อนาคตเลอเปนกับเสรีประชาธิปไตยฝรั่งเศส

ครั้งหนึ่งคนฝรั่งเศสจำนวนมากเห็นว่าคนอย่างเลอเปนน่ารังเกียจ แต่บัดนี้พิสูจน์แล้วว่าพวกขวาจัดนี่แหละที่สังคมยอมรับมากขึ้นและอาจได้เป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศส

        มารีน เลอเปน (Marie Le Pen) ยอมรับว่าเธอแพ้การเลือกตั้งแก่ประธานาธิบดีมาครงอีกครั้ง และเป็น “ชัยชนะอันรุ่งโรจน์” (brilliant victory) เพราะเธอได้คะแนนสูงสุดเท่าที่เคยได้มา ประกาศเดินหน้าทำงานการเมืองต่อไป

การก้าวขึ้นมาอีกขั้นของเลอเปน :

        เลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสจะมี 2 รอบๆ แรกเป็นการเลือกผู้สมัครจากทุกพรรค รอบที่ 2 ชิงชัยระหว่าง 2 คนแรกที่ได้คะแนนาสูงสุด

        การเลือกตั้งสมัยปี 2017 เป็นการขับเคี่ยวระหว่างเอมมานูแอล มาครง (Emmanuel Macron) ตัวแทนของพรรคสายกลางกับมารีน เลอเปน (Marie Le Pen) พวกขวาจัด (far-right) ในการเลือกตั้งรอบแรกของปี 2017 มาครงมาอันดับหนึ่งได้คะแนน 23.7% ตามมาด้วยเลอเปนได้ 21.7 คะแนนรอบ 2 เลอเปนได้ 33.9% แต่แพ้มาครง

        การเลือกตั้งสมัยล่าสุดที่เพิ่งเสร็จสิ้นเป็นการขับเคี่ยวระหว่างประธานาธิบดีมาครงกับเลอเปนอีกครั้ง ทั้งคู่ต่างมีจุดได้เปรียบเสียเปรียบ ถ้ามองจากเลอเปน 5 ปีที่ผ่านมาได้ปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนถึงขั้นเปลี่ยนชื่อพรรค ลดความสุดโต่งเพื่อให้คนส่วนใหญ่ยอมรับได้มากขึ้น

        ผลการเลือกตั้งรอบแรกของปี 2022 มาครงนำเป็นที่ 1 ได้ 27.85% เลอเปนตามมาเป็นที่ 2 ได้ 23.15% จะเห็นว่าเมื่อเทียบกับเลือกตั้งปี 2017 คะแนนมาครงบวกเพิ่ม 4% เลอเปนได้คะแนนรอบแรกมากขึ้นเช่นกันเป็นคะแนนสูงสุดเท่าที่เคยได้มา คะแนนรอบแรกมีความสำคัญเพราะเลือกจากทุกพรรค คนฝรั่งเศส 23% เลือกเลอเปนพวกขวาจัด (far-right)

        คะแนนรอบ 2 ของปีนี้ (2022) เลอเปนได้คะแนน 41% (41.46) เพิ่มจากเลือกตั้งครั้งก่อน (2017) ที่ได้ 33% เป็นหลักฐานชี้ชัดว่าคนฝรั่งเศสนิยมพรรคขวาจัดมากขึ้นหรือละทิ้งกระแสหลักที่ชูธงเสรีประชาธิปไตย เป็นเหตุผลที่เลอเปนประกาศว่าเป็น “ชัยชนะอันรุ่งโรจน์” เพราะเธอได้คะแนนเสียงสูงสุดเท่าที่เคยได้มา หลายคนที่รอบแรกเลือกพรรคอื่นเมื่อถึงรอบ 2 เลือกเลอเปน

        หากเลอเปนยังมุ่งหน้าทำงานการเมืองต่อไป ประชาชนเบื่อหน่ายรัฐบาลมาครง ระบอบอำนาจเก่า ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปปี 2027 เลอเปนอาจเป็นอันดับ 1

ตัวอย่างโยบายของเลอเปน 2022 ที่ถูกวิพากษ์ :

       ประการแรก เสนอให้ถอนตัวออกจากอียู ใกล้ชิดรัสเซีย

        แต่ไหนแต่ไรฝรั่งเศสคิดว่าการเป็นสมาชิกอียูช่วยให้มั่งคั่งมั่นคง แต่เลอเปนเสนอให้ฝรั่งเศสถอนตัวออกจากอียู (หรือลดความสำคัญ) ต่อต้านโลกาภิวัตน์ และต้องการให้นาโตมีสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซียอีกครั้ง เป็นนโยบายที่แตกต่างจากประธานาธิบดีมาครงที่ดำเนินตามแนวทางรัฐบาลสหรัฐ เลอเปนชี้ว่าต้องการนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระจริงๆ

