ตรวจสอบสัมพันธ์จีน-รัสเซียผ่านศึกยูเครน

รัฐบาลจีนยึดผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้งไม่ต่างจากรัสเซียหรือสหรัฐ แต่จีนกับรัสเซียมีนโยบายที่ไปด้วยกันได้มากกว่า ข้อนี้สะท้อนความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศผ่านศึกยูเครนด้วย

            กลางเดือนกันยายนประธานาธิบดีสี จิ้นผิงพบปะปูตินในงานประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) พูดบางประเด็นสะท้อนความสัมพันธ์ทวิภาคีล่าสุด สำนักข่าวบางแห่งนำเสนอว่าผู้นำจีนแสดงท่าที สมดุล” (balanced) ไม่เอียงข้างต่อสถานการณ์ยูเครนจนหลายคนแปลกใจ บทความนี้ประมวลถ้อยคำ 2 ผู้นำพร้อมการวิเคราะห์ ดังนี้

จีนร่วมปกป้องผลประโยชน์หลักของรัสเซีย :

            รัฐบาลจีนแถลงยืนยัน สนับสนุนอย่างแข็งแกร่ง” (strong support) ต่อผลประโยชน์หลักของรัสเซีย

            เมื่อเอ่ยถึงผลประโยชน์หลัก (core interests) จะหมายถึงผลประโยชน์แห่งชาติที่สำคัญ อาทิ อธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน เรื่องที่กระทบความมั่นคงแห่งชาติอย่างรุนแรง รัฐบาลปูตินกล่าวย้ำเรื่องยูเครนหลายปีแล้วว่าห้ามยูเครนเป็นสมาชิกนาโต ถือเป็นเส้นต้องห้าม (red line) การที่กองทัพรัสเซียบุกยูเครนก็ด้วยเหตุผลยูเครนละเมิดเส้นต้องห้ามดังกล่าว สามารถตีความว่าจีนสนับสนุนรัสเซียเรื่องนี้ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจีนจะเห็นด้วยกับรัสเซียทุกอย่าง

            Yang Jin จาก Chinese Academy of Social Sciences อธิบายว่า เรื่องที่จีนระวังตัวคือไม่ให้ชาติตะวันตกผูกโยงจีนกับรัสเซียเป็นกลุ่มการเมืองการทหารแล้วสร้างความขัดแย้งระหว่างขั้ว รัฐบาลจีนดำเนินนโยบายเป็นอิสระ แม้จีนเป็นมิตรกับรัสเซียแต่ไม่ใช่พันธมิตร ป้องกันการต่อสู้ระหว่าง 2 ขั้วแบบยุคสงครามเย็น สอดคล้องกับนโยบายแม่บทสร้างโลกพหุภาคีต่อต้านเอกภาคี (unipolar world) ของสหรัฐ จีนหวังค้าขายกับชาติตะวันตกร่วมมือทางวัฒนธรรม รวมทั้งด้านอื่นๆ สรุปคือจีนร่วมมือกับรัสเซียและชาติตะวันตกพร้อมกัน ส่วนความคิดต่างเป็นเรื่องปกติพยายามแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี

            9 ปีความริเริ่มแถบและเส้นทาง (BRI) หลายสิบประเทศร่วมลงทุนกับจีนถึง 230,000 ล้านดอลลาร์ ยอดค้าขายกับจีน 11 ล้านล้านดอลลาร์ เชื่อม 3 ทวีป 149 ประเทศ มีมากกว่า 200 ข้อตกลง ตลอด 9 ปีรัฐบาลสหรัฐพยายามชี้ข้อเสียของ BRI ซึ่งมีโครงการที่ล้มเหลว โครงการที่ไม่เกิดผลดี แต่โดยรวมแล้ว BRI สร้างผลประโยชน์มหาศาล ผลงาน 9 ปีเป็นหลักฐานชัดว่าแม้แต่ยุโรปยังร่วมค้าร่วมลงทุนกับจีน เป็นหนึ่งในเรื่องที่รัฐบาลสหรัฐกลัวมากที่สุด

