หลักนิยมชิงลงมือก่อนในบริบทยูเครน

รัสเซียบุกยูเครนละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ข้อโต้แย้งคือการบุกเข้าไปเป็นการป้องกันตัวเอง เป็นแนวทางเดียวกับที่รัฐบาลหลายประเทศใช้

        มิถุนายน 2002 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) เอ่ยถึงหลักนิยม “ชิงลงมือก่อน” (preemption) ว่ายุทธศาสตร์ป้องปรามและปิดล้อมที่ใช้ในยุคสงครามเย็นไม่เหมาะสมอีกแล้วหลังเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 “ถ้าเรารอให้ภัยคุกคามก่อตัวจนเต็มที่ เรารอนานเกินไป เราต้องสู้กับศัตรู ทำลายแผนและเผชิญหน้าภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดก่อนที่ภัยคุกคามจะปะทุออกมา”

        สรุปได้ว่าหลักนิยม “ชิงลงมือก่อน” (preemption) ของสหรัฐหมายถึง สหรัฐมีความตั้งใจโจมตีข้าศึกที่แสดงท่าทีคุกคามก่อนที่พวกเขาลงมือจริง จะไม่รอให้ถูกโจมตีก่อนจึงโต้กลับ ด้วยความคิดที่ว่า ตนมีสิทธิ์และความชอบธรรมที่จะชิงโจมตีประเทศใดๆ ที่เห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อตนเอง ถ้าเป็นภัยคุกคามที่จวนจะถึงตัวแล้ว (imminent threat) การชิงลงมือก่อนเป็นการป้องกันตนเองรูปแบบหนึ่ง

        และตั้งอยู่บนความคิดที่ว่า “ยิ่งปล่อยไว้ ภัยคุกคามจะยิ่งใหญ่โต ยิ่งยากแก่การป้องกัน” โดยเฉพาะหากผู้ก่อการร้ายคิดโจมตีด้วยอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (weapons of mass destruction : WMD)

        การชิงลงมือก่อนยังหมายถึงสหรัฐจะรุกรบกระทำการโดยฝ่ายเดียว (act unilaterally) ไม่รอการรับรองจากสหประชาชาติ

        อันที่จริงแล้วรัฐบาลอเมริกันในอดีตหลายชุดหลายสมัยดำเนินนโยบายต่อต้านรัฐบาลประเทศใดๆ ที่เป็นภัยคุกคามจนถึงขั้นบ่อนทำลาย โค่นล้มรัฐบาลประเทศนั้นๆ มีหลักฐานปรากฏมากมาย รัฐบาลสหรัฐยอมรับในบางกรณี บางครั้งเป็นปฏิบัติการลับทางทหาร รวมถึงการโจมตีด้วยเครื่องบินไร้พลขับ (drone) ไล่ล่าสังหารศัตรู

        ในแง่วิชาการ “การชิงลงมือก่อน” น่าจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ แบบแรกคือส่งกองทัพเข้ารุกรานอย่างเปิดเผย เช่น กรณีอิรัก แบบที่ 2 คือ ปฏิบัติการลับทั้งทางการเมืองและการทหาร โจมตีด้วยเครื่องบินไร้พลขับ กำจัดศัตรูด้วยการทำให้เสียชีวิต โค่นล้มรัฐบาล

ตัวอย่างกรณีอิรัก :

        รัฐบาลบุชใช้หลักนิยม ชิงลงมือก่อนเมื่อทำสงครามกับอิรัก อ้างว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนสะสมอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) จำนวนมากรวมทั้งอาวุธนิวเคลียร์ ชี้ว่ารัฐบาลซัดดัมมีประวัติใช้อาวุธ WMD กับประชาชนตนเอง (ใช้อาวุธเคมี) อาจมอบอาวุธนิวเคลียร์แก่ผู้ก่อการร้ายโจมตีสหรัฐ เป็นภัยคุกคามจวนตัว

        ทุกวันนี้เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าความจริงแล้วอิรักไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ รัฐบาลสหรัฐอ้างเหตุผลเพื่อรุกรานอิรัก และควรบันทึกด้วยว่าในช่วงนั้นราคาน้ำมันพุ่งทะยานยาวนาน ภาพลักษณ์รัฐบาลสหรัฐในสายตาต่างชาติเสียหาย เนื่องจากชาติพันธมิตรหลายประเทศไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น อีกทั้งพิสูจน์แล้วว่าข้ออ้างของบุชเป็นเท็จ

ตัวอย่างมุ่งเป้าอิหร่าน เกาหลีเหนือ :

        รัฐบาลอิสราเอลมักจะย้ำเสมอว่าตนพร้อม “ชิงลงมือก่อน” กับอิหร่าน หลักคิดของอิสราเอลคือเป็นการยากที่จะคาดเดาว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรหากเกิดสงคราม อิสราเอลอาจเสียหายหนักหรือเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ประเมินว่าหากระเบิดนิวเคลียร์ขนาดย่อมตกใส่ใจกลางเมืองหลวง อิสราเอลจะไม่เหลือความเป็นรัฐทันสมัยอีกเลย

