ซาอุฯ กับสหรัฐผู้นำ 2 โลกในโลกใบเดียวกัน

รัฐบาลซาอุฯ กับสหรัฐมีเป้าหมายของตนเอง ขัดแย้งกันในอุดมการณ์หรือหลักยึด ยิ่งสหรัฐต้องการขยายอำนาจอิทธิพลครอบงำ ฝ่ายซาอุฯ ย่อมต้องตอบโต้ตามหลักคำสอนอิสลาม

          ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับสหรัฐมีเอกลักษณ์เฉพาะถ้ามองจากมุมความเป็นผู้นำในโลกของตนเอง

นโยบายความเป็นเจ้า :

        เป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลสหรัฐยึดถือตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือสหรัฐครองความเป็นเจ้า (U.S. hegemony) อาจใช้คำอื่นๆ เช่น ผู้รักษาระเบียบโลก โดยรวมคือสหรัฐมีอิทธิพลเหนือชาติอื่นๆ และไม่ปรารถนาเห็นประเทศอื่นๆ ขึ้นมาแข่งบารมี

บางครั้งพูดชัดเจน เช่น ค.ศ.1991 เมื่อสิ้นสหภาพโซเวียต ประธานาธิบดี George H. W. Bush ประกาศว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก้าวเข้าสู่ระเบียบโลกใหม่ (new world order) หลักยึดใหม่ของกระทรวงกลาโหมที่ว่า ประเทศ/ตัวแสดงใดที่มีศักยภาพเป็นภัยคุกคามถือว่าเป็นปรปักษ์

        ภายใต้นิยามดังกล่าวสามารถระบุปรปักษ์ของรัฐบาลสหรัฐได้ทันที

        มิถุนายน 2022 วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ผู้นำรัสเซียกล่าวว่านับจากสิ้นสงครามเย็นสหรัฐกลายเป็นอภิมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียว พวกชนชั้นนำตะวันตกคิดว่าพวกเขาควบคุมได้ คิดว่าระบบโลกที่ตะวันตกเป็นผู้ควบคุมจะคงอยู่ต่อไป พยายามควบคุมประเทศอื่นๆ แต่ถูกท้าทายเมื่อบางประเทศพัฒนาเติบใหญ่ขึ้นมา

        ด้านมุมมองของคนอเมริกัน ผลสำรวจของ YouGov เมื่อต้นปี 2021 ระบุว่าคนอเมริกันที่ภาคภูมิใจประเทศมักให้เหตุผลว่าเป็นเพราะสหรัฐเป็นประเทศที่มีเสรีภาพ ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นผู้นำในเวทีโลก

        แนวคิดสหรัฐเป็นผู้นำโลกหรือเป็นผู้นำโลกเสรีเป็นที่รับรู้กันทั่วไปไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม

ผู้นำโลกมุสลิม :

        นานมาแล้วที่ทางการซาอุฯ ประกาศว่าตนเป็นผู้นำกลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกลาง เป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ของโลกอาหรับ

        นับจากปี 1986 เป็นต้นมากษัตริย์ซาอุฯ จะเรียกตนว่า “ผู้พิทักษ์แห่งสองมัสยิดศักดิ์สิทธิ์” (Custodian of the Two Holy Mosques) ระบุทบาทของพระองค์ในฐานะผู้นำมุสลิมและไม่ใช่ผู้นำมุสลิมซาอุฯ เท่านั้นแต่เป็นผู้นำมุสลิมโลก

        มีนาคม 2022 คำพูดของมกุฎราชกุมาร มุฮัมมัด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) สรุปได้ความว่าซาอุฯ จะปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ตามแนวทางอิสลาม คงอยู่คู่อิสลาม ยึดมั่นหลักศาสนาอย่างถูกต้องไม่บิดเบือน กำลังพัฒนาให้ทันสมัยและมีบทบาทในโลกมุสลิมต่อไป

ประเด็นจากจุดยืนที่แตกต่างของผู้นำ 2 โลก :

       ประการแรก จะยอมให้อิสลามอยู่ใต้อำนาจรัฐบาลสหรัฐได้อย่างไร

        ด้วยเหตุผลความเป็นผู้นำโลกมุสลิม ถ้าวิเคราะห์ในเชิงหลักการรัฐบาลซาอุฯ ไม่อาจประกาศว่าตน อยู่ใต้อำนาจรัฐบาลสหรัฐ ได้แค่ร่วมมือกันในบางข้อที่ไม่ขัดคำสอนศาสนา