       ประการที่ 2 ต่อต้านกลุ่มผู้ทรงอำนาจ

        ตั้งแต่เลือกตั้งรอบก่อน (2017) อีกประเด็นที่ทำให้เลอเปนได้รับความนิยมคือกระแสเบื่อหน่ายนักการเมือง พรรคการเมืองกระแสหลัก กลุ่มผู้ทรงอำนาจ (the establishment) ที่ครอบงำประเทศ มาครงถูกตีตราว่าเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองเก่า

        กลุ่มชนชั้นล่างคนรากหญ้ามักนิยมเลอเปนมากกว่ามาครง จึงอาศัยจุดอ่อนของรัฐบาล เข้าหาประชาชนที่ไม่ชอบรัฐบาล เกิดภาพสังคมที่เลือกตามชนชั้น

       ประการที่ 3 สนับสนุนคนฝรั่งเศสแท้ๆ

        หนึ่งในนโยบายที่ถกกันมากคือเลอเปนต้องการให้คนฝรั่งเศสแท้ๆ (native French people) เท่านั้นที่จะได้รับการดูแลจากรัฐบาลเต็มที่ในทุกด้าน ไมว่าเรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาล งานอาชีพ ฯลฯ ส่วนที่เหลือ (non-French people) จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย ถูกกีดกันไม่ให้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เกิดสภาพของพลเมืองชั้น 1 กับชั้น 2 แม้ทั้งคู่ต่างมีฐานะเป็นพลเมืองก็ตาม

เลอเปนผู้ยึดมั่นอุดมการณ์ :

        ถ้าวิเคราะห์ในเชิงอุดมการณ์ต้องชื่นชมเลอเปนที่ทำงานการเมืองอย่างมีอุดมการณ์ ย้อนหลังปี 1972 สมัยบิดาเลอเปนก่อตั้งพรรคการเมือง ตอนนั้นเป็นเพียงพรรคเล็กๆ ที่สังคมปฏิเสธ ถูกตีตราว่าเป็นกลุ่มของคนเพียงหยิบมือที่นิยมความสุดโต่ง พรรคของเลอเปนไม่มีผลต่อการเมืองประเทศ เป็นกลุ่มนอกสายตา แต่พวกเขายึดมั่นอุดมการณ์แม้เผชิญการต่อต้านจากสังคม ยืนหยัดอุดมการณ์ท่ามกลางแรงกดดัน ปรับเปลี่ยนนโยบายกับพฤติกรรมจนผู้คนยอมรับมากขึ้น บัดนี้กลายเป็น 1 ใน 2 พรรคที่เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศ

        ไม่ว่าเลอเปนจะชนะเลือกตั้งหรือไม่ สังคมพูดถึงนโยบายของพวกเขาอย่างกว้างขวาง ผู้คนยอมรับมากขึ้น แม้ไม่ดีเลิศในสายตาหลายคนแต่ดีกว่าพรรคอื่นๆ หลายพรรค และอาจเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลในที่สุด เป็นตัวอย่างความสำเร็จของพรรคการเมืองที่ยึดมั่นอุดมการณ์

ขวาจัดก้าวขึ้นมา เสรีประชาธิปไตยถดถอย :

        “ขวาจัดก้าวขึ้นมา เสรีประชาธิปไตยฝรั่งเศสถดถอย” คือข้อสรุปปรากฏการณ์การก้าวขึ้นมาของเลนเปน มีประเด็นน่าสนใจดังนี้

       ประการแรก เบื่อหน่ายพรรคกระแสหลัก

        โดยเนื้อแท้แล้วคนฝรั่งเศสส่วนใหญ่ไม่นิยมพรรคสุดโต่ง แต่ที่ก้าวขึ้นมาได้เหตุผลหลักข้อหนึ่งคือชาวฝรั่งเศสหลายคนเบื่อหน่ายพรรคการเมืองแบบเดิมๆ เริ่มคุ้นชินกับนโยบายสุดโต่ง

        แม้ฝรั่งเศสขึ้นเชื่อว่าเป็นต้นแบบประชาธิปไตยตะวันตกประเทศหนึ่ง แต่ทุกวันนี้ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากไม่ไว้ใจนักการเมือง ไม่คิดว่าพวกเขากำลังทำหน้าที่เพื่อประชาชน นักการเมืองพยายามบอกให้ประชาชนทำตามกฎหมายแต่เองตัวนั่นแหละที่ละเมิดกฎหมาย จึงคิดลองของใหม่ แม้มีความเสี่ยงแต่ดีกว่าทนอยู่ในการเมืองแบบเดิมๆ

       ประการที่ 2 ทัศนคติเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติ

        มีผู้อธิบายว่าพรรคของเลเปนได้รับความนิยมในกลุ่มคนรากหญ้า เป็นพวกประชานิยม (populist) แต่ต้องขยายความต่อว่าเป็นรากหญ้าที่ถดถอยจากหลักเสรีประชาธิปไตย เป็นแนวทางแบบขวาจัดคล้าย White Supremacy ของอเมริกา เรื่องที่คนผิวขาวบางกลุ่มเห็นว่าตนเท่านั้นที่เป็นผู้ปกครองประเทศอันชอบธรรม เป็นความชอบธรรมที่คนผิวขาวใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ส่วนคนผิวสีต้องเป็นผู้รับใช้