        จุดยืนคือถ้าอิหร่านมีหรือกำลังจะมีอาวุธนิวเคลียร์ หากรัฐบาลสหรัฐไม่โจมตีทำลายอาวุธนิวเคลียร์เหล่านั้น อิสราเอลจะชิงลงมือด้วยตนเอง

        การชิงโจมตีอิหร่านมีความเป็นไปได้ อิสราเอลเคยใช้เครื่องบินรบบินถล่มเตาปฏิกรณ์ปรมาณูของอิรัก Osiraq เมื่อค.ศ.1981 ด้วยความคิดว่าอิรักจะใช้เตาปฏิกรณ์ดังกล่าวสร้างอาวุธนิวเคลียร์

        รัฐบาลอิสราเอลชุดปัจจุบันนาฟทาลี เบนเน็ตต์ (Naftali Bennett) ยังยึดหลักการนี้ พูดเป็นระยะว่าขีปนาวุธ โครงการนิวเคลียร์อิหร่านเป็นภัยคุกคาม จะไม่ยอมให้อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ อิสราเอลจะทำสิ่งที่ตนเห็นควร ในระยะหลังขีปนาวุธรุ่นใหม่ของอิหร่านมีขีดความสามารถมากขึ้น ยิงไกลถึงอิสราเอล คุกคามมากขึ้นกว่าเดิม

        ไม่กี่ปีมานี้สัมพันธ์อิสราเอลกับรัฐอาหรับดีขึ้นตามลำดับ เป็นอีกปัจจัยส่งเสริมหากสักวันหนึ่งอิสราเอลลงมือโจมตีอิหร่าน จะไม่ต้องกังวลการรุมโต้กลับจากรัฐอาหรับดังเช่นอดีตอีก

        เกาหลีเหนือเป็นอีกตัวอย่าง ต้นปี 2018 โอริตะ คูนิโอะ (Orita Kunio) อดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศญี่ปุ่น ฝ่ายสนับสนุนทางอากาศ (Air Support Commander) แสดงความเห็นว่ารัฐบาลสหรัฐจะชิงโจมตีก่อน (preemptive strike) หากเห็นว่าเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามต่อตนและพันธมิตรจริง และเป็นกระทำที่ชอบธรรมเพราะเป็นการป้องกันตนเอง ไม่ได้ล้มล้างรัฐบาลอีกฝ่าย

        เหล่านี้เป็นบางตัวอย่างที่เอ่ยถึงการใช้หลักนิยมชิงลงมือก่อนในปัจจุบัน

เหตุผลของรัสเซีย :

        หลายปีมาแล้วที่รัสเซียอ้างว่าระบบปล่อยขีปนาวุธที่สหรัฐติดตั้งในโปแลนด์กับโรมาเนียสามารถบรรจุจรวดร่อน Tomahawk ที่ติดหัวรบนิวเคลียร์ และตอนนี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลไบเดนมีความคิดตั้งติดระบบปล่อยดังกล่าวในยูเครนด้วยหากยูเครนเป็นสมาชิกนาโต สามารถยิงใส่เมืองหลวงมอสโกภายใน 4-5 นาที

        นาโตไม่ยอมรับข้อกล่าวหาดังกล่าว เรื่องนี้กลายเป็นข้อพิพาทและร้ายแรงขึ้นเมื่อรัฐบาลทรัมป์ยกเลิกสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางและใกล้ หรือ Intermediate-Range Nuclear Forces (INF) Treaty 1987 ทำให้ยุโรปตึงเครียดเพราะ INF มีเพื่อลดการเผชิญหน้าด้วยอาวุธนิวเคลียร์ในยุโรป

        ทั้งยังลามมาที่อินโด-แปซิฟิก ทันทีเมื่อสหรัฐถอนตัวจาก INF มาร์ก เอสเปอร์ (Mark Esper) รัฐมนตรีกลาโหมกล่าวว่าสหรัฐอาจเริ่มทดสอบอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางที่ติดตั้งภาคพื้นดินอีกครั้ง หวังจะติดตั้งที่ใดที่หนึ่งในเอเชีย

        ท่ามกลางกระแสข่าวติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ที่เอเชีย โรดริโก ดูเตร์เต (Rodrigo Duterte) ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ประกาศทันทีจะไม่ยอมให้สหรัฐนำอาวุธนิวเคลียร์มาประจำการในประเทศเพื่อต้านจีน การเป็นพันธมิตรนิวเคลียร์ไม่ช่วยอะไร หากเกิดสงครามนิวเคลียร์จะพังพินาศไปพร้อมกัน ทำไมต้องยอมให้ประเทศเป็นพื้นที่ลูกระเบิดนิวเคลียร์หล่นใส่

        เหตุที่ประธานาธิบดีดูเตร์เตรีบออกมาพูดเช่นนั้นอาจเป็นเพราะฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งใน major non-NATO ally ของสหรัฐนั่นเอง

