การก้าวขึ้นมาของเลอเปนกับพรรค National Rally

เลอเปนเป็นพวกที่ถอยห่างจากหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่คนฝรั่งเศส จนสามารถเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในวันอาทิตย์นี้

        ปี 2018 มารีน เลอเปน (Marie Le Pen) หัวหน้าพรรค National Front (FN) เปลี่ยนชื่อพรรคเป็น National Rally (Rassemblement National หรือ RN) ชื่อ National Front เป็นนามเดิมที่บิดาเลอเปนใช้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรคการเมืองเมื่อ 1972

        นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าเป็นความพยายามปรับภาพลักษณ์ให้ดูอ่อนลง ลบล้างภาพลบในอดีต เลอเปนอธิบายตรงไปตรงมาว่า “ถ้าชื่อไม่เปลี่ยน จะไม่สามารถเป็นพันธมิตร (กับพรรคอื่นๆ) และถ้าปราศจากพันธมิตรก็ไม่อาจเข้าถึงอำนาจ” ถึงเวลาแล้วที่กลุ่มจะเปลี่ยนจากพวกเดินประท้วงรัฐบาล เป็นพรรคฝ่ายค้าน สู่การเป็นผู้บริหารประเทศ ทั้งนี้ต้องสามารถรวมใจคนทั้งชาติเข้าร่วมกับเรา

        ย้อนหลังเลือกตั้งครั้งก่อน (ปี 2017) เลอเปนได้คะแนนร้อยละ 33.9 (คะแนนรอบที่ 2) พ่ายให้กับเอมมานูแอล มาครง (Emmanuel Macron) ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากหลายพรรค ตัวแทนกระแสหลัก

        ในครั้งนั้น Philippe Marlier จาก University College London อธิบายว่าถ้าเลอเปนต้องการคะแนนเสียงมากกว่านี้ จำต้องลดความสุดโต่ง Christophe Castaner แกนนำของพรรค Move party (ฝ่ายพรรครัฐบาล) วิพากษ์ว่า “เปลี่ยนชื่อแต่ไม่เปลี่ยนแนวการเมือง” เป็นการแต่งหน้าทาตาให้ดูแตกต่างจากเดิมเท่านั้น

        ในอดีตที่ผ่านมา พรรคการเมืองอื่นๆ โจมตีพวกเลอเปนว่าเป็นพวกนิยมความสุดโต่ง นิยมใช้ความรุนแรง เหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติ ขัดแย้งกับหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ซึ่งเป็นความจริงโดยเฉพาะในสมัยที่บิดาเป็นผู้นำพรรค การเปลี่ยนชื่อพรรคเท่ากับยอมรับประวัติศาสตร์

วิพากษ์การเปลี่ยนชื่อพรรค :

       ประการแรก ต้องการปรับนโยบายบาย

        ในการเลือกตั้ง 2017 เหตุผลหลักข้อหนึ่งที่คนเลือกมาครงเพราะคนฝรั่งเศสส่วนหนึ่งกังวลนโยบายสุดโต่ง จึงเลือกมาครงเพราะกลัวเลอเปน มาครงชี้ว่าเลอเปนหาเสียงและเสนอนโยบายด้วยเรื่องโกหกมดเท็จ สร้างความหวาดกลัว ส่วนตนนั้นจะฟื้นฟูปฏิรูปประเทศ ไม่ปล่อยให้ประเทศแตกแยก ไม่สุดโต่งขวาจัด (far right)

        ถ้ามองในแง่บวก เป็นไปได้ว่าเลอเปนอาจต้องการลดความสุดโต่ง ปรับนโยบายให้ตอบโจทย์ประชากรกลุ่มอื่นๆ การปรับเปลี่ยนหลักนโยบายทำได้หากไม่ใช่การเปลี่ยนไปมาตลอดเวลาแบบไร้จุดยืน อีกทั้งยังคงนโยบายหลายเรื่อง เช่น โจมตีอียู ต่อต้านโลกาภิวัตน์ ระบบตลาดเสรี แนวคิดทำให้เป็นมุสลิมและคนต่างด้าวอพยพเข้าเมือง ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดสิทธิมนุษยชนสากล มุ่งสนับสนุนค่านิยมกับประเพณีฝรั่งเศส รักษาภาษา อัตลักษณ์ฝรั่งเศส