       ประการที่ 2 ละเมิดสิทธิมนุษยชนคือละเมิดอิสลามหรือไม่

        ถ้าหากรัฐบาลสหรัฐชี้ว่าซาอุฯ ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน ไม่น่าจะเป็นพฤติกรรมที่ขัดแย้งกับคำสอนศาสนา เพราะรัฐบาลซาอุฯ เป็นตัวแทนผู้ยึดมั่นอิสลามอยู่แล้ว (ไม่นับกรณีการทำผิดส่วนบุคคล)

        แต่มีข้อที่ชาติตะวันตกตีความว่าสังคมซาอุฯ ละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นข้อกล่าวหาที่แท้จริงแล้วเป็นการปฏิบัติตามคำสอนศาสนา รัฐบาลซาอุฯ ในฐานะผู้พิทักษ์อิสลามย่อมต้องต่อต้านนโยบายสิทธิมนุษยชนของชาติตะวันตก จึงเป็นความขัดแย้งของผู้นำ 2 โลกที่ยากจะบรรจบกัน

        ธันวาคม 2021 ในงานประชุมสุดยอดประชาธิปไตยครั้งแรก (Summit for Democracy) ประธานาธิบดีโจ ไบเดนประกาศชัดว่าจะสนับสนุนประชาธิปไตยทั่วโลก สนับสนุนนักปฏิรูปประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนสากล ตั้งงบประมาณช่วยเหลือนักปฏิรูปในประเทศต่างๆ คำถามคือรัฐบาลไบเดนจะอ้างเหตุผลใดก็ได้ การส่งเสริมกลุ่มเคลื่อนไหวในประเทศต่างๆ (ในกรณีนี้คือซาอุฯ) เท่ากับกำลังบ่อนทำลายอิสลามหรือไม่ นี่คือคำถามใหญ่ที่จะไม่มีวันหายไป ไม่ว่ารัฐบาลสหรัฐจะพูดถึงอย่างเจาะจงหรือไม่ก็ตาม

มุมความร่วมมือ :

        แม้มีความขัดแย้งแต่มีความร่วมมือที่ชัดเจน ที่สำคัญคือ

       ประการแรก ต่อต้านอิหร่าน

        การที่รัฐบาลซาอุฯ ถืออิหร่านเป็นภัยคุกคามสำคัญเช่นเดียวกับที่รัฐบาลสหรัฐยึดถือ เป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้นำ 2 โลกร่วมมือกัน ซาอุฯ หวังพึ่งพลังอำนาจทางทหาร พลังการคว่ำบาตรของสหรัฐเช่นเดียวกับที่สหรัฐหวังความร่วมมือจากบรรดาประเทศในตะวันออกกลาง

       ประการที่ 2 ความมั่นคงกับกองทัพ

มกุฎราชกุมาร มุฮัมมัด บิน ซัลมาน กล่าวในวาระไบเดนเยือนซาอุฯ เมื่อไม่กี่วันก่อนว่าสหรัฐยึดมั่นข้อตกลงความมั่นคงของอ่าวเปอร์เซียกับซาอุดิอาระเบีย (เป็นข้อตกลงตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) เมื่อกุมภาพันธ์ 1945 สองฝ่ายตกลงกันว่าสหรัฐะได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์น้ำมันซาอุฯ แลกกับการที่สหรัฐจะปกป้องราชวงศ์ซาอุฯ จากภัยคุกคาม)

        เรื่องอาวุธเป็นตัวอย่างรูปธรรม ทุกปีซาอุฯ ซื้ออาวุธสหรัฐด้วยเงินมหาศาล ข้อมูลจาก SIPRI ระบุว่าช่วงปี 2016-2020 สหรัฐส่งออกมาอาวุธมากที่สุดในโลก มีซาอุฯ เป็นลูกค้ารายใหญ่อันดับแรก ประเทศนี้ประเทศเดียวนำเข้า 24 % ของอาวุธที่สหรัฐส่งออกทั้งหมด

