เมื่อต้นเหตุเงินเฟ้อมาจากการคว่ำบาตรน้ำมันก๊าซธรรมชาติรัสเซีย วิธีแก้คือระงับหรือชะลอคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียออกไปก่อน ปัญหาเงินเฟ้อสหรัฐกับเงินเฟ้อโลกจะลดลง เศรษฐกิจฟื้นตัวทันที
สัปดาห์ก่อนหลังประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ
CPI 8.6% เป็นสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปี ประธานาธิบดีโจ ไบเดนชี้ไตรมาสนี้บรรษัทน้ำมัน
Exxon Mobil ทำกำไรมหาศาล ทำไมไม่ผลิตน้ำมันให้มากกว่านี้
ด้านบริษัทชี้แจงว่ามีการสื่อสารกับรัฐบาลเป็นประจำอยู่แล้ว บริษัทกำลังเร่งขยายกำลังการผลิต
ภาพรวมสถานการณ์โลก :
พฤษภาคม
IMF เผยเศรษฐกิจโลกเข้าสู่การทดสอบครั้งใหญ่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่
2 เป็นต้นมา เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โรคระบาดโควิด-19
ค่าอาหารกับพลังงานที่สูงลิ่วกำลังเป็นภาระหนักของคนทั้งโลก การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อแก้เงินเฟ้อจะลดการลงทุน
พวกรายย่อยจะหาที่กู้ยากและต้นทุนสูง ทุกคนที่มีหนี้จะประสบปัญหาชำระหนี้ซึ่งหากไม่แก้ไขสุดท้ายสถาบันการเงินอยู่ไม่ได้เช่นกัน
แนวทางคือต้องลดกำแพงกันและกันซึ่งจะช่วยให้ราคาสินค้าต่างๆ ลดต่ำลง ห่วงโซ่อุปทานที่เปลี่ยนไปแก้ได้ด้วยการหาช่องทางธุรกิจใหม่ๆ
ต่อเนื่อง
ในอีกด้านหนึ่งเยนส์
สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโตขอให้เตรียมรับมือสงครามยูเครนแบบยาวๆ ชี้ว่ากำลังเข้าสู่หมวดรบยืดเยื้อค่อยๆ
บั่นทอนข้าศึก (a war of attrition)
ทั้งยูเครนกับรัสเซียต่างสูญเสียหนัก ย้ำนาโตสนับสนุนให้ยูเครนทำสงครามต่อไป
ข่าวเงินเฟ้อครั้งใหญ่จุดชนวนเศรษฐกิจโลกที่ปั่นป่วนอยู่แล้วให้หนักกว่าเดิม
ตลาดหุ้นสหรัฐเข้าสู่ตลาดหมี ราคาบิทคอยน์ คริปโทฯ ร่วงระนาว
อัตราดอกเบี้ยต้องขึ้นอีกหลายรอบ สินค้าขึ้นราคาถ้วนหน้า แต่เหล่านี้เป็นเพียงจุดเริ่มของปัญหาที่จะตามนั่นคือเศรษฐกิจถดถอย
กำไรบริษัทลดลง ปลดพนักงาน ฯลฯ
ปัญหาเงินเฟ้อโลกและผลกระทบ :
สหรัฐไม่ใช่ประเทศเดียวที่เงินเฟ้อรุนแรง
เงินเฟ้อเยอรมันเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 7.9% สูงสุดในรอบเกือบ 50
ปี หมวดที่ดันเงินเฟ้อเหมือนสหรัฐและหลายประเทศคือมาจากพลังงานเชื้อเพลิง
รองมาคืออาหาร ซ้ำรอยวิกฤตน้ำมันโลกปี 1973-1974
ด้านผลกระทบเช่นเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาออสเตรเลียประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
5.2% เพื่อสู้เงินเฟ้อ เป็นการขึ้นค่าแรงรวดเดียวสูงสุดในรอบ
14 ปี
ที่อินเดีย
ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคขายส่งสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ตัวเลขเดือนพฤษภาคมสูงถึง
15.88% (สูงกว่าเดือนก่อนที่ 15.08%) อากาศร้อนเป็นอีกเหตุผลซ้ำเติมให้ราคาพืชผัก
ธัญพืชราคาสูงขึ้นมาก คาดว่าหมวดสินค้าจำเป็นจะแพงต่อไปตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ทรงตัวในระดับสูง
Josh Lipsky จาก Atlantic Council’s GeoEconomics Center อธิบายว่าการขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ
ของสหรัฐจะดึงเม็ดเงินจากทั่วโลกให้ถือครองดอลลาร์และฝากเงินไว้กับอเมริกา
ส่งผลเสียต่อตลาดเงินตลาดทุนประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่
รวมความแล้วการคว่ำบาตรน้ำมันทำให้เศรษฐกิจนานาชาติทรุดหนักและฟื้นช้ากว่าเดิม
Mohamed Faiz Nagutha จาก Bank of America Securities
เตือนให้จับตามองฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและเวียดนาม ส่วนเลบานอนกับศรีลังกาคือประเทศที่เศรษฐกิจพังไปแล้ว
กระทบต่อหลายพันล้านคนทั่วโลก คนเหล่านี้ไม่มีส่วนรู้เห็นกับนโยบายสหรัฐแต่ต้องอดอยากยากจนเพราะการคว่ำบาตร
เรื่องของคนจนสุดๆ ที่ไม่ค่อยเอ่ยถึง
:
คำว่า
“อดอยาก” (hunger) ในที่นี้ใช้นิยามของ UN's Hunger
Report หมายถึงคนที่พยายามหาอาหารทั้งวันแต่ไม่ได้กินเพราะไม่มีเงิน
ไม่เข้าถึงอาหาร คนเหล่านี้บางวันมีกินบางวันไม่มีกิน
มักไม่อิ่มท้องหรือไม่ได้กินอาหารที่มีคุณภาพ (อาจกินอิ่มแต่เป็นอาหารทำลายสุขภาพ)
มีปัญหาสุขภาพอันเนื่องจากขาดสารอาหาร
ความจริงที่น่าเศร้าคือโลกไม่ได้ขาดอาหาร
โลกผลิตอาหารมากพอสำหรับทุกคน แต่ที่ทุกวันนี้ 811
ล้านคนอดอยากเพราะยากจนหรืออยู่ในสถานการณ์ที่อาหารหายาก (เช่น ภัยสงคราม)
ไม่เข้าถึงแหล่งอาหาร ดังนั้นในขณะที่หลายคนกินมื้อละหลายร้อยหลายพันหรือแพงกว่านั้นแต่อีกหลายล้านคนไม่มีกิน
ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงยิ่งทำให้หลายร้อยล้านคนทุกข์ยากกว่าเดิมเพราะพึ่งพาอาหารที่ได้รับบริจาค
บัดนี้เงินบริจาคเท่าเดิมแต่อาหารแพงขึ้น จากที่ไม่ค่อยมีกินอยู่แล้วต้องอดอยากหนักกว่าเดิมอีก
คว่ำบาตรรัสเซียเป็นผลดีหรือผลเสียกันแน่
:
ถ้าการทำประโยชน์แก่คนทั้งโลกเป็นเรื่องอุดมคติมากเกินไป
รัฐบาลสหรัฐ ประธานาธิบดีอเมริกาต้องทำเพื่อประโยชน์คนอเมริกัน แต่ที่ค้างคาใจนานหลายทศวรรษแล้วคือชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่วางใจรัฐสภา
ไม่คิดว่ารัฐบาลกำลังทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศจริงๆ
พวกที่ได้ประโยชน์จากน้ำมันแพงคือประเทศผู้ส่งออกน้ำมันกับบรรษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานซึ่งทั้งโลกมีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น
ข้อมูลชี้ชัดว่า 2 กลุ่มนี้เพิ่มกำไรเป็นกอบเป็นกำ เช่น บรรษัทน้ำมัน Saudi
Aramco ทำกำไรแซง Apple Inc มีกำไรสุทธิมากถึง
39,500 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 82% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ประธานาธิบดีไบเดนเอ่ยถึงบรรษัทน้ำมันที่กำลังทำไรมหาศาล โลกใช้น้ำมันเท่าเดิมแต่แพงกว่าเดิมราวเท่าตัว
(จากแถว 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลก่อนเกิดโควิด-19
เป็น 120 ดอลลาร์)
ตั้งแต่แรกเกิดสงครามยูเครน
วิธีหลักที่รัฐบาลสหรัฐกับพวกใช้คือคว่ำบาตรพลังงานฟอสซิลรัสเซีย
เริ่มจากก๊าซธรรมชาติ ต่อด้วยน้ำมันและถ่านหิน แต่หลังสงครามผ่านไป 100 วัน Centre
for Research on Energy and Clean Air (CREA) พบว่ารัสเซียได้กำไรจากการส่งออกพลังงานฟอสซิล
