ศึกยูเครนนำสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่

 ทั้งรัฐบาลสหรัฐกับรัสเซียและประเทศต่างๆ ล้วนตระหนักผลเสียของสงครามโลก คำถามคือทำไมคนทั้งโลกต้องรับผลเสียจากความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ การตัดสินของคนไม่กี่หยิบมือ

            ข่าวและการวิเคราะห์ที่ปรากฏในสื่อหลายชิ้นระบุว่าสงครามโลกครั้งที่ ใกล้เข้ามาแล้ว อันหมายถึงการรบโดยตรงระหว่างฝ่ายสหรัฐกับรัสเซีย ข่าวการเตรียมพร้อมของกองกำลังนิวเคลียร์รัสเซีย การซ้อมรบกองกำลังนิวเคลียร์ทั้ง 3 เหล่า (ขีปนาวุธจากฐานยิงภาคพื้นดิน จากเรือรบเรือดำน้ำ และจากเครื่องบิน) ปลุกกระแสให้คิดว่าสงครามโลกกำลังจะเกิดขึ้น สื่อบางสำนักชักนำให้คิดว่ารัฐบาลปูตินจะใช้อาวุธนิวเคลียร์

            ด้วยเหตุสงครามยูเครนรุนแรง มีข่าวจะเปิดแนวรบใหม่สงครามอาจขยายตัว อันโตนิโอ กูเตเรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติออกโรงเตือนอีกครั้งเมื่อศึกยูเครนใกล้ครบปีว่าสัญญาณสันติภาพหายไป อาจรุนแรงกว่าเดิม

            หากนาโตรบกับรัสเซียเป็นวงกว้าง มีการสูญเสียจำนวนมาก น่าจะเรียกว่าเกิดสงครามโลกครั้งที่ แล้ว

มูลเหตุสงครามโลกครั้งที่ 3 :

            เมื่อศึกยูเครนทวีความรุนแรง นาโตให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง รัฐบาลโปแลนด์เริ่มพูดว่ารัสเซียจะโจมตีโปแลนด์ กุมภาพันธ์ 2023 Mateusz Morawiecki นายกรัฐมนตรีโปแลนด์กล่าวว่ารัสเซียจะโจมตีโปแลนด์ “เป็นเป้าหมายต่อไป" ตอนนี้ต้องช่วยยูเครนสกัดรัสเซียให้จงได้

            ความกังวลของโปแลนด์สัมพันธ์กับแนวคิดอีกไม่นานโปแลนด์จะส่งกองทัพเข้ายูเครน อ้างเหตุผลปกป้องยูเครนฝั่งตะวันตก เท่ากับโปแลนด์พาตัวเองเข้าไปเกี่ยวพันโดยตรง ทั้งยังควรขยายความว่านาโตกำลังเข้าพัวพันโดยตรงเพราะโปแลนด์เป็นสมาชิกนาโต อาจหมายถึงจุดเริ่มสงครามระหว่างรัสเซียกับนาโตโดยตรง

            ปัจจุบันมีทหารอเมริกัน 11,000 ประจำการที่นี่และยังคงเสริมฐานทัพให้เข้มแข็งต่อเนื่อง ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่าอีกไม่นานจะมีศูนย์บัญชาการสหรัฐที่โปแลนด์ จะเห็นว่าทัพนาโตเสริมกำลังในหลายประเทศแถบนี้

            ข่าวความโหดร้ายของกองทัพรัสเซีย ตั้งใจสังหารพลเรือน รัสเซียจะบุกยึดครองยุโรปปรากฏในสื่อตะวันตกเป็นระยะ ถ้ายึดข่าวสายนี้โอกาสเกิดสงครามโลกย่อมเป็นไปได้

            เมษายน 2022 เมื่อกองทัพรัสเซียบุกยูเครนไม่ถึง เดือน วุฒิสมาชิก Chris Coons แนะว่าถึงจุดหนึ่งสหรัฐจำต้องส่งกองทัพเข้ายูเครนร่วมกับนานาชาติเพื่อปกป้องเสรีภาพ หรือหากมีเหตุผลจำเป็น เช่น รัสเซียใช้อาวุธเคมี

            ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐกับนาโตย้ำว่าจะไม่ส่งทหารเข้าปะทะกองทัพรัสเซีย เพราะสุ่มเสี่ยงเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 รัฐบาลปูตินได้เตือนแล้ว แต่ในระยะหลัง ส.ส. ส.ว. อเมริกันบางคนสนับสนุน และหากใช้ตรรกะของ Chris Coons สหรัฐควรส่งทหารเข้ายูเครนตั้งแต่วันนี้เพื่อปกป้องยูเครน

            คำถามคือหากจะทำสงครามล้างโลกหรือนำสู่ความสุ่มเสี่ยงดังกล่าวควรสอบถามความเห็นของประชากรโลกหรือไม่ ทำไมคนทั้งโลกต้องรับผลเสียจากความขัดแย้งของมหาอำนาจ จากการตัดสินใจของคนไม่กี่หยิบมือ

ข้อโต้แย้งไม่เกิดสงครามโลก :

          ประการแรก ยุโรปไม่คิดว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคาม

            หลายปีแล้วที่นาโตมีข้อตกลงว่าสมาชิกจะต้องตั้งงบประมาณกลาโหมอย่างน้อยปีละ 2ของจีดีพี สมัยรัฐบาลแมร์เคิลตั้งงบกลาโหมเพียง 1.2% เช่นเดียวกับหลายประเทศที่ตั้งงบกลาโหมไม่ถึง 2% มีข้อมูลมากมายว่ากองทัพเยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส ไม่พร้อมรบ เครื่องบินรถถังที่ใช้งานได้จริงน้อยกว่าจำนวนที่ระบุไว้มาก กระสุนที่มีอยู่ใช้ได้เพียงไม่กี่วัน เป็นหลักฐานสำคัญชี้ว่าฝ่ายยุโรปไม่คิดว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคาม จึงไม่ต้องเตรียมกองทัพใหญ่โต

          ประการที่ อดีตรัฐบาลแมร์เคิลเป็นมิตรกับรัสเซีย

            ย้อนหลังรัฐบาลเยอรมันชุดก่อน พฤษภาคม 2017 อังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมนีในขณะนั้นเอ่ยถึงนโยบายต่างประเทศว่า “ห้วงเวลาที่เราต้องพึ่งพาประเทศอื่นอย่างสิ้นเชิงได้สิ้นสุดลงแล้ว” ประโยคดังกล่าวไม่ได้เอ่ยชื่อประเทศใดแต่ทุกคนรู้ดีว่าหมายถึงสหรัฐอเมริกาแนวคิดนี้สอดคล้องกับกระแสยุโรปที่ต้องการเป็นอิสระ ไม่ถึงขั้นแยกตัวออกจากนาโตแต่หวังเป็นมิตรกับรัสเซีย ซึ่งหมายถึงยุโรปที่มีสันติภาพ หลีกเลี่ยงสถานการณ์ยุโรปที่อยู่กึ่งกลาง มหาอำนาจที่ต่อสู้แข่งขันกัน รัฐบาลทรัมป์ในสมัยนั้นต่อต้านอย่างหนักถึงกับขู่ว่าจะสลายนาโต

            หลายสิบปีแล้วที่รัสเซียเป็นผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่สู่ยุโรป มีระบบท่อส่งหลายท่อผ่านหลายประเทศ เฉพาะ Nord Stream เป็นท่อจากรัสเซียเข้าเยอรมนีโดยตรง คำถามที่พูดกันเสมอคือหากรัสเซียปิดท่อก๊าซจะส่งผลต่อคนเยอรมันหลายสิบล้านคนอย่างไร ในอดีตอาจตอบว่าเยอรมนีนำเข้าจากหลายประเทศ เมื่อมาถึงสมัยแมร์เคิลนำเข้าจากรัสเซียมากกว่าครึ่งและทำท่าจะเพิ่มขึ้นอีก คำถามนี้จึงมีน้ำหนักยิ่งกว่าเดิม

            ข้อโต้แย้งคือเพราะเยอรมนี (กับยุโรป) เป็นลูกค้ารายใหญ่ รัสเซียจึงไม่ผลีผลามทำอะไรที่ทำให้ยุโรปรู้สึกไม่ปลอดภัย ด้วยการมีระบบเศรษฐกิจร่วมกัน เป็นคู่ค้ารายใหญ่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ จึงอยู่ร่วมกันโดยสันติ

            โครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 อันเป็นโครงการใหม่สมัยรัฐบาลแมร์เคิลเป็นหลักฐานในตัวเองว่ารัฐบาลเยอรมนีชุดก่อนเห็นว่านโยบายพลังงานเหมาะสมดีแล้ว ไม่คิดว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามอย่างที่รัฐบาลสหรัฐกล่าวอ้าง

            โดยพื้นฐานแล้วอียูเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ ในอีกด้านอียูหวังค้าขายกับนานาชาติทั้งรัสเซีย จีน ฯลฯ โรคระบาดโควิด-19 สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสังคมไม่น้อย ซ้ำเติมเศรษฐกิจบางประเทศที่อ่อนแออยู่แล้วให้อ่อนแอลงอีก บัดนี้เกิดสงครามในยุโรปและคาดว่าจะยืดเยื้อ ส่อว่ามีลักษณะเป็นสงครามเย็นใหม่ ยุโรปต้องซื้อใช้พลังงานแพงกว่าเดิมจากต้นทุนนำเข้าที่สูงขึ้น ต้องลงทุนสร้างท่าเรือที่รองรับเรือบรรทุกน้ำมัน สร้างคลังน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่ม ฯลฯ ต้นทุนพลังงานยุโรปแพงขึ้นทั้งระบบ ความสามารถการแข่งขันเชิงเศรษฐกิจลดลง การคว่ำบาตรรัสเซียมีผลกระทบกลับมาที่ยุโรปด้วย เหล่านี้กำลังบอกว่ายุโรปอ่อนแอลง มั่นคงน้อยกว่าเดิมใช่หรือไม่

          ประการที่ ไบเดนระบุจะไม่รบกับรัสเซียโดยตรง

            แถลงการณ์ State of the Union 2022 ของไบเดนเมื่อมีนาคมระบุชัดว่าสหรัฐจะไม่ส่งทหารไปรบยูเครน จะไม่ปะทะกับรัสเซียโดยตรงแต่จะให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

            หากไบเดนคิดทำสงครามโดยตรง รัฐบาลเสรีประชาธิปไตยได้ถามพลเมืองของตนแล้วหรือยังว่าประเทศจะรบกับรัสเซีย ในทำนองเดียวกัน ชาติประชาธิปไตยอื่นๆ ควรถามพลเมืองของตนว่ายินดีให้ลูกระเบิดนิวเคลียร์หล่นใส่บ้านตัวเองหรือไม่ ยินดีให้ลูกหลานพินาศตามนโยบายจากรัฐบาลต่างชาติหรือไม่ โดยเฉพาะยุโรปที่เคยเป็นสมรภูมิสงครามโลกมาแล้ว ครั้ง ต้องถามตัวเองซ้ำอีกรอบว่าอยากให้ประเทศของตนเป็นสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ หรือไม่

            ด้านรัสเซียจะเห็นว่ารัฐบาลปูตินพยายามเตือนไม่ให้ยูเครนโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย ทำการรบในเขตยูเครนเท่านั้น เป็นการจำกัดขอบเขตสงคราม ทั้งๆ ที่ภาพสงครามตัวแทนระหว่างนาโตกับรัสเซียชัดเจนยิ่งขึ้นทุกที ฝ่ายรัสเซียสูญเสียจากสงครามมากมาย การฟื้นฟูประเทศต้องใช้เวลาหลายปี คงไม่อยากขยายความสูญเสียให้มากกว่านี้

          ประการที่ สงครามไฮบริด

            แนวคิดนี้ชี้ว่าทั้งคู่ตั้งใจทำศึกยืดเยื้อ การปะทะทางทหารในยูเครนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสงครามไฮบริดที่กำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง สัมพันธ์กับการจัดระเบียบโลกที่อาจกินเวลาหลายปี

            3 เดือนหลังเริ่มสงครามยูเครน ลอยด์ ออสติน (Lloyd Austin) รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐประกาศให้พันธมิตรเตรียมตัวทำศึกหลายปี ไม่กี่วันต่อมาเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโตกล่าวขอให้เตรียมรับมือสงครามยูเครนแบบยาวๆ ค่อยๆ บั่นทอนข้าศึก (a war of attrition)