            ยอดนำเข้าส่งออกเป็นหลักฐานที่ดี เดือนมิถุนายนจีนส่งออกรวม 331,200 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 17.9% นำเข้า 233,300 ล้านดอลลาร์ จีนเกินดุล 97,900 ล้านดอลลาร์ ทำสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้ง เฉพาะอเมริกาจีนส่งสินค้าขายอเมริกาเพิ่ม 19.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน รวมมูลค่า 56,000 ล้านดอลลาร์ นำเข้าสินค้าอเมริกาเพิ่ม 1.7% มูลค่า 14,600 ล้านดอลลาร์ จีนเป็นฝ่ายเกินดุลอเมริกาถึง 41,400 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 26% ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร เผชิญปัญหาร้ายแรงอย่างโควิด-19 ถูกกีดกันการค้า ปัญหาซับพลายเชน เรือขนส่งไม่พอ สินค้าจีนยังคงส่งออกมากขึ้นทุกที อีกไม่กี่ปีข้างหน้าเศรษฐกิจจีนจะโตเป็นอันดับหนึ่งของโลก

            เป้าหมายของจีนคือเร่งพัฒนาประเทศ ทำมาค้าขายกับทุกชาติ ให้ทุกคนมีงานทำ สร้างการอยู่ดีกินดีถ้วนหน้า ดำเนินชีวิตเป็นปกติสุข แต่หากเกิดสงครามย่อมกระเทือนการค้าการลงทุน กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

            Yang Jin อธิบายว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีกับรัสเซียเป็นผลของพัฒนาการมาอย่างยาวนาน ไม่ใช่แค่เรื่องยูเครนเท่านั้น การค้าทวิภาคีปีที่แล้วมีมูลค่า 140,000 ล้านและปีนี้น่าจะไปถึง 200,000 ล้านดอลลาร์

            ด้านประธานาธิบดีปูตินย้ำเสมอว่าความสัมพันธ์กับจีนยึดหลักเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วม เคารพอธิปไตยอีกฝ่าย ไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน ประณามรัฐบาลสหรัฐที่ยั่วยุจีนในกรณีไต้หวัน ประธานาธิบดีสีกล่าวชื่นชมย้ำว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ห้ามไต้หวันประกาศแบ่งแยกประเทศเป็นอิสระ ทั้งจีนกับรัสเซียเห็นตรงกันในประเด็นดังกล่าว

            เห็นชัดว่ารัฐบาลจีนเข้ากับรัสเซียได้ดีกว่ารัฐบาลสหรัฐ

แสดงบทบาทโลกร่วมกัน :

            ปูตินย้ำว่าทั้งรัสเซียกับจีนต่างมีบทบาทสำคัญต่อเสถียรภาพโลกและภูมิภาค สร้างโลกพหุภาคีที่เป็นประชาธิปไตย มีความยุติธรรมบนกฎหมายระหว่างประเทศ มีสหประชาชาติมีศูนย์กลาง

            ด้านประธานาธิบดีสีกล่าวว่าจีนปรารถนาทำงานร่วมกับรัสเซียเพื่อแสดงความรับผิดชอบในฐานะประเทศหลัก (major country) จีนแสดงบทบาทมหาอำนาจ มีบทบาทสำคัญต่อเสถียรภาพในห้วงเวลาที่ปั่นป่วน ขอให้รัสเซียร่วมเสริมสร้างความเข้มแข็งของ SCO กับ BRICS องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ

            จะเห็นว่าแม้จีนพูดว่าไม่ต้องการสร้างขั้วแต่การจับกลุ่มในกรอบต่างๆ สะท้อนว่ามีกลุ่มของใครกลุ่มของมันอยู่ในตัว

ซื้อขายพลังงานความสัมพันธ์ที่มากกว่าคำพูดหลายรูปแบบ :