98,000 ล้านดอลลาร์ (3.4 ล้านล้านบาท) ทั้งๆ
ที่ยอดส่งออกลดลง เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะราคาน้ำมันดิบโลกสูงขึ้นมาก เฉลี่ยแล้วส่งออกในราคาสูงกว่าปีก่อน
60% และได้ตลาดเพิ่มจากอินเดีย จีน ฯลฯ และส่งผลร้ายแรงต่อทั่วโลก ราคาน้ำมันสูงขึ้นมากและคาดว่าจะเป็นเช่นนี้อีกนานหลายปี
ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนน้ำมันจากผู้ขายสู่ผู้ซื้อเพิ่มขึ้น ทั้งจากค่าขนส่ง
เบี้ยประกันภัย ต้นทุนการกลั่น การเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้า
รวมความแล้วนโยบายคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียทำให้คนทั้งโลกต้องซื้อใช้น้ำมันแพงกว่าเดิม
พลังงานฟอสซิลไม่ขาดแคลนแต่แพงกว่าเดิมมาก เป็นต้นเหตุสำคัญของเงินเฟ้อ
สินค้าขึ้นราคา แพงทั้งแผ่นดิน
ข้อเสนอแนะ :
ความเข้าใจที่ต้องยึดให้มั่นคือเงินเฟ้อหนักรอบนี้มาจากการที่รัฐบาลสหรัฐกับพวกคว่ำบาตรเงินรูเบิล
พลังงานฟอสซิลรัสเซีย หลายประเทศโดยเฉพาะชาติพันธมิตรสหรัฐต้องรีบเร่งหาแหล่งเชื้อเพลิงทดแทน
ทำให้ระบบการซื้อขายน้ำมันโลกปั่นป่วน
พูดให้ชัดๆ เงินเฟ้อหนักรอบนี้เกิดจากรัฐบาลไบเดน
ในโลกแห่งสัจนิยม
(Realism) การต่อสู้ช่วงชิงระหว่างมหาอำนาจเป็นเรื่องปกติ แต่ชาติมหาอำนาจควบคุมได้
เหมือนควบคุมไม่ให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ล้างโลก รัฐบาลสหรัฐกับพวกสามารถปิดล้อมรัสเซียด้วยวิธีอื่นๆ
สามารถปิดล้อมบั่นทอนรัสเซียในอนาคต ไม่จำต้องใช้วิธีที่ทำลายแม้กระทั่งประชาชนอเมริกัน
เมื่อต้นเหตุเงินเฟ้อมาจากการคว่ำบาตรน้ำมันก๊าซธรรมชาติรัสเซีย วิธีแก้คือระงับหรือชะลอคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียออกไป
ปัญหาเงินเฟ้อสหรัฐกับเงินเฟ้อโลกจะลดลง เศรษฐกิจฟื้นตัวทันที
เบน
เบอร์นันเก้ (Ben Bernanke) อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐเห็นว่าเศรษฐกิจอาจไม่ถดถอยหรือถดถอยเบาๆ
ในทางกลับกันสถานการณ์จะย่ำแย่กว่านี้ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหา
เดือนที่แล้ว
(พฤษภาคม) ไบเดนย้ำตอนนี้ให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อเป็นอันดับแรก ถ้าประธานาธิบดีกล้าตัดสินใจเพื่อคนอเมริกันและคนทั่วโลก
สั่งระงับหรือชะลอการคว่ำบาตรน้ำมันก๊าซธรรมชาติรัสเซีย เพียงเท่านี้บรรดาชาติสมาชิกนาโต
อียูจะร่วมมือด้วยแน่นอน ประวัติศาสตร์โลกจะจารึกการใช้อำนาจประธานาธิบดีเพื่อการอยู่ดีมีสุข
ลดคนอดตายได้นับพันนับหมื่น เป็นอีกครั้งที่มหาอำนาจสหรัฐกระทำสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์
เป็นเรื่องแปลกใช่ไหมหากรัฐบาลสหรัฐยืนยันคว่ำบาตรรัสเซียต่อไป
จะอธิบายเรื่องนี้กับคนอเมริกันอย่างไร
รัฐบาลไบเดนควรรีบตัดสินใจเพราะยิ่งล่าช้ายิ่งทำให้เศรษฐกิจสังคมเสียหายปัญหาบานปลายแก้ยากกว่าเดิม
ถึงเวลาแล้วที่จะยอมรับว่าต้นเหตุเงินเฟ้อมาจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มาตรการการเงินการคลังช่วยได้แต่เป็นการแก้ปลายเหตุ
บทความที่เกี่ยวข้อง:
1. Action Against Hunger. (2022). WORLD HUNGER: KEY FACTS
