โลกกำลังตกอยู่ในอันตรายทุกประเทศต้องร่วมมือ

โลกกำลังเจอปัญหาใหญ่ นับวันยิ่งแบ่งแยก ความไม่เท่าเทียมขยายกว้าง ต้องปรับเปลี่ยนระบบการเงินโลกที่สร้างโดยประเทศร่ำรวย ต้นเหตุความไม่เท่าเทียม

            นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติแสดงสุนทรพจน์ในงานประชุมสมัชชาสหประชาชาติประจำปี 2022 มีสาระสำคัญดังนี้

            เลขาธิการสหประชาชาติขึ้นต้นด้วยการกล่าวสรุปว่า “โลกกำลังเจอปัญหาใหญ่ นับวันยิ่งแบ่งแยก ความไม่เท่าเทียมขยายกว้าง ความท้าทายแผ่ขยายออกไป” แต่เมื่อนานาชาติมาประชุมร่วมกันภาพแห่งความหวังและคำมั่นสัญญาก็ปรากฏในใจ เปรียบเหมือนเรือลำใหญ่ที่จำต้องร่วมมือกันจึงจะสำเร็จ เหมือนที่บรรทุกข้าวสาลียูเครนไปส่งแก่ผู้อดอยากหลายล้านคนที่แอฟริกาตะวันออกเฉียงเหนือ (Horn of Africa) เรือต้องแล่นผ่านพื้นที่สู้รบ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันนำเรือออกจากพื้นที่ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำอาหารกับปุ๋ยออกจากยูเครนและรัสเซียต่อไป บรรเทาทุกข์คนจำนวนมาก ลดแรงกดดันต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ เรื่องนี้ไม่ใช่การอัศจรรย์แต่มาจากการทูตหลายระดับ ที่สำคัญคือไม่ใช่ได้แค่อาหารแต่เป็น “ความหวัง” (Hope)

            เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า “เราต้องการความหวัง ต้องการมากขึ้น ต้องลงมือทำ” เพื่อคลายวิกฤตอาหารโลก ขอย้ำเตือนให้ทราบว่าตอนนี้ตลาดปุ๋ยกำลังมีปัญหา ปีนี้โลกมีอาหารเพียงพอ ปัญหาอยู่ที่การกระจายสินค้า แต่หากตลาดปุ๋ยไม่เสถียรปีหน้าจะมีปัญหาอุปทานอาหารแน่นอน มีรายงานหลายชิ้นจากแอฟริกาตะวันตกและที่อื่นว่าการเพาะปลูกลดลงเพราะปุ๋ยแพงและหายาก

            ตอนนี้ยังต้องขจัดอุปสรรคที่ขวางการส่งออกปุ๋ย ธัญพืชและแอมโมเนียรัสเซีย [ใช้ผลิตปุ๋ยผู้เขียนบทความ] สิ่งเหล่านี้ไม่อยู่ในรายการ [ที่รัฐบาลสหรัฐกับพวก] คว่ำบาตร แต่ที่ส่งออกมีปัญหาเพราะผลที่เกิดโดยอ้อม

            อีกประเด็นสำคัญคือก๊าซแพงสัมพันธ์กับการผลิตปุ๋ยไนโตรเจน [สามารถนำก๊าซธรรมชาติไปผลิตปุ๋ยเคมี] สินค้าเหล่านี้ไม่อยู่ในรายการคว่ำบาตรเช่นกัน ถ้าไม่ลงมือแก้ไขตอนนี้โลกจะขาดแคลนปุ๋ยในที่สุดอาหารจะไม่พอ

            เราต้องไม่อยู่กับภาพลวงตา ค่าครองชีพกำลังเข้าสู่วิกฤต (cost-of-living crisis) ความไว้เนื้อเชื่อใจป่นปี้ ความไม่เท่าเทียมแผ่กว้าง ดาวเคราะห์โลกกำลังไหม้ ประชาชนทุกข์ยาก กฎบัตรสหประชาชาติและแนวคิดที่เกี่ยวข้องตกอยู่ในอันตราย หน้าที่ของเราคือต้องลงมือแก้แต่ติดเงื่อนปมที่แก้ไม่ได้จากระบบ ประชาคมโลกยังไม่พร้อมหรือไม่ยินดีจัดการปัญหาใหญ่

            วิกฤตเหล่านี้คุกคามอนาคตมนุษยชาติและทุกชีวิตบนโลกนี้ การสู้รบในยูเครน ความขัดแย้งในหลายพื้นที่ทั่วโลก ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ (climate emergency) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ สถานการณ์การเงินที่เลวร้ายในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ที่ไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จ เทคโนโลยีหรือความก้าวหน้าบางอย่างที่มีโอกาสเป็นอันตราย เช่น Neurotechnology Cryptocurrencies

            สื่อโซเชียลมีเดียบางแพลตฟอร์มที่ทำกำไรจากความก้าวร้าวรุนแรง นำความเสียหายแก่สังคม เป็นแหล่งแห่งความจงเกลียดจงชัง Hate speech ปล่อยข้อมูลบิดเบือน มุ่งเอาประโยชน์จากผู้หญิงและคนบางกลุ่ม เรื่องทำนองนี้กำลังขยายตัว

