UN Climate Action ร่วมต้านภาวะโลกร้อน

ไม่ควรเป็นคำถามอีกแล้วว่าการทำลายสิ่งแวดล้อม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นผลร้ายหรือไม่ คำถามที่ควรถามคือจะจัดการแก้ไขอย่างไร และเร่งลงมือก่อนจะเสียหายหนักกว่านี้
            ที่ประชุม UN Climate Action ระบุปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่โลกปล่อยยังคงเพิ่มสูงขึ้นและไม่มีทีท่าจะลดลง ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา (2016-2019) อุณหภูมิโลกร้อนทะลุสถิติถึง 4 ครั้ง เฉพาะที่แถบขั้วโลกเหนือเพิ่มขึ้น 3 องศาเซลเซียลเมื่อเทียบกับปี 1990 ระดับน้ำทะเลกำลังเพิ่มสูงขึ้น ปะการังกำลังตาย การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศคุกคามชีวิตมนุษย์มากขึ้นทุกที มีผลต่อสุขภาพ ทั้งจากมลพิษอากาศ คลื่นความร้อน เสี่ยงต่อความมั่นคงทางอาหาร เหล่านี้เป็นสัญญาณโลกร้อนที่ทุกคนรู้สึกได้
            ในระดับกว้างบั่นทอนเศรษฐกิจประเทศและจะแรงมากขึ้น กระทบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ ในขณะเดียวกันกระตุ้นให้สังคมตระหนัก ช่วยกันแก้ไข
            หวังว่าทุกคนทั่วโลกทุกประเทศจะร่วมมือกัน ตั้งเป้าในเวลาไม่เกิน 12 ปี ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มอีก 2 องศาหรือต่ำกว่านั้น ซึ่งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization หรือ WMO) วิเคราะห์ว่าภายในศตวรรษนี้อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นอีก 3-5 องศาเซลเซียส
            ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ยังเป็นแนวทางหลักที่ยึดถือ ทั้งนี้ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามข้อตกลง
            เป้าหมายการประชุมปีนี้ (2019) แต่ละประเทศจะต้องเสนอแผนปฏิบัติการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อยร้อยละ 45 ใน 10 ข้างหน้า และให้ตัวเลขสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 (ตัวเลขสุทธิคือมีการปล่อยและลดก๊าซเรือนกระจกแต่รวมแล้วเป็นศูนย์)
            รายงานล่าสุดจากสถาบัน “ประเมินภูมิอากาศแห่งชาติ” (National Climate Assessment) อันเป็นผลงานร่วมของหน่วยงานภาครัฐสหรัฐหลายหน่วยชี้ว่าภาวะอากาศโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต้นเหตุมาจากฝีมือมนุษย์ ผลจากภาวะโลกร้อนกระทบถึงสหรัฐแล้วและรุนแรงชัดเจนยิ่งขึ้น มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพ ภาวะเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร (ยกตัวอย่าง ผลผลิตการเกษตรลดลงเนื่องจากอากาศร้อนขึ้น เช่น ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วเหลือง) ระบบธรรมชาติเปลี่ยนไป
            คนจน ผู้มีรายได้น้อยจะเห็นผลกระทบร้ายแรงก่อน
เสียงจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ :
            ในการสัมมนาแก้ปัญหาโลกร้อนเอ่ยถึงความสำคัญของเยาวชนคนรุ่นใหม่ใน 2-3 ประเด็น นั่นคือการตัดสินใจใดๆ จะต้องคำนึงอนาคตของผู้มีชีวิตในอีกหลายสิบปีข้างหน้า ต้องฟังเสียงของเยาวชน และต้องให้พวกเขามีส่วนร่วมในทุกมิติ
            การชุมนุมปีนี้เด็กเยาวชนทั่วโลกกว่า 4 ล้านคนร่วมรณรงค์แก้ปัญหาภาวะโลกร้อน สนับสนุนการรณรงค์ของสาวน้อยเกรตา ธันเบิร์ก ผู้เป็นแรงบันดาลใจ หลายคนทำป้ายรณรงค์ของตัวเอง บางคนชูคำขวัญ “Make The Earth Great Again.
            กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านภาวะโลกร้อนเรียกร้องให้ผู้นำประเทศต่างๆ ยอมรับว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องเร่งด่วนฉุกเฉิน จะมีประโยชน์อะไรเมื่อผู้ใหญ่สอนเราให้เป็นคนดีมีความรับผิดชอบแต่กลับเป็นผู้ทิ้งปัญหาแก่คนรุ่งหลัง ต้องลงมือแก้ไขจริงจัง ไม่ใช่ดีแต่พูด
            พวกเขาคนรุ่นหลังต้องเป็นผู้แบกรับความทุกข์บนความสะดวกสบายขาดความรับผิดชอบของผู้ใหญ่ในรุ่นนี้ พวกเขามีสิทธิที่จะเรียกร้องขออนาคตที่สดใสกว่านี้
            บางคนเอ่ยถึงผลร้ายที่ไม่ได้มาจากประเทศตัวเอง เนื่องจากประเทศตนปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย
ต้องใช้ความพยายามเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว :
            ข้อเรียกร้องดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานของสหประชาชาติที่นำเสนอว่าหากต้องการบรรลุเป้าหมายไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นอีก 1.5-2 องศาเซลเซียล จะต้องรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากกว่าที่ทำอยู่อย่างน้อย 3 เท่าตัว
            ประเด็นจึงไม่อยู่ที่ไม่ทำเลยแต่อยู่ที่ทำน้อยเกินไป หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปอีก 10 ปีจะเห็นหายนะจากภาวะโลกร้อน
            รายงานล่าสุดของ Global Commission on Adaptation เตือนว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกประเทศต้องตัดสินใจว่าเลือกที่จะลงทุนป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ หรือเลือกที่จะไม่ลงมือตอนนี้แต่รับผลกระทบรุนแรงในอนาคตและจะเสียโอกาสครั้งสำคัญ เช่น หากไม่ลงมือแก้ไข ปี 2030 ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะมีคนยากจนเพิ่มขึ้น 100 ล้านคน
            ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม ตั้งแต่รัฐบาล เอกชน กลุ่มประชาสังคม หน่วยงานท้องถิ่นจนถึงองค์กรระหว่างประเทศ หารือใน 6 หมวด ได้แก่ การใช้พลังงานทดทน โครงสร้างพื้นฐานกับเมืองที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น การเกษตรยั่งยืน การจัดการป่าและทะเล การฟื้นฟูผลกระทบ และปรับงบประมาณสู่เศรษฐกิจใหม่
มุมมองด้านบวก :
            ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีใหม่ให้ความหวังแก้ปัญหาได้ไม่น้อย เช่น พลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนที่ต้นทุนต่ำลงเรื่อยๆ ต่ำกว่าน้ำมันเชื้อเพลิง รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นที่นิยมมากขึ้น
            อันที่จริงแล้ว การลดก๊าซเรือนกระจกสามารถทำได้หากผู้เกี่ยวข้องกล้าตัดสินใจ
บริษัทยักษ์ใหญ่เกือบร้อยแห่งทั่วโลกประกาศร่วมลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก หลายบริษัททั่วโลกประกาศแล้วว่าจะให้ตัวเลขสุทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 บางบริษัทประกาศเป้าตามข้อตกลงปารีส
            ความร่วมมือจากบรรดาบริษัทเอกชนเป็นนิมิตหมายอันดี การเคลื่อนไหวของเอกชนจะส่งเสริมเพิ่มความร่วมมือจากประชาชน ทำนองเดียวกับที่นโยบายรัฐบาลกับการตื่นรู้ของประชาชนผลักดันให้อีกฝ่ายต้องเร่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ไม่ใช่พวกโลกสวย แต่มองโลกตามความจริง :
            ความท้าทายมีหลายเรื่องโดยเฉพาะความร่วมมือจากรัฐบาลประเทศต่างๆ เอกชนและประชาชน
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวว่า “ผมไม่เชื่อ” รายงานวิจัยทั้งของในและต่างประเทศที่ชี้ว่าภาวะโลกร้อนกำลังเป็นภัยร้ายแรงต่ออเมริกา ภายใต้ระบบการเมืองอเมริกาประธานาธิบดีเพียงคนเดียวสามารถบดบังทุกผลการวิจัย ยังคงเดินหน้าต่อต้านข้อตกลงปารีส ถอนกฎระเบียบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายฉบับที่ใช้ในสมัยรัฐบาลโอบามา