        จะเห็นว่านับตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค เลอเปนลดระดับความสุดโต่ง การเปลี่ยนชื่อเป็นโอกาสปรับลดระดับความสุดโต่งลงอีก เพื่อให้ชาวฝรั่งเศสยอมรับได้มากขึ้น

       ประการที่ 2 ดีว่าพรรคการเมืองที่ชี้นำประชาชนอย่างผิดๆ

        ในแง่มุมอุดมการณ์ พรรคของเลอเปนเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ (แม้หลายคนไม่เห็นด้วยกับหลายนโยบาย) เป็นตัวอย่างที่ดีถ้าเทียบกับพรรคการเมืองที่ไม่ยึดอุดมการณ์ มุ่งเอาชนะทางการเมือง ชี้นำประชาชนให้เข้าใจการเมืองอย่างผิดๆ เช่น พูดว่าขอเพียงมีการเลือกตั้งก็เป็นประชาธิปไตย

        Walter Lippmann นักวิเคราะห์การเมืองเห็นว่าบ่อยครั้งที่พรรคการเมือง นักการเมืองอ้างว่าเป็นความเห็นของประชาชนแต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่สะท้อนความเห็นจุดยืนของชนชั้นปกครอง งานวิจัยหลายชิ้นเห็นด้วยกับลักษณะเช่นนี้ ความเป็นไปทางการเมือง ความเป็นของประเทศจึงบิดเบี้ยวตามตรรกะที่บิดเบือน

ผู้ชี้นำให้เข้าใจผิดมักเป็นแกนนำ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สนับสนุนพรรค บางครั้งพรรคจะไม่ยอมรับว่าคำพูดการชี้นำเหล่านี้เป็นนโยบายหรือแถลงการณ์พรรค หากเกิดปัญหาทางกฎหมายบั่นทอนคะแนนเสียง

        ประการที่ 3 เบื้องหลังความคิดของฝ่ายขวาจัด

        การจะรู้จักพรรคใดต้องเข้าใจความคิดเบื้องหลังของพวกเขา รากฐานความคิดของพวกเขาคือ “ความเหนือกว่าทางเชื้อชาติของตะวันตก”

        ตั้งแต่สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance ช่วงศตวรรษที่ 14-17) มีหลักฐานว่าคนยุโรปดูหมิ่นคนต่างด้าวที่ไม่ใช่ยุโรป การล่าอาณานิคม การนำคนผิวดำมาเป็นทาสคือตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุด

        แนวคิดนี้เมื่อมาถึงกลางศตวรรษที่ 19 Darwinism อธิบายว่าเชื้อชาติต่างๆ ในโลกไม่เท่าเทียมกัน มีเชื้อชาติที่สูงส่งกว่ พวกที่ด้อยกว่าสมควรอยู่ใต้พวกที่สูงเด่นกว่า เรื่องนี้ถูกต้องตามหลักการคัดสรรตามธรรมชาติ ความเป็นไปของยุคล่าอาณานิคมเป็นตัวอย่างชี้ให้เห็นความเหนือกว่าของพวกยุโรปต่ออารยธรรมทวีปอื่นๆ

        แนวคิดเช่นนี้ได้พัฒนาและเป็นที่มาของการเหยียดผิวในยุคปัจจุบัน ลัทธิการเหยียดเชื้อชาติ (racism) เกลียดกลัวต่างชาติ (xenophobia) คนยุโรปหรือพวกผิวขาวโดยเฉพาะพวกขวาจัดจะดูหมิ่นดูแคลนคนสีผิวอื่นๆ คนที่รูปร่างหน้าตาไม่เหมือนยุโรป