            ข้อมูลส่วนตัวของเราถูกนำไปขาย มี spyware ที่แอบสอดส่องพวกเราจำนวนมากและคุมไม่ได้ ความเป็นส่วนตัวจึงไม่เหลือ ปัญญาประดิษฐ์ลดทอนความซื่อสัตย์ของระบบข้อมูล ลดทอนความน่าเชื่อถือของสื่อและบั่นทอนประชาธิปไตย Quantum computing อาจทำลายความมั่นคงทางไซเบอร์และทำลายอีกหลายระบบ ณ ตอนนี้โลกยังไม่มีระบบที่จะจัดการกับสิ่งเหล่านี้เลย

            โลกกำลังถูกแบ่งแยกทางภูมิศาสตร์การเมือง บั่นทอนคณะมนตรีความมั่นคง บั่นทอนกฎหมายระหว่างประเทศและความร่วมมือนานาชาติ เราจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไม่ได้ ไม่มีใครหรือกลุ่มใดสามารถตัดสินชี้ขาด ปัญหาท้าทายเรื่องใหญ่ๆ ต้องร่วมกันแก้ไขด้วยความเต็มใจ ทุกประเทศจำต้องร่วมมือกัน

            ด้านแรกที่ต้องร่วมมือคือให้อยู่อย่างสันติ การรบที่ยูเครนทำให้หลายล้านคนต้องอพยพออกจากประเทศ นับพันล้านคนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสมรภูมินี้ เราเห็นอันตรายของการแบ่งแยกระหว่างกลุ่มชาติตะวันตกกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จำต้องรักษาสันติภาพตามกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ

            เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่าแท้จริงแล้ววิกฤตมนุษยชาติรุนแรงและขยายตัวแต่มักไม่เป็นที่สนใจ ปีนี้เงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโลก (Global Humanitarian Appeal) ขาดถึง 32,000 ล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ บางประเทศเกิดเหตุวุ่นวายหนัก เศรษฐกิจอัฟกานิสถานเสื่อมทราม คนแอฟกันกว่าครึ่งแทบไม่มีจะกิน สิทธิสตรีกับเด็กหญิงถูกเหยียบย่ำ กองกำลังติดอาวุธแถบตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกกำลังทำร้ายประชาชน กลุ่มแก๊งค์ที่เฮติ (Haiti) ทำลายเมืองทุกพื้นที่ ลิเบียกับอิรักยังไม่สงบ ความขัดแย้งอิสราเอลกับปาเลสไตน์ดำเนินต่อไป สิทธิมนุษยชนและสภาพสังคมเมียนมาเลวร้ายลง ฯลฯ อย่างไรก็ตามสถานการณ์บางประเทศดีขึ้น เช่น เยเมน โคลอมเบีย

            ต้องสร้างกลไกพูดคุยเพื่อรักษาเยียวยาการแบ่งแยก ใช้การทูตทุกช่องทางเพื่อแก้ข้อพิพาทด้วยสันติ ส่งเสริมบทบาทผู้นำสตรี เน้นการป้องกันมากกว่าแก้ปลายเหตุ

            วิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นอีกประเด็นสำคัญ รัฐบาลทุกประเทศหลายองค์กรต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ภายในปี 2030 ต้องลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 45% และหวังว่าจะเหลือศูนย์ในภายปี 2050 โลกกำลังรับผลกระทบเช่นยุโรปเจอคลื่นความร้อนจัด แผ่นดินจีนแห้งแล้งเป็นวงกว้าง การกันดารอาหารในแอฟริกาตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ร้อนที่สุดในฤดูร้อนอาจเป็นวันที่หนาวสุดขีดในอนาคต สภาพภูมิอากาศปั่นป่วนรุนแรงที่นานปีจะพบสักครั้งอาจกลายเป็นเกิดทุกปี ที่น่าคิดคือ 80% ของก๊าซเรือนกระจกมาจากประเทศกลุ่ม G20 แต่ประเทศยากจนที่สุดปล่อยก๊าซน้อยที่สุดกลับเป็นผู้รับผลกระทบรุนแรงสุด

            ในขณะนี้อุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลยังได้รับเงินอุดหนุนปีละหลายแสนล้านดอลลาร์ จำต้องเข้าแทรกแซงหากโลกยังชอบใช้พลังงานฟอสซิล ต้องให้บริษัทเชื้อเพลิงพวกนี้รับผิดชอบ รวมทั้งธนาคาร private equity ผู้จัดการหลักทรัพย์ สถาบันการเงินอื่นๆ ที่ยังคงลงทุนและสร้างมลภาวะ ต้องแก้ความเข้าใจผิด ข้อมูลผิดๆ เหมือนอุตสาหกรรมยาสูบในหลายทศวรรษก่อนที่ทำให้สังคมรับข้อมูลไม่ตรงความจริง คนสร้างมลภาวะต้องจ่ายเงินแก้ไขมลภาวะ เริ่มจากบริษัทกิจการน้ำมันเชื้อเพลิง เงินที่ได้แบ่งเป็น 2 ส่วน กระจายให้กับผู้รับผลกระทบกับคนที่อดอยากยากจนเพราะราคาอาหารกับพลังงานที่ถีบตัวสูง