            รัฐบาลทรัมป์ได้ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส 2015 (2015 Paris Climate Accord) ด้วยเหตุผลว่าประโยชน์ที่ได้จากการแก้ไขภาวะโลกร้อนน้อยกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ต้องสูญเสียหากปฏิบัติตามข้อตกลง
            ประเด็นน่าคิดคือที่อ้างว่าผลประโยชน์ที่ได้น้อยกว่าราคาทางเศรษฐกิจที่ต้องจ่ายนั้นรัฐบาลทรัมป์ได้ศึกษาและมีข้อสรุปเช่นนั้นจริงหรือไม่ เพราะรายงานจากสถาบัน ประเมินภูมิอากาศแห่งชาติของสหรัฐประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจไว้มหาศาล อีกทั้งเป็นการมุ่งผลประโยชน์อย่างคนสายตาสั้นหรือไม่ เพราะผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจะร้ายแรงมากในอนาคต มีวาระซ่อนเร้นหรือไม่
            รัฐบาลทรัมป์เป็นเพียงตัวอย่างที่นำมาเอ่ยถึง ความจริงแล้วอีกหลายสิบประเทศทั่วโลกเป็นเช่นนี้
            ในระดับประชาชน หลายคนตระหนักปัญหาแต่ไม่คิดจ่ายราคาเพื่อแก้ปัญหา สิ่งนี้เกิดขึ้นกับชาวตะวันตกในประเทศประชาธิปไตยด้วย ผู้คนจำนวนมากไม่อยากเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตที่คุ้นเคย
            ถ้ายึดระบอบเสรีประชาธิปไตย หากจะโทษรัฐบาลก็ไม่ถูกนักถ้าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ความสุขเฉพาะหน้าต้องมาก่อนหรือที่เป็นอยู่แทบจะแบกรับไม่ไหวอยู่แล้ว
            ความร่วมมือจากประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ มีผลต่อนโยบายจากภาครัฐหรือเอกชน นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าการผลักดันที่แรงเกินอาจเกิดปฏิกิริยาย้อนกลับ
            เสรีภาพอาจเป็นเหตุทำลายล้ายตัวเองถ้าปราศจากการยึดถือหลักการที่สร้างความยั่งยืน
            จะว่าไปแล้วรัฐบาลทรัมป์อาจมีเหตุผลคล้ายกับพวกผู้ที่ไม่อยากจ่ายราคา หรืออาจมีเหตุผลความจำเป็นของตนเอง เป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงต่อไป
            การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก (global climate change) หรือภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการรณรงค์เรื่อยมาแต่ความพยายามไม่มากพอ โลกจึงร้อนขึ้นอีก มีหลักฐานปรากฏหลายประเทศที่อุณหภูมิร้อนทำลายสถิติ ประเทศในซีกโลกเหนือที่มักหนาวกลับเป็นร้อนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บางพื้นที่แล้งจัดบางพื้นที่ท่วมหนัก ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทุกที พื้นผิวแผ่นดินหดหาย บางประเทศที่เป็นเกาะจะจมบาดาลในที่สุด โรคเกี่ยวกับพืชสัตว์และคนบางชนิดกำลังสร้างปัญหา เช่น โรคที่มากับยุง ผลกระทบเหล่านี้เป็นผลสะท้อนคอยทิ่มแทงบอกพลเมืองโลกว่าปัญหารุนแรงเพียงไร ยิ่งทำลายสิ่งแวดล้อมปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นผลสะท้อนยิ่งทวีความรุนแรง นำสู่คำถามว่าควรจัดการอย่างไร อาจเป็นเหตุให้มนุษย์ใกล้ชิดโลกมากขึ้น มนุษย์ด้วยกันใกล้ชิดกันมากขึ้นร่วมมือกันมากขึ้น เพราะอยู่ในโลกใบเดียวกัน
            การเอ่ยถึงปัญหาโลกร้อนแต่ละครั้งเป็นโอกาสให้แต่ละคนทบทวนตัวเองว่ามีส่วนร่วมช่วยกันทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นหรือไม่
29 กันยายน 2019
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์
สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 8358 วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ.2562)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
ทุกวันนี้ประชากรโลกกว่า 800 ล้านคนหิวโหยอดยาก และการกินอิ่มอาจหมายถึงการกินของทำลายสุขภาพจนอิ่ม เนื่องจากอาหารด้อยคุณภาพหรือกินสิ่งที่ไม่ควรเรียกว่าอาหาร เป็นความท้าทายของโลก