AND STATISTICS 2022. Retrieved from
https://www.actionagainsthunger.org/world-hunger-facts-statistics
2. Bernanke Says Fed Can Sidestep Big Recession in Inflation
Fight. (2022, June 12). Bloomberg. Retrieved from
https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-06-12/bernanke-says-fed-can-sidestep-big-recession-in-inflation-fight
3. FAST THINKING: The Fed pulls the emergency brake. Will it
work? (2022, June 15). Atlantic Council. Retrieved from
https://www.atlanticcouncil.org/blogs/new-atlanticist/fast-thinking-the-fed-pulls-the-emergency-brake-will-it-work/
4. German inflation nears 50-year peak. (2022, June 15). RT.
Retrieved from German inflation nears 50-year peak
5.
Ginsberg, Benjamin., Lowi, Theodore J., Weir, Margaret.,
Tolbert, Caroline J., & Spitzer, Robert J. (2015). We the People:
An Introduction To American Politics. (Tenth Essentials Edition). NY.: W.
W. Norton & Company.
6. Global economy faces 'biggest test' since Second World
War, IMF says. (2022, May 23). The National News. Retrieved from
https://www.thenationalnews.com/business/economy/2022/05/23/imf-says-global-economy-faces-biggest-test-since-second-world-war/
7. Lowest paid workers to receive a 5.2 per cent wage
increase, Fair Work Commission decides. (2022, June 15). The Age. Retrieved
from
https://www.theage.com.au/politics/federal/lowest-paid-workers-to-receive-a-5-2-per-cent-wage-increase-fair-work-commission-decides-20220614-p5atoc.html
8. Russia earns $98 bln from
fuel exports in 100 days of Ukraine war: Report. (2022, June 13). Arab News.
Retrieved from
https://english.alarabiya.net/News/world/2022/06/13/Russia-earns-98-bln-from-fuel-exports-in-100-days-of-Ukraine-war-Report
9. ‘Start
investing’: Biden jabs Exxon Mobil for high fuel costs in inflation speech.
(2022, June 10). CNBC. Retrieved from
https://www.cnbc.com/2022/06/10/watch-live-joe-biden-speaks-about-inflation-after-may-cip-report.html
10. Social unrest could emerge in Southeast Asia if food
inflation surges. (2022, May 9). CNCB. Retrieved from
https://www.cnbc.com/2022/05/09/big-risk-of-unrest-in-asean-if-food-inflation-surges-says-economist.html
11. West must brace for 'long haul' in Ukraine: NATO chief.
(2022, June 3). Channel News Asia. Retrieved from
https://www.channelnewsasia.com/world/ukraine-invasion-nato-chief-says-west-must-brace-long-haul-2724401
12. Wholesale price inflation surged to new high of 15.9% in
May. (2022, June 14). The Hindu. Retrieved from
https://www.thehindu.com/news/national/wpi-inflation-rises-to-record-high-of-1588-in-may/article65526116.ece?homepage=true
-----------------------