จุดแข็งกับจุดอ่อนของประชานิยม (populism) มารีน เลอเปน

มารีน เลอเปน (Marie Le Pen) กลายเป็นนักการเมืองแนวหน้าของฝรั่งเศส เป็นที่จับตาของทั่วโลกโดยเฉพาะพวกชาติตะวันตก เนื่องจากการเคลื่อนไหวของพรรค Front National (FN) ภายใต้การนำของ เลอ เปน กำลังสร้างการความเปลี่ยนครั้งใหญ่

จุดแข็งของประชานิยมเลอเปน :
            แนวทางการเมืองของ เลอเปน มีลักษณะประชานิยม (populism) พยายามดึงประชาชนเข้ามาเป็นแนวร่วม เพื่อต่อต้านระบอบเก่า อาจเป็นระบอบการเมือง สังคม เศรษฐกิจ นโยบายต่างประเทศบางเรื่อง โลกาภิวัตน์ ขึ้นกับว่าอะไรคือสาเหตุแห่งความทุกข์ยาก มักเกิดขึ้นในภาวะที่ประชาชนไม่พอใจอย่างยิ่งต่อชีวิตความเป็นอยู่ โทษว่าเป็นความผิดของชนชั้นนำ
            สอดคล้องกับงานวิจัยของ Harris Interactive for the French office of Transparency International เมื่อปี 2016 พบว่าชาวฝรั่งเศสร้อย 54 เห็นว่าชนชั้นปกครองฉ้อฉล เฉพาะกลุ่ม ส.ส. ส.ว.ฉ้อฉลถึง 3 ใน 4 ประธานาธิบดีกับรัฐบาลมีเหตุอื้อฉาวอยู่เสมอ
            การเคลื่อนไหวของพรรค FN กลายเป็นความหวังของคนฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อย คนเหล่านี้อาจไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพรรคทุกอย่าง แต่โดยรวมแล้วเห็นว่าเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีรอบแรกเมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา เลอ เปน ได้คะแนนร้อยละ 21.7 มาเป็นที่ 2 รองจาก เอมมานูแอล มาครง (Emmanuel Macron) ที่ได้คะแนนร้อยละ 23.7

            ถ้ามองในแง่ดี เลอเปน มีความคิดเป็นอิสระ ไม่ยึดติดแนวทางเดิม พยายามหาหนทางใหม่ๆ แม้สวนกระแสความคิดเดิมของสังคม บนพื้นฐานเพื่อประโยชน์สุขของพลเมืองฝรั่งเศส ประกาศต่อต้านกลุ่มอำนาจดั้งเดิม (anti-establishment) ส่งเสริมสังคมที่ยึดปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น จะเพิ่มตำรวจอีก 15,000 นาย จัดการหัวหน้ากลุ่มอาชญากรอย่างเด็ดขาด ขับไล่ชาวต่างชาติผู้กระทำผิดออกนอกประเทศทันที ลดราคาพลังงาน ลดภาษี เพิ่มมาตรการส่งเสริมธุรกิจรายเล็กมากกว่าเน้นรายใหญ่ ฯลฯ

            ไม่ว่า เลอเปน จะชนะการเลือกตั้งปีนี้หรือไม่ พรรค FN ได้ประกาศให้ชาวโลกรับรู้แล้วว่ากระแสประชานิยมฝรั่งเศสกำลังเติบโต เลอเปน ในวัย 48 ปีสามารถทำงานการเมืองได้อีกนาน เป็นความหวังของชาวฝรั่งเศสหลายคน ช่วงเวลาต่อจากนี้คือการสร้างฐานการเมืองให้เข้มแข็ง ได้ที่นั่ง ส.ส. ส.ว. เป็นกอบเป็นกำ และพัฒนาเป็นพรรคการเมืองหลักที่ไม่อยู่กับกระแสเท่านั้น

