วิพากษ์นโยบายโชลซ์เยอรมันต่อสงครามยูเครน

สงครามยูเครนถูกตีความว่าเป็นความขัดแย้งระดับภูมิภาค ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับทรราชย์ แต่เยอรมันมองภาพที่ลึกกว่านั้น นั่นคือยุโรปที่เยอรมันมีบทบาทสำคัญ

ไม่กี่วันหลังกองทัพรัสเซียบุกยูเครน รัฐบาลของโอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) ประกาศนโยบายป้องกันประเทศใหม่ทันที สรุปจุดยืนและการเปลี่ยนบางประการ ดังนี้

        ประการแรก ปกป้องเสรีภาพ ประชาธิปไตยและการอยู่ดีกินดี

        จุดยืนหลักคือปกป้องเสรีภาพ ประชาธิปไตยและการอยู่ดีกินดี ดังเช่นชาวยุโรปทั่วไป

        นายกฯ โชลซ์กล่าวว่าคนยูเครนกำลังต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของเขา ลำพังข้อนี้เพียงพอให้เยอรมันอยู่ฝ่ายยูเครน ส่งความช่วยเหลือแก่ประชาชนกองทัพยูเครนหลายรอบ ในอีกด้านหนึ่งคือคว่ำบาตรรัสเซีย ทั้งระดับกว้างกับเจาะจงรายบุคคล โดยเฉพาะพวกนายทุนผูกขาด (oligarchs) เช่น ระงับใช้ท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ที่สร้างเสร็จแล้ว ประกาศแผนลดนำเข้าพลังงานรัสเซีย ลดนำเข้าสินค้า คว่ำบาตรธนาคารรัสเซียหลายแห่ง

       ประการที่ 2 ซื้อก๊าซธรรมชาติทดแทนรัสเซีย

        เดิมเยอรมันนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียถึง 55% ของปริมาณความต้องการ และนำเข้าน้ำมันรัสเซีย 1 ใน 3 ที่ใช้ทั้งประเทศ

        นโยบายใหม่ให้เร่งสร้างท่าเรือรองรับเรือบรรทุกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ Brunsbüttel กับ Wilhelmshaven เพื่อลดพึ่งก๊าซจากรัสเซีย อาจแล้วเสร็จในปี 2026 รองรับความต้องการก๊าซ 10% ของปริมาณใช้ทั้งประเทศ

        มีข้อมูลว่าแนวคิดก่อสร้างท่าเรือรองรับ LNG เริ่มตั้งแต่ปี 2015 แต่เนื่องจากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับนักการเมืองบางคนไม่เห็นด้วยโครงการนี้จึงล้มพับไป และกลายเป็นที่มาของท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ในสมัยรัฐบาลของอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) มาวันนี้สถานการณ์กลับกลายเป็นว่าไม่เปิดใช้ Nord Stream 2 หันมาเร่งสร้างท่าเรือรับรอง LNG แทน

        ประเด็นลดการนำเข้าพลังงานรัสเซียน่าจะเป็นที่ถกเถียงในอนาคต ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ใช้เชื้อเพลิงราคาถูก กับอีกฝ่ายที่ต้องการคว่ำบาตรรัสเซีย

        สงครามยูเครนส่งผลต่อนโยบายพลังงานเยอรมันอย่างหนัก ต้องซื้อแพงขึ้นมาก งบประมาณประเทศ เงินในกระเป่าคนเยอรมันแทนที่จะนำไปใช้จ่ายในกิจกรรมอื่นกลับต้องมาจ่ายราคาเพื่อคว่ำบาตรรัสเซีย ซ้ำร้ายในระยะสั้นอาจถึงขั้นไม่พอใช้ เมื่อรัสเซียตอบโต้ด้วยการประกาศว่าเยอรมันต้องซื้อด้วยเงินรูเบิล (ล่าสุดยังสามารถซื้อใช้ตามปกติ)

        ประเด็นสำคัญคือหากเยอรมันยกเลิกนำเข้าพลังงานรัสเซียสิ้นเชิง ผลร้ายแรงที่ตามมาคือราคาพลังงานในประเทศจะสูงขึ้นมาก ต้นทุนการผลิตทุกอย่างพุ่งพรวด อีกทั้งบางคนชี้ว่าการคว่ำบาตรรัสเซียไปซื้อจากตะวันออกกลางแทน ก็เหมือนคว่ำบาตรอำนาจนิยมประเทศหนึ่งแล้วไปสนับสนุนอำนาจนิยมอีกประเทศ

        รัฐบาลโชลซ์เข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดีแต่จำต้องเดินหน้าต่อไปอย่างน้อยในระยะนี้

       ประการที่ 3 มุมมองภาพใหญ่ สงครามเย็นใหม่

        นายกฯ โชลซ์กล่าวว่ารัสเซียบุกยูเครนส่งผลต่อระบบความมั่นคงของยุโรป จึงไม่ใช่เรื่องระหว่างยูเครน-รัสเซียเท่านั้น รัสเซียกำลังโดดเดี่ยวตัวเอง จำต้องหยุดรัสเซียผู้ก่อสงคราม