            รัฐบาลทั่วโลกจำต้องยกระดับเป้าหมายแก้ภาวะโลกร้อนให้สูงกว่าที่เป็นอยู่ ลงทุนเพื่อการแก้ปัญหามุ่งสู่เศรษฐกิจที่เติบโตยั่งยืน ต้องทำ 3 ข้อ 1) ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อันจะเพิ่มการจ้างงาน 3 เท่า ต้นทุนปัจจุบันถูกกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน ราคาไม่ปรวนแปร ประเทศพัฒนาแล้วช่วยประเทศกำลังพัฒนาให้หันมาใช้พลังงานหมุนเวียน 2) ช่วยเหลือประเทศต่างๆ ปรับตัวเพื่อเผชิญปัญหาการเปลี่ยนภูมิอากาศ ลงทุนพัฒนาประเทศจนถึงให้การอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นเป็นระบบระเบียบ 3) รายงานความสูญเสียจากภัยธรรมชาติ

            วิกฤตสภาพภูมิอากาศกำลังซ้ำเติมอากาศแปรปรวน 94 ประเทศครอบคลุมประชากร 1,600 ล้านคนต้องเผชิญมหันตภัย คือ เผชิญภัยจากเศรษฐกิจสังคมอันเนื่องจากโรคระบาด อาหารกับพลังงานแพงลิบลิ่ว ทั้งๆ ที่ติดหนี้สินมากอยู่แล้ว เงินเฟ้อรุนแรง ไม่อาจเข้าถึงแหล่งทุน [ก่อนหน้าโรคระบาดโควิด-19 เศรษฐกิจหลายประเทศอ่อนแออยู่แล้ว โรคระบาดและปัญหาเงินเฟ้อในขณะนี้ซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม] หลายประเทศถึงขั้นสังคมวุ่นวาย เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนส่อแววล้มเหลว แผนช่วยเหลือคนยากไร้คนหิวโหยและช่วยเหลือการศึกษากำลังจะพัง คนยากจนเพิ่มมากขึ้น คนหิวโหยอดยากเพิ่มมากขึ้น ดูแลรักษาสุขภาพน้อยลง การศึกษาลดลง ความไม่เท่าเทียมทางเพศขยายตัวเพราะยากความจน

            โดยรวมแล้วประเทศกำลังพัฒนากำลังโดนเล่นงานทุกด้าน ในตอนนี้กลุ่มประเทศ G-20 ต้องเร่งสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภาคสถาบันการเงินต้องให้ความช่วยเหลือ ลดข้อกำจัดการกู้ยืม ที่ผ่านมาหลายประเทศไม่สามารถกู้ยืมเพราะเหตุนี้ ต้องปรับโครงสร้างหนี้ (debt relief) ที่หลายคนไม่เพียงจมน้ำแต่จมอยู่ในหนี้สินด้วย ต้องเพิ่มสภาพคล่อง รัฐบาลทุกประเทศเร่งส่งเสริมกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund)

            ท้ายที่สุด ต้องปรับเปลี่ยนระบบการเงินโลกที่สร้างโดยประเทศที่ร่ำรวยและเป็นผู้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากระบบการเงินโลก ต้นเหตุความไม่เท่าเทียม นับวันประเทศพัฒนากับกำลังพัฒนาจะแตกต่างมากขึ้น ไม่ไว้วางใจต่อกัน ไม่อยากร่วมมือกัน จำต้องแสวงหาทางออกร่วมกัน บนพื้นฐานความปรารถนาดี ร่วมมือกันภายใต้สหประชาชาติ

25 กันยายน 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9447 วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2565)
---------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
โลกต้องชื่นชมเศรษฐีผู้สร้างความร่ำรวยเพื่อมุ่งช่วยเหลือสังคมให้เป็นอารยะ ไม่ส่งเสริมยกย่องเศรษฐีที่ไม่ดูแลสังคมอย่างจริงจัง ยึดหลัก “เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข” อยากเห็นผู้อื่นมีความสุขเหมือนตนเอง
ไม่ควรเป็นคำถามอีกแล้วว่าการทำลายสิ่งแวดล้อม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นผลร้ายหรือไม่ คำถามที่ควรถามคือจะจัดการแก้ไขอย่างไร และเร่งลงมือก่อนจะเสียหายหนักกว่านี้
บรรณานุกรม :

Untied Nations. (2022, September 20). THE SECRETARY-GENERAL-- ADDRESS TO THE GENERAL ASSEMBLY. Retrieved from https://gadebate.un.org/sites/default/files/gastatements/77/unsg_en.pdf