จุดอ่อนของประชานิยมเลอเปน :
            แม้มีข้อดีจุดแข็งจำนวนมาก ประชานิยม เลอเปน มีจุดอ่อนเช่นกัน ดังนี้
            ประการแรก ต่อต้านโลกาภิวัตน์ ใช้ลัทธิปกป้องการค้า
            คนฝรั่งเศสบางส่วนเห็นว่าโลกาภิวัตน์ไม่ช่วยให้ชีวิตเขาดีขึ้นและแย่ลงกว่าเดิม โลกาภิวัตน์ให้ประโยชน์กับเมืองใหญ่ๆ แต่เมืองเล็กๆ ในชนบทห่างไกลเสียประโยชน์ ด้วยเหตุนี้กลุ่มคนที่เสียประโยชน์จึงต่อต้านโลกาภิวัตน์
เลอเปน ประกาศต่อต้านโลกาภิวัตน์ เสนอแก้ไขด้วยการปกป้องเศรษฐกิจ สนับสนุนชาตินิยม เห็นว่าคนฝรั่งเศสว่างงานเพราะการแย่งงานจากคนต่างด้าว เสนอใช้หลักคิดให้พลเมืองมีสิทธิ์ในตำแหน่งงานก่อน บริษัทที่จ้างแรงงานต่างด้าวจะต้องเสียภาษีเพิ่ม (รวมทั้งประเทศที่เป็นสมาชิกอียู) เช่นเดียวกับที่บริษัทใช้ฐานการผลิตต่างประเทศเพื่อผลิตและส่งสินค้ากลับมาขายในประเทศต้องเสียภาษีเพิ่ม ยกเลิกสิทธิ์คนต่างด้าวที่แต่งงานได้สัญชาติฝรั่งเศสทันที

ความคิดต่อต้านโลกาภิวัตน์ขัดแย้งในตัวเอง เพราะยอมรับว่าบางเมืองบางคนได้ประโยชน์ ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก งานศึกษาต่างๆ พูดตั้งแต่ต้นและย้ำอยู่เสมอว่าแต่ละประเทศต้องปรับตัว บางภาคส่วนบางกิจการจะได้เปรียบ แต่จะเสียเปรียบในบางภาคส่วนเช่นกัน ที่ผ่านมาประเทศต่างๆ ล้วนแก้ไขในส่วนที่เสียเปรียบ เช่น ปรับปรุงให้มีความสามารถแข่งขันมากขึ้น หรือสนับสนุนให้หางานใหม่ๆ ปลูกหรือผลิตสิ่งที่ประเทศทำได้ดี การต่อต้านโลกาภิวัตน์จึงเป็นการกล่าวโทษอย่างผิดๆ เพราะไม่ได้ปฏิเสธโลกาภิวัตน์ทั้งหมด เพียงปรับแก้บางส่วนที่เห็นว่าฝรั่งเศสเสียประโยชน์ เป็นคำตอบเดียวกับแนวทางลัทธิปกป้องการค้าของ เลอ เปน
            ข้อสรุปคือ การกล่าวโทษเป็นการพยายามจุดประเด็นให้ฟังดูร้ายแรง ขึงขัง แต่ความจริงแล้วมีทั้งส่วนที่ได้ประโยชน์กับที่เสียประโยชน์ ไม่แตกต่างจากรัฐบาลประเทศอื่นๆ ที่ต้องปรับตัวรับมือโลกาภิวัตน์ การเชื่อมต่อเศรษฐกิจกับนานาชาติ