       ประการที่ 4 ยิ่งกว่า America First

        ในยุคชาตินิยม ความรู้สึกเหนือกว่าพัฒนาเป็นชาตินิยมที่เน้นการขยายอำนาจด้วยการยึดดินแดน ยึดประชากรประเทศอื่นมาเป็นของตน เพื่อสร้างเกียรติภูมิและขยายความยิ่งใหญ่ของประเทศ

        เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำฟาสซิสต์อิตาลี เป็นตัวอย่างผู้ยึดแนวทางนี้ เห็นว่าการทำสงครามเป็นเรื่องดี ทำให้ชาติกระชุ่มกระชวย รากฐานดั้งเดิมของเลอเปนคือระบอบฟาสซิสต์ เพียงแต่ไม่ได้ยึดถือครบถ้วนทั้งหมด

        แม้พรรค National Rally ปัจจุบันไม่สนับสนุนเสรีประชาธิปไตย แต่ไม่ได้ยึดความสุดโต่งของฟาสซิสต์เสียทุกเรื่อง เป็นการผสมผสานระหว่างแนวคิดฟาสซิสต์บางส่วนกับประชาธิปไตยบางส่วน ได้แนวทางใหม่เชิงอำนาจนิยมประชาธิปไตย

        ชวนให้นึกถึง America First (อเมริกาต้องมาก่อน) ของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กล่าวถึงหลักนโยบายของตนว่าต้องการทำให้ประเทศปลอดภัยกว่าเดิม คนนับล้านมีงานทำ และสร้างความมั่งคั่งเพิ่มอีกหลายล้านล้านดอลลาร์ เป็นลัทธิอเมริกานิยม (Americanism) ไม่ใช่โลกนิยม (globalism)

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :

        หลักเสรีประชาธิปไตยมองว่าทุกคนเท่าเทียมกัน ชายเท่ากับหญิง คนเมืองเท่ากับคนดอย ทุกคนอยู่ร่วมกันได้แม้แตกต่าง ลัทธิเหยียดเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติสวนทางหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ

        ดังนั้นหากสังคมฝรั่งเศสยอมรับแนวคิดของพวกขวาจัดมากขึ้น นั่นคือกำลังยอมรับการมีชนชั้นในสังคมโลก พวกผิวขาวดีเด่นกว่าผิวสีอื่น พวกตะวันตกโดดเด่นกว่าคนชาติอื่นๆ รวมความแล้ว เสรีประชาธิปไตยฝรั่งเศสกำลังถอยหลังเข้าคลอง

        ที่น่ากลัวกว่านั้นคือหากรัฐบาลฝรั่งเศสยึดแนวทางเช่นนี้จะดำเนินนโยบายเชิงจักรวรรดินิยม การฉกฉวยผลประโยชน์ชาติอื่นๆ เป็นเรื่องสมควร คนฝรั่งเศสเท่านั้นที่สมควรอยู่ดีกินดี ที่เหลือควรอยู่อย่างผู้ด้อยพัฒนาต่อไป เฉกเช่นอดีตกาลที่คนต่างสีผิวต้องเป็นทาส เป็นอาณานิคมของพวกผิวขาว

        อุดมการณ์พรรคจึงเป็นเรื่องสำคัญพอๆ กับการบิดเบือนอุดมการณ์

        หลายปีก่อนเลือกตั้งปี 2017 ชื่อของเลอเปนอยู่ในลำดับ 1 หรือ 2 ของโพลผู้ที่คนฝรั่งเศสอยากให้เป็นประธานาธิบดี เป็นหลักฐานชี้ชัดต่อมุมมองคนฝรั่งเศสที่นิยมพรรคขวาจัดนี้  ไม่ว่าเลอเปนจะชนะเลือกตั้งปี 2022 นี้หรือไม่ ไม่อาจปฏิเสธว่าฝรั่งเศสยุคนี้หลายล้านคนสนับสนุนแนวคิดของพวกขวาจัด

24 เมษายน 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9293 วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2565)