        ด้าน Margrethe Vestager รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) แสดงความเห็นว่าผลจากรัสเซียบุกยูเครนทำให้คิดว่าโลกเข้าสู่ยุคใหม่แล้ว รัฐบาลปูตินเป็นภัยต่อประชาธิปไตย ต่อเสรีภาพของคนยุโรป เป็นสงครามเย็นแห่งศตวรรษที่ 21 ที่มีลักษณะบางอย่างต่างจากสงครามเย็นในอดีต โลกาภิวัตน์ยังอยู่ โลกยังต้องร่วมมือกัน เช่นร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อียูต้องการซื้อขายแลกเปลี่ยนแต่อยากลงทุนในประเทศที่เป็นมิตรมากกว่า การส่งออกทำให้คนอยู่ดีกินดี เพิ่มการจ้างงานหลายล้านตำแหน่ง ทุกวันนี้อียูมีคู่ค้าเกือบ 80 ประเทศ (กับดินแดน) ช่วยให้อียูมีอิทธิพลต่อประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตามภาคเอกชนจะเป็นผู้ตัดสินใจมากกว่าที่รัฐบาลจะชี้นิ้วให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้

       ประการที่ 4 โดดเดี่ยวรัสเซีย เข้าใกล้อเมริกา

        ในสมัยรัฐบาลที่แล้วความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทรัมป์กับแมร์เคิลไม่ดีนัก นโยบายสหรัฐบางอย่างบั่นทอนผลประโยชน์เยอรมัน ไฮโค มาส (Heiko Maas) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเยอรมันถึงกับกล่าวว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องทบทวนความสัมพันธ์กับสหรัฐ พร้อมกับสร้างระบบชำระเงินของอียูที่เป็นอิสระจากอเมริกาหากสหรัฐก้าวข้ามเส้นต้องห้าม

        รัฐมนตรีมาสสรุปว่าเป้าหมายหลักคือสร้างนโยบายต่างประเทศที่ตั้งอยู่บนอธิปไตย ยุโรปที่เข้มแข็ง ยุโรปยังต้องการร่วมมือกับสหรัฐแต่ต้องไม่เบียดบังผลประโยชน์ยุโรปโดยไม่ปรึกษาก่อน

        กองทัพรัสเซียบุกยูเครนกลายเป็นเหตุให้ชาตินาโตประสานงานใกล้ชิด มองว่าตนถูกคุกคาม ออกมาตรการตอบโต้หลายอย่าง เป็นเหตุให้เยอรมันกลับมาใกล้ชิดอเมริกา เยอรมันเป็นหนึ่งในฝ่ายประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม นาโตไม่ได้เป็นเอกภาพโดยสมบูรณ์ สมาชิกแต่ละประเทศยังพยายามรักษาผลประโยชน์ตนเอง ไม่ได้ตามใจรัฐบาลสหรัฐทั้งหมด แต่ไม่อาจปฏิเสธว่าสหรัฐได้ประโยชน์จากยุโรปจากเหตุการณ์นี้

       ประการที่ 5 สร้างกองทัพให้เข้มแข็ง

        นายกฯ โชลซ์กล่าวว่ารัฐบาลมองสถานการณ์โลกตามที่เป็นจริง จึงมุ่งมั่นพัฒนากองทัพ ให้มีอาวุธที่ดีขึ้น ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และเพิ่มกำลังพล ทั้งหมดนี้ใช้งบประมาณจำนวนมาก เฉพาะปี 2022 จะเพิ่มงบกลาโหมอีก 100,000,000,000 ล้านยูโร (100 billion euro) และปีหน้าจะกำหนดงบกลาโหมเท่ากับ 2% ของจีดีพี มีโครงการพัฒนาเครื่องบินรบ โดรน รถถังรุ่นใหม่ บางโครงการจะพัฒนาร่วมกับชาติยุโรปอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส

        ในอดีตมีข้อวิพากษ์มากมายว่ากองทัพเยอรมันอ่อนแอลง ขาดการเตรียมพร้อม รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ มากกว่า กองทัพรัสเซียบุกยูเครนเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ การตั้งงบกลาโหม 2% ของจีดีพีเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญและเป็นไปตามความต้องการของรัฐบาลสหรัฐที่เรียกร้องเรื่อยมา

        หากรัฐบาลเยอรมันยึดมั่นนโยบายงบกลาโหม 2% ของจีดีพีในอีก 4-5 ปีข้างหน้าจะเห็นกองทัพเยอรมันที่เข้มแข็งขึ้นมาก และเป็นแรงกดดันให้ชาตินาโตฝั่งยุโรปที่เหลือต้องปฏิบัติตาม

        ในอดีตเยอรมันคิดว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศจะส่งเสริมความสัมพันธ์ ป้องกันสงคราม จึงทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจกับจีนหลายฉบับ นำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงจากรัสเซียมากขึ้น แต่สงครามยูเครนทำให้ความคิดเช่นนี้เปลี่ยนไป กลับสู่แนวคิดว่าต้องยืนบนขาตัวเองให้ได้ ต้องสร้างกองทัพให้เข้มแข็งพอที่จะป้องกันตัวเอง ไม่คิดหวังแต่นาโตในแง่มีกองทัพสหรัฐอีกต่อไป