            ประการที่ 2 ไม่ต้อนรับผู้อพยพ ปฏิเสธพหุสังคม ต่อต้านมุสลิม
            ให้เหตุผลว่ามีผลต่ออัตลักษณ์ชาติ เกรงว่าจะเกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนที่อัตลักษณ์ต่างกัน ต้องการสังคมที่ใช้ภาษาเดียว มีวัฒนธรรมเดียว
            น่าคิดว่าเป็นการต่อต้านพหุสังคมหรือเลือกปฏิบัติต่อชนบางกลุ่ม เพราะความเป็นฝรั่งเศสมีความหลากหลายอยู่แล้ว แนวคิดเช่นนี้เป็นการกีดกันตามบริบทเฉพาะหน้า การไม่ต้อนรับผู้อพยพ ปฏิเสธพหุสังคม สัมพันธ์กับการต่อต้านมุสลิมในระยะนี้
ข้อมูลจาก Central Intelligence Agency พบว่าฝรั่งเศสมีประชากรทั้งสิ้น 66,836,154 คน (ข้อมูลปี 2016) ประกาศตัวว่านับถือคริสต์ร้อยละ 63-66 อิสลาม 7-9 (ราว 4.7-6 ล้านคน) ไม่นับถือศาสนาใด 23-28 (ที่เหลือนับถือศาสนาอื่นๆ) นักวิชาการบางคนให้ความสำคัญกับการขยายจำนวนของมุสลิมในฝรั่งเศส ชี้ว่าเป็นประเทศที่มุสลิมเพิ่มจำนวนรวดเร็วที่สุดในหมู่ประเทศยุโรปตะวันตก
            ชาวฝรั่งเศสบางคนเห็นว่าวิถีชีวิตของมุสลิมแตกต่างจากพวกตน ดังที่ เลอ เปน กล่าวว่า “ความเชื่อของคนเหล่านี้ คุณค่า และการปฏิบัติที่ไม่ใช่แบบพวกเรา คนที่ไม่พักร้อนของฝรั่งเศส” (คนฝรั่งเศสจะมีช่วงพักร้อนประจำปีกินเวลาหลายสัปดาห์จนถึงเป็นเดือน) ในอีกวาระกล่าวว่า “เราไม่ต้องการใช้ชีวิตภายใต้กฎหรือการคุกคามจากอิสลามสุดโต่ง (Islamic fundamentalism) ที่หวังแบ่งแยกชายหญิงในที่สาธารณะด้วยการใส่ผ้าคลุมทั้งตัวหรือบางส่วน ต้องการห้องอธิษฐานในที่ทำงาน อธิษฐานตามตรอกซอกซอย มีมัสยิดขนาดใหญ่”

            เลอเปน มีนโยบายต่อต้านมุสลิมอย่างชัดเจน ปัญหาไม่เฉพาะกีดกันมุสลิมต่างด้าวเท่านั้น แต่จะเกิดกับชาวฝรั่งเศสโดยตรง เพราะในระยะหลังชาวฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยหันไปนับถืออิสลาม การกีดกันมุสลิมเห็นได้ชัดว่าขัดแย้งหลักเสรีประชาธิปไตย