-----------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 

จุดแข็งกับจุดอ่อนของประชานิยม (populism) มารีน เลอ เปน
ความเป็นประชานิยมเป็นความหวังของพลเมืองฝรั่งเศสหลายคน หลายนโยบายแสดงถึงการไม่ยึดติดแนวทางเดิม ต่อต้านระบอบอำนาจที่ขัดขวางความเจริญรุ่งเรือง การเลือกตั้งปีนี้เห็นชัดว่ากระแสประชานิยมกำลังก้าวขึ้นมา ในอีกด้านหนึ่งการต่อต้านโลกาภิวัตน์เป็นการกล่าวอ้างเกินจริง การถอนตัวจากนาโตอาจบั่นทอนความมั่นคงมากกว่าเดิม การต่อต้านมุสลิมเห็นได้ชัดว่าประชาธิปไตยกำลังถดถอย เลอเปนทำทุกอย่างเพื่อให้ชนะเลือกตั้งเท่านั้น ไม่สนใจผลเสียที่จะตามมา

การถดถอยของเสรีประชาธิปไตย

นักวิเคราะห์ตะวันตกบางคนยอมรับมากขึ้นแล้วว่าระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยตะวันตก (Western liberal democracy) ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างสมควร ลัทธิอำนาจนิยมกำลังเบ่งบาน

บรรณานุกรม :

1. As it happened: Macron and Le Pen repeatedly clash in final French election debate. (2017, May 4). The Local. Retrieved from https://www.thelocal.fr/20170504/french-debate-live-macron-vs-le-pen-in-tv-clash-before-election

2. French election highlights a deep divide on the European Union. (2018, May 5). The Conversation. Retrieved from https://theconversation.com/french-election-highlights-a-deep-divide-on-the-european-union-77193

3. Hoffman, John., Graham, Paul. (2015). Introduction to Political Theory (3rd Ed.). Oxon: Routledge.

4. Ginsberg, Benjamin., Lowi, Theodore J., Weir, Margaret., Tolbert, Caroline J., & Spitzer, Robert J. (2015). We the People: An Introduction To American Politics. (Tenth Essentials Edition). NY.: W. W. Norton & Company.

5. Le Pen plans to change party name from National Front to National Union. (2018, March 11). The Local. Retrieved from https://www.thelocal.fr/20180311/le-pen-to-force-through-national-front-name-change

6. Le Pen seeks party rebranding into ‘National Rally’ to better appeal to French voters. (2018, March 12). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/421006-le-pen-national-front-rally-rebranding/

7. Macron attacks Le Pen on Russia, Muslim headscarf ban pledge. (2022, April 20). AP. Retrieved from https://apnews.com/article/business-france-elections-campaigns-presidential-24d8ca9828ab7855b4d27d3bb3cf8bfe

8. Marine Le Pen marks Front National leadership win with rebrand proposal. (2018, March 11). The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/world/2018/mar/11/marine-le-pen-marks-front-national-leadership-win-with-rebrand-proposal

9. McDonald, W. Wesley. (2008). Right Wings. In International Encyclopedia of the Social Sciences. (2nd Ed. (9 vol. set. pp. 245-246). USA: The Gale Group.

10. New name, same old, same old: Marine Le Pen's far-right rebrand is no revolt. (2018, March 12). France 24. Retrieved from http://www.france24.com/en/20180312-france-marine-le-pen-national-front-new-name-same-old-far-right-rebrand-no-revolt

11. Panayi, Panikos. (2001). Immigration. In Encyclopedia of European Social History. (vol.2, pp. 538-544). New York: Charles Scribner’s Sons.

12. Trump promises ‘safety’ to fearful Americans. (2016, July 22). Gulf News/AFP. Retrieved from http://gulfnews.com/news/americas/usa/trump-promises-safety-to-fearful-americans-1.1866703

13. Wear racist badge 'like a medal', Bannon tells France's Front National. (2018, March 11). The National. Retrieved from https://www.thenational.ae/world/europe/wear-racist-badge-like-a-medal-bannon-tells-france-s-front-national-1.712221

-----------------------