            รวมความแล้วรัสเซียไม่เป็นภัยคุกคามร้ายแรงอย่างที่พูด แต่การวาดภาพให้น่ากลัวเป็นโฆษณาชวนเชื่อที่ทำกันเป็นปกติ หวังให้คนทั่วโลกร่วมต่อต้านรัสเซีย ในขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าสงครามนั้นโหดร้าย ละเมิดมนุษยธรรมมากมายทั้งจากทหารรัสเซียกับยูเครน ทหารที่กำลังเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายมักคิดถึงการเอาชนะกับการเอาตัวรอดมากกว่าสิทธิมนุษยชน หากรัฐบาลเซเลนสกีวางตัวเป็นกลาง ไม่สมัครเป็นสมาชิกนาโตที่รัสเซียถือว่าก้าวข้ามเส้นต้องห้าม (red-line) สงครามยูเครนจะไม่เกิด ยุโรปจะยังสงบ ภาวะเงินเฟ้อพุ่ง สินค้าขึ้นราคา แพงทั้งแผ่นดินจะไม่รุนแรงอย่างที่เป็นขณะนี้

12 มีนาคม 2023
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 9614 วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2566)

---------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
โลกเสี่ยงสงครามนิวเคลียร์ตั้งแต่ก่อนเกิดศึกยูเครนแล้ว สงครามยูเครนเพิ่มความเสี่ยงให้สูงขึ้นอีก แต่รัสเซียจะ “กดปุ่ม” หรือไม่ยังคงยึดหลักการเดิม
บรรณานุกรม :

1. Full text: Biden State of the Union 2022 transcript. (2022, March 2). Politico. Retrieved from https://www.politico.com/news/2022/03/01/biden-state-of-the-union-2022-transcript-full-text-00013009

2. Peace in Europe Must Now Be Defended Against Putin's Russia. (2022, April 4). Spiegel Online. Retrieved from https://www.spiegel.de/international/europe/opinion-peace-in-europe-must-now-be-defended-against-putin-s-russia-a-51e18953-7328-4bc3-b08f-0c18fcf61cfd

3. Poland Predicts Russia's 'Next Attack'. (2023, February 20). Newsweek. Retrieved from https://www.newsweek.com/mateusz-morawiecki-poland-russia-nato-attack-1782286

4. Putin gets ready for hot war with NATO. Russians need to be prepared. (2023, January 16). Pravda. Retrieved from https://english.pravda.ru/world/155458-russia_nato_war/

5. Senator Chris Coons Suggests U.S. Troops May Be Needed At Some Point In Ukraine. (2022, April 18). Huff Post. Retrieved from https://www.huffpost.com/entry/ukraine-russia-us-military-chris-coons_n_625d9907e4b066ecde15fc1e

6. The West Tries to Figure Out What Peace Might Look Like. (2022, May 30). Spiegel Online. Retrieved from https://www.spiegel.de/international/world/what-s-next-for-ukraine-the-west-tries-to-figure-out-what-peace-might-look-like-a-9116433c-ff62-4438-b7fd-12a1241525c9

7. The White House. (2023, February 21). Remarks by President Biden and President Andrzej Duda of Poland After Bilateral MeetingRetrieved from https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2023/02/21/remarks-by-president-biden-and-president-andrzej-duda-of-poland-after-bilateral-meeting/

8. Time for Germany to Learn to Lead. (2018, January 5). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/waning-us-germany-must-learn-to-take-responsibility-a-1186075.html

9. UN chief warns of ‘wider war’ as Ukraine conflict intensifies. (2023, February 7). Al Jazeera. Retrieved from https://www.aljazeera.com/news/2023/2/6/un-chief-warns-of-wider-war-as-ukraine-conflict-intensifies

10. ‘We will be in danger if Russia wins’: Security concerns drive Poland’s support for Ukraine. (2023, February 11). France24. Retrieved from https://www.france24.com/en/europe/20230211-we-will-be-in-danger-if-russia-wins-security-concerns-drive-poland-s-support-for-ukraine

11. West must brace for 'long haul' in Ukraine: NATO chief. (2022, June 3). Channel News Asia. Retrieved from https://www.channelnewsasia.com/world/ukraine-invasion-nato-chief-says-west-must-brace-long-haul-2724401)

-----------------------