            ประการที่ 3 ถอนตัวออกจากนาโต
            เห็นด้วยกับการถอนตัวจากนาโตหากการเป็นสมาชิกเป็นเหตุให้ถูกลากเข้าไปในสงครามที่ไม่ใช่ของฝรั่งเศส เช่น การสนับสนุนฝ่ายต่อต้านในลิเบียกับซีเรียเป็นเหตุบั่นทอนสันติภาพโลก
            เลอเปน มีส่วนถูกว่าหลายสงครามที่นาโตเข้าร่วมนั้นเป็นประโยชน์แก่บางประเทศมากกว่าฝรั่งเศส นโยบายถอนตัวจากนาโตฟังดูดีแต่ยากจะปฏิบัติ ที่ผ่านมาคนฝรั่งเศสอาจไม่ชอบนโยบายนาโตหลายอย่าง ไม่เห็นด้วยกับหลายสงคราม ปัญหาอยู่ที่ทางปฏิบัติจะทำได้อย่างไร เพราะสิ่งที่นาโตทำมีทั้งตอบสนองต่อผลประโยชน์ของฝรั่งเศสกับเป็นผลเสีย จะชั่งน้ำหนักอย่างไร และถ้าถอนตัวแล้วอนาคตหากมีประเด็นที่อยากร่วมมือกับนาโตเมื่อนั้นจะทำอย่างไร การจะถอนตัวกับการจะเข้าร่วมไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่เหมือนเด็กเล่นขายของ อยากซื้อก็ซื้อ ไม่อยากซื้อก็ไม่ซื้อ
            เลอเปน อาจไม่เข้าใจหรือไม่ยอมอธิบายลงรายละเอียดว่า ถ้าไม่มีนาโตทุกประเทศร่วมมือกันแบบเฉพาะกิจจะมีข้อเสียร้ายแรงคือขาดการประสานพลัง นาโตเข้มแข็งเพราะความเป็นพันธมิตรก่อให้เกิดความร่วมมือใกล้ชิดต่อเนื่องยาวนาน  ทหารร่วมซ้อมรบเป็นประจำ ประสานงานใกล้ชิดต่อเนื่อง ฯลฯ การร่วมมือเฉพาะกิจย่อมไม่สามารถประสานพลังเท่ากับการเป็นพันธมิตร ในแง่นี้การถอนตัวออกจากนาโตย่อมบั่นทอนความมั่นคงฝรั่งเศส
            แนวคิดถอนตัวออกจากนาโตเป็นตัวอย่างนโยบายประชานิยมอีกข้อที่ฟังดูดี ราวกับตอบสนองความต้องการ ถ้าจะวิพากษ์ต้องพูดว่าเป็นนโยบายที่เสนอเพื่อเอาใจประชาชนเท่านั้น แต่จะทำไม่ได้จริง และถ้าทำจริงอาจเป็นผลเสียมากกว่า

ถอยห่างจากประชาธิปไตย มุ่งชาตินิยม :
            โดยรวมแล้ว แนวทางของ เลอเปน คือให้ความสำคัญกับคนในชาติ แม้จะต้องลดความเป็นประชาธิปไตย หากความเป็นประชาธิปไตยเป็นเหตุบั่นทอนผลประโยชน์ฝรั่งเศส (ตามนิยามของเธอ)
เลอเปน มักพูดว่าเสรีภาพสำคัญที่สุด แต่เสรีภาพของเธอหมายถึงการกีดกันทุกวัฒนธรรม ทุกศาสนาที่เห็นว่าไม่ใช่ “ฝรั่งเศส” เสรีภาพเช่นนี้ย่อมไม่ใช่เสรีภาพตามนิยามที่ยึดถือเป็นสากล สังคมที่มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา
คำว่าเสรีภาพของ เลอเปน เป็นการนิยามใหม่ เป็นเสรีภาพที่สัมพันธ์กับชาตินิยม เสรีภาพใดๆ ที่ขัดขวางชาตินิยม สิ่งนั้นไม่เรียกว่าเสรีภาพ

            ถ้าวิเคราะห์อย่างถ้วนถี่จะพบว่า เลอเปน สับสนในตัวเองและไม่มีจุดยืนชัดเจน เนื่องจากสังคมฝรั่งเศสปราศจากนิยามว่าอะไรคือฝรั่งเศส อะไรไม่ใช่ฝรั่งเศส ดังนั้น ถ้าต้องตัดสินความเป็นฝรั่งเศสจะหมายถึงความคิดเห็นของเธอเองซึ่งอาจสอดคล้องกับความจริงหรือไม่ก็เป็นได้
            ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการกีดกันมุสลิม เพราะเห็นว่าไม่ใช่ฝรั่งเศส ข้อโต้แย้งคือ เลอเปน ใช้อะไรเป็นฐานความคิดว่ามุสลิมหรืออิสลามไม่ใช่ฝรั่งเศส เนื่องจากการนับถือศาสนาอิสลามในฝรั่งเศสมีมานานก่อนสถาปนาประเทศฝรั่งเศส (รัฐสมัยใหม่) ก่อนฝรั่งเศสเป็นประชาธิปไตย มุสลิมหรืออิสลามเป็นส่วนหนึ่งของชาติตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ
จึงไม่สมควรถือว่า เลอเปน เป็นนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพตามนิยามเสรีภาพภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