        ทั้งข้อตกลงความมั่นคงกับความร่วมมือทางทหารเป็นหลักฐานชัดเจนว่าซาอุฯ พึ่งพาความมั่นคงจากสหรัฐ การนี้ยังไม่รวมกองทัพสหรัฐที่ประจำการในภูมิภาค กองเรือที่ 5 ที่อยู่ในย่านนี้ คงไม่เกินไปถ้าจะสรุปว่าถ้าพูดถึงความมั่นคงทางทหาร รัฐบาลซาอุฯ อิงแอบอยู่กับสหรัฐมาและเป็นเช่นนี้มานาน 8 ทศวรรษแล้ว รัฐบาลซาอุฯ มีแนวคิดปรับสมดุลนำเข้าอาวุธจากหลายประเทศรวมทั้งจีน แต่การปรับสมดุลไม่ง่ายและต้องใช้เวลาอีกนาน เรื่องนี้เป็นคำถามและคำตอบในตัวเอง

       ประการที่ 3 ความร่วมมือด้านพลังงาน

        อาจกล่าวว่าผลประโยชน์พลังงานฟอสซิสคือรากฐานความร่วมมือของ 2 ประเทศและช่วงนี้กำลังเป็นประเด็นสำคัญอีกรอบ ประธานาธิบดีไบเดนให้สัมภาษณ์ในขณะเยือนว่าตนได้ขอให้ซาอุฯ ผลิตน้ำมันป้อนตลาดมากขึ้น

        เป็นที่รู้กันทั่วไปว่ารัฐบาลสหรัฐแทรกแซงภูมิภาคตะวันออกกลางเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน ปกป้องอิสราเอล แม้ว่าปัจจุบันยึดนโยบายผลิตพลังงานใช้เอง (และส่งออกด้วย) แต่ราคาน้ำมันก๊าซธรรมชาติเป็นราคาตลาดโลก ความเป็นไปของตะวันออกกลางจึงมีบทบาทต่อราคาที่ส่งผลดีหรือร้ายต่อทุกประเทศทั่วโลก สามารถใช้น้ำมันเพื่อควบคุมเศรษฐกิจสังคมประเทศใดประเทศหนึ่ง เป็นยุทธศาสตร์ใช้น้ำมันควบคุมโลกของสหรัฐ ประเด็นอยู่ที่ว่ารัฐบาลซาอุฯ จะให้ความร่วมมือหรือไม่ ด้วยเหตุผลใด เป็นความห็นร่วมหรือจากแรงกดดันของสหรัฐ ซาอุฯ จำต้องยินยอมตามความต้องการของผู้นำโลกของอีกโลกหรือไม่

ซาอุฯ กับสหรัฐผู้นำ 2 โลกในโลกใบเดียวกัน :

        ทั้งรัฐบาลซาอุฯ กับสหรัฐมีเป้าหมายของตนเอง ขัดแย้งกันในอุดมการณ์หรือหลักยึด ยิ่งสหรัฐต้องการขยายอำนาจอิทธิพลครอบงำ ฝ่ายซาอุฯ ย่อมต้องตอบโต้ตามหลักคำสอนอิสลาม

        ประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นอีกกรณีตัวอย่างที่โดดเด่น เป็นความขัดแย้งของ 2 โลกระหว่างศาสนากับค่านิยมสากล (หลักสิทธิมนุษยชนสากลไม่อิงศาสนา)

        แต่ในความขัดแย้งกลับมีความร่วมมือแนบแน่นยาวนาน มกุฎราชกุมาร มุฮัมมัด บิน ซัลมาน กล่าวในโอกาสไบเดนเยือนซาอุฯ ว่าเป็นธรรมดาที่ประเทศต่างๆ จะยึดถือคุณค่าต่างกันและควรเคารพความแตกต่างของอีกฝ่าย ถ้ารัฐบาลสหรัฐต้องการติดต่อกับประเทศที่คิดเห็นตรงกันร้อยเปอร์เซ็นต์ก็อาจจะเหลือแค่นาโตเท่านั้น ซาอุฯ กับสหรัฐจะอยู่ร่วมกันทั้งๆ ที่ทั้งคู่แตกต่างกัน

17 กรกฎาคม 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9377 วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2565)