City Carshare” หวังสร้างชุมชนต้นแบบที่คนใช้รถร่วมกัน ช่วยลดรายจ่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากความตั้งใจของคนไม่กี่คนกลายเป็นองค์กรใหญ่ บริหารแบบมืออาชีพ ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพ กำไรขาดุทน ความสำเร็จของ “City Carshare” เป็นแบบอย่างแก่องค์กรภาคประชาชนอื่น สร้างประโยชน์แก่สังคมและให้ข้อคิดแก่ผู้ประสงค์ทำงานเพื่อสังคม
บรรณานุกรม :
1. 5-year period ending 2019 on pace to be hottest on record: UN. (2019, September 22). Deutsche Welle. Retrieved from https://www.dw.com/en/5-year-period-ending-2019-on-pace-to-be-hottest-on-record-un/a-50539624
2. Big firms commit to slash emissions ahead of summit. (2019, September 23). Taipei Times. Retrieved from http://www.taipeitimes.com/News/front/archives/2019/09/23/2003722755
3. Donald Trump buried a climate change report because 'I don't believe it'. (2018, November 26). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2018/11/26/politics/donald-trump-climate-change/index.html
4. In New York, global climate protesters plead for action. (2019, September 23). Deutsche Welle. Retrieved from https://www.dw.com/en/in-new-york-global-climate-protesters-plead-for-action/a-50542530
5. Major government climate change report contradicts Trump and warns of devastating economic and health impact. (2018, November 23). The Independent. Retrieved from https://www.independent.co.uk/environment/trump-climate-change-economic-health-effects-impact-government-report-warning-a8649371.html
6. Major Trump administration climate report says damage is ‘intensifying across the country’. (2018, November 23). The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/energy-environment/2018/11/23/major-trump-administration-climate-report-says-damages-are-intensifying-across-country/?noredirect=on&utm_term=.6046cbe21497
7. 'Millions' protest in youth-led global climate strike. (2019, September 21). AFP. Retrieved from https://www.afp.com/en/news/3954/millions-protest-youth-led-global-climate-strike-doc-1kg0yf7
8. Temperatures could hit 40°C in some parts of Malaysia, expert warns. (2019, February 27). Free Malaysia Today. Retrieved from https://www.freemalaysiatoday.com/category/nation/2019/02/27/temperatures-could-hit-40c-in-some-parts-of-malaysia-expert-warns/
9. The Challenge of Climate Change in a Democracy. (2019, September 20). Spiegel Online. Retrieved from https://www.spiegel.de/international/europe/the-challenge-of-climate-change-in-a-democracy-editorial-a-1287797.html
10. United Nation. (2019). UN Climate Action Summit 2019. Retrieved from https://www.un.org/en/climatechange/un-climate-summit-2019.shtml
11. U.S. impacts of climate change are intensifying, federal report says. (2018, November 23). USA Today. Retrieved from https://www.usatoday.com/story/news/nation/2018/11/23/climate-change-intensifying-economy-impacted-federal-report-finds/2093291002/
12. World must adapt to 'inevitable' climate change, warns report. (2019, September 10). AFP. Retrieved from https://www.afp.com/en/news/3954/world-must-adapt-inevitable-climate-change-warns-report-doc-1k57nb2
-----------------------------
Markus Spiske