            และถ้าจะพูดถึงการเปลี่ยนแปลง ควรยอมรับว่าสังคมฝรั่งเศสกำลังมุ่งสู่ความเป็นประเทศไร้ศาสนา ดังสถิติที่ชี้ว่าปัจจุบันมีผู้ประกาศตัวว่าไม่นับถือศาสนาใดถึงร้อยละ 23-28 มากกว่ามุสลิม 3-4 เท่าตัว (บนฐานคิดว่าแต่เดิมทุกคนนับถือคริสต์) นั่นหมายความว่า แม้จำนวนมุสลิมจะเพิ่มมากขึ้นแต่ยังเป็นส่วนน้อยของสังคม น้อยกว่าพวกไร้ศาสนาหลายเท่าตัว หากไม่ระวังตัวให้ดี อารยธรรมหลักของฝรั่งเศสจะกลายเป็นอายธรรมของพวกไร้ศาสนา
            เช่นนี้คือความเป็นฝรั่งเศสตามนิยามของ เลอเปน หรือไม่
30 เมษายน 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 747วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน พ.ศ.2560)
---------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
การรณรงค์ประชานิยมแต่ละครั้งมีข้อดี-ข้อเสียขึ้นกับแง่มุมมอง บางครั้งมีข้อดีหลายข้อ บางครั้งมีข้อเสียมากกว่า ทั้งนี้ขึ้นกับการรณรงค์แต่ละครั้ง โดยรวมแล้วข้อดีคือเป็นอีกช่องทางของประชาชน ช่วยให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ส่วนข้อเสียคือเป็นการทำลายประชาธิปไตย ไม่ต่างจากระบอบเดิมที่ไม่ได้ทำเพื่อประชาชนจริงๆ
บรรณานุกรม:
1. Bershidsky, Leonid. (2017, February 10). Think the U.S. Election Was Dirty? Look at France. Bloomberg. Retrieved from https://www.bloomberg.com/view/articles/2017-02-10/think-the-u-s-election-was-dirty-look-at-france
2. Central Intelligence Agency. (2016). France. In The World Factbook. Retrieved from https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/fr.html
3. Coman, Julian. (2017, March 26). Marine Le Pen and Emmanuel Macron face off for the soul of France. The Guardian. Retrieved from https://www.theguardian.com/world/2017/mar/26/marine-le-pen-emmanuel-macron-french-elections
4. French election: Le Pen hails 'historic' result. (2017, April 24). Gulf News. Retrieved from http://gulfnews.com/news/europe/france/french-election-le-pen-hails-historic-result-1.2016052
5. 'French first': This is what a 'President Marine Le Pen' has in mind for France. (2017, February 10). The Local. Retrieved from http://www.thelocal.fr/20170210/marine-le-pen-election-france-have-in-mind-for-france-presidency-marine-le-pen
6. Gilpin, Robert G. (2014). Globalization, Civilizations, and World Order. In Dallmayr, Fred., Kayapınar, M. Akif., & Yaylacı, Ismail. (Eds.), Civilizations and World Order: Geopolitics and Cultural Difference (pp.155-168). UK: Lexington Books.
7. Le Pen wants dual nationality ban. (2017, February 10). The Connexion. Retrieved from http://www.connexionfrance.com/The%20candidate%20spoke%20of%20stopping%20people%20having%20both%20French%20and%20a%20non-EU%20nationality%20and%20favouring%20the-18876-view-article.html
8. Parvez, Z. Fareen, (2017). Politicizing Islam: The Islamic Revival in France and India. New York: Oxford University Press.
9. Serhan, Yasmeen. (2017, February 24). Marine Le Pen: Madame Présidente? The Atlantic. Retrieved from https://www.theatlantic.com/news/archive/2017/02/marine-le-pen-france/517155/
-----------------------------