            ก่อนกองทัพรัสเซียบุกยูเครน นาโตประกาศย้ำว่าจะเป็นการปะทะโดยตรงระหว่างกองทัพยูเครนกับรัสเซียเท่านั้น สิ่งที่รัฐบาลสหรัฐกับพวกทำคือคว่ำบาตรพลังงานรัสเซีย การทำธุรกรรมด้วยเงินรูเบิล ส่งอาวุธเครื่องกระสุนช่วยยูเครน ต่อมารัฐบาลสหรัฐกับพวกออกมาตรการใหม่คือกดราคาน้ำมันรัสเซีย อ้างว่าเพื่อรัสเซียจะไม่นำกำไรไปใช้ทำสงคราม ชาติสมาชิกอียูเห็นด้วยเดินหน้ากดราคาพลังงานรัสเซียแม้ราคาพลังงานเชื้อเพลิงสูงขึ้นมาก ราคาก๊าซบางประเทศสูงขึ้นหลายเท่าตัว ประชาชนเริ่มประท้วงไม่พอใจรัฐบาล เห็นว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายผิดพลาดไม่ควรคว่ำบาตรพลังงานรัสเซียซึ่งเป็นการทำร้ายประชาชนตัวเอง ด้านปูตินย้ำถ้าไม่ซื้อราคาปกติก็ไม่ต้องซื้อ

            ในกรอบ 6-7 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลจีนไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์การบุกยูเครน ทั้งยังนำเข้าเชื้อเพลิงรัสเซียเพิ่มขึ้นมาก ข้อนี้อาจตีความว่าจีนเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากสถานการณ์ อาจซื้อในราคาพิเศษ

            ครึ่งปีแรกจีนนำเข้าพลังงานรัสเซียเพิ่ม 74% เฉพาะเดือนสิงหาจีนนำเข้าพลังงานรัสเซียถึง 8,300 ล้านดอลลาร์ (เพิ่ม 68% เมื่อเทียบกับปีก่อน) เป็นสถิติสูงสุด นำเข้าทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน เฉพาะครึ่งปีแรกจีนนำเข้าเกือบ 44,000 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 74% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ตัวเลขนำเข้าเหล่านี้ยังไม่รวมที่ส่งผ่านท่อส่งที่จีนไม่เปิดเผยข้อมูล

            ด้านอินเดียที่แต่เดิมไม่เคยนำเข้าน้ำมันรัสเซียตอนนี้กลายเป็นพ่อค้าคนกลางให้รัสเซีย แน่นอนว่าอินเดียได้กำไรในฐานะพ่อค้าคนกลางไม่มากก็น้อย พลังงานเชื้อเพลิงเป็นผลประโยชน์ที่จับต้องได้ทันที มารีน เลอเปน (Marie Le Pen) หัวหน้าพรรค National Rally แกนนำฝ่ายค้านฝรั่งเศสถึงกับพูดว่ามาตรการคว่ำบาตรรัสเซียไม่ได้ผลเลย (“completely inefficient”) ทำให้รัสเซียรวยกว่าเดิม ฝรั่งเศสต่างหากที่ได้รับผลกระทบมากกว่าที่รัสเซียเผชิญ ตอนนี้ฝรั่งเศสต้องไปซื้อน้ำมันจากอินเดียที่ประเทศนี้นำเข้าจากรัสเซียอีกทอด

            12 กันยายน สื่อ Financial Times รายงานอินโดนีเซียกำลังพิจารณาซื้อน้ำมันรัสเซีย โดยรัสเซียจะขายในราคาต่ำกว่าตลาด 30% ก่อนหน้านี้อินโดฯ ไม่ได้นำเข้าน้ำมันรัสเซียเลย รัฐบาลอินโดฯ อธิบายว่ามองหาน้ำมันจากทุกประเทศ มองบริบทรอบด้าน

            Centre for Research on Energy and Clean Air สรุปว่า 6 เดือนสงครามยูเครน รัสเซียส่งออกพลังงานมูลค่า 158,000 ล้านดอลลาร์ ตอนนี้รัสเซียขายได้เงินมากกว่าเก่าแม้ปริมาณส่งออกลดลง เพราะราคาขยับขึ้นสูง เป็นข้อสรุปว่ามาตรการที่รัฐบาลสหรัฐกับพวกใช้ไม่ได้ผล มีแต่ทำให้ประชาชนทั่วโลกยากลำบาก สินค้าขึ้นราคา แพงทั้งแผ่นดิน

            นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติแสดงสุนทรพจน์ในงานประชุมสมัชชาสหประชาชาติประจำปี 2022 ว่าการรบที่ยูเครนทำให้หลายล้านคนต้องอพยพออกจากประเทศ นับพันล้านคนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสมรภูมินี้