        แม้กระทั่งข่าวซื้อเครื่องบิน F-35 เพื่อทดทนเครื่องบินติดอาวุธนิวเคลียร์เครื่องเก่า เกิดคำถามว่าทำไมยุโรปไม่ใช้ไม่พัฒนาเครื่องบินของตนเอง การใช้เครื่องบินสหรัฐบั่นทอนอุตสาหกรรมการบินยุโรปที่กำลังพัฒนาเครื่องบินรุ่นใหม่ FCAS

        ไม่เพียงเท่านั้น มีข้อเสนอว่าเยอรมันไม่อาจคิดถึงแต่ความมั่นคงของตน ยังต้องรวมบทบาทหน้าที่ในฐานะสมาชิกนาโต ที่ชาติสมาชิกอื่นๆ คาดหวังทั้งในมุมนาโตภาพรวมกับนาโตที่เน้นฝั่งยุโรป ถึงเวลาแล้วที่จะฟื้นกองทัพเยอรมัน เป็นเวลาที่บริบทรับรอง รัฐบาลสหรัฐสนับสนุน

        Margrethe Vestager รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเอ่ยถึง "strategic autonomy” ว่ายุโรปต้องตัดสินอนาคตด้วยตัวเอง เรื่องนี้เป็นประเด็นที่หลายประเทศยุโรปเอ่ยถึงเป็นระยะ

        ความเป็นไปของยูเครนเป็นเรื่องเฉพาะหน้าเป็นการมองในกรอบแคบ เยอรมันมียุทธศาสตร์ภาพใหญ่และยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ต้องดำเนินไป ที่สุดแล้วยุโรปจำต้องรวมตัวกันต่อไป ไม่ว่าจะในนามนาโตหรือนาโตยุโรปหรืออื่นๆ เป็นยุโรปที่ต้องอยู่ร่วมกับชาติมหาอำนาจทั้งหลาย บทบาทเยอรมันในฐานะพี่ใหญ่เป็นเรื่องน่าติดตาม

3 เมษายน 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9272 วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2565)

-----------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
รัฐบาลสหรัฐเหมือนเซลส์แมนกำลังใช้พลังอำนาจทุกอย่างที่ตนมีเพื่อกดดันให้ยุโรปซื้อก๊าซธรรมชาติจากตนด้วยสารพัดเหตุผลทั้งด้านความมั่นคงกับเรื่องเงินๆ ทองๆ
Nord Stream 2 คืออีกครั้งที่เยอรมันพยายามเป็นอิสระและรัฐบาลสหรัฐขัดขวาง ยูเครนเป็นตัวละครล่าสุดที่ถูกดึงเข้ามาใช้ สถานการณ์ยิ่งยืดเยื้อเท่ากับโลกต้องซื้อใช้พลังงานแพงนานขึ้น
บรรณานุกรม :

1. Does Germany really need LNG terminals? (2022, March 3). Deutsche Welle. Retrieved from https://www.dw.com/en/does-germany-really-need-lng-terminals/a-61005220

2. F-35: Why Germany is opting for the US-made stealth fighter jet. (2022, March 16). Deutsche Welle. Retrieved from https://www.dw.com/en/f-35-why-germany-is-opting-for-the-us-made-stealth-fighter-jet/a-61152127

3. Germany says Putin agreed to keep payments for gas in euros. (2022, March 31). Deutsche Welle. Retrieved from https://www.dw.com/en/germany-says-putin-agreed-to-keep-payments-for-gas-in-euros/a-61310461

4. Germany to raise defence spending sharply in response to 'Putin's aggression'. (2022, February 27). FRANCE24. Retrieved from https://www.france24.com/en/europe/20220227-germany-to-raise-defence-spending-sharply-in-response-to-putin-s-aggression

5. Germany wants Europe to form a 'counterweight' to US. (2018, August 21). Deutsche Welle. Retrieved from https://www.dw.com/en/germany-wants-europe-to-form-a-counterweight-to-us/a-45168108

6. Germany's Alternatives to Putin's Gas. (2022, March 9). Spiegel Online. Retrieved from spiegel.de/international/business/lng-imports-and-nuclear-power-a-look-at-germany-s-alternatives-to-putin-s-gas-a-4e10b1fd-0828-4a0a-9183-f2fd38d4dfe1

7. Office of the Federal Government. (2022, February 27). Policy statement by Olaf Scholz, Chancellor of the Federal Republic of Germany and Member of the German Bundestag, 27 February 2022 in Berlin. Retrieved from https://www.bundesregierung.de/breg-en/news/policy-statement-by-olaf-scholz-chancellor-of-the-federal-republic-of-germany-and-member-of-the-german-bundestag-27-february-2022-in-berlin-2008378

8. "This Is a Cold War for the 21st Century" (2022, March 1). Spiegel Online. Retrieved from https://www.spiegel.de/international/europe/european-commission-vice-president-vestager-on-ukraine-invasion-a-cold-war-for-the-21st-century-a-db73f70e-2669-46b4-b18e-3560b45558cd

--------------------------