---------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
ในที่ประชุม “Arab Islamic American Summit” ประธานาธิบดีทรัมป์แสดงท่าทีเป็นมิตรกับรัฐบาลซาอุฯ ท่ามกลางผู้นำชาติอาหรับ ผู้นำมุสลิมประเทศอื่นๆ รวม 55 ประเทศ วัตถุประสงค์หลักคือร่วมต่อต้านก่อการร้ายซึ่งหมายถึงมุสลิมสุดโต่งกับอิหร่าน เป็นอีกครั้งที่ทรัมป์พูดถึงความดีความชั่ว ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือดำเนินนโยบาย ยอมรับว่าแนวทางศาสนาของซาอุฯ เข้าได้กับนโยบายของตน

ถอดรหัสสัมพันธ์แนบแน่นรัฐบาลสหรัฐกับซาอุฯ (2)
เป้าหมายการประชุม Arab Islamic American Summit คือต่อต้านก่อการร้าย ความหมายที่แท้จริงน่าจะหมายถึงผู้ก่อการร้ายบางกลุ่มที่อยู่ในใจรัฐบาลสหรัฐฯ กับขั้วซาอุฯ เท่านั้น ถ้ายึดแนวคิดว่า 2 ฝ่ายนี้สนับสนุนผู้ก่อการร้ายบางกลุ่มเช่นกัน ผู้นำทั้ง 2 เอ่ยชื่ออิหร่านชัดเจนในฐานะผู้สนับสนุนก่อการร้าย การประชุมกลายเป็นการประกาศอย่างเป็นทางว่านับจากนี้รัฐบาลสหรัฐฯ กับขั้วซาอุฯ จะเล่นงานอิหร่านด้วยประเด็นนี้
บรรณานุกรม :

1. All legal measures taken over Khashoggi killing: Saudi Crown prince to Biden. (2022, July 16). Al Arabiya. Retrieved from https://english.alarabiya.net/News/gulf/2022/07/16/All-legal-measures-taken-over-Khashoggi-killing-Saudi-Crown-prince-to-Biden

2. America Speaks: Are they proud to be American? (2021, January 26). YouGov. Retrieved from https://today.yougov.com/topics/lifestyle/articles-reports/2021/01/25/america-speaks-are-they-proud-be-american

3. Blackwill, Robert D., Tellis, Ashley J. (2015, March). Revising US Grand Strategy Toward China. Council on Foreign Relations. Retrieved from http://carnegieendowment.org/files/Tellis_Blackwill.pdf

4. INTERVIEW: Adel Al-Jubeir on why Biden’s Saudi visit is a success, and US commitment to Kingdom’s security. (2022, July 16). Arab News. Retrieved from https://www.arabnews.com/node/2123271/saudi-arabia

5. Mohammed bin Salman on Iran, Israel, US and future of Saudi Arabia: Full transcript. (2022, March 3). Al Arabiya. Retrieved from https://english.alarabiya.net/News/gulf/2022/03/03/Mohammed-bin-Salman-on-Iran-Israel-US-and-future-of-Saudi-Arabia-Full-transcript

6. Russia Presidential Executive Office. (2022, June 17). St Petersburg International Economic Forum Plenary session. Retrieved from http://en.kremlin.ru/events/president/news/68669

7. Saudi Arabian Army. (2013, October 23). Saudi Defence. Retrieved from http://www.saudidefence.com/saudi-arabian-army/

8. Saudi Arabia, US ink 18 agreements, including on space, investment, energy. (2022, July 16). Arab News. Retrieved from https://www.arabnews.com/node/2123196/business-economy

9. Saudi Arabia’s King Salman, Crown Prince Mohammed bin Salman meet US President Biden. (2022, July 16). Al Arabiya. Retrieved from https://english.alarabiya.net/News/gulf/2022/07/15/Saudi-Arabia-s-King-Salman-meets-US-President-Biden-in-Jeddah

10. Stockholm International Peace Research Institute. (2021, March 15). International arms transfers level off after years of sharp growth; Middle Eastern arms imports grow most, says SIPRI. Retrieved from https://sipri.org/media/press-release/2021/international-arms-transfers-level-after-years-sharp-growth-middle-eastern-arms-imports-grow-most?utm_source=newsletter&utm_medium=email&utm_campaign=newsletter_axiosworld&stream=world

11. The White House. (2021, December 9). Remarks By President Biden At The Summit For Democracy Opening Session. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2021/12/09/remarks-by-president-biden-at-the-summit-for-democracy-opening-session/

-----------------------