, 18 April 2013, http://english.yonhapnews.co.kr/national/2013/04/18/69/0301000000AEN20130418011300315F.HTML
3. KCNA Commentary Urges U.S. to Properly Understand Root Cause of Grave Situation in Korea, KNCA, 18 April 2013, http://www.kcna.co.jp/item/2013/201304/news17/20130417-18ee.html
4. Full text: State of the Union Address, USA TODAY, 12 February 2013, http://www.usatoday.com/story/news/politics/2013/02/12/state-of-the-union-obama-text/1914769/
5. “North Korea: U.S. Relations, Nuclear Diplomacy, and Internal Situation,” Congressional Research Service, 4 January 2013, http://www.fas.org/sgp/crs/nuke/R41259.pdf
6. Barbara A. Bardes, Mack C. Shelley and Steffen W. Schmidt, American Government and Politics Today: Essentials, 2011 - 2012 Edition, (USA: Wadsworth, Cengage Learning, 2012
---------------