            รวมความแล้วมาตรการคว่ำบาตรพลังงานรัสเซียไม่ได้ผล แต่ประสบผลสำเร็จในแง่รัฐบาลสหรัฐ จัดระเบียบพลังงานโลก พวกเดียวกันซื้อใช้ของพวกเดียวกัน ส่งเสริมการควบคุมกันเอง พร้อมกับความทุกข์ยากของคนนับพันล้านทั่วโลกไม่เว้นพลเมืองอเมริกัน

            เรื่องน่าสนใจคือ ในขณะที่หลายประเทศซื้อพลังงานรัสเซียในราคามิตรภาพ สหรัฐที่เป็นพันธมิตรนาโตกับอียูขายก๊าซธรรมชาติแก่อียูในราคาแพงกว่าก๊าซรัสเซียเป็นเท่าตัว เรื่องนี้สะท้อนรูปแบบความสัมพันธ์เช่นกัน

9 ตุลาคม 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9461 วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2565)

----------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
การศึกในยูเครนไม่ใช่เรื่องที่อยากเลิกก็เลิกได้ทันที เพราะสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญยิ่งกว่าความเป็นไปของยูเครนที่มหาอำนาจไม่อาจสูญเสีย
ชาติมหาอำนาจมั่นคงมั่งคั่งขึ้นบนความสูญเสียของยูเครน เรื่องทำนองนี้เคยเกิดขึ้นกับหลายประเทศ เป็นอุทาหรณ์แก่ประเทศอื่นๆ ที่เหลือ

บรรณานุกรม :

1. China trade surplus surges to record as exports accelerate. (2022, July 13). The Asahi Shimbun. Retrieved from https://www.asahi.com/ajw/articles/14669035

2. China will work with Russia as ‘great powers’ – Xi. (2022, September 15). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/562870-xi-putin-sco-great-powers/

3. China’s Spending on Russian Energy Climbs to Record $8.3 Billion. (2022, September 20). Bloomberg. Retrieved from https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-09-20/china-s-spending-on-russian-energy-climbs-to-record-8-3-billion?srnd=premium-asia&leadSource=uverify%20wall

4. Indonesia considering buying Russian oil as fuel prices soar. (2022, September 12). Financial Times. Retrieved from https://www.ft.com/content/36ae2708-5d41-416e-b6dc-1df4c9b76e9f

5. EU wants price cap on Russian gas, energy companies to pay. (2022, September 6). AP. Retrieved from https://apnews.com/article/russia-ukraine-ursula-von-der-leyen-european-commission-f62bb32473db8e6b0750ac1c61fa5573

6. Le Pen blasts reverse effect of anti-Russia sanctions. (2022, July 11). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/558735-le-pen-reverse-sanctions-effect/

7. Putin thanks China's Xi for his 'balanced' stand on Ukraine. (2022, September 16). The Korea Times. Retrieved from https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2022/09/356_336279.html

8. Russia pockets US$158 billion in energy exports after war: Report. (2022, September 6). Channel News Asia. Retrieved from https://www.channelnewsasia.com/world/russia-energy-exports-158-billion-euros-ukraine-invasion-european-union-2922351

9. World Insights: 9 years on, Belt and Road cooperation builds up connectivity for global prosperity. (2022, September 14). Xinhua. Retrieved from https://english.news.cn/20220914/672bc9574beb436d9f33745aed6c3a9d/c.html

10. Untied Nations. (2022, September 20). THE SECRETARY-GENERAL-- ADDRESS TO THE GENERAL ASSEMBLY. Retrieved from https://gadebate.un.org/sites/default/files/gastatements/77/unsg_en.pdf

11. Xi, Putin meet at SCO summit, forging closer ties amid US-caused world turbulence. (2022, September 15). Global Times. Retrieved from https://www.globaltimes.cn/page/202209/1275348.shtml

12. Xi, Putin vow support for nations' core interests. (2022, September 16). China Daily. Retrieved from http://www.chinadaily.com.cn/a/202209/16/WS632366c4a310fd2b29e77e79_1.html

-----------------------