        ครั้งหนึ่งคนฝรั่งเศสจำนวนมากเห็นว่าคนอย่างเลอเปนน่ารังเกียจ (nasty) แต่บัดนี้พิสูจน์แล้วว่าคนอย่างเลอเปนนี่แหละที่สังคมให้การยอมรับมากขึ้น เป็นหลักฐานชี้ว่าทัศนคติสังคมฝรั่งเศสเปลี่ยนไป

       ประการที่ 3 ประชาธิปไตยเพื่ออะไร

        ประวัติศาสตร์ชี้ว่าการเลือกตั้งฝรั่งเศสไม่ได้เพื่อมุ่งสู่หรือรักษาเสรีประชาธิปไตย ในอดีตเคยได้ประธานาธิบดีสายสังคมนิยมด้วยซ้ำ แต่ถ้ามองจากมุมชาวบ้านอาจเป็นเพียงเพื่อมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น สนับสนุนหรือต่อต้านมุสลิมเพราะคิดว่ากระทบต่อวิถีชีวิต เรื่องเหล่านี้มีความสำคัญถึงขั้นสนับสนุนลดความเป็นเสรีประชาธิปไตย (เช่น ลดเสรีภาพ ลดสิทธิมนุษยชน ไม่เห็นว่าทุกเชื้อชาติทุกศาสนาเท่าเทียม) และเป็นเรื่องของการแข่งขันระหว่างกลุ่มอำนาจที่ต้องการเข้ามาถืออำนาจปกครอง โดยกำหนดนโยบายที่กระตุ้นให้ประชาชนเลือกพวกเขา

        ดังนั้น การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยจึงไม่ใช่เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพเสมอไป แต่เป็นหลายสิ่งหลายอย่างที่รวมๆ กันอยู่ภายใต้การเลือกตั้ง

       ประการที่ 4 การถดถอยระดับโลก

        ความเป็นไปของฝรั่งเศสกับสหรัฐตอกย้ำการถดถอยของเสรีประชาธิปไตยโลก ทั้งกรณีสหรัฐกับฝรั่งเศสต่างเห็นด้วยกับการลดทอนเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ เห็นด้วยกับมุมมองว่ามนุษย์ไม่เท่ากัน บางเชื้อชาติบางสีผิวเหนือกว่า บ่อยครั้งยกเหตุผลว่าเป็นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ

        ตำราตะวันตกจะให้ฝรั่งเศสกับสหรัฐอเมริกาเป็นแบบอย่างประชาธิปไตยโลก ถ้ายึดตามแนวนี้เท่ากับว่าเป็นแบบอย่างของประชาธิปไตยที่ถอยห่างจากหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ น่าคิดว่านานาชาติควรยึดถือ 2 ประเทศนี้เป็นแบบอย่างประชาธิปไตยของตนอีกหรือไม่ ประชาธิปไตยแบบใดที่ควรยึดถือ

1 พฤษภาคม 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9300 วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2565)

-------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
เลอเปนเป็นพวกที่ถอยห่างจากหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่คนฝรั่งเศส จนสามารถเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในวันอาทิตย์นี้
บรรณานุกรม :

1. Closing in on Macron: Could Le Pen’s blandest campaign be her most successful yet? (2022, March 30). France24. Retrieved from https://www.france24.com/en/france/20220331-closing-in-on-macron-could-le-pen-s-blandest-campaign-be-her-most-successful-yet

2. First round of the French election: apparent stability, yet a profound reconfiguration. (2022, April 11). The Conversation. Retrieved from https://theconversation.com/first-round-of-the-french-election-apparent-stability-yet-a-profound-reconfiguration-181084

3. French election highlights a deep divide on the European Union. (2018, May 5). The Conversation. Retrieved from https://theconversation.com/french-election-highlights-a-deep-divide-on-the-european-union-77193

4. French election: Le Pen hails 'historic' result. (2017, April 24). Gulf News. Retrieved from http://gulfnews.com/news/europe/france/french-election-le-pen-hails-historic-result-1.2016052

5. Le Pen calls French election loss a 'brilliant victory'. (2022, April 25). Channel News Asia. Retrieved from https://www.channelnewsasia.com/world/le-pen-calls-french-election-loss-brilliant-victory-2644941

6. Le Pen seeks party rebranding into ‘National Rally’ to better appeal to French voters. (2018, March 12). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/421006-le-pen-national-front-rally-rebranding/

7. Le Pen wants France out of NATO integrated command, backs NATO-Russia links. (2022, April 13). France24. Retrieved from https://www.france24.com/en/france/20220413-le-pen-wants-france-out-of-nato-integrated-command-backs-nato-russia-links

8. The rise and rise of France’s far-right Marine Le Pen. (2022, April 4). The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/world/2022/apr/04/the-rise-and-rise-of-frances-far-right-marine-le-pen

-----------------------