        ส่วนเหตุผลหลักที่รัสเซียบุกยูเครนคือการสร้างรัฐกันชน (buffer state) เป็นยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของรัสเซียที่มีมาช้านาน เฉพาะกรณียูเครนฝ่ายรัสเซียพูดหลายปีแล้วว่าเป็นเส้นต้องห้าม (red line) ห้ามยูเครนเป็นสมาชิกนาโต ทุกประเทศรับทราบรวมทั้งรัฐบาลยูเครนชุดปัจจุบัน จึงไม่แปลกที่ปูตินสั่งกองทัพบุกยูเครน เพราะละเมิดเส้นต้องห้ามแล้ว

        ดังนั้น การที่รัฐบาลปูตินส่งกองทัพเข้ายูเครนเป็นการทำตามเส้นต้องห้ามที่ประกาศนานหลายปีแล้ว และเป็นการประกาศให้โลกรับรู้ว่ารัสเซียจะทำอย่างไรหากถูกข่มขู่คุกคาม

        รัสเซียบุกยูเครนละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติกับกฎหมายระหว่างประเทศ ข้อโต้แย้งคือการบุกเข้าไปเป็นการป้องกันตัวเอง เป็นแนวทางเดียวกับที่รัฐบาลหลายประเทศใช้

        ไม่ว่าเหตุผลถูกหรือผิด ความจริงคือกองทัพรัสเซียบุกเข้าไปแล้ว

        ประวัติศาสตร์บันทึกว่าในปี 431 ก่อนคริสต์ศักราช สปาร์ตา (Sparta) กับเอเธนส์ (Athens) ทำสงครามต่อกัน ธูซิดดิดีส (Thucydides) อธิบายว่าเหตุเกิดจากดุลอำนาจเสียไป แต่เดิม 2 รัฐอยู่ในความสงบโดยที่สปาร์ตามีอำนาจเหนือกว่า แต่เมื่อสปาร์ตาเห็นว่าเอเธนส์มีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ และเกรงว่าสักวันหนึ่งอาจรุกรานสปาร์ตา จึงตัดสินใจชิงโจมตีเอเธนส์ก่อน

        โลกเป็นเช่นนี้

13 มีนาคม 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9251 วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2565)

----------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
โอกาสเกิดสงครามล้างโลกนิวเคลียร์เป็นไปได้น้อยมาก ที่มีความเป็นไปได้มากขึ้นคือสหรัฐจะเป็นผู้ลงมือใช้ก่อนกับประเทศเล็กๆ 
หลักนิยม “ชิงลงมือก่อน” ที่ประกาศในสมัยประธานาธิบดีบุชนิยามว่าเป็นส่งกองทัพเข้ารุกรานอย่างเปิดเผย เป็นนิยามที่ไม่ครอบคลุม บิดเบือน จึงต้องกำหนดนิยามใหม่ อีกประเด็นที่ไม่ควรละเลยคือความเชื่อมโยงกับการส่งเสริมประชาธิปไตย การค้าเสรี คำถามที่สำคัญคือ รัฐบาลโอบามาได้ละทิ้งหลักนิยม “ชิงลงมือก่อน” หรือไม่ หรือเป็นเพียงปรับตัวให้เข้ากับบริบท
บรรณานุกรม :

1. Bouris, Erica. (2006). National Security Strategy of the United States. In Encyclopedia Of United States National Security. (pp.502-505). California: Sage Publications.

2. Corsi, Jerome R. (2009). Why Israel Can't Wait: The Coming War Between Israel and Iran. New York: Threshold Editions.

3. Do We Understand War? Japanese Experts Discuss the Realities of Confronting North Korea. (2018, January 10). Japan Forward. Retrieved from https://japan-forward.com/do-we-understand-war-japan-experts-discuss-realities-of-confronting-north-korea/

4. Dunne, Charles W. (2011). Iraq: Policies, Politics, and the Art of the Possible. In Akbarzadeh, Shahram (editor). America's Challenges in the Greater Middle East: The Obama Administration's Policies (pp.11-30). New York: Palgrave Macmillan.

5. D'Anieri, Paul. (2012). International Politics: Power and Purpose in Global Affairs. USA: Wadsworth.

6. Ismael, Tareq Y., & Haddad, William W. (2004). Iraq: The Human Cost of History.USA: Pluto Press.

7. Martin, Jerome V. (2008). Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty. In The Encyclopedia of the Cold War: A Student Encyclopedia. (pp.1364-1366). USA: ABC-CLIO.

8. National Institute for South China Sea Studies. (2020, June). The U.S. Military Present in the Asia-Pacific 2020. Retrieved from http://www.nanhai.org.cn/uploads/file/20200623/jlbg.pdf

9. ‘The end of us all!’ Duterte will NEVER let US deploy nukes & mid-range missiles in the Philippines. (2019, August 7). Al Arabiya. Retrieved from https://www.rt.com/news/465940-manila-no-us-nukes-inf/

10. Tucker, Spencer C. (2008). Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty, 8 December 1987. In The Encyclopedia of the Cold War: A Student Encyclopedia. (pp.2753-2755). USA: ABC-CLIO.

11. US Defence Secretary says he favours placing intermediate-range missiles in Asia. (2019, August 3). Gulf Times. Retrieved from https://www.gulf-times.com/story/638168/US-Defence-Secretary-says-he-favours-placing-inter

--------------------------